99/169 Sarin7 UBN 34190 081 878 3521 This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
  • ธรรมะในดินแดนอีสาน

    พุทธศาสนา : เผยแผ่ เบ่งบาน งดงามในดินแดนอีสาน

  • เที่ยวงานแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี

    งานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี 9-13 กรกฎาคม 2568

  • เที่ยวนครพนม

    เที่ยวนครพนมชมความงดงามริมแม่น้ำโขง

  • ธรรมชาติงดงามบนภูกระดึง

    ความสุขที่คุณเดินได้เพื่อพิชิตภูกระดึง

  • สามพันโบก

    รุ่งอรุณ ณ สามพันโบก มหัศจรรย์กลางลำน้ำโขง

  • รุ่งอรุณ ณ ผาแต้ม

    ตะวันขึ้นก่อนใครในสยามประเทศ ผาแต้ม

  • เขาใหญ่

    ไปเที่ยวชื่นชมธรรมชาติมรดกโลกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กัน

  • ผามออีแดง

    ปลายฝนต้นหนาวไปชมทะเลหมอก ณ ผามออีแดง

  • ม่วนซื่นโฮแซวแนวอีสาน

    อีสานมีทั้งธรรมชาติสวยงาม ผลไม้ขึ้นชื่อ งานประเพณีแปลกตา

  • ตะวันตกดิน

    มุมสงบใจให้ดื่มด่ำยามพลบค่ำสิ้นแสงสุรีย์ ณ แดนอีสาน

: Our Sponsor

adv200x300 2

: Our Fanpage

: My Web Site

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net
e mail

ประเพณีเรือมตร๊ด

reum ta rod header

ประเพณีเรือมตร๊ด หรือ "เรือมตรษ" (อ่านว่า-เรือม-ตะ-หรด) ซึ่งเป็นภาษาเขมรถิ่นไทย หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า การรำตรุษสงกรานต์ ถือว่าเป็นการละเล่นของชาวบ้านในจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ จากการให้ข้อมูลของชาวบ้าน พบว่า ประเพณีนี้ยังไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรมาก่อน ซึ่งประเพณีเรือมตรษ (เรือมตร๊ด) มาจากคำว่า เรือม คือ รำ ร่ายรำ และคำว่า ตรษ หรือ ตร๊ด คือ ตรุษ หรือเทศกาล ประเพณี เป็นวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายเขมร มีการถือปฏิบัติในช่วงตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวัน แรม 14 ค่ำ เดือน 5 ของไทย หรืออาจเรียกว่าเป็นงานบุญ "แคแจ็ต" ตามภาษาไทยเขมร ซึ่งมีการจัดขึ้นในวันขึ้นปีใหม่ไทย

ruem ta rod 05

สําหรับความโดดเด่นของประเพณี คือ มีการ "ร้องรํา" ที่ต้องการสื่อสารให้เห็นถึงการมาเยือนของแขก และการแสดงความยินดีต้อนรับของเจ้าบ้านเจ้าเรือน ปัจจุบัน ประเพณีเรือมตรษ (เรือมตร๊ด) มีกําหนดขึ้นมาโดยชุมชนเอง ถือว่าเป็นการละเล่นในหมู่บ้านที่มีการใช้ภาษาไทยเขมร มาช่วยในการสร้างความสนุกสนาน โดยประเพณีจะมีลักษณะของการเดินเป็นกลุ่มไปตามหมู่บ้าน และจะหยุดตามบ้านเป้าหมาย เพื่อขอเข้าไปร่ายรําและแสดง โดยเน้นการร่วมกันทําบุญ โดยการเดินทางไปร่วมขบวนจะประกอบด้วย หนุ่มสาวและคนสูงอายุมาร่วมด้วย ซึ่งประเพณีเรือมตรษ (เรือมตร๊ด) มีการปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งร่วมมือร่วมใจกัน สืบสานวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวบ้าน การที่ชุมชนยังมีการสืบสานและเห็นคุณค่าในภูมิปัญญา บวกกับยังดํารงวิธีการคิดของคนรุ่นปู่ย่าตายาย ที่ต้องการสื่อสารและหลอมรวมคนในชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นได้

ruem ta rod 01

ตามช่วงระยะเวลาเดือน 5 (จิตตมาส) เมื่อถึงวัน แรม 13 - 14 ค่ำ เดือน 5 ผู้นําชุมชนจะรวมตัวกันไปเยี่ยมเยียนบ้านทุกหลังคาเรือน โดยมีคนหนุ่มในหมู่บ้านจํานวน 2 - 3 คน ทําการหามฆ้องใบใหญ่เดินตามพร้อมกับทําการตีฆ้องด้วยการตีให้ดัง “โหม่ง โหม่ง โหม่ง” แล้วร้องบอกว่า “ตอม ตอม ตอม" (ภาษาเขมร) บัดนี้ถึงแคแจ๊ตแล้ว ให้ทุกคนหยุดทํางานทุกชนิดเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เมื่อครบ 3 วันแล้วจึงทํางานได้ตามปกติ

การละเล่นในประเพณีเรือมตรษนั้น ชาวบ้านได้นําอุปกรณ์เครื่องดนตรีที่จะนำมาใช้ในการละเล่นเรือมตร๊ด มีทั้งกลองหาง กลองกาบบั้ง หรือกลองกาบเบื้อง  กลองตุ้ม ฉิ่ง ฉาบ และจังกรง (ที่เสาทำด้วยไม้ไผ่สีสุก ติดกระพวน และกระดิ่ง) ประดับด้วยมาลัยดอกรัก มาประกอบพิธีเซ่นไหว้บูชา และทำการขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้การละเล่นเรือมตร๊ด เป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหา หรืออุปสรรคใดๆมาขัดขวาง และให้เกิดผลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ruem ta rod 04

เพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับคนในชุมชน โดย “พ่อเพลง” เป็นผู้นําเริ่มต้นการร้อง แม่เพลง ลูกคู่ประสานการร้องต่อเนื่องกัน ในส่วนของประชนคนคนอื่นๆ ซึ่งเข้าร่วมขบวน รวมถึงคนต้อนรับที่บ้าน โดยมากมักมีการแต่งกายด้วยสีสดใส หรือดึงดูดความน่าสนใจด้วยการแต่งกาย หรืออาจแต่งกายด้วยชุดแปลกตา เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อการแสดงการละเล่น เป็นการร่วมกันทําบุญของทั้งเจ้าบ้านและกลุ่มนักแสดงด้วยการบริจาค ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ หรือ ปัจจัยไทยธรรม “ในขบวนการละเล่นมีคนเข้าร่วมแต่งตัวให้ดูตลก มีแต่งกายเลียนแบบผู้หญิง ผู้หญิงก็แต่งกายเลียนแบบผู้ชาย มีการเดินกันเป็นแถว 10 - 20 คน เดินไปตามบ้านของชุมชนทุกหลังคาเรือน”

ruem ta rod 02

นอกจากนี้ ระหว่างการเดินไปในบ้านแต่ละหลังนั้น มีการจัดขบวนให้เกิดความสวยงาม โดยไล่ลําดับ ดังนี้ 1) ผู้ถือบาตรและบัญชี สําหรับการจดรายชื่อผู้บริจาค 1 คน อยู่ข้างหน้า 2) ผู้ตีกลองยาว 1 หรือ 2 ใบ 3) ผู้ที่มีความชํานาญในการร้อง (เจรียง) เดินนํา 1 คน และลําดับสุดท้ายคือ คณะรําตรุษ ในขบวนรําตรุษแยกผู้หญิงและผู้ชายออกเป็น 2 แถวคนละฝั่งกัน เรียงลําดับยาวไปทางด้านหลัง เมื่อขบวนเคลื่อนไปถึงด้านหน้าบ้านผู้ใด มือกลองตีกลองเพื่อให้สัญญาณ ผู้ร้องนํา เริ่มร้องเสียงดังบ่งบอกให้เจ้าบ้านรับรู้ เป็นที่รู้กันตามประเพณี คือ เจ้าบ้านเปิดบ้านต้อนรับตามจังหวะ และเมื่อผู้ร้องนําร้องเสร็จ ผู้ร้องตามร้องพร้อมกับยกมือทําจังหวะ และร่ายรําให้เข้ากับจังหวะการร้อง โดยมีการเอียงไปด้านซ้ายและเอียงด้านขวาสลับกันไปมา

"เรือมตรด" ประเพณีพื้นบ้านที่ฟื้นโดย สว

รูปแบบกระบวนการละเล่นเรือมตรษ

รูปแบบการละเล่นในประเพณี เรือมตรษ (เรือมตร๊ด) มีลําดับเฉพาะ และมักไม่มีการข้ามขั้นตอนหรือตัดทอนขั้นตอนออกไป บ่งบอกได้ถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชน และการคงอยู่ของประเพณีนิยมในชุมชน สะท้อนในลําดับของประเพณีเรือมตรุษ ใน เดือนแคแจ๊ต

  • เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มกัน โดยมักอาศัยบ้านหัวหน้ากลุ่มเป็นจุดรวมตัวกันของคณะ ไม่มีการจํากัดจํานวน เพศและวัย อาจจะมีจํานวนผู้รํามากน้อยขึ้นอยู่กับความสมัครใจของชาวบ้านในชุมชน และผู้ใหญ่บ้านประกาศประชาสัมพันธ์ถึงชาวบ้านเพื่อให้รับรู้ กําหนดการของประเพณีเรือมตรุษ อยู่ระหว่าง วันที่ 8-9 เมษายน ของทุกๆ ปี ผู้ใดประสงค์เข้าร่วมให้มารวมกัน ณ ศาลากลางของหมู่บ้าน เพื่อทราบจํานวนและสร้างความเข้าใจในลําดับของประเพณีต่อไป
  • ระหว่างการเดินขบวนประเพณีเรือมตรษ (เรือมตร๊ด) โดยผู้นําขบวน มีข้อพึงปฏิบัติ คือ หากผู้ใหญ่บ้านไม่สามารถมาร่วมขบวนได้ ขบวนต้องแวะบ้านผู้ใหญ่ก่อนเป็นลําดับแรก โดยมีการจัดให้ผู้นําเดินนําก่อน เพื่อออกไปขอรําและแสดงตามบ้านก่อนขบวนมาถึง และยังสามารถตรวจสอบได้ว่าบ้านหลังใดไม่มีผู้ใดอยู่ขณะร่วมประเพณีเรือมตรุษ ขบวนจะข้ามไปบ้านอื่นแทน เมื่อเจรจาและตกลงกับเจ้าบ้านโดยผู้นําได้นั้น เจ้าบ้านบริจาคถวายจตุปัจจัยใส่ลงในบาตรหรือซอง ผู้ถือบัญชีทําการจดบันทึกรายนามผู้บริจาคตามลําดับเพื่อเป็นหลักฐาน (ความชัดเจนของยอดรวม) และแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมในประเพณีเรือมตรษ (เรือมตร๊ด) เพื่อสืบสานประเพณีสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน รวมถึงสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรถวายแด่พุทธศาสนา

ruem ta rod 03

องค์ประกอบสําคัญในประเพณีเรือมตรษ

  1. พานหรือขัน จํานวน 1 ใบ สําหรับใส่เงินทําบุญ โดยต้องใส่เงินบริจาคลงไปในพาน และในพานนั้นต้องมี ดอกไม้ เทียน และหมากพลู เป็นสิ่งสําคัญที่ขาดมิได้ เนื่องจาก ดอกไม้ เทียน หมากพลู เป็นสิ่งสําคัญในประเพณีซึ่งได้รับการสืบทอดมาหลายร้อยปี
  2. เครื่องดนตรี ประกอบด้วย กลอง ทําหน้าที่ส่งสัญญาณให้กับผู้นําและขบวน เพื่อเตรียมพร้อมเริ่มรําและดําเนินต่อเนื่องไปจนจบประเพณี
  3. ผู้ร้องนํา (พ่อเพลง) หรือ ตังเคา ทําหน้าที่ นําการร้องเพื่อให้คณะเรือมตรษร้องตามลําดับประเพณี โดยสถานะของผู้ร้องนําต้องมีคุณสมบัติของผู้ทรงความรู้ มีความสามารถสูง มีไหวพริบในการขับร้อง สามารถร้องสด ประดิษฐ์คําร้องสดขึ้นมา การขับร้องเป็นภาษาเขมรถิ่นไทย โดยเนื้อหาของการขับร้องนั้นต้องสอดคล้องกับ ลักษณะของบ้าน ลักษณะของเจ้าของบ้าน ขณะแสดงการละเล่น (นัยเพื่อความพึงพอใจแก่เจ้าของบ้าน)

ตังเคา คือ “อาจารย์” ผู้นําการละเล่น (เรือมตรษ) เป็นผู้นําขบวนรับบริจาค ขบวนร้องรําทําเพลง และสามารถบริกรรมมนต์คาถา อํานวยอวยพร ประพรมน้ํามนต์ ให้แก่เจ้าของบ้านได้ และเชื่อมโยงกับ วัดได้ ในอดีต ตังเคา หรือ ตะเคาบ้านปรือ คือ บุคคลเดียวกันกับ “พ่อเพลง” ซึ่งในปัจจุบัน ตังเคาและพ่อเพลงคือคนละบุคคลกัน

จะเห็นได้ว่า บทบาทของ "ตังเคา" ในประเพณีการละเล่นเรือมตรษ มีสองส่วนคือ ตังเคาทําหน้าที่ผู้นําของชุมชน อีกหน้าที่หนึ่งคือ ตัวกลางระหว่างชุมชนกับศาสนา (วัด) ตังเคา จะรวบรวมคนในชุมชน ตระเตรียมรูปแบบและวางแผนการดําเนินขบวน จัดลําดับผู้ร่วมขบวน และเส้นทางการเดินเท้าในประเพณีเรือมตรษ อีกด้านหนึ่งก็ประสานงานร่วมระหว่างชุมชนกับวัด ในส่วนของความต้องการหรือสิ่งจําเป็นต่อวัด ตังเคา จึงทําหน้าที่เป็น “สื่อกลาง” รวมถึงทําหน้าที่แทนวัด (ตัวแทนศาสนา) ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น บทบาทของตังเคา เริ่มต้นจากการเป็น "ผู้ประกอบพิธีกรรม" ได้โดยมีประสบการณ์หรือผ่านการอุปสมบทมาก่อน ทําให้สามารถนําความรู้ทางด้านพุทธพิธี มาปรับใช้กับคติความเชื่อท้องถิ่นได้ และจําเป็นต้องมีคุณสมบัติในฐานะของ "ผู้ประพฤติดี" โดยได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน ผ่านการคัดเลือกและการยอมรับทางพฤตินัยของคนในชุมชน เป็นฉันทามติให้เป็นผู้นําในการละเล่น นอกเหนือจากคุณสมบัติทั้งสองอย่างแล้วนั้น คุณสมบัติสุดท้ายที่ขาดเสียมิได้คือ "การเป็นผู้นําการละเล่น" โดยต้องมีทักษะและพรสวรรค์ของการสร้างความสุข การใช้ภาษา การเลือกคํามาใช้กระเซ้าเย้าแหย่แก่คนในชุมชนขณะการละเล่นในประเพณีเรือมตรษ จากบทบาททั้ง 3 ด้านซึ่งสะท้อนคุณสมบัติการเป็นตังเคา จึงทําให้การสืบต่อหรือการถ่ายทอดมีความยากลําบากในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การรับวัฒนธรรมใหม่ เป็นต้น จึงทําให้บทบาทหรือความสําคัญของ "ตังเคา" ค่อยๆ เลือนหายจากชุมชน

ruem ta rod 09

สําหรับเนื้อร้องทํานองที่มีการร้องออกมานั้น จากการศึกษารวบรวมพบว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ตอน ดังนี้

  • ตอนที่ 1 เป็นการบอกกล่าวว่าญาติพี่น้องให้มาทําบุญร่วมกัน ในขณะเดียวกัน เจ้าของบ้านเมื่อเห็นคณะเรือมตรษมาถึงบ้าน ก็จะรีบเอาเสื่อมาปูพร้อมน้ำดื่มขันใหญ่ 1 ขัน และเหล้าขาว 1 ขวด พร้อมกับมาเชิญ ผู้ถือบัญชีขึ้นบ้านนั่งทักทายดื่มน้ำ และถวายจตุปัจจัยเพื่อร่วมทําบุญ ในขณะเดียวกันญาติเจ้าของบ้านคนใดคนหนึ่งจะเอาเหล้าขาวไปรินให้คณะที่รําอยู่ข้างล่าง
  • ตอนที่ 2 เมื่อเจ้าของบ้านทําบุญแล้ว คณะเรือมตรษจะร้องเพลงอวยพร ให้มีอายุมั่นขวัญยืนคิดสิ่งใด ขอให้สมปรารถนา บางทีอาจมีการกระเซ้าเย้าแหย่กันบ้าง
  • ตอนที่ 3 เมื่อผู้ถือบัญชีลาเจ้าของบ้าน คณะก็เริ่มร้องเพลงลา แล้วก็เริ่มเดินไปบ้านถัดไป การร้องเพลงเช่นนี้จะทําทุกหลังคาเรือนไม่มีเว้น บางทีต้องใช้เวลา 2 - 3 วัน จึงจะครบ

ruem ta rod 06

ดังนั้น รูปแบบประเพณีการละเล่นเรือมตรษ มี 2 ขั้นตอน คือ 1) การบอกกล่าวญาติพี่น้อง และ 2) การร้องเพลงให้พร หลังจากได้รับการร่วมทําบุญและจดบันทึกบัญชีรายนามผู้บริจาคด้วยการอําลา โดยใช้การร้องทํานองเพลง ภายหลังจากเสร็จประเพณีเรือมตรษในช่วงเช้าแล้วนั้น บ่ายวันเดียวกัน คณะเรือมตรษของแต่ละหมู่บ้าน จะนําปัจจัยไทยธรรมที่ได้รับการบริจาคแห่มารวมกันที่วัด จากนั้นผู้นําจะทําการถวายปัจจัยไทยธรรมแด่วัด และภายหลังจากถวายปัจจัยเสร็จสิ้น มักนิยมประกอบพิธีกรรมการสรงพระ โดยการอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อสรงพระ และรดน้ำดําหัวแก่ผู้อาวุโสตามลําดับ ในอดีตวันฉลองสงกรานต์ในเดือนห้า (แคแจ๊ต) นอกจากประเพณีเรือมตรษ แล้วยังมีการละเล่นอื่นๆ อาทิ เรือมอันเร สะบ้า โชง เป็นต้น ไปจนกระทั่ง วันแรม 14 ค่ํา เดือน 5 ซึ่งถือได้ว่า เป็นวันส่งท้ายของงานสงกรานต์ เรียกว่า “แห่โดนจังการน” ซึ่งเชื่อกันว่าบรรพบุรุษทั้งหลายได้ลงมาวันสงกรานต์ วันนี้ต้องส่งปู่ย่าตายายกลับภูมิภพ เป็นอันเสร็จสิ้นประเพณีในงานประเพณีประจําเดือนห้า

ตัวอย่างบทร้องและบทแปล มีดังนี้

บทอนุญาตเจ้าของบ้าน

ruem ta rod 07

บทแปลภาษาไทย 

ตรษผมถึงแล้ว ถึงแล้วนะจ๊ะ เข้าบ้านได้หรือไม่ ถ้าได้เข้าไปมันจะพบแต่สิ่งดีๆ นะ กลัวว่าเจ้าบ้านไม่ให้เข้า เลยต้องขออนุญาตก่อน และขบวนเรือมตรษครั้งนี้พวกเรามากันสามสิบคน

บทกล่าวถึงงานตรษ

ruem ta rod 08

บทแปลภาษาไทย

คณะตรษมาจากทิศใต้นะ มาวันนี้ก็มาเพื่อให้แม่มีความสุขหรือพ่อมีความสุข และขอให้ลูกหลานมีความสุข อยู่เย็นเป็นสุข สิ่งชั่วร้ายจงออกไปจากชีวิต ขอให้น้องสาวพบเจอแต่สิ่งดีๆ มีจิตใจที่สงบเยือกเย็น ต้อนรับความเป็นศิริมงคล

เรือมตรด คือรําตรุษสงกรานต์

การแต่งกายในการเรือม(รํา)ตรษในอดีต

หญิง : นุ่งผ้าถุง สวมเสื้อไหมหรือฝ้าย แขนสั้น หรือแขนยาวก็ได้
ชาย : นุ่งโสร่ง สวมเสื้อไหมหรือฝ้าย แขนสั้น หรือแขนยาวก็ได้

การแต่งกายในการเรือม(รํา)ตรษในปัจจุบัน

หญิง : นุ่งผ้าถุง สวมเสื้อลายดอก ห่มสไบ สวมหมวก
ชาย : นุ่งโสร่ง สวมเสื้อลายดอก ผ้าขาวม้าคาดเอว สวมหมวก

ruem ta rod 10

ในปัจจุบันยังคงมีการละเล่นประเพณีเรือมตรษ (เรือมตร๊ด) ในหลายๆ ชุมชนของชาวอีสานใต้ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ซึ่งยังคงได้รับสืบทอดลักษณะประเพณีดั้งเดิมเอาไว้ให้คงอยู่ต่อไป จัดได้ว่าเป็นงานประจําปีสําคัญของชุมชน และสะท้อนถึงความเข็มแข็งทางวัฒนธรรมท้องถิ่น

lilred

backled1

isan word tip

ประตูสู่อีสานบ้านเฮา

IsanGate.com

ปณิธานของเรา :

"ชนชาติที่เป็นอารยะ ต้องมีรากเหง้า และที่มาอันยาวนาน ด้วยภาษาและขนบธรรมเนียมของตนเอง"

: Our Web Site.

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net
e mail
นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)