![]()
|
ช่วงเดือนธันวาคม หลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จหนุ่มนาบ้านทุ่งก็จะเตรียมทำ "ว่าวสะนู" เพื่อปล่อยขึ้นให้ล่องลอยบนท้องฟ้า "สะนูว่าว" หรือในท้องถิ่นบ้านทุ่งบางแห่งเรียกว่า "ธนูว่าว" หรือ "หมากตื้อ" ที่ติดอยู่บนหัวว่าว เมื่อว่าวล่องลอยอยู่บนท้องฟ้ามีลมพัดผ่านใบสะนู จะเกิดเสียงฟังดูแล้วให้ความรู้สึกวังเวงท่ามกลางความเงียบสงบแห่งราตรีกาล เป็นเหมือนดนตรีที่ขับกล่อมบ้านทุ่ง ฝากความฮักความคึดฮอดคึดถึงไปยังสาวนาที่หมายปองอีกบ้านหนึ่งในยามค่ำคืน
สะนู น. เครื่องทำเสียงชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายหน้าจ้าง ใบสะนูทำด้วยใบตาล ใบลาน ติวไม้ไผ่ หรือทำด้วยแผ่นเงินแผ่นทอง ถ้าได้แผ่นเงินแผ่นทองเสียงจะไพเราะนัก สะนูนี้ใช้ติดที่หัวว่าว ปล่อยว่าวขึ้นไปในอากาศ ลมพัดสะนูเสียงจะดัง ฟังแล้วเกิดความเพลิดเพลินเจริญใจ ชาวนาที่ต้องใช้หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินหากินมาแต่ดึกดำบรรพ์ ได้รับความทุกข์ทรมาน เมื่อได้ยินเสียงสะนูดังก็จะลืมทุกสิ่งทุกอย่าง ลืมกระทั่งความทุกข์ยากปากหมอง... "
จากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง
สำหรับ สะนูว่าว หรือ ทะนูว่าว (ตามการออกเสียงแบบชาวอีสาน) หรือ ธนูว่าว คือ เครื่องไม้หรือของเล่น ที่ทำไว้ใช้ในช่วงเวลาว่างจากการทำงานของคนไทยในสมัยโบราณ โดยจะใช้ติดอยู่บนหัวของว่าวที่ทำให้ว่าวมีความสมดุล และติดลมได้อย่างสวยงาม นอกจากนี้ ยังเป็นสิ่งอัศจรรย์อย่างยิ่งที่สามารถทำให้เกิดเสียงดนตรีบรรเลงได้อย่างไพเราะจับใจ ทางภาคกลางเรียก "ว่าวหง่าว" หรือ "ดุ๊ยดุ่ย"
คนไทยโดยเฉพาะทางภาคอีสานมีความเชื่อว่า ว่าวที่มีแอกหรือสะนูประกอบว่าว ถือเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการเสี่ยงทายเรื่องต่างๆ เช่น การเสี่ยงทำนายฟ้าฝนในแต่ละฤดูกาล ถ้าว่าวติดลมลอยอยู่บนท้องฟ้าตลอดทั้งคืน มีความเชื่อว่าปีนั้นฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล ไร่นาและการทำมาหากินจะอุดมสมบูรณ์
แต่ถ้าว่าวขาดหรือเชือกขาด เสียงแอกไม่ดัง ก็มีความเชื่อว่า ในปีนั้นน้ำจะแล้ง ส่วนการเสี่ยงเพื่อเลือกคู่ครอง ถ้าใครเก็บว่าวได้จะถือว่าเป็นคู่ครองอยู่กินกันอย่างมีความสุข นอกจากจะเป็นการละเล่นแล้ว ยังใช้ประกอบพิธีกรรมตามขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อและวัฒนธรรม
ว่าวที่จะติดสะนูได้ต้องมีขนาดใหญ่ ทำจากไม้ไผ่นำมาเหลาให้ได้ขนาด จากนั้นจึงมัดเป็นรูปสัตว์ตามจินตนาการของผู้เป็นเจ้าของ แต่ที่บ้านทุ่งจะนิยมทำว่าวจุฬากัน เมื่อทำโครงร่างจากไม้ไผ่เสร็จสมบูรณ์แล้วใช้เชือกมัดให้แข็งแรง ยึดด้วยกระดาษแข็งหรือวัสดุที่ทนต่อการเสียดสีของอากาศ ในขณะที่ล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า ส่วนหูและหางของว่าวนำมาจากวัสดุที่อ่อนพริ้ว โดยเฉพาะส่วนหาง ซึ่งเป็นส่วนที่เกิดความสมดุลย์ในขณะที่อยู่บนอากาศ เมื่อตอนเด็กๆ พวกเราจะลงไปขอจีวรของพระที่วัดที่ไม่ได้ใช้แล้ว มาทำเป็นหางว่าวได้ตามขนาดที่ต้องการ
เมื่อได้ว่าวตามขนาดที่ต้องการแล้ว ก็จะถึงขึ้นตอนการทำสะนู ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับธนูที่ใช้ล่าสัตว์ เพียงแต่ว่าเปลี่ยนจากสายเชือกมาเป็น ใบลาน หรือใบตาล ยึดด้วยเชือกติดกับปลายสะนูทั้งสองข้าง จากนั้นจึงใช้ขี้สูดยึดประกบรอยของเชือกเพื่อมิให้หลุดเมื่ออยู่บนท้องฟ้า
เมื่อประกอบเสร็จแล้ว จะนำมาแกว่งเพื่อทดสอบเสียง จนได้เสียงเป็นที่พอใจ แล้วจึงนำมามัดไว้บริเวณส่วนหัวของว่าว ก่อนที่ปล่อยว่าวจะต้อง "แต่งเคาว่าว" เพื่อเชื่อมโยงระหว่างตัวว่าวกับเชือกว่าว เพื่อให้เกิดความสมดุลย์กัน จากนั้นจึงโยงด้วยเชือกจากเคาว่าวเป็นระยะกว่า 100 เมตร
จากนั้นเจ้าของว่าวจะเตรียมวิ่ง โดยมีผู้ช่วยจับว่าวหนึ่งคน แต่ถ้าเป็นว่าวขนาดใหญ่ต้องใช้ผู้ช่วยไม่น้อยกว่า 2 คน เมื่อเริ่มวิ่งทำให้เชือกตึง จะฉุดให้ตัวว่าวล่องลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า แล้วคลายเชือกให้ได้ระยะตามที่ต้องการ ผูกไว้กับต้นไม้ที่แข็งแรง ส่วนพื้นที่สำหรับการปล่อยว่าวสะนู ก็จะเป็นบริเวณทุ่งนาหลังการเก็บเกี่ยวเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมนักแล ในสมัยก่อนยังไม่มีสายไฟฟ้าแรงสูง ทำให้สะดวกต่อการปล่อยว่าว แต่ในยุคนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
เมื่อว่าวล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า เจ้าของว่าวจะมองเห็นลิบๆ มองผลงานอย่างชื่นชม และกลับไปนอนฟังเสียงสะนูของตนเองในยามค่ำคืน เจ้าของว่าวแต่ละคนจะจำเสียงสะนูของตนเองได้เป็นอย่างดี หากคืนไหนเสียงสะนูหายไป นั้นหมายความว่า ว่าวได้ร่วงหรือเชือกขาดไปแล้ว เขาจะเกิดความกระวนกระวายใจเป็นอย่างมาก รุ่งเช้าจึงต้องเป็นภาระที่จะต้องตามเก็บว่าวคืนมาให้ได้ บางครั้งตามไปพบบนต้นไม้สูง หรือปลายต้นไผ่ ต้องใช้เวลานานพอสมควรจึงจะตามเก็บคืนได้ หรือบางครั้งไปตกบริเวณป่าช้า ก็ต้องทำใจกล้าชวนเพื่อนฝูงไปเป็นเพื่อนตามเก็บคืนมาจนได้
สะนู หรือ ทะนู (เขียนอย่างภาษาอีสาน) เป็นเครื่องเล่นประกอบว่าว ในภาคอีสานมาแต่โบราณ โดยมีส่วนประกอบหลักคือ คัน เคา เปิ้น
คันสะนู ทำมาจากไม้ไผ่ซางไพ หรือไผ่บ้าน อายุตั้งแต่ 3-4 ปีขึ้นไป เพราะจะได้มีความแข็งเหนียว ยืดหยุ่นดี ไม่หักง่าย
เคา หมายถึง ส่วนที่เป็นสายระหว่างเปี้น (ปื้น) สะนู กับปลายคันทั้งสองข้าง แต่ก่อนนิยมใช้เส้นไหมมาทำ (หาง่ายในยุคสมัยนั้น) แต่ในปัจจุบันนิยมใช้ด้ายไนล่อนอ่อนแทนเพราะหาง่ายกว่าและมีราคาถูก
เปี้น (ปื้น) หรือใบพัด เป็นตัวที่ทำให้เกิดเสียงเวลาถูกลมพัด เปี้นจะหมุนไปมาโดยมีเคาเป็นตัวยึด เกิดเป็นเสียงสูงต่ำ เปี้นสะนู อย่างพื้นฐานจะใช้ ใบลาน ใบตาล ใบเกด (การะเกดหรือต้นลำเจียก) มาทำ สำหรับว่าวที่เด็กๆ เล่นกัน ถ้าเป็นสะนูมาตรฐานของหนุ่มๆ ก็จะทำจากหวาย เครือหมากแตก หรือทองเหลืองตีเป็นแผ่นแบนหลาบยาวๆ แต่โดยทั่วไปนิยมใช้หวาย เพราะเหนียวและให้เสียงดี ส่วนเครือหมากแตกให้เสียงนุ่มนวล แต่ก็ไม่ค่อนทนทาน โดนลมไปนานๆ มักเปี้นขาดหรือหัก
สอนทำสะนูว่าวจากหวาย ร่วมอนุรักษ์สืบสานประเพณีอีสานพื้นบ้าน
การปรับแต่งเสียงสนูด้วยขี้สูด หรือขี้ผึ้ง (ชันโรง)
เพลง สะนูว่าวข่าวรัก ศิลปิน : เอกพล มนต์ตระการ
| |
สนับสนุนให้ IsanGate อยู่รับใช้ท่านตลอดไป ด้วยการคลิกแบนเนอร์ไปเยี่ยมผู้สนับสนุนของเราด้วยครับ |