foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

ngu suang maa suang

งูซวง

ในวรรณกรรมอีสานหลายเรื่องมักกล่าวถึง สัตว์ในอุดมคติ มากมาย ที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อของผู้คนในอดีต ทั้งในเรื่องความศักดฺิ์สิทธิ ความน่าเกรงขาม มีอันตราย ปรากฏในวรรณกรรมอีสาน 2 เรื่อง คือ ท้าวคันธนาม และ สังข์ศิลป์ชัย วรรณกรรมนิทานอีสานได้นำเสนอการอุปลักษณ์ 'งูซวง' ในลักษณะใดบ้าง และการอุปลักษณ์นั้นมีความสำคัญต่อความหมายทางวัฒนธรรมอย่างไร จากการศึกษาการอุปลักษณ์งูซวง พบว่า

  • งูซวง คือ อุปลักษณ์ของความดิบเถื่อนและอันตราย ผู้มีอำนาจ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสร้างของ พญาแถน ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่าง โลกศักดิ์สิทธิ์กับโลกสามัญ เป็นการยกระดับอำนาจมาจากสัตว์ป่า และมิใช่ผลผลิตทางวัฒนธรรม เฉกเช่นสัตว์เลี้ยงที่มนุษย์สามารถควบคุมและกระทำให้เชื่องได้
  • งูซวง คือ อุปลักษณ์ของพลังอำนาจแห่งการทำลายของผู้มีอำนาจ เพราะธรรมชาติย่อมมีพลังอำนาจในการทำลายมนุษย์ ที่ไม่รู้จักการอนุรักษ์ และใช้สอยประโยชน์จากธรรมชาติ กลายเป็นปฏิกิริยาตอบกลับของธรรมชาติต่อมนุษย์

ส่วนประเด็นความหมายทางวัฒนธรรมพบว่า

  • งูซวง ในฐานะสัญลักษณ์พลังอำนาจของธรรมชาติ มีความลึกลับยากแก่การหยั่งรู้ และอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์
  • งูซวง ในฐานะสัญลักษณ์ของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ถูกสร้างขึ้นจากพญาแถน เพื่อกำจัดมนุษย์ที่ไร้ศีลธรรม และถูกย้ำด้วยภาพของสัตว์ที่มาจากเมืองฟ้าเมืองสวรรค์
  • งูซวง ในฐานะสัญลักษณ์ของความเป็นหญิง มีสภาวะตกอยู่ภายใต้การครอบงำ กดขี่ ทั้งยังถูกเชื่อมโยงกับธรรมชาติ และมีสถานภาพด้อยกว่ามนุษย์ผู้ถือครองอุดมการณ์พระโพธิสัตว์

ngu suang 01

การต่อสู้ระหว่างสินไซกับงูซวงบนฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนัง
วัดสนวนวารีพัฒนาราม ตำบลหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

ซวง กับความหมายในภาษาอีสาน

คำว่า “ซวง” นั้น สารานุกรมภาษาอีสาน – ไทย – อังกฤษ ฉบับของ ปรีชา พิณทอง (2532 : 291-292) ได้ให้นิยามดังนี้ คือ

ซวง น.๑
กระหูด เครื่องดักปลาชนิดหนึ่งสานด้วยไม้ไผ่ ปากบนก้นสอบสำหรับวางไว้ทางน้ำไหลเพื่อดักเอาปลาในเวลาน้ำลดเรียกว่า “ซวง”. type of large funnel-shaped woven-bamboo fish trap placed in current.
ซวง น.๒
งูใหญ่ มีในวรรณคดีอีสานเรื่องสังข์ศิลป์ชัย อย่างว่า ที่นั้นมีสรพิษฮ้ายตัวขนาดงูซวง มันก็เทียวระวังขงเขตดงดอยกว้าง คอยเห็นซวงหลายล้นฮังฮามหลายหลาก ยาวฮอดฮ้อยประมาณเส้นเชือกงัว ตาแดงเข้มคือแสงสุริเยศ เพินพ่นเอ้าอายฮ้อนเฮ่งไฟ (สังข์). huge serpent in Isan folklore.
ซวง น.๓
รูปงูที่มีลักษณะคล้ายงูซวง มีขนาดยาวแค่นิ้วชี้ เกิดที่ต้นขาหรือที่อวัยวะเพศหญิง เวลาจะให้โทษรูปงูจะสีดำคล้ำ หญิงใดที่มีรูปงูซวงดังกล่าวจะเป็นหญิงเลี้ยงลูกยาก ตราบใดที่ยังไม่แก้ไขจะเลี้ยงลูกให้โตไม่ได้เลย. skin marking on shaped like snake on some women, believed to be a jinx causing death of children.
ซวง ก.
คว้ามือจับ คว้ามือจับเรียก ซวงมือ อย่างว่า บ้านอ้ายพุ้นบ่อึดบ่อยาก ปวดท้องขี้ไปงอยหลังเต่า หักไม้แก้งไปถืกขากวาง ซวงมือไปถืกหางเหนอ้ม ก้มลอดฮั้วหมากถั่วแทงตา มืนตาขึ้นหมากสีดาหล่นใส่ นั่งย่องย้อเครือกล้วยทั่งหัว (กลอน). to grab.

จากคำนิยามคำว่า “ซวง” ข้างต้นนั้น “งูซวง” ในเรื่องท้าวคัทธนามและสังข์ศิลป์ชัย หมายถึง งูใหญ่ เป็นตัวละครสัตว์ฝ่ายร้าย เพราะมีความดุร้าย มีลำตัวยาว 100 เส้นเชือกล่ามวัว ดวงตาแดงเข้มดั่งแสงพระอาทิตย์ และพ่นพิษเป็นไฟ (ชอบ ดีสวนโคก, 2550 : 35) กล่าวว่า บางแห่งเรียกว่า ลวง หรือ หลื่ง ซึ่งอาจหมายถึง พญานาค ก็ได้ งูซวง เป็นตัวละครสัตว์ในวรรณกรรมนิทานอีสาน ซึ่งปรากฏในความเชื่อที่ว่า งูซวง เป็นสัตว์ที่อันตรายและมีอิทธิฤทธิ์ โดยเฉพาะเด็กๆ มักจะเกรงกลัวงูซวงมาจับไปกิน ซึ่งพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ชอบขู่เด็กที่ร้องไห้ไม่หยุดว่า “งูซวงจะมาจับกิน” (ธวัช ปุณโณทก, 2542 : 828)

nang luang

มกรคายนาค บันไดหอพระวัดพระแก้ว เวียงจันทน์ สปป.ลาว

งูซวง ในวรรณกรรมนิทานอีสานเรื่อง ท้าวคัทธนามและสังข์ศิลป์ชัย มีคุณลักษณะทางชีววิทยาร่วมกันคือ เป็นงูใหญ่ ดุร้าย แต่มีลักษณะต่างคือ งูซวงในเรื่องสังข์ศิลป์ชัย มีฐานะเป็นเพียงสัตว์ป่า ส่วนเรื่องท้าวคัทธนาม งูซวงเป็นสัตว์ที่ถูกสร้างขึ้นจากอำนาจของแถนเพื่อทำลายมนุษย์ ความพ้องกันอย่างหนึ่งของวรรณกรรมที่กล่าวพาดพิงถึงงูซวง อยู่ที่ตัวละครมนุษย์คือ ท้าวสินไซและท้าวคัทธนาม ทั้งสองคนคือ ผู้ที่ถือครองอุดมการณ์พระโพธิสัตว์ และตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก คือ ต่างฝ่ายต้องออกตามหาเครือญาติของตนเอง และต้องเผชิญกับความขัดแย้งกับตัวละครที่มีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ เหตุนี้ งูซวง จึงเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีพลังอำนาจนั้น ซึ่งเปรียบเสมือนด่านทดสอบสภาวะความเป็นพระโพธิสัตว์ของตัวละครเอกซึ่งเป็นมนุษย์ด้วย

อ้างอิง : งูซวงในวรรณกรรมนิทานอีสาน : การอุปลักษณ์และความหมายทางวัฒนธรรม
โดย คมกฤษณ์ วรเดชนัยนา และ ปฐม หงส์สุวรรณ

หมาสรวง

โดย ติ๊ก แสนบุญ 2563

สรรพสัตว์ที่ถือได้ว่า เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้คนในแถบลุ่มน้ำโขง ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ระบบความเชื่อของผู้คนในยุคนั้นยังนับถือผี หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ เฉกเช่น "หมา" เป็นสัตว์ที่หลายชนชาติสมัยโบราณเคารพบูชา ดังปรากฏในภาพเขียนหลายแห่งในสุวรรณภูมิโดยมีประเพณีฝังศพหมาพร้อมคนตาย

 kradook maa

โครงกระดูกหมาที่เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ฝังร่วมกับศพมนุษย์ อายุราว 2,000 ปีมาแล้ว ขุดพบในช่วงปลายปี 2559

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเก่าเล่าเป็นตำนานของมลฑลกวางสี ว่า "หมาเก้าหาง" เป็นผู้นำพันธุ์ข้าวจากสวรรค์มาให้มนุษย์ นับตั้งแต่นั้นมามนุษย์จึงยกย่องหมาเป็นผู้วิเศษ ในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ผู้คุ้มครองชุมชน คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ให้คำอธิบายอย่างละเอียดไว้ว่า หมาได้รับการยกย่องเป็นสัตว์บูชายัญ และนับถือกันตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิ เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว เรื่องดังกล่าว เป็นเพราะมีภาพเขียนสียุคโบราณบนผนัง หรือเพิงผาแถบอีสานของประเทศไทย ไปจนถึงมณฑลกวางสีในจีน

maa9hang 1

โดยยังพบอีกหลายชนชาติในสมัยโบราณที่บูชา 'หมา' ทั้งการฝังศพหมาพร้อมกับคน ที่พบในสมัยราชวงศ์ซางทางภาคกลางของจีน การเซ่นสังเวยหมา และการเคารพยกย่องหมาของชาวเย่วโบราณ รวมทั้งการกินเนื้อหมาเพราะยกย่องและเพิ่มพลังชาว “จ้วง” ทางตอนใต้ของจีน แถบยูนนาน กวางตุ้ง กวางสี ที่ในเอกสารจีนเรียกว่า “ไป่เย่ว” หมายถึง เย่วร้อยจำพวก พี่น้องเครือญาติคนไทในสุวรรณภูมิ ที่สืบเสาะเอาได้จากภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งรวมไปถึงเรื่อง “หมา” ที่ว่านี้ด้วย เรื่องความเชื่อถือเกี่ยวกับหมาของกลุ่มชนชาวจ้วง เป็นต้นว่าในการเผาหินปูนเพื่อเอามาเป็นปุ๋ยของชาวจ้วง

maa9hang 2

ก่อนจะเริ่มงานต้องฆ่าหมาไหว้เจ้าภูเขา เพื่อขอให้งานสำเร็จ อย่าให้มีอุปสรรค พอเสร็จพิธีไหว้ก็จะจัดงานกินอาหารร่วมกันที่ข้างเตาเผา เป็นประเพณีชาวปู้ไย่ ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งของจ้วง ในมณฑลยูนนานก็พลีกรรมแก่ผี ด้วยเครื่องเซ่นตามที่ผีต้องการ อาจเป็นไก่ หมู รวมทั้ง “หมา” ด้วยเช่นกัน ชาวจ้วงแถบหลงโจว ในมณฑลกวางสี จ้วงไทใต้คง ปู้ยี (ในจีน) ชาวเขาเผ่ามูเซอ (ที่จังหวัดตาก) ชาวเขาเผ่าลีซอ มีนิทานที่เล่าถึงหมาเป็นผู้นำข้าวมาให้มนุษย์ ซึ่งมีโครงเรื่องหลักคล้ายคลึงกันว่า บนโลกมนุษย์เดิมไม่มีข้าว มีหมา 9 หางตัวหนึ่งไปขโมยพันธุ์ข้าวบนฟ้า โดยเอาหางไปจุ่มเมล็ดข้าว มนุษย์ได้พันธุ์ข้าวที่ติดมากับหางหรือขนหมามาปลูกกิน หมาจึงมีบุญคุณแก่มนุษย์

maa jeen

รูปปั้นหมาหน้าหมู่บ้าน Chung-chia ของชาวม้ง มณฑลกุ้ยโจว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ในฐานะ ‘ผู้ปกป้องคุ้มครอง’

เรื่องดังกล่าวนี้ คงเป็นที่เชื่อถือกันในชาวจ้วงหลายกลุ่ม เพราะในพิธีกินข้าวใหม่ทุกปีของชาวลีซอ หลังจากไหว้ผีแล้ว จะเอาข้าวใหม่และเนื้อที่ปรุงในพิธี ส่งให้หมากินก่อน เช่นเดียวกับชาวไทใต้คงในยูนนานก็ให้หมากินข้าวใหม่ ใน วันสุนัข เดือนอ้าย ส่วนชาวปู้ไต่ ในจังหวัดเหวินซาน มณฑลยูนนาน พอถึงเดือน 8 ขึ้น 15 ค่ำ จะมีประเพณีหุงข้าวให้หมากิน เพราะเชื่อกันว่าหมาเป็นผู้นำพันธุ์ข้าวมาให้มนุษย์ ชาวจ้วงแถบอำเภอหลงโจว ในมณฑลกวางสี ยังมีผู้คนกราบไหว้สุนัขมาจนทุกวันนี้ ตามถนนเข้าหมู่บ้านหรือปากทางเข้าหมู่บ้านมักตั้งรูป “หมาหิน” ไว้ ในช่วงเทศกาลผู้คนก็จะไปปักธูปวางกระดาษเงินทองที่หมาหินนี้ เพื่อให้ช่วยขจัดสิ่งเลวร้าย และดูแลความร่มเย็นของหมู่บ้าน (สุจิตต์ วงษ์เทศ) และที่สำคัญคือ ชาวจ้วงจะกินหมาเพื่อสังเวยและเพื่อเพิ่มพลังชีวิต โดยวัฒนธรรมนี้ได้ตกทอดมาจนถึงชาวเวียดนามที่นิยมบริโภคหมามาจนถึงปัจจุบัน

maa suang 03

ในบริบทวัฒนธรรมพื้นถิ่นล้านช้าง ตำนานพื้นถิ่นลุ่มน้ำโขงชื่อของ "ขุนบรม" ซึ่งถือเป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรมลุ่มของผู้คนในแถบถิ่นนี้ เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่มากบารมีเป็นผู้สถาปนาสร้างบ้านแปงเมืองที่สำคัญ โดยตำนานเมืองต่างๆ ที่ขุนบรมวีรบุรุษสองฝั่งโขงที่ยิ่งใหญ่ และหลังสมัยขุนบรมนั้น บ้านเมืองเกิดวิกฤตศรัทธาพญาแถนได้ส่ง สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ คือ หมาสรวงและงูซวง ลงมาเพื่อกำหราบปราบจัดการผู้คนที่ไม่ดี

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หมาสรวง รวมถึง งูซวง หรือก็คือ นาคาคติ ซึ่งหมายความถึง พญานาค ถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่สำคัญ อันสืบเนื่องกับลัทธิบูชางูที่วัฒนธรรมลาวเรียกว่า งูซวง เช่นที่ในนิทาน สังข์สินไซ และในสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ ฉบับของ ปรีชา พิณทอง ได้อธิบายว่า ลวง คือ นางนาค เรียก นางลวง ซึ่งสอดคล้องกับ มหาสิลา วีระวงศ์ (นักปราชญ์ สปป.ลาว) อธิบายว่า “ลวง” นี้หมายความว่า นาค

maa suang 02

ดังนั้น จึงเป็นการผสมผสานทางความเชื่อระหว่าง ศาสนาผี และศาสนาพุทธ ที่มีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกับความรู้ท้องถิ่น ดังหลักฐานที่รูปปูนปั้นรูปสิงโต วัดลัฏฐิกวัน ตำบลชะโนด อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งสร้างปี 2479 เรื่องราวของ "หมาสรวง" มักมีความสัมพันธ์กับเรื่องราวของ งูซวาง/งูซวง บางถิ่นเขียนเป็น "งูทรวง" พบในจิตรกรรมฝาผนังอีสานโบราณ ตามแต่จินตนาการช่าง โดยมีวรรณกรรมทางศาสนาของล้านช้างและล้านนาเรื่อง คัชชนาม

สรุปได้ว่า "หมาสรวง" เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกพญาแถนส่งมาจากสวรรค์ เพื่อปราบปรามมนุษย์ที่ประพฤติไม่ดี เมื่อมาอยู่ในบริบทของเมืองมนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อรับคติพุทธสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ก็ยังได้รับเกียรติในฐานะ 'เทพผู้รักษพระพุทธศาสนา' โดยมีรูปเป็นสัตว์ทวารบาลคุ้มครองปกป้องศาสนาคารต่างๆ ดังปรากฏอยู่ที่งานสร้างสรรค์ทางวรรณกรรมทางศาสนา และประติมากรรมปูนปั้นเชิงสัญญะทางความเชื่อในศาสนา เป็นรูปหมาสรวงและงูซวง ตามเชิงบันไดศาสนาคารต่างๆ ในหลากหลายสกุลช่าง

maa suang 01

 เรื่องที่เกี่ยวข้อง : เหรา หรือ น้อนน (สื่อโซเชียลเรียก) หรือ หิมพานต์มาร์ชเมลโล่

redline

backled1

 

tao header

ภาคอีสาน หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย เป็นดินแดนที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นพื้นที่อุดมไปด้วยศิลปวัฒนธรรม จากยุคก่อนประวัติศาสตร์พัฒนาเรื่อยมา มีความเจริญงอกงามของอาณาจักรต่างๆ ได้แก่ ทวารวดี ขอม ล้านช้าง และประเทศไทย ในปัจจุบัน ความเจริญของอาณาจักรต่างๆ นั้นเกิดขึ้นบนพื้นฐานสังคมการเกษตรทั้งการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ จนกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศในปัจจุบัน

“ข้าว” เป็นธัญพืชที่เปรียบเสมือนของขวัญจากธรรมชาติ คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่อื่นทั่วไปให้ความสำคัญข้าวเป็นอย่างยิ่ง จนอาจถือได้ว่าเป็นอาหารของโลก ด้วยความสำคัญของข้าวที่มีต่อมนุษย์เช่นนี้จึงทำให้เกิด “วัฒนธรรมข้าว” ที่สะท้อนในมิติความเชื่อ เช่น ขวัญข้าว เทพเจ้าแห่งข้าว เป็นต้น ความเชื่อเหล่านี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรม อาทิ การสู่ขวัญข้าว การบูชาข้าว การบูชาเทพเจ้าแห่งข้าว (โพสพ) เป็นต้น ลักษณะความสำคัญเหล่านี้เองชี้ให้รู้และเข้าใจถึงความเคารพ และการให้ความสำคัญต่อข้าว จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ต้องปฏิบัติ จนกลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมของผู้คนที่อาศัยในดินแดนแถบนี้

tao kao 01

ในมิติสังคมเกษตรกรรม “ข้าว” เป็นธัญพืชที่ต้องเพาะปลูกเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยว เพื่อกักตุนไว้บริโภค หรือใช้ในกิจกรรมตามความเชื่อต่างๆ ของชาวอีสาน การเพาะปลูกข้าวจึงเป็น "ร่องรอยแห่งภูมิปัญญา (Wisdom) ในสมัยอดีต" ที่บ่งบอกถึงความรู้ความสามารถในการเพาะพันธุ์ และขยายจำนวนข้าวให้เพิ่มมากขึ้นจนเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในชุมชน ภูมิปัญญาที่ประกอบสร้างขึ้น มีหลากหลายมิติที่จะพยายามให้เกิดการ “ทำนา” ภายใต้องค์ความรู้ต่างๆ ที่เกิดจากการเรียนรู้ คิดค้น พัฒนา มาจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยอดีต ไม่มีการบันทึกพันธุ์ข้าวโบราณว่า ได้มาจากแหล่งใดและด้วยเหตุผลใด แต่ร่องรอยของข้าวที่เด่นชัดที่เป็นหลักฐานได้จากรอยแกลบที่ปรากฏในอิฐเผาสมัยทวารวดี ที่ปรากฏในโบราณสถานต่างๆ ในภาคอีสานจะชี้ให้เห็นว่า สังคมทวารวดีก็มีพื้นฐานมาจากสังคมเกษตร เพียงแต่มีข้อสังเกตว่ารอยเมล็ดข้าวที่ปรากฏในอิฐตามโบราณสถานต่างๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ล้วนแต่มีลักษณะเล็กยาวเรียวดุจข้าวจ้าวในปัจจุบัน ส่วนรอยเมล็ดข้าวที่ปรากฏในอิฐตามโบราณสถานต่างๆ ในเขตภาคกลางกลับมีเมล็ดแบนใหญ่ และมีสัณฐานป้อมมนคล้ายเมล็ดข้าวเหนียวในปัจจุบัน สุจิตต์ วงษ์เทศ (2549 : 44-45) กล่าวว่า คนที่อาศัยอยู่ในเขตภาคอีสานมีชีวิตอยู่อย่างเร่ร่อนมานานมากกว่า 5,000 ปี ต่อมาจึงรู้จักการปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ โดยกล่าวว่าเพิ่มเติมอีกว่า กลุ่มพวกที่อาศัยในที่สูงของภาคอีสานมีการปลูกข้าวโดยใช้พันธุ์ป่าพื้นถิ่นดั้งเดิม ที่ไม่ต้องอาศัยน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงมากนัก ในขณะที่พวกที่ราบลุ่มมักรู้จากการใช้น้ำและปุ๋ย เพื่อการเพาะปลูกมากกว่า จึงทำให้คนกลุ่มนี้ไม่นิยมย้ายถิ่นบ่อยและได้ตั้งเป็นหมู่บ้าน เมือง และอาณาจักรได้ในที่สุด

เมื่อ "ข้าว" มีความสำคัญเช่นนี้แล้ว จึงมีความเชื่อและประเพณีที่จัดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับข้าว เพื่อหวังผลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้เกิดการกำหนดเป็นจารีต (ฮีต) ที่ต้องปฏิบัติปรากฏในรอบปี คือ ฮีตเดือน 2 (บุญคูณลาน) เดือน 3 (บุญข้าวจี่) เดือน 9 (บุญข้าวประดับดิน) และเดือน 10 (บุญข้าวสาก) ซึ่งนอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมย่อยตามกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในลักษณะของ “พิธีกรรม” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อข้าว ทั้งในบทบาทของอาหารเพื่อการบริโภค และในลักษณะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องให้ความเคารพบูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุหรือสิ่งที่ต้องใช้เกี่ยวเนื่องในวัฒนธรรมข้าว ที่สำคัญในอดีตคือ “เต่า”

tao kao 02

“เต่า” เป็นสัตว์ที่เชื่อกันว่า เป็นผู้อยู่ศูนย์กลางของโลก มีวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกำเนิดโลกและมหาสมุทร ที่กล่าวถึงเต่าอย่างหลากหลาย และเต่ายังถูกใช้เป็นสัญญะที่สำคัญมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มักถูกใช้ในประเพณีพิธีกรรมตลอดจนถือว่าเป็น สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ (Trilok Chandra Majupuria 2000 : 192- 193) หลายลัทธิศาสนาใหความสำคัญต่อ "เต่า" ในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีทั้งตำนานและความเชื่อต่างๆ ประกอบกัน อาทิ ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า พระนารายณ์ปางกูรมาวตาร ทรงอวตารเป็น "เต่า" เพื่อรองรับ ภูเขามันทระ ที่เป็นแกนหมุนในพิธีกวนเกษียรสมุทร เพื่อไม่ให้ภูเขามันทระที่หมุนกวนเจาะทะลุโลก ศาสนิกชนในศาสนาพราหมณ์จึงเชื่อว่า เต่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยโลกให้พ้นจากการถูกเจาะในครั้งนี้ ในขณะที่ตำนานท้องถิ่นเรื่อง พญากาเผือก ได้อธิบายต้นกำเนิดศาสนาพุทธกล่าวว่า ในภัทรกัปพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งพระนามว่า พระมหากัสสปะ ซึ่งเชื่อว่าเดิมทีพระองค์มีชาติกำเนิดเป็นเต่า จึงทำให้ชาวพุทธนับถือ "เต่า" ว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน ส่วนในประเทศจีนเชื่อถือว่า เต่า เป็นตัวแทนของความอายุยืนยาวและเป็นเทพเจ้า เป็นต้น

ในประเทศไทย เต่า เป็นสัตว์ที่มีความพิเศษในฐานะสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและศาสนา จากการศึกษาค้นคว้าพบว่า เต่าในประเทศไทยมี 6 กลุ่ม คือ 1) Family Testudinidae 2) Family Platysternidae 3) Family Bataguridae 4) Family Trionychidae 5) Family Cheloniidae และ 6) Family Dermochelyidae (พิพิธภัณฑ์เต่า : ออนไลน์) ซึ่งเชื่อกันว่าเต่าน่าจะมีมาตั้งแต่โลกยุคดึกดำบรรพ์และสืบสายพันธุ์กันเรื่อยมา เต่าไม่เคยปรากฏว่าเป็นสัตว์เลี้ยงมาก่อน จึงมีการเลี้ยงเพื่อดูเล่นตามแนวคิดที่ได้มาจากวัฒนธรรมอื่น ซึ่งก็ไม่ใช่การเลี้ยงเต่าพื้นเมืองไทย และเลี้ยงเพื่อเป็นของเซ่นไหว้ตามความเชื่อท้องถิ่น และยังไม่มีการเลี้ยงเพื่อการค้าและการบริโภคด้วย

tao kao 03

อนึ่ง เต่า เป็นสัตว์ท้องถิ่นที่ไม่ใช่อาหารของมนุษย์ที่บริโภคกันเป็นประจำ หรือบางกลุ่มก็ไม่บริโภคเต่าเป็นอาหารเลยก็มี แต่ในภาคอีสานของประเทศไทย ยังมีคนบางกลุ่มบริโภคเต่าเป็นอาหารในช่วงพิเศษเท่านั้น กล่าวคือ การกินเต่าถือเป็นเรื่องพิเศษ สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม ในภาคอีสานบางพื้นที่จะบริโภคเต่าเฉพาะครัวเรือนในช่วง เทศกาลบุญผะเหวด ซึ่งหากมีการเชิญแขกมาร่วมรับประทานด้วย จะถือเป็นการให้เกียรติอย่างสูงมาก ซึ่งนอกจากช่วงเวลานี้ก็จะไม่บริโภคเนื้อเต่าเลย (อธิราชย์ นันขันตี 2561 : สัมภาษณ์) อนึ่งในประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ของอีสานที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ เช่น บุญผะเหวด บุญคูณลาน ทำขวัญข้าว เลี้ยงปู่ตา เป็นต้น ก็มักจะต้องมีเต่าเป็นสัตว์วัตถุที่ใช้ในกิจกรรมเหล่านั้นเสมอ เต่าจึงมีหน้าที่มากกว่าความเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำธรรมดา แต่กลายเป็นภาพแทนทางวัฒนธรรมบางประการ ในลักษณะที่เป็น “สัญลักษณ์” ทำหน้าที่เป็นตัวแทนชุดข้อมูลบางข้อมูลตามความเชื่อในแต่ละท้องถิ่นซึ่งสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

tao kao 04

การใช้เต่าเป็นสัตว์วัตถุในประเพณี และพิธีกรรมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมข้าว โดยเฉพาะในเขตภาคอีสานของประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียงจะเห็นได้ว่า มีการใช้เต่าหลายกิจกรรม ซึ่งมีทั้ง ชิ้นส่วนอวัยวะจากเต่า อาหารจากเต่า และเต่าที่มีชีวิตจริง แนวคิดเหล่านี้อาจเป็นแนวคิดดั้งเดิมก่อนรับอิทธิพลทางศาสนาพุทธ จนพัฒนามาเป็นวัฒนธรรมร่วมกับศาสนาพุทธในภายหลัง ซึ่งในบทความนี้จะนำเสนอ 2 ประเด็น คือ การใช้เต่าในพิธีเซ่นไหว้ผีปู่ตา และการใช้กระดองเต่าที่เกี่ยวกับข้าว เพื่อเป็นแนวทางอธิบายถึงความสำคัญของ “เต่า” ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในวัฒนธรรมข้าวในบทความนี้

เต่า: เครื่องเซ่นไหว้ผีปู่ตาในวัฒนธรรมข้าวของชาวอีสาน

เต่า เป็นการใช้เชิงสัญลักษณ์ เพื่อเป็นเครื่องแทนความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่นอีสาน จากข้อมูลภาคสนามพบว่า การไหว้ผีปู่ตามีข้อกำหนดในการใช้เต่า เป็นสัตว์วัตถุเพื่อไหว้ผีปู่ตาแทน “ควาย” เรียกกันว่า “ควายทาม” ลักษณะการใช้เต่าเพื่อเป็นภาพแทนของควายทามนั้น ไม่มีข้ออธิบายที่แน่ชัด หากปีใดหาเต่าไม่ได้ก็จะไม่จัดงานไหว้ผีปู่ตา และกำหนดว่าต้องเป็นเต่าเพ็ก (เต่าบกเท่านั้น)

tao kao 05

บางพื้นที่ใช้ “แมลงตับเต่า” เพราะหมายเอาคำที่พ้องกับคำว่า “เต่า” มาเป็นเครื่องเซ่นสรวงแทนบ้าง ในบางปีที่หาเต่าไม่ได้ (พจนวราภรณ์ เขจรเนตร 2562 : สัมภาษณ์) เนื่องจากจากการเลี้ยงผีปู่ตาจะมีการกำหนดวันในการเลี้ยง 2 วาระ คือ การเลี้ยงลง (เพื่อลงทำนา) และเลี้ยงขึ้น (ขึ้นจากการทำนา) การเลี้ยงขึ้นจะทำในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ผีปู่ตามีฐานะผู้ควบคุมเขตพื้นที่ทางความเชื่อและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของคนอีสาน จึงต้องได้รับรู้ในกิจที่ลูกบ้านจะทำต่างๆ และยังถือเป็นงานเลี้ยงฉลองประจำปีที่สำคัญมาก การใช้ "เต่า" เพื่อไหว้ปู่ตาจึงเชื่อมโยงไปสู่การสร้างคตินิยม เพื่อแสดงออกถึงความต้องการพืชพันธุ์ที่อุดมสมบูรณ์ กรณีการเลี้ยงผีปู่ตาบางชุมชนจะกำหนดให้มีสัตว์วัตถุเพิ่มเติมเพื่อเป็น “สัญลักษณ์” สื่อถึงความปรารถนาเชิงอุดมการณ์ที่สังคมท้องถิ่นต้องการ เช่น ไก่แป้น (ไก่ตัวผู้ขนาดใหญ่หรืออาจใช้แผ่นไม้แทน) และแลนโมน (นัยใช้ "กิ้งก่าตัวใหญ่" แทนตัว แลน/ตะกวด) เป็นต้น (แก้วตา จันทรานุสรณ์ 2561 : สัมภาษณ์) กล่าวว่า เหตุที่ใช้ ควายทาม (เต่า) ในการบูชาปู่ตา เพราะแต่เดิม เขตปู่ตาเป็นแหล่งอาหารและยาอันอุดมสำหรับชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ทามซึ่งเชื่อมกับดอนปู่ตา มักมี "เต่า" ที่เชื่อมระหว่างดอนกับทาม เต่า มีคุณลักษณะพิเศษที่เชื่อมพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่ทางจิตวิญญาณ และนัยทางสังคม คุณลักษณะดังกล่าวจึงทำให้ผู้มีภูมิรู้หรือปราชญ์ท้องถิ่น อาศัยใช้เชื่อมกับอำนาจสูงสุดของพื้นที่หล่อเลี้ยงชีวิตในฐานะเครื่องมือ (พาหนะ) ช่วยผลิตสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตลูกหลาน และเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่กายภาพด้วย อนึ่ง การใช้เต่าเพื่อไหว้ผีปู่ตา เพราะความจำเป็นบางประการก็เป็นได้ (อธิราชย์ นันขันตี 2561 : สัมภาษณ์) ได้กล่าวถึงชุมชนผู้ไทพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า มีความประสงค์ว่าไม่ต้องการฆ่าควายเพื่อไหว้ผีปู่ตา จึงได้ใช้เต่าเพื่อเป็นสัตว์วัตถุบูชาแทน หรืออาจมีเงินจำกัดในการฆ่าควายก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่า การใช้เต่าในการไหว้ผีปู่ตาเป็นแนวคิดดั้งเดิม

ความเกี่ยวพันของเต่าในฐานะควายทาม สันนิษฐานได้ว่า “เต่า” เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในวัฒนธรรมข้าวของชาวอีสาน ที่เชื่อมโยงระหว่าง คน กับ ผี โดยใช้อำนาจของผีที่จะช่วยเกื้อกูลให้การทำไร่ทำนา โดยเฉพาะผลผลิตจากการปลูกข้าวมีความอุดมสมบูรณ์ “เต่า” จึงกลายเป็นสัญญะที่รักษาความเชื่อและความคาดหวังของสังคมอีสาน ที่จะช่วยทำให้ตนสมหวังในการเพาะปลูก และสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างปกติสุข การใช้เต่าจึงเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของวัฒนธรรมข้าวของชาวอีสาน ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจกระตุ้นให้เกิดความโน้มเอียง (dispositions) ซึ่ง อคิน รพีพัฒน์ (2551 : 84-85) ได้กล่าวถึงความโน้มเอียงที่เกิดจากสัญลักษณ์ทางความเชื่ออยู่สองประการคือ แรงจูงใจ และความรู้สึก ซึ่งแรงจูงใจนี้อาจมองเห็นถึงความต้องการระบุให้เต่าเป็นสัตว์พิเศษและเป็นอาหารพิเศษ จึงต้องนำมาใช้เป็นเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงเกิดการฆ่าเต่าและรับประทานเนื้อเต่าในวาระพิเศษ สอดคล้องกับ (ปัญญา นาแพงหมื่น 2561 : สัมภาษณ์)  ตำราแพทย์แผนไทยเล่ม 2 คัมภีร์ฉันทศาสตร์ ซึ่งแต่งโดยเจ้าเมืองจันทบูรณ์กล่าวว่า สมุนไพรที่ใช้ในการบำรุงตับ คือ พืชสมุนไพรที่ชื่อหัวเต่าต่างๆ อาทิ หัวเต่ารั้ง หัวเต่าเกียด รวมถึงหัวเต่าจริงๆ ที่เป็นสัตว์วัตถุ โดยนำมาสุมจนเป็นถ่านแล้วแช่น้ำดื่ม และ (อธิราชย์ นันขันตี 2561 : สัมภาษณ์) กล่าวว่า การบริโภคเนื้อเต่าสำหรับบางชุมชนในภาคอีสานแล้ว มักจะรับประทานในวาระพิเศษทางสังคมเท่านั้น เช่น ชุมชนในเขต อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ จะบริโภคเนื้อเต่าช่วงเทศกาลงานบุญผะเหวด เป็นต้น

tao kao 06

วิธีการใช้เต่าเพื่อเป็นเครื่องบูชาผีปู่ตานั้น ส่วนมากจะนิยมใช้เต่าบกที่เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่เรียกว่า “เต่าเพ็ก” ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ต้องการของผีปู่ตา ในแต่ละชุมชนของชาวอีสานที่มีการเคารพนับถือผีปู่ตา จะมีการใช้เต่าเพื่อเป็นเครื่องบูชาที่มีลักษณะแตกต่างกัน สามารถจำแนกได้ดังนี้

  • เต่า ที่มีชีวิตเป็นเครื่องบูชา ด้วยวิธีการนำเอาเต่าใส่ในถังหรือภาชนะอื่น เพื่อกักขังไว้ในบริเวณพิธีกรรม เมื่อประกอบพิธีไหว้เสร็จแล้ว ก็จะปล่อยเต่าในบริเวณพื้นที่ของผีปู่ตา แนวคิดการปล่อยเต่านี้ไม่ใช่การปล่อยเพื่อสะเดาะเคราะห์ดุจปกติที่ทำกันในปัจจุบัน แต่หากมีความเชื่อว่าเป็นการปล่อยเพื่อให้เต่าเป็นข้ารับใช้ผีปู่ตา และจะมีข้อกำหนดร่วมกันว่า ห้ามจับเต่าของผีปู่ตาเด็ดขาด หากใครละเมิดอาจ “ผิดผี” และถูกลงโทษทั้งจากอำนาจเหนือธรรมชาติของผีปู่ตา และอำนาจสังคมท้องถิ่นของตนเอง ในขณะที่บางพื้นที่จะไม่มีการขังเต่าไว้ในช่วงพิธีกรรม แต่จะเอาเต่าไปปล่อยไว้ในบริเวณศาลผีปู่ตา และถือว่า ได้ถวายเต่านี้ให้แก่ผีปู่ตาแล้วเช่นกัน การถวายเต่าด้วยวิธีนี้อาจสะท้อนถึงการเพิ่มปริมาณจำนวนเต่า ให้อยู่ในบริเวณศาลผีปู่ตา เป็นสัญญะเชิงการอนุรักษ์ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ช่วยรักษาชีวิตเต่าให้ยืนยาวต่อไปได้อีก
  • การปรุงเต่าเป็นอาหารเพื่อบูชาผีปู่ตา กล่าวคือเมื่อจะถึงเวลาไหว้ผีปู่ตา ก็จะนำเต่าไปต้ม แล้วล้วงเอาอวัยวะเครื่องในมาวางข้างตัว แล้วจัดใส่ภาชนะเพื่อใช้บูชาผีปู่ตา วิธีการนี้มีการทำไม่มากนัก เพราะหลายพื้นที่ก็ยังมีแนวคิดเรื่องการไม่ฆ่าเต่าเลย

การใช้เต่าเป็นเครื่องบูชาผีปู่ตา มีทั้งการใช้เต่าที่มีชีวิตและเอาเต่ามาประกอบอาหาร วิธีการนี้เป็นแนวคิดที่สืบทอดกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน การใช้เต่านี้พิธีกรรมนี้เป็นที่รับรู้ในกลุ่มคนในสังคมท้องถิ่น และเป็นหน้าที่ของ “เฒ่าจ้ำ” หรือผู้นำชุมชน จะต้องจัดหามาเพื่อเป็นเครื่องประกอบพิธีกรรม ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การใช้เต่านี้ในปัจจุบันยังมีบางชุมชนก็มีสืบทอดแนวคิดอย่างเข้มแข็ง กำหนดว่า หากไม่สามารถหาเต่าเพ็กมาเพื่อใช้เป็นเครื่องบูชาผีปู่ตาได้ ก็จะไม่จัดพิธีไหว้ผีปู่ตา ในขณะที่บางท้องถิ่นสามารถใช้ “แมงตับเต่า” หรืออาจ “แมงมุม” เป็นตัวแทนเต่าในการไหว้ผีปู่ตา (ปัญญา นาแพงหมื่น 2561 : สัมภาษณ์) ก็ได้ซึ่งชี้ให้เห็นว่า มีการเลื่อนไหลทางความเชื่อจากตัววัตถุมาเป็นเพียงชื่อวัตถุเท่านั้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่า "เต่า" เป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่ใช้กันสืบเนื่องเรื่อยมา โดยใช้เป็นเครื่องอธิบายถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นสัตว์วัตถุที่ถูกกำหนดบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจนในการเป็นเครื่องเซ่นสรวงผีปู่ตา ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องรับประกันของชาวนาว่า จะได้ต้นข้าวที่ดี การใช้เต่าบูชาจึงกลายเป็นของ “ต่อรอง” ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ เพื่อให้ผลผลิตข้าวที่ดีตามที่ตนต้องการ อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า การขีดเขียนหรือวาดภาพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ตามเพิงผา หรือในถ้ำต่างๆ นั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เคยตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นเขียนภาพคนอีกโลกหนึ่งแล้วเรียกกลุ่มคนในภาพว่า “ผีขวัญ” ซึ่งจะเขียนกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการทำไร่ทำนาไว้ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีไหว้ผีขวัญตามความเชื่อ ซึ่งภาพเหล่านั้นก็มักมีภาพเต่าประกอบอยู่ด้วย (สุจิตต์ วงษ์เทศ 2562 : สัมภาษณ์) จึงอาจอธิบายได้ว่า การใช้เต่าเป็นเครื่องแทนหรือเป็นสัญลักษณ์แทนความอุดมสมบูรณ์ ในวัฒนธรรมการปลูกข้าวที่มีมาแต่โบราณก็เป็นได้ แนวคิดการใช้เต่าเพื่อบูชาต่อสิ่งเหนือธรรมชาติจึงเชื่อได้ว่า เป็นแนวคิดร่วมที่ทำกันในหลายพื้นที่ในเอเชีย หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นแนวคิดสากลที่มีใช้มาแต่ดึกดำบรรพ์ เพียงแต่เมื่อวัฒนธรรมการปลูกข้าวเปลี่ยนแปลงไป จึงลดละหรือเลิกการใช้เต่าบูชาในหลายพื้นที่ แต่ในภาคอีสานยังคงยึดถือเป็นธรรมเนียมสำคัญสืบต่อก่อนเรื่อยมา

tao kao 07

ภาพลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากร จากภาพเขียนสีที่ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

เต่า: ภาชนะตักข้าวบริโภค

ธรรมดาเมื่อชาวอีสานได้ข้าวใส่ในยุ้งฉาง เพื่อเก็บไว้บริโภคนั้น เมื่อตักข้าวจะใช้ กระดองเต่า หรือกระอองเต่า ตักข้าวเพื่อใช้บริโภค ซึ่งไม่ใช้ภาชนะอื่นแทนซึ่งเป็นการกำหนดใช้เป็นการจำเพาะ จึงมีความน่าสนใจว่า เพราะเหตุใดจึงใช้กระดองเต่าเป็นภาชนะตักข้าว ในประเด็นว่ามีความเชื่อหรือคติแนวคิดอย่างไร และเต่ามีความเกี่ยวข้องกับข้าวอย่างไร ซึ่งจะทำให้เข้าใจและเข้าถึงวิธีคิดของชาวอีสานที่มีต่ออาหารที่ใช้บริโภคเลี้ยงชีพตนเอง

เมื่อ “เต่า” เกี่ยวข้องในฐานะของเซ่นไหว้ผีปู่ตาก่อนการทำนาแล้วนั้น ยังนำเอากระดองเต่ามาใช้ในกิจกรรมเกี่ยวกับข้าว จากศึกษาภาคสนามทั้งในเขตภาคอีสานพบว่า กระดองเต่า หรือ กระอองเต่า ใช้เป็นภาชนะในการตวงวัดและตักข้าวเพื่อนำมาบริโภค ซึ่งมีทั้งที่ใช้ตักข้าวสารและตักข้าวเปลือก เป็นที่น่าสังเกตว่า การใช้กระดองเต่าตักข้าวนั้น พบทั้งในกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาว ผู้ไท ไทญ้อ ไทโย้ย ไทโส้ ไทข่า (บรู) ไทโซ่ (ทะวืง) ในเขตภาคอีสานและภาคเหนือของประเทศไทย

tao kao 08

อนึ่งจากการศึกษาข้อมูลพื้นฐานข้างต้นพบว่า มีการใช้กระดองในภาคเหนือโดยเก็บเอากระดองเต่าไว้ในยุ้งฉางข้าว ดังข้ออธิบายของ รัมภาภัค ศิริทับ (2544 : 80) กล่าวว่า ชาวล้านนาไทยมีความเชื่อว่า หากเอากระดองเต่าไปไว้ในยุ้งข้าว พร้อมวิงวอนร้องขอให้เต่าช่วยอุ้มชูดูแลเมล็ดข้าวให้อยู่ในยุ้งฉางนานๆ ไม่หนีหายไปไหน เชื่อว่าจะทำให้มีข้าวรับประทานได้ตลอดทั้งปี โดยการเอากระดองเต่าวางไว้พื้นยุ้งข้าว จากนั้นจึงเอาข้าวเปลือกเททับกระดองเต่า แล้วจึงเริ่มพิธีทำขวัญข้าวต่อไป แนวคิดนี้คล้ายกับแนวคิดของชาวไทยเชื้อสายเขมรในจังหวัดสุรินทร์ ที่กล่าวถึง การใช้กระดองเต่าในพิธีเรียกขวัญข้าว ดังข้ออธิบายของ สารภี ภูมิประเทศ (ม.ป.ฐ.) กล่าวว่า ใน พิธีเรียกขวัญข้าว (เฮาปลึง สเริว) ของชาวไทยเชื้อสายเขมรในจังหวัดสุรินทร์ ได้อธิบายถึงองค์ประกอบของเครื่องเซ่นไหว้ ในพิธีกรรม โดยกล่าวถึงพิธีการทำขวัญให้แก่แม่โพสพ (ข้าว) และอธิบายว่า หากเอากระดองเต่าเก็บไว้ในยุ้งข้าวเชื่อว่าจะทำให้เกิดความร่มเย็น ทำให้ข้าวอยู่ในยุ้งข้าวนั้นนานๆ และเพิ่มผลผลิตให้แก่การปลูกข้าวอีกด้วย

อนึ่งมีข้อสังเกตว่า ในประเทศกัมพูชามีการใช้กระดองเต่าเพื่อตักข้าวเพื่อนำไปบริโภค ดังข้ออธิบายของ ยี ศิลา (2561 : สัมภาษณ์) กล่าวว่า ในอดีตที่บ้านตนเองใช้กระดองเต่าเพื่อตักข้าว และตักน้ำเพื่อใช้บริโภค แต่ปัจจุบันไม่ค่อยพบเห็นแล้ว และส่วนมากที่ยังใช้อยู่ก็เป็นกระดองเต่าของเก่าที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว และคำบอกเล่าของ แหม ฮิม (2561 : สัมภาษณ์) กล่าวว่า ในอดีตใช้กระดองเต่าเพื่อตักข้าวสาร และตักน้ำเพื่อใช้บริโภค เพราะมีความเชื่อว่า จะทำให้ขวัญข้าวไม่หนีหาย และตักกินเท่าไหร่ข้าวก็จะไม่ลดลง เคยจะเอาถ้วยตักข้าวสารแต่ถูกผู้ใหญ่ห้ามเอาไว้เพราะหากทำเช่นนั้นข้าวจะไม่อร่อย และเก็บไว้ไม่ได้นานเพราะอาจมีแมลงกัดกินเม็ดข้าวจนหมด ปัจจุบันไม่ใช้แล้ว แต่ยังมีการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์บ้านโบราณ ที่เมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชา

เหตุสำคัญที่ต้องใช้ 'กระดองเต่าตักข้าว' นั้น เป็นสัตว์วัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ที่มีใช้แพร่กระจายทั้งภายในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านหลายกลุ่ม ปัญญา นาแพงหมื่น (2561 : สัมภาษณ์) ได้อธิบายถึงมูลเหตุที่ใช้กระดองเต่าเพื่อตักข้าวนั้น อาจเกิดจากความเชื่อในเต่าที่เป็นสัตว์วัตถุในการรักษาโรคนั้น จึงเชื่อได้ว่านี่เป็นฐานความเชื่อ ผ่านการใช้ชิ้นส่วนของสัตว์วัตถุดังกล่าวตักข้าว จะช่วยบำรุงอวัยวะภายในให้ดีขึ้น อนึ่งคนพื้นถิ่นภาคอีสานมีความเชื่อว่า การทำไร่ทำนาที่ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย ใช้วิธีตวงด้วยคำว่า “คูนฮวง” “สวดจุ้มกุ้ม” หรือ “สวดโจ้โก้” ซึ่งคำว่า "สวด" มี 2 อย่างคือ สวดหลังเต่า (กองข้าว) และสวดขวยปู (ส่วนมากจะหมายถึงลักษณะอวัยวะเพศ) ดังนั้นจึงอาจเชื่อได้ว่า ถ้าใช้กระดองเต่าตักข้าวเท่าไหร่ข้าวก็ไม่หมด และยังมีพอกพูนสวดเหมือนหลังเต่า (กระดองเต่า) เท่าเดิม

กระดองเต่าข้าวสาร ของชาวไทญ้อ

กระดองเต่าข้าวสาร เป็นภาชนะที่ชาวไทญ้อ บ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ใช้ในการตักข้าวเปลือกไปตำ โดยคนโบราณท่านว่า ไม่จำเป็นไม่ควรใช้กระบุงหรือภาชนะอย่างอื่นตักข้าว จะทำให้ขวัญข้าวหนี แต่จะใช้ “อองเต่า” (คือ กระดองเต่า ที่ตัวตายไปแล้ว) เป็นภาชนะตักข้าวเปลือกจากยุ้ง ใส่กระบุง เมื่อจะนำข้าวออกไปตำไปสี

โดยคนโบราณจะมี "วันจกข้าว" คือ วันที่ขึ้นไปตักข้าวเปลือกออกจากยุ้งฉาง เพื่อนำไปตำให้เป็นข้าวสารโดยใช้อองเต่า โดยทั่วไปจะห้ามตำข้าวในวันพระ นอกจากนั้นคนโบราณยังมีตำราดูฤกษ์ดูวัน เรียกว่า “ต๋ารางวันจกข้าว” และ “วันผีช่วยกิน” ถ้าจกไม่ดูตำราก่อน เมื่อไปถูกหรือตรงกับวันที่ห้ามจกข้าวแล้ว เชื่อว่าจะทำให้ข้าวในยุ้งนั้นหมดเร็วกว่าปกติ

tao kao 10

กระดองเต่าข้าวสาร หรือ อองเต่า ยังเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านแบบดั้งเดิม โดยกระดองเต่านั้น สามารถป้องกันมอดที่จะมากัดกินข้าวสารได้ กระดองเต่าข้าวสาร หรือ อองเต่า ใช้ในการชั่งตวงวัดปริมาณในการตักข้าวเปลือกก่อนนำมาหุงข้าว โดยสมัยก่อนจะถามว่า ต้องหุงข้าวกี่เต่า

กระดองเต่าตักข้าวสาร นอกจากจะเป็นภาชนะที่ใช้ในการตักข้าวแล้ว เต่าถือเป็นสัตว์มงคล ในอีกนัยหนึ่งกระดองเต่ายังหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตด้วยความเนิบช้า เปรียบเสมือนคติในการใช้ชีวิตของคนในชุมชนบ้านโพนที่ใช้ชีวิตพึ่งพากับธรรมชาติด้วยความสงบ

กระดองเต่า กับไทยทรงดำ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวไทยทรงดำมีวรรณกรรมท้องถิ่นที่สำคัญเรื่อง โต๋เต่า กล่าวถึงเต่าเดินทางไปเฝ้าแถน แล้วมีขอนไม้ขวางทางเดิน ไม่สามารถเดินข้ามไปได้จนเกือบหมดแรง มีมนุษย์มาพบเข้าแล้วยกเต่าข้ามขอนไม้ จากนั้นทั้งเต่าและมนุษย์ก็ไปเฝ้าแถนด้วยกัน เมื่อพบแถนแล้วเต่าก็ขับบทกลอนสรรเสริญมนุษย์ให้แถนฟังจนแถนพอใจ แล้วอวยพรให้มนุษย์ฉลาดกว่าสัตว์ทั้งปวง ด้วยเหตุที่ได้พรเช่นนี้มนุษย์จึงระลึกถึงบุญคุณของเต่าที่มีต่อตน และเพื่อเป็นการแสดงออกในความระลึกถึงนั้น เมื่อสร้างบ้านเรือนจึงเอากระดองเต่ามาประดับไว้ที่เสาเอกของเรือน (ถนอม คงยิ้มละมัย 2556 : 74) ซึ่งเสาเอก หรือเสาแฮก ของคนไทยทรงดำ หรือไทดำนั้นถือกันว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเชื่อว่าเสานี้จะนำพาความมั่นคงและความอุดมสมบูรณ์มาสู่บ้านเรือน ดังนั้นจึงนิยมแขวนวัตถุสัญญะที่เกี่ยวข้องกับความอุดมบูรณ์ คือ กระดองเต่านั่นเอง (บุญยงค์ เกศเทศ 2554 : 180-182) นอกจากนี้ ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี (2558 : 105-112) ยังได้อธิบายว่า รูปแบบบ้านเรือนของกลุ่มชาติพันธุ์ไทในสิบสองจุไท อันได้แก่ ไทดำ ไทขาว ไทจ้วง ไทนุง และไทโท้ จะสร้างบ้านเรือนที่มีหลังคารูปทรงคล้ายกระดองเต่า เพราะมีความเชื่อเกี่ยวพันกับแถน โดยเฉพาะมิติของความมั่นคงของบ้านเรือนตามสภาพดินฟ้าอากาศ และความอุดมสมบูรณ์ของการอยู่อาศัย

tao kao 09

จากข้อศึกษาทั้งงานเอกสารประกอบจากพื้นที่ต่างๆ และข้อมูลภาคสนามกล่าวได้ว่า "เต่า" มีความเกี่ยวพันกับ "ข้าว" ในมิติการใช้กระดองตักข้าว ซึ่งพบแพร่กระจายไปหลายพื้นที่ ทั้งยังเป็นภาพแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ไม่ปรากฏความเชื่อของเต่ากับข้าวในข้อมูลเชิงเอกสารหรือตำนานอื่นๆ แต่อย่างใด ส่วนวรรณกรรมท้องถิ่นอีสานเรื่อง ท้าวเต่าน้อย ซึ่งปริวรรตโดย ภูวนาท มาตรบุรม (2559) ได้กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ที่ถือกำเนิดเป็นเต่าชื่อ “ท้าวเต่าน้อย” จากนั้นก็ได้ขอให้แม่ซื้อหาจอบและเสียมมา เพื่อให้ตนได้ใช้เป็นเครื่องมือทำไร่ทำนาปลูกข้าว ท้าวเต่าน้อยปลูกข้าวได้ผลผลิตเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เมื่อข้าวแก่จัดก็กลายเป็นสีเหลืองทองและมีกลิ่นหอมไปจนถึงพระราชวัง จนพระมหากษัตริย์เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์ และตรัสขอแลกเปลี่ยนทรัพย์สมบัติกว่าครึ่งหนึ่งของพระองค์เองกับข้าวครึ่งหนึ่งเช่นกัน และมอบพระธิดาเพื่อให้อภิเษกสมรสกับท้าวเต่าน้อย ครั้นเมื่อจะเข้าพิธีอภิเษกสมรส พระอินทร์ก็เมตตาถอดคราบเต่าออกให้กลายเป็นเจ้าชายรูปงาม และครองรักกับเจ้าหญิงอย่างมีความสุข วรรณกรรมเรื่องนี้แม้ไม่ได้บอกว่า มีส่วนเชื่อมโยงกับการใช้กระดองเต่าตักข้าวแต่ก็เป็นวรรณกรรมเพียงเล่มเดียว ที่มีร่องรอยอธิบายว่า “เต่า” ทำนาได้ข้าวมากกว่าคนปกติ จนพระราชาต้องมาขอแลกกับราชสมบัติและพระธิดาและได้เจริญลาภยศจนได้เป็นพระราชาสืบต่อไป

ข้อความที่นำเสนอมาข้างต้นทั้งหมด จะเห็นถึงความหลากหลายในพื้นที่ ที่ใช้กระดองเต่าตักข้าวเพื่อใช้บริโภค ซึ่งอาจกล่าวว่า เป็นคตินิยมพื้นฐานที่ใช้ร่วมกัน แม้จะขาดเอกสารบันทึกมูลเหตุ หรือวรรณกรรมท้องถิ่นอธิบายมูลเหตุการณ์ของใช้กระดองเต่า แต่ประจักษ์รายบุคคลนั้น ได้สะท้อนถึงความนิยมในสมัยอดีตที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

“กระดอง” กลายเป็นวัตถุสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่เป็นข้อแสดงถึงความเกี่ยวพันกันทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในภาคอีสาน ตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในอุษาอาคเนย์ กระดองเต่า จึงถูกใช้ในความหมายแทน “ความอุดมสมบูรณ์” และแทนความระลึกรู้บุญคุณของสัตว์ที่มีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์ กระดองเต่าจึงถูกใช้เป็นภาชนะตวงตักข้าว เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลดังที่กล่าวมาข้างต้น เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะลาเลือนไปแล้วในหลายท้องถิ่นแต่ก็ยังอยู่ในความทรงจำของคนอีสานตลอดไป

เต่า เป็นสัตว์ที่มีความเชื่อถือว่า มีความเป็นมงคลในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เต่าจึงกลายเป็นสัตว์วัตถุเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อออกมาในความหมายของภาพแทนความอุดมสมบูรณ์ และความสุขของการดำเนินชีวิต เต่าจึงนิยมถูกใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ในพิธีกรรมการไหว้ผีปู่ตา เพื่อให้เกิดความพูลสุขในการทำไร่ทำนา ตลอดจนใช้เป็นภาชนะมงคลเพื่อตวงตักข้าวบริโภค ความเชื่อเหล่านี้ไม่ใช่เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอย แต่หากเป็นกติกาของสังคมที่ใช้ร่วมกันและสืบทอดกันเรื่อยมา เต่า จึงเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับวัฒนธรรมข้าวของชาวอีสานมานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เต่าจึงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอีสานให้ความเคารพและสงวนอนุรักษ์สืบทอดกันเรื่อยมา

โดย ดร. สถิตย์ ภาคมฤค
อาจารย์ประจำหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

ที่มา : วารสารวิชาการศิลปวัฒนธรรมอีสาน (Journal of Isan Arts and Culture)
ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2563 หน้า 39

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : เล้าข้าว | ดอนปู่ตาและผีตาแฮก | ป่าบุ่งป่าทาม

redline

backled1

he ra header

เหรา (อ่านว่า เห-รา) ความงามในแบบศิลปะแบบบ้านๆ ของฅนอีสาน ความงดงามที่เกิดจากความศรัทธาในพุทธศาสนาและความเชื่อ สร้างขึ้นโดยคนในท้องถิ่นที่ไม่ได้ไปร่ำเรียนมาจากสำนักศิลปะใด แต่สร้างด้วยความศรัทธาและแรงบันดาลใจที่มีต่อพระพุทธศาสนา เป็นศิลปะแบบ Naïve Art (นาอีฟ อาร์ต) บางคนบอกเป็นงานศิลปะที่ไร้เดียงสา คือศิลปะที่สร้างขึ้นโดยคนที่ไม่ได้ร่ำเรียนทางศิลปะมาก่อน ศิลปะแบบชาวบ้าน เป็นงานที่มีความเรียบง่ายและตรงไปตรงมา ละเลยกฎเกณฑ์ มุมมองต่างๆ แบบดั้งเดิม บ้างก็ว่าผิดพลาดไม่เป็นไปตามรูปทรงเรขาคณิต ไม่เป็นรูปทรง เหมือนงานศิลปะจากสำนักหรือสกุลช่างหลวง ตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งงานศิลปะพื้นบ้านนั้นก็มักจะมีแนวทางที่เรียบง่ายคล้ายๆ กัน ไม่ได้มาจากบริบททางวัฒนธรรมหรือประเพณี เฉกเช่นดัง "เหรา" ตัวนี้

he ra 01

จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Arisara Kangkun ได้โพสต์ภาพความน่ารักของ "สัตว์หิมพานต์" ตรงบันไดทางขึ้นสิม หรืออุโบสถ วัดชัยภูมิการาม หรือ วัดกลาง วัดเก่าแก่ของอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมข้อความระบุว่า น้อน เอ็นดูความตาจุด 55555 เพิ่งรู้ว่าน้อนไม่ใช่พญานาค 5555 ใครแวะมาเที่ยวเขมราษฎร์ แวะไปทำบุญและถ่ายภาพกับน้อนในวัดได้นะคะ ในเมืองมีอาคารเก่าสวยๆ อยู่เยอะค่ะลองมาเที่ยวกันนะ” (น้อน ศัพท์แสงวัยรุ่นในสื่อโชเชียล มีความหมายว่า "น้อง" แทนตัวด้วยความรักแต่ไม่รู้จักว่าเป็นอะไร บางทีอาจจะใส่ น.หนู ตามไปหลายตัว "น้อนนน" แสดงว่าน่ารักมาก อันนี้ถามหลานๆ มาอีกที ผมแก่แล้วก็เพิ่งจะเข้าใจ ไม่ว่ากันนะ😁🤣😂) ซึ่งโพสต์ดังกล่าวกลายเป็นไวรัลชั่วข้ามคืน มีคนทำเป็นภาพแฟนอาร์ต คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนจนกลายเป็นกระแส #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ จนล่าสุดมีการเปิดเผยว่า สัตว์หิมพานต์ตัวดังกล่าวไม่ใช่พญานาค แต่เป็น “เหรา”

“เหรา” หรือ "น้อนน" ที่กำลังโด่งดังอยู่ในโลกออนไลน์ขณะนี้ ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นบันไดอุโบสถ หรือ สิม วัดชัยภูมิการาม หรือวัดกลาง วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ลักษณะแปลกตา มี 5 หงอน ไม่มีเกล็ด เท้าด้านหลังเหยียบปลา สร้างโดยช่างฝีมือชาวบ้านสมัยโบราณ ลักษณะเรียบง่าย ตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นให้เหลือเพียงความงามอันบริสุทธิ์ ไม่มีเกล็ด หรือเปลวกนก เหมือนกับงานช่างหลวง ที่สร้างด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นความงามอีกรูปแบบที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน อาจเรียกได้อีกอย่างว่า ศิลปะแบบนาอีฟ (Naïve) เป็นคำภาษาฝรั่งเศส หมายถึง เป็นธรรมชาติ บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา

he ra 02

เหรา, มกร คืออะไร?

ประเทศในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง ไทย ลาว เขมร และพม่า มีความเชื่อเกี่ยวกับการบูชา “งู” และด้วยเหตุที่งูนั้นลักษณะทางกายภาพ คือ มีพิษร้ายแรง จึงเป็นสัตว์ที่มนุษย์ให้การนับถือว่ามีอำนาจ โดยเฉพาะงูใหญ่อย่าง “พญานาค” ซึ่งอาจจะมีรูปร่างแตกต่างกันไปตามอุดมคติของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ อย่างเช่นในดินแดนล้านนานั้น มีปากคล้ายจระเข้ บ้างมีเขี้ยวยาวโค้ง เรียกกันว่า “มกรคายนาค” (อ่านว่า มะ–กะ–ระ หรือ มะ–กอน) เป็นสัตว์จินตนาการในป่าหิมพานต์ เพื่อเสริมความเข้าใจให้มากขึ้นจึงขอนำเอาบทความของผู้รู้มาขยายต่อให้ทราบต่อไปดังนี้

สัตว์อะไร...กันแน่...!?...ที่เชิงบันไดโบสถ์วัดกลาง

โดย ติ๊ก แสนบุญ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์หอการค้าอุบลฯ

ณ เวลานี้ตามโลกสื่อสารออนไลน์ต่างๆ มีการพูดถึงมากสำหรับ สัตว์ทวารบาท ทางเข้าออกของโบสถ์ วัดชัยภูมิการาม (วัดกลาง) ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ผู้คนต่างให้ความสนใจมาติดตามเที่ยวชมจากทั่วสารทิศ โดยข่าวข้อมูลกระแสหลัก ให้ข้อสรุปว่ารูปสัตว์ดังกล่าวคือ ตัวเหรา โดยข้อเขียนนี้ต้องการให้เห็นที่มา และความน่าจะเป็นแห่งที่มาของความหมายอื่นๆ ซึ่งไม่จำกัดการนิยาม การให้ความหมาย รวมถึงมิติทางวัฒนธรรมความเชื่อ ซึ่งเป็นมุมมองส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

รูปสัตว์ทวารบาลที่พบโดยทั่วไป จำแนกออกเป็น สัตว์เสมือนจริงตามธรรมชาติ เช่น งู จระเข้ สิงโต เสือ ช้าง หมา ตะกวด และสัตว์ในจินตนาการ อย่างสัตว์หิมพานต์ ที่มีการผสมผสานกันของสัตว์หลากหลายชนิดในสัตว์หนึ่งตัว ที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดี หรือสัตว์สัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมความเชื่อ อันประกอบด้วย

1. พญานาค

พญานาค ถือได้ว่าเป็นสัตว์สัญลักษณ์อันดับต้นๆ ของการถูกนำมาสร้างสรรค์ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่อง นาคาคติ ที่มีพัฒนาการด้านความเชื่ออันสืบทอดคตินี้มาจาก "ลัทธิบูชางู" ตามระบบความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนในแถบถิ่นอุษาคเนย์ โดยเฉพาะในบริบทแถบถิ่นลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่ตอนใต้ของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เรื่อยลงมาจนถึงปากแม่น้ำโขง ล้วนแล้วแต่มี คตินับถือบูชางู หรือ นาค โดยในด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี มีหลักฐานสำคัญที่อธิบายความหมายเชื่อมโยงจาก ลวดลายเขียนสีที่ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งปรากฏลวดลายเขียนสีเป็นรูปงูที่ภาชนะดินเผาที่ใช้เซ่นบูชาศพจำนวนมาก ซึ่งพบในแอ่งสกลนคร ที่เคารพบูชางูมาไม่น้อยกว่า 3,000 ปีตั้งแต่ยุคโลหะ (ปราณี , 2543 )

he ra 03

ศาสนาคารที่ทำการศึกษาล้วนพบว่า มีกรอบแนวความคิดเรื่อง พญานาค หรือ นาคาคติ ซึ่งพบอยู่ทุกกลุ่มสกุลช่างทั้งอีสาน และสปป.ลาว โดย "นาค" หรือ "พญานาค" เป็นชื่อเรียกตามสมมติอย่างหนึ่ง ที่ใช้เรียกแทนสัตว์เลื้อยคลานในจินตนาการ ประเภทงู ที่มีปรากฏการณ์ความเชื่อทั้งในโลกวัฒนธรรมตะวันตก และโลกตะวันออก โดยในมิติทางภาษาชื่อของ นาค จัดอยู่ในภาษาตระกูล อินโด-ยูโรป มีรากเดิมว่า นอค (naga) แปลว่า เปลือย แก้ผ้า แล้วภาษาอังกฤษรับมาใช้ว่า nakea เป็นอันรู้กันว่า "นาค" ไม่ใช่คำไทยลาว และไม่ใช่คำมอญ-เขมร

แต่ทั้งตระกูลไทยลาวกับมอญ-เขมร รับมาใช้ในความหมายว่า งู เพราะ งูเป็นสัตว์เปลือย ไม่มีขนปกปิด แล้วสร้างจินตนาการเพิ่มเติมต่อมาว่า หัวหน้างู ทั้งหลายคือ พญานาค (สุจิตต์ , 2549) ทั้งนี้ พญานาค ในวัฒนธรรมอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่รับอารยธรรมกระแสหลักจากจีน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และญวน ล้วนใช้สัญลักษณ์เป็นรูป มังกร ซึ่งก็ผิดกันกับพญานาคก็เฉพาะรูปร่างหน้าตา และชื่อเรียกเท่านั้น ซึ่ง จีน เรียกว่า เล้ง เล่ง หรือ หลง โดยคนไทยนิยมเรียกว่า มังกร ซึ่งอาจมาจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า มกร (ส. พลายน้อย, 2547)

he ra 04

นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆ ที่หมายถึง "งู" คือ เงือก เงี้ยว งึม ต่อมาเรียกด้วยคำบาลีว่า นาค หรือ พญานาค (สุจิตต์ , 2550) เช่นเดียวกับคนในวัฒนธรรมอื่นๆ  ดั่งมีตำนานในแถบลุ่มน้ำโขง เช่น ในเขมร มีเรื่อง "นางนาคกับพระทอง" กล่าวได้ว่าเป็นนิทานปรัมปราของบรรพบุรุษชาวเขมร ในลาวและภาคอีสานของไทยมีหนังสืออุรังคธาตุ ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับนาคอยู่มากมาย ส่วนเวียดนาม (อาณาจักรจามปา) มีนิทาน นางนาค เช่นกัน และไทยสยามในแถบแคว้นสุโขทัยมีเรื่องราว "พระร่วง" เป็นลูกนางนาค ส่วนใน พม่า มีตำนานเกี่ยวกับนาคอยู่ในเรื่องกำเนิดเมืองหงสาวดี ดังนั้น นาค จึงมีความหมายนัยยะสำคัญต่อลัทธิความเชื่อที่เป็นลักษณะร่วม บนความหลากหลายของวัฒนธรรมตามบริบทในแต่ละพื้นที่ ดังปรากฏร่องรอยผ่าน ตำนาน นิทานปรัมปราที่อธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับนาค ปรากฏอยู่ในกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์ในแถบถิ่นนี้ ซึ่ง ศรีศักร วัลลิโภดม ได้วิเคราะห์เรื่องของ นาค ไว้ในหนังสือ แอ่งอารยธรรมอีสาน อยู่ 3 ประเด็น ซึ่งเป็นกรอบแนวความคิดที่นักวิชาการรุ่นต่อมาใช้อธิบายความหมายของนาค ในบริบทของแถบถิ่นสุวรรณภูมิ คือ 1) นาคเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชนดั้งเดิม 2) นาคเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าแห่งดินและน้ำ 3) นาคเป็นลัทธิทางศาสนา

นอกจากนี้ นาค ได้ถูกอธิบายความไว้ในหนังสืออุรังคธาตุ ตอนต้นเรื่องว่า “เมืองสุวรรณภูมินี้เป็นที่อยู่แห่งนาคทั้งหลาย” นาค ในความหมายทางลัทธิศาสนา เช่น ตำนานอุรังคธาตุ ที่แสดงให้เห็นถึงชัยชนะใหม่ต่อระบบความเชื่อเดิม จากการเคารพนับถือผีสู่การนับถือพุทธ และพราหมณ์ ซึ่งผสมผสานกลมกลืน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า บรรดานาค ได้กลายเป็นผู้พิทักษ์ศาสนา และสถาบันกษัตริย์

he ra 05

ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการนำลักษณะของ งู หรือ นาค เข้าไปเป็นองค์ประกอบทางงานช่างต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับลัทธิความเชื่อ ดั่งปรากฏสถาปัตยกรรมประเภทศาสนาคารในเวลาต่อมา ส่วนในด้านเอกลักษณ์และรูปก็ย่อมแปลกแตกต่างกันไป ตามแต่รสนิยมในเชิงช่างที่สั่งสมถ่ายทอดสืบต่อกันมาในแต่ละสายสกุลช่าง ในกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาวอีสานชื่อ "นาค" ยังปรากฏคำในภาษาถิ่นที่ต่างออกไปอีกเช่น งูซวง ในนิทานเรื่อง สังข์สินไซ และใน สารานุกรมไทย ฉบับ ปรีชา พิณทอง อธิบายว่า ลวง คือ นางนาค เรียก นางลวง ซึ่งสอดคล้องกับ มหาสิลา วีระวงศ์ ซึ่งอธิบายว่า “ลวง” นี้หมายความว่า นาค (ลวงเป็นคำลาว นาคเป็นคำบาลี)

ในตำนานอุรังคธาตุ กัณฑ์ที่ 2 พุทธประวัติ ยังบรรยายถึง การเผยแพร่พระพุทธศาสนาโดยการสร้างรอยพระพุทธบาทในที่ต่างๆ ซึ่งเป็นยุคก่อนจะมีพระพุทธรูป ตลอดจนการทำให้พวกนาคยอมรับนับถือพุทธศาสนา มีข้อสันนิษฐานว่า แต่เดิมมาคนเผ่าอ้ายลาวคงนับถือผี คือบรรพบุรุษผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว และมี ลัทธิบูชางู โดยเหตุที่ได้อพยพโยกย้ายมาสู่อาณาบริเวณที่เป็นเขตมรสุมฝนตกชุก มีสัตว์ร้ายนานาชนิด โดยเฉพาะคงจะถูกงูกัดตายมาก จึงยอมจำนนแล้วบูชา จะเห็นรูปปั้นงูในสมัยก่อนเป็นหัวงูจงอางซึ่งเรียกกันว่า งูซวง ต่อมาจึงเติมหงอนขึ้นคล้ายกับสวมชฎาให้งู แล้วใช้เป็นลวดลายประดับไว้ตามสถานที่เคารพ เช่น บนหลังคาโบสถ์วิหาร หรือตามข้างบันไดทางขึ้นลง ต่อมาชนพวกนี้จึงยอมรับนับถือพุทธศาสนาในสมัยก่อนสร้างพระอุรังคธาตุ

ในส่วนของความเป็นสัญลักษณ์จาก งู สู่ นาค โดยถูกปรับเปลี่ยนตามภาษาศักดิ์สิทธิ์ ดังปรากฏอยู่ที่ลวดลายเขียนสีบนหม้อเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากที่ทำขึ้นเพื่อเซ่นบูชาศพ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องตน หรือจะเห็นได้จากการที่รูปสัญลักษณ์นาคถูกนำไปผูกติดเป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่กับ "บั้งไฟ" ที่มนุษย์จุดไปขอฝน โดยมีลักษณะแบบงู หรือนาค จะสามารถพบได้ในกลุ่มวัฒนธรรมไทยลาวในหลายประเทศ นอกจากนี้ยังมีงานพุทธหัตถศิลป์อย่าง "โฮงฮด" หรือ "ฮางฮด" ที่นิยมทำเป็นรูป พญานาค ที่ใช้ใน พิธีฮดสรงพระ หรือที่เรียกว่า พิธีเถราภิเศก อันแสดงถึงการใช้นาคเป็นสัญลักษณ์ในการเป็นตัวกลางที่เปลี่ยนผ่านสถานภาพทางสังคมระหว่างชาวบ้านและพระสงฆ์

kong hod 4

นาค ในมิติวัฒนธรรมเชิงช่าง โดยเฉพาะในกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว ทั้งล้านนาและล้านช้าง ยังปรากฏการใช้นาคเป็นองค์ประกอบสำคัญในลวดลายของผ้าทอ โดยลดทอนรายละเอียดตามจินตนาการเป็นลักษณะตัว s และตัว w โดยมีคำอธิบายว่า ความคิดเรื่องนาคมีมาก่อนที่นาคแบบอินเดียจะแพร่เข้ามาสู่ท้องถิ่น นาค ในความหมายเก่าของท้องถิ่นเป็นสัญลักษณ์แห่งอวัยวะเพศชาย เป็นผู้บันดาลสายฝนเชื่อมโยงกับความอุดมสมบูรณ์

2. จระเข้

จระเข้ มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ร่วมของเทพเจ้าแห่งน้ำร่วมกับ นาค เพราะอยู่ในน้ำและว่ายน้ำได้ โดยมีสัตว์ในน้ำชนิดต่างๆ เป็นบริวาร ฉะนั้นการติดต่อกับบรรพบุรุษที่อยู่แหล่งเดิมได้ ก็โดยผ่านงูหรือจระเข้นี่เอง (สุจิตต์ , 2550) โดยเฉพาะในแถบสองฝั่งโขง ที่พบการนำจระเข้มาใช้ในองค์ประกอบส่วนประดับตกแต่ง โดยเฉพาะส่วนฐานเชิงบันไดโดย จระเข้ มกร หรือ ตัวเหราคายนาค ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับวัฒนธรรม ความเชื่อกับเทพเจ้าหลายองค์ แต่ทั้งหมดเป็นล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับน้ำ โดยถูกนำไปใช้เป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่เป็นพาหนะของเทพเจ้าที่เกี่ยวกับน้ำ โดย รัชกาลที่ 6 ทรงประทานอธิบายว่า มกร คือ เหรา (ส.พลายน้อย, 2532) โดยจระเข้ถือเป็นสัตว์เลื้อยคลาน สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ในอุษาคเนย์ และเป็นสัตว์สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของคนอุษาคเนย์มาตั้งแต่ยุคดั้งเดิม อย่างน้อยก็มีร่องรอยหลักฐานราวยุคสุวรรณภูมิเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว

he ra 07

ทั้งในบางกลุ่มชนยังเกี่ยวเนื่องกับแนวคิดเรื่อง ผีบรรพชน ที่สืบมาถึงปัจจุบัน ที่สำคัญคือการสลักหินเป็นร่องลึกรูปจระเข้ ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อดั้งเดิมพื้นถิ่นของที่นี่ สัตว์เลื้อยคลานพวกนี้ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และความศักดิ์สิทธิ์ เพราะลักษณะการดำรงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำและดิน คือเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่คนยุคก่อนจินตนาการสมมุติเอาว่า นี่คือสื่อกลางที่จะติดต่อหรือ บันดาลให้เกิดน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ขึ้นได้ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ยุคดั้งเดิมเหล่านี้ ส่วนมากยังปรากฏอยู่บนวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนในอุษาคเนย์ ที่ยังพบได้พร้อมๆ กับศาสนาและความเจริญก้าวหน้าของสังคม

ดังนั้นรูปสัตว์ทวารบาลทางเข้าโบสถ์แห่งนี้ก็คือ การสืบทอดคติความเชื่อมาจากกรอบแนวคิดว่าด้วยเรื่อง นาคาคติ ที่พัฒนาสืบเนื่องมาจากลัทธิบูชางูของศาสนาผีของกลุ่มคนพื้นเมืองที่ถูกเรียกว่า พวกนาค เมื่อปรับเปลี่ยนมารับนับถือพระพุทธศาสนา ก็มีการสร้างสรรค์จินตนาการสืบต่อเป็นสัตว์ที่มีคุณวิเศษมากขึ้น เช่น มีมือ เท้า ที่ผสมผสานกับสัตว์อื่นๆ ดังมีการเปรียบเทียบว่า นาค หรือ พญานาค ว่ามีลักษณะแบบอย่างตัว เหรา คือสัตว์หิมพานต์ชนิดหนึ่ง โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานอธิบายว่า เหรา จะมีหัวเหมือนมังกร และมีตีนแบบอย่างพวกตัวจิ้งเหลน แต่ทั้งหมดก็ไม่สามารถหาข้อสรุปให้เป็นที่ยุติได้

he ra 08

โดยในมุมมองผู้เขียนเสนอว่า ทวารบาลโบสถ์วัดแห่งนี้คือ รูปลักษณะนาค หรือพญานาค นั้นเอง เพียงแต่รูปแบบนาคที่วัดแห่งนี้ ช่างญวนได้สร้างสรรค์เป็นนวัตศิลป์ใหม่ที่เรียบเกลี้ยง ปราศจากลวดลาย (สัมพันธ์ไปกับรูปแบบที่เรียบเกลี้ยง ในรายละเอียดของการตกแต่งตัวโบสถ์ด้วยเช่นกัน) โดยเท้ามีการจับปลา ซึ้งเป็นคติที่นิยมทำของวัดในฝั่งสปป.ลาว อีกทั้งเมื่อดูช่วงเวลาการซ่อมสร้าง สิม หรือ โบสถ์ ของวัดแห่งนี้ ซึ่งซ่อมสร้างเสริมในปี พ.ศ. 2460 – 2470 (ตามข้อมูลในพื้นที่) ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว บริบทสังคมท้องถิ่นอีสานในขณะนั้นได้ผสมผสานคติไทยพอสมควรแล้ว ในเชิงการรับอิทธิพลทางศิลปะจากส่วนกลางกรุงเทพฯ อีกทั้งขนาดลายละเอียดการตกแต่งดูได้จากรูปแบบสิมหรือโบสถ์หลังนี้ รวมถึงการให้นิยามชื่อเรียกที่ว่า ตัวเหรา ก็ถือเป็นการนำเข้าชื่อตามคตินิยมไทยส่วนกลาง ไม่ใช่ชื่อที่นิยมใช้ในชุมชนท้องถิ่นไทย-ลาว 2 ฝั่งโขง โดยหากเป็นคำพื้นเมืองเดิมสองฝั่งโขง โดยเฉพาะชาวบ้านจะนิยมเรียก พญานาค ว่า ตัวลวง หรือ งูซวาง ซึ่งเรื่องราวของ "หมาสรวง" มักมีความสัมพันธ์กับเรื่องราวของงูซวาง/งูซวง

ในบางถิ่นเขียนเป็น งูทรวง พบในฮูปแต้มหรืองานจิตรกรรมฝาผนังอีสานโบราณ โดยเฉพาะในยุคจารีตล้านช้างโดยนิยมทำเป็นรูปพญานาค ตกแต่งส่วนหัวมีหงอนที่แปลกแตกต่างกันไป ตามแต่จินตนาการช่าง ทั้งกลุ่มสกุลช่างพื้นบ้านพื้นเมือง ช่างญวน โดยมีเรื่องราวหลักฐานผ่านวรรณกรรมทางศาสนา ทั้งของล้านช้างและล้านนา เรื่อง คัชชนาม สรุปได้ว่า หมาสรวง (ซึ่งหมายรวมถึงงูซวง/งูซวาง) ซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกพญาแถนส่งมาจากสวรรค์ เพื่อลงมาปราบปรามมนุษย์ที่ประพฤติไม่ดี โดยเมื่อมาอยู่ในบริบทของเมืองมนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อรับคติพุทธสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ ก็ยังได้รับเกียรติยกย่องในฐานะเทพผู้รักษาค้ำจุนพระพุทธศาสนา โดยมีรูปเป็นสัตว์ทวารบาลเหล่านั้นทำหน้าที่คุ้มครอง ปกป้องศาสนาคารอันศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ดังปรากฏอยู่ที่งานสร้างสรรค์ทางวรรณกรรมทางศาสนา และประติมากรรมปูนปั้น เชิงสัญญะทางความเชื่อในศาสนา เป็นรูปหมาสรวง และงูซวง หรือตัวลวง ตามทวารบาลบริเวณเชิงบันไดศาสนาคารต่างๆ และนัยยะที่ปรากฏอยู่ที่การสร้างสรรค์รูปสัตว์ต่างๆ

he ra 06

ทำให้เห็นถึงการผสานคติความเชื่อพื้นเมืองเดิมแห่งศาสนาผี ที่ผสานผสมกับศาสนาพุทธ ภายใต้รูปสัญญะแห่งการสร้างสรรค์ ปรับแต่งกับระบบรสนิยม และคติความเชื่อของช่างพื้นถิ่น ที่มีลักษณะเสรี ทำให้เกิดรูปแบบทางเลือกอันหลากหลาย อย่างนอกกรอบจารีตแห่งขนบช่างกระแสหลักทั่วไป ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างคุณค่าแห่งความหมายที่สำคัญในตัวเอง

เหรา (น้อนน) วัดบ้านเซเป็ด อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

ติ๊ก แสนบุญ ธันวาคม 2563
(ข้อเขียนนี้หากเป็นประโยชน์ขออุทิศแด่ พี่ดำเนิน แสนบุญ ผู้ล่วงลับ)

he ra 09

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ที่คนในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์กันสนั่นถึง น้อน หรือเจ้า เหรา สุดน่ารักตัวนี้ ทางพระใบฏีกา สุทัศน์ สติสัมปันโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชัยภูมิการามได้พูดถึงประเด็นนี้ว่า "เหราตัวนี้ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับอุโบสถตั้งแต่ปี พ.ศ. 2317 จากฝีมือช่างท้องถิ่น หรือช่างสกุลญวนในสมัยนั้น หากแต่ทางวัดเพิ่งได้มาบูรณะใหม่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยนำเอาสีทองที่เหลือจากการทำสีซุ้มประตูวัดมาทา ทำให้จากสีขาวเดิมกลายเป็นสีทองอย่างที่เห็น"

หลังจากนั้นมีคนสอบถามเข้ามาว่า "ทำไมถึงมีลักษณะแบบนั้น ถือเป็นการดูถูกหรือเปล่า ให้ช่วยอธิบายหน่อย" ทางวัดจึงได้มีการอธิบายไปว่า "ไม่ได้ทำด้วยความดูถูกแต่อย่างใด สร้างด้วยความจิตใจและความศรัทธา ที่ในสมัยก่อนอยากแสดงให้เห็นถึง การอยู่แบบไม่ต้องโอ่โถง อยู่แบบเรียบง่าย คือเน้นใช้งานและความเรียบง่าย เป็นแค่สร้างขึ้นมาเป็นปูนฉาบเรียบเหมือนกับตัวพระอุโบสถ

ตั้งแต่ที่มีข่าวออกไปที่เรียกกันว่า 'น้อน' หรือโพสต์ล้อเลียนว่าเหมือน 'โปเกมอน' บ้าง ตอนแรกอาตมาก็เกิดความสงสัยว่า มองเป็นโปเกมอนได้อย่างไร แต่สุดท้ายก็มองเป็นเรื่องของนานาจิตตังไป ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชัยภูมิการามได้อธิบายแล้วยังบอกอีกว่า ตั้งแต่ที่มีกระแสน้อนนั้น ในปัจจุบันจากแต่ก่อนที่มีแค่คนในพื้นที่ หรือคนใกล้เคียงเท่านั้นที่เข้ามาในวัด หากทุกวันนี้มาจากที่ไกลๆ ไม่ว่าจะทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

he ra 10

เมื่อปีกลาย (พ.ศ. 2563) น้อน (เหรา) สีทอง ได้สร้างกระแส "หิมพานต์มาร์ชเมลโล่" ทำให้มีผู้สนใจกันมากมายไปเยี่ยมชมกันไม่ขาด ปีนี้ทาง กรมศิลปากร โดย สำนักศิลปากร ที่ 9 อุบลราชธานี จึงได้ช่วยเข้าไปบูรณะที่วัดชัยภูมิการาม (วัดกลาง) อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี โดยเลือกที่จะให้น้อนกลับมาเป็นสีขาว ตามแบบดั้งเดิมแล้ว

หากมองในมุมมองของความสวยงาม เหรา ตัวนี้อาจไม่ได้สวยงาม และดูประณีตเหมือนกับหลายๆ ที่ในประเทศไทย เหมือนกับการที่เขาชอบพูดกันเล่นๆ ว่า  งานไม่ตรงปก หรือ ถ้าเป็นงานกราฟิกคงเป็นงานที่บรีฟไปแล้ว งานที่ได้ไม่ตรงบรีฟ สิ่งที่คิดกับสิ่งที่ได้แตกต่างกันจนเกินไป แม้ถูกมองว่าบิดเบี้ยว แต่ก็ยังมีฟังก์ชันแบบของตัวเองที่งดงาม จนเป็นกระแสอยู่นั่นเอง...

he ra 11

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : งูซวง นางลวง หมาสรวง สัตว์ในอุดมคติที่ปรากฏในวรรณกรรมอีสาน

redline

backled1

ta fon morlum

ท่าฟ้อนนาคเกี้ยวเกล้า

การวางขา ก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยเท้าขวา หรือเท้าซ้ายก็ได้ไม่จำกัดเท้าแน่นอน ก้าวสลับกันไปให้เข้ากับจังหวะแคน เป็นการก้าวเดินธรรมดาเข้ากับจังหวะ น้ำหนักจะอยู่ทั้งสองขา ทำเช่นเดียวกันทั้งหมอลำกลอนชายและหญิง

การตั้งวง ไม่มีการตั้งวง ยกแขนทั้งสองขึ้นศีรษะทั้งชายหญิง ไม่จีบมือ ใช้แขนพันกันหักข้อมือเคลื่อนไหว เหมือนนาครัดกัน ยกแขนเหนือศีรษะตลอด

การแปรขบวน หมอลำกลอนวาดอุบลราชธานี จะแปรขบวนได้สองอย่าง คือ ฟ้อนเกี้ยวท่านาคเกี้ยวเกล้าโดยการฟ้อนโชว์ ทั้งคู่ก้าวเดินออกไปข้างหน้าเวทีชายอยู่ด้านขวามือเสมอ แล้วถอยหลังกลับที่เดิม หรือทั้งคู่ฟ้อนในท่านาคเกี้ยวเกล้า โดยการก้าวเดินแปรเป็นวงกลม ชายจะอยู่วงนอกเสมอ

การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ สีหน้าที่แสดงออกด้วยใบหน้าสดชื่น อยู่ในลักษณะสำรวม เป็นการฟ้อนที่อยู่ในท่าไหว้ครู ระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์เพื่อความมั่นใจ การก้าวเดินตามจังหวะนุ่มนวลเรียบร้อย

ta fon morlum 02

ท่าฟ้อนธรรมดา

การวางขา การวางขาเหมือนท่าฟ้อนนาคเกี้ยวเกล้า เป็นการก้าวเดินไปตามจังหวะแคน จะก้าวเท้าไหนก่อนก็ได้ น้ำหนักตัวจะอยู่ที่เท้าทั้งสอง

การตั้งวง ไม่มีการตั้งวงที่จำกัด วงจะสูงบ้างต่ำบ้างตามความถนัด ความพอใจของหมอลำแต่ละคน มืออยู่ในท่าคล้ายสอดสร้อยมาลาของภาคกลาง ไม่มีจีบมือ ใช้ข้อมือหักพริกคว่ำและหงายสลับกันไป ทำเหมือนกันทั้งชายหญิง

การแปรขบวน การแปรขบวนจะต่อจากท่าที่ 1 โดยการเดินไปตามจังหวะเป็นวงกลม เริ่มจากจุดใดจุดหนึ่งแล้วกลับมาที่เดิม ชายจะอยู่รอบนอกทุกครั้งหญิงจะอยู่วงในเสมอ

การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ สีหน้าแสดงออกบ่งบอกถึงความสนุกสนานร่าเริงเย้าหยอกกัน เป็นการท้าทายคู่ต่อสู้อย่างมีความสุข

ความหมายของท่าฟ้อน เป็นท่าฟ้อนเกี้ยวในจังหวะและท่าธรรมดาและเป็นท่าฟ้อนที่หมอลำกลอนทุกคนถือว่าเป็นท่าฟ้อนเกี้ยวที่สุภาพที่สุด

ท่าสาละวันเตี้ยลง

การวางขา การวางขาคงทำเหมือนทุกท่าที่ผ่านมา เป็นการก้าวเดินไปตามจังหวะแคน ในท่าฟ้อนเกี้ยวจังหวะธรรมดา การก้าวเดินจะก้าวไปข้างหน้า หรือต่างคนต่างก็ถอยหลังทำเป็นวงกลมก็ได้

การตั้งวง ไม่มีการตั้งวง ใช้ท่าเกี้ยวธรรมดาทั้งหมด ไม่จีบมือ ไม่จำกัดวง แต่มีการไล่นิ้วอย่างสวยงาม

การแปรขบวน เป็นการแปรขบวนสวนทางกับท่าฟ้อนเกี้ยวธรรมดา ชาย – หญิง อยู่ตรงกันข้ามฟ้อนท่าธรรมดา ถอยหลังค่อยๆ เตี้ยลงจนถึงพื้นทั้งคู่ ด้วยการหันหน้าเข้าหากัน

การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ สีหน้าของทั้งคู่แสดงออกถึงอารมณ์ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกอิ่มเอิบ สนุกสนาน ร่าเริง แฝงไว้ซึ่งความท้าทายยั่วยุคู่ฟ้อนเป็นการแสดงถึงความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน

ความหมายของท่าฟ้อน เป็นท่าฟ้อนที่แสดงถึงความสามารถของผู้ฟ้อนในลักษณะค่อยๆ เตี้ยลงหรือค่อยย่อลงไปจนถึงพื้น โดยไม่เซล้ม แล้วค่อยๆ ยืนขึ้นซึ่งเป็นท่าฟ้อนเกี้ยวที่ฟ้อนยาก และสุภาพท่าหนึ่ง

ท่าฟ้อนม้วนมือ

การวางขา การวางขาและการก้าวเดินคงดำเนินไปเหมือนกับท่าฟ้อนอื่นๆ โดยการก้าวเดินให้เข้ากับจังหวะแคน

การตั้งวง ไม่มีการตั้งวง ยกแขนขึ้นสูงระดับศีรษะ ฝ่ามือแบหันปลายมือเข้าหากัน ใช้มือทั้งสองหมุนทำเป็นลักษณะม้วนข้อมือ ทำเหมือนกันทั้งหมอลำกลอนฝ่ายชายและฝ่ายหญิง

การแปรขบวน การแปรขบวนจะเชื่อมต่อจากเดินตามจังหวะเป็นวงกลม ท่าฟ้อนไล่ครุบ จะเปลี่ยนเป็นท่าฟ้อนม้วนมือด้วยการก้าวเดินคู่ไปข้างหน้า พอประมาณ แล้วกลับถอยหลังเข้าที่เดิมโดยมีหมอแคนอยู่ตรงกลาง

การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ สีหน้าที่แสดงออกเป็นการแสดงออกถึงอารมณ์ที่อิ่มเอิบ มีความสุข สนุกสนานร่าเริง

ความหมายของท่าฟ้อน เป็นท่าฟ้อนที่บอกให้คู่ฟ้อนและหมอแคนที่ให้จังหวะทราบว่า จะจบขบวนการฟ้อนและกลับเข้าที่เดิมแล้ว

ท่าฟ้อนกำมือ

การวางขา การวางขาคงยังดำเนินไปเหมือนท่าฟ้อนม้วนมือ เป็นการเดินถอยเข้าที่เดิมทั้งคู่ให้เข้าจังหวะแคน

การตั้งวง ไม่มีการตั้งวง แขนและมืออยู่ในลักษณะเดิมกับท่าฟ้อนม้วนมือ เพียงแต่กำมือเข้าแทนมือแบ แขนจะลดลงต่ำเรื่อยๆ โดยการทำเป็นจังหวะในลักษณะหักข้อมือ

การแปรขบวน ไม่มีการแปรขบวนมากนัก เพียงแต่ก้าวถอยกลับเข้าที่เดิมเข้าจังหวะแคน ทั้งคู่จะอยู่คนละข้างของหมอแคนข้างใดก็ได้ไม่จำกัด

การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ สีหน้าและอารมณ์แสดงออกถึงความสนุกสนานร่าเริง

ความหมายของท่าฟ้อน เป็นท่าฟ้อนที่เป็นสัญลักษณ์ให้คู่ฟ้อน หมอแคน และผู้ชมทราบว่า จบสิ้นการฟ้อนลงแล้ว

ta fon morlum 01

ท่าฟ้อนแฮ้งกางขา

การวางขา ยืนอยู่ในท่าขากางออกพอประมาณในท่ายืนตรง น้ำหนักอยู่ทั้งสองข้างหน้ามองตรง

การตั้งวง ไม่มีการตั้งวง แขนเหยียดออกไปด้านข้างเหยียดตรงระดับไหล่ ฝ่ามือคว่ำ

การแปรขบวน ไม่มีการแปรขบวนเป็นการแสดงยืนอยู่กับที่เพื่อจะเชื่อมไปสู่ท่าใหม่

การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ สีหน้าที่แสดงออกเป็นสีหน้าและอารมณ์ปกติ

ความหมายของท่าฟ้อน เป็นท่าฟ้อนอิสระเลียนแบบสัตว์ ได้แก่ การบินของอีแร้งในลักษณะที่อีแร้งกำลังจะบินลงสู่พื้น ด้วยการกระพือปีกและกางขา เพื่อสัมผัสกับพื้นดิน เพื่อการทรงตัว

ท่าฟ้อนกาตากปีก

การวางขา ขาอยู่ในท่าการยืนตรง เท้าแยกกันเล็กน้อย หันหน้าตรง

การตั้งวง ไม่มีการตั้งวง แขนเหยียดตรงอยู่ในระดับไหล่คว่ำฝ่ามือลง ปลายนิ้วเหยียดตรง

การแปรขบวน ไม่มีการแปรขบวนเป็นการแสดงท่าประกอบกับเนื้อหาอยู่กับที่

การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ สีหน้าที่แสดงออกอยู่ในท่าสงบปกติ

ความหมายของท่าฟ้อน เป็นท่าอิสระที่เลียนแบบพฤติกรรมของสัตว์ ได้แก่ การพักผ่อนของสัตว์ปีกด้วนการตากปีกออกผึ่งแดด

ท่าฟ้อนยูงรำแพน

การวางขา ก้าวเท้าเดินไปข้างหน้าตามจังหวะแคน น้ำหนักอยู่ที่เท้าที่ก้าวไปข้างหน้า

การตั้งวง ไม่มีการตั้งวง วงสูงบ้างต่ำบ้างไม่จำกัด หักข้อมือม้วนออกไปด้านข้างทั้งซ้ายขวา แขนทั้งสองจะเหยียดตรงไปข้างหลังคว่ำฝ่ามือลง หักปลายนิ้วขึ้นทั้งสองข้าง (เหมือนท่ายูงฟ้อนหางของภาคกลาง) ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

การแปรขบวน เป็นการเดินไปตามจังหวะไปข้างหน้าประมาณ 4 - 5 ก้าว หรือมากกว่านั้น ประกอบกับท่ามือแล้วถอยกลับไปอยู่ที่เดิม

การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ สีหน้าที่แสดงออกให้เห็นถึงความร่าเริงสนุกสนาน สดชื่น

ความหมายของท่าฟ้อน เป็นท่าฟ้อนเลียนแบบนกยูง ที่แสดงออกถึงความพึงพอใจ ด้วยการอวดศักดาของตน โดยการรำแพนหางเป็นอาการสื่อภาษาในการแสดงอำนาจกับนกตัวอื่น และในขณะเดียวกันก็เป็นการบอกถึงความเจ้าชู้กับเพศตรงข้ามด้วย

ท่าฟ้อนเต่าลงหนอง

การวางขา ก้าวเดินสลับเท้าออกไปข้างหลัง ให้เข้ากับจังหวะแคน ด้วยการเดินตรงไปข้างหน้าประมาณ 4 - 5 ก้าว นำหนักตัวอยู่ที่เท้าที่ก้าวไปข้างหน้า

การตั้งวง ไม่มีการตั้งวง เหยียดแขนทั้งสองตรงไปข้างหน้า แล้วลดต่ำลงมาให้อยู่เหนือระดับเข่าพอประมาณ ฝ่ามือคว่ำทั้งสองใช้มือขวาทับซ้ายหรือซ้ายทับขวาก็ได้ ลำตัวโค้งลงค่อนข้างมาก ให้นิ้วหัวแม่มือพ้นออกมาทั้งสองข้าง กระดิกหัวแม่มือให้เคลื่อนไหวแทนขาเต่า สวนนิ้วอื่นๆ อยู่ในลักษณะประกบกันเรียบ

การแปรขบวน ก้าวเดินไปข้างหน้าสลับขวา – ซ้ายให้เข้ากับจักหวะแคน ประกอบกับมือที่ส่ายไปมา และกระดิกหัวแม่มือ ก้าวไปข้างหน้าประมาณ 4 - 5 ก้าว แล้วก็ถอยกลับไปยังที่เดิม

การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ สีหน้าที่แสดงออกบ่งบอกถึงความดีใจ ตื่นเต้นในการพบหนองน้ำ ด้วยอาการรีบคลานลงหนองด้วยความเร็วสังเกตจากการกระดิกนิ้วหัวแม่มือแทนขาเต่า

ความหมายของท่าฟ้อน เป็นท่าฟ้อนอิสระที่เลียนแบบสัตว์ เช่นเดียวกับเป็นการเลียนแบบที่บอกถึงลักษณะรูปร่างของเต่า ตลอดจนพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของเต่าด้วย

ท่าฟ้อนหลีกแม่ผัว

การวางขา ก้าวเดินไปข้างหน้าในลักษณะย่อเข่าเล็กน้อย เท้าไหนก้าวก่อนก็ได้ให้เข้ากับจังหวะแคน น้ำหนักตัวจะอยู่ที่เท้าที่ก้าว

การตั้งวง ไม่มีการตั้งวง แขนทั้งสองจะวางในท่านวยนาดเหมือนกับการเดินทุกอย่าง แขนและขาสลับข้างกัน มือวางคว่ำทับเข่าที่ก้าวในท่าสำรวมนอบน้อมพร้อมกับก้มศีรษะ

การแปรขบวน เป็นการเดินไปข้างหน้าให้เข้ากับจังหวะแคนประกอบลีลาแขนเดินออกไปประมาณ 5 - 6 ก้าว แล้วเดินถอยกลับที่เดิม

การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ สีหน้าที่แสดงออกถึงความเคารพนอบน้อมสุภาพสำรวม เมื่อต้องเดินผ่านผู้มีอาวุโส

ความหมายของท่าฟ้อน เป็นท่าฟ้อนที่เลียนแบบพฤติกรรมในวิถีชีวิตจริงของคนในสังคมชนบท ลักษณะผู้น้อยที่พึงปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ ที่อยู่ในฐานะของแม่สามี ผู้เป็นสะใภ้จะต้องถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ท่าฟ้อนสาวผมโป่งแค่งกุ้งในหนอง

การวางขา เท้าทั้งสองยืนแยกห่างกันพองาม ลำตัวโค้งก้มลง น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าทั้งสองข้าง

การตั้งวง ไม่มีการตั้งวง แขนทั้งสองยื่นลงไปยังพื้น ลักษณะกำมือไม่แน่น (มือจับขอบสวิง) ตวัดไป – มา

การแปรขบวน ไม่มีการแปรขบวน เป็นการแสดงให้เข้ากับจังหวะแคนอยู่กับที่

การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ สีหน้าแสดงออกด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส สนุกสนาน

ความหมายของท่าฟ้อน เป็นการฟ้อนเลียนแบบการทำมาหากินของชาวชนบท ด้วยการใช้สวิงช้อนกุ้งในหนอง ซึ่งเป็นการช้อนที่เรียกว่า “แค่ง”

ท่าฟ้อนเอาบุญตีกลองกินเหล้า

การวางขา ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าสลับกับเท้าซ้าย ให้เข้ากับจังหวะแคน น้ำหนักตัวจะอยู่ที่เท้าก้าวเสมอ

การตั้งวง ไม่มีการตั้งวง มือขวายกขึ้นระดับอก มือซ้ายอยู่ระดับเอวในลักษณะหักข้อมือคว่ำไปข้างหลัง มือขวาก็ทำเช่นเดียวกัน แสดงการตีกลอง

การแปรขบวน ก้าวเดินไปข้างหน้าให้เข้ากับจังหวะแคน ประกอบท่ามือตีกลองไปข้างหน้า แล้วถอยหลังกลับที่เดิม

การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ สีหน้าที่แสดงออกบ่งบอกถึงความสนุกสนานอย่างมีความสุข

ความหมายของท่าฟ้อน เป็นท่าฟ้อนที่เลียนแบบประเพณีการทำบุญต่างๆ ของชาวอีสาน ซึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการตีกลองร้องเพลงกินเหล้า บอกถึงการมีความสุขที่สุดในชีวิต

ta fon morlum 03

ท่าฟ้อนเกี่ยวข้าวในนา

การวางขา ยืนแยกเท้าห่างกันพอประมาณ ลำตัวโค้งก้มลงค่อนข้างมาก น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าทั้งสอง

การตั้งวง ไม่มีการตั้งวง แขนทั้งสองข้างเหยียดตรงระดับเข่า มืออยู่ในลักษณะกำไม่แน่น (ทำท่าเกี่ยวข้าว) มือขวากำเคียวยกขึ้น – ลงเข้ากับจังหวะ

การแปรขบวน ไม่มีการแปรขบวน ก้าวเดินไปข้างหน้าเข้ากับจังหวะแคนประมาณ 2 - 3 ก้าว แล้วถอยกลับที่เดิม

การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ สีหน้าที่แสดงออกค่อนข้างเคร่งขรึมขมักเขม้นในการทำงาน

ความหมายของท่าฟ้อน เป็นท่าฟ้อนที่เลียนแบบวิถีชีวิตของชาวชนบทด้วยการเกี่ยวข้าวในนา ซึ่งส่วนมากชาวชนบทมีอาชีพในการทำนา

ท่าฟ้อนแหลวเซินบินหาแนวกิน

การวางขา ก้าวด้วยเท้าขวาสลับกันไปข้างหน้าประมาณ 3 - 4 ก้าว เข้ากับจังหวะแคน น้ำหนักอยู่ที่เท้าก้าว

การตั้งวง ไม่มีการตั้งวง แขนทั้งสองเหยียดตรงไปด้านข้างคว่ำมือ ปลายมือทั้งสองโบกขึ้น – ลง เอียงซ้าย – ขวาสลับกันไป

การแปรขบวน ไม่มีการแปรขบวน ก้าวเดินไปข้างหน้าแล้วถอยหลังประมาณ 3 - 4 ก้าว แล้วถอยหลังกลับเข้าที่เดิม สายตามองจ้องพื้นหาอาหาร

การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ สีหน้าแสดงออกถึงใจจดจ่ออยู่กับการหาอาหาร

ความหมายของท่าฟ้อน เป็นท่าฟ้อนเลียนแบบการบินของเหยี่ยว ในการบินเสาะแสวงหาอาหาร ด้วยความเร็วพอปานกลาง

ท่าฟ้อนนกกระเจ่าบินวน

การวางขา ชายยืนซ้อนหลัง ก้าวด้วยเท้าขวาสลับกันไปศีรษะเอียงด้านขวา ก้มหน้านิดหน่อย น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าก้าว ทำเหมือนกันทั้งชายและหญิง

การตั้งวง ตั้งวงกลางกวักมือขึ้น – ลง ทำเหมือนกันทั้งชายและหญิง

การแปรขบวน ก้าวเดินพร้อมกับเคลื่อนไหวมือบินเหมือนนก ให้เข้ากับจังหวะแคน ไปข้างหน้าประมาณ 3 - 4 ก้าว แล้วถอยหลังกลับที่เดิม หรือทำเป็นวงกลมก็ได้

การแสดงออกทางสีหน้าและอารมณ์ สีหน้าแสดงออกด้วยสีหน้าและอารมณ์ปกติ

ความหมายของท่าฟ้อน เป็นท่าฟ้อนเลียนแบบการบินของนกกระเจ่าบินวนเวียนไป - มา

 ขอบคุณผู้ให้ข้อมูล : หมอลำทองศรี ศรีรักษ์

redline

backled1

Subcategories

การแสดง การละเล่นพื้นเมือง

รวมศิลปินฅนอีสาน

การฟ้อนรำ การเซิ้ง การแสดงในภาคอีสาน

หมวดงานประเพณีพื้นบ้าน

ความรู้ของคนไทยอีสาน

บายศรีสู่ขวัญ

อาหารการกินฅนอีสาน

พิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย

ปราชญ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)