- Details
- Written by: Webmaster
- Category: Isan Dance
- Hits: 22359
การฟ้อนพื้นบ้านแบบต่างๆ
ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
กล่าวกันว่า "ชาวอีสานนั้นมีวิญญาณของศิลปินอยู่เต็มเปี่ยม" ซึ่งชาวอีสานในแต่ละหมู่ แต่ละกลุ่มชนก็คิดประดิษฐ์เครื่องบันเทิงใจแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะภาคอีสานนั้น มีเครื่องดนตรีในรูปลักษณ์พิเศษของตนเองมาช้านาน และดนตรีก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมาชั่วลูกหลาน เป็นมรดกตกทอด ชาวอีสานนั้นมีมรดกทางด้านศิลปะ การดนตรี และฟ้อนรำหลากหลายรูปแบบที่สุด กลุ่มวัฒนธรรมของภาคอีสานจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่ 1 หมอลำหมอแคน เป็นชนกลุ่มใหญ่ทางด้านอีสานเหนือ ในเขตจังหวัดเลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร และอุบลราชธานี
- กลุ่มที่ 2 กลุ่มเจรียง กันตรึม เพลงโคราช เป็นชนกลุ่มในเขตอีสานใต้ ในเขตจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ
ทำให้ภาคอีสานมีดนตรีและการฟ้อนรำที่หลากหลาย การฟ้อนเพื่อความสนุกสนาน นับเป็นชุดฟ้อนเบ็ดเตล็ดที่มีมากกว่าการฟ้อนในกลุ่มอื่นๆ จึงรวบรวมเฉพาะชุดฟ้อนที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเท่านั้น และในที่นี้ก็ไม่นับรวมการฟ้อนรำแบบกรมสรรพสามิต (ฟ้อนขี้เมา) เอาไว้แต่อย่างใด เพราะรูปแบบการร่ายรำจะขึ้นกับปริมาณดีกรีเป็นหลักไม่แน่นอน (ฮา)

ฟ้อนอุบล - ฟ้อนกลองตุ้ม - เซิ้งกะโป๋ - เซิ้งทำนา | เซิ้งกุบ - เซิ้งสาวน้อยเลียบดอนสวรรค์ - เซิ้งสวิง - เซิ้งกระติบข้าว



ฟ้อนเซิ้งแคน
ประวัติความเป็นมาของแคน
แคน เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ของชาวอีสาน เป็นเอกลักษณ์ด้านดนตรีตัวแทนความเป็นคนอีสาน มีเสียงอันเป็นธรรมชาติ มีความไพเราะลึกซึ้งกินใจ ดังในวรรณคดี "ท้าวก่ำกาดำ" ได้กล่าวถึงความไพเราะของแคนไว้อย่างมีอารมณ์ว่า
"ท้าวก็เป่าจ้อยๆ อ้อยอิ่งกินนารี เสียงแคนดังม่วนแม้งพอล้มหลุดตายไปนั้น ปรากฏดังม่วนก้องในเมืองอ้อยอิ่น สาวฮามน้อยวางหลามาเบิ่ง บางผ่องปะหลาไว้วางไปทั้งก็มี ฝูงคนเฒ่าเหงานอนหายส่วง ฝูงพ่อฮ้างคิดฮ่ำคะนิงเมีย เป็นที่อัศจรรย์แท้เสียงแคนท้าวก่ำ ฝูงกินข้าวคาคอค้างอยู่ บ่มีไผไออิจามไอสงัดอยู่" |
บุญมีเลยเป่าแถลงดังก้อง ท้าวก็เป่าจ้อยๆ คือเสียงเสพเมือสวรรค์ เป็นที่ใจม่วนดิ้นดอมท้าวเป่าแคน เข่าก็บบฟั่งฟ้าวตีนต้องถือตอ บางผ่องเสื้อผ้าหลุดออกซ้ำเลยเต้นแล่นไปก็มี สาวแม่ฮ้างคะนิงโอ้อ่าวผัว เหลือทนทุกข์อยู่ผู้เดียวนอนแล้ง ไผได้ฟังม่วนแม้งใจสล่างหว่างเว ฝูงอาบน้ำปะผ้าแล่นมา ![]() |
การประดิษฐ์ชุดฟ้อนซึ่งอาศัยแคนเป็นองค์ประกอบขึ้น ได้ชื่อว่า เซิ้งแคน เป็นการฟ้อนประกอบการเป่าแคน โดยแบ่งการฟ้อนออกเป็น 2 ฝ่ายชายหญิง ฝ่ายชายเป่าแคนไปด้วยลีลาการเกี้ยวพาราสี การเซิ้งแคนเป็นการฟ้อนที่เป็นอิสระแต่ละคู่ ฉะนั้นจึงมีความสนุกสนานแปลกตาในลวดลายของการเซิ้ง และการเป่าแคน และยังมีชุดฟ้อนแคน ซึงทางกรมศิลปากรได้จัดทำเป็นชุดฟ้อน โดยใช้ทำนองลาวดวงเดือนและออกซุ้มลาวแพน
ทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม โดยอาจารย์ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ เห็นว่าน่าจะมีการประยุกต์ทำนองฟ้อนและเซิ้งเข้าอยู่ในชุดเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสวยงามแปลกตา และเน้นให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาคอีสาน ซึ่งได้รับสืบทอดวัฒนธรรมของล้านช้าง และภาคเหนือ ซึ่งได้รับสืบทอดวัฒนธรรมของล้านนา จึงประดิษฐ์ชุดฟ้อนขึ้นโดยอาศัย "แคน" เป็นสื่อให้ชื่อว่า "ฟ้อนเซิ้งแคน" โดยใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานใช้ในทำนองเซิ้งบั้งไฟ และเพลงลาวดวงเดือน และออกซุ้มลาวแพน
เครื่องแต่งกาย
ฝ่ายหญิงใช้ชุดเซิ้งพื้นเมืองอีสาน คือ สวมเสื้อแขนกระบอก นุ่งซิ่นพื้นเมือง ห่มผ้าสไบ ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ ฝ่ายชายสวมเสื้อคอกลม นุ่งโจงกระเบนด้วยผ้าขาวม้าพื้นเมืองอีสาน และใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว
เครื่องดนตรี
ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน โดยใช้ลายเซิ้งบั้งไฟเพลงลาวดวงเดือนและออกซุ้มของเพลงลาวแพน
เซิ้งแคน โดย นาฏยศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ฟ้อนชุดเล่นสาวเป่าแคน
ชาวอีสานแต่โบราณมีประเพณีการไป "เล่นสาว" หรือไป "เว้าสาว" ในการไปเล่นสาวของชายหนุ่มชาวอีสานนั้นจะเกี่ยวเนื่องกับประเพณีลงข่วง ในช่วงหน้าหนาวหรือหน้าแล้ง หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในตอนกลางคืนหญิงสาวชาวอีสานก็จะมาร่วมกัน "เข็นฝ้าย" ซึ่งมีเพลงกล่อมเด็กที่กล่าวถึงแม่ร้างเข็นฝ้ายอยู่ว่า
"นอนสาเด้อหล่าหลับตาแม่สิกล่อม นอนอู่แก้วหลับแล้วแม่สิกวย แม่สิไปเข็นฝ้ายเดือนหงายเว้าผู้บ่าว สิไปหาพ่อน้ามาเลี้ยงให้ใหญ่สูง ลุงและป้าอาวอาเพิ่นบ่เบิ่ง เพิ่นได้กินปลาบึกตัวเท่าหัวเรือก็บ่ได้กินนำเพิ่น เพิ่นได้กินปลาเสือตัวเท่าหัวช้างก็บ่ได้กินน้ำเพิ่น ได้กินแต่ปลาขาวขี้ก้างชาวบ้านเพิ่นให้ทาน เหลียวขึ้นไปมีแต่ดาวกับเดือนเต็มฟ้า ไผสิมาเกี่ยวหญ้ามุงหลังคาให้ลูกอยู่บุญชูแม่นี่เอย" |
ซึ่งหญิงสาวจะเริ่มเข็นฝ้ายประมาณ 1 - 2 ทุ่ม หลังจากกินข้าวเย็นแล้ว ส่วนการไปเล่นสาวของชายหนุ่มอีสานนั้น จะเริ่มประมาณ 3 - 4 ทุ่ม ชายหนุ่มทั้งบ้านเดียวกันและต่างบ้านก็จะชวนกันเดินเป็นกลุ่มๆ มีการดีดพิณ และเป่าแคนไปตามทาง ในทำนองเพลงพื้นบ้านอีสาน กลุ่มของชายหนุ่มจะตระเวนไปตามข่วงต่างๆ ในหมู่บ้าน เมื่อไปถึงจะแยกย้ายนั่งคุยกับหญิงสาว การสนทนากันหรือ "เว้าสาว" นั้น จะมีการจ่ายผญา คือการสนทนาเกียวพาราสีกันด้วยภาษาเฉพาะ เรียกว่า ผญาเครือ หรือ ผญาเกี้ยว ซึ่งมีลักษณะลีลาจังหวะสัมผัสอันไพเราะงดงามทั้งความหมายของถ้อยคำที่มีความหมายลึกซึ้งคมคาย เช่น
ชาย : | โอนอหล้าเอ้ย การที่มามื้อนี่ความกกว่าอยากได้ฝ้าย ความปลายว่าอยากได้ลูกสาวเพิ่น อันเจ้าผู้ขันหมากแก้วลายเครือดอกผักแว่น สิไปตั้งแล่นแค่นอยู่ตีนส่วมผู้ใดนอ |
หญิง : | อ้ายเอย น้องผู้ขันหมากแก้วลายเครือผักแว่น หวังว่าสิไปตั้งแล่นแค่นอยู่ตีนส่วมบ่าวพี่ชาย... นี่แล้ว |
ชาย : | ย่านบ่จริงจังหมากหว้าสีชมพูจั่งว่า ย่านคือตอกมัดกล้าดำนาแล้วเหยียบใส่ตม... นั่นแล้ว |
หญิง : | คันบ่จริงน้องบ่เว้า คันบ่เอาน้องบ่ว่า สัจจาน้องว่าแล้วสิมายม้างแม่บ่เป็น... เด้อ้าย |
ชาย : | สัจจาผู้หญิงนี้บ่มีจริงจักเทื่อ ชาติดอกเดื่อมันบ่บานอยู่ต้นตออ้ายบ่เชื่อคน... ดอกนา |
หญิง : | กกจิกมันมีหลายต้น กกตาลมันมีหลายง่า สัจจะน้องได้ว่าแล้ว สิมายม้างบ่เป็น... ดอกอ้าย |
![]() |
ภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูมหาสารคาม จึงได้ทำชุดฟ้อนขึ้นเพื่อแสดงถึงการเล่นสาว หรือ เว้าสาว หรือ เกี้ยวสาว ของชาวอีสานขึ้น
เครื่องแต่งกาย
ฝ่ายหญิงแต่งกายชุดผู้ไท โดยสวมเสื้อดำขลิบแดงเข้ารูป แขนกระบอก ผ่าหน้า นุ่งซิ่นดำมีเชิงยาวกรอมเท้า ห่มสไบเฉียงทิ้งชายด้านขวา เกล้าผมมวยผูกผ้าแดง ฝ่ายชายจะถือแคน โดยสวมเสื้อคอกลมผ่าหน้าแขนสั้นสีดำขลิบแดง นุ่งโจงกระเบนทิ้งชายด้านหนึ่ง มัดผ้าแดงที่ศรีษะ
เครื่องดนตรี
ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ลายผู้ไท ฝ่ายชายมีอุปกรณ์ประกอบการแสดงคือ แคน

ฟ้อนอุบล - ฟ้อนกลองตุ้ม - เซิ้งกะโป๋ - เซิ้งทำนา | เซิ้งกุบ - เซิ้งสาวน้อยเลียบดอนสวรรค์ - เซิ้งสวิง - เซิ้งกระติบข้าว



- Details
- Written by: Webmaster
- Category: Isan Dance
- Hits: 18948
การฟ้อนพื้นบ้านแบบต่างๆ
ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
รำบ้านประโดก
บ้านประโดก ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อเสียงมากในเรื่องทำขนมจีน ซึ่งมีเส้นเหนียวและน้ำยาหอมรสกลมกล่อม และน้ำยาบ้านประโดกก็แตกต่างจากที่อื่นคือ แทนที่จะนำเครื่องแกงสดมาโขลกทันที แต่กลับนำเอาไปต้มให้สุกก่อนจึงจะนำมาโขลกให้ละเอียด ส่วนทางภาคกลางนิยมต้มเครื่องแกงและปลากับน้ำปลาร้าก่อน แต่น้ำยาบ้านประโดกไม่ใส่ปลาร้าจึงต้มเครื่องแกงและปลากับหางกะทิ
การทำเส้นขนมจีนบ้านประโดก มีเครื่องปรุงเส้นขนมจีนคือ ข้าวเจ้า (ใช้ปลายข้าวละเอียด) ประมาณ 10 กิโลกรัม มีวิธีการทำดังนี้
- นำปลายข้าวแช่น้ำประมาณ 1 ชั่วโมง
- สงปลายข้าวขึ้นจากน้ำที่แช่ไว้ ใส่ตะกร้าไม้ไผ่ที่สานค่อนข้างถี่
- หมักไว้ 3 คืน
- เมื่อหมักได้ตามกำหนดแล้ว นำมายีด้วยฝ่ามือพร้อมกับน้ำเพื่อให้ละลายเป็นน้ำแป้ง
- นำน้ำแป้งมากรอง เพื่อจะได้น้ำแป้งที่ละเอียดและสะอาดขึ้น
- นำน้ำแป้งที่กรองดีแล้วใส่ถุงผ้า แล้วใช้ของหนักทับเพื่อให้น้ำที่ผสมกับแป้งออกเหลือแต่เนื้อแป้ง
- เอาเนื้อแป้งมายีให้เป็นเนื้อเดียวกัน ปั้นเป็นก้อนกลมโตพอสมควร (ระยะนี้เรียกว่า ลูกแป้ง)
- นำลูกแป้งนั้นลงต้มในน้ำร้อนให้สุกสักครู่หนึ่ง
- นำแป้งที่ต้มสุกแล้วมาใส่ครกขนาดใหญ่ (ส่วนใหญ่จะเป็นครกไม้ใช้ตำข้าวตามชนบท เรียกว่า ครกมอง)
- โขลกแป้งที่ต้มแล้วจนเหนียวดี แล้วใส่แป้งที่โขลกลงในเครื่องมือที่ใช้บีบโรยเส้นขนมจีน
- ต้มน้ำร้อนในหม้อขนาดใหญ่พอสมควร พอน้ำร้อนจัด (แต่ยังไม่ถึงกับเดือดพล่าน เพราะจะทำให้เส้นขนมจีนขาด) ก็โรยเส้นขนมจีนลงในน้ำที่ต้มนั้น
- พอเส้นขนมจีนสุก ก็ตักเส้นขนมจีนนั้นแช่ในน้ำเย็นที่เตรียมไว้ หยิบเส้นขนมจีนทำให้เป็นตับ จัดวางเรียงในกระจาด
การรำบ้านประโดก จึงได้แนวคิดมาจากการประกอบอาชีพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของชาวบ้าน ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูนครราชสีมา จึงได้นำลีลาการประกอบอาชีพโดยประดิษฐ์ท่าฟ้อนแสดงขั้นตอนการทำขนมจีนตั้งแต่ การแช่แป้ง โขลกนวดแป้ง โรยขนมจีน แล้วนำไปขายที่ตลาด
เครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงสวม เสื้อแขนกระบอก ห่มสไบนุ่งซิ่นมัดหมี่ ฝ่ายชายสวม เสื้อคอกลมแขนสั้นนุ่งกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าขาวม้ามัดเอว
เครื่องดนตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน
รำขนมจีนประโดก
ขั้นตอนการทำขนมจีนประโดก
เซิ้งปลาจ่อม
ปลาจ่อม เป็นอาหารชนิดหนึ่งของชาวอีสานซึ่งชาวอีสานส่วนใหญ่เรียกว่า "ส้มปลาน้อย" ปลาจ่อมเป็นอาหารซึ่งประกอบด้วย ปลาตัวเล็ก หมักด้วยเกลือและข้าวคั่ว ใช้เป็นเครื่องจิ้ม ซึ่งอำเภอประโคนชัยได้ชื่อว่า "เมืองข้าวมะลิหอม ปลาจ่อมประโคนชัย" การทำปลาจ่อมส่วนใหญ่นิยมใช้ปลาซิวแก้ว ปลาอีด ลูกปลาช่อน ลูกปลาหมอ เกลือและข้าวคั่ว นิยมใช้ข้าวคั่วป่นที่ทำจากข้าวสารเจ้า
วิธีการทำปลาจ่อม จะนำปลาที่เตรียมไว้มาคลุกเคล้ากับเกลือให้หมดคาว คนให้เข้ากันหมักทิ้งไว้หนึ่งคืน แล้วนำข้าวคั่วป่นมาเคล้าให้เข้ากับปลาที่หมักไว้ โดยใช้ไม้พายคนให้ทั่วๆ นำไปบรรจุขวดโหล ปิดปากขวดให้มิดชิดด้วยถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ใช้เชือกฟางรัดปากขวดให้แน่นทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน ก็สามารถนำมารับประทานได้
ปลาจ่อมหรือส้มปลาน้อย เป็นอาหารพื้นบ้านอีสานที่รู้จักกันดี ทางศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์จึงได้จัดทำเป็นชุดฟ้อนขึ้น
เครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงนุ่งซิ่นใช้ผ้าแถบรัดอก สวมหมวก ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย สวมเสื้อม่อฮ่อมใช้ผ้าขาวม้าคาดพุง
เครื่องดนตรี ที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานใต้
อุปกรณ์การแสดง อวน (ดาง) ไซ กระชัง ไห
ลำดับขั้นตอนการแสดง เซิ้งปลาจ่อม เริ่มโดยชายและหยิงนำอวน และไซดักปลา ซึ่งจะได้ปลาที่มีขนาดเล็ก หลังจากนั้นฝ่ายหญิงก็จะนำปลาที่ได้มาทำปลาจ่อม ฝ่ายชายจะเอาไหมาใส่ปลาจ่อมเพื่อหมักไว้จนกว่าจะได้ที่
เซิ้งแหย่ไข่มดแดง
อาหารอีสานส่วนใหญ่จะได้มาจากธรรมชาติ ทั้งที่เป็นสัตว์เล็ก สัตว์น้อย และพืชพันธุ์ต่างๆ นับได้ว่าชาวอีสานเป็นนักกินผู้หนึ่งทีเดียว ไข่มดแดงนับเป็นอาหารประจำถิ่นอีสาน จนสามารถนำมาขายจนกลายเป็นอาชีพได้ ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ เห็นว่าควรจะอนุรักษ์อาชีพแหย่ไข่มดแดงนี้ในรูปของการแสดง จึงได้ทำการศึกษาถึงขั้นตอนการนำไข่มดแดงลงมาของชาวบ้าน โดย อาจารย์ประชัน คะเนวัน และ อาจารย์ดรรชนี อุบลเลิศ เป็นผู้เขียนรายละเอียดของขั้นตอนการแหย่ไข่มดแดงโดยละเอียด การแสดงเซิ้งแหย่ไข่มดแดงเป็นการอนุรักษ์อาชีพของชาวอีสานอย่างหนึ่ง
เครื่องแต่งกาย ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย เสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าขาวม้าคาดเอว และใช้ผ้าขาวม้าโพกศีรษะ ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอก 3 ส่วนคอกลม ห่มสไบ นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่สั้นแค่เข่า
เครื่องดนตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานลายเซิ้ง
อุปกรณ์สำหรับการแสดง ครุใส่น้ำ ตะกร้าผูกปลายไม้ยาว ผ้าสำหรับกวนมดแดง การจัดการแสดงลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้
- เดินทางออกจากบ้าน หญิงถือครุใส่น้ำ ชายถือไม้ยาวสำหรับแหย่รังมดแดง และเหน็บผ้าสำหรับกวนมดแดง
- มองหารังมดแดง
- แหย่มดแดงได้เทลงในครุใส่น้ำ
- นำผ้ากวนมดแดง เพื่อแยกตัวมดออกจากไข่มดแดง
- เทน้ำออกจากครุ
- เก็บอุปกรณ์เดินทางกลับบ้าน
ฟ้อนแหย่ไข่มดแดง
เรือมศรีผไทสมันต์
ชาวอีสานรู้จักการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ไม่ว่าจะเป็นอีสานเหนือ หรืออีสานใต้ ถึงแม้อีสานใต้จะไม่มีผ้าไหมที่โดดเด่นในทางลวดลายเช่นอีสานเหนือ แต่ผ้าไหมของอีสานใต้ก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งพอมองเห็นก็ทราบได้ทันทีว่าเป็นผ้าไหมจากอีสานใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเรือมศรีผไทสมันต์นี้เป็นชุดฟ้อนที่ประดิษฐ์ท่าฟ้อนมาจากอาชีพการเลี้ยงไหม ทอผ้าของชาวอีสานใต้ ตั้งแต่เริ่มปลูกต้นหม่อน การเลี้ยงไหม จนทอผ้าเป็นผืน ซึ่งคณาจารย์โรงเรียนสิรินธร และโรงเรียนอนุบาลสุรินทร์ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่าฟ้อนขึ้น นับเป็นชุดฟ้อนศิลปาชีพอีกชุดหนึ่งที่มีความสวยงามแปลกตา ทั้งในด้านชุดการแสดงและจังหวะดนตรี
เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงใช้หญิงล้วนสวม เสื้อคอกลมแขนกระบอกสีออกชมพู นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่พื้นเมืองของสุรินทร์ ใช้ผ้าเบี่ยงโพกศีรษะ และพาดไหล่ด้วยผ้าขาวม้าพื้นเมืองสุรินทร์
เครื่องดนตรี ที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานใต้ วงกันตรึมหลายเพลงประกอบท่าฟ้อน
คลิกไปอ่าน การฟ้อนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง
- Details
- Written by: Webmaster
- Category: Isan Dance
- Hits: 18982
การฟ้อนพื้นบ้านแบบต่างๆ
ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
ฟ้อนเข็นฝ้าย
ชาวอีสานได้รู้จักทำเครื่องนุ่งห่มขึ้นมาใช้เองแต่โบราณกาลแล้ว นับได้ว่าชาวอีสานเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องผ้า ซึ่งมีการทอผ้าทั้งที่เป็นผ้าไหมและผ้าฝ้าย จังหวัดเลยนับว่าเป็นจังหวัดที่มีการปลูกฝ้ายมากที่สุด จนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในงาน "ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย" การปลูกฝ้ายนั้นนิยมปลูกในราวเดือนพฤษภาคม เมื่อถึงราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ฝักฝ้ายก็จะแก่และแตกปุยพอดี ชาวอีสานก็จะลงมือเก็บฝ้ายโดยมีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนการเข็นฝ้าย
- เก็บฝ้าย จะเริ่มเก็บฝ้ายเมื่อเห็นว่า ฝ้ายแตกกอและมีปุยฝ้ายฟูเต็มที่แล้ว เก็บโดยถือเอาเฉพาะปุยฝ้ายออกจากกลีบสมอใส่ตะกร้าหรือถุงผ้าซึ่งคล้องไหล่ไว้ข้างหลัง
- ตากฝ้าย นำฝ้ายที่เก็บไว้ออกผึ่งแดดเพื่อให้ปุยฝ้ายที่เก็บไว้นั้นฟูขึ้นเพื่อสะดวกในเวลาแยกเม็ดฝ้ายออกจากปุย นำปุยฝ้ายไปแยกเม็ดออกเรียกว่า อิ้วฝ้าย
- ดีดฝ้าย นำฝ้ายที่แยกเม็ดออกแล้วนำมาดีดโดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นคันโค้งเหมือนคันธนู โดยเอาเชือกผูกปลายให้โค้งเข้าหากัน ดีดฝ้ายเพื่อให้ฝ้ายมีเนื้อละเอียดเหมือนสำลี แล้วเอาฝ้ายที่ได้ไปล้อเป็นติ้วกลมๆ ยาวประมาณ 9 นิ้ว
- เข็นฝ้าย การเข็นฝ้ายจะใช้ "หลา" การเข็นฝ้ายต้องเอาปลายของฝ้ายที่ล้อเป็นติ้วข้างใดข้างหนึ่งไปจ่อที่เหล็กไนพร้อมกับหมุนกงหลาซึ่งมีสายต่อมาถึงเหล็กไน เหล็กไนก็จะหมุนปั่นเอาฝ้ายซึ่งติ้วแล้วออกเป็นเส้นเล็กๆ เมื่อปั่นได้เต็มเหล็กไนก็จะใช้ไม้ซึ่งเรียกว่า "เปีย" เปียออกจากเหล็กไนเพื่อจะนำให้เป็นไนฝ้าย นำฝ้ายที่ได้ไปย้อมสีตากให้แห้งสนิท นำเอาไปใส่ในกงปั่นฝ้ายเรียกว่า "การกวักฝ้าย" แล้วนำเส้นด้ายไปขึงกับ "เผือ" เพื่อให้เส้นด้ายไม่ยุ่ง แล้วเอาเส้นด้ายที่เฝือนั้นไปกรอเข้ากับฟืม โดยกรอจนเต็มฟืมและนำไปสืบหูก คือการร้อยเส้นฝ้ายจากรูแล้วสอดกับฟันฟืม
- การทอ เมื่อเตรียมเส้นยืนและเส้นพุ่งเรียบร้อยแล้วจะหวีด้าย เพื่อให้แผ่กระจายออกเป็นแผ่นเรียบเสมอกัน เมื่อขึงด้ายเข้ากี่เรียบร้อยแล้วก็ใช้กระสวยซึ่งบรรจุไว้ในร่องของกระสวยสำหรับสอดเส้นด้ายในแนวทางขวาง การสอดก็จะต้องสอดสลับกลับไปกลับมาเสมอ เวลาสอดครั้งหนึ่งก็เหยียบครั้งหนึ่ง และใช้ฟืมกระทบเพื่อให้เส้นด้ายแน่น เมื่อทอผ้าได้ยาวจนฟืมยืดออกไปไม่ถึงก็ม้วนผ้าเก็บไว้ กระทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสำเร็จ
ฟ้อนเข็นฝ้าย จึงได้นำเอาวิธีการเก็บฝ้ายและเข็นฝ้ายของชาวอีสานมาจัดทำเป็นชุดฟ้อนขึ้น
เครื่องแต่งกาย การแสดงใช้ผู้หญิงแสดงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกสีดำนุ่งผ้าถุงมัดหมี่ โดยนุ่งให้เห็นหัวซิ่นสีแดงคาดเข็มขัดเงิน โพกหัวด้วยหัวซิ่นสีแดง คล้องด้วยฝ้ายเฉวียงไหล่
เครื่องดนตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ทำนองเพลงคอนสวัน ทำนองเซิ้งและทำนองตังหวาย ซึ่งในการฟ้อนเข็นฝ้ายของวิทยาลัยครูอุบลราชธานีจะมีเพลงประกอบการฟ้อนเฉพาะ
ลำดับขั้นตอนของการแสดง การฟ้อนชุดเข็นฝ้ายเป็นการนำวิธีการและขั้นตอนของการทอผ้าฝ้าย เริ่มใช้ผู้แสดง 10 คน แบ่งเป็น 5 คู่ ดังนี้
- คู่แรก จะแสดงขั้นตอนของการเก็บฝ้าย โดยใช้กระทอห้อยข้างหลัง
- คู่ที่สอง จะแสดงขั้นตอนของการตากฝ้าย โดยใช้กระจาดแล้วนำฝ้ายไปเรียงในกระจาดเพื่อตากฝ้าย
- คู่ที่สาม จะแสดงขั้นตอนการดีดฝ้าย โดยใช้ไม้ไผ่โค้งเป็นรูปะธนูแสดงวิธีดีดฝ้ายให้ฟู
- คู่ที่สี่ จะแสดงการปั่นฝ้าย
- คู่ที่ห้า จะแสดงวิธีการทอฝ้าย
สาวเข็นฝ้าย จิ๋ว อมรรัตน์
เซิ้งสาวไหม
ผ้าไหมเป็นผ้าพื้นเมืองของชาวอีสานที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ชาวอีสานส่วนใหญ่รู้จักวิธีทอผ้า ทั้งที่ใช้เองในครอบครัวและประกอบเป็นอาชีพในครัวเรือน โดยชาวบ้านอีสานจะเลี้ยงไหมเอง เมื่อได้รังไหมแล้วก็จะนำมาสาวไหม
วิธีการสาวไหม โดยนำหม้อมาใบหนึ่งใส่น้ำต้มให้เดือด นำฝักไหมหรือรังไหมใส่ลงไปในหม้อพอประมาณ ปากหม้อนั้นทำเป็นวงโค้งคล้ายวงครุมีไม้อันหนึ่งลักษณะแบนๆ เจาะรูไว้ตรงกลาง เมื่อนำเดือดแล้วเอาเส้นไหมสอดรูไม้ที่ปากหม้อ สาวขึ้นมาพันกับรอกรอบหนึ่ง ซึ่งที่บนรอกมีไม้ซึ่งเรียกว่า ไม้ขืนยาวประมาณ 2 คืบ ใช้มือหนึ่งสาวไหมจากรอกลงไปในภาชนะที่รองรับอีกมือหนึ่งถือไม้ขืนกด และเขย่ารังไหมที่ลอยตัวอยู่ในหม้อเพื่อทำให้ไหมไม่แน่น การสาวไหมแบ่งเป็นสองชนิดคือ การสาวไหมหลืบ และการสาวไหมลวด ซึ่งเป็นไหมน้อย
เมื่อสาวไหมเสร็จจะนำไปใส่ไว้ในกระบุง แล้วจึงทำเป็นไจ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เส็ง เมื่อทำไหมเป็นไจแล้วจึงนำเอามาใส่กงแล้วนำอักมาสาวเส้นไหมออกจากกง เพื่อให้เส้นไหมแน่นขึ้น
ก่อนที่จะย้อมไหมเป็นสีต่างๆ ต้องซักฟอกให้ขาวเสียก่อน วิธีการฟอกไหมของชาวบ้านแบบพื้นเมืองนั้นใช้ ผักหม เหง้ากล้วย ใบกล้วย ก้านกล้วย งวงตาล ไม้ขี้เหล็ก ใบเพกา ทั้งหมดนี้ใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ นำมาหั่นฝานให้บางตากแดดให้แห้ง แล้วเอาไปเผาจนกระทั่งเป็นเถ้า จากนั้นจึงนำเถ้าไปแช่ในน้ำตั้งทิ้งไว้ให้นอนก้น แล้วจึงเอาไหมที่จะฟอกลงไปแช่ในน้ำด่าง พอไหมเปียกชุ่มดีแล้วก็เอาใส่หม้อต้มได้เวลาพอสมควร จึงเอาไหมขึ้นจากหม้อไปแช่ล้างน้ำเย็น ล้างให้สะอาดสงไหมขึ้นจากน้ำใช้มือกระทกให้ไหมหายยุ่ง แล้วใส่ไหมลงในกระเส่า เขย่าให้แห้งหมาด จึงนำไปผึ่งให้แห้ง หากไหมยังไม่สะอาดก็เอาไปแช่น้ำด่างตามวิธีการเติมอีกครั้งหนึ่ง
การย้อมไหมของชาวพื้นเมืองอีสานในสมัยโบราณนั้น ย้อมสีต่างๆ ด้วยครั่ง เข คราม ลูกกระจายดินแดง และแถลง ซึ่งมีวิธีการอย่างเดียวกันกับการย้อมผ้าฝ้าย แต่เนื่องจากการย้อมไหมและฝ้ายด้วยรากไม้และลูกไม้ป่าชนิดต่างๆ เป็นวิธีการที่ยากและกินเวลามาก ทำให้ชาวพื้นเมืองในปัจจุบันที่ยังทอผ้าใช้อยู่หันมาใช้สีวิทยาศาสตร์ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป ซึ่งสะดวกสบายกว่ามาย้อมไหมแทนวิธีการย้อมแบบดั้งเดิม
วิธีการทอผ้าซิ่นมัดหมี่
เครื่องมือที่ใช้ทอ ชนิดเดียวกันกับที่ใช้ทอผ้าฝ้าย แต่มีวิธีการแตกต่างกว่าคือก่อนที่จะทอเป็นซิ่นหมี่ จะต้องมัดหมี่เสียก่อนแล้วจึงนำไปทอ คือคัดเลือกไหมที่ฟอกแล้วเอามาดันใส่หลักหมี่ วิธีค้นไหม ค้นกลับไปกลับมาสองหน เรียกว่า หนึ่งคู่ เรียงลำดับไปจนพอผืนไหมที่ต้องจะทอ เอาเชือกกล้วยมาผูก แล้วแต่จะเอาลวดลายอย่างไร เช่น หมี่ขอ หมี่นาค หมี่ดอกหญ้า หมี่เฮื้อ หมี่หงส์ เป็นต้น การที่เอาเชือกกล้วยมาผูกไว้นั้นเพื่อป้องกันมิให้สีถูกที่ผูก เวลาย้อมสีต้องเอาสีแต้มตามลาย เสร็จแล้วเอาไหมที่ผูกทำไว้แล้วนั้นมากรอเข้ากับหลอด เวลาทอก็เอาหลอดที่กรอไว้พุ่งไป ก็จะได้ลายไปในตัว ส่วนผ้าผืนสำหรับนั้นจะเอาสีอะไรสุดแต่ความพอใจของผู้ทอ ลายต่างๆ ของผ้าซิ่นมัดหมี่ เช่น ลายหมี่นาคน้อย หมี่นาคต้นสน หมี่ดอกแก้ว หมี่ขอ ฯลฯ
เซิ้งสาวไหม ได้แนวความคิดจากการทำผ้าไหมพื้นเมืองของชาวอีสาน ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูสกลนคร จึงได้ประดิษฐ์เป็นชุดฟ้อนขึ้น เพื่อถ่ายทอดลีลาของการทอผ้าไหม
เครื่องแต่งกาย การแสดงใช้ผู้หญิงแสดงล้วน ใช้ผ้าขาวม้าห่มแบบผ้าแถบนุ่งซิ่นมัดหมี่ ใช้ผ้าพันรอบเอว ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้
เครื่องดนตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานลายเซิ้ง
ฟ้อนแพรวา
แพรวา คือผ้าขิดชนิดหนึ่งของชาวอีสาน ซึ่งนิยมทำกันในหมู่ของชาวผู้ไท เพื่อใช้ห่มไปในงานพิเศษ เช่น งานแต่งงาน ที่เรียกว่า แพรวา นั้น เพราะขนาดความยาวของผืนผ้าแต่เดิมนี้ความยาวขนาด "วา" ของผู้ทอซึ่งมักจะอยู่ในเกณฑ์ 2 เมตร กว้าง 50 - 60 เซนติเมตร ถิ่นแพรวาที่มีชื่อเสียงอยู่ที่บ้านโพน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ การทอผ้าแพรวานับเป็นศิลปการช่างที่มีมาแต่บรรพบุรุษ ถือว่าผ้าแพรวานั้นเป็นของสูงที่มีค่ามาก ชาวผู้ไทจะเก็บรักษาเป็นอย่างดี เปรียบได้กับของมีค่าอื่นๆ การจะใช้ก็จะใช้ในงานพิธีสำคัญ เช่น งานบุญประจำปี หรือ งานแต่งงาน ชาวอีสานถือว่า "การก้าวข้ามผ้าขิด หรือนั่งบนหมอนขิดไม่เหมาะสมยิ่ง"
การทอผ้าแพรวาต้องใช้ความประณีตบรรจงละเอียด ผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องอาศัยความเพียรพยายามอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ชาวอีสานจึงถือว่า ผ้าที่ทอด้วยลายขิดเป็นของสูง และจะเก็บไว้ในที่อันควร
ฟ้อนแพรวา เป็นชุดฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ได้นำวิธีการทอผ้าแพรวา แสดงให้เห็นทุกขั้นตอน ผ้าแพรในที่นี้หมายถึงผ้าที่มีความยาว 1 วา ปกติใช้คลุมไหล่ผู้หญิงหรือทำผ้าสไบ มีทั้งทำด้วยผ้าและทำด้วยไหม ท่าฟ้อนแพรวาจะแสดงลำดับขั้นตอนของการทอผ้าแพรวาตามแบบพื้นเมือง โดยเริ่มจากการเก็บฝ้าย การตากฝ้าย ล้อฝ้าย เปียฝ้าย ย้อมฝ้าย ค้นหูก จนกระทั่งถึงการทอเป็นผืน ผู้ประดิษฐ์ท่าฟ้อนคือ คุณจริยา เปาว์อินทร์ และอาจารย์วีณา วีสเพ็ญ
เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วน แต่งกายด้วยผ้าถุงมัดหมี่สีดำ สวมเสื้อคอกระเช้าสีขาว ซึ่งเป็นเสื้อที่ชาวบ้านอีสานนิยมสวมอยู่กับบ้าน คลุมไหล่ด้วยผ้าแพรวา
เครื่องดนตรี ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ทำนองเพลงลาวอุบล
ลำดับขั้นตอนของการแสดง
ท่าที่ 1 การเก็บดอกฝ้าย | - ชาวอีสานจะต้องออกไปเก็บดอกฝ้ายที่ในไร่ ฝ้ายแก่จัดและเริ่มแตก |
ท่าที่ 2 การตากฝ้าย | - ฝ้ายที่เก็บมาใหม่ๆ จะต้องนำมาตากให้แห้ง เพื่อให้ปุยฝ้ายร่วนดี |
ท่าที่ 3 อิ้วฝ้าย | - เมื่อดอกฝ้ายแห้งดี ก็นำมาอิ้วเพื่อรีดเอาเมล็ดออก แล้วดีดในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้ได้ปุยสำลี |
ท่าที่ 4 ล้อฝ้าย | - แล้วนำสำลีมาปั่นให้เป็นหลอด เพื่อใช้เข็นให้เป็นเส้นด้าย |
ท่าที่ 5 เข็นฝ้าย | - ดึงสำลีที่ใช้ติดปลายเข็มที่หลาเป็นฝ้าย เพื่อให้ได้เส้นด้ายที่ยาวติดต่อกัน |
ท่าที่ 6 เปียฝ้าย | - ใช้วาเปียคล้องเส้นด้ายเพื่อให้ได้ไจฝ้าย พร้อมที่จะนำมาย้อมสีต่างๆ |
ท่าที่ 7 ย้อมฝ้าย | - ใช้ฝ้ายชุบสีต่างๆ ตามที่ต้องการแล้วตากให้แห้งกระตุกไจฝ้าย เพื่อไม่ให้เส้นฝ้าย ติดกัน |
ท่าที่ 8 ค้นหูก | - ปั่นใส่อักแล้วนำมาขึงเส้นยืน เพื่อทอเป็นผืนผ้าต่อไป |
ท่าที่ 9 ทอผ้า | - เมื่อขึงเส้นยืนเสร็จนำมาตรึงที่กี่ สอดกระสวยด้ายกระตุกเขาที่ผ่านเส้นด้าย ขึ้นลง สลับกับการสอดฝ้าย กระทบให้แน่นด้วยฟืม ก็จะได้ผืนผ้าตามต้องการ |
เซิ้งข้าวปุ้น
ข้าวปุ้น หรือ ขนมจีน ชาวอีสานโดยเฉพาะในจังหวัดมหาสารคามนิยมทำกันในงานบุญพระเวส หรือบุญมหาชาติ และงานกฐินของทุกๆ ปี จนเรียกกันติดปากของชาวมหาสารคามว่า บุญข้าวปุ้น
บุญข้าวปุ้นจะมีพิธีการแบ่งออกเป็น 2 วัน วันแรกหรือวันโฮมนั้น ชาวบ้านจะเตรียมอาหารพวกข้าวต้ม ข้าวปุ้น พอเวลาประมาณ 4 โมงเย็นก็จะมารวมกันที่วัด แล้วมีพิธีแห่พระเวสสันดรและพระอุปคุต เข้ามาในเมือง หลังจากนั้นจะมีพิธีเทศน์มาลัยหมื่น มาลัยแสน พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ตามบ้านต่างๆ ชาวบ้านจะมีการกินเลี้ยงกันอย่างสนุกสนาน
การทำข้าวปุ้น มีอุปกรณ์ดังนี้คือ เผีย ซึ่งทำด้วยโลหะ กระชอน ถาดหรือบม ครกมอง ถุงผ้า ตระกร้า ข้าวสารเจ้า ใบตอง ปี๊บ มีขั้นตอนการทำคือ จะนำข้าวสารเจ้าแช่น้ำหมักในตระกร้าโดยใช้ใบตองปูรองปิดไว้ประมาณ 2-3 วัน จะนำข้าวที่หมักไว้นั้นยุ่ยเปื่อย จากนั้นนำมาตำโดยใช้ครกมอง แล้วนำแป้งมาผสมกับน้ำโดยใช้มือขยี้ จากนั้นนำถุงผ้าใส่แป้งเก็บทิ้งไว้ในตระกร้าประมาณ 2-3 วัน ซึ่งเรียกว่า การนอนแป้ง เพื่อให้แป้งจับตัวกัน
นำแป้งมาทำเป็นก้อนขนาดพอเหมาะ แล้วไปต้มในปิ๊บประมาณ 15 นาที นำไปบดหรือตำด้วยครกมองอีกครั้งหนึ่ง จนกว่าแป้งจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน นำมานวดบนถาดไม้หรือบ่มให้มีความเหนียวพอประมาณ โดยใช้น้ำร้อนและน้ำเย็นผสมลงทีละนิด นวดไปเรื่อยๆ จนได้ที่ แล้วนำไปบีบเป็นเส้นแป้งลงไปในน้ำเดือด พอแป้งสุกก็จะฟูลอยขึ้น ใช้กระชอนตักนำไปใส่ลงในน้ำเย็น แล้วซาวขึ้นมาเพื่อนำข้าวปุ้นที่ได้มาม้วนเป็นไจหรือหัวอีกครั้งหนึ่ง นำไปใส่ในตระกร้าหรือกระจาดที่มีใบตองรองไว้
ทางวิทยาลัยครูมหาสารคาม เห็นว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีของชาวอีสานไว้ให้ชนรุ่นหลังได้รู้จักขั้นตอนในการทำข้าวปุ้นแบบดั้งเดิม อาจารย์ทิวา นวราช จึงได้จัดทำชุดเซิ้งข้าวปุ้นขึ้น
เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วน แต่งกายด้วยผ้าถุงมัดหมี่ สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบเฉียง
เครื่องดนตรี ที่ใช้ประกอบการฟ้อนจะใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานลายลำเพลิน
- Details
- Written by: Webmaster
- Category: Isan Dance
- Hits: 19688
การฟ้อนพื้นบ้านแบบต่างๆ
ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
เรือมกลอเดียล (ระบำเสื่อ)
อาชีพทอเสื่อ เป็นอาชีพเสริมอย่างหนึ่งของชาวอีสาน ซึ่งรวมทั้งอีสานเหนือและอีสานใต้ ทางอีสานเหนือที่มีการทอเสื่อกันแพร่หลายก็ได้แก่ที่ บ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย และบ้านท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ส่วนทางอีสานใต้ที่หมู่บ้านโคกเมือง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นหมู่บ้านที่ได้รับยกย่องว่าทอเสื่อได้สวยที่สุดในเขตอีสานใต้ ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูบุรีรัมย์เห็นว่าเป็นรูปแบบที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นการดึงเอาอาชีพพื้นบ้านมาจัดแสดงในรูปแบบของการฟ้อนประกอบดนตรีพื้นเมืองของอีสานใต้ คือ วงกันตรึม

เครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงนุ่งซิ่นพื้นเมืองของอีสานใต้ สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลม ห่มสไบทับ ผมเกล้ามวยติดดอกไม้ ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาสามส่วน สวมเสื้อคอกลมใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว และสวมหมวก
อุปกรณ์การแสดง เสื่อผืนเล็กๆ ซึ่งเขียนชื่อย่อของวิทยาลัยครูบุรีรัมย์
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานใต้คือ วงกันตรึม ใช้เพลงชื่อว่า แฮเนี๊ยก (แห่นาค) ซึ่งมีจังหวัดคล้ายๆ ทำนองเซิ้งของอีสานเหนือ
เซิ้งสาวย้อต่ำสาด
ชาวย้อ เป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่อาศัยกระจายทั่วไปในจังหวัดต่างๆ ของภาคอีสาน เช่น ในจังหวัดนครพนม อุดรธานี กาฬสินธุ์ มหาสารคาม มุกดาหาร และสกลนคร ชาวย้อในจังหวัดสกลนคร นอกจากจะมีอาชีพในการทำไร่ทำนาแล้ว ยังมีการทอผ้าและทอเสื่อไว้ใช้ในเวลาว่างจากการทำไร่นา ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูสกลนคร จึงประดิษฐ์ชุดฟ้อน "เซิ้งสาวย้อต่ำสาด" ขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงวิธีการต่างๆ ในการต่ำสาด หรือการทอเสื่อ

เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงเป็นหญิงล้วนตั้งแต่ 6 คนขึ้นไป โดยแต่งกายแบบชาวย้อคือ นุ่งซิ่น มัดหมี่ทบชายข้างหนึ่ง ใช้ผ้าขาวม้าห่มแบบผ้าแถบ ผมเกล้ามวย
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ใช้เพลงชื่อว่า เพลงตังหวาย และเพลงเต้ยหัวโนนตาล
ลำดับขั้นตอนการแสดง เริ่มตั้งแต่สาวชาวย้อชวนกันออกไปหาต้นกกหรือต้นผือ เมื่อได้แล้วจะแบกกกกลับบ้าน นำมาซอยกก แล้วนำกกไปตาก เมื่อกกแห้งได้ที่ก็นำไปย้อมสี แล้วจึงนำไปทอหรือต่ำสาด เมื่อได้เป็นผืนแล้วก็จะนำไปตัดริมให้เรียบ
รำปั้นหม้อ
ชาวบ้านหม้อ ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่นครราชสีมา โดยอาศัยอยู่แถบบริเวณอำเภอพิมาย อำเภอบัวใหญ่ อำเภอโนนสูง อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ประกอบอาชีพค้าขายสินค้าประเภทผ้าแพร ถ้วยชาม และเครื่องปั้นดินเผา ได้เดินทางมาขายที่จังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม พบว่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดมหาสารคามมีหนองน้ำและดินดิบมากมาย จึงมาตั้งรกรากที่นี่ ได้ทำการปั้นหม้อและเครื่องมือเครื่องใช้ดินเผาอื่นๆ เช่น ครก ถ้วย ฯลฯ ปรากฏว่ามีผู้นิยมกันมากจนทำให้มีชื่อเสียง จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านหม้อ"
อุปกรณ์ในการปั้นหม้อมีดังนี้ ดินเชื้อ ดินดิบ แกลบ น้ำ ไม้กลิ้ง ไม้ตีราบ ไม้สักลาย หินดุ ครกหรือแท่นไม้ หนังควาย ถุงพลาสติก เขิงหรือตะแกรง ค้อนทุบดิน อ่างใส่น้ำเวลาปั้นและครกมอง
ขั้นตอนการปั้นหม้อ
- จัดทำดินเชื้อ โดยใช้ดินเหนียวมาทำให้เป็นเนื้อเดียวกัน ผสมกับแกลบในอัตราส่วนเท่ากัน เคล้าให้เข้ากันปั้นเป็นก้อนขนาดพอเหมาะ นำไปตากให้แห้งแล้วจึงนำไปเผาไฟ หลังจากทิ้งไว้ 2 วันก็นำดินเชื้อมาตำให้ละเอียดโดยใช้ครกมอง
- นำดินดิบมาทุบด้วยค้อนให้เป็นก้อนเล็กๆ ตากแดดให้แห้งพอหมาดๆ นำไปแช่น้ำพอดินอมน้ำก็นำไปทุบให้แตกแล้วย่ำดินดิบผสมกับดินเชื้อ ย่ำบนหนังควาย กระสอบหรือเสื่อรำแพน
- เมื่อนวดดินจนเข้ากันดีแล้วก็นำมาปั้นเป็นเบ้าคือ การหล่อเป็นแท่งใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับขนาดของหม้อ
- ทิ้งไว้พอหมาดๆ แล้วนำมาสวีปากและส่วนคอของหม้อโดยการนำใบสับปะรดซึ่งต้มและขูดเปลือกเขียวๆ ออก ซึ่งจะมีลักษณะเกลี้ยงจะได้ลื่นสะดวกในการสวีปากหม้อ โดยนำใบสับปะรดทาบลงบนปากหม้อ จับสองมือเดินหมุนไปรอบหม้อ
- สวีเสร็จก็นำไปตากแดดพอหมาดๆ จึงนำเบ้ามาตีด้วยไม้ตีราบ และใช้หินดุดันไว้ด้านใน ตีเป็นรูปร่างหม้อจนสมบูรณ์
- นำไปสักลายโดยใช้ไม้สักลายบริเวณคอหม้อ นำไปตากแดดให้แห้งรอการเผา
- การเผาของชาวบ้านหม้อ นิยมเผาง่ายๆ ในที่โล่งทั่วๆ ไป มีแดดส่องถึงโดยนำหลักกองเตามาวางเรียงกันจัดระยะห่าง เพื่อวางเป็นฐานสำหรับวางฟืนและฟาง นำหม้อที่จะเผาไปวางบนกองฟืน โดยคว่ำปากหม้อลงจุดไฟทางด้านล่างใช้เวลาเผาประมาณ 30 นาที
รำปั้นหม้อ จึงได้แนวคิดจากวิธีการปั้นหม้อ ซึ่งมีเอกลักษณ์และยังคงวิธีการอันดั้งเดิม ซึ่งแตกต่างจากการปั้นหม้อสมัยใหม่ และในปัจจุบันยังคงทำสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ ทางวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ โดยอาจารย์สนอง จิตโคกกรวด และอาจารย์พัชราภรณ์ จันทร์เหลือง จึงได้ประดิษฐ์ชุดรำปั้นหม้อขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนของอาชีพที่ควรอนุรักษ์ไว้ของชาวมหาสารคาม
เครื่องแต่งกาย ฝ่ายชายจะใส่เสื้อม่อฮ่อมกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว ฝ่ายหญิงจะนุ่งโจงกระเบนสีพื้น ใช้ผ้าขาวม้ารัดอกและโพกศีรษะ ซึ่งเป้นลักษณะการแต่งกายของชาวโคราชเดิม
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน โดยใช้ลายลำเพลิน
ลำดับขั้นตอนของการแสดง ขบวนการฟ้อนเริ่มจากการที่ชายหนุ่มไปขนดินมาให้ฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงจะเริ่มกระบวนการปั้นจนให้เป็นรูปหม้อ และฝ่ายชายจะนำฟืนมาเพื่อเตรียมเผาหม้อ ในระหว่างที่รอให้เผาหม้อให้เรียบร้อยจะมีการเกี้ยวพาราสีกัน

ฟ้อนปั้นหม้อดินถิ่นสารคาม
ระบำปั้นหม้อ
ระบำปั้นหม้อ นี้ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูสุรินทร์ได้จัดทำขึ้นเป็นชุดฟ้อน โดยนักศึกษาระดับปริญญาตรี อคป. รุ่น 7 ได้เขียนขึ้นเป็นวิทยานิพนธ์ เดิมเป็นลีลาท่วงทำนองสำเนียงลาว ทางภาควิชานาฏศิลป์จึงได้นำมาปรับปรุงให้เป็นสำเนียงเขมรสุรินทร์ ให้เหมาะสมกับอาชีพของชาวบ้านใหม่ ตำบลคอโด อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
ลำดับขั้นตอนการแสดง ท่าฟ้อนเริ่มตั้งแต่การขุดดิน นำดินมาร่อน นำดินมานวดจนได้ที่แล้วจึงนำมาปั้นขึ้นเป็นรูปหม้อเสร็จแล้วเขียนลายปากหม้อ นำหม้อไปเผาจนดินสุก เมื่อดินแกร่งจึงนำไปจำหน่ายและใช้สอยต่อไป