99/169 Sarin7 UBN 34190 081 878 3521 This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
  • ธรรมะในดินแดนอีสาน

    พุทธศาสนา : งดงามในดินแดนอีสาน

  • เทียนพรรษา

    งานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี

  • เที่ยวนครพนม

    เที่ยวนครพนมชมความงดงามริมแม่น้ำโขง

  • ธรรมชาติงดงามบนภูกระดึง

    ความสุขที่คุณเดินได้เพื่อพิชิตภูกระดึง

  • สามพันโบก

    รุ่งอรุณ ณ สามพันโบก มหัศจรรย์กลางลำน้ำโขง

  • รุ่งอรุณ ณ ผาแต้ม

    ตะวันขึ้นก่อนใครในสยามประเทศ ผาแต้ม

  • เขาใหญ่

    ไปชื่นชมธรรมชาติมรดกโลกที่เขาใหญ่กัน

  • ผามออีแดง

    ปลายฝนต้นหนาวไปชมทะเลหมอก ณ ผามออีแดง

  • ม่วนซื่นโฮแซวแนวอีสาน

    อีสานมีทั้งธรรมชาติสวยงาม ผลไม้ขึ้นชื่อ งานประเพณีแปลกตา

  • ตะวันตกดิน

    มุมสงบใจให้ดื่มด่ำยามพลบค่ำสิ้นแสงสุรีย์

: Our Sponsor

adv200x300 2

: Our Fanpage

: My Web Site

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net
e mail

เหยา พิธีกรรมและความเชื่อ

isan tradition

เหยา การแพทย์ทางจิตวิญญาณ

โลกทุกวันนี้เจริญก้าวไกลไปมากด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาดั้งเดิม มีสิ่งที่มนุษย์เชื่อและจินตนาการไปไกล เช่น ดวงจันทร์ที่คนโบราณเคยสร้างจินตนาการไกลไปมากเป็นนิทานเรื่องเล่าว่า เรามองเห็นภาพกระต่ายกับเต่า มีตากับยายทำนาบนดวงจันทร์ บางกลุ่มชนก็มีความเชื่อถือศรัทธากราบไหว้พระจันทร์ไปแล้ว แต่ในยุคปัจจุบันผ่านมาหลายสิบปีแล้ว ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นคว้าหาวิธีเดินทางขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ถ่ายภาพกลับมาให้เห็นว่า ดวงจันทร์ก็เป็นเพียงดาวดวงหนึ่ง เป็นดาวบริวารของโลกเราด้วยซ้ำ ดวงจันทร์มีแต่หินกับฝุ่นหนามากมาย ไม่มีน้ำ แล้วกระต่ายกับเต่าหรือยายกับตา จะไปทำนาอยู่บนนั้นได้อย่างไร

Yao tai ka 06

เรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยที่ผู้คนในยุคโบราณดั้งเดิมไม่รู้สาเหตุ และโยนไปให้ภูตผีปีศาจเป็นผู้กระทำ แม้นักวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบันจะสามารถค้นพบที่มาของโรค กระทั่งเชื้อโรคขนาดจิ๋วอย่างไวรัส แบคทีเรีย แล้วก็ตาม แต่กระนั้น ความเชื่อ ก็ยังเป็นความเชื่อในหลายกลุ่มชนของโลกใบเล็กๆ ของเรานี้ เพราะแม้นว่าหลายๆ เรื่องราวจะพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์แล้วก็ตาม แต่ ก็ไม่สามารถขยายภาพให้เห็นชัดด้วยตาความรอบรู้ สติปัญญา และจิตใจของผู้คน โดยเฉพาะเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย แม้จะมียารักษาร่างกายให้ฟื้นฟู แต่ด้านจิตใจนั้นจะต้องใช้พิธีกรรมและความเชื่อเข้ามาช่วยจึงจะได้ผลสมบูรณ์

พิธีเหยา เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาของคนไทยแถบภาคอีสาน โดยจะนิยมทำในแถบถิ่นที่อยู่ของ ชาวไทโส้ ชาวไทข่า ภูไท, ผู้ไทย หรือผู้ไท (จังหวัดกาฬสินธุ์, นครพนม, มุกดาหาร, สกลนคร) พิธีกรรมนี้เป็นการเสี่ยงทาย เมื่อมีการเจ็บป่วยในครอบครัว โดยการเจ็บป่วยนี้จะเชื่อว่าเป็นการกระทำของผี จึงต้องทำการเหยาเพื่อแก้ผี และเพื่อจะได้ทราบว่าผีต้องการอะไร หรือผู้เจ็บป่วยทำผิดผีอะไร จะได้ทำตาม เชื่อว่า หากแก้ผีแล้ว อาการเจ็บป่วยจะหายเป็นปกติ

Yao tai ka 01

"เหยา” เป็นความเชื่อและพิธีกรรมหนึ่งในการรักษาสุขภาพของคนในชุมชนผู้ไทย ที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพกาล อันสืบเนื่องมาจากความเชื่อดั้งเดิมที่นับถือผี เป็นการทำพิธีเพื่อติดต่อระหว่างผีกับคน ให้ผีช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อน โดยเฉพาะการเจ็บไข้ได้ป่วย มูลเหตุที่ต้องมีการเหยามาจากสภาพสังคมดั้งเดิมของชาวไทย ที่ไม่มีสถานพยาบาลรับรองความเจ็บป่วย ก่อให้เกิดความจำเป็นที่ชาวไทยต้องดิ้นรนหาที่พึ่งยามเจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนใหญ่นั้นใช้สมุนไพรพื้นบ้าน ที่มีในท้องถิ่นในการรักษาและดูแลสุขภาพ ในอดีตการรักษาโรคภัยไข้เจ็บจำเป็นต้องอาศัยผีเป็นผู้วินิจฉัยโรคบอกวิธีรักษา ในปัจจุบันแม้มีการแพทย์แผนใหม่ที่สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง แต่โรคบางโรคหรืออาการบางอย่างรักษาไม่หาย ผู้ป่วยที่ไม่มีที่พึ่งจึงจำเป็นต้องพึ่งพิธีกรรม อย่างน้อยจะทำให้จิตใจผู้ป่วยดีขึ้น จึงจัดเป็นพิธีกรรมที่สร้างขวัญและกำลังใจกับผู้ป่วยเป็นหลัก

Yao tai ka 02

เมื่อผู้ป่วยอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือผู้ป่วยหายจากโรคและอาการเจ็บป่วย ก็จะทำพิธีการเหยา ผู้ที่ทำพิธีการเหยาเรียกว่า "หมอเหยา" เป็นผู้ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษโดยปู่ย่า ตายาย แม่ เป็นหมอเหยามาก่อน ลูกก็จะสืบทอดการเป็นหมอเหยา แต่ในปัจจุบันนี้การสืบทอดการเป็นหมอเหยานั้นได้เลือนหายไปจากสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทยไปแล้ว ยังเหลือแต่หมอเหยาที่เป็นผู้อาวุโสของชุมชนเท่านั้น และการประกอบพิธีกรรมเหยายังคงเหลือให้เห็นเพียงแต่บางชุมชนเท่านั้น เนื่องจากสังคมสมัยใหม่ได้เขามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างของชาวผู้ไทย ทั้งนี้ การเหยาเป็นการติดต่อสื่อสารของมนุษย์และวิญญาณ ซึ่งการติดต่อสื่อสารจะใช้ท่วงทำนองของดนตรี หรือที่ชาวผู้ไทยเรียกว่า กลอนลำ (หมอลำ) มีเครื่องดนตรีประเภทแคนประกอบการให้จังหวะ วิธีการติดต่อสื่อสาร กลอนลำและทำนอง เรียกว่า การเหยา

Yao tai ka 03

ประเภทของการประกอบพิธีกรรมเหยา
  • การเหยาเพื่อคุมผีออก เนื่องจากผู้ป่วยมีความเชื่อว่าการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการกระทำของผีหรือวิญญาณทำให้เกิดการเจ็บป่วย ซึ่งจะต้องมีการเสี่ยงทายจากหมอเหยา ทำพิธีคุมผีออกจากการร่ายรำของหมอเหยา ประกอบกับดนตรีที่ใช้แคนเป็นเครื่องดนตรี

Yao tai ka 04

  • เหยาเพื่อให้ขวัญและกำลังใจ เหยาต่ออายุ เหยาเพื่อชีวิต เหยาแก้บน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ครอบครัวญาติพี่น้อง วงศ์ตระกูล ในช่วงเทศกาลงานสำคัญๆ ของหมู่บ้านชุมชน หรือฤดูกาลทำการเกษตรกรรมเพื่อให้ได้ผลผลิตมีความอุดมสมบูรณ์ตามที่คาดหวัง
  • เหยาเพื่อเลี้ยงผี เพื่อเลี้ยงขอบคุณผีบรรพบุรุษในรอบปี ซึ่งพิธีการเหยาแบบนี้จะกระทำเพียงปีละครั้งเท่านั้น ในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายนเท่านั้น เพื่อขอขมาและสักการะผีที่ช่วยปกป้องคุ้มครองชุมชนให้ปกติสุข ไม่มีเรื่องอันใดที่ทำให้เกิดภัยพิบัติหรืออันตรายแก่ผู้คนในชุมชนผู้ไทย
  • การเหยาในงานบุญประจำปี ส่วนมากกระทำพิธีกรรมในงานบุญผะเหวดเท่านั้น โดยมีการเหยาปีละครั้งเท่านั้น กระทำติดต่อกันทุกๆ ปี ครบ 3 ปี แล้วจะเว้นช่วงของการประกอบพิธีเหยาในงานบุญประจำปีนี้ 1 ปี แล้วจึงกลับมาทำพิธีกรรมอีกครั้งเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ

Yao tai ka 05

เครื่องคายในพิธีเหยา

สำหรับเครื่องคาย หรือสิ่งที่ใช้ในการประกอบพิธีเหยา จะเป็นสิ่งที่ผีบอกให้จัดหาว่า จะต้องมีประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง และจะต้องจัดตามรูปแบบที่ผีบอก เครื่องคายจะประกอบด้วย ข้าวสารขาว นำมาเพื่อการเสี่ยงทาย ดอกลีลาวดี (ดอกจำปาลาว) ใช้ในการเสี่ยงทายได้เช่นกัน แต่ถ้าขาดดอกลีลาวดีพิธีก็ไม่สามารถเริ่มได้ เหล้า แต่เดิมใช้เหล้าสาโทกลั่นเพราะถือว่าเป็นน้ำที่ดีที่สุด แต่ปัจจุบันนิยมใช้เหล้าขาวเพราะหาง่าย น้ำส้ม ในอดีตใช้น้ำเปล่า แต่เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนไปจึงต้องมาใช้น้ำส้ม เพราะสีสวย ผ้าแดง ถือว่าเป็นผ้ามงคล บุหรี่ หมาก ในอดีตมีการต้อนรับด้วยยาสูบและหมาก หากไม่มีถือว่าไม่ให้เกียรติกัน หมอน เครื่องนอนใช้รองศีรษะ เงิน คายของแต่ละคนจะมีจำนวนไม่เท่ากัน ดาบ ใช้ตัดขวัญสิ่งไม่ดี ไข่ดิบ ใช้ในการเสี่ยงทาย

mor yao

หมอเหยา

หมอเหยา คนที่จะเป็นหมอเหยานั้น "ผี" จะเป็นคนเลือกเองว่าจะให้ใครเป็น ถ้าใครถูกเลือกแล้วจะต้องมีศาลพระภูมิประจำผี แต่งขันดอกไม้มาบูชาผีอยู่นอกบ้านข้างๆ กับตัวเรือน ห้องพระกับห้องผีจะอยู่ด้วยกันไม่ได้เด็ดขาด และมีข้อห้ามกินเนื้อ 10 อย่าง คือ เสือ, ช้าง, ม้า, งู, หมา, ปลาไหล, คน, เต่า, ลิง และโค เมื่อหมอเหยาตาย ผีก็จะออกและจะไปหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งหมอเหยาแต่ละคนนั้นจะไม่มีการสืบทอดไปยังบุคคลอื่นต่อๆ ไปได้ นอกจากผีตนนั้นจะเป็นผู้เลือกเองว่าจะต้องการอยู่กับใคร ซึ่งวิธีการมาอยู่ด้วยนั้นจะเป็นเวลาที่ทำพิธีเหยา ผีอยากอยู่กับใครก็เข้าสิงทันที (แต่ในบางกลุ่มชาติพันธุ์ก็ใช้วิธีสืบทอดต่อๆ กันมา ด้วยเหตุที่ว่าต้องการสืบทอดประเพณีไว้ให้คงอยู่ รอให้ผีเลือกแล้วจะสูญหาย สมัยวิทยาการรุ่งเรืองต้องใช้ทางเลือกบ้าง)

การประกอบพิธีกรรมเหยา

จะงดเว้นไม่ทำในวันพระข้างขึ้นและข้างแรม 8 ค่ำ กับ 15 ค่ำ จะประกอบพิธีการเหยาเฉพาะเวลาพลบค่ำหรือเวลาเย็นเป็นต้นไป ไม่นิยมกระทำพิธีในช่วงบ่าย เพราะชาวผู้ไทมีความเชื่อว่า ช่วงเวลาบ่ายเป็นเวลาในการเคลื่อนศพไปป่าช้า ไม่มีความเป็นสิริมงคล

สถานที่ในการประกอบพิธี

สถานที่ในการประกอบพิธีการเหยารักษาคนป่วย จะใช้บ้านของผู้ป่วยในการทำพิธี แต่ถ้าเป็นการประกอบพิธีเหยาประจำปีของชุมชน ก็จะใช้สถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน

ขั้นตอนการเหยา

ขั้นตอนการเหยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วบ เริ่มจากจัดเครื่องคายและตั้งเครื่องคายสำหรับพิธีการเหยา แล้วนำมาวางต่อหน้าหมอเหยา เตรียมเครื่องแต่งกายของหมอเหยาและหมอแคน การบูชาครูและลำเชิญผีลง เพื่อให้ผีมาเข้าทรงถามอาการเจ็บป่วยจากผี เมื่อผีเข้าทรงแล้วก็จะมีการแต่งกายของหมอเหยา แล้วทำการเหยาไปตามทำนองของเสียงแคนประกอบการร่ายรำ 

Yao tai ka 07

ลำเหยาโต้ตอบกันระหว่างผีและหมอเหยาเพื่อถามผีว่าต้องการอะไร จะแก้ไขอาการเจ็บป่วยได้อย่างไรจะใช้เครื่องเซ่นสรวงอะไรบ้าง โดยให้ญาติผู้ป่วยเป็นล่ามติดตามกับหมอเหยา เพื่อถามถึงสาเหตุและอาการเจ็บป่วยดังนี้

  • หมอเหยาตรวจดูความเรียบร้อย ความถูกต้องของเครื่องคายที่ใช้ในการบูชาเครื่องเซ่นไหว้
  • หมอแคนเริ่มเป่าแคนให้จังหวะประกอบการเหยา
  • หมอเหยาลำ (กลอนลำ) ร่ายกลอนเชิญผีมาถามสาเหตุของการเจ็บป่วย
  • ญาติผู้ป่วยมอบสุราขาวให้หมอเหยาประมาณครึ่งขวด หมอเหยาจะต้องดื่มเหล้าประมาณหนึ่งจอก หมอแคนดื่มหนึ่งจอก
เสี่ยงทายวิงวอน

หากแต่การเชิญผีมาถามถึงสาเหตุความโกรธแค้น เพื่อให้ผีไม่ทำร้ายผู้ป่วย ก็ไม่ใช่การเอ่ยปากถามกันตรงๆ หมอเหยาจะมีวิธีการถามผีด้วยการเสี่ยงทาย โดยใช้เครื่องประกอบพิธีกรรมบางอย่างเช่น ไข่ และข้าวสาร โดยการเอาข้าวสารโรยลงไปในไข่แล้วนับจำนวนเม็ดข้าวสาร ถ้ามีข้าวสารติดอยู่บนไข่จำนวนคี่แสดงว่าผู้ป่วยจะหายป่วย ถ้าข้าวสารติดอยู่จำนวนคู่แสดงว่าผีไม่ยอมให้หาย หมอเหยาจะต้องอ้อนวอนต่อไปอีก โดยผู้เข้าร่วมในพิธีจะช่วยกันพูดอ้อนวอนผีให้ยอม

จากนั้นจะทำการเสี่ยงทายด้วยดาบ โดยปักดาบลงไปในข้าวสาร ถ้าดาบนั้นตั้งอยู่บนข้าวสารได้แสดงว่าผีให้อภัยไม่โกรธแค้น หากดาบที่ปักลงบนข้าวสารแล้วล้มลง แสดงว่าผียังมีความโกรธแค้นผู้ป่วยอยู่ หมอเหยาจะทำการอ้อนวอนอีกครั้งหนึ่งพร้อมญาติและผู้เข้าร่วมพิธี จะอ้อนวอนเสี่ยงทายจนกว่าดาบนั้นตั้งอยู่บนถ้วยข้าวสารได้

ครั้นมั่นใจว่าผีให้อภัยหายโกรธแค้นแล้ว หมอเหยาจะทำการเสี่ยงทายด้วยเมล็ดข้าวสารที่โรยลงบนฝ่ามือสามครั้ง ถ้าข้าวสารมีจำนวนคี่แสดงว่าผีนั้นหายโกรธแค้นแล้ว หากผียังมีความโกรธแค้นอยู่ก็จะทำการเสี่ยงทายไปเรื่อยๆ หรือทำการตั้งดาบใหม่ เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าผียกโทษให้ และหายโกรธแค้นแล้ว 

พิธีเหยา : ความเชื่อ พิธีกรรมผู้ไท EP.1

เมื่อเสร็จพิธีแล้ว หมอเหยาจะกินค่าคายคือ ดื่มเหล้า และทักทายกับผู้ที่มาร่วมพิธีการเหยา จากนั้นหมอเหยาจะเสี่ยงทายปักดาบลงบนข้าวสารอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าผีคืนขวัญให้ผู้ป่วยแล้ว และจะทำการเสี่ยงทายโดยการนับเมล็ดข้าวสารในมือว่าเป็นจำนวนคี่หรือคู่ตามการเสี่ยงทาย ถ้าได้จำนวนคู่จะทำนายด้วยเมล็ดข้าวสารอีกสามครั้ง จนกระทั่งแน่ใจว่าผีให้อภัยแล้ว จากนั้นหมอเหยาจะถามผีว่าต้องการเครื่องบวงสรวง เครื่องเซ่นไหว้อะไรบ้าง 

การส่งเครื่องสังเวยเซ่นไหว้แก่ผี หมอเหยาจะประกอบพิธีกรรมพร้อมการร่ายรำ ประกอบทำนองของแคนเพื่อให้แน่ใจว่าขวัญของผู้ป่วยกลับมาแล้ว พร้อมการเสี่ยงทายเมล็ดข้าวสาร และปักดาบอีกครั้งจนแน่ใจ และทำพิธีอำลาผี ขอให้ผีนั้นช่วยดูแลคนในหมู่บ้านอย่าได้หนีไปไหน ซึ่งของสังเวยเซ่นไหว้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยกองบุญที่ญาติผู้ป่วยจะต้องเตรียมสังเวยให้ผี บุหรี่ หมาก พลู อย่างละคู่ พร้อมกับข้าวหวานที่เตรียมไว้เป็นข้าวเหนียวนึ่งสุกผสมกับน้ำตาล

Yao tai ka 08

หลังพิธีการเหยา

ผู้ป่วยจะต้องตั้งถาดเครื่องบวงสรวงเซ่นไหว้ผี หรือถาดเครื่องคายไว้ที่บ้านประมาณ 7-10 วันหรืออาจจะนานกว่านั้นจ นกว่าผู้ป่วยจะหายเป็นปกติ หากผู้ป่วยยังหายไม่เป็นปกติ ญาติผู้ป่วยจะตามหมอเหยามาทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการเหมือนเดิมทุกประการจนกว่าผู้ป่วยจะหาย หากประกอบพิธีแล้วผู้ป่วยยังไม่หาย หมอเหยาจะทำพิธีกวาดออกไป ให้ผู้ป่วยนอนหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ใช้ใบไม้จุ่มเหล้าหรือสุราขาวกวาดออกไป แล้วเอาดาบกวาดออกไปอีกรอบ

เมื่อครบรอบปีของการเหยา หมอเหยาจะถูกเชิญมาทำพิธีอีกครั้งหนึ่งเพื่อต่ออายุหมอเหยา และขอขมาผีและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชุมชนผู้ไทเอง 

อาการเจ็บป่วยที่ใช้พิธีเหยาประกอบการรักษา ส่วนใหญ่เป็นอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย อันเป็นอาการทั่วไปของผู้ทำการเกษตร อาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับกระดูกและข้อซึ่งมักเป็นอาการของผู้สูงอายุ หรือเจ็บป่วยทั่วไป เป็นไข้ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง

อาการป่วยที่หาสาเหตุไม่ได้ โดยมีความเชื่อจากสิ่งเหนือธรรมชาติกระทำให้เกิดการเจ็บป่วย หรือเวลามีอุบัติเหตุเมื่อผู้ป่วยกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ญาติผู้ป่วยจะกระทำพิธีเหยาเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจให้และที่สำคัญของวิถีชีวิตแบบชุมชน คืออาการเจ็บป่วยวาระสุดท้ายของชีวิตอาทิผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย กลับมาพักที่บ้าน ก็จะพยุงใจให้สงบได้ด้วยพิธีกรรมเหยาที่ให้ความอบอุ่นและกำลังใจ

พิธีเหยา : ความเชื่อ พิธีกรรมผู้ไท EP.2

ขอบคุณข้อมูล : รวมๆ มาจากกลุ่มชาติพันธุ์หลายแหล่ง ภาพประอบสวยๆ : จาก ชายสามหยด

 lilred

backled1

isan word tip

ประตูสู่อีสานบ้านเฮา

IsanGate.com

ปณิธานของเรา :

"ชนชาติที่เป็นอารยะ ต้องมีรากเหง้า และที่มาอันยาวนาน ด้วยภาษาและขนบธรรมเนียมของตนเอง"

: Our Web Site.

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net
e mail
นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)