บุญเดือนแปด
ฮีตหนึ่งนั้น พอเถิงเดือนแปดได้ล้ำล่วงมาเถิง ฝูงหมู่สังโฆคุณเข้าวัสสาจำจ้อย ทำตาม ฮอยของเจ้าพระโคดมทำก่อน บ่ทะลอนเลิกม้างทำแท้สู่ภาย แล้วจงพากันผ่ายหาของไปเททอด ทำทานไปอย่าได้คร้านเอาไว้หมู่บุญ สิเป็นของหนุนเจ้าไปเทิงอากาศ สู่สวรรค์บ่ฮ้อนด้วยบุญนี้ส่งไป
เพิ่นจึงตรัสบอกไว้ฮีตเก่าคองหลัง อย่าขาดได้ไปแท้สู่คน โอกาสนี้เพิ่นให้เที่ยวซอกค้นขุดก่นขุมบุญ เอาทุนไปภายหน้า เมื่อตายไปแล้วเป็นแนวนำเฮาขึ้นบันไดทองเทียวท่อง ขึ้นสู่ห้องชั้นฟ้าสวรรค์พุ้น อยู่เย็น ฝูงหมู่วิบากเว้นบ่มีว่าสิมาพาน เนาว์วิมานแสนทุกข์หายบ่มาใกล้ "
บุญเข้าพรรษา เป็นฮีตที่แปด หรือ จารีตประเพณี 8 ตามฮีตสิบสองของอีสาน บุญเข้าพรรษาของภาคอีสาน เป็นประเพณีทางพุทธศาสนาคล้ายคลึงกับทางภาคกลาง คือจะมีการทําบุญตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝน สบง จีวร และ เทียนพรรษา หากแต่ในภาคอีสานจะจัดขบวนแห่เทียนอย่างยิ่งใหญ่ และมักมีการประกวดความสวยงามของเทียนจากแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งตกแต่ง สลักเสลาเทียนเป็นลวดลาย เรื่องราวทางพุทธศาสนาอย่างสวยงาม เมื่อแห่เทียนมาถึงวัดชาวบ้านจะรับศีล รับพรฟังธรรม ตอนค่ำจะเวียนเทียน รอบพระอุโบสถ
มูลเหตุของการเข้าพรรษา
เนื่องจากในสมัยพุทธกาล พระภิกษุเที่ยวจาริกสอนธรรมไปตามหมู่บ้านต่างๆ ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นฤดูฝน ฤดูหนาว หรือฤดูร้อน แต่ในฤดูฝนนั้น ภิกษุได้เหยียบย่ำข้าวกล้าในนาของชาวบ้านเสียหาย สัตว์ตัวน้อยต่างๆ พลอยถูกเหยียบตายไปด้วย พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้ภิกษุต้องจําพรรษา 3 เดือน ในฤดูฝน โดยมิให้ไปค้างแรมที่อื่นใดนอกจากในวัดของตน ถ้าภิกษุฝ่าฝันถือว่า “ศีลขาดและต้องอาบัติทุกกฎ”
วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มอยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 จนถึงกลางเดือน 11 วันเข้าพรรษาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้มีอยู่ 2 วัน คือ
- วันเข้าปุริมพรรษา คือวันเข้าพรรษาแรก ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน 11
- วันเข้าปัจฉิมพรรษา คือวันเข้าพรรษาหลัง ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 9 ไปจนถึงวันเพ็ญเดือน 12
เมื่อเข้าพรรษาแล้ว หากภิกษุมีกิจธุระจำเป็นอันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ โดยมีข้อจำกัดว่า จะต้องกลับมายังสถานที่จำพรรษาเดิมภายใน 7 วัน ที่เรียกว่า สัตตาหกรณียะ ดังต่อไปนี้
- เมื่อทายกทายิกา ปราถนาจะบำเพ็ญกุศล เมื่อมานิมนต์ก็ให้ไปเพื่อรักษาศรัทธาได้
2. ถ้าสงฆ์ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเกิดอธิกรณ์ขึ้น ก็ให้ไปเพื่อระงับอธิกรณ์ได้
3. ถ้าบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ เป็นไข้ เมื่อทราบก็ให้ไปได้
4. พระวิหารในที่แห่งอื่นเกิดชำรุดเสียหาย ให้ไปหาสิ่งของเพื่อมาปฏิสังขรพระวิหารนั้นได้
5. เมื่อถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น พระวิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม ก็ให้ไปจากที่นั้นได้
6. เมื่อชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป ก็ให้ไปกับพวกชาวบ้านได้โดยให้ไปกับชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสศรัทธา สามารถที่จะให้ความอุปถัมภ์ได้
7. เมื่อที่ใดเกิดความขาดแคลน อาหารหรือยารักษาโรค ขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง ได้รับความลำบากก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
8. ถ้าหากมีผู้เอาทรัพย์มาล่อ ก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
9. หากภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แตกกันหรือมีผู้พยายามจะให้แตกกัน ถ้าการไปจากที่นั้นสามารถระงับการแตกกันได้ ก็อนุญาตให้ไปได้
ในวันเข้าพรรษา ถือว่าเป็นกรณียกิจพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จะมีการประชุมกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาซึ่งกันและกัน เสร็จแล้วก็ประกอบพิธีเข้าพรรษา ภิกษุจะอธิษฐานใจตนเองว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า
อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ หรือ อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ
แปลว่า ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในอาวาสนี้ หรือในวิหารนี้ " (ว่า 3 ครั้ง)
หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้ว ก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปนมัสการปูชนียวัตถุที่สำคัญในอารามนั้น ในวันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และพระเถระที่ตนเคารพนับถือ
การทำพิธีกรรมของชาวบ้าน
เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนแปดตอนเช้า ญาติโยมก็จะนําดอกไม้ธูปเทียน ข้าวปลา อาหาร มาทําบุญตักบาตรที่วัด ตอนบ่ายจะนําสบงจีวร ผ้าอาบน้ำฝน เทียนพรรษา และดอกไม้ธูปเทียนมาถวายพระภิกษุที่วัด แล้วร่วมกันรับศีลฟังธรรมพระเทศนา พอถึงเวลาประมาณ 19.00 - 20.00 น. ชาวบ้านจะนําดอกไม้ธูปเทียนมารวมกันที่ศาลาโรงธรรม เพื่อรับศีลและเวียนเทียนจนครบสามรอบ แล้วจึงเข้าไปในศาลาโรงธรรมเพื่อฟังพระธรรมเทศนาจนจบ จากนั้นจะแยกกันกลับบ้านเรือนของตน ส่วนผู้ที่มีศรัทธาแก่กล้าก็จะพากันรักษาศีลแปดจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันแรมหนึ่งค่ำเดือนแปด อันเป็นวันเข้าพรรษา ซึ่งพระภิกษุจะต้องจําพรรษาในวัดของตนเป็นเวลาสามเดือน
ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน
การถวายผ้าอาบน้ำฝนนี้ เกิดขึ้นแต่สมัยพุทธกาล คือ มหาอุบาสิกา ชื่อว่า วิสาขา ได้ทูลของพระบรมพุทธานุญาตให้พระสงฆ์ ได้มีผ้าอาบน้ำสำหรับผลัดเปลี่ยนเวลาสรงน้ำฝนระหว่างฤดูฝน นางวิสาขาจึงเป็นสตรีคนแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์
ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยราชธานี จึงนิยมนำผ้าอาบน้ำฝนไปถวายแด่พระสงฆ์ผู้จะอยู่พรรษา พร้อมกับอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นต่างๆ
แม้ในปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนไทยก็คงยังปฏิบัติกิจกรรมอย่างนี้อยู่ บางวัดมีการแจกฎีกานัดเวลา ประกอบพิธีถวายผ้าอาบน้ำฝน หรือ ผ้าจำนำพรรษา และเครื่องใช้อื่นๆ ณ ศาลาบำเพ็ญกุศลของวัดใกล้บ้าน
คำถวายผ้าอาบน้ำฝน
อิมานิ มะยังภันเต วัสสิกะสาฏิกะจีวะรานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโนภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ
วัสสิกะสาฏิกะจีวะรานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหาหัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ "คำแปล
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าอาบน้ำฝนกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าอาบน้ำฝน พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
สิ้นกาลนานเทอญ
เทียนพรรษา ในอดีตยังไม่มีไฟฟ้าใช้ไปทั่วทุกหนทุกแห่งอย่างเช่นปัจจุบัน พระสงฆ์และประชาชนทั่วไปก็ยังใช้วิธีการจุดขี้ไต้ ตะเกียง และเทียนให้แสงสว่าง เมื่อถึงคราวเข้าพรรษาประชาชนจึงร่วมใจกันหล่อต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่ เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ใช้ในการทำสังฆกรรมตลอดช่วงระยะเวลาเข้าพรรษา แต่ในปัจจุบันเทียนพรรษาใช้ประโยชน์เพียงจุดบูชาพระพุทธปฏิมา ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาพระธรรมเหมือนในอดีตอีกแล้ว จึงทำให้ในปัจจุบันเริ่มมีชาวพุทธนำ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ให้แสงสว่าง ไปถวายแก่พระสงฆ์แทนเทียนพรรษา ซึ่งจะให้ประโยชน์มากกว่าใช้จุดบูชาเท่านั้น มีประเพณีหนึ่งที่เนื่องด้วยวันเข้าพรรษา และจัดเป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา ก็คือ ประเพณีหล่อและแห่เทียนพรรษา แล้วนำไปถวายแด่พระสงฆ์ที่วัด
คำถวายเทียน
อิมานิ มะยัง ภันเต ปะทีปัง สะปะริวารัง ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกษุสังโฆ อิมานิ ปะทีปัง
สะปะริวารัง ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ "คำแปล
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายเทียนกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์
ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับเทียนและบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
สิ้นกาลนานเทอญ
แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดี ที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิ วิหารและอื่นๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้น อบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลาน ของตนโดยถือกันว่า การเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง
ลำกลอนเดือนแปด บุญเข้าพรรษา ชุด ฮีดสิบสอง โดย ทองแปน พันบุปผา
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : ประเพณีแห่เทียนพรรษา