![]()
|
เกวียน เป็นพาหนะที่ทำจากไม้ ขับเลื่อนด้วยแรงลากจูงของวัวหรือควาย เกวียนอีสานมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามลักษณะของการใช้งาน 3 ลักษณะ คือ 1) เกวียนบรรทุกข้าว 2) เกวียนเดินทาง 3) เกวียนประจำตำแหน่งซึ่งเป็นเกวียนที่สั่งทำขึ้นพิเศษ ให้มีความงดงามสมกับตำแหน่งของเจ้าของ สามารถบ่งบอกสถานะทางสังคมของตนได้ด้วย โดยทั่วไปเกวียนจะมีองค์ประกอบสำคัญ คือ ล้อหรือกงเกวียน เรือนเกวียนหรือตัวเกวียน และไม้รูปซึ่งยื่นออกไปเป็นที่เทียมเกวียนด้วยวัวหรือควาย เกวียนจะเคลื่อนที่ไปตามแรงลากของวัวหรือควาย มีทั้งที่ใช้เพียงตัวเดียวลากมักเรียกว่า เกวียนเดียว แต่ถ้าใช้สองตัวลากเรียก เกวียนคู่
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม โครงสร้างสะท้อนการใช้เทคโนโลยีพื้นฐานอย่างง่ายๆ สมเหตุสมผลการกลึงดุมล้อเกวียนนับเป็นวิธีการที่ใช้ทักษะอย่างยอดเยี่ยม การตกแต่งนิยมแกะสลักลวดลายที่วิจิตรบรรจงลงบนส่วนประกอบของเกวียน ทั้งลายดอกไม้ ลายตัวกนก เช่น เกวียนยโสธร
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เพื่อความปลอดภัยและความเป็นสิริมงคลของเจ้าของเกวียน และผู้ใช้เกวียนชาวอีสานจึงมีพิธีกรรมข่มนางไม้ และการสู่ขวัญเกวียน เพราะเชื่อว่าไม้ที่นำมาทำเกวียนมีนางไม้สถิตอยู่
เกวียนเป็นพาหนะทำด้วยไม้ ใช้ลากจูงด้วยแรงสัตว์ เช่น เทียมด้วย โค หรือ กระบือ ประโยชน์ของเกวียนมีหลายประการคือ เป็นพาหนะโดยสารสำหรับเดินทางไกลเมื่อไปเป็นกลุ่ม เป็นพาหนะบรรทุกผลิตผลจากสวนไร่นาใปยังเหย้าเรือน หรือตระเวนไปขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างหมู่บ้าน เป็นพาหนะที่บรรทุกของที่หนัก เช่น เสา ไม้ ดิน ทราย น้ำ เป็นพาหนะขนเสบียงอาหารและอาวุธในยามสงคราม และเป็นพาหนะลากหีบศพ
เกวียนมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีหลักฐานปรากฎเด่นชัดกล่าวกันว่า ภาพสลักหินเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา มีรูปพระมหากษัตริย์ประทับนั่งพาหนะคล้ายเกวียนที่ใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถบลุ่มแม่น้ำมูล นอกจากนี้ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่สอง หรือจารึกวัดศรีชุมกล่าวถึง พระมหาเถร ศรีศรัทธาราชจุฬามุนี โปรดให้หาบรรดาพระพุทธรูปที่แตกหักในท้องถิ่นต่างๆ ชักมาด้วยล้อ ด้วยเกวียน มาเก็บไว้ในวิหารเมืองสุโขทัย ในประเทศจีนมีรูปจำลองของเกวียนในหลุมฝังศพของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผู้รู้หลายท่านกล่าวว่า เดิมทีมนุษย์ใช้แรงงานคนในการแบกหามสิ่งของ ต่อมามีความจำเป็นที่ตอ้งขนของที่ไกลๆ จึงคิดทำล้อเลื่อน โดยใช้แรงคนลาก จากล้อเลื่อนจึงพัฒนาเป็นเกวียนที่ใช้สัตว์ลากแทนแรงงานคน
เกวียนใช้เป็นยานพาหนะบรรทุกข้าว สิ่งของ ไปจำหน่ายที่ตลาด หรือขนย้าย หรือใช้เป็นยานพาหนะโดยสารในสมัยโบราณที่ยังไม่มีรถยนต์ รถไฟ เหมือนในปัจจุบัน ในหัวเมืองภาคอีสานก่อนรัชกาลที่ 5 นั้นจะมีเส้นทางเกวียนติดต่อกันระหว่างหมู่บ้าน หรือระหว่างเมืองสู่เมือง ดังที่สมเด็จมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็นพระโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี ได้เขียนไว้ใน กรมศิลปากร, ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ (โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์, พ.ศ. 2515 หน้า 392 ) ว่า
…ส่วนทาง (ทางเกวียน) ที่ใช้กันอยู่เวลานี้ (สมัยรัชกาลที่ 6) เดินได้ถึงกัน เช่น มณฑลร้อยเอ็ดไปนครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี เกวียนนี้เป็นยานพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้าสำคัญกว่ายานพาหนะชนิดอื่น ติดต่อกันในมณฑลภาคอีสาน การบรรทุกถ้าเดินทางไกลตั้งแต่ 10 วันขึ้นไปบรรทุกน้ำหนักราว 3 - 4 หาบ (หาบหนึ่งมีน้ำหนัก 10 กิโลกรัม) ถ้าเดินทางวันเดียวหรือ 2 วัน บรรทุก 5 หาบ ขนาดเกวียนสูงจากพื้นดินประมาณ 2 ศอกเศษ ตัวเกวียนกว้าง 1 ศอกเศษ ยาวประมาณ 3 ศอกเศษ ราคาซื้อขายกันตามราคา ตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไปถึง 50 บาท ประทุนที่ใช้ประกอบราคาหลังละ 7 - 8 บาท ถ้าซื้อทั้งประทุนด้วยราคาก็เพิ่มขึ้นตามส่วน …”
เกวียนที่ใช้กันอยู่ในภาคอีสานนั้นมี 2 ชนิด คือ
ประเทศไทยมีเกวียนใช้ทุกภาค ลักษณะแตกต่างกันบ้างในเรื่องรูปร่างและการตกแต่ง เกวียนอีสานมีรูปร่างงดงาม บอบบาง โดยเฉพาะเกวียนยโสธร การตกแต่งนิยมแกาะสลักลวดลายลงไปตามส่วนประกอบของเกวียน แกะเป็นลายดอกไม้บ้าง ตัวกนกบ้าง ประทุนเกวียนอีสานเป็นงานจักสานไม้ใผ่ สามารถกันแดดฝนได้ดี เวลาไม่ใช้เกวียนก็ถอดประทุนไว้
เกวียนในเขตอีสานใต้ เช่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวเขมร เกวียนมีลักษณะบอบบาง สวยงามกว่าแบบที่พบในเขตอีสานเหนือ เกวียนแบบนี้เรียกว่า ระแทะ ในยามพักแรมมีประทุนเกวียนสวมครอบเรือนเกวียน และมีประตูปิดตรงหน้าเกวียน ประทุมเกวียนแบบนี้เรียกว่า พรวงเกวียน หากใช้บรรทุกสิ่งของต้องนำประทุนออก แล้วนำกระชุหรือกระโหลงซึ่งสานด้วยไม้ไผ่วางบนเกวียนเพื่อใส่ข้าวของ
เกวียนเทียมวัวที่พบในกลุ่มแม่น้ำมูล มีลักษณะคล้ายกับระแทะ ที่พบในงานจิตรกรรมโบราณ และภาพสลักหินศิลปขอม เกวียนทางภาคเหนือ มีลักษณะเตี้ย สั้นและกว้าง ส่วนการตกแต่งนิยมเขียนลายรูปช้างบ้าง ดอกไม้บ้าง ประดับที่ไม้กั้น ด้านหน้าและหลัง การแกะลวดลายนิยมแกะให้ลึกเป็นลายเส้น พิธีกรรมเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลเมื่อใช้เกวียน พิธีกรรมเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลเมื่อใช้เกวียน เท่าที่ปรากฎในภาคอีสานมีสองพิธีคือการข่มนางไม้และการสู่ขวัญเกวียน
การประกอบพิธีข่มนางไม้
พิธีข่มนางไม้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยให้เจ้าของเกวียน และผู้ใช้เกวียน โดยเชื่อว่าไม้ที่นำมาทำเกวียนมีนางไม้สถิตอยู่ ฉะนั้นเมื่อทำเกวียนเสร็จแล้ว ก่อนใช้ต้องมีการเหยียบนางไม้ก่อน อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีข่มนางไม้ ได้แก่ขันห้า ประกอบด้วยดอกไม้ห้าคู่ เทียนห้าคู่ และฝ้ายผูกแขน ผู้ประกอบพิธีคือภรรยาเจ้าของเกวียน แต่งกายด้วยเสื้อสีขาว ห่มผ้าสะไปสีขาว คล้ายกับผู้สูงอายุในชนบทแต่งตัวไปวัด เริ่มพิธีด้วยการนำคายขันห้ามาตั้งไว้ที่หัวเกวียน แล้วให้แม่บ้านนั่งที่หัวเกวียนใช้เท้าเหยียบหัวเกวียนพร้อมกับท่องมนต์สองบท บทแรกกล่าวขับไสนางไม้ จากนั้นจะทำพิธีสู่ขวัญเกวียน