- Details
- Written by: Webmaster
- Category: Isan Dance
- Hits: 24839
การฟ้อนพื้นบ้านแบบต่างๆ
ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
ศิลปะทุกแขนงล้วนมีรากฐานมาจากธรรมชาติ การฟ้อน ซึ่งเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ก็อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเช่นเดียวกับศิลปะแขนงอื่นๆ โดยเฉพาะศิลปะการแสดงของภาคอีสาน ทั้งในด้านดนตรีและนาฏศิลป์ โดยทั่วไปสัตว์แต่ละชนิด จะมีอาการที่น่าสนใจแตกต่างกัน บางชนิดจะมีลักษณะท่วงท่าสง่างาม บางชนิดมีลักษณะแช่มช้อย บางชนิดคึกคักเข้มแข็ง ดังนั้นจึงเกิดมี ระบำ รำ เต้น ของไทยหลายชุด ที่ได้นำกิริยาอาการของสัตว์เหล่านั้น มาเป็นชุดการแสดงขึ้น เช่น ระบำไก่ ระบำนกเขา ระบำครุฑ ระบำเงือก ระบำบันเทิงกาสร ระบำกุญชรเกษม ระบำมยุราภิรมย์ เป็นต้น เฉพาะการฟ้อนเลียนกริยาอาการของสัตว์ในภาคอีสานนั้น มีการแสดงอยู่เพียง 2 ชุด ได้แก่
กะโน้บติงต๊อง
กะโน้บติงต๊อง เป็นการแสดงของชาวจังหวัดสุรินทร์ คำว่า กะโน้บติงต๊อง เป็นภาษาถิ่นของชาวอีสานใต้ แปลว่า ตั๊กแตนตำข้าว กะโน้บติงต๊องเป็นการละเล่นที่ให้ความสนุกสนาน ด้วยลีลาที่เลียนแบบมาจากการกระโดด หรือการโยกตัวของตั๊กแตน ท่าเต้นแต่ละท่าจะใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา เอว ท่าเต้นจะแสดงลีลาการเกี้ยวพาราสีระหว่างตั๊กแตนตัวเมียและตัวผู้ ลักษณะการละเล่นจะเป็นการเล่นเป็นหมู่ เป็นกลุ่มยิ่งผู้แสดงมากยิ่งเพิ่มความสนุกมากขึ้น
การเต้นกะโน้ปติงต็อง เป็นการละเล่น เต้นเลียนแบบลีลาท่าทางการเคลื่อนไหวของตั๊กแตนตำข้าว จากการคิดริเริ่มโดย นายเต็น ตระการดี ชาวบ้านโพธิ์กอง ตำบลไพล (ปัจจุบัน คือ ตำบลเชื้อเพลิง) อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เมื่อครั้งเดินทางเข้าไปในประเทศกัมพูชา โดยขบวนเกวียนสินค้า (เกลือ) ไปค้าขาย นำไปแลกเปลี่ยนปราเฮ๊าะ (ปลาร้า) จากประเทศกัมพูชา (เขมร) ในขณะที่หยุดพักเหนื่อยนายเต็น ได้มองเห็นตั๊กแตนตำข้าวกำลังเกี้ยวพาราสีกัน และผสมพันธุ์กันอยู่ นายเต็นเฝ้าดูลีลาของตั๊กแตนคู่นั้นด้วยความประทับใจ เมื่อนายเต็นเดินทางมาถึงบ้าน จึงเกิดความคิดว่า ถ้านำเอาลีลาการเต้นของตั๊กแตนตำข้าวมาดัดแปลงและเต้นให้คนดูก็คงจะดี จึงนำแนวคิดนี้มาเล่าให้ นายเหือน ตรงศูนย์ดี หัวหน้าคณะกันตรึม ที่เล่นอยู่ในหมู่บ้านรำเบอะ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ทั้งสองจึงได้ร่วมกันแสดงต่อเนื่องกันมา การเล่นกะโน้ปติงต็องจะเต้นเป็นคู่ๆ เดิมมีผู้แสดงเพียง 2 คน เล่นสอดแทรกในวงมโหรีพื้นบ้าน
ต่อมาราวปี พ.ศ. 2473 นายยันต์ ยี่สุ่นศรี ครูใหญ่โรงเรียนบ้านโพธิ์ทอง ตำบลไพล ได้นำท่าเต้นมาดัดแปลงเพิ่มเติม ให้มีลีลาสวยงามยิ่งขึ้น และครูสมพงษ์ สาคเรศ ได้แต่งเนื้อเพลงประกอบการเต้น และก็ได้มีการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายให้มีความสวยงามเหมาะสมยิ่งขึ้น [ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : อัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน : กะโน้ปติงต็อง ]
เครื่องแต่งกาย การแต่งกายจะใช้สีเขียวเช่นเดียวกับสีของตั๊กแตน มีลักษณะคล้ายชุดหมี ติดปีกสีเขียวขนาดใหญ่ ส่วนศีรษะจะทำด้วยกระดาษทาสี และตกแต่งให้คล้ายกับหัวของตั๊กแตนจริงๆ ตั๊กแตนตัวเมียมีกระโปรงทำให้แยกได้ว่าตัวไหนตัวผู้หรือตัวเมีย
เครื่องดนตรี ดนตรีที่ใช้ในการเล่นกะโน้บติงต๊อง ได้แก่ วงมโหรี ซึ่งมีเครื่องดนตรีประกอบด้วย ซอ กลองกันตรึม ปี่สไล และเครื่องกำกับจังหวะได้แก่ กรับและฉิ่ง แต่เดิมนิยมเล่นในเทศกาลประจำปีหรืองานรื่นเริงต่างๆ ทั่วไป หรือจะเล่นเวลาใดก็ได้มิได้มีการจำกัด ปัจจุบันการเต้นกะโน้บติงต๊องนับเป็นการแสดงที่มีชื่อเสียงของชาวอีสานใต้
บทร้องที่ใช้ประกอบการเต้นกะโน้บติงต๊องนั้นไม่ได้จำกัดลงไปว่า จะต้องมีเนื้อร้องอย่างไร จะขึ้นอยู่กับผู้ร้องว่าจะร้องเรื่องใด ทั้งนี้เพราะใช้ด้นกลอนสด บางครั้งก็ร้องให้เนื้อหาเข้ากับงานที่แสดง ส่วนใหญ่เนื้อร้องจะเป็นเชิงเกี้ยวพาราสี ตัดพ้อต่อว่ากันระหว่างชายและหญิง ตัวอย่างบทเพลงกะโน้บติงต๊องที่ร้องมาแต่เดิมและยังนิยมกันอยู่ในปัจจุบัน (บทร้องเป็นภาษาเขมร) มีดังนี้
ตั๊กแตนตำข้าว เรือมกะโน๊บติงตอง
เนื้อเพลงประกอบการแสดงกะโน้บติงต๊อง |
โอกะโน้บติงต๊อง ซองซารบอง เอยชี เซลอะราไซ (ซ้ำ) กะมม มมมูย มมมูย กำเล้าะแบ็ย โอสะระกาแถวเอย ทมโตวบานระนา โอกะโน้บติงตีอง ซองซารบองเอยชี เซลอะอังกัญ (ซ้ำ) กะมม มมมูย มมมูย แดลมองขวัญ โอสระกาแกวเอย ทมโตวบาบานกี่ |
เบอมานโมกมอง ซองซารบองเอย ตระกองออมสะตูย(ซ้ำ) ทะออมันออย มันออยเซร็ย เนียงปรูย โอสระกาแกวเอย ประบากยากกรอ โอสราเน้าะแมอสกร็อม ซองซารบองเอย จากล็อมนึงเซาะ (ซ้ำ) ทะออเปรียงบอง เปรียงมองเวียอาเกร้าะ โอสระกาแกวเอย กำเล้าะแบ็ยดอง |
โอกาเล้าะเซงาะก็ ซองซารบองเอย กำเล้าะมาเนียะมานอง (ซ้ำ) ทะออกำเล้าะ กำเล้าะโคจดลูนบอง (ซ้ำ) โอสระกาแกวเอย เบ็ยดอกแตแอง ทะออสราเน้าะคลูนล็อน ซองซารมองเอย ซลาเน้าะคลูล็อน (ซ้ำ) ทะออดลูนมอง คลูนม็องอ็อดปราบ็วน (ซ้ำ) โอสระกาแก้วเอย ตนำบายโฮบแอง |
ไดบองเตียงนำ ซองซารบอง เอย ตึกเพะนกโฮรละแฮง (ซ้ำ) ทะออตนำบาย ตะนำบายโฮบแอง โอสระกาแก้วเอย กำแปลงนึงเคนย |
ฟ้อนแมงตับเต่า
หมอลำแมงตับเต่า เป็นหมอลำหมู่ที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งการแสดงของหมอลำแมงตับเต่าจะมีการลำแบบตลกคะนอง การลำแมงตับเต่าจะใช้ผู้แสดงเป็นชายล้วน สาเหตุที่เรียกหมอลำที่ขับลำทำนองนี้ว่า หมอลำแมงตับเต่า นั้นคงเรียกตามคำร้องของบทกลอนที่มักจะขึ้นต้นว่า แมงตับเต่า เช่น
เต่า เล่า เตา เล่า เต่า เล่า เตา แมงตับเต่าแมงเม่าขี้หมา จับอยู่ฝาแมงมุมแมงสาบ จับซาบลาบแมงหวี่แมงวัน อัศจรรย์แมงวันแมงหวี่ ตอมตาตี่เด็กน้อยนอนเว็น.... "
ดังนั้นจึงนิยมเรียกว่า หมอลำแมงตับเต่า และทำนองลำ หรือดนตรีประกอบการลำนั้นก็เรียกว่า "ทำนองแมงตับเต่า" ซึ่งในการลำแมงตับเต่านั้น หมอลำแมงตับเต่าจะใช้ไม้กับแก๊บประกอบการลำและการฟ้อน
![]() |
![]() |
![]() |
ภาพประกอบจาก http://www.isan.clubs.chula.ac.th
เครื่องแต่งกาย ผู้ชายนิยมนุ่งผ้าโสร่งพื้นบ้านอีสาน สวมเสื้อม่อฮ่อม มีผ้าขาวม้าคาดเอวและโพกศีรษะ การฟ้อนแมงตับเต่าดั้งเดิมนั้นจะฟ้อนโดยเน้นที่ลีลาของการขยับกับแก๊บ ส่วนการฟ้อนแมงตับเต่าในปัจจุบันเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นหลายสถาบัน
การฟ้อนแมงตับเต่า ของ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด การแต่งกายจะให้คล้ายกับแมงตับเต่า สวมปีกและหัว ท่าฟ้อนจะเป็นการเกี้ยวพาราสีของแมงตับเต่าตัวผู้และตัวเมีย
การฟ้อนแมงตับเต่า
การฟ้อนแมงตับเต่า ของ วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ จะแต่งตัวคล้ายกับหมอลำแมงตับเต่า คือ นุ่งโสร่ง สวมเสื้อม่อฮ่อม ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อแขนกระบอก คอกลม นุ่งซิ่นพื้นเมือง ห่มสไบพับทบกลางทิ้งชาย 2 ชายด้านหลัง
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน (พิณ โปงลาง แคน ฯลฯ) ลายแมงตับเต่า
เนื้อเพลงแมงตับเต่า | ||||||||||||||||||||||||
|
เนื้อหาของกลอนลำนี้อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เป็นการลำด้นสดแสดงปฏิภาณของผู้ลำ โดยมีทำนองเดียวกัน แต่ใส่เนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงกิริยาอาการของสัตว์ ที่มีความสนุกสนาน
คลิกไปชม การฟ้อนชุดโบราณคดี
- Details
- Written by: Webmaster
- Category: Isan Dance
- Hits: 22136
การแสดงที่ปรากฏในภาคอีสาน
การละเล่นพื้นบ้าน หรือการมหรสพ นับเป็นมรดกที่แสดงภูมิปัญญาที่สะสมจากอดีต จวบปัจจุบัน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
เอกลักษณ์การฟ้อนภาคอีสาน
ดูอย่างไรว่าเป็นการฟ้อนพื้นบ้านอีสาน
การฟ้อนของภาคอีสานนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ที่ผู้ชมสามารถแยกแยะได้ทันทีว่า "ต่างจากภาคอื่นๆ" แม้จะไม่มีการประกาศให้ทราบล่วงหน้าก่อนการแสดง ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
- ท่วงทำนองของดนตรี จังหวะ ลีลาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีความสนุกสนานเร้าใจแตกต่างจากภาคอื่นๆ ของไทย
- การแต่งกายของผู้แสดง ทั้งนักแสดงหญิงและชายจะมีความเด่นชัด ในฝ่ายหญิงจะนุ่งซิ่นมัดหมี่ สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มผ้าสไบหรือแพรวา ผมเกล้ามวย ฝ่ายชายจะสวมเสื้อม่อฮ่อม นุ่งโสร่งผ้าลายเป็นตาๆ ก็พอจะบอกได้ว่าเป็นการแสดงของอีสาน
- เครื่องดนตรี นับเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของภาคอีสานอบ่างชัดเจน พิณ แคน โปงลาง โหวด ไหซอง กลองตุ้ม ถึงแม้จะยังไม่มีการบรรเลงก็พอจะบอกได้ว่า การแสดงต่อไปนี้จะเป็นการแสงของภาคอีสาน
- ภาษาอีสาน แน่นอนว่าเป็นภาษาเฉพาะถิ่นที่มีสำเนียงที่แตกต่าง เป็นการชี้ชัดว่าเป็นการแสดงของภาคอีสาน
ท่าฟ้อนพื้นบ้านอีสาน
ท่าฟ้อนของภาคอีสานนั้นมีความเป็นอิสระสูง ไม่มีข้อจำกัดตายตัว ทั้งมือและเท้า ส่วนใหญ่ท่าฟ้อนจะได้มาจากท่าทาง หรืออริยาบทตามธรรมชาติ และมีท่าพื้นฐานที่แตกต่างกันไปเฉพาะถิ่น เช่น ฟ้อนผู้ไท ฟ้อนผีฟ้า ฟ้อนไทยดำ เรือมอันเร เป็นต้น
ถึงแม้จะมีความคิดที่จะพยายามกำหนดท่าฟ้อนของภาคอีสาน ให้เป็นแบบฉบับขึ้น มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับนาฏศิลป์ภาคกลางที่มี "ท่าแม่บท" เป็นพื้นฐานในการฟ้อนรำนั้น เป็นแนวคิดหนึ่งที่ต้องการให้การฟ้อนภาคอีสานมีระบบ และหลักเกณฑ์ที่แน่นอนขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นแนวคิดที่ถูกต้องนัก เพราะจะเป็นการตีกรอบให้ตัวเองมากเกินไป ซึ่งตามจริงแล้ว ท่าฟ้อนของอีสานมีความเป็นอิสระ ไม่มีการกำหนดท่าแน่นอนตายตัวว่าเป็นท่าอะไร ขึ้นอยู่กับผู้ประดิษฐ์ท่ารำ จะตั้งชื่อว่าเป็นท่าอะไร ความเป็นอิสระนี่เองที่ทำให้เกิดท่าฟ้อนชุดใหม่ๆ ที่แปลกตา สวยงามยิ่งขึ้น
ท่าฟ้อนที่เป็นแม่แบบส่วนใหญ่นำมาจากกลอนลำ ซึ่งเรียกว่า "กลอนฟ้อน" เป็นกลอนยาว ใช้กลอนเจ็ด แปด หรือกลอนเก้า แล้วแต่ผู้แต่งถนัดแบบใด การฟ้อนเป็นศิลปะอันหนึ่งที่มาพร้อมกับการลำ การฟ้อนจะมีกี่แบบไม่ปรากฏแน่ชัด แต่หมอลำจะแต่ง กลอนฟ้อนแบบต่างๆ ไว้ ในขณะที่ลำหมอลำจะฟ้อนแสดงท่าทางตามกลอนที่แต่ง ดูแล้วเป็นการสนุกสนาน เช่น กลอนฟ้อน ของหมอลำเปลี่ยน วิมลสุข
มีความพยายามในการแบ่งท่ารำภาคอีสานออกมาให้ชัดเจนซึ่งมีหลายสำนัก เช่น จิราภรณ์ วุฒิพันธ์ (นาฏศิลป์อีสาน) ได้แบ่งออกเป็น 32 ท่า ดังนี้
|
|
ส่วนวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ดได้คิดประดิษฐ์ชุดฟ้อนขึ้น โดยกำหนดว่าท่าแม่บทอีสานมีอยู่ 48 แม่ท่า เช่น ท่าพรหมสี่หน้า ท่าทศกัณฑ์เกี้ยวนางมณโฑ ท่าช้างเดินตามแม่ ท่าช้างชูงวง ท่ากาเต้นก้อน ท่ากากางปีก ท่าหลีกแม่เมีย ท่าลมพัดพร้าว ท่าท่าเสือออกเหล่า ท่าเต่าลงหนอง ท่าคนขาแหย่ง ท่าปู่สิงหลาน ท่าผู้เฒ่าฟังธรรม ท่าเกียจับไม้ ท่าบินนางมโนราห์ เป็นต้น [ อ่านเพิ่มเติม : ฟ้อนแม่บทอีสาน ]
ฟ้อนแม่บทอีสาน
ลักษณะท่ามือและท่าเท้าการฟ้อนพื้นบ้านอีสาน
- ท่ามือ ถ้าพิจารณาการเคลื่อนไหวของมือ คงเหมือนกับคำกล่าวที่ว่าท่าฟ้อนของอีสานเหมือน "ม่อนท่าวใย" คงเห็นภาพพจน์ได้ดีจากการฟ้อนของหมอลำที่หมุนมือพันกัน คล้ายกับตั่วม่อนชักใยพันตัว ท่าฟ้อนของภาคอีสานนั้นได้มาจากธรรมชาติคือ มีความเป็นอิสระ ขึ้นอยู่กับลีลาของผู้ฟ้อนที่จะขยับมือเคลื่อนกายไปอย่างไร
- การจีบมือ ของชาวอีสานนั้นนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ไม่จดกัน จะห่างกันเล็กน้อยซึ่งแตกต่างจากการจีบของภาคกลาง ไม่สามารถเอาหลักนาฏศิลป์ของภาคกลางมาจับท่าฟ้อนของชาวอีสานได้ เพราะไม่สามารถบอกได้ว่าจะจีบหงาย จีบคว่ำตอนไหน
- ท่าเท้า ท่าเท้าของการฟ้อนแบบอีสานมีลีลาแตกต่างจากภาคกลางเช่นเดียวกัน ซึ่งพอจำแนกท่าเท้าที่ใช้ในการฟ้อนได้ดังนี้
- ท่าซอยเท้า เช่น การรำเซิ้ง การซอยเท้าให้เข้าจังหวะกลอง โดยเปิดส้นเท้าเล็กน้อย ย่อเข่ายกส้นเท้าขึ้นไปด้านหลังให้มากที่สุด ซอยเท้าอย่างสม่ำเสมอ การรำเซิ้งนั้นมิใช่ยกเท้าให้ส้นเท้าสูง หรือยืนโดยอาศัยปลายเท้าคล้ายการเต้นบัลเล่ย์ซึ่งดูแล้วตลกผิดธรรมชาติ แต่เป็นการเปิดส้นเท้าเพียงเล็กน้อยเพื่อสะดวกในการซอยเท้า ซึ่งท่านี้ก็ไม่ใช่การย่ำเท้าอยู่กับที่โดยเหยียบเต็มฝ่าเท้า
- ท่าเท้าของผู้ไทเรณูนคร การฟ้อนผู้ไทเรณูนครนอกจากจะมีการก้าวเดินตามธรรมดาแล้ว ยังมีอีกท่าหนึ่งซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของเรณูนครเท่านั้น คือมือบนจีบข้างหูโดยปลายนิ้วที่จีบจะหันเข้าข้างหู แล้วส่งจีบผ่านใต้รักแร้ไปด้านหลัง แทงปลายมือไปด้านหน้าในลักษณะคว่ำมือม้วนมือมาจีบไว้ข้างหูดังเดิม สลับกันไปทั้งมือซ้ายและมือขวา คือ ถ้ามือซ้ายจีบไว้ข้างหู มือขวาก็จะส่งไปข้างหลัง
ส่วนท่าเท้าก็จะใช้ 4 จังหวะ คือ ขย่มตัว 2 จังหวะ ถ้ามือไหนส่งหลังกำลังจะแทงไปข้างหน้า ก็ใช้เท้าด้านนั้นแตะพื้น 4 ครั้ง อีก 2 จังหวะ โดยครั้งที่ 4 จะเหยียบขย่มตัว 2 จังหวะ ใช้เท้าอีกข้างหนึ่งแตะพื้น 4 ครั้ง แล้วเหยียบกันไปมาซึ่งจะสอดคล้องกับท่ามือที่เคลื่อนไหวไปมา - ท่าเท้าของผู้ไทกาฬสินธุ์ ท่าเท้าของการฟ้อนผู้ไทในจังหวัดกาฬสินธุ์และการฟ้อนโปงลาง จะใช้ท่าก้าวเท้าเช่นเดียวกันคือ การก้าวไขว้เท้าโดยเตะเท้าไปข้างหน้าก้าวไขว่ขย่มตัว ชักเท้าหลังเตะไปด้านหน้าไขว่เท้าขย่มตัวสลับกันไป ลักษณะคล้ายกับการเต้นควิกสเต็ป ที่แตกต่างกันก็คือการเตะเท้าไปข้างหน้า นอกนั้นใช้หลักการก้าวเท้าเช่นเดียวกับการเต้นควิกสเต็ป
- ท่าสืบเท้าหรือกระถดเท้าไปด้านข้าง ท่านี้จะใช้ในการฟ้อนผู้ไทในจังหวัดกาฬสินธุ์ เช่นกัน เป็นการก้าวชิดก้าว แต่เป็นการก้าวเท้าไปทางด้านข้าง มีลักษณะเช่นเดียวกับการสไลด์เท้าไปทางด้านข้างนั่นเอง
ชุดฟ้อนของภาคอีสานส่วนใหญ่จะใช้การก้าวเท้าลักษณะเดียวกับการรำเซิ้ง จะมีพิเศษอีกแบบหนึ่งคือ ท่าเท้าของผู้ชายในการฟ้อนผู้ไท จะใช้ลีลาการก้าวเท้าของการรำมวยที่เรียกว่า การรำมวยลาว หรือรำมวยโบราณ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกแบบหนึ่ง
คลิกไปอ่าน การฟ้อนแบบต่างๆ
- Details
- Written by: Webmaster
- Category: Isan Dance
- Hits: 26061
การแสดงที่ปรากฏในภาคอีสาน
การละเล่นพื้นบ้าน หรือการมหรสพ นับเป็นมรดกที่แสดงภูมิปัญญาที่สะสมจากอดีต จวบปัจจุบัน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
การฟ้อนพื้นบ้านอีสาน
การฟ้อนรำของมนุษย์จะเกิดขึ้น เมื่อมนุษย์มีความเจริญทางอารมณ์และจินตนาการ ความสร้างสรรค์พอสมควร ดังนั้นมนุษย์ในทุกๆ หมู่จะมีการเต้นรำหรือฟ้อนรำเป็นของตนเอง และพัฒนารูปแบบขึ้นมาตามลำดับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการฟ้อนรำว่า
การฟ้อนรำย่อมเป็นประเพณีในเหล่ามนุษยชาติทุกภาษาไม่เลือกว่าจะอยู่ ณ ประเทศถิ่นสถานที่ใด
ในพิภพนั้นคงมีวิธีฟ้อนรำตามวิสัยชาติของตนด้วย ทั้งนั้น อย่าว่าแต่มนุษย์เลย ถึงแม้สัตว์เดรัจฉาน
ก็มีวิธีฟ้อนรำ ข้อนี้สังเกตเห็นได้ง่าย เช่น สุนัข และไก่กา เป็นต้น "
ในการที่จะวินิจฉัยว่า มนุษย์หมู่ใดมีความเจริญก้าวหน้าหรือล้าหลังหมู่อื่น โดยใช้แบบหรือศิลปะการแสดงมาเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจ โดยเฉพาะการฟ้อนรำของชนในชาตินั้น การฟ้อนรำจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
- การฟ้อนรำของชาวบ้าน (folk dance) คือ การฟ้อนรำอันเกิดจากความรู้สึกของชนธรรมดาสามัญ โดยไม่ต้องมีการฝึกหัด หรือถ้ามีก็เพียงเล็กน้อย จะเต็มไปด้วยความสนุกสนาน มีชีวิตชีวา
- การฟ้อนรำตามแบบแผน (classical dance) คือ การฟ้อนรำที่ต้องอาศัยการฝึกหัดกันตามแบบฉบับ มีครู-อาจารย์ มีการตั้งกฎเกณฑ์แบบแผนต่างๆ เช่น การรำละครของไทย ซึ่งยกย่องว่าเป็นของสูง การฟ้อนรำตามแบบแผนไม่สามารถแสดงอารมณ์กับคนดูได้ จึงเป็นความงามที่ปราศจากชีวิต คล้ายหุ่นที่ร่ายรำเท่านั้น
การฟ้อนรำตามแบบฉบับของชาวอีสานนั้น ผู้ฟ้อนมิได้เป็นช่างฟ้อนหรือช่างขับลำ แต่เป็นชาวบ้านในชุมชนหมู่บ้าน การฟ้อนรำอาจจัดให้มีขึ้น เพื่อการเฉลิมฉลองในวาระโอกาสต่างๆ เช่น หลังฤดูการเก็บเกี่ยว หรือฟ้อนรำเพื่อการทรงเจ้าเข้าผี เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย เครื่องแต่งกายก็เป็นไปตามท้องถิ่น ข้อสำคัญต้องมีดนตรี มีจังหวะชัดและทำนองง่ายๆ ประกอบเพื่อให้การฟ้อนรำพร้อมเพรียงกัน
เมื่อเป็นการฟ้อนของชาวบ้าน และเป็นการฟ้อนประจำของท้องถิ่น จึงมีผู้สืบทอดและสนใจในกลุ่มเล็กๆ ในท้องถิ่น และสถาบันทางการศึกษา เช่น โรงเรียน วิทยาลัยครู (สถาบันราชภัฏ, มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในปัจจุบัน) จนกระทั่งมีการจัดตั้งวิทยาลัยนาฏศิลป์ขึ้น 2 แห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด และวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์

จึงมีการจัดรวบรวมฟื้นฟูดนตรีและนาฏศิลป์พื้นเมืองอีสาน ทั้งในวิทยาลัยครู และสถานศึกษาอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีการประดิษฐ์คิดค้นการฟ้อนชุดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย มีการพัฒนารูปแบบ เช่น การแปรแถว การจัดขบวนฟ้อนที่งดงามยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาการฟ้อนทั้งชุดเก่าและใหม่ที่พัฒนาเพิ่มเติมในปัจจุบัน พอจะจัดกลุ่มการฟ้อนชุดต่างๆ ได้ 8 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- Details
- Written by: Webmaster
- Category: Isan Dance
- Hits: 17653
การแสดงที่ปรากฏในภาคอีสาน
การละเล่นพื้นบ้าน หรือการมหรสพ นับเป็นมรดกที่แสดงภูมิปัญญาที่สะสมจากอดีต จวบปัจจุบัน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
![]() |
|
1. หมอลำหมู่ หมอลำกลอน หมอลำซิ่ง
หมอลำเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของอีสาน ซึ่งเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ และยังคงเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน จนมีผู้กล่าวว่า "หมอลำ ไม่มีวันตายจากลมหายใจของคนอีสาน" การลำจะแบ่งออกเป็นหลายแบบหลายสำเนียง และพัฒนาเรื่อยมา รายละเอียดต่างๆ คลิกดูที่นี่ครับ
2. หนังปราโมทัย หรือหนังปะโมทัย หรือหนังบักตื้อ
หนังปราโมทัยหรือหนังตะลุงอีสานนั้น มีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายชื่อ เช่น หนังประโมทัย หนังปราโมทัย หนังปะโมทัย หนังบักตื้อ และหนังบักป่องบักแก้ว คำว่า หนังปราโมทัย น่าจะมาจากคำว่า ปราโมทย์ ซึ่งหมายถึงความบันเทิงใจ ความปลื้มใจ ส่วนคำว่า ประโมทัยและปะโมทัย สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นชื่อของคณะหนังตะลุงก็ได้ ส่วนหนังบักตื้อ และหนังบักป่องบักแก้ว มาจากชื่อตัวตลก (ตัวหนัง) ซึ่งได้รับความนิยมจากชาวบ้าน ซึ่งหนังปราโมทัยเป็นการละเล่นซึ่งผสมผสานกันระหว่างหนังตะลุงกับหมอลำ โดยตัวที่เป็นตัวเอก ตัวพระ ตัวนาง หรือเป็นเจ้าจะพูดภาษากลาง ตัวตลก เหล่าเสนาอำมาตย์ จะเป็นภาษาอีสาน เรื่องที่นำมาแสดงก็จะเอาวรรณกรรมพื้นบ้านมาแสดง เช่น สังข์ศิลป์ชัย จำปาสี่ต้น การะเกษ ผาแดงนางไอ่ ท้าวก่ำกาดำ รวมทั้งวรรณคดีเอกอย่าง รามเกียรติ์
หนังปราโมทัยอีสานนั้น มีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นศูนย์กลางแห่งแรก คณะหนังปราโมทัยคณะเก่าแก่ที่สุดคือ คณะฟ้าบ้านทุ่ง ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2467 คณะหนังประโมทัยที่เก่าแก่รองลงมาได้แก่ คณะบุญมี ซึ่งมาจากจังหวัดอุบลราชธานี และมาตั้งคณะขึ้นในจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ. 2476 คณะประกาศสามัคคี ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2490 นอกจากนี้ยังมีคณะ ช. ถนอมศิลป์ บ้านโคกไพลี ตำบลโพธิ์ทอง กิ่งอำเภอศรีสมเด็จ คณะ ป. บันเทิงศิลป์ บ้านสีแก้ว ตำบลสีแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด คณะหนังปะโมทัยของผู้ใหญ่ถัง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
คณะหนังปราโมทัยคณะหนึ่งมีประมาณ 5-10 คน เป็นคนเชิด 2-3 คน ซึ่งจะทำหน้าที่พากย์และเจรจาด้วย แต่ก็มีบางคณะที่ทำหน้าที่เชิดอย่างเดียว โดยมีคนเจรจาแยกเป็นชายจริงหญิงแท้ต่างหาก มีนักดนตรีประมาณ 3-5 คน
เครื่องดนตรีจะประกอบด้วย ระนาดเอก 1 ราง ตะโพน 1 ใบ ฉิ่ง 1 คู่ ต่อมามีการนำเอา พิณ แคน กลอง ฉิ่งฉาบ เข้ามาเสริมเพื่อให้เกิดความไพเราะเร้าใจขึ้น ทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาคล้ายกับหมอลำนั่นเอง คณะหนังตะลุงที่ผม (ผู้ทำเว็บไซต์) ได้รู้จัก และเคยเฝ้าดูการละเล่นมาตั้งแต่เด็กจนปัจจุบันคือ คณะ ฟ.บันเบิงศิลป์ ถ้ามีโอกาสจะได้สัมภาษณ์มาบอกกล่าวกันต่อไป
3. ลิเกเขมร
ลิเกเขมรปรากฏในแถบอีสานใต้ในจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ได้รับอิทธิพลมาจากเขมร เดิมชาวไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มีการไปมาหาสู่ต่อกัน มีชายไทยคนหนึ่งชื่อ "ตาเปาะ" ได้ไปเที่ยวประเทศกัมพูชาและได้ภรรยาเป็นชาวเขมร ได้อาศัยอยู่ที่นั่นหลายปี จนมีความรู้ความเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณี และการละเล่นต่างๆ ในประเทศกัมพูชาเป็นอย่างดี
ต่อมาได้กลับมาประเทศไทย ได้รวบรวสมัครพรรคพวกที่ชอบร้อง และรำตั้งเป็นคณะลิเกขึ้น ลักษณะการเล่นลิเกเขมรคล้ายลิเกไทย โดยใช้บทร้องและเจรจาเป็นภาษาเขมร ไม่มีการรำอย่างละครแต่รำประกอบพองาม หรืออาจจะมีระบำสลับฉาก หรือสอดแทรกในเรื่อง เช่น รำอาไย หรือกระโนบติงตอง เป็นต้น เรื่องที่นำมาแสดงเอามาจากนิทานพื้นบ้าน เช่น เจ็ดยอดกุมาร กดามซอ (ปูขาว) ก่อนการแสดงจะมีการไหว้ครู แล้วแนะนำตัวละคร จึงเข้าสู่เรื่องราว
เครื่องดนตรีประกอบด้วย ซอตตรัวเอก กลองรำมะนา 2 ลูก กรับ ฉิ่ง และฉาบ ผู้แสดงส่วนใหญ่ใช้ผู้หญิงแสดงเป็นตัวผู้หญิงและชาย ส่วนผู้ชายจะแสดงเป็นตัวตลกเท่านั้น การแต่งกายเป็นแบบพื้นบ้าน แต่มีมงกุฏสวมทั้งตัวพระตัวนาง ในราวปี พ.ศ. 2503 นายเปรม รัตนดี ได้จัดตั้งคณะลิเกขึ้นที่ บ้านดงเค็ง ตำบลเมืองลิง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ชื่อว่า "คณะเปรมปรีดิ์สามัคคีศิลป์" ซึ่งมีอยู่เพียงคณะเดียวและมีผู้ว่าจ้างไปแสดงน้อยเต็มที (ปัจจุบันไม่ปรากฏอีกแล้ว หากท่านผู้ใดมีข้อมูลจะช่วยเสริมก็ขอบพระคุณครับ)
ของดีประเทศไทย : ลิเกเขมรโบราณ