- Details
- Written by: ครูมนตรี โคตรคันทา
- Category: Tradition
- Hits: 71
ประเพณีเรือมตร๊ด หรือ "เรือมตรษ" (อ่านว่า-เรือม-ตะ-หรด) ซึ่งเป็นภาษาเขมรถิ่นไทย หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า การรำตรุษสงกรานต์ ถือว่าเป็นการละเล่นของชาวบ้านในจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ จากการให้ข้อมูลของชาวบ้าน พบว่า ประเพณีนี้ยังไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรมาก่อน ซึ่งประเพณีเรือมตรษ (เรือมตร๊ด) มาจากคำว่า เรือม คือ รำ ร่ายรำ และคำว่า ตรษ หรือ ตร๊ด คือ ตรุษ หรือเทศกาล ประเพณี เป็นวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายเขมร มีการถือปฏิบัติในช่วงตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวัน แรม 14 ค่ำ เดือน 5 ของไทย หรืออาจเรียกว่าเป็นงานบุญ "แคแจ็ต" ตามภาษาไทยเขมร ซึ่งมีการจัดขึ้นในวันขึ้นปีใหม่ไทย
สําหรับความโดดเด่นของประเพณี คือ มีการ "ร้องรํา" ที่ต้องการสื่อสารให้เห็นถึงการมาเยือนของแขก และการแสดงความยินดีต้อนรับของเจ้าบ้านเจ้าเรือน ปัจจุบัน ประเพณีเรือมตรษ (เรือมตร๊ด) มีกําหนดขึ้นมาโดยชุมชนเอง ถือว่าเป็นการละเล่นในหมู่บ้านที่มีการใช้ภาษาไทยเขมร มาช่วยในการสร้างความสนุกสนาน โดยประเพณีจะมีลักษณะของการเดินเป็นกลุ่มไปตามหมู่บ้าน และจะหยุดตามบ้านเป้าหมาย เพื่อขอเข้าไปร่ายรําและแสดง โดยเน้นการร่วมกันทําบุญ โดยการเดินทางไปร่วมขบวนจะประกอบด้วย หนุ่มสาวและคนสูงอายุมาร่วมด้วย ซึ่งประเพณีเรือมตรษ (เรือมตร๊ด) มีการปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งร่วมมือร่วมใจกัน สืบสานวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวบ้าน การที่ชุมชนยังมีการสืบสานและเห็นคุณค่าในภูมิปัญญา บวกกับยังดํารงวิธีการคิดของคนรุ่นปู่ย่าตายาย ที่ต้องการสื่อสารและหลอมรวมคนในชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นได้
ตามช่วงระยะเวลาเดือน 5 (จิตตมาส) เมื่อถึงวัน แรม 13 - 14 ค่ำ เดือน 5 ผู้นําชุมชนจะรวมตัวกันไปเยี่ยมเยียนบ้านทุกหลังคาเรือน โดยมีคนหนุ่มในหมู่บ้านจํานวน 2 - 3 คน ทําการหามฆ้องใบใหญ่เดินตามพร้อมกับทําการตีฆ้องด้วยการตีให้ดัง “โหม่ง โหม่ง โหม่ง” แล้วร้องบอกว่า “ตอม ตอม ตอม" (ภาษาเขมร) บัดนี้ถึงแคแจ๊ตแล้ว ให้ทุกคนหยุดทํางานทุกชนิดเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เมื่อครบ 3 วันแล้วจึงทํางานได้ตามปกติ
การละเล่นในประเพณีเรือมตรษนั้น ชาวบ้านได้นําอุปกรณ์เครื่องดนตรีที่จะนำมาใช้ในการละเล่นเรือมตร๊ด มีทั้งกลองหาง กลองกาบบั้ง หรือกลองกาบเบื้อง กลองตุ้ม ฉิ่ง ฉาบ และจังกรง (ที่เสาทำด้วยไม้ไผ่สีสุก ติดกระพวน และกระดิ่ง) ประดับด้วยมาลัยดอกรัก มาประกอบพิธีเซ่นไหว้บูชา และทำการขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้การละเล่นเรือมตร๊ด เป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหา หรืออุปสรรคใดๆมาขัดขวาง และให้เกิดผลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
เพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับคนในชุมชน โดย “พ่อเพลง” เป็นผู้นําเริ่มต้นการร้อง แม่เพลง ลูกคู่ประสานการร้องต่อเนื่องกัน ในส่วนของประชนคนคนอื่นๆ ซึ่งเข้าร่วมขบวน รวมถึงคนต้อนรับที่บ้าน โดยมากมักมีการแต่งกายด้วยสีสดใส หรือดึงดูดความน่าสนใจด้วยการแต่งกาย หรืออาจแต่งกายด้วยชุดแปลกตา เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อการแสดงการละเล่น เป็นการร่วมกันทําบุญของทั้งเจ้าบ้านและกลุ่มนักแสดงด้วยการบริจาค ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ หรือ ปัจจัยไทยธรรม “ในขบวนการละเล่นมีคนเข้าร่วมแต่งตัวให้ดูตลก มีแต่งกายเลียนแบบผู้หญิง ผู้หญิงก็แต่งกายเลียนแบบผู้ชาย มีการเดินกันเป็นแถว 10 - 20 คน เดินไปตามบ้านของชุมชนทุกหลังคาเรือน”
นอกจากนี้ ระหว่างการเดินไปในบ้านแต่ละหลังนั้น มีการจัดขบวนให้เกิดความสวยงาม โดยไล่ลําดับ ดังนี้ 1) ผู้ถือบาตรและบัญชี สําหรับการจดรายชื่อผู้บริจาค 1 คน อยู่ข้างหน้า 2) ผู้ตีกลองยาว 1 หรือ 2 ใบ 3) ผู้ที่มีความชํานาญในการร้อง (เจรียง) เดินนํา 1 คน และลําดับสุดท้ายคือ คณะรําตรุษ ในขบวนรําตรุษแยกผู้หญิงและผู้ชายออกเป็น 2 แถวคนละฝั่งกัน เรียงลําดับยาวไปทางด้านหลัง เมื่อขบวนเคลื่อนไปถึงด้านหน้าบ้านผู้ใด มือกลองตีกลองเพื่อให้สัญญาณ ผู้ร้องนํา เริ่มร้องเสียงดังบ่งบอกให้เจ้าบ้านรับรู้ เป็นที่รู้กันตามประเพณี คือ เจ้าบ้านเปิดบ้านต้อนรับตามจังหวะ และเมื่อผู้ร้องนําร้องเสร็จ ผู้ร้องตามร้องพร้อมกับยกมือทําจังหวะ และร่ายรําให้เข้ากับจังหวะการร้อง โดยมีการเอียงไปด้านซ้ายและเอียงด้านขวาสลับกันไปมา
"เรือมตรด" ประเพณีพื้นบ้านที่ฟื้นโดย สว
รูปแบบกระบวนการละเล่นเรือมตรษ
รูปแบบการละเล่นในประเพณี เรือมตรษ (เรือมตร๊ด) มีลําดับเฉพาะ และมักไม่มีการข้ามขั้นตอนหรือตัดทอนขั้นตอนออกไป บ่งบอกได้ถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชน และการคงอยู่ของประเพณีนิยมในชุมชน สะท้อนในลําดับของประเพณีเรือมตรุษ ใน เดือนแคแจ๊ต
- เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มกัน โดยมักอาศัยบ้านหัวหน้ากลุ่มเป็นจุดรวมตัวกันของคณะ ไม่มีการจํากัดจํานวน เพศและวัย อาจจะมีจํานวนผู้รํามากน้อยขึ้นอยู่กับความสมัครใจของชาวบ้านในชุมชน และผู้ใหญ่บ้านประกาศประชาสัมพันธ์ถึงชาวบ้านเพื่อให้รับรู้ กําหนดการของประเพณีเรือมตรุษ อยู่ระหว่าง วันที่ 8-9 เมษายน ของทุกๆ ปี ผู้ใดประสงค์เข้าร่วมให้มารวมกัน ณ ศาลากลางของหมู่บ้าน เพื่อทราบจํานวนและสร้างความเข้าใจในลําดับของประเพณีต่อไป
- ระหว่างการเดินขบวนประเพณีเรือมตรษ (เรือมตร๊ด) โดยผู้นําขบวน มีข้อพึงปฏิบัติ คือ หากผู้ใหญ่บ้านไม่สามารถมาร่วมขบวนได้ ขบวนต้องแวะบ้านผู้ใหญ่ก่อนเป็นลําดับแรก โดยมีการจัดให้ผู้นําเดินนําก่อน เพื่อออกไปขอรําและแสดงตามบ้านก่อนขบวนมาถึง และยังสามารถตรวจสอบได้ว่าบ้านหลังใดไม่มีผู้ใดอยู่ขณะร่วมประเพณีเรือมตรุษ ขบวนจะข้ามไปบ้านอื่นแทน เมื่อเจรจาและตกลงกับเจ้าบ้านโดยผู้นําได้นั้น เจ้าบ้านบริจาคถวายจตุปัจจัยใส่ลงในบาตรหรือซอง ผู้ถือบัญชีทําการจดบันทึกรายนามผู้บริจาคตามลําดับเพื่อเป็นหลักฐาน (ความชัดเจนของยอดรวม) และแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมในประเพณีเรือมตรษ (เรือมตร๊ด) เพื่อสืบสานประเพณีสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน รวมถึงสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรถวายแด่พุทธศาสนา
องค์ประกอบสําคัญในประเพณีเรือมตรษ
- พานหรือขัน จํานวน 1 ใบ สําหรับใส่เงินทําบุญ โดยต้องใส่เงินบริจาคลงไปในพาน และในพานนั้นต้องมี ดอกไม้ เทียน และหมากพลู เป็นสิ่งสําคัญที่ขาดมิได้ เนื่องจาก ดอกไม้ เทียน หมากพลู เป็นสิ่งสําคัญในประเพณีซึ่งได้รับการสืบทอดมาหลายร้อยปี
- เครื่องดนตรี ประกอบด้วย กลอง ทําหน้าที่ส่งสัญญาณให้กับผู้นําและขบวน เพื่อเตรียมพร้อมเริ่มรําและดําเนินต่อเนื่องไปจนจบประเพณี
- ผู้ร้องนํา (พ่อเพลง) หรือ ตังเคา ทําหน้าที่ นําการร้องเพื่อให้คณะเรือมตรษร้องตามลําดับประเพณี โดยสถานะของผู้ร้องนําต้องมีคุณสมบัติของผู้ทรงความรู้ มีความสามารถสูง มีไหวพริบในการขับร้อง สามารถร้องสด ประดิษฐ์คําร้องสดขึ้นมา การขับร้องเป็นภาษาเขมรถิ่นไทย โดยเนื้อหาของการขับร้องนั้นต้องสอดคล้องกับ ลักษณะของบ้าน ลักษณะของเจ้าของบ้าน ขณะแสดงการละเล่น (นัยเพื่อความพึงพอใจแก่เจ้าของบ้าน)
ตังเคา คือ “อาจารย์” ผู้นําการละเล่น (เรือมตรษ) เป็นผู้นําขบวนรับบริจาค ขบวนร้องรําทําเพลง และสามารถบริกรรมมนต์คาถา อํานวยอวยพร ประพรมน้ํามนต์ ให้แก่เจ้าของบ้านได้ และเชื่อมโยงกับ วัดได้ ในอดีต ตังเคา หรือ ตะเคาบ้านปรือ คือ บุคคลเดียวกันกับ “พ่อเพลง” ซึ่งในปัจจุบัน ตังเคาและพ่อเพลงคือคนละบุคคลกัน
จะเห็นได้ว่า บทบาทของ "ตังเคา" ในประเพณีการละเล่นเรือมตรษ มีสองส่วนคือ ตังเคาทําหน้าที่ผู้นําของชุมชน อีกหน้าที่หนึ่งคือ ตัวกลางระหว่างชุมชนกับศาสนา (วัด) ตังเคา จะรวบรวมคนในชุมชน ตระเตรียมรูปแบบและวางแผนการดําเนินขบวน จัดลําดับผู้ร่วมขบวน และเส้นทางการเดินเท้าในประเพณีเรือมตรษ อีกด้านหนึ่งก็ประสานงานร่วมระหว่างชุมชนกับวัด ในส่วนของความต้องการหรือสิ่งจําเป็นต่อวัด ตังเคา จึงทําหน้าที่เป็น “สื่อกลาง” รวมถึงทําหน้าที่แทนวัด (ตัวแทนศาสนา) ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น บทบาทของตังเคา เริ่มต้นจากการเป็น "ผู้ประกอบพิธีกรรม" ได้โดยมีประสบการณ์หรือผ่านการอุปสมบทมาก่อน ทําให้สามารถนําความรู้ทางด้านพุทธพิธี มาปรับใช้กับคติความเชื่อท้องถิ่นได้ และจําเป็นต้องมีคุณสมบัติในฐานะของ "ผู้ประพฤติดี" โดยได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน ผ่านการคัดเลือกและการยอมรับทางพฤตินัยของคนในชุมชน เป็นฉันทามติให้เป็นผู้นําในการละเล่น นอกเหนือจากคุณสมบัติทั้งสองอย่างแล้วนั้น คุณสมบัติสุดท้ายที่ขาดเสียมิได้คือ "การเป็นผู้นําการละเล่น" โดยต้องมีทักษะและพรสวรรค์ของการสร้างความสุข การใช้ภาษา การเลือกคํามาใช้กระเซ้าเย้าแหย่แก่คนในชุมชนขณะการละเล่นในประเพณีเรือมตรษ จากบทบาททั้ง 3 ด้านซึ่งสะท้อนคุณสมบัติการเป็นตังเคา จึงทําให้การสืบต่อหรือการถ่ายทอดมีความยากลําบากในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การรับวัฒนธรรมใหม่ เป็นต้น จึงทําให้บทบาทหรือความสําคัญของ "ตังเคา" ค่อยๆ เลือนหายจากชุมชน
สําหรับเนื้อร้องทํานองที่มีการร้องออกมานั้น จากการศึกษารวบรวมพบว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ตอน ดังนี้
- ตอนที่ 1 เป็นการบอกกล่าวว่าญาติพี่น้องให้มาทําบุญร่วมกัน ในขณะเดียวกัน เจ้าของบ้านเมื่อเห็นคณะเรือมตรษมาถึงบ้าน ก็จะรีบเอาเสื่อมาปูพร้อมน้ำดื่มขันใหญ่ 1 ขัน และเหล้าขาว 1 ขวด พร้อมกับมาเชิญ ผู้ถือบัญชีขึ้นบ้านนั่งทักทายดื่มน้ำ และถวายจตุปัจจัยเพื่อร่วมทําบุญ ในขณะเดียวกันญาติเจ้าของบ้านคนใดคนหนึ่งจะเอาเหล้าขาวไปรินให้คณะที่รําอยู่ข้างล่าง
- ตอนที่ 2 เมื่อเจ้าของบ้านทําบุญแล้ว คณะเรือมตรษจะร้องเพลงอวยพร ให้มีอายุมั่นขวัญยืนคิดสิ่งใด ขอให้สมปรารถนา บางทีอาจมีการกระเซ้าเย้าแหย่กันบ้าง
- ตอนที่ 3 เมื่อผู้ถือบัญชีลาเจ้าของบ้าน คณะก็เริ่มร้องเพลงลา แล้วก็เริ่มเดินไปบ้านถัดไป การร้องเพลงเช่นนี้จะทําทุกหลังคาเรือนไม่มีเว้น บางทีต้องใช้เวลา 2 - 3 วัน จึงจะครบ
ดังนั้น รูปแบบประเพณีการละเล่นเรือมตรษ มี 2 ขั้นตอน คือ 1) การบอกกล่าวญาติพี่น้อง และ 2) การร้องเพลงให้พร หลังจากได้รับการร่วมทําบุญและจดบันทึกบัญชีรายนามผู้บริจาคด้วยการอําลา โดยใช้การร้องทํานองเพลง ภายหลังจากเสร็จประเพณีเรือมตรษในช่วงเช้าแล้วนั้น บ่ายวันเดียวกัน คณะเรือมตรษของแต่ละหมู่บ้าน จะนําปัจจัยไทยธรรมที่ได้รับการบริจาคแห่มารวมกันที่วัด จากนั้นผู้นําจะทําการถวายปัจจัยไทยธรรมแด่วัด และภายหลังจากถวายปัจจัยเสร็จสิ้น มักนิยมประกอบพิธีกรรมการสรงพระ โดยการอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อสรงพระ และรดน้ำดําหัวแก่ผู้อาวุโสตามลําดับ ในอดีตวันฉลองสงกรานต์ในเดือนห้า (แคแจ๊ต) นอกจากประเพณีเรือมตรษ แล้วยังมีการละเล่นอื่นๆ อาทิ เรือมอันเร สะบ้า โชง เป็นต้น ไปจนกระทั่ง วันแรม 14 ค่ํา เดือน 5 ซึ่งถือได้ว่า เป็นวันส่งท้ายของงานสงกรานต์ เรียกว่า “แห่โดนจังการน” ซึ่งเชื่อกันว่าบรรพบุรุษทั้งหลายได้ลงมาวันสงกรานต์ วันนี้ต้องส่งปู่ย่าตายายกลับภูมิภพ เป็นอันเสร็จสิ้นประเพณีในงานประเพณีประจําเดือนห้า
ตัวอย่างบทร้องและบทแปล มีดังนี้
บทอนุญาตเจ้าของบ้าน
บทแปลภาษาไทย
ตรษผมถึงแล้ว ถึงแล้วนะจ๊ะ เข้าบ้านได้หรือไม่ ถ้าได้เข้าไปมันจะพบแต่สิ่งดีๆ นะ กลัวว่าเจ้าบ้านไม่ให้เข้า เลยต้องขออนุญาตก่อน และขบวนเรือมตรษครั้งนี้พวกเรามากันสามสิบคน
บทกล่าวถึงงานตรษ
บทแปลภาษาไทย
คณะตรษมาจากทิศใต้นะ มาวันนี้ก็มาเพื่อให้แม่มีความสุขหรือพ่อมีความสุข และขอให้ลูกหลานมีความสุข อยู่เย็นเป็นสุข สิ่งชั่วร้ายจงออกไปจากชีวิต ขอให้น้องสาวพบเจอแต่สิ่งดีๆ มีจิตใจที่สงบเยือกเย็น ต้อนรับความเป็นศิริมงคล
เรือมตรด คือรําตรุษสงกรานต์
การแต่งกายในการเรือม(รํา)ตรษในอดีต
หญิง : นุ่งผ้าถุง สวมเสื้อไหมหรือฝ้าย แขนสั้น หรือแขนยาวก็ได้
ชาย : นุ่งโสร่ง สวมเสื้อไหมหรือฝ้าย แขนสั้น หรือแขนยาวก็ได้
การแต่งกายในการเรือม(รํา)ตรษในปัจจุบัน
หญิง : นุ่งผ้าถุง สวมเสื้อลายดอก ห่มสไบ สวมหมวก
ชาย : นุ่งโสร่ง สวมเสื้อลายดอก ผ้าขาวม้าคาดเอว สวมหมวก
ในปัจจุบันยังคงมีการละเล่นประเพณีเรือมตรษ (เรือมตร๊ด) ในหลายๆ ชุมชนของชาวอีสานใต้ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ซึ่งยังคงได้รับสืบทอดลักษณะประเพณีดั้งเดิมเอาไว้ให้คงอยู่ต่อไป จัดได้ว่าเป็นงานประจําปีสําคัญของชุมชน และสะท้อนถึงความเข็มแข็งทางวัฒนธรรมท้องถิ่น
- Details
- Written by: ครูมนตรี โคตรคันทา
- Category: Tradition
- Hits: 331
ภาคอีสานของเฮามีประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับ "ฮีตคองประเพณี" อยู่มาก มีทั้งที่โด่งดังเป็นที่ฮู้จักไปทั่วประเทศและทั่วโลก และมีอีกหลายประเพณีที่จัดเฉพาะถิ่น ดูลึกลับสำหรับคนต่างพื้นที่ อย่างประเพณี "แห่ผีสุ่ม" ที่จัดขึ้นในช่วงบุญเดือนสิบ หรือ บุญข้าวสาก ประเพณีของชาวอีสาน จัดขึ้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 จะเป็นวันที่ประตูนรกเปิดออก วิญญาณผีตายโหงรวมทั้งวิญญาณญาติพี่น้องของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงเปรตต่าง ๆ จะขึ้นมาอยู่บนโลกมนุษย์ จึงเกิดเป็นประเพณีบุญข้าวสากขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
ผีต่างๆ นานาทั่วประเทศไทย ทั้งผีปอบ ผีหิว ผีกองกอย ต่างมารวมตัวกันเดินขบวนใน "งานประเพณีแห่ผีสุ่ม" ซึ่งมีแห่งเดียวในโลก ตามความเชื่อที่ถูกสืบทอดมาตั้งแต่โบราญของชาวบ้าน บ้านเสี้ยวน้อย ตำบลบ้านเล่า อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ในช่วงบุญเดือนสิบ หรือ บุญข้าวสาก หนึ่งในประเพณีการทำบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งระหว่างขบวนแห่ผ่าน ก็จะเชิญชวนผู้สนใจร่วมทำบุญกับผีสุ่ม โดยนำข้าวสาร อาหารแห้ง ใส่ในตะกร้าผีสุ่ม เพื่อนำไปทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับ โดยนำไปวางไว้ตามจุดต่างๆ ภายในบริเวณวัดสมศรี พร้อมจุดเทียน และบอกกล่าวให้ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว มารับเอาอาหารและผลบุญที่อุทิศให้
คำว่า "ผีสุ่ม" เพราะผีที่ไม่มีลูกหลาน หรือ ญาติไปทำบุญให้ ก็จะไปขอรับส่วนบุญ หรือ อาหารจากผีตนอื่น แต่ด้วยความอับอายจึงเอาสุ่มไก่มาคลุมหัวคลุมตัว จึงเป็นที่มาของประเพณีแห่ผีสุ่ม เพื่อเตือนใจให้ลูกหลานกลับไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความผูกพัน ความรัก ความสามัคคีของคนในครอบครัวและในชุมชนอีกด้วย
ประเพณีแห่ผีสุ่ม จะเริ่มกันตั้งแต่เช้าตรู่จะมีการทำพิธีไหว้ผีบ้าน ผีปู่ย่าตายาย แล้วนำข้าวปลา-อาหารที่ได้ตระเตรียมไว้ในกระจาด ห่อใบตอง หรือกระทงใบตอง นำไปรวมกันที่วัดเพื่อร่วมทำบุญถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์ จากนั้นจะมีการสวดอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับ บริจาคทานให้ญาติ แล้วจึงจัดขบวนแห่ของผีสุ่ม มีการร่ายรำสนุกสนานตามสไตล์คนอีสาน ม่วนซื่นโฮแซวกันตามระเบียบ
เปิดประตูนรก ปล่อย “ผีสุ่ม” ที่ จังหวัดชัยภูมิ
แห่ผีสุ่ม เป็นประเพณีเก่าแก่ ที่สืบสานกันมาอย่างยาวนานของชาวบ้านเสี้ยวน้อย ตำบลบ้านเล่า อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ที่สำคัญคือ ชาวบ้านเขาจะจัดขึ้นเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ในช่วงบุญเดือนสิบ หรือบุญข้าวสาก ตามฮีตสิบสอง คองสิบสี่ หรือจารีตประเพณีของชาวอีสาน ในเดือนกันยายนของทุกปี เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับ บุญข้าวสารทของชาวภาคกลาง บุญสลากภัตทางภาคเหนือ ประเพณีชิงเปรตในภาคใต้ และเทศกาลไหว้พระจันทร์ ของชาวไทยเชื้อสายจีน นั่นเอง
ท่านที่สนใจประเพณีแปลกๆ อย่างนี้ก็ติดตามข่าวสารการจัดงาน และไปร่วมทำความรู้จักกับประเพณีเหล่านี้กันได้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานบ้านเฮานั้น มีสิ่งดีๆ ให้ค้นหาอยู่เสมอ
- Details
- Written by: ครูมนตรี โคตรคันทา
- Category: Tradition
- Hits: 641
เหยา การแพทย์ทางจิตวิญญาณ
โลกทุกวันนี้เจริญก้าวไกลไปมากด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาดั้งเดิม มีสิ่งที่มนุษย์เชื่อและจินตนาการไปไกล เช่น ดวงจันทร์ที่คนโบราณเคยสร้างจินตนาการไกลไปมากเป็นนิทานเรื่องเล่าว่า เรามองเห็นภาพกระต่ายกับเต่า มีตากับยายทำนาบนดวงจันทร์ บางกลุ่มชนก็มีความเชื่อถือศรัทธากราบไหว้พระจันทร์ไปแล้ว แต่ในยุคปัจจุบันผ่านมาหลายสิบปีแล้ว ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นคว้าหาวิธีเดินทางขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ถ่ายภาพกลับมาให้เห็นว่า ดวงจันทร์ก็เป็นเพียงดาวดวงหนึ่ง เป็นดาวบริวารของโลกเราด้วยซ้ำ ดวงจันทร์มีแต่หินกับฝุ่นหนามากมาย ไม่มีน้ำ แล้วกระต่ายกับเต่าหรือยายกับตา จะไปทำนาอยู่บนนั้นได้อย่างไร
เรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยที่ผู้คนในยุคโบราณดั้งเดิมไม่รู้สาเหตุ และโยนไปให้ภูตผีปีศาจเป็นผู้กระทำ แม้นักวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบันจะสามารถค้นพบที่มาของโรค กระทั่งเชื้อโรคขนาดจิ๋วอย่างไวรัส แบคทีเรีย แล้วก็ตาม แต่กระนั้น ความเชื่อ ก็ยังเป็นความเชื่อในหลายกลุ่มชนของโลกใบเล็กๆ ของเรานี้ เพราะแม้นว่าหลายๆ เรื่องราวจะพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์แล้วก็ตาม แต่ ก็ไม่สามารถขยายภาพให้เห็นชัดด้วยตาความรอบรู้ สติปัญญา และจิตใจของผู้คน โดยเฉพาะเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย แม้จะมียารักษาร่างกายให้ฟื้นฟู แต่ด้านจิตใจนั้นจะต้องใช้พิธีกรรมและความเชื่อเข้ามาช่วยจึงจะได้ผลสมบูรณ์
พิธีเหยา เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาของคนไทยแถบภาคอีสาน โดยจะนิยมทำในแถบถิ่นที่อยู่ของ ชาวไทโส้ ชาวไทข่า ภูไท, ผู้ไทย หรือผู้ไท (จังหวัดกาฬสินธุ์, นครพนม, มุกดาหาร, สกลนคร) พิธีกรรมนี้เป็นการเสี่ยงทาย เมื่อมีการเจ็บป่วยในครอบครัว โดยการเจ็บป่วยนี้จะเชื่อว่าเป็นการกระทำของผี จึงต้องทำการเหยาเพื่อแก้ผี และเพื่อจะได้ทราบว่าผีต้องการอะไร หรือผู้เจ็บป่วยทำผิดผีอะไร จะได้ทำตาม เชื่อว่า หากแก้ผีแล้ว อาการเจ็บป่วยจะหายเป็นปกติ
"เหยา” เป็นความเชื่อและพิธีกรรมหนึ่งในการรักษาสุขภาพของคนในชุมชนผู้ไทย ที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพกาล อันสืบเนื่องมาจากความเชื่อดั้งเดิมที่นับถือผี เป็นการทำพิธีเพื่อติดต่อระหว่างผีกับคน ให้ผีช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อน โดยเฉพาะการเจ็บไข้ได้ป่วย มูลเหตุที่ต้องมีการเหยามาจากสภาพสังคมดั้งเดิมของชาวไทย ที่ไม่มีสถานพยาบาลรับรองความเจ็บป่วย ก่อให้เกิดความจำเป็นที่ชาวไทยต้องดิ้นรนหาที่พึ่งยามเจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนใหญ่นั้นใช้สมุนไพรพื้นบ้าน ที่มีในท้องถิ่นในการรักษาและดูแลสุขภาพ ในอดีตการรักษาโรคภัยไข้เจ็บจำเป็นต้องอาศัยผีเป็นผู้วินิจฉัยโรคบอกวิธีรักษา ในปัจจุบันแม้มีการแพทย์แผนใหม่ที่สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง แต่โรคบางโรคหรืออาการบางอย่างรักษาไม่หาย ผู้ป่วยที่ไม่มีที่พึ่งจึงจำเป็นต้องพึ่งพิธีกรรม อย่างน้อยจะทำให้จิตใจผู้ป่วยดีขึ้น จึงจัดเป็นพิธีกรรมที่สร้างขวัญและกำลังใจกับผู้ป่วยเป็นหลัก
เมื่อผู้ป่วยอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือผู้ป่วยหายจากโรคและอาการเจ็บป่วย ก็จะทำพิธีการเหยา ผู้ที่ทำพิธีการเหยาเรียกว่า "หมอเหยา" เป็นผู้ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษโดยปู่ย่า ตายาย แม่ เป็นหมอเหยามาก่อน ลูกก็จะสืบทอดการเป็นหมอเหยา แต่ในปัจจุบันนี้การสืบทอดการเป็นหมอเหยานั้นได้เลือนหายไปจากสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทยไปแล้ว ยังเหลือแต่หมอเหยาที่เป็นผู้อาวุโสของชุมชนเท่านั้น และการประกอบพิธีกรรมเหยายังคงเหลือให้เห็นเพียงแต่บางชุมชนเท่านั้น เนื่องจากสังคมสมัยใหม่ได้เขามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างของชาวผู้ไทย ทั้งนี้ การเหยาเป็นการติดต่อสื่อสารของมนุษย์และวิญญาณ ซึ่งการติดต่อสื่อสารจะใช้ท่วงทำนองของดนตรี หรือที่ชาวผู้ไทยเรียกว่า กลอนลำ (หมอลำ) มีเครื่องดนตรีประเภทแคนประกอบการให้จังหวะ วิธีการติดต่อสื่อสาร กลอนลำและทำนอง เรียกว่า การเหยา
ประเภทของการประกอบพิธีกรรมเหยา
- การเหยาเพื่อคุมผีออก เนื่องจากผู้ป่วยมีความเชื่อว่าการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการกระทำของผีหรือวิญญาณทำให้เกิดการเจ็บป่วย ซึ่งจะต้องมีการเสี่ยงทายจากหมอเหยา ทำพิธีคุมผีออกจากการร่ายรำของหมอเหยา ประกอบกับดนตรีที่ใช้แคนเป็นเครื่องดนตรี
- เหยาเพื่อให้ขวัญและกำลังใจ เหยาต่ออายุ เหยาเพื่อชีวิต เหยาแก้บน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ครอบครัวญาติพี่น้อง วงศ์ตระกูล ในช่วงเทศกาลงานสำคัญๆ ของหมู่บ้านชุมชน หรือฤดูกาลทำการเกษตรกรรมเพื่อให้ได้ผลผลิตมีความอุดมสมบูรณ์ตามที่คาดหวัง
- เหยาเพื่อเลี้ยงผี เพื่อเลี้ยงขอบคุณผีบรรพบุรุษในรอบปี ซึ่งพิธีการเหยาแบบนี้จะกระทำเพียงปีละครั้งเท่านั้น ในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายนเท่านั้น เพื่อขอขมาและสักการะผีที่ช่วยปกป้องคุ้มครองชุมชนให้ปกติสุข ไม่มีเรื่องอันใดที่ทำให้เกิดภัยพิบัติหรืออันตรายแก่ผู้คนในชุมชนผู้ไทย
- การเหยาในงานบุญประจำปี ส่วนมากกระทำพิธีกรรมในงานบุญผะเหวดเท่านั้น โดยมีการเหยาปีละครั้งเท่านั้น กระทำติดต่อกันทุกๆ ปี ครบ 3 ปี แล้วจะเว้นช่วงของการประกอบพิธีเหยาในงานบุญประจำปีนี้ 1 ปี แล้วจึงกลับมาทำพิธีกรรมอีกครั้งเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ
เครื่องคายในพิธีเหยา
สำหรับเครื่องคาย หรือสิ่งที่ใช้ในการประกอบพิธีเหยา จะเป็นสิ่งที่ผีบอกให้จัดหาว่า จะต้องมีประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง และจะต้องจัดตามรูปแบบที่ผีบอก เครื่องคายจะประกอบด้วย ข้าวสารขาว นำมาเพื่อการเสี่ยงทาย ดอกลีลาวดี (ดอกจำปาลาว) ใช้ในการเสี่ยงทายได้เช่นกัน แต่ถ้าขาดดอกลีลาวดีพิธีก็ไม่สามารถเริ่มได้ เหล้า แต่เดิมใช้เหล้าสาโทกลั่นเพราะถือว่าเป็นน้ำที่ดีที่สุด แต่ปัจจุบันนิยมใช้เหล้าขาวเพราะหาง่าย น้ำส้ม ในอดีตใช้น้ำเปล่า แต่เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนไปจึงต้องมาใช้น้ำส้ม เพราะสีสวย ผ้าแดง ถือว่าเป็นผ้ามงคล บุหรี่ หมาก ในอดีตมีการต้อนรับด้วยยาสูบและหมาก หากไม่มีถือว่าไม่ให้เกียรติกัน หมอน เครื่องนอนใช้รองศีรษะ เงิน คายของแต่ละคนจะมีจำนวนไม่เท่ากัน ดาบ ใช้ตัดขวัญสิ่งไม่ดี ไข่ดิบ ใช้ในการเสี่ยงทาย
หมอเหยา
หมอเหยา คนที่จะเป็นหมอเหยานั้น "ผี" จะเป็นคนเลือกเองว่าจะให้ใครเป็น ถ้าใครถูกเลือกแล้วจะต้องมีศาลพระภูมิประจำผี แต่งขันดอกไม้มาบูชาผีอยู่นอกบ้านข้างๆ กับตัวเรือน ห้องพระกับห้องผีจะอยู่ด้วยกันไม่ได้เด็ดขาด และมีข้อห้ามกินเนื้อ 10 อย่าง คือ เสือ, ช้าง, ม้า, งู, หมา, ปลาไหล, คน, เต่า, ลิง และโค เมื่อหมอเหยาตาย ผีก็จะออกและจะไปหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งหมอเหยาแต่ละคนนั้นจะไม่มีการสืบทอดไปยังบุคคลอื่นต่อๆ ไปได้ นอกจากผีตนนั้นจะเป็นผู้เลือกเองว่าจะต้องการอยู่กับใคร ซึ่งวิธีการมาอยู่ด้วยนั้นจะเป็นเวลาที่ทำพิธีเหยา ผีอยากอยู่กับใครก็เข้าสิงทันที (แต่ในบางกลุ่มชาติพันธุ์ก็ใช้วิธีสืบทอดต่อๆ กันมา ด้วยเหตุที่ว่าต้องการสืบทอดประเพณีไว้ให้คงอยู่ รอให้ผีเลือกแล้วจะสูญหาย สมัยวิทยาการรุ่งเรืองต้องใช้ทางเลือกบ้าง)
การประกอบพิธีกรรมเหยา
จะงดเว้นไม่ทำในวันพระข้างขึ้นและข้างแรม 8 ค่ำ กับ 15 ค่ำ จะประกอบพิธีการเหยาเฉพาะเวลาพลบค่ำหรือเวลาเย็นเป็นต้นไป ไม่นิยมกระทำพิธีในช่วงบ่าย เพราะชาวผู้ไทมีความเชื่อว่า ช่วงเวลาบ่ายเป็นเวลาในการเคลื่อนศพไปป่าช้า ไม่มีความเป็นสิริมงคล
สถานที่ในการประกอบพิธี
สถานที่ในการประกอบพิธีการเหยารักษาคนป่วย จะใช้บ้านของผู้ป่วยในการทำพิธี แต่ถ้าเป็นการประกอบพิธีเหยาประจำปีของชุมชน ก็จะใช้สถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน
ขั้นตอนการเหยา
ขั้นตอนการเหยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วบ เริ่มจากจัดเครื่องคายและตั้งเครื่องคายสำหรับพิธีการเหยา แล้วนำมาวางต่อหน้าหมอเหยา เตรียมเครื่องแต่งกายของหมอเหยาและหมอแคน การบูชาครูและลำเชิญผีลง เพื่อให้ผีมาเข้าทรงถามอาการเจ็บป่วยจากผี เมื่อผีเข้าทรงแล้วก็จะมีการแต่งกายของหมอเหยา แล้วทำการเหยาไปตามทำนองของเสียงแคนประกอบการร่ายรำ
ลำเหยาโต้ตอบกันระหว่างผีและหมอเหยาเพื่อถามผีว่าต้องการอะไร จะแก้ไขอาการเจ็บป่วยได้อย่างไรจะใช้เครื่องเซ่นสรวงอะไรบ้าง โดยให้ญาติผู้ป่วยเป็นล่ามติดตามกับหมอเหยา เพื่อถามถึงสาเหตุและอาการเจ็บป่วยดังนี้
- หมอเหยาตรวจดูความเรียบร้อย ความถูกต้องของเครื่องคายที่ใช้ในการบูชาเครื่องเซ่นไหว้
- หมอแคนเริ่มเป่าแคนให้จังหวะประกอบการเหยา
- หมอเหยาลำ (กลอนลำ) ร่ายกลอนเชิญผีมาถามสาเหตุของการเจ็บป่วย
- ญาติผู้ป่วยมอบสุราขาวให้หมอเหยาประมาณครึ่งขวด หมอเหยาจะต้องดื่มเหล้าประมาณหนึ่งจอก หมอแคนดื่มหนึ่งจอก
การแสดง เหยา : มหกรรมผู้ไทนานาชาติ 2566
เสี่ยงทายวิงวอน
หากแต่การเชิญผีมาถามถึงสาเหตุความโกรธแค้น เพื่อให้ผีไม่ทำร้ายผู้ป่วย ก็ไม่ใช่การเอ่ยปากถามกันตรงๆ หมอเหยาจะมีวิธีการถามผีด้วยการเสี่ยงทาย โดยใช้เครื่องประกอบพิธีกรรมบางอย่างเช่น ไข่ และข้าวสาร โดยการเอาข้าวสารโรยลงไปในไข่แล้วนับจำนวนเม็ดข้าวสาร ถ้ามีข้าวสารติดอยู่บนไข่จำนวนคี่แสดงว่าผู้ป่วยจะหายป่วย ถ้าข้าวสารติดอยู่จำนวนคู่แสดงว่าผีไม่ยอมให้หาย หมอเหยาจะต้องอ้อนวอนต่อไปอีก โดยผู้เข้าร่วมในพิธีจะช่วยกันพูดอ้อนวอนผีให้ยอม
จากนั้นจะทำการเสี่ยงทายด้วยดาบ โดยปักดาบลงไปในข้าวสาร ถ้าดาบนั้นตั้งอยู่บนข้าวสารได้แสดงว่าผีให้อภัยไม่โกรธแค้น หากดาบที่ปักลงบนข้าวสารแล้วล้มลง แสดงว่าผียังมีความโกรธแค้นผู้ป่วยอยู่ หมอเหยาจะทำการอ้อนวอนอีกครั้งหนึ่งพร้อมญาติและผู้เข้าร่วมพิธี จะอ้อนวอนเสี่ยงทายจนกว่าดาบนั้นตั้งอยู่บนถ้วยข้าวสารได้
ครั้นมั่นใจว่าผีให้อภัยหายโกรธแค้นแล้ว หมอเหยาจะทำการเสี่ยงทายด้วยเมล็ดข้าวสารที่โรยลงบนฝ่ามือสามครั้ง ถ้าข้าวสารมีจำนวนคี่แสดงว่าผีนั้นหายโกรธแค้นแล้ว หากผียังมีความโกรธแค้นอยู่ก็จะทำการเสี่ยงทายไปเรื่อยๆ หรือทำการตั้งดาบใหม่ เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าผียกโทษให้ และหายโกรธแค้นแล้ว
พิธีเหยา : ความเชื่อ พิธีกรรมผู้ไท EP.1
เมื่อเสร็จพิธีแล้ว หมอเหยาจะกินค่าคายคือ ดื่มเหล้า และทักทายกับผู้ที่มาร่วมพิธีการเหยา จากนั้นหมอเหยาจะเสี่ยงทายปักดาบลงบนข้าวสารอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าผีคืนขวัญให้ผู้ป่วยแล้ว และจะทำการเสี่ยงทายโดยการนับเมล็ดข้าวสารในมือว่าเป็นจำนวนคี่หรือคู่ตามการเสี่ยงทาย ถ้าได้จำนวนคู่จะทำนายด้วยเมล็ดข้าวสารอีกสามครั้ง จนกระทั่งแน่ใจว่าผีให้อภัยแล้ว จากนั้นหมอเหยาจะถามผีว่าต้องการเครื่องบวงสรวง เครื่องเซ่นไหว้อะไรบ้าง
การส่งเครื่องสังเวยเซ่นไหว้แก่ผี หมอเหยาจะประกอบพิธีกรรมพร้อมการร่ายรำ ประกอบทำนองของแคนเพื่อให้แน่ใจว่าขวัญของผู้ป่วยกลับมาแล้ว พร้อมการเสี่ยงทายเมล็ดข้าวสาร และปักดาบอีกครั้งจนแน่ใจ และทำพิธีอำลาผี ขอให้ผีนั้นช่วยดูแลคนในหมู่บ้านอย่าได้หนีไปไหน ซึ่งของสังเวยเซ่นไหว้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยกองบุญที่ญาติผู้ป่วยจะต้องเตรียมสังเวยให้ผี บุหรี่ หมาก พลู อย่างละคู่ พร้อมกับข้าวหวานที่เตรียมไว้เป็นข้าวเหนียวนึ่งสุกผสมกับน้ำตาล
หลังพิธีการเหยา
ผู้ป่วยจะต้องตั้งถาดเครื่องบวงสรวงเซ่นไหว้ผี หรือถาดเครื่องคายไว้ที่บ้านประมาณ 7-10 วันหรืออาจจะนานกว่านั้นจ นกว่าผู้ป่วยจะหายเป็นปกติ หากผู้ป่วยยังหายไม่เป็นปกติ ญาติผู้ป่วยจะตามหมอเหยามาทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการเหมือนเดิมทุกประการจนกว่าผู้ป่วยจะหาย หากประกอบพิธีแล้วผู้ป่วยยังไม่หาย หมอเหยาจะทำพิธีกวาดออกไป ให้ผู้ป่วยนอนหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ใช้ใบไม้จุ่มเหล้าหรือสุราขาวกวาดออกไป แล้วเอาดาบกวาดออกไปอีกรอบ
เมื่อครบรอบปีของการเหยา หมอเหยาจะถูกเชิญมาทำพิธีอีกครั้งหนึ่งเพื่อต่ออายุหมอเหยา และขอขมาผีและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชุมชนผู้ไทเอง
อาการเจ็บป่วยที่ใช้พิธีเหยาประกอบการรักษา ส่วนใหญ่เป็นอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย อันเป็นอาการทั่วไปของผู้ทำการเกษตร อาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับกระดูกและข้อซึ่งมักเป็นอาการของผู้สูงอายุ หรือเจ็บป่วยทั่วไป เป็นไข้ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
อาการป่วยที่หาสาเหตุไม่ได้ โดยมีความเชื่อจากสิ่งเหนือธรรมชาติกระทำให้เกิดการเจ็บป่วย หรือเวลามีอุบัติเหตุเมื่อผู้ป่วยกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ญาติผู้ป่วยจะกระทำพิธีเหยาเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจให้และที่สำคัญของวิถีชีวิตแบบชุมชน คืออาการเจ็บป่วยวาระสุดท้ายของชีวิตอาทิผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย กลับมาพักที่บ้าน ก็จะพยุงใจให้สงบได้ด้วยพิธีกรรมเหยาที่ให้ความอบอุ่นและกำลังใจ
พิธีเหยา : ความเชื่อ พิธีกรรมผู้ไท EP.2
ขอบคุณข้อมูล : รวมๆ มาจากกลุ่มชาติพันธุ์หลายแหล่ง ภาพประอบสวยๆ : จาก ชายสามหยด
- Details
- Written by: ทิดหมู มักหม่วน
- Category: Tradition
- Hits: 4763
ฅนอีสาน หรือ ชาวอีสาน มีการดำเนินชีวิตประจำวันแบบพึ่งพาตนเองมาเนิ่นนานแต่โบราณ ทั้งการสร้างที่อยู่อาศัย บ้านเรือน หรือ เฮือนอีสาน นั้นจะพบว่า มักตั้งเสายกพื้นค่อนข้างสูง ทำให้มีพื้นที่ใต้ถุนสูง สำหรับใช้เป็นที่ประกอบหัตถกรรมในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็น การทอผ้า การจักสานเครื่องใช้จากไม้ไผ่ การสานแห สวิง สำหรับจับสัตว์น้ำ รวมทั้งใช้เป็นที่เก็บไหหมักปลาร้า พืชผักดองเป็นอาหารในยามขาดแคลน เป็นคอกเลี้ยงสัตว์ ที่เก็บอุปกรณ์ทำไร่ทำนาอย่างคราด ไถ จอบ เสียม ไปจนถึงการจอดเกวียน
ในเรื่องการแต่งกาย ฝ่ายชายชาวภาคอีสานมักนิยมนุ่งโสร่ง หรือกางเกงขาก๊วย ใส่เสื้อ คอกลม ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว ฝ่ายหญิงนิยมนุ่งผ้าซิ่น ใส่เสื้อ คอกลมแขนยาว ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ประจำภาคโดยเฉพาะ มีการผลิตเครื่องนุ่งห่มเองด้วยการปลูกฝ้าย เลี้ยงไหม เพื่อทอผ้าฝ้าย ผ้าไหมมาใช้กันเองในครัวเรือน ถ้ามีผลผลิตมากก็จะใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนกับสิ่งจำเป็นในชีวิตกับหมู่บ้านหรือชุมชนอื่นๆ นิยมทอผ้าไหม มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีชื่อเสียงมากมาย
- Details
- Written by: ครูมนตรี โคตรคันทา
- Category: Tradition
- Hits: 4355
ภาพชุดสุดท้ายจากงาน "๑๒๑ ปี ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา อุบลราชธานี" เป็นรวมภาพขบวนแห่ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 และภาพกิจกรรม "เปิดเฮือนเยือนเมืองเทียนเมืองธรรม" ในบริเวณภายในสวนสาธารณะทุ่งศรีเมือง ภาพจาก #เพจท่องอุบล ขอบคุณครับ พบกันใหม่ในปีหน้า ปีที่ 122 นะขอรับ
ท่านสามารถคลิกที่ภาพดูขนาดเต็มๆ เลื่อนดูทีละภาพ หรือแสดงผลแบบสไลด์โชว์ก็ได้ครับ
รวมความงาม "๑๒๑ ปี ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา" หน้าที่ 1 | หน้าที่ 2 | หน้าที่ 3