- Details
- Written by: ทิดหมู มักม่วน
- Category: Ethnos
- Hits: 30047
ไทยลาว (ไทยอีสาน) ไท-ลาว Laotian ตระกูลภาษาไท-กะได (Tai-Kadai Langauge Family) กลุ่มไทยลาว หรือทั่วไปเรียกว่า “ชาวอีสาน” ที่เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุดในอีสาน ซึ่งชาวภาคกลาง มักจะเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ลาว” เพราะว่า มีภาษาพูดเป็นภาษาเดียวกับคนลาวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แต่ความจริงแล้วเป็นภาษาไทยสาขาหนึ่ง ซึ่งมีวัฒนธรรมเหนือกว่ากลุ่มอื่นๆ เป็นกลุ่มที่สืบทอดวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงแต่โบราณ (ร่วมกับไทยเวียง หรือ ชาวเวียงจันทน์) มีตัวอักษรของตนเองใช้มาแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย และอาจจะร่วมสมัยสุโขทัย ตัวอักษรที่ใช้มี 2 แบบ คือ อักษรไทยน้อย และอักษรไทยธรรม
อักษรไทยน้อย เป็นอักษรสุโขทัยสาขาหนึ่ง ส่วนอักษรตัวธรรมเป็นอักษรที่ได้ต้นแบบอักษรมอญโบราณ คล้ายอักษรตัวเมืองของภาคเหนือ มีวรรณกรรมท้องถิ่นของตนเอง เช่น เรื่องสินไซ (สังข์ศิลป์ชัย) จำปาสี่ต้น ท้าวก่ำกาดำ นางผมหอม ไก่แก้ว ลิ้นทอง กำพร้าผีน้อย ขูลูนางอั้ว ท้าวผาแดงนางไอ่ ฯลฯ อาจจะกล่าวได้ว่ากลุ่มไทยลาว เป็นกลุ่มผู้นำทางด้านวัฒนธรรมภาคอีสาน ฉะนั้นภูมิปัญญาสังคม เช่น ฮีต คอง ตำนาน อักษรศาสตร์ จารีตประเพณี กลุ่มไทยลาวจะเป็นกลุ่มที่สืบทอด และถ่ายทอดให้ชนกลุ่มไทยกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย
ประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าไทยอีสาน กลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาวหรือชาวอีสาน ที่มีการตั้งหลักปักฐานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากตีความแล้ว หมายถึงคนเชื้อชาติไทยที่อยู่ในภาคอีสานของประเทศไทย (อีสานเป็นภาษาบาลี แปลว่า ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย แต่ในภาคอีสานมีกลุ่มชาติพันธุ์หลายเชื้อชาติ เช่น เชื้อชาติลาว เขมร ไทย จีน เวียดนาม อินเดีย หรือเชื้อชาติอื่นๆ ที่อพยพเข้ามาอยู่แต่โบราณกาล หรืออพยพเข้ามาอยู่ใหม่หลังสงคราม กลุ่มชาติพันธุ์ลาว เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด และถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่สุดในอีสาน
ราชสำนักส่วนกลาง ในสมัยก่อนการปฏิรูปการปกครอง 2435 เรียกหัวเมืองแถบนี้ว่า หัวเมืองลาวกาวตะวันออก จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา บริเวณที่เคยเป็นมณฑลต่างๆ ในอีสานได้ถูกสถาปนาเป็นภาคอีสานมาจนปัจจุบัน
ความเป็นมา
เรื่องถิ่นเดิมของชาติพันธุ์ลาวมีแนวคิด 2 อย่าง ซึ่งก็มีเหตุผลสนับสนุนพอๆ กัน
- ถิ่นเดิมของลาวอยู่ที่อีสานนี่เอง ไม่ได้อพยพมาจากไหน ถ้าเหมาว่าคนบ้านเชียง คือ ลาว ก็แสดงว่า ลาว มาตั้งหลักแหล่งที่บ้านเชียงมากกว่า 5,600 ปีมาแล้ว เพราะอายุหม้อบ้านเชียงที่พิสูจน์โดยวิธีคาร์บอน 14 บอกว่าหม้อบ้านเชียงอายุเก่าแก่ถึง 5,600 ปี กว่าคนบ้านเชียงจะเริ่มตีหม้อใช้ในครัวเรือน ก็ต้องสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยก่อนหน้านั้นแล้ว
- ถิ่นเดิมของลาวอยู่ที่อีสาน และมีมาจากที่อื่นด้วย แนวคิดนี้เชื่อว่าคนอีสานน่าจะมีอยู่แล้วในดินแดนที่เรียกว่า "อีสาน" โดยประมาณ 1,000 – 7,000 ปีที่ผ่านมา นักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานว่า ได้มีการอพยพของพวกละว้า หรือข่า ลงมาอยู่ในแดนสุวรรณภูมิเป็นพวกแรก พอเข้ามาอยู่สุวรรณภูมิ ก็แบ่งเป็นอาณาจักรใหญ่ๆ 3 อาณาจักร คือ
- อาณาจักรทวารวดี ซึ่งมีนครปฐมเป็นราชธานี มีอาณาเขตถึงเมืองละโว้ (ลพบุรี)
- อาณาจักรโยนก เมืองหลวงได้แก่ เมืองเงินยาง หรือเชียงแสน มีเขตแดนขึ้นไปถึงเมืองชะเลียงและเมืองเขิน
- อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ได้แก่บรรดาชาวข่าที่มาสร้างอาณาจักรในลุ่มน้ำโขง มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองโคตรบูรณ์ ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
จากแนวคิดที่ 2 จะเห็นว่า ในคำรวมที่นักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์เรียกว่า "คนอีสาน" นั้นน่าจะมีคนหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์ปะปนกันอยู่ และในหลายกลุ่มนั้นน่าจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ "ลาว" อยู่ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานจากงานเขียนของนักวิชาการบางคนที่กล่าวว่า หลังจากพวกละว้า หรือพวกข่า หมดอำนาจลง ดินแดนอีสานก็ถูกครอบครองโดยขอมและอ้ายลาว ต่อมาขอมก็เสื่อมอำนาจลง ดินแดนส่วนนี้จึงถูกครอบครองโดยอ้ายลาวมาจนถึงปัจจุบัน
ถ้าเป็นอย่างนี้จริงจึงกล้าสรุปได้ว่า "อ้ายลาว" ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ลาวนั่นเอง อ้ายลาวเป็นสาขาหนึ่งของมองโกลเดิม อยู่ทางตอนบนของแม่น้ำแยงซีเกียง และแม่น้ำเหลือง ก่อนที่จะอพยพเข้าครอบครองอีสานนั้นได้รวมตัวกันตั้งเมืองสำคัญขึ้น 3 เมือง คือ นครลุง นครเงี้ยว และนครปา
ต่อมากลุ่มอ้ายลาวเกิดสู้รบกับจีน สาเหตุเพราะจีนมาแย่งดินแดน อ้ายลาวสู้จีนไม่ได้จึงอพยพลงใต้ถอยร่นลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาตั้งอาณาจักรอยู่บริเวณยูนานในปัจจุบัน มีเมืองแถนเป็นศูนย์กลางสำคัญ แต่ก็ยังถูกรุกรานแย่งชิงจากจีนไม่หยุดหย่อน อ้ายลาวจึงอพยพลงมาตั้งอาณาจักรใหม่อีก คือ อาณาจักรหนองแส มีขุนบรมวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอ้ายลาว เป็นผู้ปกครองขุนบรมขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 1272 ได้รวบรวมผู้คนเป็นปึกแผ่น และส่งลูกหลานไปครองเมืองต่างๆ ในบริเวณนั้นลูกหลานที่ส่งไปครองเมืองมี 7 คน คือ
- ขุนลอ ครองเมืองชวา คือ หลวงพระบาง
- ขุนยีผาลาน ครองเมืองหอแตหรือสิบสองพันนา
- ขุนสามจูสง ครองเมืองปะกันหรือหัวพันทั้งห้าทั้งหก
- ขุนไขสง ครองเมืองสุวรรณโดมคำ
- ขุนงัวอิน ครองเมืองอโยธยา (สุโขทัย)
- ขุนลกกลม ครองเมืองมอญ คือ หงสาวดี
- ขุนเจ็ดเจือง ครองเมืองเชียงขวางหรือเมืองพวนพี่น้องอ้ายลาว
ทั้ง 7 ปกครองบ้านเมืองแบบเมืองพี่เมืองน้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือเจือจุนกัน โดยยึดมั่นในคำสาบานที่คำสัตย์ปฏิญาณร่วมกันว่า "ไผรบราแย่งแผ่นดินกันขอให้ฟ้าผ่ามันตาย" สำหรับกลุ่มอ้ายลาวนี้ น่าจะเกี่ยวโยงเป็นกลุ่มเดียวกับคนชาติพันธุ์ลาวในอีสาน น่าจะเป็นกลุ่มลาวเชียง และลาวเวียง คือ กลุ่มจากอาณาล้านนา (ลาวเชียง) และกลุ่มจากอาณาจักร ล้านช้าง (ลาวเวียง)
ในพุทธศตวรรษที่ 17 - 18 เริ่มตั้งแต่สร้างเมืองชวา หรือเมืองหลวงพระบาง มีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาถึง 22 องค์ กษัตริย์องค์หนึ่ง คือ พระเจ้าเงี้ยว ได้กำเนิดลูกชายคือ พระเจ้าฟ้างุ้ม หรือ พระเจ้าฟ้าลุ้ม เกิดมามีฟันเต็มปาก เสนาอำมาตย์ในราชสำนักเห็นเป็นอาเพศ จึงทูลให้พระบิดานำไป "ล่องโขง" คือ ลอยแพไปตามลำน้ำโขง มีพระเขมรรูปหนึ่งพบเข้า เกิดเมตตาเอาพระเจ้าฟ้างุ้มไปชุบเลี้ยงจนเติบใหญ่ แล้วถวายตัวในราชสำนักเขมร พระเจ้าฟ้างุ้มได้รับการศึกษาอบรมอย่างองค์ชายเขมร และทรงเป็นราชบุตรเขยของกษัตริย์เขมรด้วย เมื่อพระเจ้าฟ้าเงี้ยวสิ้นพระชนม์ เจ้าฟ้าคำเสียวผู้เป็นน้องชาย ขึ้นครองราชย์แทน พระเจ้าฟ้างุ้มจึงยกทัพจากเขมรทวงราชสมบัติของบิดาคืน สามารถโจมตีเมืองหลวงพระบางได้ เจ้าฟ้าคำเลียวเสียทีแก่หลานสู้ไม่ได้ น้อยใจจึงกินยาพิษตาย เจ้าฟ้าลุ้มจึงขึ้นครองเมืองหลวงพระบาง เมื่อ พ.ศ. 1896 ทรงพระนามว่า "พระยาฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณี"
พระเจ้าฟ้างุ้มเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถมาก เป็นนักรบผู้กล้าหาญชาญฉลาด ในช่วงนั้นอาณาจักรสุโขทัยมีพระมหาธรรมราชาลิไทเป็นกษัตริย์ พระเจ้าฟ้างุ้มได้ขยายอำนาจแผ่ไปถึงญวน ลงมาถึงส่วนหนึ่งของเขมรตอนล่าง และเข้ามาสู่ดินแดนอีสาน ได้อพยพผู้คนจากเวียงจันทน์มาอยู่บริเวณเมืองหนองหาน และหนองหานน้อยประมาณ 10,000 คน พระเจ้าฟ้างุ้มครองราชย์และแผ่แสนยานุภาพเรื่อยมาจนถึงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) แห่งกรุงศรีอยุธยา
พระเจ้าฟ้างุ้ม คิดแผ่แสนยานุภาพเข้าครอบครองกรุงศรีอยุธยา ทำให้พระเจ้าอู่ทองต้องเจรจาหย่าศึก โดยอ้างความเป็นญาติร่วมวงศ์ขุนบรมเดียวกันว่า "เฮาหากแมนอ้ายน้องกันมาแต่ขุนบรมพุ้น หากเจ้าเป็นลูกหลานขุนบรมจริง เฮาอย่ามารบราฆ่าฟันกันเลย ดินแดนส่วนที่อยู่เลยดงสามเส้า (ดงพญาไฟ) ไปจดภูพระยาฝอ และแดนเมืองนครไทย ให้เป็นของเจ้า ส่วนที่อยู่เลยดงพญาไฟลงมาให้เป็นของข้อย แล้วจัดส่งลูกสาวไปจัดที่อยู่ที่นอนให้" (ทองสืบ ศุภมารค: อ้างในสมเด็จพระสังฆราชลาว 2528:43) พระเจ้าอู่ทอง ยังได้ส่งช้างพลาย 51 เชือก ช้างพัง 50 เชือก เงินสองหมื่น นอแรดแสนนอ กับเครื่องบรรณาการอื่นๆ อีกอย่างละ 100 ให้แก่พระเจ้าฟ้างุ้ม จากหลักฐานนี้ จึงมีอำนาจครอบครองดินแดนอีสาน ยกเว้นเมืองนครราชสีมา ที่ยังคงเป็นอิสระอยู่ เพราะในหนังสือ "King of Laos" ระบุว่าในปี ค.ศ. 1385 อาณาเขตกรุงล้านช้างทางทิศตะวันตกติดต่อกับโคราช (นครราชสีมา) ดินแดนอีสานส่วนใหญ่ตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้าฟ้างุ้มเรื่อยมา
จนถึงสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (ลาวเขียน ไชยเสฏฐามหาราช) ขึ้นครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2091 - 2114 ได้ย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาอยู่เวียงจันทน์ พระองค์ได้ทำสัญญาพันธมิตร กับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา และทั้งสองได้สร้างพระธาตุศรีสองรัก ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นเขตแดนระหว่างสองอาณาจักร กษัตริย์องค์นี้ได้สร้างวัดองค์ดื้อ และศาสนสถานต่างๆ ในเขตเมืองหนองคาย และบูรณะพระธาตุพนมด้วย
จึงอาจกล่าวได้ว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช สนใจดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงมากกว่าสมัยก่อนๆ ต่อมาในปี พ.ศ. 2250 ได้เกิดการแก่งแย่งอำนาจขึ้นในลาว ทำให้ลาวถูกแบ่งออกเป็น 2 อาณาจักร มีหลวงพระบาง และเวียงจันทน์ เป็นศูนย์กลาง
ในปี พ.ศ. 2256 อาณาเขตเวียงจันทน์ทางใต้ได้ถูกแบ่งแยกโดย เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร (เจ้าหน่อกษัตริย์) มีเมืองนครจำปาศักดิ์เป็นเมืองหลวง ผู้ครองนครจำปาศักดิ์ได้ส่งจารย์แก้ว (เจ้าแก้วมงคล) มาเป็นเจ้าเมืองท่ง หรือเมืองทุ่ง ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด นับว่านครจำปาศักดิ์ได้ขยายอำนาจเข้ามาสู่ลุ่มแม่น้ำมูล – ชี ตอนกลาง เวลาต่อมาลูกหลานเจ้าเมืองท่ง หรือเมืองสุวรรณภูมิได้สร้างเมืองต่างๆ ในดินแดนอีสานมากกว่า 15 เมือง (อภิศักดิ์ โสมอินทร์. 2540 :71) เช่น สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ มหาสารคาม ชนบทขอนแก่น ฯลฯ ต่อมาเกิดความไม่ลงรอยแตกแยกกัน ระหว่างกลุ่มขุนนาง และกษัตริย์ลาวผู้คนได้อพยพหนีภัยการเมือง จากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้าสู่อีสานเหนือ กลุ่มสำคัญได้แก่
กลุ่มเจ้าผ้าขาว โสมพะมิตร กลุ่มนี้อพยพผู้คนมาตั้งอยู่ริมน้ำปาว คือ บ้านแก่งสำเริง (สำโรง) เจ้าโสมพะมิตร ได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 1 ที่กรุงเทพฯ เพื่อถวายความจงรักภักดี และเนื่องจากมีกำลังคนถึง 4,000 คน รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าให้ยกบ้านแก่งสำเริง เป็นเมืองกาฬสินธุ์ ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และเจ้าโสมพะมิตรได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาไชยสุนทร" เจ้าเมืองกาฬสินธุ์
กลุ่มพระวอพระตา พระวอพระตาเป็นเสนาบดีลาว เกิดขัดใจกษัตริย์เวียงจันทน์ อพยพผู้คนข้ามโขงมาอยู่ที่หนองบัวลุ่มภูซึ่งเป็นเมืองอยู่ก่อนแล้ว ตั้งชื่อเมืองว่า "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" แต่ได้ถูกกองทัพลาวตามตี จนพระตาตายในที่รบ ส่วนพระวอได้พาบริวารไพร่พลหนีลงไปตามลำแม่น้ำโขงจนถึงดอนมดแดง และต่อมาลูกหลานของพระวอได้ขอตั้งเป็นเมืองอุบลราชธานี และเมืองยโสธร
กลุ่มท้าวแล ท้าวแล และสมัครพรรคพวกได้อพยพหนีภัยการเมือง จากเวียงจันทน์ มาอยู่ในท้องที่เมืองนครราชสีมา ต่อมาได้ย้ายไปทางตอนเหนือแล้วขอตั้งเป็นเมืองชัยภูมิ ท้าวแลได้รับโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าเมือง มีบรรดาศักดิ์ว่า "พระภักดีชุมพล" ต่อมาได้เลื่อนเป็น "พระยาภักดีชุมพล"
การตั้งบ้านเมืองในดินแดนอีสานตั้งแต่พุทธศตวรรษ 24 - 25 หรือตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีเมืองต่างๆ เกิดขึ้นมากกว่า 100 เมือง มีแบบแผนการปกครองตามแบบหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ คือมีตำแหน่งอาชญาสี่คือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ส่วนเมืองในเขตอีสานใต้ คือนครราชสีมา และหัวเมืองเขมรป่าดง ได้ใช้แบบแผนการปกครองแบบกรุงเทพฯ คือมีเจ้าเมือง ปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยราชการเมือง จากหลักฐานของลาวสามารถหาได้กลุ่มชาติพันธุ์ลาว ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอีสานมานานแล้ว จึงสรุปได้ว่า คนในท้องถิ่นอีสาน หรือบริเวณนี้เป็นเชื้อสายลาว ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน สืบทอดสายธารทางประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ประวัติความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว
ตามหลักฐานทางตำนานและพงศาวดาร ลาวเป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำโขง ตั้งแต่เมืองสิงห์ ทางตอนใต้ของแคว้นสิบสองปันนา มายังแคว้นสิบสองจุไทย ในเขตลุ่มแม่น้ำดำ ทางตะวันออกและคลุมลงมาทางใต้ในเขตหัวพัน ลงมาจนถึงบริเวณแคว้นตวัน-นินห์ ของญวน
มีลาวกลุ่มหนึ่งได้ขยายมาทางลุ่มแม่น้ำโขง ทางด้านตะวันตกและด้านใต้ ได้แสดงทัศนะว่า ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ตรงกับรัชกาลของพระยาสามแสนไทย เป็นช่วงเวลาที่คนลาวเริ่มเข้ามาตั้งหลักแหล่งบ้านเมืองในอีสาน การเข้ามาอยู่ในดินแดนไทยของคนลาว มีการเข้ามาอยู่ 2 ลักษณะคือ
- การอพยพเข้ามาลี้ภัย ตั้งเป็นบ้านเป็นเมือง ส่วนใหญ่จะกระจัดกระจายกันอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- การถูกกวาดต้อนเข้ามา ส่วนใหญ่จะถูกนำมาอยู่ในเขตจังหวัดในภาคกลาง
ศาสนาและความเชื่อ
ชาวไทยลาว ยึดมั่นในจารีตประเพณี ดำเนินชีวิตตาม "ฮีตสิบสอง" (คือกิจกรรมประเพณีในรอบ 12 เดือน) นับถือศาสนาพุทธแบบชาวบ้าน คือ พุทธศาสนาที่ปรับเข้ากับจารีตของชาวบ้านมุ่งที่จะสั่งสอนให้เป็นพลเมืองดี มากกว่าที่จะสอนให้ละโลกีย์ไปสู่นิพพาน ตามปรัชญาพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังนับถือผีบรรพบุรุษ ผีฟ้า ผีแถน รวมทั้งผีไร่นา ฯลฯ โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษยังมีอิทธิพลต่อสังคมมาก นั่นคือ ผีปู่ตา ทุกชุมชนในชนบทจะมีศาลเจ้าปู่ตา (ตูบปู่ตา) ประจำหมู่บ้าน และมีตำแหน่งเฒ่าจ้ำ หรือหมอจ้ำ เป็นผู้ที่ติดต่อกับวิญญาณ เฒ่าจ้ำจะเป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมากผู้หนึ่ง
ความเชื่อคนอีสานในอดีตกาลนั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ ไกลปืนเที่ยง การดูแลทางด้านสุขอนามัยเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย คนอีสานจึงหันไปเพิ่งภูตผี คนอีสานนั้นเชื่ิอในเรื่องของ ผี เป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็น ผีของปู่ ย่า ตา ยาย ผีป่า ผีเขา ผีปอบ ฯลฯ ในทุกวันนี้ความเชื่อในเรื่องผีของชาวอีสานนั้นยังมีอยู่ ยากที่จะลบล้างในความเชื่อนั้น ในขณะเดียวกันบนความเชื่อนั้น นอกจากจะเป็นการเตือนสติ ไม่ให้ประพฤติผิด ปฏิบัติชั่วแล้ว ยังทำให้เกิดประเพณีที่ดีงาม งานบุญต่างๆ มากมายกับคนอีสาน เป็นกุศโลบายล้ำลึกในการหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ร่วมกันในชุมชน เช่น ดอนปู่ตา ดอนเจ้าปู่
ชาวไทยลาวนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท และศาสนาพราหมณ์ ซึ่งปรากฏในพิธีกรรมต่างๆ ในหมู่บ้านไทย - ลาว จะมีวัดเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรม วัดยังเป็นโรงเรียนสอนหนังสือให้เด็กๆ ซึ่งเด็กชายจะมีความใกล้ชิดกับวัด เพราะใช้เป็นสถานที่เรียน บวชเณร และอุปสมบทตามลำดับ นอกจากนั้นชาวไทย-ลาวยังมีความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณ เช่น ผีในต้นไม้ แม่น้ำ ในบ้าน ในไร่นา ผีประจำหมู่บ้าน และผีบรรพบุรุษ จะมีพิธีเซ่นไหว้ผีเป็นประจำ ในฤดูเก็บเกี่ยวหรือเพาะปลูกข้าว เวลาเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวไทย-ลาวเชื่อว่ามีสาเหตุจากผีและขวัญออกจากร่าง ดังนั้นจึงมีผู้ประกอบพิธีรักษาโรค และเรียกขวัญ เช่น พระ สงฆ์ นอกจากนั้น ยังเชื่อเรื่องผีปอบ ซึ่งเป็นคนที่ถูกวิญญาณ ชั่วร้ายเข้าสิง และสามารถทำร้ายผู้อื่นได้
ชาวอีสานเป็นกลุ่มชนที่ให้ความเคารพนับถือและปฏิบัติตนเป็น พุทธมามะกะ ที่ดี ยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่ในอดีตจนมาถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากทุกเทศกาลสำคัญของไทย (ปีใหม่ สงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา ถนนหนทางที่มุ่งสู่สายอีสานจะเนืองแน่นด้วยรถรา คนอีสานพากันกลับบ้าน ไม่เว้นแม้จะไปทำงานยังต่างแดนก็ตาม) ชนชาวไทยอีสานจะตั้งกองกฐิน ผ้าป่า ไปทอดถวายวัดที่บ้านเกิด เพื่อนำรายได้ไปสร้างวัดและบูรณะ ปฏิสังขร วัดวาอารามต่างๆ ที่บ้านเกิดเมืองนอนของตนเองเป็นเนืองนิจ คนอีสานเมื่อไปเยี่ยมเยี่ยนเพื่อนบ้านต่างถิ่น สิ่งแรกที่จะมองหานั่นคือ วัดวาอาราม หากหมู่บ้าน แห่งหนตำบลใด มีวัดวาอาราม และพระอุโบสถ (สิม) สวยงดงาม จะเป็นที่เชิดหน้าชูตาของหมู่บ้านนั้นๆ
การตั้งถิ่นฐาน
การตั้งภูมิลำเนาของกลุ่มไทยลาวจะกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะตอนบนของภาคนับตั้งแต่ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี เลย มุกดาหาร อำนาจเจริญ และบางอำเภอ ของ จ.ศรีสะเกษ สุรินทร์ (อ.รัตนบุรี) นครราชสีมา (อ.บัวใหญ่ อ.สูงเนิน อ.ปักธงชัย) บุรีรัมย์ (อ.พุทไธสง) นิยมตั้งหมู่บ้านเป็นกลุ่มบนที่ดอนเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า "โนน" โดยยึดทำเลการทำนาเป็นสำคัญ นั่นคือ บริเวณรอบหมู่บ้าน จะมีที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีหนองน้ำ หรือลำน้ำเล็กๆ ที่มีน้ำสำหรับบริโภคในฤดูแล้ง ไม่ห่างไกลหมู่บ้านจะมีป่าละเมาะสาธารณประโยชน์ ซึ่งใช้พื้นที่ปล่อยวัว ควายในฤดูทำนา และเป็นแหล่งเก็บพืชผักป่าอีกด้วย
หากมีวัดจะตั้งอยู่ตอนท้ายหมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ เพราะความเชื่อที่ว่า วัดควรแยกจากหมู่บ้าน คือ วิสุงคามสีมา (แปลว่า เขตนอกชุมชน) แต่โดยปฏิบัติแล้วพระภิกษุกับชาวบ้าน จะมีกิจกรรมร่วมกันอย่างใกล้ชิดทั้ง 12 เดือน นอกจากวัดแล้ว ยังมีสถานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ศาลปู่ตา หรือ เรียกตามภาษาว่า "ตูบปู่ตา" ซึ่งมักจะตั้งอยู่ทางเข้าหมู่บ้านซึ่งเป็นดอนที่ยื่นออกมา บางแห่งมีพื้นที่กว้างใหญ่เรียกว่า "ดอนปู่ตา"
การสร้างบ้านเรือน
หมู่บ้านชาวไทยลาว จะตั้งอยู่ติดแม่น้ำ แวดล้อมด้วยสวนมะพร้าว และนาข้าว ตัวบ้านสร้างจากไม้ไผ่ ยกพื้นสูง มีบันไดอยู่ด้านหน้า บนเรือนจะกั้นเป็นห้องนอน และพื้นที่ทำงาน ใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่เก็บเครื่องมือทำนาทำไร และใช้เลี้ยงสัตว์ ส่วนยุ้งข้าวจะปลูกอยู่ห่างจาก ตัวเรือนออกไป

ชาวอีสานสร้างเรือนเพื่ออยู่อาศัย จึงไม่ประณีตบรรจงมากนัก นั่นคือ ผู้มีฐานะขนาดปานกลางจะสร้างบ้านเรือนที่มีขนาด 2 ห้องนอน คือ ห้องส้วม (ห้องลูกสาว และห้องหอ) และห้องเปิง (ห้องหัวหน้าครอบครัวและไว้หิ้งผี ที่เรียกว่า "ห้องฮักษา") มีส่วนที่เชื่อมต่อห้องนอนของลูกสาวกับเครือญาติ เป็นชานโล่ง (ไม่มีหลังคา) ติดต่อกับครัว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นบ้านใต้ถุนสูงเพื่อทำกิจกรรม เช่น ทอผ้า เก็บเครื่องมือทำนา และให้วัวควายนอนส่วนหนึ่ง
วัฒนธรรมอาหาร
ชาวอีสานรับประทานข้าวเหนียว อาหารหลักของชาวบ้าน คือ เครื่องจิ้ม (เช่น แจ่วบอง ป่น) กับผัก ส้มตำ แกง อ่อม จากเนื้อสัตว์และพืชผักที่หาได้ตามไร่นา ส่วนอาหารพิเศษอื่นๆ ได้แก่ ลาบ ก้อย เนื้อย่าง ฯลฯ นั้นจะบริโภคเมื่อยามมีงานบุญ หรือการเลี้ยงฉลองเท่านั้น
การละเล่น ขับร้อง ลำนำ
การละเล่น เครื่องดนตรี ได้แก่ หมอลำ การขับเซิ้ง ฟ้อน ส่วนเครื่องดนตรีสำคัญได้แก่ แคน ซึง หรือ พิณ ฉิ่ง ฉาบ กลอง (เครื่องดนตรีอื่นๆ ที่เห็นในปัจจุบัน เพิ่มเติมมาใหม่จากการผสมผสานวัฒนธรรม และการคิดค้น ปรับปรุง เช่น โปงลาง โหวต)
พิธีกินดอง (แต่งงาน)
หนุ่มสาวในภาคอีสานโดยเฉพาะกลุ่มไทย-ลาว ค่อนข้างจะอิสระในการเลือกคู่ครอง นั่นคือ ประเพณีพื้นบ้านไม่ค่อยจะเคร่งครัดในความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาว แต่กระนั้นก็ตามหนุ่มสาวภาคอีสาน จะเกรงกลัวผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า "ผิดผี" คือไม่กล้าที่จะประพฤติล่วงเกินประเพณีที่เรียกว่า "ฮีตบ้านคองเมือง" ประเพณีอีสานโดยทั่วไป จะเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้คุ้นเคย หรือร่วมกิจกรรมสาธารณะ ด้วยกันเสมอ พ่อแม่ญาติพี่น้องฝ่ายสาวก็ไม่ได้ปกป้องแต่อย่างใด เช่น
การลงข่วง (หนุ่มๆ จะมาช่วยสาวๆ ปั่นฝ้ายและเกี้ยวพาราสีกันได้) หรืองานบุญประเพณีทั่วไป หนุ่มสาวต่างหมู่บ้านจะมีโอกาสพบปะและสังสรรค์กันอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นโอกาสเลือกคู่ครองที่พึงใจไปด้วยในงานบุญประเพณีนั้นๆ ครั้นเมื่อหนุ่มสาวแน่ใจว่าพบบุคคลที่พึงพอใจแล้ว หนุ่มสาวจะมาเยี่ยมเยือนกันที่บ้านสืบต่อไป
พิธีกินดอง เป็นการเลี้ยงในพิธีแต่งงานที่จัดเป็นพิธีใหญ่ นั่นคือ ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ที่อยู่ในครอบครัวมีฐานะ มีหน้าตาของหมู่บ้าน ฝ่ายสาวจะรู้ตนเองว่าพ่อแม่เป็นคนที่ชาวบ้านนับถือ ครั้นเมื่อสมัครรักใคร่กับหนุ่มใดๆ มักจะไม่ยินยอมให้ฝ่ายชายมาซูน (สัมผัส/แตะต้อง) เพราะถือว่าเป็นการไม่รักษาหน้าพ่อแม่ญาติพี่น้อง ฉะนั้นฝ่ายสาวจะยินยอมให้ฝ่ายชายมาสู่ขอตามประเพณี หรือบางกรณีชายหนุ่มอาจจะส่งเฒ่าแก่มาขอเลยทีเดียวก็ได้ การสู่ขอสาวเพื่อแต่งงานนี้เรียกว่า "โอม" (หรือโอมสาว)
พิธีโอม (การสู่ขอ) การสู่ขอนั้นฝ่ายชายจะส่งแม่สื่อไปทาบทาม ถามความสมัครใจจากฝ่ายสาวก่อน ฝ่ายพ่อแม่จะเรียกบุตรสาวมาถามความสมัครใจ หากฝ่ายหญิงสมัครใจก็จะทำพิธีโอม ซึ่งในการนี้แม่สื่อจะปรึกษากับฝ่ายสาว เรื่องการกำหนดวันทำพิธีโอมด้วย ถึงวันกำหนดทำพิธีโอมกันนั้น เจ้าโคตรฝ่ายชาย (เจ้าโคตรคือ บุคคลที่เป็นผู้ใหญ่หรืออาวุโสของตระกูล) จะเป็นเฒ่าแก่จัดพานหมาก 4 คำ หรือเรียกว่า "ขันหมาก" กับเงิน 3 บาท ไปบ้านเจ้าสาว
เมื่อถึงเรือนฝ่ายสาว บิดามาดารญาติพี่น้องจะจัดการต้อนรับเจ้าโคตรฝ่ายชายที่เป็นเฒ่าแก่มาสู่ขอ (หรือมาโอม) ตามสมควร เมื่อทั้งสองฝ่ายได้นั่งตามสมควรแล้วเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะยกพานหมาก 4 คำ (มีผ้าขาวปิดไว้) ให้บิดามาดารฝ่ายหญิงกิน และรับเงิน 3 บาท ที่อยู่ในพานนั้นด้วย เงินนี้เรียกว่า "เงินไขปากคอ" การรับเงินแสดงว่าฝ่ายสาวตกลงใจแล้ว หากไม่ตกลงฝ่ายสาวจะส่งเงินคืน 3 บาทคืน ครั้นเมื่อพิธีโอมเสร็จแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะปรึกษาค่าสินสอดกันเรียกว่า "คาดค่าดอง"
การประกอบอาชีพ
คนไทย-ลาว ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก นอกจากนั้นยังมีการจับปลาเป็นอาหาร และชาวลาวยังทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น ปั้นหม้อ สานตะกร้า ทอผ้า เป็นต้น ผู้หญิงลาวจะมีหน้าที่ทอผ้า เลี้ยงสัตว์ ตำข้าว เตรียมอาหาร ทำครัว เพาะปลูกเก็บเกี่ยว ส่วนผู้ชายจะทำงานหว่านไถนา ชาวลาวมีการนับถือญาติทั้งสองฝ่าย เมื่อชายหญิงแต่งงานแล้วจะอาศัยอยู่บ้านฝ่ายหญิงระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจะย้ายออกไปตั้งเรือนใหม่ ลูกสาวมักได้รับมรดกจากพ่อแม่ และมักจะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของตนหลังจากแต่งงาน
การแต่งกายของชนชาติไท-ลาว
ผู้ชาย เมื่ออยู่กับบ้านจะนุ่งกางเกงขาก๊วยสั้น สวมเสื้อม่อฮ่อม แขนสั้น คาดผ้าขาวม้าตาตาราง เมื่อออกไปนอกบ้านเพื่อร่วมงานบุญ จะนุ่งโสร่ง สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าขาวม้าคล้องคอ
ส่วนผู้หญิงจะนุ่งซิ่น นิยมนุ่งซิ่นผ้าฝ้ายมาแต่เดิม และพัฒนาผ้าฝ้ายเป็นการทอผ้ามัดหมี่ลวดลายต่างๆ ผ้าซิ่น ไม่มีเชิงทั้งที่เป็นผ้าเข็น(ทอ) และผ้ามัดหมี่ฝ้าย หรือไหม เสื้อแบบเสื้อของชนเผ่าไทยลาว แม้จะเป็นเสื้อย้อมสีน้ำเงินแก่ แบบเสื้อคล้ายกับชนเผ่าอื่นๆ แต่เนื่องจากเป็นชนเผ่าที่กระจายอยู่ในที่ต่างๆ และรับเอาวัฒนธรรมจากภาคกลางได้รวดเร็ว จึงทำให้เผ่าไทยลาว มีแบบเสื้อแตกต่างไปจากชนเผ่าอื่นๆ เช่น เสื้อแขนกระบอก คือ ทอจากผ้าแพรตกแต่งให้มีจีบมีระบาย แขนกระบอกผ้าฝ้ายย้อมคราม หรือมัดหมี่ กลุ่มที่แต่งกายแบบดั้งเดิมจริงๆ นิยมแต่งด้วยผ้าย้อมครามทั้งเสื้อและผ้าซิ่น
การพัฒนาการของการทอผ้ามัดหมี่ ทำให้ไทยลาว ในปัจจุบันสามารถทอผ้าลายหมี่คั่นหลายสี เช่น สีเหลือง สีแดง และนิยมสีฉูดฉาด นอกจากนี้ชาวเผ่าไทยลาวยังนิยมทอผ้าห่ม ผ้าจ่องลวดลายสวยงาม ซึ่งสามารถปรับแต่งมาเป็นผ้าสไบโชว์ลวดลายของผ้าประกอบเสื้อผ้าได้เป็นอย่างดี
เครื่องประดับของชาวเผ่าไทยลาว นิยมเครื่องเงินเช่นเดียวกับกลุ่มอื่น นอกจากเครื่องเงิน ยังนิยมสวมสร้อยที่เป็นรัตนชาติ สอดชายเสื้อในซิ่นหมี่ไหม คาดด้วยเข็มขัดเงิน จุดเด่นอีกประการหนึ่งของชนเผ่าไทยลาว คือ การนิยมผ้าขาวม้าทั้งชายและหญิง ผ้าขาวม้าที่งดงามคือผ้าไส้ปลาไหล มีสีเขียว-แดง-เหลือง ตามแนวยาว สามารถคัดแปลงเป็นผ้าคล้องคอ ผ้าสไบของสตรีในการเสริมแต่งกายให้งดงามขึ้น
บุคคลิกและอุปนิสัย โดยเอกลักษณ์นิสัยใจคอของชาวอีสานในอดีตส่วนใหญ่แล้ว เป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดังจะเห็นได้จาก เอกลักษณ์โดดเด่นในหมู่บ้านของชาวอีสานทั่วไป จะมีซุ้มเล็กๆ หรือเพิงเล็กๆ ปลูกไว้หน้าบ้าน ในซุ้มหรือเพิงเล็กๆ นั้นจะมีตุ่มน้ำเย็นใสสะอาดพร้อมกระบวยไว้ให้แขกต่างบ้าน หรือใครที่เดินผ่านไปมาได้ตักดื่มกินแก้กระหาย (ภูมิปัญญาอีสาน ตุ่มน้ำจากดินเผาเมื่อใช้ไปนานๆ จะมีตะไคร่น้ำจับภายนอกทำให้น้ำในตุ่มเย็น นี่เป็นตู้เย็นธรรมชาติที่ไม่เปลืองกระแสไฟฟ้า)
คนอีสานมีความเป็นกันเองกับทุกคน เป็นคนจริงใจ ให้ความไว้วางใจ ไว้เนื้อเชื่อใจคนง่าย เพราะคนอีสานในอดีตจะเป็นชนที่ไม่ชอบพูดโกหก หรือพูดปดมดเท็จ ซื่อสัตย์ ปฏิบัติตามศีลห้าค่อนข้างจะเคร่งครัดในศีลธรรม ถ้าใครคนหนึ่งบอกกล่าวหรือเล่าอะไร ก็จะเชื่อตามกันไปเกือบทั้งหมด นี่เป็นสาเหตุหนึ่งของชนชาวอีสานในอดีต ที่มักจะถูกหลอกลวงง่าย เพราะเชื่อว่า ทุกคนให้ความจริงใจต่อกันและกัน ทำให้มิจฉาชีพบางกลุ่มอาศัยจุดนี้ หลอกลวง ทำมาหากินบนความซื่อของชนชาวไทยอีสานมานักต่อนัก
เอกลักษณ์เด่นอีกอย่างหนึ่งของชาวอีสานคือ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน มีความกตัญญูสูง ให้ความเคารพนับถือต่อบุพการี ให้ความเคารพผู้มีพระคุณและผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก จะได้ยินผู้มีอายุน้อยกว่าเรียกผู้สูงอายุในเกือบทุกพื้นที่ว่า
"พ่อคุณ" "แม่คุณ" คำว่า "คุณ" ที่ใช้เรียกชื่อผู้สูงอายุแทนการเรียกชื่อกับคนที่รู้จักและไม่รู้จัก มีความหมายว่า "ผู้มีพระคุณ" (บางแห่งเอิ้นว่า พ่อใหญ่ แม่ใหญ่) คนอีสานระลึกเสมอว่า ผู้สูงอายุเป็นผู้มีพระคุณต่อทุกคน เพราะผู้สูงอายุเป็นผู้มีประสบการณ์ในการดำรงชีวิต และเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ชนรุ่นหลังอยู่เสมอมา

- Details
- Written by: ครูมนตรี โคตรคันทา
- Category: Ethnos
- Hits: 56213
ความหมายของชาติพันธุ์ ชาติพันธุ์คืออะไร?
คำว่า "ชาติพันธุ์" และ "ชาติพันธุ์วิทยา" เป็นคำใหม่ในภาษาไทย การทำความเข้าใจเรื่องชาติพันธุ์ จำเป็นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับเรื่องเชื้อชาติและสัญชาติ อาจเปรียบเทียบเชื้อชาติ สัญชาติ และชาติพันธุ์ได้ดังนี้
เชื้อชาติ (race) คือ ลักษณะทางชีวภาพของคน ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากลักษณะรูปพรรณ สีผิว เส้นผม และตา การแบ่งกลุ่ม เชื้อชาติ (racial group) มักแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ นิกรอยด์ (Negroid) มองโกลอยด์ (Mongoloid) และคอเคซอยด์ (Caucasoid) ในตอนหลังได้เพิ่มออสตราลอยด์ (Australoid) โพลินีเชียน (Polynesian) ฯลฯ อีกด้วย
การแบ่งแยกกลุ่มคนตามลักษณะทางชีวภาพนี้ มีความสำคัญในสังคมที่สมาชิกในสังคมมาจากบรรพบุรุษที่ต่างกัน และมีสีผิวและรูปพรรณสัณฐานที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น ความแตกต่างระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำ ในสังคมที่มีกลุ่มคนที่มีลักษณะทางชีวภาพต่างกัน และประวัติความเป็นมาตลอดจนบทบาทในสังคมต่างกัน ความแตกต่างทางชีวภาพอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันได้ แต่ในบางสังคม เช่น สังคมไทย ความแตกต่างทางชีวภาพไม่มีความหมายเท่าใดนัก
เชื้อชาติ คือ ระบบทางพันธุ์กรรม (DNA) หรือ ลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ (สรีระวิทยา) ได้แก่ เล็บ, ขน, ผม, ฟัน, ผิวหนัง ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงระบบหมู่โลหิต A, B, AB, O หรือ ระบบ ABO เป็นสิ่งที่มีติดตัวมาแต่กำเนิด ไม่สามารถบอกเลิกระบบหมู่โลหิต หรือ ยกเลิกระบบหมู่โลหิตดังกล่าวได้ แต่สามารถโอนถ่าย และ/หรือ ถ่ายเทให้แก่กันและกันได้ ด้วยหลักทางการแพทย์และพยาบาลที่ถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากลโลก (W.H.O.) ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ด้วยกฏเกณฑ์ทางนิติเวชวิทยาศาสตร์
สัญชาติ (nationality) คือ การเป็นสมาชิกของประเทศใดประเทศหนึ่งตามกฎหมาย โดยที่ลักษณะทางชีวภาพและวัฒนธรรม เชื้อชาติ อาจแตกต่างกันได้ การเป็นสมาชิกของประเทศย่อมหมายถึง การเป็นประชาชนของประเทศนั้น ผู้ที่อพยพมาจากที่อื่นเพื่อมาตั้งถิ่นฐานสามารถโอนสัญชาติมาได้ ผู้ที่เปลี่ยนสัญชาติ คือ ผู้ที่เปลี่ยนฐานะจากการเป็นประชาชนของประเทศหนึ่ง มาเป็นประชาชนของอีกประเทศหนึ่ง "สัญชาติ" นั้นสำคัญมากเพราะจะทำให้คนอื่นรู้ว่า คุณเกิดที่ไหน ดังนั้นในแบบฟอร์มที่ต้องกรอกในรายการทะเบียนหลายอย่าง จึงมีช่อง "สัญชาติ" ให้ระบุ สำหรับหนังสือเดินทาง จะต้องมีสัญชาติระบุอยู่ เพื่อที่จะได้รู้ว่าคนผู้นั้นมาจากประเทศอะไร
ชาติพันธุ์ (ethnicity หรือ ethnos) คือ การมีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาพูดเดียวกัน และเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษกลุ่มเดียวกัน เช่น ไทย พม่า กะเหรี่ยง จีน ลาว เขมร เป็นต้น
กลุ่มชาติพันธุ์ หรือ กลุ่มวัฒนธรรม มีลักษณะเด่นคือ เป็นกลุ่มคนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน บรรพบุรุษในที่นี้หมายถึงบรรพบุรุษทางสายเลือด ซึ่งมีลักษณะทางชีวภาพและรูปพรรณ (เชื้อชาติ) เหมือนกัน รวมทั้งบรรพบุรุษทางวัฒนธรรมด้วย ผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันจะมีความรู้สึกผูกพันทางสายเลือด และทางวัฒนธรรมพร้อมๆ กันไปเป็นความรู้สึกผูกพันที่ช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์ของบุคคลและของชาติพันธุ์
และในขณะเดียวกัน ก็สามารถเร้าอารมณ์ความรู้สึกให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์นั้นนับถือศาสนาเดียวกัน ความรู้สึกผูกพันนี้อาจเรียกว่า "สำนึก" ทางชาติพันธุ์ หรือชาติลักษณ์ (ethnic identity)
สนับสนุนให้เว็บเราคงอยู่ให้บริการด้วยการคลิกไปชมสปอนเซอร์ของเราด้วยครับ
ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในภาคอีสาน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน ของประเทศไทย ประกอบด้วย 20 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี และน้องใหม่ บึงกาฬ มีพื้นที่ประมาณ 170,226 ตารางกิโลเมตร หรือ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ตั้งอยู่บนที่ราบสูงโคราช ภูมิประเทศทั้งภาคยกตัวสูงเป็นขอบแยกตัวออกจากภาคกลางอย่างชัดเจน
ภาคอีสาน เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรม และประเพณีที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ละจังหวัด ศิลปวัฒนธรรม เหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกถึงความเชื่อ ค่านิยม ศาสนาและรูปแบบการดำเนินชีวิต ตลอดจนอาชีพของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี สาเหตุที่ภาคอีสานมีความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจาก การเป็นศูนย์รวมของประชากรหลากหลายเชื้อชาติ การอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ การกวาดต้อนไพร่พล หรือจากการหนีภัยสงครามเมื่อครั้งอดีต และมีการติดต่อสังสรรค์กับประชาชนในประเทศใกล้เคียง จนก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมขึ้น
การแต่งกาย เป็นเครื่องบ่งบอกความเป็นชาติพันธุ์ของหญิง-ชายชาวอีสานสมัยก่อน แต่ปัจจุบันนี้ พวกเราแต่งตัวแทบจะเหมือนกันหมด คนภาคอื่นจึงรู้จักชาวอีสานเพียงเป็นคนลาว และ พูดภาษาลาว (ซึ่งไม่จริง คนลาวก็มีรูปแบบการดำเนินชีวิตเป็นเอกลักษณ์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนคนอีสานเลยทีเดียว ภาษาลาวกับภาษาอีสานแม้จะมีส่วนคล้ายแต่ก็ไม่เหมือนกัน ทั้งลีลาท่าทางและสำเนียงก็แตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่ ภาคเหนือ-กลาง-ใต้) ส่วนการกินการดื่ม นั้นก็เข้าใจเอาเองว่า คนอีสานกินแต่ ลาบ ก้อย ต้ม ส้มตำ แกงอ่อม แกงเห็ด แกงหน่อไม้ และสุรา จริงๆ แล้วอาหารการกินและเครื่องนุ่มห่มในพื้นถิ่นก็ยังมีหลากหลาย ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชาติพันธุ์ในแผ่นดินที่ราบสูงนี้ ที่เราควรศึกษาเผยแพร่ไปสู่ลูกหลานในอนาคต
ชาวอีสาน มาจากไหน?
ชาวอีสาน หรือ ฅนอีสาน ไม่ใช่ชื่อชนชาติหรือเชื้อชาติเฉพาะของอีสาน แต่เป็นชื่อทางวัฒนธรรม มีที่มาจากภูมิศาสตร์บริเวณที่เรียกอีสาน หรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (อันเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินใหญ่สุวรรณภูมิ หรืออุษาคเนย์โบราณ) เลยสมมุติเรียกคนกลุ่มนี้อย่างรวมๆ กว้างๆ ว่า ชาวอีสาน หรือ คนอีสาน
ชาวอีสาน หรือ ฅนอีสาน มีบรรพชนมาจากการประสมประสานของผู้คนชนเผ่าเหล่ากอหลายชาติพันธุ์ ทั้งภายในและภายนอกทั้งทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ต่ำกว่า 5,000 ปีมาแล้ว (อาจถึง 10,000 ปีมาแล้วก็ได้) แล้วยังมีต่อเนื่องถึงทุกวันนี้ และอาจมีต่อไปในอนาคตอีกไม่รู้จบ ผู้คนชนเผ่าเหล่ากอหลายชาติพันธุ์ที่ประสมประสานกันเป็น ชาวอีสาน มีบรรพชนอย่างน้อย 2 พวก คือ คนพื้นเมืองดั้งเดิมอยู่ภายในสุวรรณภูมิ กับคนภายนอกเคลื่อนย้ายเข้ามาภายหลังจากทิศต่างๆ (มีร่องรอยและหลักฐานสรุปย่อๆ อยู่ในหนังสือ ?พลังลาว? ชาวอีสาน มาจากไหน? โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549) อีสานฝั่งขวา แม่น้ำโขง
ฅนอีสาน บางทีเรียก ชาวอีสาน มีหลักแหล่งอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
อีสาน เป็นชื่อเรียกพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่มีกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลาง คำว่า อีสาน มีรากมาจากภาษาสันสกฤต สะกดว่า อีศาน หมายถึง นามพระศิวะ ผู้เป็นเทพประจำทิศตะวันออกฉียงเหนือ (เคยใช้มาเมื่อราวหลัง พ.ศ. 1000 ในชื่อว่ารัฐว่า อีศานปุระ และชื่อพระราชาว่า อีศานวรมัน) แต่คำบาลีเขียน อีสาน ฝ่ายไทยยืมรูปคำจากบาลีมาใช้หมายถึง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่หมายตรงกับคำอีสาน) เริ่มใช้เป็นทางการสมัยรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ. 2442 ในชื่อ มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังหมายเฉพาะลุ่มน้ำมูลถึงอุบลราชธานี จำปาสัก ฯลฯ
รวมความแล้ว ใครก็ตามที่มีถิ่นกำเนิด หรือมีหลักแหล่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (จะโดยเคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่เมื่อไรก็ตาม) ถ้าถือตัวว่าเป็นฅนอีสาน หรือชาวอีสาน อย่างเต็มอกเต็มใจและอย่างองอาจ ก็ถือเป็นคนอีสานเป็นชาวอีสานทั้งนั้น
ฉะนั้น ฅนอีสานหรือชาวอีสานจึงไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติเฉพาะ แต่เป็น ชื่อสมมุติ เรียกคนหลายหลากมากมายในดินแดนอีสาน และเป็นชื่อเรียกอย่างกว้างๆ รวมๆ ตั้งแต่อดีตดึกดำบรรพ์สืบจนปัจจุบัน ด้วยเหตุดังกล่าว ความเป็นมาของคนอีสานหรือชาวอีสานจึงไม่หยุดนิ่งอยู่โดดเดี่ยว แต่ล้วนเกี่ยวข้อง เคลื่อนไหวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความเป็นมาของผู้คนสุวรรณภูมิ หรืออุษาคเนย์ ตั้งแต่ยุคดั้งเดิมเริ่มแรกสืบจนทุกวันนี้ ซึ่งมีความเคลื่อนไหวไปๆ มาๆ ทั้งใกล้และไกลในทุกทิศทาง และหลายครั้งหลายหน จนระบุเห็นชัดเจนแน่นอนนักไม่ได้ว่าใคร? ที่ไหน? เมื่อไร?
แต่สิ่งหนึ่งซึ่งคนอีสานและชาวอีสานมีสำนึกร่วมกันอย่างแข็งขันและองอาจ คือคำสมมุติเรียกว่า "พลังลาว" อันมีรากจาก "วัฒนธรรมลาว"
จากหนังสือ : "อุบลราชธานี มาจากไหน" เขียนโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ,
สำนักพิมพ์แม่คำผาง พิมพ์เผยแพร่ ตุลาคม 2555.
แม้ว่าชาวอีสานจะมีพื้นเพมาจากคนหลายกลุ่ม มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ต่างๆ แต่ด้วยวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ยึดมั่นในจารีตประเพณีของท้องถิ่นที่เรียกว่า "ฮีตสิบสอง คองสิบสี่" ทำให้เกิดความสมานฉันท์ปรองดอง ประกอบสัมมาอาชีพอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขเรื่อยมา ชาติพันธุ์หลากหลายในภาคอีสานประกอบด้วย
กลุ่มชาติพันธุ์ในภาคอีสาน
- ไทยลาว (ไทอีสาน)
- ผู้ไท (ภูไท)
- ไทดำ (ไทยทรงดำ – ลาวโซ่ง)
- ไทกุลา (กูลา)
- ชาวกูย (กวย-ส่วย-เยอ)
- ชาวเขมร (คะแมร์)
- ไทญ้อ (ย้อ - เงี้ยว)
- ไทโส้ (กะโซ่)
- ไทแสก
- ไทข่า (บรู)
- ไทกะเลิง
- ไทญวน (เหวียดเกี่ยว, เวียดนาม, แกว)
- ไทพวน ไทยพวน กะเลอ