- Details
- Written by: ทิดหมู มักม่วน
- Category: Ethnos
- Hits: 20652
แสก หมายความว่า แจ้ง สว่าง เป็นชนชาติหนึ่งในตระกูลมอญ - เขมร ชาวไทแสก เป็นชนกลุ่มน้อยตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในท้องที่จังหวัดนครพนมและจังหวัดมุกดาหาร ชาวไทแสกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดิมมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในตอนกลางของสาธารณะรัฐสังคมนิยมเวียดนาม อาศัยอยู่ในแถบเมืองรอง เมืองเว้ ต่อมาชาวเวียดนาม พยายามเข้าครอบครองและรุกรานชาวไทแสกตลอดมา จนทำให้ชาวไทแสก ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนาม มีชาวไทแสกบางกลุ่มไม่พอใจอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนาม ได้อพยพมาทางตอนใต้ มาทางตอนกลางของประเทศ มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ใกล้เมืองท่าแขก (อยู่ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม ประเทศไทย) มาอยู่ที่บ้านหม้อเตลิง บ้านทอก ท่าแค บ้านโพธิ์ค้ำ
ชาวไทแสกที่อพยพจากเมืองแสก อพยพมาตั้งอยู่ที่บ้านโคกยาว (ปัจจุบันคือบ้านไผ่ล้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม) สมัยก่อนมีอาณาเขตอยู่ใกล้เคียงกับบ้านนาลาดควาย (ปัจจุบันบ้านนาราชควาย) จำนวนชาวไทแสกที่ย้ายมาในขณะนั้นมีจำนวน 1,170 คน ต่อมาชาวไทแสกได้ย้ายถิ่นฐานจากบ้านโคกยาวมาอยู่ที่บ้าน "ป่าหายโศก" (ปัจจุบันคือบ้านอาจสามารถ) พระสุนทร ราชวงษา (ฝ้าย) ได้พิจารณาเห็นว่า ชาวไทแสก มีความสามารถ มีความสามัคคี มีความเข้มแข็ง สามารถปกครองตนเองได้ จึงยกฐานะชาวไทแสกที่อยู่ที่ "ป่าหายโศก" ให้เป็นกองอาทมาตคอยลาดตระเวนชายแดน
ปัจจุบันชาวไทแสกส่วนมากจะอยู่ที่ หมู่บ้านอาจสามารถ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม อยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดนครพนมไป 4 กิโลเมตร และยังมีชนไทแสกบางกลุ่มที่ได้พากันอพยพโยกย้ายที่อยู่ ไปทำมาหากินในท้องถิ่นต่างๆ ในจังหวัดนครพนม และรวมทั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีชนชาวไทแสกตามถิ่นต่าง ดังนี้
- บ้านอาจสามารถ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
- บ้านไผ่ล้อม ตำบลอาจสามรถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
- บ้านบะหว้า ตำบลบะหว้า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
- บ้านดอนเสมอ ตำบลอาจสามารถ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
- บ้านโพธิ์ค้ำ แขวงคำม่วน เมืองท่าแขก ประเทศลาว
จากคำบอกเล่าของชาวไทแสก ทราบว่า ปัจจุบันยังมีชาวไทแสกอยู่ แคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน และที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยชาวไทแสกทุกหมู่บ้านทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะอยู่ที่ประเทศไทย หรืออยู่ที่ประเทศลาว สามารถพูดภาษาแสกสื่อสารพูดคุยกันได้ โดยใช้ภาษาแสกในการพูดจาสื่อสารกัน
ภาษาไทแสก เป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ขอนำตัวอย่างภาษาแสกที่บ้านบะหว้า ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม มีลักษณะเด่น คือ เสียงพยัญชนะต้นเดี่ยวที่มีลักษณะเป็นเสียงก้อง/ฅ/ เช่น คำว่า ฅอ = คอ ฅ่ำ = ค่ำ พยัญชนะควบกล้ำ /ถร/ /บล/ และ /มล/ เช่น คำว่า เถรา = หัว เถรี่ยว = รีบ เบรี๋ยน = เดือน (พระจันทร์) บรี๋ = ดี (อวัยวะ) มราด = จืด แมร็ก = เมล็ด นอกจากนั้น ยังมีคำศัพท์ที่ใช้ร่วมกับภาษาเวียดนาม เช่น เหล้ย = เหงือก หง่อน = อร่อย แหน๋ง = ฟัน มากหวึ๋ง = งา
ปัจจุบันในประเทศไทยมีจำนวนผู้พูดภาษาแสกประมาณ 3,000 กว่าคน ใน 4 หมู่บ้านของจังหวัดนครพนม โดยมีบ้านบะหว้า ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า เป็นหมู่บ้านหลักที่ยังคงใช้ภาษาแสกในชีวิตประจำวัน ภาษาแสกจึงถูกจัดให้เป็นภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤติใกล้สูญหาย
หนุ่มสาวในชุดไทแสก นครพนม
ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวแสก "พิธีกินเตดเดน" เป็นประเพณีพิธีกรรมอย่างหนึ่ง โดยการประกอบพิธีกรรมขึ้นมา เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อ "โองมู้" ที่ชาวไทแสกเคารพนับถือ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวไทแสก เป็นผู้มีพระคุณต่อลูกหลานรุ่นหลังๆ สืบต่อกันมา "โองมู้" จะทำหน้าที่คุ้มครองอันตรายที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน และดลบันดาลให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นตามที่ "ผู้บ๊ะ" (บนบาน) โดยมี "กวนจ้ำ" เป็นสื่อกลางในการประกอบพิธีกรรม แต่ถ้าหากลูกหลานประพฤติมิชอบ ไม่เหมาะสม หรือทำพิธีบนบานแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ถูกดีงามหรือไม่มีพิธีกรรม เก่บ๊ะ (พิธีแก้คำบนบาน) ก็จะทำให้เกิดเหตุเภทภัยในครอบครัว
เพื่อเป็นการตักเตือนให้ลูกหลานประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ตัวอย่างเช่น อาจจะเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดอาการร้อนรนกินไม่ได้นอนไม่หลับแต่เมื่อทำ การบ๊ะ หรือ เก่บ๊ะ แล้ว เหตุร้ายก็จะกลายเป็นดี พิธีกรรมกินเตดเดน นี้ชาวไทแสกเชื่อว่า พิธีกรรมนี้มีบทบาทในการสร้างความศรัทธา ความเชื่อมั่น ความรู้สึกดีๆร่วมกัน ความรู้สึกผูกพันที่มีในสายเลือดเผ่าพันธุ์เดียวกัน เป็นการสร้างจิตสำนึกให้ชาวไทแสกทุกคน เกิดความรักความหวงแหนในวัฒนธรรมประเพณีของตน มุ่งสอนให้ผู้มีอายุมากกว่าให้ความเคารพนับถือ และแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ หรือต่อผู้มีอายุน้อยกว่า ให้เกิดความสามัคคี เคารพนับถือบรรพบุรุษ แสดงความปลื้มปีติแก่ชาวไทแสกที่มาร่วมพิธีกันทุกถ้วนหน้า
พิธีบวงสรวง "โองมู้" โดยการแสดง "แสกเต้นสาก" ในสมัยก่อนการเต้นสากชองชาวแสก ถือว่าเป็นการละเล่นประจำเฉพาะพิธีบวงสรวง "โองมู้" ในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ชาวแสก เรียกว่า "พิธี-กิน-เตด-เดน" จะมีการแสดง "แสกเต้นสากถวายโองมู้" โดยใช้ไม้สากตีกระทบกันเป็นจังหวะ สากที่ใช้ตีในการเต้นสากก็คือไม้สากที่เป็นสากตำข้าวในใสมัยโบราณ แต่ขนาดยาวกว่าตรงกลางเรียวเล็ก ไม้รองพื้นสากจะใช้ไม้อะไรรองก่อนก็ได้มีจำนวน 1 คู่ ขอให้มีขนาดเท่ากัน
อุปกรณ์ในการเต้นสาก
- ไม้สาก มีลักษณะตรงยาวประมาณ 2 เมตร ใช้เคาะจังหวะประมาณ 5-6 คู่ การวางไม้ สากจะจัดเป็นช่วง ๆ ห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร ต่อ 1 คู่
- ไม้รองพื้นสาก มีขนาดใหญ่และยาวกว่าไม้สากมี 1 คู่ ขนาดกว้างยาวเท่ากันยาวประมาณ 5-7 เมตร สำหรับเป็นฐานรองไม้สาก
จังหวะการตีสาก
สมัยโบราณในการเคาะจังหวะจะใช้ไม้สากตำข้าวไม่มีการเตรียม จับไม้สากมาเคาะเป็นจังหวะได้เลย ปัจจุบันจังหวะการตีสากจะมีหลายจังหวะด้วยกัน หากคนตีสากไม่เป็นและเต้นสากไม่เป็น หรือ เต้นไม่ถูกจังหวะ ไม่สากก็จะตีกระทบขาคนที่เต้น ให้เกิดการเจ็บปวดได้ จะไม่เหมือนกับรำลาวกระทบไม้ เพราะต้องฝึกและต้องใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งยากนักจะมีคนตีและเต้นได้เหมือนชาวแสก เพราะจังหวะเร็วก็เร็วมาก ถ้าไม่ฝึกจนชำนาญจะไม่สามารถเต้นได้ มิใช่ว่าจะนำไปแสดงได้ตลอดไป ก่อนที่จะนำไปแสดงที่อื่นจะต้องทำพิธีขออนุญาต "โองมู้" อนุญาตแล้วจึงนำไปแสดง การนำเต้นสากไปแสดงโดยไม่ได้ขออนุญาตก็จะมีเหตุให้มีอันเป็นไป เช่น ทำให้เจ็บไข้ไม่สบายโดยหาสาเหตุไม่ได้
ดนตรีที่ใช้ประกอบจังหวะ
ส่วนมากเป็นดนตรีพื้นบ้าน มีกลองใหญ่ กลองเล็ก ฆ้องเล็ก พังฮาด (มีลักษณะคล้ายฆ้องตรงกลางจะนูนเป็นวงกลม) ฉิ่ง ฉาบผู้ให้จังหวะส่วนมากจะเป็นผู้ชาย
ผู้แสดง "แสกเต้นสาก"
- ผู้ทำหน้าที่เคาะไม้สาก จะนั่งตรงข้าม จับคู่กันประมาณ 5 ถึง 7 คู่ แล้วแต่ความยาวของไม้รองไม้สากจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้
- ผู้เต้น จะทำท่าเต้นคล้ายๆ รำลาวกระทบไม้แต่จังหวะการเต้นจะเร็วกว่ามาก จะมีทั้งเต้นเดี่ยว เต้นเป็นคู่ มีจังหวะช้า จังหวะเร็ว ผู้เต้นจะมีทั้งชายและหญิง
- ผู้ร้อง เนื้อเพลงภาษาแสกแล้วประกอบดนตรี จะเป็นผู้หญิงหรือชายก็ได้
เครื่องแต่งกายในการแสดงสาก
ผู้ชาย เสื้อดำแขนสั้น ผ้ายอมหม้อสีคราม เสื้อคอกลมติดกระดุมด้านหน้ากางเกงขาก๊วย หรือขาครึ่งท่อ ผ้าคาดเอว เป็นผ้าขาวม้า เป็นลายตะล่องสีแดงส่วนผ้าพาดบ่า ใช้ผ้าสีแดงล้วน
ผู้หญิง เสื้อแขนยาวสีดำ ผ่าอก ติดกระดุมด้านหน้า ผ้าถุงสีดำมีเชิงที่ปลายผ้าถุง ผ้าถุงยาวกรอมเท้า ผ้าคาดเอวนิยมเป็นผ้าลายเดี่ยวกันกับลายเชิงผ้าถุงผ้าเบี่ยงซ้าย นิยมใช้ผ้าสีแดง นิยมใส่ตุ้มหู กำไลขา และสร้อยขา และสร้อยคอผมนิยมไว้ผมยาวเกล้ารัดมวย
การแสดงแสกเต้นสาก
การฟ้อนแสกเต้นสาก

- Details
- Written by: ทิดหมู มักม่วน
- Category: Ethnos
- Hits: 26499
กลุ่มชาวไทโส้ บางท้องที่ก็เรียกว่า พวก "โซ่" แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน เขียนว่า "กะโซ่" ซึ่งยังมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกเดียวกับลาวโซ่งในจังหวัดเพชบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี สำหรับลาวโซ่งคือพวกไทดำ ที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองจุไท ในสมัยกรุงธนบุรี ส่วน "ข่าโซ่" ซึ่งถือว่าเป็นข่าพวกหนึ่ง อยู่ในตระกูลมอญเขมร กะโซ่ตามลักษณะและชาติพันธุ์ถือว่าอยู่ในกลุ่ม มองโกลอยด์ กะโซ่มีภาษาและขนมธรรมเนียมประเพณี แตกต่างไปจากพวกข่าทั่วไป แต่ภาษาของกะโซ่ก็ยังถือว่าอยู่ในตระกูล "ออสโตรอาเซียติค" สาขามอญเขมร หรือกะตู [Katuic] ซึ่งสถาบันวิจัยภาษาฯ ของมหาวิทยาลัยมหิดลได้รวบรวมไว้ในภาษาตระกูลไทย
เด็กๆ และผู้หญิงชาวโส้ ปี 2443 Credit : Mission Pavie
ถิ่นฐานดั้งเดิมของพวกกะโซ่เดิมอยู่ที่ เมืองมหาชัย ในแขวงคำม่วนและแขวงสุวรรณเขต ดินแดนลาวปัจจุบัน สำหรับเมืองมหาชัย เดิมชาวบ้านเรียกว่า "เมืองภูวา - นากะแด้ง" คือ เมืองภูวดลฯ และบ้านนากะแด้ง เพราะว่าในสมัยที่ยังขึ้นกับราชอาณาจักรไทย (ก่อน พ.ศ.2436) เรียกว่า เมืองภูวดลสอางค์ เคยขึ้นกับเมืองสกลนคร แล้วโอนมาขึ้นกับเมืองนครพนมในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวกะโซ่อพยพ มาอยู่ในเขตเมืองสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร ในสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนชาวกะโซ่ซึ่งอพยพมาจากแขวงอัดปือไปอยู่ในท้องที่จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ เรียกว่าพวก "ส่วย" หรือ "กุย" พูดภาษาเดียวกับพวกกะโซ่
พวกกะโซ่ซึ่งอพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ตั้งขึ้นเป็นเมืองหลายเมืองคือ
- เมืองรามราช เป็นชาวกะโซ่จากเมืองเชียงฮ่ม (ปัจจุบันอยู่ในแขวง สุวรรณเขตติดชายแดนญวน) ตั้งขึ้นเป็นเมืองรามราช ขึ้นเมืองนครพนมเมื่อ พ.ศ. 2387 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ท้าวบัวจากเมือง เชียงฮ่ม เป็น "พระอุทัยประเทศ" เจ้าเมืองคนแรก ปัจจุบันคือท้องที่ตำบลรามราช อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมเป็น หมู่บ้านชาวไทยกะโซ่
- เมืองกุสุมาลย์มณฑล เป็นชาวกะโซ่ที่อพยพมาจากเมืองมหาชัยในแขวงคำม่วน อพยพข้ามโขงมาอยู่ที่บ้านกุดสุมาร ตั้งขึ้นเป็นเมืองกุสุมาลย์มณฑล ขึ้นเมืองสกลนครใน พ.ศ. 2387 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ เพี้ยเมืองสูงหัวหน้าชาวกะโซ่ เป็น "พระอารัญอาษา" เจ้าเมืองคนแรก ปัจจุบันคือ ท้องที่อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร
นอกจากนี้ ยังมีชาวไทยกะโซ่อยู่ในท้องที่อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ซึ่งมีเขตติดต่อกับอำเภอกุสุมาลย์อีกหลายหมู่บ้าน เช่น ที่ตำบลโคกสูง และที่บ้านวังตามัวในท้องที่อำเภอเมืองนครพนม ในจังหวัดมุกดาหารมีชาวไทยกะโซ่อยู่ในท้องที่ อำเภอดงหลวง เป็นส่วนมากซึ่งอพยพเข้ามาในสมัยราชกาลที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2359 หัวหน้าชาวไทยกะโซ่ดงหลวง ต่อมาได้เป็นกำนันคนแรกของตำบลดงหลวง มีนามบรรดาศักดิ์ว่า "หลวงวาโนไพรพฤกษ์" ชาวกะโซ่ในอำเภอดงหลวงส่วนมากใช้นามสกุลเดียวกันหมดคือนามสกุล "วงศ์กะโซ่"
ศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยกะโซ่ซึ่งยังรักษาไว้เป็นเอกลักษณ์ประจำเชื้อชาติเด่นชัดก็คือ "โซ่ถั่งบั้ง" หรือภาษากะโซ่เรียกว่า "สะลา" เป็นพิธีกรรมในการบวงสรวงวิญญาณของบรรพบุรุษประจำปีหรือเรียกขวัญ และรักษาคนเจ็บป่วย กับพิธีกรรม "ซางกระมูด" ในงานศพ
1. พิธีกรรม "โซ่ถั่งบั้ง" เป็นพิธีกรรมของชาวกะโซ่ คำว่า "โซ่" หมายถึงพวกกะโซ่ คำว่า "ถั่ง" หมายถึงกระทุ้งหรือกระแทก คำว่า "บั้ง" หมายถึงบ้องกระบอกไม้ไผ่ โซ่ถั่งบั้ง ก็คือ พิธีกรรมใช้กระบอกไผ่ยาวประมาณ 3 ปล้อง กระทุ้งดินเป็นจังหวะ แล้วมีการร่ายรำและร้องไปตามจังหวะในพิธีกรรมของชาวกะโซ่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร เมื่อเสด็จถึงเมืองกุสุมาลย์มณฑล (อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร) เมื่อ พ.ศ.2449 ได้ทรงบันทึกการแสดงพิธีกรรมโซ่ถั่งบั้ง หรือสลาของชาวกะโซ่เมืองกุสุมาลย์มณฑลไว้ว่า
"สลามีหม้อดอนตั้งกลางแล้วมีคนต้นบทคนหนึ่ง คนสะพายหน้าไม้และลูกสำหรับยิงคนหนึ่ง คนตีฆ้องเรียกว่า พะเนาะ คนหนึ่ง คนถึอไม้ไผ่สามปล้องสำหรับกระทุ้งดินเป็นจังหวะสองคน คนถือชามสองมือสำหรับติดเทียนรำคนหนึ่ง คนถือตระแกรงขาดสองมือสำหรับรำคนหนึ่ง คนถือสิ่วหักสำหรับเคาะจังหวะ คนหนึ่ง รวม 8 คน เดินร้องรำเป็นวงเวียนไปมา พอได้พักหนึ่งก็ดื่มอุและร้องรำต่อไป…"
เครื่องดนตรี มีไม้ไผ่สีสุก ขนาด 1.5 เมตร ครบตามจำนวนผู้แสดงที่เป็นชาย ที่จะกระทุ้งให้เกิดเป็นเสียงดนตรี กลองใช้ตีให้จังหวะ ฉิ่ง ฉาบ ซอ ซุง แคน เพื่อให้ประกอบเสียงดนตรีให้ไพเราะ และสามารถออกท่ารำได้อย่างสนุกสนาน เครื่องแต่งกาย เดิมการแสดงใช้ผู้ชายล้วนจะนุ่งห่มแบบโบราณ (นุ่งผ้าเตี่ยว) ไม่สวมเสื้อ มีอาวุธ เช่น หน้าไม้ มีเครื่องดื่มที่เป็นเหล้าหรืออุ ปัจจุบันสตรีเข้าร่วมแสดง และมีการปรับปรุงการแต่งกาย โดยชายจะใส่เสื้อผ้าชุดผ้าฝ้าย ตัดเย็บเป็นชุดให้เหมือนกัน ผู้หญิงใช้ผ้าซิ่นและใช้ผ้าขาวม้ารัดหน้าอกมีผ้าโพกหัว
หญิงสาวชาวไทโส้ (กะโซ่)
2. พิธีซางกระมูด เป็นพิธีกรรมของชาวกะโซ่ก่อนนำศพลงจากเรือน คำว่า "ซาง" หมายถึงการ กระทำหรือการจัดระเบียบ "กระมูด" แปลว่าผี ซางกระมูดหมายถึงการจัดพิธีเกี่ยวกับคนตาย ชาวกะโซ่ถือว่า เมื่อคนตายไปแล้วจะเป็นผีดิบ จึงต้องกระทำพิธีกรรมเสียก่อนเพื่อให้ผีดิบ และวิญญาณของผู้ตายได้สงบสุข มิฉะนั้นอาจทำให้ญาติพี่น้องของผู้ตายเจ็บป่วยขึ้นได้
อุปกรณ์ในพิธีซางกระมูดประกอบด้วย ขันโตก (ขันกระหย่องสานด้วยไม้ไผ่) สองใบเป็น ภาชนะใส่อุปกรณ์ต่างๆ มีไม้ไผ่สานเป็นรูปจักจั่น 4 ตัว (แทนวิญญาณผู้ตาย) นอกจากนั้นยังมี พานสำหรับยกครู (คาย) ประกอบด้วยขันธ์ห้า คือ เทียน 5 คู่ ดอกไม้สีขาว เช่น ดอกลั่นทม 5 คู่ เหรียญเงิน 12 บาท ไข่ไก่ดิบหนึ่งฟอง ดาบโบราณหนึ่งเล่ม ขันหมากหนึ่งขันมีดอกไม้อยู่ในขันหมาก 1 คู่, เทียน 1 คู่พร้อมด้วยบุหรี่และเทียนสำหรับจุดทำพิธีอีกเล่มหนึ่ง ล่ามหรือหมอผี จะเป็นผู้กระทำพิธีและสอบถามวิญญาณของผู้ตาย เมื่อทราบความต้องการของวิญญาณผู้ตายแล้ว ญาติก็จะจัดสิ่งของไว้บวงสรวงดวงวิญญาณ
3. พิธีเหยา ในการรักษาความเจ็บป่วยหรือเรียกขวัญ คล้ายๆ กับพิธีกรรมของชาวอีสานทั่วไป เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยหรือการเรียกขวัญ โดยหมอผีจะทำหน้าที่ล่ามสอบถามวิญญาณของบรรพบุรุษว่า ได้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดล่วงเกินในขนบธรรมเนียมประเพณีไปบ้าง
ชาวไทยกะโซ่มีผิวกายดำคล้ำ เช่นเดียวกับพวกข่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงกล่าวถึงการแต่งกายของชาวกะโซ่ไว้ในหนังสือเรื่อง "เที่ยวที่ต่างๆ ภาค 4" เมื่อเสด็จภาคอีสาน เมื่อ พ.ศ. 2449 ไว้ว่า… "ผู้หญิงไว้ผมสูง นุ่งซิ่น สรวมเสื้อกระบอกย้อมคราม ห่มผ้าแถบ ผู้ชายแต่งกายอย่างคนเมือง แต่เดิมว่านุ่งผ้าเตี่ยวไว้ชายข้างหน้าข้างหนึ่ง…"
ภาษาที่ใช้คือ ภาษาโส้ หรือ โซ้
ภาษาโซ่ (ทะวืง) เป็นภาษาที่จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก สาขาเวียดติก ซึ่งอยู่ในสาขาเดียวกับภาษาเวียดนาม ดังตัวคำนับ เช่น มูด = หนึ่ง ฮ้าน = สอง ปา = สาม โป้น = สี่ ดัม = ห้า คำเรียกชื่อว่า โซ่ เป็นชื่อรวมที่ใช้เรียกกลุ่มชนหลายกลุ่ม และมีความสับสนในหลายพื้นที่ โดยแบ่งออกเป็น
- กลุ่มที่คนภายนอกเรียกว่า โซ่ แต่เจ้าของภาษาเรียกตนเองว่า บรู อาศัยอยู่ในจังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดสกลนคร
- กลุ่มที่คนภายนอกเรียกว่า โซ่ แต่เจ้าของภาษาเรียกตนเองว่า ข่า อาศัยอยู่ในจังหวัดมุกดาหาร
- กลุ่มที่คนภายนอกเรียกว่า โซ่ และเจ้าของภาษาเรียกตนเองว่า โซ่ เช่นเดียวกัน อาศัยอยู่ในอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร
ในปัจจุบันภาษาโซ่ (ทะวืง) ได้มีภาษาไทย – ลาวเข้ามาปนในการใช้ภาษามาก ทั้งคำศัพท์จำนวนมาก ส่วนลักษณะไวยากรณ์ก็มีความคล้ายคลึงกับภาษาไทย คำเชื่อมข้อความหรือประโยคก็มักจะเป็นภาษาลาว โดยประชากรที่ยังคงพูดภาษาโซ่ (ทะวืง) มีประมาณ 1,000 คน ส่วนมากอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มเด็กและกลุ่มเยาวชนส่วนใหญ่แทบจะพูดภาษาโซ่ (ทะวืง) ไม่ได้เลย นอกจากนี้ยังเกิดการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ภาษาโซ่ (ทะวืง) ถูกภาษาอื่นกลืนไปอีกระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ชาวโซ่ (ทะวืง) แต่เดิมมีการนับถือผี และมีการเลี้ยงผีทุกปี ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปัจจุบันชาวโซ่ (ทะวืง) ส่วนใหญ่ รวมถึง ชาวญ้อ ภูไท และลาวที่อาศัยในตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร นับถือศาสนาพุทธและมีประเพณี พิธีกรรมตามแบบชาวอีสานทั่วไปเช่นเดียวกัน เช่น งานบุญผะเหวด งานบุญบั้งไฟ เป็นต้น
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จเยี่ยมพสกนิกรจังหวัดนครพนม เมื่อ พ.ศ. 2498 ซึ่งจังหวัดมุกดาหารยังรวมอยู่ในจังหวัดนครพนม ชาวไทยกะโซ่ ได้แสดงโส้ทั่งบั้งหรือสะลาทอดพระเนตรพร้อมกับร้องคำถวายพระพรเป็นภาษากะโซ่ว่า
"เซินตะดกละแสง เซินแต่แซงมะนาง เซินยอนางเอย ดรุ๊กอีตู จูเยก ยางเอย
ดรุ๊กอีตูจูเยอวายเอย ไฮพัดกระกมติตอนจิรอ ไฮพัดระพอดิตรอนอิตูด
ตะรงยางเอย ระกบเจ้ากวงมานะ วอนเบาแบนเราะ เนออาญาเฮาเอย
สะโอนเนาต๊กยะ วอนเบาแบนเราะ ดูกรองวไดเดอกะนางไฮเอย"
คำแปล "ขอเชิญสิ่งศักดิ์สิทธ์ขุนเขา ขอเชิญแสงตะวันอันแรงกล้า เชิญเถิดขอให้สิ่งศักดิ์สิทธ์ จงมาให้ขวัญทั้งหลายจงมาร่วมกัน ณ ที่นี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเอย ขอให้มาคุ้มครองสองเจ้าเหนือหัว ขอให้พระองค์อยู่ดีมีสุขเถิดพระเจ้าเราเอย ขอให้อย่ามีทุกข์และความเดือดร้อน ขอให้พระองค์อยู่ดีมีสุขอยู่คู่เมืองไทย ปกป้องคุ้มครองพวกทั้งหลายตลอดไปเทอญ"

- Details
- Written by: ทิดหมู มักม่วน
- Category: Ethnos
- Hits: 35732
กลุ่มชาติพันธุ์ ย้อ ไทย้อ ญ้อ เป็นประชากรกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในจังหวัดสกลนคร และนครพนม มีภาษาพูดเหมือนภาษาไทยลาว ต่างสำเนียงเล็กน้อย คือ น้ำเสียงสูงอ่อน หวาน ไม่ห้วนสั้นเหมือนไทยลาว มีผิวขาว บ้านเรือนสะอาดตา เช่นเดียวกับชาวผู้ไทย ชาวย้อ ถือว่ากลุ่มตนเป็นกลุ่มที่มีวัฒนธรรมแข็งกว่าไทยลาว ถิ่นฐานเดิมของไทยญ้อ อยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ของประเทศลาว หรือจังหวัดล้านช้างของไทยสมัยหนึ่ง
ไทยญ้อส่วนใหญ่ได้อพยพ มาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ ไชยบุรี ปากน้ำสงคราม ริมฝั่งแม่น้ำโขง (ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน) ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2351 ต่อมาเมื่อเกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ในสมัย รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2369) พวกไทยญ้อที่เมืองไชยบุรีได้ถูกกองทัพเจ้าอนุวงศ์กวาดต้อนไป
แล้วให้ไปตั้งเมืองอยู่ ณ เมืองปุงลิง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (อยู่ในเขตแขวงคำม่วนประเทศลาว) อยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาได้กลับมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตั้งเป็นเมืองท่าอุเทน เมื่อ พ.ศ. 2373 คือ บริเวณท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ในปัจจุบัน
ชาวไทย้อชอบตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้แม่น้ำ ซึ่งชื่อเมืองชาวไทย้อมักมีคำว่า “ท่า” ขึ้นก่อน เช่น เมืองท่าขอนยาง เมืองท่าอุเทน ลักษณะบ้านเรือนของชาวไทย้อ คล้ายกับบ้านเรือนของชาวไทยลาวทั่วไป คือ ตัวเรือนเป็นเรือนใต้ถุนสูง มีชายคาที่เรียกว่า เซีย มีชานติดกับครัว มีเล้าข้าวอยู่ทางด้านหลังบ้าน ถ้าเป็นบ้านของชาวไร่ชาวนาทั่วไป ก็จะมุงด้วยหญ้าแฝก ฝาผนังเป็นฟากสับสานลานสอง บ้านที่มีฐานะดีก็จะมุงด้วยกระเบื้องเกร็ด หรือสังกะสี และเปลี่ยนฝาผนังเป็นไม้กระดาน ซึ่งมีให้เห็นในปัจจุบัน ชาวย้อ นิยมสร้างบ้านเรือนอยู่กันเป็นกลุ่มสังคมย่อยในวงศ์ญาติพี่น้องของตน และเมื่อมีจำนวนมากขึ้นก็กลายเป็นหมู่บ้าน หรือที่เรียกว่า “คุ้ม” และมีวัดประจำคุ้มของพวกตน
ประชากรชาวไทย้อ อาศัยอยู่กระจายทั่วไปในแถบภาคอีสาน เฉพาะพื้นที่ที่มีชาวไทย้ออาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ได้แก่ อำเภอท่าอุเทน อำเภอนาหว้า อำเภอโพนสวรรค์ อำเภอบ้านแพง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเมือง สว่างแดนดิน อำเภอพังโคน อำเภอกุดบาก กิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ และกิ่งอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร อำเภอบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ บ้านแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ บ้านท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม นอกจากนี้ยังมีอยู่ที่ภาคตะวันออก คือที่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
ชาวไทญ้อ สกลนคร
วิถีชีวิตของชาวไทยญ้อ ลักษณะนิสัยใจคอของไทยญ้อส่วนมากที่สุดคือ ซื่อสัตย์ สุจริต รักสงบ มีความสามัคคีมั่น ไม่ว่าจะมีอะไร เช่น การทำบุญ การปลูกบ้าน ทำนาจะว่านหรือวานกัน (นาว่านคือ การลงแขก ทำนา ทำงาน) ชาวไทย้อมีอาชีพด้านเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการปลูกพืชเศรษฐกิจซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ ข้าว กล้วย อ้อย สับปะรด ยาสูบ และพืชผักตามฤดูกาล รองลงมาได้แก่ อาชีพเลี้ยงสัตว์ และจับสัตว์น้ำในลำน้ำ เนื่องจากว่ามีการตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้แม่น้ำ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำสงคราม และแม่น้ำชี ภูมิปัญญาของชาวญ้อที่เป็นเอกลักษณ์คือ การทำปลาร้า ทำส้มปลาชะโด อร่อย
ภาษา ภาษาชาวย้อจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไท-กระได ชาวย้อมีภาษาพูดโดยพื้นฐานเสียงแตกต่างไปจากภาษาไทยลาว (ภาษาไทยอีสาน) ตรงที่ฐานเสียงอักษรสูง และเสียงจัตวา จะเน้นหนักในลำคอ น้ำเสียงสูง อ่อนหวาน ฐานเสียงสระ เอือ ใอ ในภาษาไทยลาวจะตรงกับฐานเสียงสระ เอีย และ เออ ตามลำดับ เช่น เฮือ เป็น เฮีย ให้ เป็น เห้อ ประโยคว่า อยู่ทางได เป็น อยู่ทางเลอ เจ้าสิไปไส เป็น เจ้านะไปกะเลอ เป็นต้น
ลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของภาษาญ้อ ซึ่งถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของภาษาญ้อ ได้แก่ เสียงสระ เออ ของคำที่ตรงกับเสียงสระ ใ– ของภาษาไทยมาตรฐาน เช่น หัวเจ๋อ = หัวใจ, เฮอ = ให้, ผู้เญ่อ = ผู้ใหญ่, ลูกเพ่อ หรือ ลุเพ่อ = ลูกสะใภ้, เส้อ = ใส่, เบ๋อ = ใบไม้, เม่อ = ใหม่, เสอ = ใส, เตอ = ใต้, เกอ = ใกล้, เญ่อ = ใหญ่, เน้อ = ใน
ตัวอย่างภาษาพูดของชาวย้อ หัวเจอ - หัวใจ, หมากเผ็ด - พริก, กินเข้างาย - กินข้าวเช้า, หัวสิเคอ - ตะไค้, ไปกะเลอ, ไปเตอ - ไปไหน ชาวไทย้อไม่มีภาษาเขียนไม่มีตัวอักษรของตนเอง ในอดีตเคยใช้อักษรธรรม หรืออักษรไทยน้อย เช่นเดียวกับชาวอีสาน ปัจจุบันใช้อักษรไทยทั้งสิ้น
โครงสร้างทางสังคม ลักษณะครอบครัวของชาวไทย้อส่วนใหญ่เป็นลักษณะครอบครัวเดี่ยว ลักษณะเครือญาติไทย้อมีลักษณะเด่นตรงที่ว่า พวกเขาแม้จะแยกครอบครัวไปแล้ว แต่ก็ยังไปมาหาสู่กันเสมอ ยามเจ็บไข้ได้ป่วยก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างเต็มความสามารถ ยามเทศกาลงานบุญต่างๆ ก็จะเดินทางไปช่วยเหลือกัน ชาวไทย้อเชื่อกันว่าผู้จะทำหน้าที่ี่แทนพ่อได้เป็นอย่างดี คือ ลูกชาย เพราะผู้ชายนั้นบึกบึนทรหดอดทน สามารถทำงานในอาชีพเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นการสืบสายตระกูล และการรับมรดก ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับผู้ชาย ภาระหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวนั้น หน้าที่ในการหาเงินทองมาจับจ่ายใช้สอยภายในครอบครัว การคุ้มครองดูแลต่างๆ เป็นหน้าที่ของพ่อบ้าน แม่บ้านจะดูแลลูกๆ ภาระหน้าที่ภายในบ้าน
สำหรับประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อของชาวไทย้อนั้น ชาวไทย้อที่บ้านท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม มีประเพณีเลี้ยงผีปู่ตา โดยชาวบ้านจะสร้าง ตูบปู่ตา หรือ โฮงผีปู่ตา โดยชาวย้อถือว่าผีปู่ตาคือ ผีบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว แต่ยังมีความห่วงใยในความเป็นอยู่ของลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ สำหรับที่ตั้งของผีปู่ตาจะอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ สำหรับ ผีบรรพบุรุษของชาวย้อที่ถือว่าเป็นผีปู่ตา มีดังนี้ คือ
ผีเจ้าพ่อขุนสำราญ ญาพ่อผีลือสองนางพี่น้อง เป็นผีผู้หญิงที่ชอบความสวยงาม ชาวย้อจะให้ความสำคัญกับผีสองนางพี่น้อง ในด้านการป้องกันให้ความช่วยเหลือแก่เด็กๆ ของชาวย้อ โดยทั่วๆ ไปชาวย้อชอบตั้งถิ่นฐานที่อยู่ใกล้แม่น้ำ เพื่อสะดวกในการอุปโภค บริโภค ซึ่งด้วยสาเหตุที่มี เด็กๆ เสียชีวิต ในการอาบน้ำบ่อยๆ ทำให้ชาวย้อลดจำนวนลงเรื่อยๆ เหตุนี้ชาวย้อจึงมีโฮงผีปู่ตาสองนางพี่น้องไว้ที่ท่าน้ำ เพื่อรักษาเด็กในขณะลงอาบน้ำ เช่นเดียวกับชาวย้อที่ท่าอุเทนมีความเชื่อว่า ผีมเหสักข์ และผีบรรพบุรุษ คอยปกป้องคุ้มครองให้พวกตนอยู่เย็นเป็นสุข มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ เพื่อตอบแทนคุณผีดังกล่าว ชาวไทย้อที่ท่าอุเทน จึงมีประเพณีเลี้ยงผีโดยจัด พิธีกรรมที่เรียกว่า "ลงนางเทียม" ณ หอผีบ้าน เป็นประจำทุกปี ปีละ 3 ครั้ง
สำหรับประเพณีเกี่ยวกับชีวิตของชาวย้อนั้น ประเพณีการแต่งงานเมื่อหนุ่มสาวคู่ใดที่รักใคร่ชอบ พอถึงขั้นตกลงปลงใจที่จะเป็นสามีภรรยากันแล้ว ฝ่ายชายก็จะให้บิดามารดาของตนดำเนินการให้ได้แต่งงานกับหญิงคนรัก ดังนี้ "ไปเจาะ" คือการส่งผู้ใหญ่ไปทาบทาม "โอมสาว" คือการ ทำพิธีสู่ขอ "แฮกเสื่อแฮกหมอน" คือการเตรียมการ ได้แก่ การจัดเตรียมเครื่องนอน ประกอบด้วยฟูก หมอน ผ้าห่ม เสื่อ และมุ้ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิง ในการนี้ต้องเชิญผู้เฒ่า ผู้แก่ที่ชาวบ้านยอมรับว่าเป็น ผัวค้ำเมียคูณ มาทำพิธีตัดเย็บให้ชาวย้อเรียกว่า แฮกเสื่อแฮกหมอน "เล่าดอง" คือบอกเล่าวันแต่งงาน "มื้อกินดอง" คือพิธีวันแต่งงาน
เมื่อได้ฤกษ์ยามดีแล้ว ก็จะเป็นการแห่จ้าวบ่าวพร้อมขันสินสอดของหมั้น พานบายศรี และสำรับที่เรียกว่า "ขำเพีย" ประกอบด้วยไข่ไก่ต้ม 2 ฟอง งา พริกแห้ง และเกลือป่น อย่างละ 1 ถ้วย ไปยังบ้าน เจ้าสาว พิธีสำคัญได้แก่ การวางสินสอดทองหมั้น ต่อหน้าเจ้าโคตรลุงตาของเจ้าสาวพิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีป้อนไข่หน่วย พิธีขอพรจากเจ้าโคตรลุงตาทั้งสองฝ่าย ถ้าหากให้เขยไปสู่ก็ ทำพิธีจูงบ่าวสาวเข้าหอ แล้วเลี้ยงอาหารแก่แขกผู้มาร่วมงานเป็นอันเสร็จพิธีแต่งงาน สำหรับงานบุญของชาวไทย้อส่วนมากก็เหมือนกับ ชาวอีสานทั่วที่นับถือ พระพุทธศาสนาและ ปฏิบัติตนตาม "ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่"
ชาวย้อรับประทานข้าวเหนียวเป็นหลัก และรับประทานข้าวเจ้าในบางโอกาส ไม่นิยมรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เหมือนชาวไทยลาว อาหารพื้นเมืองที่มีรับประทานเฉพาะในหมู่ไทย้อ ทำจากปลากราย เรียกว่า "หมกเจาะ" ส่วนอาหารประเภทอื่นก็เหมือนกับชาวไทยลาวทั่วไป ส่วนการรักษาพยาบาลของไทย้อนั้นมีทั้งรักษาด้วยแผนปัจจุบันและแผนโบราณ สำหรับแผนโบราณนั้นก็จะมีการรักษาด้วยยาสมุนไพร และการรักษาด้วยเวทย์มนต์คาถา โดยมีหมอธรรมเป็นผู้รักษา ในกรณีที่มีการเจ็บป่วยหาสาเหตุไม่พบหรือ ที่เชื่อว่าเป็นการกระทำของภูตผีวิญญาณ หรือที่เรียกว่า "ผีเข้าเจ้าสูน" อาจจะเป็นผีพระภูมิเจ้าที่ ผีเชื้อ หรือผีบรรพบุรุษ ผีเข้าสิง เสียขวัญ และถูกผีปอบเข้าสิง
ในกรณีที่ผีปอบเข้าสิงยิ่งเป็นอันตรายต่อคนป่วยอย่างยิ่ง ถ้าเรียกหมอธรรมมารักษาไม่ทัน ผีปอบอาจจะกินคนป่วยจนตาย เพราะอาการที่โดยปอบเข้าสิงนั้นมักจะอาละวาด แสดงอาการไม่เกร็งกลัว หรือดูถูกหมอธรรม ผู้ที่เป็นหมอธรรมจะต้องมีสายสิญจน์ แส้หวาย (ปะกำ) แล้วถามชื่อผีปอบว่า ชื่อ อะไร มาจากไหน หมอธรรมจะ ใช้แส้ปะกำโบย แล้วใช้สายสิญจน์มัดผู้ป่วยเอาไว้ แล้วสอนสัมทับอีกว่า ต่อไปจะไม่มาทำผู้อื่นอีกโดยให้กินน้ำสาบาน แล้วขอขมากับหมอธรรม โดยใช้ลิ้นเลียปลายเท้า แล้วสัญญาว่าจะไม่กลับมาทำร้ายผู้ป่วยอีก
ศิลปะการแสดง ฟ้อนไทย้อ โดยจะพบในช่วงเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายน และเทศกาลที่สำคัญๆ เท่านั้น ในช่วงสงกรานต์นั้น ชาวไทย้อจะมีการสงน้ำพระในตอนกลางวันโดย มีการตั้งขบวนแห่จากคุ้มเหนือไปยังคุ้มใต้ตามลำดับ ตั้งแต่ขึ้นหนึ่งค่ำเป็นไป จนถึงวันเพ็ญสิบห้าค่ำเดือนห้า ส่วนในตอนกลางคืนหนุ่มสาวจะจัดขบวนแห่นำต้นดอกจำปา (ลั่นทม) ไปบูชาวัดที่ผ่านไป เริ่มจากวัดใต้สุดขึ้นไปตามลำดับถึงวัดเหนือสุดซึ่งเป็นคืนสุดท้าย เสร็จพิธีแห่ดอกไม้บูชาองค์พระธาตุท่าอุเทน จะเป็นช่วงแห่งการเกี้ยวพาราสี การหยอกล้อกัน อย่างสนุกสนานของบรรดาหนุ่มสาวชาวไทย้อ
การแต่งกายชุดรำไทยญ้อ
ชาย สวมเสื้อคอพวงมาลัยสีเขียวสด ใช้สไบไหมสีน้ำเงินพับครึ่งกลาง พาดไหล่ ซ้ายและขวา ปล่อยชายสองข้างไปด้านหลังให้ชายเท่ากัน นุ่งผ้าโจงกระเบนสีน้ำเงินเข้ม ใช้สไบไหมสีแดงคาดเอว ปล่อยชายข้างซ้ายด้านหน้า เครื่องประดับสร้อยเงิน ห้อยพระ ใบหูทัดดอก ดาวเรืองด้านซ้าย
หญิง สวมเสื้อแขนกระบอกสีชมพู (สีบานเย็น) คอกลมขลิบดำ หรือน้ำเงินเข้ม นุ่งผ้าถุงไหมสีน้ำเงินมีเชิง (ตีนจก) เข็มขัดลายชิดคาดเอว ใช้สไบไหมสีน้ำเงินพาดไหล่ด้านซ้ายแบบเฉียง ปล่อยชายยาวทั้งด้านหน้าและด้านหลังให้ชายเท่ากัน เครื่องประดับสร้อยคอ ตุ้มหู สร้อยข้อมือเครื่องเงิน ผมเกล้ามวยประดับดอกไม้สด หรือดอกไม้ประดิษฐ์

- Details
- Written by: ครูมนตรี โคตรคันทา
- Category: Ethnos
- Hits: 32866
ชนชาวเขมร
เขมรถิ่นไทย เป็นชื่อทางวิชาการได้กำหนดขึ้น เพื่อเรียกผู้ที่พูดภาษาเขมรซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยทั่วไปชาวเขมรถิ่นไทยเรียกตัวเองว่า "คแมร์" หรือ "คแมร์-ลือ" แปลว่า เขมรสูง เรียกภาษาเขมรและชาวเขมรในกัมพูชาว่า "คแมร์-กรอม" แปลว่า เขมรต่ำ และเรียกคนไทยว่า "ซีม" ซึ่งตรงกับคำว่า "สยาม" ในภาษาไทย เมื่อพิจารณาเขตการปกครอง นักภาษาศาสตร์ได้แบ่งภาษาเขมรเป็น 3 กลุ่ม คือ
- ภาษาเขมรเหนือ หรือ เขมรสูง (เขมรถิ่นไทย)
- ภาษาเขมรกลาง เป็นภาษาของผู้ที่อยู่ใน กัมพูชา
- ภาษาเขมรใต้ เป็นภาษาของคนเวียดนามเชื้อสายเขมร
ปัจจุบันพบชาวเขมรถิ่นไทยอาศัยอยู่ใน จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ปราจีนบุรี ตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว
นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี สันนิษฐานว่า บริเวณที่ราบสูงโคราช เคยเป็นที่อยู่ของชาวขอมหรือชาวเขมรโบราณ ดูจากกลุ่มปราสาทโบราณ ศิลาจารึก ประติมากรรมที่พบมากในบริเวณดังกล่าวเช่น ปราสาทภูมิโปน ปราสาทพนาวัน ปราสาทหินพิมาย เป็นต้น ชาวเขมรถิ่นไทยน่าจะอพยพมาสมัยหลังในช่วง พ.ศ. 2324 - 2325
ชาวเขมรสูง ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตภาคอีสานตอนใต้มาแต่โบราณกาลแล้ว และได้สืบเชื้อสายต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน โดยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในปี พ.ศ. 2324 เมืองกัมพูชาเกิดจลาจล จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปปราบ ในสงครามครั้งนี้ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะ ได้ร่วมยกกองทัพไปตีเมืองเสียมราฐ กำพงสวาย บันทายเพชร บันทายมาศ และได้นำชาวเขมรจำนวนมากมาไว้ที่ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ชาวเขมรรุ่นสุดท้าย ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดศีรษะเกษ เมื่อปี พ.ศ. 2410
ครอบครัวของชาวเขมร มีความคล้ายคลึงกับครอบครัวไทยพื้นเมือง คือ พ่อบ้านเป็นหัวหน้าครอบครัว แม่บ้านดูแลภายในบ้าน ให้เกียรติแก่เพศชายในการดำเนินกิจกรรม หรือ ตัดสินเรื่องต่างๆ และมีการอยู่รวมกันหลายครอบครัว อาจประกอบด้วยปู่ย่า-ตายาย ลุงป้า-น้าอา พ่อแม่ ลูกหลาน พี่น้องจำนวนมากครอบครัวใดที่มีลูกสาวหลายคน สมาชิกก็มีแนวโน้มขยายมากขึ้น การแต่งงานของชาวเขมรถิ่นไทย ฝ่ายชายต้องเสียเงินและบรรณาการให้ฝ่ายหญิง โดยต้องจัดขันหมากไปให้ฝ่ายหญิง ประกอบด้วย หมู เหล้า ขนม ข้าวต้ม ผลไม้และเงินทอง ฝ่ายหญิงต้องล้างเท้าให้ฝ่ายชายก่อนขึ้นบ้าน ชาวเขมรสูง ส่วนมากอยู่ในชนบทมีชีวิตเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ว่างจากการทำนา ทำไร่ จะเดินทางไปรับจ้างในตัวเมือง และในกรุงเทพฯ เมื่อถึงฤดูเพาะปลูกก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ประกอบอาชีพหลักของตน
พิธีกรรมการโจลมะม๊วด หรือ มอม๊วด กลองกันตรึม
ชาวเขมรถิ่นไทยนับถือศาสนาพุทธ ช่วงเข้าพรรษาจะมีประเพณี "กันซง" ซึ่งเป็นประเพณีการถือศีล นำอาหารไปทำบุญ ที่วัด 8 วัน หรือ 15 วัน นอกจากนั้นยังมีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ จะมีประเพณีไหว้บรรพบุรุษ เรียกว่า ประเพณีเบ็น หรืองาน แคเบ็น ซึ่งตรงกับสารทไทย พิธีมงก็วลจองได เป็นพิธีสู่ขวัญแบบพื้นบ้าน นิยมจัดในงานมงคล เช่น งานมงคลสมรส ขวัญนาค โกนจุก ยกเสาเอก ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น เมื่อบรรพบุรุษเสียชีวิต ชาวเขมรจะตั้งโกศบรรจุกระดูกผู้ล่วงลับไว้ในบริเวณบ้าน ในระยะหลังจะนิยมไปไว้ที่วัดมากกว่า
พิธีมอม็วด เป็นพิธีที่ทำเพื่อหาสาเหตุการเจ็บป่วย โดยผู้เข้าทรงจะเชิญวิญญาณมาเข้าสู่ร่าง และจะมีผู้คอยซักถามว่าเหตุใดถึงได้เจ็บป่วย นอกจากนั้นชาวเขมรถิ่นไทยยังเชื่อเรื่องโชคราง ของขลัง ฤกษ์ยาม เครื่องรางของขลังบางอย่างสามารถป้องกันภัยและรักษาโรคได้
การแต่งกาย ของชาวเขมรถิ่นไทย
ผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง ซึ่งเป็นผ้าไหมพื้นเมืองที่มีชื่อเสียง คือ ผ้าโฮล ผ้าอำปรุม ผ้าอัลลุยซีม ผ้าซาคู ส่วนผู้ชายนุ่งโสร่ง สำหรับเสื้อ ผู้หญิงใส่เสื้อแขนกระบอก ผู้ชายใส่เสื้อคอกลม เครื่องประดับจะเป็นเครื่องเงิน เรียกว่า ประเกือม (ประคำ) นำมาร้อยเป็นสร้อย ต่างหู เป็นต้น
เขมรถิ่นไทยมีการละเล่นพื้นบ้าน ได้แก่ จเรียง เป็นการขับร้อง หรือแหล่กลอนสด เนียะจเรียง หมายถึง ผู้ขับร้อง ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเขมร จเรียงมีด้วยกันหลายประเภท เช่น
- จเรียงนอรแกว เป็นการร้องโต้ตอบระหว่าง ชายหญิง
- จเรียงอาไย มีการรำประกอบการร้อง
- จเรียงซันตูจ เป็นการสนุกสนานของหนุ่มสาวซึ่งไปช่วยแต่งงาน และงานมงคลในยามค่ำคืน
- จเรียงตรัว จะเป็นการร้องประกอบเสียงซอ
- จเรียงจรวง เป็นการร้อง ประกอบเสียงปี่
นอกจากนั้นยังมี กันตรึม รำตรุษ เล่นในเทศกาลสงกรานต์ รำสาก เป็น การรำประกอบเสียงดนตรี และเสียงกระทบสาก ผู้รำประกอบด้วยชายหญิงรำเป็นคู่ๆ รอบวงกระทบสาก
กันตรึมพื้นบ้าน มีความสนิทแนบแน่นกับพิธีกรรม และวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวอีสานใต้ซึ่งมีเชื้อสายเขมร ชาวบ้านใช้กันตรึมในงานพิธีต่างๆ กันตรึมมีเนื้อร้องเป็นภาษาเขมร ทำนองของดนตรีที่เป็นเสียงโจ๊ะ ตรึม ตรึม จึงสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของชื่อ กันตรึม นั่นเอง
การเล่นเพลงกันตรึมในสมัยก่อน เพื่อประกอบพิธีกรรมการเจ็บไข้ได้ป่วยมาจาก เทวดาอารักษ์ลงโทษ เพราะผู้ป่วยทำผิด ในสมัยนั้นจึงเรียกว่า เพลงอารักษ์ การเล่นเพลงทุกครั้งต้องขึ้นด้วยเพลงไหว้ครูทุกครั้ง จากนั้นจะเล่นทำนองแห่ พิธีการ เบ็ดเตล็ดขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน วงดนตรีประกอบด้วยกลองเสียงทุ้มกับเสียงแหลม ซอ ปีอ้อ และจะเสริมด้วยฉิ่ง ฉาบเล็ก และกรับตามความเหมาะสม แต่ปัจจุบันคนสนใจสืบทอดกันตรึมน้อยลง อาจารย์อนันต์ สบฤกษ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมมือกับผู้รู้ ครูเพลงพื้นบ้าน นักดนตรี รวบรวมเพลงกันตรึม เพราะมองเห็นคุณค่าวัฒนธรรม และให้ดนตรีเหล่านี้สืบทอดไปยังลูกหลานสืบไป
เรือมตร๊ด (รำตรุษ)
เป็นการรำของชาวเขมรถิ่นไทย นิยมเล่นในเทศกาลออกพรรษา งานกฐิน และเดือนห้า (แคแจ๊ด) โดยตระเวนเล่นไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อบอกบุญขอบริจาคทรัพย์สมทบกองทุนผ้าป่า กองดอกไม้ กองกฐิน ประกอบด้วยเครื่องดนตรีคือ กลอง ปี่อ้อ ขลุ่ย ฆ้องใหญ่ กระพรวนวัว ซออู้ ผู้เล่นชายร้องเพลงคนหนึ่ง ฝ่ายหญิงคนหนึ่ง มีลูกคู่ช่วยกันร้องประกอบ นางรำแล้วแต่เหมาะสม ประมาณ 10-12 คน ร่ายรำตามจังหวะเพลง มีนาฎลีลาอ่อนช้อยเนิบนาบ นักร้องชายหญิงร้องสลับกัน ผู้รำจะเดินเป็นแถว จำนวน 15-20 คน เดินไปตามบ้านเหมือนกับการเซิ้งแผ่เงิน (เรี่ยไร)
การแต่งกายสวมชุดพื้นเมือง เช่น ผ้าโสร่ง สวมเสื้อหลากสี เมื่อไปถึงหน้าบ้านผู้ใดก็จะเริ่มตีกลอง ผู้ร้องนำก็จะเริ่มร้องขับ แล้วผู้ร้องตามก็จะร้องพร้อมกัน พร้อมกับจังหวะการรำไปทางซ้ายทีขวาที กระทุ้งด้วยไม้ผูกกระพรวนให้ได้ยินถึงเจ้าของบ้าน เมื่อคณะรำตร๊ดไปถึงบ้านใครก็จะหาน้ำให้ดื่ม ให้สุราและถวายจตุปัจจัยเพื่อร่วมทำบุญ หลังจากนั้นคณะรำตร๊ดก็จะร้องเพลงอวยพรให้มีความสุขความเจริญ
เรียมอายัย (รำอายัย)
ที่เป็นการร้องโต้ตอบกัน ทำนองเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวชาวเขมรถิ่นไทยในเทศกาล งานรื่นเริงสนุกสนาน โดยผู้รำนั้นจะไหว้ครูพร้อมกัน เสร็จแล้วเดินออกมาโต้ตอบกันเป็นคู่ๆ มีลูกคู่รองรับ เมื่อร้องจบในแต่ละวรรคดนตรีก็จะบรรเลงรับ ผู้แสดงทั้งหญิงและชายจะรำเกี้ยวพาราสีกัน ลูกคู่จะปรบมือสนับสนุน เมื่อดนตรีจบคู่ใหม่ก็ออกมาร้องทุกคู่จนครบ และร้องบทลาในตอนจบ การรำไม่มีแบบแผนตายตัว เป็นการฟ้อนรำให้เข้ากับจังหวะดนตรี ท่ารำส่วนใหญ่เป็นท่าจีบ และแบมือเรียกว่า อายัย รำแบบในท่าฟ้อนเกี้ยว ท่ารำของฝ่ายหญิงจะเป็นท่าที่คอยปัด หรือท่าปกป้องระวังการถูกเนื้อต้องตัว
การแต่งกาย ใช้ผ้าทอพื้นบ้าน นุ่งผ้าถุง สวมเสื้อแขนกระบอก มีผ้าสไบคล้องคอ ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าไหมคาดที่เอว
เครื่องดนตรี มีกลอง (สก็วล) 1 คู่ ปี่อ้อ 1 เลา ซอ 1 - 2 คัน ฉิ่ง ฉาบ กรับ ทำนองที่บรรเลงเร้าใจ สนุกสนาน
นาฎศิลป์และดนตรี
นาฎศิลป์และดนตรีของชาวเขมรนั้น แยกไม่ออกจากนาฎศิลป์และดนตรีของชาวอีสานทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นลาว เขมร ส่วย เยอ ดนตรีหลักของชาวลาว คือพิณ แคน ให้จังหวะด้วยกลอง ดนตรีหลักของชาวเขมรคือ ซอ ปี่ ระนาด ตะโพน ฉิ่ง ส่วนชาวส่วยและเยอยึดเอาดนตรีของชนเผ่าที่ตนอยู่ใกล้มาใช้ โดยเฉพาะ พิณ และแคน
ประเพณีแซนการ์ (การแต่งงาน)
พิธีแต่งงานชาวเขมร จะจัด "พิธีแซนการ์" จะกำหนดงาน 2 - 3 วัน โดยแบ่งเป็นวันรวมญาติพี่น้อง หรือวันสุขดิบ วันแต่ง และวันส่งตัว เป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของทุกคน เพราะเป็นวันแห่งการสร้างสถาบันครอบครัว สร้างอาชีพ สร้างทายาทของวงศ์ตระกูล หนุ่มสาวไทยเขมรในปัจจุบัน มีอิสระในการเลือกคู่ เมื่อรักใคร่กันแน่นอนแล้ว พ่อแม่ฝ่ายชายก็จะมาเยี่ยมเยียน ทำความคุ้นเคย จากนั้นก็จะส่งเฒ่าแก่ไปทำการ "ซูร์" (หมั้น) เริ่มด้วยการทาบทาม ด้วยเหล้า 1 ขวด หมากพลู 1 พาน เทียน 1 คู่ ฝ่ายหญิงจะเรียกค่าสินสอดตามแต่จะพอใจ ถ้าตกลงกันได้ก็จะนัดกำหนดวันแต่งงาน
ไงแซน (วันแต่งงาน) ที่บ้านเจ้าสาว ต้องมี "อาจารย์" เจ้าพิธี จัดเตรียม บายศรี หรือ บายแสร็ย พร้อมเครื่องบริวาร มีดอกไม้ เทียน ข้าวต้มมัด กล้วย ขนมตามความพอใจ มีด้ายผูกข้อมือ ในปะรำพิธี มีเสากลางตกแต่งด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย และดอกไม้ สำหรับเซ่นสรวงเทพ มี "ปะต็วล" แขวนหัวเสา ด้านหน้ามี ฟูกสำหรับกราบบนฟูกวางหมอนหันไปทาง "ปะต็วล" วางเครื่องบริวารที่เตรียมไว้โดยรอบ เช่น พานผ้าไหม เงิน หมากพลู กรวย ดอกไม้ ขันข้าวขวัญ (ข้าวสุกปั้น) ไข่ต้ม มีกรวยใบตองคว่ำไว้ ขันน้ำมนตร์ เป็นต้น
การแห่ขันหมาก มีมโหรีนำหน้าขบวน แห่พานบายศรี เครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษพร้อมบริวาร ถาดขนม สินสอด ขันหมาก เข้าสู่ปะรำพิธี ฝ่ายหญิงจะมารับ นำเข้าสู่ปะรำพิธี เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว เจ้าสาวจะออกมามอบหมากพลูให้เจ้าบ่าว จากนั้นเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะมอบ "เฮ็บ" และ "ท็อง" คือ พานหมากพลู พ่อแม่เจ้าสาวก็จะแก้ห่อผ้าออกหยิบกินเป็นการยอมรับ บ่าวสาวลงนั่งบนฟูก กราบอาจารย์ แล้ววางมือคว่ำลงบนเต้าปูนเหนือหมอน เจ้าบ่าววางทับบนหลังมือเจ้าสาว การเซ่นผี อาจารย์เป็นผู้ทำพิธีจุดเทียน เชิญผีบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่น ผู้เฒ่าจะมารินน้ำรินเหล้าใส่เครื่องเซ่นแล้วยกออกไป
สาวชาวแขมร์ สุรินทร์
การส่งตัวเจ้าสาว เจ้าสาวหาบน้ำ เจ้าบ่าวแบกฟืน หางขบวนช่วยกันแบกฟูก หมอน และผ้าไหว้ แห่ไปบ้านเจ้าบ่าว มอบหมากพลูขอทางผ่าน ฝ่ายเจ้าบ่าวจะรับน้ำ และฟืนไป เจ้าบ่าวเกี่ยวก้อยเจ้าสาวขึ้นเรือน ญาติฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้นมาล้างเท้าให้คู่บ่าวสาว แล้วให้เหยียบบนกระเชอใส่ข้าวเปลือก เหล้า ผ้าขาว และขวาน เป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรือง พอขึ้นเรือนผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้น และหม้อข้าวเก่ามาให้เจ้าสาวล้างก้นหม้อ แสดงความพร้อมใจจะเป็นแม่ศรีเรือน แล้วมอบฟูกหมอนให้พ่อแม่เจ้าบ่าว นำน้ำที่เจ้าสาวหาบมาจากบ้านมาอาบให้พ่อแม่ฝ่ายชาย แล้วมอบผ้าสมมาให้ผลัดเปลี่ยนนุ่งห่มใหม่ไหว้ และมอบผ้าสมมาให้ญาติเจ้าบ่าว ซึ่งจะได้รับเงินของขวัญตอบแทนจนคุ้ม จากนั้นจึงไหว้เจ้าบ่าวด้วยโสร่ง เสื้อขาวคอกลม สไบสองผืน เจ้าบ่าวจะมอบของขวัญให้เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ เจ้าสาวจัดขนม ผลไม้ น้ำ เหล้าให้กิน
การเสี่ยงทาย จะมีสำรับอาหารตั้งไว้ให้บ่าวสาวตักป้อนกันและกัน ใครตักข้าวก่อนตักกับข้าว แสดงว่ารู้จักอดออม ประหยัด ใครตักกับก่อนแสดงว่าฟุ่มเฟือย ญาติจะเตือนฝ่ายหญิงให้รู้จักอดออมให้มาก การแต่งงานของชาวสุรินทร์ เน้นการขอบคุณ และระลึกถึงเทพ ผีบรรพบุรุษ จะพบว่า ปะต็วล เป็นสัญลักษณ์เด่นที่สุดในปะรำพิธี เป็นเครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษ ที่จะลืมไม่ได้ในพิธีแซนการ์
ประเพณีงานเดือนห้า
เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณที่ประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์ยังคงยึดถือปฏิบัติอยู่ ในวันขึ้น 1 ค่ำของเดือนห้า ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ ทุกครัวเรือนจะพากันหยุดงานโดยพร้อมเพรียงกัน มีกำหนด 3 วันเพื่อพักผ่อน และไปนมัสการพระพุทธบาทจำลองเขาสวาย ซึ่งได้จำลองจากพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี พอถึงวันขึ้น 14 ค่ำ จะมีพิธีก่อเจดีย์ทรายตามวัดวาอารามทั่วๆ ไป มีพระสงฆ์สวดมนต์ฉลองเจดีย์ทราย และมีการละเล่นต่างๆ เช่น รำกระทบสาก เป็นต้น พอรุ่งเช้าในวันขึ้น 15 ค่ำ มีการทำบุญตักบาตรอย่างพร้อมเพรียงกัน และจากวันแรม 1 ค่ำเป็นต้นไป ตามประเพณีให้หยุด
งานเดือนสิบ
โดยทั่วๆ ไป เรียกว่า "วันสารท" มี 2 ระยะ ในระยะแรกตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ประชาชนจะพากันไปทำบุญตักบาตรที่วัด ในระยะหลังตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ สำหรับในวันนี้ทุกครัวเรือนจะทำพิธีเซ่นไหว้เรียกวิญญาณของญาติพี่น้องที่ได้ล้มตายไปแล้ว ให้มารับของทาน เป็นต้นว่า ขนมนมเนยและสิ่งของต่างๆ พิธีอย่างนี้ชาวบ้านเรียกว่า "แซนโดนตา" กลางคืนไปฟังพระสวดที่วัด มีการทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลผลบุญต่างๆ ให้ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว รุ่งเช้าในวันแรม 15 ค่ำ ไปทำบุญตักบาตรที่วัดโดยพร้อมเพรียงกัน
คนไทยส่วนใหญ่เรียกชื่อว่า ขอม มากกว่า เขมร ซึ่งจะแยกฐานะของคำเรียก จะใช้คำว่า ขอม เมื่อต้องการยกยอชมเชย เช่น ศิลปะขอม ภาษาขอม และคนขอม เป็นต้น แต่เมื่อไดใช้คำว่า เขมร จะใช้ในเชิงไม่ดี เหยียดหยาม เช่น เขมรป่าดง เขมรดงดิบ และไสยศาสตร์เขมร เป็นต้น
