หันใจถิ่มบ่พอคราวกะผ่านมาห้าเดือนสิเข้าเดือนที่หกของปีล่ะเด้อ ปีใหม่ตังใจตั้งจิตอธิษฐานหยังไว้ลงมือสร้างลงมือเฮ็ดล่ะไป๊พี่น้อง ผู้อื่นคือสิบ่ยากปานใด๋น้อเพราะเฮ็ดได้เองผู้เดียว แต่ผู้ข้านี้ตี้ตั้งจิตอธิษฐานไว้มาปีนี้กะปีที่สิบละมั๊ง ว่าสิมีคู่ครองนำเขาจักเทื่อไปเป็นแขกรับเชิญงานเพิ่นมากะหลายแล้ว อยากพิมพ์ซองสีชมพูแจกนำเขา แต่ทางฝ่ายญิงเพิ่นละบ่เออ-ออนำจักคน บ่อยากมีซื่อในการ์ดอาวทิดหมูดอก (อายหมู่ว่าซั้น) โอยน้อ! ย้านสิฟาวล์อีกอยู่แหล่วปีนี้ ปวดหัวใจตุ๊บๆ กะยังหว่า! (ฮู้อยู่เด้อว่า มีคนแถวนี้นินทาให้ไทบ้านฮู้ไปเบิดแล้ว) มาเว้าถึงบุญประเพณีอีสานบ้านเฮาในเดือนมิถุนายนกันก่อนว่ามีหยังแหน่เดือนนี้
- เทศกาลทุ่งดอกกระเจียวบาน อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จังหวัดชัยภูมิ ระหว่างช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2568
- เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ประจำปี 2568 จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 19-23 มิถุนายน 2568
- งานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน ปี 2568 อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2568
ชม "ทุ่งดอกกระเจียวบาน" @ชัยภูมิ
ด้วยภาพความงานของ "ดอกกระเจียวป่า" บานสะพรั่งด้วยสีชมพู สีขาวตัดกับสีเขียวของป่านี่เองที่ทำให้ใครๆ ใฝ่ฝันว่าจะมาเยือนความงามแบบนี้สักครั้งในชีวิต ฉากความงามที่ปรุงแต่งโดยธรรมชาติทำให้ชัยภูมิสามารถนำมาสร้างเป็นจุดขาย และเป็นกิจกรรมประจำปี กับงาน "เทศกาลท่องเที่ยว ดอกกระเจียวงาม" ทุกช่วงฤดูฝนของปี เก็บความงามของทุ่งดอกกระเจียว หรือ บัวสวรรค์ เต็มหุบเขา ท่ามกลางทะเลหมอก และเพื่อให้ผู้เข้าชมงานได้รับความสนุกสนานเพิ่มมากขึ้น ในงานจึงมีกิจกรรมต่างๆ มาให้ผู้เข้าชมได้ร่วมสนุก อาทิ ขบวนแห่ การแสดงดนตรี การแข่งขันเดินเพื่อการกุศล และหาซื้อของฝากจากร้านรวงที่จะนำสินค้า OTOP มาจัดจำหน่าย
นับเป็นกิจกรรมที่จัดต้อนรับฤดูฝน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับชุมชนในท้องถิ่นสามารถสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจทั่วไปที่เดินทางมาเยือนดินแดนชัยภูมิ กิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ อาทิ ขบวนแห่กระเจียวคืนทุ่ง การแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียง ชมสวนหินงาม ป่าหินล้านปีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติปั้นแต่งตามแต่จะสุดจินตนาการ การแสดง และจำหน่ายสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชัยภูมิ อีกทั้งทุ่งดอกกระเจียวสีขาว สีเขียวและสีชมพูอมม่วง น้ำตกไทรทอง และจุดชมวิว ผาหำหด ของอุทยานแห่งชาติไทรทอง ก็เป็นอีกสถานที่ที่รอการมาเยือนของนักท่องเที่ยวให้เดินทางท่องเที่ยว ด้วยหัวใจใหม่ อันจะส่งผลให้การท่องเที่ยวของจังหวัดชัยภูมิยั่งยืนได้
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการเที่ยวชมทุ่งดอกกระเจียว
- ควรไปเที่ยวชมในช่วงเช้าๆ เพราะอากาศไม่ร้อนจนเกินไป ถ้าไปช่วงเช้าหลังฝนตกจะได้เห็นสายหมอกบางๆ คลอเคลียดอกกระเจียวด้วย ดังในคลิปด้านบนจะสวย เดินชมไม่เหนื่อยง่าย
- อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม เข้าเที่ยวชมได้ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. ส่วนอุทยานแห่งชาติไทรทอง เข้าเที่ยวชมได้ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
- การเข้าเที่ยวชมทั้ง 2 สถานที่มีค่าธรรมเนียม คนไทยผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
- อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จะต้องนั่งรถรางเข้าไปยังทุ่งดอกกระเจียว (ค่ารถรางผู้ใหญ่คนละ 30 บาท เด็ก 20 บาท) ส่วนอุทยานแห่งชาติไทรทอง ต้องนั่งรถกระบะของชาวบ้านเข้าไปยังบริเวณทุ่งดอกกระเจียว ไป-กลับคนละ 60 บาท
- ด้วยความที่ทั้ง 2 แห่งมีสภาพโดยทั่วไปเป็นป่าไม้ร้อนชื้นที่สมบูรณ์ บนเส้นทางชมดอกกระเจียวบางจุดอาจจะเป็นป่ารก มีต้นหญ้าขึ้นสูง จึงควรแต่งกายให้เหมาะสมกับการเดินป่า เตรียมรองเท้าที่ใส่สบายเข้าไปในพื้นที่ พร้อมด้วยเครื่องป้องกันแดดและฝน
- ห้ามเด็ด/ถอน/โน้มกิ่ง/สัมผัสดอกกระเจียว รวมทั้งห้ามเดินเหยียบย่ำเข้าไปยังพื้นที่ทุ่งดอกกระเจียว ให้เดินชมบนเส้นทางที่เจ้าหน้าที่จัดไว้เท่านั้น
- ห้ามทิ้งขยะในเขตพื้นที่ทุ่งดอกกระะเจียว ให้ทิ้งในจุดที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้เท่านั้น
- ปฏิบัติตามกฎระเบียบของอุทยานแห่งชาติอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเอง
วันที่จัดงาน : มิถุนายน - สิงหาคม 2568 (เปิดให้ท่องเที่ยววันใด ติดตามได้ในเพจอุทยานฯ)
สถานที่จัดงาน : อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ
[ อ่านเพิ่มเติม : ท่องเที่ยวอีสานในหน้าฝน ]
เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ
ในฐานะที่ จังหวัดศรีสะเกษ เป็น "แหล่งผลิตผลไม้เพื่อการส่งออก" ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ อันเกิดจากความได้เปรียบทางด้านภูมิประเทศ ที่มีสภาพเป็น "ภูเขาไฟ" ที่ดับสนิทแล้ว ในดินมีระดับความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุต่างๆ เหมาะแก่การทำเกษตร ปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้มหาศาลจากผลผลิตโดยเฉพาะผลไม้ประเภท เงาะ ทุเรียน มังคุด สะตอ รวมทั้ง ยางพารา เป็นจุดศูนย์กลางในการรวบรวมผลผลิตการเกษตร จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย
จังหวัดศรีสะเกษ เป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 15,111 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 5,594 ไร่ โดยเฉพาะใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกันทรลักษ์ ขุนหาญ และศรีรัตนะ เป็นบริเวณพื้นที่ดินภูเขาไฟที่มีลักษณะเหนียว อนุภาคดินละเอียดสลับกับหินหยาบสีแดง ระบายน้ำดี มีธาตุอาหารชนิดต่างๆ ที่จำเป็นต่อพืชในปริมาณสูง ส่งผลให้ทุเรียนภูเขาไฟมีรสชาติดี เนื้อทุเรียนแห้ง เส้นใยละเอียด กรอบนอก นุ่มใน หอมละมุนลิ้น กลิ่นไม่ฉุน เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ซึ่ง "ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ" เป็นหนึ่งในประเด็นการขับเคลื่อนวาระจังหวัด "เกษตรบูรณาการ" พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด และได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI มีระยะการเจริญเติบโตออกดอกในช่วงมกราคม และติดผลในช่วงเดือนมกราคม ถึง มีนาคม และทุเรียนพร้อมรับประทานประมาณ 120 วัน ระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม
งานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดผลไม้ และสินค้าเกษตรของจังหวัดศรีสะเกษ และเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรักษาคุณภาพและมาตรฐานของผลผลิตทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ในงานบนพื้นที่ 3,300 ตารางเมตร ภายได้โดมปรับอากาศ จำนวน 3 หลัง ซึ่งภายในงานจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การแสดงของศิลปิน และมีร้านจำหน่ายสินค้า จำนวน 200 ร้าน ประกอบด้วย ร้านค้าจำหน้าย ผลไม้ / ผลผลิตทางการเกษตร ร้านค้าขอองวิสาหกิจชุมชน / กลุ่มแม่บ้าน ร้านค้าผู้ประกอบการ OTOP และร้านค้าจากภาคีเครือข่าย
ฤดูกาลผลิต ปี 2568 จังหวัดศรีสะเกษ มีเกษตรกรปลูกทุเรียน 3,088 ราย พื้นที่ปลูกทุเรียน 21,188 ไร่ มีพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 14,260 ไร่ ยังไม่ให้ผลผลิต 6,928 ไร่ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ (GI) มีพื้นที่ปลูก 3 อำเภอ ได้แก่ กันทรลักษ์ ขุนหาญ และศรีรัตนะ พื้นที่ให้ผลผลิต 13,823 ไร่ ผลผลิตคาดการณ์ 19,866 ตัน คิดเป็น ร้อยละ 99 ของปริมาณผลผลิตทุเรียนทั้งหมดของจังหวัดศรีสะเกษ และพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด คือ พันธุ์หมอนทอง และคาดการณ์ช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต ในปีนี้จะอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม แต่เก็บเกี่ยวผลผลิตมากที่สุดคือเดือน มิถุนายน - กรกฎาคม
วันที่จัดงาน : 19-23 มิถุนายน 2568
สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ
งานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน
“ผีตาโขน” สีสันแห่งศรัทธาและวัฒนธรรมของชาวด่านซ้าย หากคุณกำลังมองหาประสบการณ์การท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยสีสันและความสนุกสนาน "ประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน" เป็นเทศกาลที่ไม่ควรพลาด! งานนี้จัดขึ้นที่ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ระหว่างวันที่ 28 - 30 มิถุนายน 2568 เป็นหนึ่งในประเพณีที่มีเอกลักษณ์และโด่งดังที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ไฮไลท์สำคัญของงานประเพณีบุญหลวง ปี 2568
วันที่ 28 มิถุนายน 2568 – วันแรกของพิธีกรรม
- พิธีเบิกพระอุปคุต เริ่มต้นงานด้วยการเชิญพระอุปคุตจากแม่น้ำหมัน
- พิธีบวชพราหมณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเชิญพระอุปคุต
- ขบวนแห่จากวัดโพนชัย ไปแม่น้ำหมัน เพื่อทำพิธีงมพระอุปคุต
- พิธีบายศรีสู่ขวัญ ให้กับเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม
วันที่ 29 มิถุนายน 2568 – ขบวนแห่ผีตาโขนสุดยิ่งใหญ่!
- ขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง หรือที่รู้จักกันดีว่า "ขบวนแห่ผีตาโขน"
- นักแสดงสวมหน้ากากผีตาโขน ออกมาเต้นรำสร้างความสนุกสนาน
- เจ้าพ่อกวนและคณะจุดบั้งไฟ ขอฝนตามประเพณีโบราณ
- พิธีทิ้งหน้ากากผีตาโขนลงแม่น้ำหมัน
วันที่ 30 มิถุนายน 2568 – วันสุดท้ายของงาน
- พิธีแก่กันหลอน และ ทำบุญฟังธรรมะ (ไม่มีการละเล่นผีตาโขน)
- พิธีปิดงาน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 11.00 น.
ขอเชิญชวนทุกท่านไปสัมผัส ขบวนแห่ผีตาโขน ที่เป็นเอกลักษณ์ ชมการละเล่นพื้นบ้านและการแสดงศิลปะวัฒนธรรม พร้อมกับไปลิ้มรส อาหารอีสานแท้ๆ เช่น ไก่ย่าง ส้มตำ และข้าวเหนียว ฯลฯ
“ผีตาโขน” เป็นความเชื่อและความศรัทธาของคนเลย
วันเวลาจัดงาน : 28-30 มิถุนายน 2568
สถานที่จัดงาน : ณ วัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
Free Free! บริการท่านด้วยใจสำหรับชาวอีสาน
หากแฟนานุแฟนของเว็บไซต์อีสานบ้านเฮา หรือหน่วยงานราชการ จังหวัด อำเภอ เทศบาล อปท. ใดๆ มีข่าวสารการจัดงานบุญประเพณีในท้องถิ่นของท่าน อยากจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ก็แจ้งมายังทีมงานได้ครับ ผ่านทางอีเมล์ webmaster @ isangate.com หรือผ่านทาง Inbox ใน Fanpage Facebook : IsanGate ก็ได้เช่นเดียวกันครับ ขอรายละเอียด วันเวลา สถานที่จัดงาน กิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ถ้ามีภาพประกอบด้วยก็จะดีเยี่ยมครับ (ภาพของงานปีก่อนๆ หรือการคประชุมเตรียมงาน) บริการท่านฟรีๆ ครับ ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด