คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ศิลปินพื้นบ้าน คือ ผู้สร้างสรรค์ผลงานอันหลากหลาย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของพวกเราชาวอีสาน จึงขอประกาศเชิดชูคุณูปการของท่านเหล่านั้นให้ลูกหลานได้รู้จัก เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ผู้จัดทำเว็บไซต์ไม่อาจทำความรู้จักกับศิลปินพื้นบ้านทุกท่านได้ ก็ได้แต่หวังว่าจะได้รับคำแนะนำจากท่านผู้รู้ในท้องถิ่นต่างๆ ได้ช่วยชี้แนะกันมา ยินดีรับข้อมูลและภาพประกอบของศิลปินชาวอีสานทุกท่านนำมาเสนอ ณ ที่นี้ ติดต่อได้ที่ webmaster(@)isangate.com ขอบพระคุณทุกๆ ท่านครับ
ปราชญ์พื้นบ้านผู้เป็นครูเพลงหมอลำ และยาสมุนไพร เป็นผู้ผลิต "พิณ-ซุง" ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีอีสาน ประเภทดีด ที่ชาวอีสานรู้จักกันดีมาช้านาน โดยนำมาบรรเลงควบคู่กับแคน ประสานเสียงกับบทเพลงหมอลำได้อย่างลงตัว ด้วยท่วงทำนองที่เร้าร้อน คึกคัก ตามแบบฉบับชาวอีสาน ใครได้ฟังจะต้องขยับแข้งขยับขาตามไปแบบไม่รู้ตัว เพราะมีความมันในอารมณ์
จากความเชี่ยวชาญสู่การอนุรักษ์และถ่ายทอดวิชาความรู้ ในเรื่องการผลิต และการเล่นอย่างถูกวิธี สู่รุ่นลูก รุ่นหลานให้คงอยู่สืบไป ทำให้เด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน ได้มีงานทำ มีอาชีพติดตัว เป็นศิลปินบรรเลงกับคณะหมอลำ ที่สำคัญทำให้เยาวชนในหมู่บ้านห่างไกลจากยาเสพติดอีกด้วย
นายอัมพร ขันแก้ว อายุ 69 ปี มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 89 หมู่ที่ 13 บ้านสร้างถ่อใน ตำบลสร้างถ่อน้อย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นครูเพลงหมอลำซึ่งคร่ำหวอดอยู่กับคณะหมอลำ ได้แต่งเพลงให้นักร้องหมอลำมานานหลายปี มีความต้องการที่จะอนุรักษ์เครื่องดนตรีพื้นเมือง ประเภทดีด คือ พิณและซุง ไม่ให้สูญหาย จึงได้เปิดสอนให้เด็กนักเรียนและเยาวชนในพื้นที่เข้ามาศึกษา ฝึกหัดการดีดพิณและซุง สามารถเล่นเป็นเพลงได้และประสบผลสำเร็จไปแล้วหลายรุ่น
นายอัมพร ขันแก้ว เล่าว่า บิดา เป็นศิลปินพื้นบ้าน(หมอลำ) สามารถเล่นได้ทั้งพิณและซุง รวมถึงทำการผลิตเครื่องดนตรีชนิดนี้ให้กับคณะหมอลำต่างๆ อยู่เป็นประจำ บางครั้งก็ถูกว่าจ้างให้ไปเล่นเดี่ยวพิณ เดี่ยวซุง ในงานพิธีมงคลต่างๆ ทั่วภาคอีสาน ซึ่งตนก็ได้ติดตามบิดาไปทุกหนทุกแห่ง ระหว่างที่ได้ติดตามบิดาไปเล่น ก็ได้มีการศึกษาเรียนรู้ควบคู่กันไปด้วย จึงมีความเชี่ยวชาญทั้งการเล่นบรรเลงเครื่องดนตรีชนิดนี้ รวมทั้งการผลิตพิณและซุงได้เป็นอย่างดี
จนกระทั่งบิดาเสียชีวิต ตนเองก็ได้มีการสืบทอดเจตนารมณ์ของบิดาในการเล่นและผลิตเครื่องดนตรีชนิดนี้ มานานกว่า 40 ปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะดนตรีแบบโบราณนี้ไว้ ที่ผ่านมาตนก็ได้เปิดสอนเด็กนักเรียน เยาวชนในหมู่บ้านให้ได้เรียนรู้ จนจบไปหลายรุ่นแล้ว โดยสอนวิธีการเล่นพิณและซุงอย่างถูกต้อง ทำให้เด็กที่จบออกไปนำเอาความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพกับคณะหมอลำ หรือไม่ก็ไปรับจ้างเล่นตามงานพิธีมงคล หรืองานวัดต่างๆ เรียกว่า มีงานเล่นตลอดเวลาเป็นอาชีพเสริมจากการทำนา
นายอัมพร ได้บอกเล่าถึงวิธีผลิตพิณและซุงให้พอเข้าใจโดยสังเขปว่า ไม้ที่ใช้ทำพิณและซุงนั้นที่นิยมมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ ไม้หมากมี้ (ขนุน) ไม้ประดู่ และไม้พยุง โดยจะใช้ไม้ที่มีความยาว 1 เมตร หน้ากว้าง 10 เซนติเมตร มาทำการตกแต่งแปรรูปเป็นตัวพิณและซุง แล้วใช้ตัวคอนแท็ค (ของกีตาร์ เป็นตัวรับเสียง) และมีตัวคีย์ (เฟรช) ขั้นระดับเสียง 11 ตัว จากนั้นใส่สาย 2 เส้น 3 เส้น หรือ 4 เส้นตามความต้องการ (ของผู้เล่น) แล้วทำการปรับเทียบเสียงให้เข้ากับเสกลโน้ตสากล เมื่อปรับเทียบเสียงได้ถูกต้องแล้ว ก็จะทำการตกแต่ง แกะสลักลวดลายต่างๆ ทั้งบนตัวลำตัวพิณ และปลายคอให้เป็นลวดลายต่างๆ อย่างสวยงาม เช่น ลายกนก ลายมังกร และลายพญานาค รวมทั้งสลักคำ ข้อความ หรือชื่อเจ้าของลงไปตามที่ลูกค้าต้องการ จากนั้นจึงลงแลคเกอร์เคลือบทับเพื่อความสวยงาม
สำหรับราคาจำหน่ายพิณและซุงที่ผลิตขึ้นนั้น จะเริ่มตั้งแต่ราคา 500 - 5,000 บาท ก็ขึ้นอยู่กับชนิดเนื้อไม้ที่ใช้ทำ รูปร่างและขนาดของตัวพิณ บวกกับความต้องการของลูกค้าว่าจะต้องการรูปแบบไหนอย่างไร ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังคงผลิตพิณและซุงจำหน่ายให้กับผู้สนใจทั่วไป สถานศึกษา วงดนตรีพื้นเมือง และคณะหมอลำต่างๆ บางครั้งก็แต่งบทเพลงหมอลำแถมให้ด้วย เพื่อเป็นการเผยแพร่ศิลปะพื้นเมืองของชาวอีสานให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
พิณ ตัวพิณทำจากไม้ที่มีความบาง แบนทึบตัน (เหมือนกีตาร์ไฟฟ้า) และจะใช้สายกีตาร์เป็นตัวดีดให้เสียง ซึ่งเมื่อดีดจะมีเสียงแหลม เพราะตัวพิณไม่มีลำตัวภายในโปร่งเป็นโพรง แต่จะเจาะเป็นรูเท่านั้น การดีดพิณจะมีการดีดทีละสาย คล้ายการเล่นกีตาร์ไฟฟ้าโซโล่เป็นทำนอง ซึ่งจะดีดคู่กับเสียงร้องเพลงหมอลำผู้หญิง เล่นกับหมอลำซิ่งกันมากในปัจจุบัน
ซุง จะทำจากไม้มีลำตัวที่หนากว่า เจาะเป็นโพรงภายในเหมือนกับกีตาร์โปร่ง แต่ใช้สายลวดของเบรกรถจักรยาน ซึ่งเป็นเกลียวที่แข็งแรงกว่าสายกีตาร์ เมื่อดีดแล้วจะให้เสียงทุ้มกังวาน จากโพรงภายในตัวซุง ส่วนใหญ่จะเล่นกับคณะหมอลำยุคเก่า การบรรเลงเดี๋ยว ส่วนการดีดซุงจะดีดพร้อมทุกสายเป็นจังหวะเหมือนกับกีตาร์คอร์ด คนที่เล่นเก่งๆ จะเล่นพลิกแพลงใส่ทำนองไปพร้อมกับการดีดคุมจังหวะไปด้วย (เหมือนการเล่นกีตาร์แบบ Fingerstyle) นั่นคือข้อแตกต่างของเครื่องดนตรีทั้ง 2 ชิ้นนี้
นอกจากนี้ นายอัมพร ขันแก้ว ยังเป็นปราชญ์พื้นบ้านด้านพืชสมุนพรอีกด้วย โดยบริเวณหลังบ้านได้กั้นพื้นที่จำนวน 2 งาน สำหรับปลูกพืชสมุนไพรหลากหลายชนิด เพื่อทำเป็นยารักษาโรค ทั้งแบบต้มรับประทาน หรือแบบเคี้ยวกินสด ก็มีไว้บริการแก่ผู้สนใจแบบฟรีๆ ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรหญ้ารีแพร หมามุ่ยญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อขนถูกร่างกายจะไม่คันเหมือนหมามุ่ยไทย มีสรรพคุณเพิ่มพลังทางเพศ ว่านชมจันทร์นำไปต้มกิน 1 หม้อ จะทำให้ร่างกายไม่หย่อนยาน เป็นยาระบาย ส่วนถั่วดาวอินคา มีสรรพคุณแก้เหน็บชาตามมือ ตามเท้า เป็นต้น
หากท่านใดมีความสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม หรือต้องการยาสมุนไพรรักษาโรค ก็ติดต่อไปที่ นายอัมพร ขันแก้ว บ้านเลขที่ 89 หมู่ที่ 13 บ้านสร้างถ่อใน ตำบลสร้างถ่อน้อย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ได้ทุกวัน
พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร พ.ศ. 2389 - 2485) เป็นผู้สืบทอดงานพระศาสนาต่อจาก พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) และเป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี รูปแรก ในการปกครองแบบประชาธิปไตย
พระครูวิโรจน์รัตโนบล (ที่คนเมืองอุบลฯ หรือคนที่นับถือท่านทั่วไปมักเรียกท่านว่า พระครูดีโลด ญาคูดีโลด หลวงปู่ดีโลด หรือ หลวงปู่รอด) แห่งวัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี พระเถราจารย์ยุคเก่าเมืองอุบลราชธานี ผู้มีตบะบารมีแก่กล้า มากด้วยอิทธิคุณและบุญฤทธิ์ พระเถราจารย์ใหญ่ผู้เป็นตำนานแห่งศรัทธาของชาวเมืองอุบลฯ ทั้งยังเป็นองค์สังฆเถระนำพาหมู่สงฆ์ และพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย บูรณะปฎิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม เมื่อประมาณ พ.ศ. 2444
พระครูวิโรจน์รัตโนบล มีนามเดิมว่า รอด นามสกุล สมจิตร เกิด เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2389 ตรงกับวันขึ้น 5 ค่ำเดือนยี่ ปีเถาะ จุลศักราช 1217 ที่บ้านแต้เก่า ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โยมบิดาชื่อ นายบุดดี สมจิตร โยมมารดา ชื่อ นางกา สมจิตร ตรงกับปลายรัชกาลที่ 4 โดยท่านเป็น สหธรรมมิก กับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท พ.ศ. 2399-2475) เนื่องจากเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ครั้งเป็นฆราวาส
อุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2421 ที่วัดป่าน้อย (วัดมณีวนาราม) เจ้าอธิการจันลา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์คำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ดี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “นนฺตโร” แปลว่า “ผู้มีความเมตตาแผ่กว้างออกไปไม่มีขอบเขตขีดกั้น” ภายหลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านถูกส่งให้ไปประจำอยู่ที่วัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งเป็นแหล่งการศึกษาที่สำคัญของเมืองอุบล ในสมัยนั้น
วัดทุ่งศรีเมือง เป็นวัดที่สร้างโดย พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ พระเถระที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มากำกับดูแลการพระศาสนาในหัวเมืองอีสาน และท่านได้จัดการศึกษาในหัวเมืองอีสานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ตั้งสำนักสอนหนังสือไทยอย่างภาคกลางขึ้นหลายแห่ง ทั้งในตัวเมืองและนอกเมือง ขณะนั้นอยู่ช่วงปลายรัชกาลของพระองค์ เมื่อพระอริยวงศาจารย์ฯ ละสังขารในปลายสมัยรัชกาลที่ 4 จากนั้น พระครูวิโรจน์รัตโนบล จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าอาวาสครองวัดทุ่งศรีเมือง เป็นผู้สืบทอดงานพระศาสนาและงานการศึกษาต่อมา
ขณะพำนักอยู่ที่วัดทุ่งศรีเมือง พระครูวิโรจน์รัตโนบล ได้มีโอกาสศึกษาพระปริยัติธรรม วิชาการช่าง ตลอดจนข้อวัตรปฏิบัติ และปฏิปทาอย่างพระสงฆ์ จากบูรพาจารย์ที่วัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งสืบทอดต่อมาจากพระอริยวงศาจารย์ฯ จนท่านมีความชำนาญงานช่างต่างๆ ซึ่งปรากฎในเวลาต่อมาว่า งานศิลป์ที่เกิดจากการสร้างของท่านมีความงดงามเป็นเลิศ
พระครูวิโรจน์รัตโนบล ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจาก สำนักราชบรรเทา วิชาที่เรียนได้แก่ เล่าเรียนท่องบทสาธนายสวดมนต์น้อย สวดมนต์กลาง ได้แก่ เจ็ดตำนาน สองตำนาน สวดมนต์ปลาย ได้แก่ ปาฏิโมกข์ สัททสังคสูตร เรื่องมูลกัลป์จายน์ อักษรขอม อักษรธรรม อักษรไทยน้อย ซึ่งเป็นที่นิยมเรียนกันในสมัยนั้น และอักษรไทยในปัจจุบัน และเรียนศิลปศาสตร์ คือ วิชาช่างแต้ม ช่างเขียน ตลอดจนวิชาการช่างอื่นๆ (ช่างปั้น เขียน แกะสลัก) จากสำนักราชบรรเทา อาจารย์เดียวกันกับที่สอนหนังสือเบื้องต้น
ส่วนวิชาศาสตราคมของท่าน มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ ไม่แพ้ความชำนาญด้านช่างศิลป์ เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ท่านเรียนมาจาก ครูบาธรรมวงศ์ (ราว พ.ศ. 2338-2469) ที่วัดผาแก้ว ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพระอาจารย์เพียงรูปเดียวที่มีชื่อเสียงปรากฎว่า เป็นอาจารย์ทางด้านคาถาอาคมของพระครูวิโรจน์รัตโนบล
พ.ศ. 2434 อันเป็นพรรษาที่ 13 ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวงอุตตรูปลนิคม ปัจจุบัน ได้แก่ เจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ และได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็น “พระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช” เป็นเจ้าคณะอำเภออยู่ 12 ปี
พ.ศ. 2445 พรรษาที่ 25 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี รูปแรกตาม พระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ขณะนั้นเรียก “เจ้าคณะเมือง”
พ.ศ. 2446 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ในราชทินนามที่ “พระครูวิโรจน์รัตโนบล” นอกจากพระครูวิโรจน์รัตโนบล จะเป็นพระที่หนักแน่นในกรรมฐานตามแบบอย่างพระอริยวงศ์ศาจารย์ ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ และครูบาธรรมวงศ์ผู้เป็นบูรพาจารย์แล้ว ท่านยังเป็นช่างวิจิตศิลป์ที่ชำนาญในการออกแบบอีกด้วย ท่านได้นำประชาชนบูรณะถาวรวัตถุไว้หลายแห่ง เช่น การปฏิสังขรณ์วิหารและพระเหลาเทพนิมิต พระพุทธรูปสำคัญของอำเภอพนานิคม (ปัจจุบัน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ)
ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัย เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก โดยมีศิษย์ของท่าน 3 คน คือ ท้าวศรีนาม ท้าวคำอาษา และท้าวแก้ว ดวงตา ซึ่งเป็นเจ้านายในกรุงเวียงจันทน์ มีบรรดาศักดิ์ชั้นเพี้ย เป็นผู้สร้าง ตามประวัติเล่าว่า ครั้นเวียงจันทน์เกิดจลาจล ได้มีประชาชนอพยพติดตามท่านพระครูโพนสะเม็กมาจำนวนมาก เมื่อมาถึงนครจำปาศักดิ์ เพี้ยทั้ง 3 ได้ลาอาจารย์นำครอบครัว และพรรคพวกประมาณ 30 ครัวเรือน ไปตั้งบ้านพระเหลาขึ้น และได้สร้างวัดขึ้นที่นั่นเรียกว่า "วัดศรีโพธิยาราม"
แล้วไปอาราธนา พระครูทิ ซึ่งเป็นศิษย์เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กรูปหนึ่ง จากวัดบ้านหม้อมาครองวัด พระครูทิ่ได้สร้างวิหารและพระพุทธรูปใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 3.50 เมตรเศษ ขึ้นไว้ประจำวัด เพราะพระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะงดงามมาก ชาวบ้านจึงขนานนามว่า “พระเหลา” ภายหลัง พ.ศ. 2440 พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เจ้าคณะมณฑลอีสานขณะนั้น มาตรวจการคณะสงฆ์ ได้เห็นพระพุทธรูปองค์นี้ลักษณะงดงาม จึงได้เสริมนามว่า “พระเหลาเทพนิมิตร” (งดงามดังพระอินทร์สร้าง) สืบมา
นอกจากนี้ พระครูวิโรจน์ฯ ยังได้เป็นกรรมการสร้างอุโบสถวัดสุปัฏนาราม และนำประชาชนหล่อพระพุทธรูปสำคัญของเมืองอุบลฯ 3 องค์ คือ พระมิ่งเมือง พระศรีเมือง และ พระสัพพัญญู ซึ่งในปัจจุบันเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดสุปัฏนาราม ได้นำพระประธานปูนปั้นในวัดร้างต่างๆ มาบูรณะขึ้นใหม่ให้งดงามเหมือนเดิม และยังได้นำประชาชนสร้างพระพุทธรูป โบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญทั้งในเมืองและนอกเมืองอีกหลายแห่ง
พระครูวิโรจน์รัตโนบล เป็นพระเถระที่ได้ทุ่มเทชีวิตให้กับงานพระศาสนาอย่างมุ่งมั่น สถาปัตยกรรมที่เด่นชัดและงดงามที่สุด ซึ่งเกิดจากการบูรณะด้วยจิตที่วิจิตร บ่งบอกถึงความชำนาญในวิจิตรศิลป์ของพระครูวิโรจน์รัตโนบล คือ การบูรณะพระธาตุพนม อันเป็นเจดีย์สถานที่เก่าแก่ที่สุดในลุ่มแม่น้ำโขง
เกียรติประวัติของท่านพอสรุปได้ดังนี้
พระธาตุพนม นั้นมีความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เกรงกลัว และเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านชาวเมืองอยู่เป็นอย่างยิ่ง เพราะถือกันว่า มีเทพาอารักษ์มีมเหศักดิ์คุ้มครองพิทักษ์รักษา ผู้ใดๆ จะกล้ำกลายเข้าไปใกล้องค์พระธาตุ โดยการขาดสัมมาคารวะต่อองค์พระธาตุมิได้ จะได้รับโทษทันตาเห็น แม้แต่ต้นไม้ต้นหญ้าซึ่งขึ้นอยู่ที่องค์พระธาตุนั้น ก็จะไม่มีผู้ใดกล้าแตะต้องได้
ภาพพระธาตุพนมองค์เก่า (Vue du monument de Peunom) วาดโดย Louis Marie Joseph Delaporte
นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ประมาณปีค.ศ. 1870-1875 สมบัติของพิพิธภัณฑ์ Guimet
ครั้งต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2444 ท่านพระครูสีทา วัดบูรพา ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และท่านอาจารย์หนู พร้อมด้วยคณะได้เดินธุดงค์มาถึงพระธาตุพนมแห่งนี้ ได้เห็นความเลื่อมโทรมขององค์พระธาตุแล้ว ก็เกิดความสังเวชสลดใจใคร่ที่จะซ่อมแซม จึงได้แนะนำให้ทายกทายิกาชาวเมืองธาตุพนม ให้ลงไปอาราธนาหลวงปู่ท่านพระครูวิโรจน์ฯ วัดทุ่งศรีเมือง ขึ้นมาเป็นหัวหน้าคณะดำเนินการบูรณะซ่อมแซมองค์พระธาตุพนม หลวงปู่ท่านพระครูวิโรจน์ฯ ก็ยินดีรับอาราธนาขึ้นมายังพระธาตุพนม ตามประสงค์
พอท่านขึ้นไปถึง แล้วท่านก็ได้ให้มีการประชุมหัวหน้าของชาวบ้าน ชาวเมือง ในการที่จะดำเนินการบูรณะซ่อมแซม ชาวบ้านบอกว่า "ให้ท่านพาปูลานพระธาตุเพียงอย่างเดียว พอได้เป็นที่กราบไหว้บูชาก็พอแล้ว ไม่ยอมให้แตะต้ององค์พระธาตุโดยเด็ดขาด" ท่านก็บอกชาวบ้านไปว่า "ถ้าท่านไม่ได้ไปบูรณะซ่อมแซมตั้งแต่พื้นดินถึงยอดองค์พระธาตุแล้ว ท่านจะไม่ทำ" ชาวบ้านคัดค้านโดยประการต่างๆ นานา หาว่าท่านไม่ได้ตั้งอยู่ในศีลธรรม เพราะจะไปรื้อเจดีย์ ตัดโพธิ์ศรี ลอกหนังพระเจ้าเป็นบาปหนัก และกล่าวว่าถ้าปล่อยให้ท่านทำตามที่ท่านต้องการแล้ว เทพาอารักษ์ที่พิทักษ์รักษาองค์พระธาตุ ก็จะโกรธแค้นทำให้ชาวบ้านชาวเมืองเดือดร้อนต่างๆ นานา ท่านก็ได้ให้เหตุผลโดยประการต่างๆ ชาวบ้านชาวเมืองก็ไม่ยอม ท่านจึงแจ้งให้ทราบว่า "ถ้าไม่ยอมให้ท่านทำ ท่านก็จะกลับจังหวัดอุบลฯ"
ชาวบ้านก็เรียนท่านว่า "จะกลับก็ตามใจ" แล้วก็พากันเลิกประชุมกลับบ้านไป ในขณะที่ชาวบ้านกำลังกลับจากประชุมที่วัดนั้น บางคนก็ยังกลับไม่ถึงบ้านของตนด้วยซ้ำไป ปรากฏว่ามีหญิงคนหนึ่งชื่อ นางเทียม ได้ถูกเจ้าเข้าสิงตัว ได้บ่นว่าดุด่าอาฆาตมาดโทษหัวหน้าชาวบ้าน ผู้ขัดขวางคัดค้านไม่ให้หลวงปู่ท่านพระครูวิโรจน์ฯ ซ่อมแซมพระธาตุ เช่นว่า “อ้ายคนใดบังอาจขัดขวางเจ้ากู มิให้ท่านซ่อมแซมพระธาตุ กูจะหักคอมัน ท่านจะทำก็ปล่อยให้ท่านทำเป็นไร สูจะไปขัดขืนท่านทำไม แม้กูเองก็ยังเกรงกลัวพระบารมีของท่าน” ดังนี้เป็นต้น
ฝ่ายชาวบ้านมี เฒ่ามหาเสนี เป็นอาทิ เมื่อเห็นเป็นเหตุการณ์วิปริตไปเช่นนั้นก็พากันเกิดความสะดุ้งตกใจกลัวว่า จะมีภัยอันตรายมาถึง จึงได้พากันรีบกลับวัด ไปกราบไหว้วิงวอน ขอขมาลาโทษท่านหลวงปู่ และกราบนิมนต์ท่านไว้มิให้กลับไปเมืองอุบลฯ พร้อมทั้งอาราธนาให้ท่านเป็นผู้นำกระทำการทุกอย่าง สุดแต่ท่านจะประสงค์ พวกตนก็จะปฏิบัติตามทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านก็รับนิมนต์อยู่ปฏิบัติงานต่อไป
ภาพพระธาตุพนม จากบันทึกในช่วง พ.ศ. 2409-11 โดย Louis Delaporte
ในสมัยนั้นบ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะสงคราม มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองหลายด้าน ฝรั่งเศสได้เข้ามายึดแผ่นดินทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง การเงินชาวบ้านไม่ดี เกิดปัญหาที่จะระดมทุนมาบูรณะพระธาตุพนม แต่ท่านก็กล้าเสี่ยงทำงานใหญ่ด้วยหวังต่อคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ในวันแรก พระครูวิโรจน์ฯ นำพระเณรที่มาจากอุบลฯ 40 รูป (หนึ่งในนั้นคือ สามเณรคำหมา แสงงาม ศิษย์เอก) ตั้งเครื่องสักการะ ทำการสัมมาคารวะพระรัตนตรัย แล้วให้พระเณรที่ติดตามทั้ง 40 รูปนั้น เอาไม้พาดเจดีย์ทำความสะอาด ชาวบ้านและพระเณรในวัดไม่มีใครกล้าช่วย แต่พระครูวิโรจน์ก็ทำงานต่อไปทุกวัน ในช่วงแรกมีเพียงเฒ่าชัยวงศา ผู้ใหญ่บ้านดอนกลาง ที่มารับใช้ให้ความช่วยเหลือ
ครั้นผ่านไป 7 วัน ก็เริ่มมีชาวบ้านละแวกพระธาตุพนม มายืนสังเกตการณ์ดูอยู่ห่างๆ ต่อมาได้ 15 วัน ผู้คนก็หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาแม่น้ำโขง เจ้าเมืองท่าแขก ได้ยกหินปูนที่ภูเขาเหล็กไฟให้ทั้งลูก พร้อมเกณฑ์คนเป็นพันคนช่วยขนหินปูนจากเชิงเขาถึงฝั่งแม่น้ำโขง เป็นทางยาว 4 กิโลเมตร โดยยืนเรียงแถวรับส่งหินต่อกันมา เจ้าเมืองสกลนครและหนองคาย ปวารณาให้ช้างมาใช้ลากเข็นจากริมโขงมายังองค์พระธาตุพนม ประชาชนทั้งหลาย รวมทั้งพระภิกษุสามเณร ผู้เฒ่าแก่ หนุ่มสาวหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศมาร่วมด้วยช่วยกัน
พระครูวิโรจน์รัตโนบลได้บูรณะองค์พระธาตุพนม โดยการขูดกะเทาะปูนเก่าออก แล้วโบกเข้าไปใหม่ ทาน้ำปูนพระธาตุ ประดับแก้วปิดทองส่วนบน ติดดาวที่ระฆัง แผ่แผ่นทองคำหุ้มยอด ปูลานพระธาตุ ซ่อมแซมกำแพงชั้นใน ชั้นกลาง จนแล้วเสร็จ ได้ฉลององค์พระธาตุ โดยพระครูวิโรจน์รัตโนบลได้กำหนดให้มีงานชุมนุมไหว้พระธาตุเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันมาฆะบูชาเป็นประเพณีสืบต่อมาถึงปัจจุบัน
พระครูวิโรจน์รัตโนบล ใช้เวลาซ่อมพระธาตุพนมอยู่นานราว 3 ปี จากนั้นก็ใช้เวลาบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ เพิ่มเติม ท่านต้องเทียวขึ้นลงระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับนครพนมหลายเที่ยว ตลอดระยะเวลา 38 ปี ช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตของพระครูวิโรจน์ฯ ท่านอุทิศให้กับการบูรณะพระธาตุพนม และในปี พ.ศ. 2482 เป็นการเดินทางสู่พระธาตุพนม ครั้งสุดท้ายของท่าน
พระครูวิโรจน์รัตโนบล เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี มาจนชราภาพ ครั้นอายุ 75 ปี เกิดความขัดแย้งขึ้นในคณะสงฆ์ มีคำสั่งให้เผาทำลายคัมภีร์ใบลานตามวัดต่างๆ ของอีสาน แต่ท่านไม่ยอมปฏิบัติตาม ยังคงรักษาใบลานในหอไตรวัดทุ่งศรีเมืองไว้ตามเดิม ต่อมาท่านก็ถูกปลดจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี โดยยกขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2470 แม้เป็นกิตติมศักดิ์ ท่านก็ยังอุตส่าห์เป็นพระอุปัชฌาย์ให้การบรรพชาอุปสมบท แก่กุลบุตรผู้มีศรัทธา เอาธุระสั่งสอนพระภิกษุสามเณรและชาวบ้านให้อยู่ในศีลธรรม และเป็นภาระในการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมถาวรวัตถุอยู่เช่นเดิม ตลอดจนอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้เป็นช่างปั้น ช่างแกะลวดลาย ช่างเขียน ตลอดจนช่างเงินทองต่างๆ จนเกิดตระกูลช่างศิลป์ ที่มีความวิจิตรงดงามเฉพาะอุบลสืบต่อมา
แม้ท่านจะชราภาพมากแล้ว หากหมู่บ้านใดเกิดเดือดร้อนไม่ค่อยอยู่ดี ชาวบ้านมานิมนต์ ท่านก็ยังไปรดน้ำมนต์ทำมงคลให้บ้านเมืองเกิดความสงบร่มเย็น ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึง บุญญาภินิหารอันสูงส่งของท่านหลวงปู่ได้เป็นอย่างดียิ่ง ความเป็นผู้ทรงคุณธรรมทางด้านความศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับเวทมนต์ และคาถาอาคมต่างๆ ย่อมเป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีและกว้างขวางในสมัยนั้นว่า หลวงปู่ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล เป็นอาจารย์ผู้มีเวทมนต์และ คาถาอันศักดิ์สิทธิ์และแก่กล้า สามารถที่จะกำจัดปัดเป่าความทุกข์ร้อนของประชาชน ผู้ที่ถูกคุณไสยถูกใส่ ถูกทำ ถูกผีเข้าเจ้าสิงต่างๆ ได้อย่างดียิ่ง ท่านสามารถใล่ปัดรังควานและเสนียดบ้านเสนียดเมืองให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข บ้านใดเมืองใดเกิดเดือดร้อนมีเหตุภัยต่างๆ บ้านเมืองนั้นจะนิมนต์ท่านไปทำพิธีปัดเสนียดจัญไรระงับความเดือดร้อนและเหตุเภทภัยต่างๆ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขสืบไปอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ท่านยังสามารถรักษาผู้เจ็บไข้ได้ทุกข์ต่างๆ ให้หายได้เป็นอย่างดี เช่น คนที่แขนหักขาหักกระดูกแตกเหล่านี้ ท่านก็สามารถทำน้ำมนต์ให้ทาที่เจ็บที่หักให้ติดต่อกันหายสนิทดีได้ด้วยอำนาจบุญญาภินิหาร และด้วยเวทมนต์คาถาอาคมอันศักดิ์สิทธิ์ของท่านเอง
สำหรับงานที่สำคัญอีกอย่างของ พระครูวิโรจน์รัตโนบล คือ การบูรณะหอไตร วัดทุ่งศรีเมือง สร้างมาตั้งแต่ครั้ง พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งทรุดโทรมไปมากตามกาลเวลา เนื่องจากไม่มีใครเป็นช่างที่มีความชำนาญพอที่จะบูรณะได้ ท่านจึงได้นำพาญาติโยมบูรณปฏิสังขรณ์ ซ่อมแซมให้มีสภาพเช่นเดิม เพื่อเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนิกชนและของชาติบ้านเมืองสืบไป
ชาวเมืองอุบลราชธานีรวมทั้งคนทั่วๆ ไปเรียกท่านอีกชื่อหนึ่งว่า "ท่านพระครูดีโลด ญาคูดีโลด ญาท่านดีโลด หรือหลวงปู่ดีโลด" เพราะท่านจะพูดอะไรกับใครๆ หรือฟังใครพูด เวลาเขาเหล่านั้นพูดจบหรือเล่าจบ ท่านมักรับคำของเขาว่า "ดีๆ" ใครจะพูดร้ายหรือพูดดีกับท่าน ท่านก็จะพูดว่า "ดีๆ" เวลามีอารมณ์ชนิดไหนก็ตาม ท่านก่อนจะพูดอะไรก็ชอบเปล่งอุทานว่า "ดีๆ" เขาจึงถวายนามพิเศษว่า "หลวงปู่ดีโลด ญาคูดีโลด ญาท่านดีโลด หรือ ท่านดีโลด" คำว่า "โลด" เป็นคำพื้นเมือง แปลว่า "เลย" คำว่า "ดีโลด" ก็หมายความว่า "ดีเลย" นั่นเอง
พระครูวิโรจน์รัตโนบล หรือ หลวงปู่รอด นันตโร มรณภาพเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2485 รวมอายุได้ 88 ปี 64 พรรษา โดยเป็นเจ้าคณะปกครองพระสงฆ์อยู่ 37 พรรษา คือ เป็นเจ้าคณะอำเภออยู่ 13 พรรษา เป็นเจ้าคณะจังหวัด 24 พรรษา ศิษยานุศิษย์และญาตโยมทั้งหลายได้จัดพิธีฌาปนกิจถวายหลวงปู่รอดเป็นการมโหฬารยิ่ง เมื่อเดือนเมษายน 2485 สมเด็จมหาวีรวงศ์ ได้เป็นผู้อุปถัมภ์นำศพท่านบรรจุไว้ใน หีบไม้ลงรักปิดทองแบบโบราณ ตั้งบนหลัง "นกหัสดีลิงค์"ภายใต้เมรุอันวิจิตรตระการตา สมเกียรติคุณงามความดีของท่าน "พระครูดีโลด" ทุกประการ
เอิ้นขวัญ วรัญญา มีชื่อและนามสกุลจริงว่า ศรัญญา มหาวงค์ เกิดวันเสาร์ ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ที่จังหวัดสกลนคร มาดาชื่อว่า นางศุภวรรณ มหาวงค์ และ นายอดิศักดิ์ มหาวงค์ จบการศึกษาจาก โรงเรียนสว่างแดนดิน เมื่อครั้งยังเด็กขึ้นเวทีประกวดร้องเพลงมาหลายสิบเวที จนไปคว้าแชมป์การประกวดในงานประจำปีของวัดโพธิ์ชัย (วัดหลวงพ่อพระใส) จังหวัดหนองคาย
อ.อ้วน อวบอั๋น ไปพบจึงพามาบันทึกเสียงส่งให้ ครูสลา คุณวุฒิ ในที่สุด ด.ญ.ศรัญญา มหาวงค์ ก็ได้เป็นน้องสาวหล้าของโครงการน้องใหม่ไต่ดาว โดยมี อ.วัชรินทร์ วิเศษ ตั้งชื่อให้เป็น เอิ้นขวัญ วรัญญา ในชุดนี้ครูสลามอบเพลงจังหวะสนุก "บ่กล้าบอกครู (แต่หนูกล้าบอกอ้าย)" และครูเพลงคนใหม่ วิริยะ ก้อนทอง ส่งเพลง "คิดฮอดรอกอดแม่" ให้เอิ้นขวัญ ใช้เป็นบันไดไต่ดาว
เอิ้นขวัญ วรัญญา นักร้องเพลงลูกทุ่งหญิง สังกัดค่าย แกรมมี่โกลด์ ในเครือ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ หนึ่งในนักร้องกลุ่ม น้องใหม่ไต่ดาว โครงการ 1 รวมดาวที่ราบสูง เป็นนักร้องลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังในปัจจุบันจากผลงานเพลง บ่กล้าบอกครู (แต่หนูกล้าบอกอ้าย), คนกำลังน้อยใจ, ผีเสื้อใจร้ายกับดอกไม้ใจอ่อน และ สั่งน้ำตาไม่ได้
ตั้งแต่ มีเพลง "ผีเสื้อใจร้ายกับดอกไม้ใจอ่อน" ออกมามัดใจคอลูกทุ่ง บวกกับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงเป็นโชว์เต็มวง "เดอะนางเดอ" นักร้องสาวของแกรมมี่โกลด์ อย่าง "เอิ้นขวัญ วรัญญา" ดูดีโดดเด่นกว่าที่ผ่านมาหลายเท่าตัว ทั้งนี้นักร้องสาวเชื่อว่า ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การโชว์เป็นวง ทำให้ตนได้ปล่อยของมากขึ้น จึงทำให้เรตติ้งพุ่ง เนื่องจากแฟนๆ ได้ชมการแสดงที่มีความหลากหลาย และครบเครื่องมากขึ้นด้วย
"ปรับมาได้เกือบปี ฟีดแบ็กดี เวลาไปโชว์มีความหลากหลายมากขึ้น มีทั้งเพลงลูกทุ่งแท้ๆ สตริงเก่า ซึ่งเป็นพี่ๆ ในแกรมมี่ส่วนหนึ่งทำให้เอิ้นขวัญได้โชว์ลีลาทั้งการร้อง และการแสดงหน้าเวทีมากขึ้น หนูแฮปปี้มากนะ เป็นการเล่นสดทำให้เราได้พัฒนาเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ เวลาเล่นต้องปรับมุกไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ แฟนส่วนใหญ่ชมว่าสนุกดี มีเพลงให้ฟังได้แล้วแนวไม่น่าเบื่อ เพลงช้าก็ไม่ช้าง่วงเหงา เพลงก็จัดเป็นสเต็ปสนุกๆ ค่อยขยับเพื่อความสนุก มีแฟนชมว่าสวยขึ้นด้วยดูดีขึ้น ด้วยมีการพัฒนาเรื่องการแต่งหน้า การแต่งตัว" แม้ราศีศิลปินชื่อดังจับมากขึ้น แต่นักร้องสาวที่ก้าวมาจากโครงการน้องใหม่ไต่ดาว ยังคงวางตัวเหมือนเดิมมิเปลี่ยนแปลง โดยตัวตนที่แท้จริงเป็นคนสบายๆ ชอบความสนุกสนาน ชอบเล่นตลกให้คนรอบข้างหัวเราะ แล้วรู้สึกมีความสุขตามไปด้วย ซึ่งแตกต่างจากภาพลักษณ์ในการทำงานที่ดูเคร่งขรึม
บ่กล้าบอกครู เพลงสร้างชื่อของ เอิ้นขวัญ วรัญญา
"หนูเป็นคนสนุกสนานตลกๆ แต่บางทีภาพที่ปล่อยออกไปขรึมๆ เข้มๆ แต่จริงชอบตลก สนุกสนาน ที่ต้องเข้มก็อาจเป็นเพราะแนวเพลง ที่มีเนื้อหาค่อนข้างจริงจัง แฟนเพลงที่เห็นชีวิตจริงๆ หนูเขาก็จะขำนะ บอกว่าฮาไม่เหมือนในทีวีเลย ชีวิตจริงชอบทำให้คนอื่นหัวเราะ บางทีเหมือนเล่นตลกเลยนะ บางทีก็แบบร้องเพลงเพี้ยนๆ ทำอะไรโก๊ะๆ เต้นตลกๆ เวลาทำให้คนอื่นหัวเราะ แล้วรู้สึกมีความสุข คือทุกวันนี้มีแต่เรื่องเครียดๆ พอได้ทำให้คนอื่นหัวเราะเราก็มีความสุขไปด้วย ออกแนวบ๊องๆ"
เป็นนักร้องของค่ายลูกทุ่งยักษ์ใหญ่มากว่า 7 ปี แต่ยังไม่มีอัลบั้มเป็นของตนเอง นักร้องสาวยืนยันว่า ไม่เคยรู้สึกน้อยใจ เชื่อว่าทางต้นสังกัดมีเหตุผล ในการสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้มีคุณภาพมากที่สุด
"ตอนนี้มีแพลนในค่ายนะคะ แต่ต้องรอดูจังหวะที่เหมาะสม อาจารย์ก็เริ่มหาแนวทางแล้วจะเป็นทิศทางไหน หนูไม่น้อยใจว่าอยู่กับแกรมมี่โกลด์มา 7 ปีแล้วไม่มีอัลบั้มเดี่ยว ตอนแรกหนูเป็นนักร้องคิดว่ามีเพลงร้องเป็นของตัวเองก็ดีแล้ว แล้วมีเพลงพิเศษอยู่เรื่อยๆ ทำให้เราได้ศึกษาการทำงานของพี่ๆ เขาด้วย ไม่ได้อยู่นิ่งๆ หยุดไม่ทำอะไรเลย ซึ่งทางผู้ใหญ่ก็ต้องใช้เวลาคัดสรรผลงานกับเราให้มากที่สุด อย่างเพลงผีเสื้อใจร้ายกับดอกไม้ใจอ่อน ก็ใช้เวลาคัดสรรพอสมควร พอได้ทำออกมาก็มีคุณภาพที่ดี ได้รับกระแสตอบรับเยี่ยมมาก นี่คือตัวอย่างที่ดีว่า การไม่รีบร้อน ไม่รีบเร่ง ผลงานจะออกมาดี ทำให้เรามีเวลาได้บ่มตัวเอง ฝ่ายผลิตตั้งใจเต็มที่ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับแฟนเพลงว่าการสนับสนุน และชื่นชอบผลงานเราแค่ไหน ที่ผ่านก็มีคำถามมาตลอดว่าเมื่อไหร่จะได้ฟังผลงานใหม่ อัลบั้มใหม่ พอเขาได้ฟังบอกว่าเพราะมากนะ โหลดแล้ว เป็นกำลังใจที่ดีสำหรับหนูมากๆ ขอบคุณทุกคนที่ติดตามผลงานหนู และคอยเชียร์ตลอดทั้งหน้าเวทีคอนเสิร์ต และโลกโซเชียล"
7 ปีกับการเป็นนักร้องของค่ายแกรมมี่โกลด์ เอิ้นขวัญมีความสุขสุดๆ นอกจากได้เดินบนเส้นทางที่ตนฝันไว้มาตั้งแต่วัยเด็กแล้ว ยังมีรายได้ส่งไปให้ พ่อ แม่ ซื้อที่ทำมาหากิน และได้ส่ง "น้องเมย์" วนิดา มหาวงค์ น้องสาวแท้ๆ วัย 18 ปี เรียนหนังสือช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว
"เบื้องต้นพ่อแม่ก็ภูมิใจในตัวลูกนะ บางทีมีคนมาแซวว่ามีลูกเป็นนักร้องก็อมยิ้ม แต่ไม่แสดงออกอะไรมาก แม่จะพบผู้คนมากกว่าพ่อ คุณพ่อชอบอยู่ในทุ่งนา ที่บ้านเกิด อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร บ้านเอิ้นขวัญฐานะปานกลาง ที่บ้านทำนา กับไร่อ้อย รายได้ก็โอเค หนูเองพอร้องเพลงมีรายได้ก็ส่งให้คุณแม่ทุกเดือน เอาเงินที่เก็บหอมรอมริบไว้ซื้อนาให้พ่อ 6 ไร่ ไว้ปลูกอ้อย และต่อเติมบ้าน หนูรู้สึกภูมิใจ และดีใจนะ สมัยเด็กๆ ไม่คิดจะทำได้ขนาดนี้ มีโอกาสได้ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ก่อนเพื่อนที่เรียนหนังสือ เพราะได้ทำงานไปด้วย แล้วหนูก็ส่งน้องสาวแท้ๆ เรียนหนังสือ ซึ่งตอนนี้เรียนอยู่ ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สกลนคร รู้สึกดีใจนะคะที่ได้ส่งน้องเรียน คือหนูช่วงมัธยมทำงานด้วย เรียนด้วย การได้ส่งน้องเรียนเหมือนทดแทนเรา ที่ไม่ได้เรียนเต็มที่
คือหนูร้องเพลงมาตั้งแต่ ป. 4 ประกวดในโรงเรียน มีงานวงอิเล็กโทนไปกับอาจารย์ ได้รายได้สตาร์ตวันละ 50 บาท ป. 4 ได้ 50 บาทก็ดีใจมาก จากนั้นก็ขยับขึ้นมาวงดนตรี มีแดนเซอร์ จนกระทั่งมาประกวดงานสงกรานต์วัดโพธิ์ชัย หลวงพ่อพระใส จ.หนองคาย อายุต่ำกว่า 15 ปี ก็ชนะได้ที่ 1 ปีถัดมาก็ประกวดอายุมากกว่า 15 ปี ก็ได้ 1 อีก คณะกรรมการที่ไปตัดสินท่านเป็นลูกศิษย์ของครูสลา คุณวุฒิ ท่านก็พามาแนะนำ เป็นช่วงที่ครูท่านกำลังหานักร้องดาวรุ่งเข้าโครงการน้องใหม่ไต่ดาว ทำให้มาอยู่แกรมมี่ และเป็นเอิ้นขวัญได้ในวันนี้
การเรียนไม่ได้ทิ้งนะคะ ตอนนี้เรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ เอกสื่อสารมวลชน เหลือเก็บอีกนิดก็จบค่ะ เพราะบางทีตารางสอบตรงกับงาน ก็ต้องรับผิดชอบการทำงานด้วย ที่เรียนคณะนี้เพราะชอบในวิชาชีพด้านนี้ หนูเป็นคนที่อ่อนเลข ถ้าไปเรียนทางเลขน่าจะไปไม่ไหว ส่วนตัวชอบงานในวงการ และตอนนี้ก็ตรงกับสายอาชีพที่เราทำงานแล้วด้วย"
นอกจากงานเพลงแล้ว นักร้องสาวจากสกลนคร ยอมรับว่า หากมีโอกาส ก็อยากลองงานแสดงบ้าง หลังจากได้สัมผัสงานท้าทายกับการเล่นมิวสิกวิดิโอ โดยมี "แอน ทองประสม" เป็นนางเอกในดวงใจ และมีพระเอกอย่าง "ณเดชน์ คูกิมิยะ" เป็นพระเอกที่ชื่นชอบ
"จริงๆ ถ้ามีโอกาสก็อยากลอง เคยเล่นเอ็มวีแล้วก็รู้สึกท้าทาย ถ้าหากมีผู้ใหญ่ให้โอกาสก็อยากจะลองดู ตอนเด็กๆ ไม่เคยฝันว่าเป็นดารา แต่ฝันอยากเป็นนางแบบ รูปถ่ายเด็กๆ จะโพสต์ท่ากระจุยกระจายเลย ตอนเด็กถ่ายรูปโพสต์ท่าเลย จริงๆ ตอนเด็กไม่รู้นะว่านางแบบคืออะไร แต่เห็นเขาเดินสวยๆ ใส่ชุดสวยๆ ก็ชอบ ตอนเด็กๆ ก็ชอบแต่งชุดเอาเชือกมาผูก เอาอะไรมาตกแต่งเสื้อผ้าเดินเล่นกัน หนูไม่ได้เจาะจงว่าเป็นใครเมื่อก่อนไม่ได้รู้จักหรอกนะคะว่าใครเป็นนางแบบ เห็นในหนังสือ ในทีวีก็ชอบ แต่ไม่เคยเห็นตัวจริงนะคะ อยากเล่นบทแบบขำๆ คอมเมดี้ จะได้ไม่ซีเรียสเพราะหน้าเราดูเคร่งเครียดอยู่แล้ว อยากเล่นบทสดใส อย่างเล่นบทสนุกๆ ให้คนอื่นดูแล้วหัวเราะมีความสุขกับเราไปด้วย
นางเอก ชอบพี่แอน ทองประสม ชอบบทบาทที่พี่เขาแสดงออกมาเหมือนเลย เหมือนเขาไม่ได้แสดง แต่เป็นตัวละครตัวนั้นจริงๆ ที่สำคัญพี่เขาสวยด้วยดีด้วย และเก่งด้วย ถามว่าถ้าวันหนึ่งเราได้รับบทนางเอก อยากเล่นกับพี่ ณเดชน์ คูกิมิยะ หนูชื่นชอบพี่เขา ที่สำคัญเขาเป็นคนอีสานด้วย เวลาพูดอีสานดูน่ารักดี ชัดเจนไม่เขิน ชอบที่เขาเล่นละครดี วางตัวดี โดยรวมน่ารักดี เก่ง ส่วนใหญ่ติดตามผลงานพี่เขาย้อนหลังทางยูทูบ เพราะว่า เวลาที่ละครออนแอร์ส่วนใหญ่ตรงกับเวลาที่หนูขึ้นเวทีคอนเสิร์ตค่ะ"
วันว่างจากการเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตทั่วไทย เจ้าของเสียงอันไพเราะเพลงผีเสื้อใจร้ายกับดอกไม้ใจอ่อน ใช้ไปกับการพักผ่อน และไปออกกำลังกายด้วยการตีแบดมินตัน "วันว่างหนูจะไปออกกำลังกายด้วยการตีแบดมินตัน กับเพื่อนๆ น้องๆ ตีประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งต่อครั้ง การได้ออกกำลังกายเสียเหงื่อรู้สึกสบายตัวนะ เวลาไปทำงานก็ทำให้เราไม่รู้สึกเหนื่อย เลือดลมหมุนเวียนดี ที่สำคัญนักร้องต้องเดินทางบ่อยด้วย ร่างกาย และสุขภาพก็ต้องแข็งแรงบ้าง"
ส่วนเป้าหมายในอนาคต "เอิ้นขวัญ วรัญญา" บอกว่า ยังไม่มีอะไรชัดเจน ขอทำวันนี้ให้ดีที่สุด...
ปัจจุบัน มีผลงานออกมาได้รับการกล่าวขวัญถึงหลายเพลง มีอัลบั้มเต็มในรอบ 9 ปี ภายใต้ชื่อ "ผู้หญิงธรรมดาที่กล้ารักเธอ" ล่าสุดสาว “เอิ้นขวัญ” ได้ปล่อยเพลงช้าซึ้งๆ เอาใจคนอกหักกับเพลง “ฝากเบิ่งแนเด้อ” มาให้แฟนๆ ได้ฟัง ซึ่งเพลงนี้ปล่อยออกมาได้เพียงไม่นานยอดวิวก็พุ่งไปกว่า 35 ล้านวิวแล้ว แล้วตามมาด้วย "คนบอกบ่อยู่" เพลงสาวอกหักที่น่าฟังอีกเพลง และล่าสุดเมื่อสักครู่นี้เอง (18/09/2561 : 12:00) ก็ปล่อยซิงเกิ้ลล่าสุด "หากบ่เคยฮักอ้าย"มาอีกเพลง
ฝากเบิ่งแหน่เด้อ โดย เอิ้นขวัญ วรัญญา
สิ้นสุดการแข่งขันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับรายการ The Mask ลูกไทย ทางช่อง Workpoint 23 กับการประชันกันของ 2 สุดยอดหน้ากาก รอบ Champ of the Champ ในคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ระหว่าง หน้ากากบายศรี แชมป์กรุ๊ปไม้เอก VS หน้ากากข้าวหลาม แชมป์กรุ๊ปไม้ตรี
โดยผู้ที่ได้คะแนนโหวตสูงสุด แล้วคว้าตำแหน่งแชมป์ของ The Mask ลูกไทย ก็คือ หน้ากากข้าวหลาม ส่วนรองแชมป์อย่าง หน้ากากบายศรี ต้องเป็นฝ่ายถอดหน้ากากไปก่อน สำหรับตัวจริงของ หน้ากากบายศรี เจ้าของเสียงร้องทรงเสน่ห์สุดประทับใจ ก็คือนักร้องสาว เอิ้นขวัญ วรัญญา แห่งค่าย Grammy Gold นั่นเอง ยินดีด้วยนะ
น้องนุช ดวงชีวัน มีชื่อจริง-นามสกุลจริงว่า จันทร์วิมล พานสายตา เกิดวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2502 ที่บ้านหนองบัวน้อย ตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เรียนจบชั้นป. 4ไม่ได้เรียนต่อเนื่องจากทางบ้านฐานะไม่ค่อยดีนัก ออกมารับจ้างทั่วไปในตัวจังหวัดขอนแก่น แล้วไปทำงานโรงงานทำถุงเท้าที่นครปฐม ชอบร้องเพลงเป็นตัวแทนสาวโรงงาน
จนกลับมาบ้านที่ขอนแก่น ได้ฟังประกาศรับสมัครนักร้องและได้รับการสนับสนุนจาก สวาท ศรีอุดร (ดอนเจดีย์) นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง เหมือนกันกับ สรเพชร ภิญโญ รวมทั้ง แดน ดาราทอง ก็ให้การส่งเสริมด้วย
โชคชะตาลิขิตให้ทั้ง สรเพชร ภิญโญ และน้องนุช ดวงชีวัน โคจรมาพบกันและได้ใช้ชีวิตนักเพลงร่วมกัน ทั้งคู่อยากสร้างชื่อเสียงในวงการเพลง แต่ก็ดูเหมือนกับว่าจะไม่มีวันสำเร็จ สรเพชร ภิญโญ ได้บันทึกเสียงเพลงแรกชื่อ ส่งสารถึงโฆษก ไม่มีเสียงตอบรับ ส่วนน้องนุช ดวงชีวัน บันทึกเสียงเพลงแรกชือ อาลัยชายแดน พอมีคนรู้จักบ้าง ต่อมาทั้งคู่ลงทุนทำมาสเตอร์เพลงร่วมกันเป็นเพลงคู่ โดยสรเพชร ภิญโญ แต่งเพลงเองเพราะไม่มีใครยอมให้เพลง
สรเพชร ภิญโญ เดินตระเวณขายมาสเตอร์ตามห้างแผ่นเสียงต่างๆ อยู่นานหลายเดือนแต่ก็ไม่มีห้างใหนสนใจ ช่วงนี้เขามีหนี้สินแทบจะไม่มีกิน บางครั้งต้องแบมือขอเงินคนอื่นเป็นค่ารถกลับบ้าน จนกระทั้งนายห้างสุชัย วงศ์ดำเนินสะดวก บริษัทจรเข้โปรโมชั่น ทนรำคาญไม่ใหวจึงซื้อมาสเตอร์เพลงเอาไว้ โดยไม่คิดจะออกเทป ต่อมาเป็นจังหวะพอดีที่ทางห้างขาดเทปเพลงวางตลาด จึงหยิบเอามาสเตอร์ชุด "หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ" ของสรเพชร ภิญโญ และน้องนุช ดวงชีวัน มาทำเทปวางจำหน่ายขัดตาทัพ
ใครจะเชื่อว่าเทปที่ออกวางจำหน่ายแบบเสียไม่ได้ จะทำให้ยอดขายเกินล้านตลับได้ นับเป็นประวัติศาสตร์ของวงการเพลงลูกทุ่งที่ต้องจารึก และเทปชุดนี้คือ "หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ" ทำให้สรเพชร ภิญโญ - น้องนุช ดวงชีวัน มีชื่อเสียงหอมฟุ้งขึ้นมาราวปฏิหาริย์ จากนั้นก็มีเพลงดังตามอีกมากมาย เช่น ผัวเมียพอๆ กัน, ทุยอดหญ้าข้าอดข้าว, ตามหาศันสนีย์ , แบ่งลูกคนละครึ่ง, หนุ่มโคราชขาดรัก และเพลง "ศัสนีย์หนีช้ำ" เป็นต้น
ต่อมาได้มาร่วมงานกับวงดนตรีเพชรพิณทอง โดยการชักชวนของ ตลกหนิงหน่อง ได้ผลิตผลงานออกมากับวงเพชรพิณทองอยู่ถึง 3 ชุด อยู่กับวงนานถึง 3 ปี
ทั้งนี้ "ลุงใหญ่ อยุธยา" เปิดเผยว่า นักร้องดังวันวานซึ่งขอเกษียณอายุงานจากสถานทูตไทยในนอร์เวย์ล่วงหน้า ได้มาปรึกษาตนว่า อยากร้องเพลงอีกครั้ง เมื่อตนเดินทางไปเมืองหมอแคน พบว่าเนื้อตัวยังแจ่มแจ๋วอยู่ แม้อายุอานามเคลื่อนมากขึ้นตามกาลเวลา จึงตัดสินใจหาเพลงใหม่ พาเข้าห้องบันทึกเสียง และถ่ายมิวสิกวิดีโอเสร็จเรียบร้อยแล้วด้วย
อาลัยชายแดน - น้องนุช ดวงชีวัน
"คืออย่างนี้ครับ น้องนุช ดวงชีวัน เนี่ย ไปอยู่เมืองนอก 28 ปี ไปทำงานที่นอร์เวย์ แกเรียนหนังสือพอสมควร ก็ไปทำงานสถานทูตไปทำงานด้านแปลภาษา อีกสองปีจะเกษียณอายุ แต่ก็ออกมาก่อน ที่นี้เขาก็ติดต่อมาหาผม ก็ลองฟังเสียงดู เพราะเขาบอกว่าอยากทำเพลง ฟังเสียงแล้วใช้ได้ ผมก็ไปหาที่ จังหวัดขอนแก่น เพราะเขาไม่กลับไปนอร์เวย์แล้ว เผอิญๆ รูปร่างยังได้อยู่ ยังสวย ดูแลร่างกายดี งามเลย ผมก็บอกว่าได้ ถ้าน้องนุชรูปร่างสวยขนาดนี้ เป็นนักร้องได้อีก ผมก็เลยหาเพลงมาให้ สองถึงสามเดือนพอได้เพลงครบมาบันทึกแผ่นเสียง แล้วก็มาถ่ายทำมิวสิกวิดีโอให้ด้วย"
สำหรับแนวเพลงอัลบั้มแรกในรอบ 33 ปี "ลุงใหญ่" เปิดเผยว่า มีหลากหลาย แต่เน้นความเป็นลูกทุ่งโบราณตามสไตล์ของ "น้องนุช ดวงชีวัน" และการทำงานของตนที่หนักแน่นอยู่กับแนวเดิม "แนวเพลงก็สไตล์น้องนุช ดวงชีวัน เป็นเพลงใหม่หมดนะ ไม่เอาของเก่ามาขายนะ สไตล์น้องนุช ดวงชีวัน สไตล์สมัยใหม่ และสไตล์ลูกโบราณ ปนกันไปหมดเลย แต่ยังไงๆ สไตล์ลุงใหญ่ก็หนีลุงใหญ่ไม่ได้ ใช้ดนตรีลูกทุ่งเต็มอัตราศึก วางขายทั่วไปเลยครับ สำหรับน้องนุช ดวงชีวัน คิดว่าไม่ยาก เพราะว่าแฟนเพลงเขายังถามหาอยู่ ในขณะที่ประมาณวงเดือนมิถุนายนนี้ก็จะเริ่มให้น้องนุชเข้ามาเดินสายบอกสื่อว่ากำลังจะกลับมา"
"ลุงใหญ่" กล่าวต่ออีกว่า "น้ำเสียงของน้องนุชในวัย 56 ปี นั้นใสแจ๋ว และสูงน่าฟังกว่าเก่า เพราะตลอดระยะเวลาที่แขวนไมค์ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน แทบไม่ได้ใช้เสียง ทำให้ไม่มีความบอบช้ำ เหมือนกับนักร้องที่ใช้เสียงต่อเนื่องตั้งแต่เข้าวงการจนสังขารเริ่มร่วงโรย"
"ผมกับน้องนุชไม่เจอกันประมาณสิบกว่าปีแล้วนะ คือแกกลับมาเมืองไทยก็แวะมาหาผมนะ แต่ถ้านับจากที่เพลง "หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ" ที่ร้องคู่กับ สรเพชร ภิญโญ และเพลง "ศัสนีย์หนีช้ำ" ที่เขาร้องเดี่ยวโด่งดังมาก เมื่อปี พ.ศ. 2525 ปีนี้ปี พ.ศ. 2558 ตอนนี้ก็ 33 ปีพอดี น้องนุชก็ไม่เคยบันทึกเสียงอีกเลย ไปอยู่ต่างประเทศ ไปๆ มาๆ ปีหนึ่งลาได้หนึ่งเดือนก็มาเยี่ยมบ้านที่ จังหวัดขอนแก่นตลอด"
แม้วงการเพลงหมุนเวียนเคลื่อนตัวไปมากจากสมัยที่ "น้องนุช ดวงชีวัน" รุ่งโรจน์กับเพลงหนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ และเพลงศัสนีย์หนีช้ำ แต่ "ลุงใหญ่" เชื่อว่า ผลงานใหม่ของ "น้องนุช" น่าจะได้รับความนิยมจากแฟนพันธุ์แท้ไม่น้อย
"คือจริงๆ สมัยนี้มันมั่นใจอะไรไม่ได้หรอก แต่ด้วยความรู้สึกผมเชื่อว่า เหมือนกับมวยนั่นแหล่ะ คือเป็นเทรนเนอร์เขา เคยเป็นโปรโมเตอร์เขาก็คงจะพอไหว คงพอจะสู้ได้ และอีกอย่างหนึ่งผมไปฟังเสียงของน้องนุชมาล่าสุด เสียงเขาเด่นกว่าเดิม ดีกว่า และสูงกว่าเดิมตั้งครึ่งหนึ่ง เพราะว่าตัวเขาไม่ได้ร้องเพลงเลย พักคอมาตั้ง 20 ปี ไม่ได้ร้องเพลง อยู่นอร์เวย์มีงานรับเชิญ แต่ก็ต้องข้ามออกนอกประเทศมาเบลเยียม เพราะนอร์เวย์คนไทยอยู่น้อย แต่ก็ไม่ได้ร้องมากหรือว่าใช้เสียงเยอะ" ลุงใหญ่กล่าว
ศันสนีย์หนีช้ำ - น้องนุช ดวงชีวัน
ปัจจุบัน น้องนุช ดวงชีวัน หรือ จันทร์วิมล พานสายตา ได้สมรสกับหนุ่มใหญ่ชาวนอร์เวย์ จอห์นนี่ ทอร์เจนเซน ไม่มีทายาท และมาอยู่ที่บ้านพักจังหวัดขอนแก่น
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)