![]()
|
หมอลำจอมศรี บรรลุศิลป์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่ บ้านหนองไม้ตาย ตำบลหนองเหล่า อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านได้แต่งงานอยู่กินกับ กำนันคำดี บรรลุศิลป์ หมอลำจอมศรีเป็นหมอลำที่โดดเด่นไล่เลี่ยกันกับ หมอลำคูณ ถาวรพงษ์ และได้เดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อบันทึกแผ่นเสียงคู่กันให้กับ นาย ต. เง็กชวน เจ้าของห้างแผ่นเสียงตรากระต่าย เมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2483 เมื่อท่านบันทึกแผ่นเสียงในกรุงเทพฯ เสร็จเรียบร้อย ท่านพร้อมสามีได้ซื้อรถบรรทุก 6 ล้อกลับไปอุบลฯ ด้วย 1 คัน เพื่อรับจ้างบรรทุกของขนส่ง (แสดงให้เห็นว่าฐานะของท่านดีพอสมควร) แต่หลังจากนั้นไม่นานเกิดสงครามขึ้น (เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ทางการจึงได้มายึดรถบรรทุกของท่านไป ภายหลังสามีของท่านได้ไปเปิดร้านขายยา อยู่ในตลาดอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
หมอลำจอมศรี บรรลุศิลป์ หมอลำหญิงเสียงดีของเมืองอุบลฯ สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นผู้ลำกลอนลำล่องของ (โขง) ด้วยทำนองลำยาวหรือลำล่อง (เอ๊ะทำไมพ้องกับคำว่า "Long" ของฝรั่ง? ซึ่งแปลว่า "ยาว")
“ลำยาว-ลำล่องโขง” ลำกลอนนี้มิใช่กลอนลำกลอนแรก ที่รังสรรค์ขึ้นโดยบรรพบุรุษชาวอีสาน เพื่อบรรยายสภาพทางภูมิศาสตร์ของสายน้ำโขง หากก่อนหน้านั้น “ลำล่องของ” ของ หมอลำจอมศรี บรรลุศิลป์ ก็มีผู้กล่าวขวัญถึง ลำล่องหรือลำยาว เป็นการขับลำทำนองช้า เข้ากับเสียงแคนลายใหญ่ หรือลายเอ่ยน้อย มีระดับเสียงต่ำ ทำให้คนฟังเคลิบเคลิ้มคล้อยตาม เมื่อผสานกับถ้อยคำและเนื้อหาของบทกลอน บางคนถึงกับน้ำตาคลอด้วยออนซอน (ประทับใจ) ครวญคิดไปต่างๆ นานา คิดถึงอดีต ความรัก ความหลัง ความพลัดพราก อาลัยอาวรณ์
ด้วยประการฉะนี้ ลำล่อง หรือลำยาว จึงได้รับการวางตำแหน่งไว้สำหรับคั่น เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและเพื่อสร้างความประทับใจ ที่สำคัญ เมื่อหมอลำจะลาจากมิตรหมอแคนแฟนหมอลำ จะต้องใช้ลำล่อง หรือลำยาว เป็นการปิดฉากสั่งลา ดังนั้น บางครั้งจึงเรียกว่า “ลำลา”
เหตุที่ได้ชื่อว่า “ลำล่อง” อาจเนื่องด้วยลีลาลำที่ลื่นไหล พรั่งพรู เหมือนการล่องตามกระแสน้ำ และเหตุที่ได้ชื่อ “ลำยาว” ก็อาจเนื่องเพราะเป็นลำที่มีความยาวอย่างยิ่ง ศิลปินลาว-อีสานเลือกใช้ “ลำยาว” หรือ “ลำทางยาว” ในการบรรยายเรื่องราวที่ต้องการให้รายละเอียดแก่ผู้ฟัง เช่น การบรรยายสภาพทางธรรมชาติ ประวัติบุคคล นิทานชาดก เป็นต้น เรียกว่าได้น้ำได้เนื้อและได้ “ม่วนซื่น” ไปพร้อมกัน
ลำล่องโขง - หมอลำจอมศรี บรรลุศิลป์
หมอลำจอมศรี บรรลุศิลป์ หมอลำหญิงเสียงดีของเมืองอุบลราชธานี สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นผู้ลำกลอนลำล่องของ (โขง) ด้วยทำนองลำยาวหรือลำล่อง ดังนี้
...โอนอ สิได้พรรณนาเรื่องลำโขงยาวย่าน
น้ำมันไหลมาจากเขาทิเบตใหญ่กว้างเหนือพุ้นล่วงลง
ฮ้อยคดฮ้อยโค้งลำโขงยาวย่าน
พอมาเหลียวเห็นก้ำเมืองหลวงพระบางแจ้งขางข่าย
เห็นแต่ภูเขาตั้งซ้ายล้ายเมืองนั้นอยู่กลาง
มันหากเป็นแบบนั้นตั้งแต่ก่อนปฐม
เป็นเมืองหลวงของลาวตั้งแต่คราวหลังพุ้น
เหิงนานล้ำหลายปีแถมถ่าย
จึงได้คึดค่อยย้ายเมืองก้ำเก่าหลัง
ลงมาตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่
คือเวียงจันทน์พันพร้าวคราวนั้นต่อมา...”
ลำล่องหรือลำยาว เป็นการขับลำทำนองช้า เข้ากับเสียงแคนลายใหญ่ หรือลายเอ่ยน้อย มีระดับเสียงต่ำ ทำให้คนฟังเคลิบเคลิ้มคล้อยตาม เมื่อผสานกับถ้อยคำและเนื้อหาของบทกลอน บางคนถึงกับน้ำตาคลอด้วยออนซอน (ประทับใจ) ครวญคิดไปต่างๆ นานา คิดถึงอดีต ความรัก ความหลัง ความพลัดพราก อาลัยอาวรณ์ ด้วยประการฉะนี้ ลำล่อง หรือลำยาว จึงได้รับการวางตำแหน่งไว้สำหรับคั่น เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและเพื่อสร้างความประทับใจ ที่สำคัญ เมื่อหมอลำจะลาจากมิตรหมอแคนแฟนหมอลำ จะต้องใช้ลำล่อง หรือลำยาว เป็นการปิดฉากสั่งลา ดังนั้น บางครั้งจึงเรียกว่า “ลำลา”
เหตุที่ได้ชื่อว่า “ลำล่อง” อาจเนื่องด้วยลีลาลำที่รื่นไหล พรั่งพรูเหมือนการล่องตามกระแสน้ำ และเหตุที่ได้ชื่อ “ลำยาว” ก็อาจเนื่องเพราะเป็นลำที่มีความยาวอย่างยิ่ง ศิลปินลาว-อีสานเลือกใช้ “ลำยาว” หรือ “ลำทางยาว” ในการบรรยายเรื่องราวที่ต้องการให้รายละเอียดแก่ผู้ฟัง เช่น การบรรยายสภาพทางธรรมชาติ ประวัติบุคคล นิทานชาดก เป็นต้น เรียกว่าได้น้ำได้เนื้อและได้ “ม่วนซื่น” ไปพร้อมกัน (คำว่า ล่อง ในภาษาอีสาน กับ Long ภาษาอังกฤษ และ ยาว ในภาษาไทย ทำไมจึงพ้องคำและความหมายกันเช่นนี้)
จาก ลำล่องโขง หรือ ลำล่องของ แตกแขนงออกเป็น “ลำยาวล่องโขงในขวด” ของ หมอลำบุญเพ็ง ไฝผิวชัย และหมอลำแพงศรี แสนทวีสุข แล้วก็เป็น “ล่องขวาง” ของหมอลำมาลา สุดถนอม
จากลำล่อง-ลำยาว-ลำทางยาว-ลำลา ได้มีผู้สร้างจังหวะให้กระชับเข้า เพื่อสร้างความสนุกสนาน ตลกโปกฮา จึงกลายเป็นลาย หรือทำนองลำ เรียก “ลำเต้ย” หรือ “เต้ยโขง” และกลายเป็นลายแคน “ลายเต้ยโขง” (โน้ต : ล-ซ-มล-ซ-ดล-ซ-มล / ซม-ร-ดม-ร-ซม-ร-ดล-ด-รม-รด-ซล-ด-รม-รด-ซล)
หมอลำจอมศรี บรรลุศิลป์ ท่านเสียชีวิตราวๆ ปี 2486 (ก่อนหมอลำคูณราวปีกว่าๆ) มีเรื่องเล่าพิศดารไว้ว่า พญาแถนจะจัดพิธีแต่งงานให้กับลูกสาว และประสงค์จัดให้จัดหมอลำสมโภชในงานด้วย จึงตามหมอลำจอมศรีมาพบ และถามว่าเคยลำกับใครบ้าง หมอลำจอมศรีตอบว่า "เคยลำกับหมอลำคูณ" ไม่นานหมอลำคูณก็ล้มป่วย และเสียชีวิตลงก่อนวัยอันควร เรื่องเล่านี้เป็นที่โจษจันกันทั่วภาคอีสานในสมัยนั้นเลยทีเดียว
ลำเว้าผู้สาว - หมอลำคูณ ถาวรพงษ์ และหมอลำจอมศรี บรรลุศิลป์
ขณะที่ หมอลำซิ่ง ครองความนิยมภาคอีสานในเวลานี้ ซึ่งเป็นผลพวงมาจาก
การที่ ราตรี ศรีวิไล ได้นำเอาหมอลำกลอนไปใส่กลองซิ่ง และเร่งเร้าจังหวะดนตรี
ขึ้น โดยเพียงต้องการให้คนหันมาดูหมอลำกัน แต่เธอถูกตำหนิจากคนในวงการ
หมอลำว่า เป็นต้นเหตุทำให้หมอลำกลอนผิดเพี้ยนไป "
ดร. ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร เดิมชื่อ ราตรีศรีสวัสดิ์ อุ่นทะยา ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น "ราตรีศรีวิไล" ตามนามฉายาที่ใช้ในการแสดงหมอลำคือ "หมอลำราตรีศรีวิไล" หรือในกลุ่มลูกศิษย์ศิลปินหมอลำนิยมขานนามกันว่า “แม่ครูราตรีศรีวิไล” เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2495 ที่อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม บิดาชื่อนายเสริม มารดาชื่อ นางหมุน นาห้วยทราย ซึ่งทั้งสองคนมีอาชีพเป็นศิลปินหมอลำกลอนและนักประพันธ์กลอนลำ
ปี พ.ศ. 2517 ได้สมรสกับ นายวิชิต บงสิทธิพร อาชีพรับราชการสาธารณสุข มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายธนกร บงสิทธิพร และนางสาวโยธิกาศรีวิไล บงสิทธิพร อยู่ที่บ้านเลขที่ 41/60 ซอยหมู่บ้านเสรี ถนนมิตรภาพ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น รหัสไปรษณีย์ 40000 โทรศัพท์ /โทรสาร 043-243070, 081-8715868 ซึ่งเปิดเป็นสำนักงานหมอลำ และได้รับคัดเลือกจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ในการก่อตั้ง ศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) ขึ้นในจังหวัดขอนแก่น
การประพันธ์กลอนลำแบบประยุกต์ ส่วนใหญ่ใช้ทำนองประเภทผสมผสาน เช่น ทำนองลำทางสั้น ทางล่อง ทางเต้ย ลำพื้น ลำหมู่ ลำเพลิน ลำสินไซ ลำเดินขอนแก่น ลำย่าววาทขอนแก่น ลำย่าววาทกาฬสินธุ์ ลำย่าววาทอุบล ลำตั่งหวาย และลำผู้ไทย เป็นต้น เน้นจังหวะเร็ว เร้าใจและใช้จังหวะทำนองเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง สตริงเข้ามาผสมผสานเป็นบางส่วน ทางด้านเนื้อหาสาระก็คล้ายกับแบบดั้งเดิม แต่จะเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง ความรัก ตลกขำขัน และการสร้างสรรค์สังคมตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามยุคตามสมัย การประพันธ์กลอนลำแบบประยุกต์จะต้องให้สอดคล้องกับดนตรี เพราะกลุ่มผู้ฟังลำแบบประยุกต์จะเน้นการฟังเสียงดนตรีประกอบด้วย และภาษาที่ใช้ในการประพันธ์กลอนใช้ภาษาไทยถิ่นอีสานและภาษาไทยกลางผสมผสานเท่ากัน
ขณะที่ หมอลำซิ่ง ครองความนิยมภาคอีสานในเวลานี้ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่ ราตรี ศรีวิไล ได้นำเอาหมอลำกลอนไปใส่กลองซิ่ง และเร่งเร้าจังหวะดนตรีขึ้น โดยเพียงต้องการให้คนหันมาดูหมอลำกัน แต่เธอถูกตำหนิจากคนในวงการหมอลำว่าเป็นต้นเหตุทำให้หมอลำกลอนผิดเพี้ยนไป
"ช่วงหมอลำซิ่ง ออกมาเยอะๆ และมีการเต้น และแต่งตัวไม่สุภาพ มีคนออกมาด่าแม่ราตรีเยอะมาก บอกว่า เป็นต้นแบบให้หมอลำกลอนกลายพันธุ์ แต่คนที่ด่าเราเขาไม่เคยดูว่า พื้นที่เราปูเอาไว้เป็นอย่างไร เราทำหมอลำซิ่งจริง แต่ไม่ได้ทะลึ่ง หรืออนาจาร ไม่เคยใส่กระโปรงสั้น เต้นเด้งหน้า เด้งหลังเหมือนโคโยตี้ แต่เด็กหมอลำซิ่งรุ่นใหม่เอาไปทำเอง อธิบายอย่างไรเขาก็ไม่ฟัง กลับแอนตี้เราอย่างเดียว แต่มีลูกศิษย์เราบางคนไปวิ่งตามตลาดก็มี โดยลืมของจริงรากเหง้า มันไม่ใช่รูปแบบวัฒนธรรม แต่เป็นรูปแบบนักธุรกิจ มุมมองนักวัฒนธรรมมองเราเสียหายว่า แม่ราตรีเป็นต้นฉบับหมอลำซิ่ง แต่จริงๆ เราไม่เคยทำให้วัฒนธรรมหมอลำเสียหาย คำสกปรกไม่เคยพูด เราพูดแค่กำกวม ไม่เคยพูดหยาบคายลามก"
เมื่อถามว่า "ท้อไหมที่ถูกเพื่อนร่วมอาชีพเดียจฉันท์" แม่ราตรีบอกว่า "ท้อแต่ไม่ถอย คนให้กำลังใจก็มี แต่ถ้าถามย้อนกลับคืนว่า ถ้าเราทำไม่ดี ทำไมหน่วยงานราชการ กรม กอง กระทรวงต่างๆ ถึงได้มาจ้างเรา เขียนกลอนลำ และ ร้องหมอลำซิ่งให้ไปรณรงค์ โดยเฉพาะรณรงค์เรื่องไม่กินปลาดิบ รณรงค์เลือกตั้งทุกคนวิ่งมาหาเราหมด
ในกลุ่มหมอลำกลอนด้วยกัน เขาแอนตี้แม่มากถึงขนาดที่จะฆ่าเราให้ตาย ไม่ให้หมอลำซิ่งเกิดได้ แต่ก็ไม่ได้ เพราะหมอลำซิ่งมันเยอะ เขาเลยพูดไม่ได้ แต่มันเสียใจตรงที่ว่า ทำไมผู้ใหญ่เหล่านี้ไม่มองเด็กเหล่านี้ในด้านดีบ้าง เพราะคนที่เขาทำดีก็มี หมอลำซิ่งที่ไม่อนาจาร สามารถต่อลมหายใจให้หมอลำอีสานมีชีวิตอยู่รอด ไม่ให้ตายไป เพราะถ้าไม่มีหมอลำซิ่ง หมอลำตายจากอีสานไปแล้ว"
ส่วนที่เธอห่างหายจากวงการหลายปีนั้น เธอมุ่งมั่นเพื่อเรียนหนังสือจนใกล้จบปริญญา โดยแม่ราตรีบอกเล่าถึงแรงจูงใจ ว่า "เดือนธันวาคมนี้ ก็จะเข้ารับพระราชทานปริญญามหาบัณฑิต ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สาขาหมอลำ และ ตั้งใจจะเรียนต่อดอกเตอร์เพื่อเป็นดอกเตอร์ด้านหมอลำคนแรกของประเทศไทยและของโลกให้ได้ ตั้งแต่เด็กอยากเรียนมาก แต่พ่อแม่ไม่ให้เรียน บอกให้เป็นหมอลำ เพราะพ่อแม่เป็นหมอลำ พ่อแม่ก็ทิ้งหนังสือกลอนลำใส่มือให้ จบป. 4 ก็เป็นหมอลำเลย จนมาถึงพ.ศ. 2518 ลูกสาวเกิด ช่วงพักคลอด เพิ่งได้มาเรียนต่อระดับ ป. 5 - ป. 6 และ เรียนต่อ กศน. มาเรื่อยๆ จนจบ ม. 6 และ และเรียนต่อระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และ ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปี 2548 ในสาขาพัฒนาชุมชน"
หลังจากจบระดับปริญญาตรีแล้ว ราชินีหมอลำซิ่งยังไม่หยุดเท่านั้น โดยมุมานะเรียนปริญญาโทจนจบสมใจ "ตั้งใจจะเรียนแค่ปริญญาโทก็พอ แต่พอได้เรียน ปริญญาโท ในสาขาหมอลำ ที่เพิ่งเปิดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ คณบดีเคยคุยกันกับเราว่าหากตั้งสาขาหมอลำ เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่เด็ก เขาบอกแม่ราตรีต้องมาเรียนนะ ต้องจบปริญญาโทด้านหมอลำให้ได้ โดยคนที่เป็นอีกแรงผลักดันสำคัญคือ อาจารย์สุพรรณี เหลืองบุญชู ซึ่งเป็นคนทำให้เราเห็นความสำคัญของการเรียนต่อที่สาขานี้ เพื่อให้เด็กที่เป็นหมอลำรุ่นใหม่ๆ ไม่คิดว่า เรียนหมอลำ เรียนไปทำอะไรไม่มีประโยชน์"
แรงผลักดันที่ทำให้อยากเรียนต่อ เพราะอยากเป็นแรงผลักดันให้เด็กรุ่นใหม่ใฝ่เรียนหนังสือ และไม่ทิ้งการเรียน ไปเต้นกินรำกินอย่างที่โบราณว่าอย่างเดียว "
"ถ้าหมอลำเรียนหนังสือสูง คำครหานินทาก็จะได้น้อยลง ที่ผ่านมาเขามองว่าหมอลำโง่ โกหกอย่างไรก็ได้ หลอกอย่างไรก็ได้ จ้างแล้วไม่มีเงินจ่าย หมอลำก็ไม่มีปัญญาด่า เขาดูถูกเราขนาดนั้น ถ้าเราเรียนสูงคำเหล่านี้ก็จะหายไป วิทยานิพนธ์ที่ทำ ในระดับปริญญาโทเป็นเรื่องสุนทรียภาพในกลอนลำของหมอลำกลอน ซึ่งมันเข้าทางตนเองและเราผ่านตรงนี้มาแล้ว เคยได้รับรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ เลยทำให้เรายิ่งมีแรงผลักดัน อยากเรียนต่ออีกจนจบดอกเตอร์ และอาจารย์ที่คณะบอกว่า ใครจะเป็นดอกเตอร์หมอลำคนแรกของโลก ถ้าไม่ใช่ราตรีศรีวิไล เรียนเถอะ เพราะอนาคตหากมีนักศึกษาเข้าเรียนต่อด้านนี้อีก จะหาดอกเตอร์มาคุมวิทยานิพนธ์ไม่ได้ หากแม่ราตรีไม่จบดอกเตอร์ให้ได้เสียก่อน"
แม่ราตรี ฝากทิ้งท้ายถึง ลูกหลานที่เป็นหมอลำซิ่งว่า "อยากจะไหว้ให้กลับมา อย่าไปนุ่งสั้น ที่มองแล้วกลายเป็นชุดจ้ำบะ เป็นโคโยตี้ เราไม่จำเป็นต้องขายเรือนร่าง ขายเซ็กส์ขนาดนั้น ขายท่าเต้นที่ไม่ดี ทำให้เสียหาย อยากจะให้ลูกเต้ากลับมา กู้หน้าตาพ่อแม่เรา มรดกอีสาน เขาได้ทำเอาไว้ให้เราแล้ว แม่จะคอยอนุโลมให้ มาเจอกันครึ่งทางก็ยังดี ดีกว่าหลุดโลกไปมากกว่านี้ สงสารพ่อแม่ที่เคยส่งเรามาร้องมาลำ พ่อแม่ไปดูก็ไม่ภูมิใจหรอก ลูกสาวนุ่งสั้น เด้งหน้าเด้งหลัง ขอให้คืนหาทิศทางวัฒนธรรมหมอลำของเราซะ หมอลำซิ่งเราจะได้ไม่ถูกดูถูกแบบนี้ เขาจะได้มองเห็นเราดีขึ้น"
แม่ครูราตรีศรีวิไล ได้ประพันธ์บทกลอนลำเกี่ยวกับเนื้อหาสาระต่างๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละยุคสมัย และกลอนเกี่ยวกับการสร้างสรรค์สังคม เช่น กลอนรณรงค์เผยแพร่ข่าวสารด้านต่างๆ ได้แก่ กลอนรณรงค์ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บทั่วไป กลอนเลิกเหล้าเข้าพรรษาบูชาในหลวงรณรงค์เชิญชวนเลือกตั้งผู้แทนทุกระดับ รณรงค์เผยแพร่ประชาธิปไตย รณรงค์เชิญชวนรักการอ่าน การเรียนรู้หนังสือ เชิญชวนอนุรักษ์ภาษาและวรรณกรรม กลอนอนุรักษ์วัฒนธรรม ตลอดจนกลอนรักษาจารีตประเพณีไทย เป็นต้น รวมจำนวนกลอนลำที่ประพันธ์ได้มากกว่า 1,000 กลอน (เอกลักษณ์โดดเด่นในการประพันธ์กลอนลำ คือ เน้นการใช้ภาษาไทยถิ่นอีสาน) เมื่อประพันธ์กลอนเสร็จก็มอบให้ลูกศิษย์และหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งตัวท่านเอง นำไปแสดงเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามงานองค์กรต่างๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละงาน
ดูคลิปนี้จาก Facebook Fanpage ได้เลย
นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย เกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2475 บิดาชื่อ นายช่วย ไผ่ผิวชัย มารดาชื่อ นางต่อน ไผ่ผิวชัย จบการศึกษาชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านดอนจิก ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี สนใจแสดงหมอลำมาตั้งแต่อายุ 12 ปี ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ หมอลำทองมี สายพิณ หมอลำสุบรรณ พละสูรย์ เด็กหญิงบุญเพ็งเป็นผู้ที่มีความจำและไหวพริบปฏิภาณสูง ฝึกลำอยู่เพียง 2 ปี ก็สามารถรับงานแสดงเป็นของตนเองได้ และเนื่องจากเป็นหมอลำที่มีสำนวนคมคาย สามารถโต้ตอบกับหมอลำฝ่ายชายได้อย่างฉลาดเฉลียว เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม ทำให้มีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ได้ชื่อว่าเป็นหมอลำที่มีคารมกล้า โต้ตอบกับคู่ลำด้วยไหวพริบที่ฉับไว
ชีวิตครอบครัว ได้สมรสกับ นายพั่ว พูลทอง (ถึงแก่กรรม) มีบุตรและธิดา 8 คน ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้สมรสกับ นายเคน ดาเหลา หรือ "หลมอลำเคน" ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ. 2534 ไม่มีบุตรด้วยกัน
กลอนลำแต่ละกลอนมีสาระเชิงปรัชญาชีวิต ให้คติสอนใจที่แยบคาย จนเธอได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก จนทำให้ บริษัท กมลสุโกศล ติดต่อให้บันทึกเสียงลงแผ่น เป็น หมอลำหญิงคนเดียว เมื่อปี พ.ศ. 2498 ที่ได้รับการบันทึกแผ่นเสียงมากที่สุด มีงานแสดงทั้งกลางวัน กลางคืน เป็นศิลปินของประชาชนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชินีหมอลำ เคยได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จังหวัดขอนแก่น พ.ศ. 2533 ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พ.ศ. 2537 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ลำล่องนิทานก้อม - บุญเพ็ง ไผ่ผิวชัย
นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปี พ.ศ. 2540
วงการหมอลำสูญเสีย "หมอลำบุญเพ็ง ไฝผิวชัย" ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นภรรยาของ นายเคน ดาเหลา หรือ "หลมอลำเคน" ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ. 2534 โดยจากการเปิดเผยของนายเคน บอกว่า นางบุญเพ็ง ได้เสียชีวิตเมื่อเวลา 01.30 น. วันที่ 1 เมษายน 2551 จากอาการเส้นเลือดในสมองแตก ภายหลังประสบอุบัติเหตุลื่นล้มห้องน้ำในบ้านพัก เลขที่ 258/155 หมู่ 22 ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 28 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา
นายเคน เล่าว่า นางบุญเพ็ง มีอาการเจ็บปวดที่ข้อเข่าเรื่อยมาเป็นเวลา 3-4 ปี ที่ต้องใช้ไม้เท้าค้ำยันช่วยขณะเดิน โดยในวันเกิดอุบัติเหตุ เวลาประมาณ 20.00 น. วันที่ 28 มีนาคม ขณะเข้าไปอาบน้ำสักพักได้ยินเสียงไม้ค้ำยันหล่นลงพื้น จึงได้รีบวิ่งไปดูก็พบว่า ภรรยาล้มหัวฟาดฟื้นจนสลบไป ญาติๆ จึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ปรากฎว่าเตียงผู้ป่วยเต็ม จึงได้นำตัวมารักษาที่ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น โดยตลอดระยะเวลา 2 วัน ที่นางบุญเพ็ง เข้ารับการรักษาก็ไม่ได้สติอีกเลย กระทั่งเสียชีวิตเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา
ญาติๆ จึงนำศพตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่ที่วัดหนองแวงพระอารามหลวง อำเภอเมืองขอนแก่น ส่วนกำหนดการบำเพ็ญกุศลยังไม่ได้หารือกับลูกๆ แต่อย่างใด พร้อมกับกล่าวว่า "พ่อและแม่บุญเพ็ง ได้แต่งงานใช้ชีวิตคู่กันมาตั้งแต่ปี 2514 และครองคู่มาจนถึงปัจจุบัน เมื่อสิ้นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากแล้วก็รู้สึกเสียใจ และใจหาย" พ่อเคน กล่าว
โอ่....ละนอ.... แก้มองต่งคันแก้มอ้ายองต่ง ลงไปท่งขี่ตะโหลกหลายๆ คันเดือนหงายงามๆ น้องโหลดห่ำคะนิง... แต่นำอ้าย โอย... น้อ.... นวลเอ๋ย...
แม่นว่าฟังเบิ่งก่อน นักปราชญ์อาจารย์ แต่สมัยโบราณเวียงจันทน์ล้านซ้าง พวกลาวยังตกค้างเป็นซาติตาขาว ตั้งแต่พญาลาวปกครองแต่ปู่ ลาวได้อยู่ด้วยความสุขขา แต่พระวอพระตาสิ้นวงศ์ไสญาติ ลาวเป็นชาติหนองบัวลุมภู ให้พากันคิดดูลาวเดิมแต่เก่า เหล้าก็กินพอเหล้า ซากะสูบพอซา ยากะกินพอยาจนไหง่กิ่นกิ่น หมู่ทางสูบยาฝิ่น กินเหล้าเป็นสาย บ่มีเจ้ามีนายจับกุมคุมโทษ บ่มีไผสิโจทก์โจทก์กี่สีไฟ มักอยากซ้ากะให้ค่อยเดินไป มักอยากไวกะให้พากันแล่น ความใด๋แม่นกะอย่าให้มันผิด พญาลาวเฮาคิดเปลี่ยนแปลงมาใซ้
ความตกพ่อไฮ่ให้พอไฮ่มาจา ความตกพ่อนาให้พ่อนามาเว้า ตกผู้เฒ่าให้ผู้เฒ่าพิจารณา ตกญาครูญาซามอบให้ถุงให้พระ ความตกป่ามอบให้ซ้างให้เสือ ความตกเฮือตกแพมอบให้พายให้ถ่อ บ่แม่นคิดหม่อหม่อ ตื้นตื้น เบาเบา ตั้งแต่พญาลาวเวียงจันทน์ล้านซ้าง บ่ได้เฮ็ดได้สร้างหยังถ่อหัวเหา เงินค่าไฮ่กะบ่ได้เว้าหา เงินค่านากะบ่ได้เว้าฮอด คันว่าค่าสินสอดผู้ละสองสามไพ บ่ซ่างได้ร่ำไรคือคนเดี๋ยวนี้ บ่ได้กดได้ขี่ลูกลูกหลานหลาน คันว่าค่าเสียการปีละสองสามลาด บ่ซ่างมีเงินบาทใบสิบใบซาว ตั้งแต่พญาลาวสมัยเงินหมากค้อ
บ่มีผู้ขี่ส่อดูหมิ่นนินทา เพิ่นให้สืบฮอยตาเพิ่นให้ว่าฮอยปู่ ยูท่างพากันอยู่ด้วยความสุขขี โทษพอตีเพิ่นกะบอกให้ด่า โทษพอฆ่าเพิ่นกะบอกให้ตี เจ้ากะเจ้าอีหลีนายกะนายแท้แท้ แม่นคักแม่นแนเจ้าเก่านายเดิม บ่หาเพิ่มหาเติมไผผิดไผพลาด มันบ่มีคำยากพวกปวงประซา กุ้งกะโตท่อขา ปลาซิวคามองแปด คันปลาแตบคามองคามัน สิไปยากอีหยังของกินของอยู่ ยูท่างพากันอยู่ล้านเก่าลาวเดิม บ่ซั่งได้เสียเงินค่านาค่าไฮ่ ยูท่างทั้งกินต้มไก่กับเหล้าสุรา สีนาวาเลี้ยงน้องแนหน่า นาอ้ายหน่า...
ลำประวัติลาวเดิม - บุญเพ็ง ไผ่ผิวชัย
วันที่ 22 กันยายน 2564 เมื่อเราเปิดเข้าเว็บ Google ประเทศไทย วันนี้ก็คงจะได้เห็นภาพวาดของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเธอคือ บุญเพ็ง ไฝผิวชัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ.2540 และเป็นเจ้าของฉายา ราชินีหมอลำกลอน อีกด้วย ที่ Google ทำ Doodle ครบรอบวันเกิด บุญเพ็ง ไฝผิวชัย 89 ปี เจ้าของฉายา ราชินีหมอลำกลอน เริ่มฝึกหมอลำตั้งแต่ 12 ขวบ
จั๊กจั่น วันวิสา หรือในปัจจุบันใช้ชื่อในวงการเพลงลูกทุ่งว่า กอหญ้า อาร์สยาม มีชื่อและนามสกุลจริงว่า พิชญนันท์ บุญมานัด (ชื่อเดิม : สุดา บุญมานัด) เกิดวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2533 ที่บ้านโคกชำแระ อำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี จากเด็กสาวที่เธอเป็นซุปเปอร์สตาร์หน้าชั้น จนผู้คนกล่าวขานน้ำเสียงของเธอเป็นที่ยอมรับของนักเรียนร่วมห้อง เป็นที่รักของพี่น้องในหมู่บ้าน รวมทั้งครู อาจารย์ ก็ส่งเสริม อาจารย์กิมเฮง เขียวอ่อนโชติ และ อาจารย์สราวุฒิ ทุ่งขี้เหล็ก ไปพบเข้าจึงนำมาส่งเสริมให้เป็นลูกทุ่งสาวคนใหม่ แถมยังได้รับการเติมเต็มเอาใจใส่จาก ครูสลา คุณวุฒิ และ อาจารย์วสุ ห้าวหาญ มาจนถึงปัจจุบัน
นักร้องสาวเสียงดี จั๊กจั่น วันวิสา ที่เคยมีผลงานแนวลูกทุ่งหมอลำมาแล้ว 3 ชุด และตอนหลังทาง ค่ายแกรมมี่โกลด์ ได้ปรับเปลี่ยนแนวการร้องให้มาเป็นแนวลูกทุ่งเพื่อชีวิต เพื่อชิมลางตลาดดู หลังจากที่กระแสเพลงแนวลูกทุ่งเพื่อชีวิตมาแรง ลูกทุ่งสาวหมอลำเสียงดีได้เปิดเผยถึงการปรับเปลี่ยนแนวร้องในครั้งนี้ว่า "จั๊กจั่น เองเพิ่งกลับจากเดินสายที่ภาคใต้ ตอนแรกก็แปลกใจทำไมทางค่ายให้เราลงมาทางใต้ ทั้งที่แฟนเพลงของเราอยู่ทางอีสาน แต่พอไปที่ หาดใหญ่ สงขลา ภูเก็ต จั๊กจั่น เจอแฟนลูกทุ่งเพื่อชีวิตเยอะมาก แน่นมาก และเพลง "สาวราชภัฏ" ของจั๊กจั่น ดังมากในหัวเมืองทางใต้ จึงมั่นใจว่ามาถูกทางแล้วที่เปลี่ยนแนวมาร้องลูกทุ่งเพื่อชีวิต"
จั๊กจั่น วันวิสา เริ่มเป็นนักร้องลูกทุ่งหญิงในสังกัด แกรมมี่โกลด์ ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 มีผลงานเพลงออกมาหลายชุด มีทั้งอัลบั้มเดี่ยว และอัลบั้มพิเศษ แต่ในปี พ.ศ. 2556 จั๊กจั่น วันวิสา ได้หมดสัญญากับทาง แกรมมี่โกลด์ หลังจากนั้นเธอได้เซ็นสัญญาและย้ายไปสังกัด ค่ายอาร์สยาม บริษัทในเครือบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อในวงการเพลงจากเดิม จั๊กจั่น วันวิสา เป็น กอหญ้า อาร์สยาม ตามคำแนะนำของผู้ใหญ่ในค่ายอาร์สยาม ด้วยภาพลักษณ์หน้าตาในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากเมื่อครั้งแรกที่เข้าวงการ เธอได้ยอมรับว่าทำศัลยกรรม ทำให้เธอมีผลงานอื่นตามมานอกจากการร้องเพลง คือ ถ่ายแบบ มิวสิกวีดีโอ และในอัลบั้มชุดใหม่ สังกัดค่ายอาร์สยาม กอหญ้าได้แต่งเนื้อเพลงเองในอัลบั้มอีกหลายเพลงด้วย และเปลี่ยนแนวเพลงจากลูกทุ่งหวาน มาเป็นลูกทุ่งป๊อบมากขึ้น ได้มีการเปลี่ยนชื่อในวงการเป็น "กอหญ้า อาร์สยาม" ในผลงานเพลง "คนคั่นเวลา" และปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น "จั๊กจั่น อาร์สยาม" ในผลงานเพลง "รักแท้หรือแค่มโน"
ล่าสุดปี 2556 หลายคนดีใจเมื่อได้ฟังเสียง และต้องกระพริบตาอีกครั้งเมื่อได้ดู หลายคนถกเถียงกันว่า เพลง "คนคั่นเวลา" ที่กำลังออกโปรโมตทางช่อง สบายดีทีวี ของ อาร์ สยาม ค่ายเพลงลูกทุ่งนิยมความเสมอหู ตรงกันข้ามกับอีกฝั่งอย่างสิ้นเชิง เสียงร้องเพลงคนคั่นเวลา ฟังยังไง๊ยังไงก็ใช่ "จั๊กจั่น วันวิสา" แต่ทว่าทำไมชื่อนักร้องเขียนไว้ว่า "กอหญ้า อาร์สยาม" ชัดเจน มาดูรูปร่างหน้าตาก็ทำเอางงได้เหมือนกัน ใช่แล้วครับ เธอกลับมาอีกครั้งในชื่อใหม่ ลุคใหม่ หน้าใหม่ และค่ายใหม่... ในชื่อ "กอหญ้า อาร์สยาม" เธอให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า บริษัทเดิมไม่เชียร์เธอเท่าที่ควร เลยตัดสินใจเซ็นสัญญาค่ายใหม่ ต่อจากนี้ก็คงเป็นหน้าที่แฟนเพลงแล้วละครับ ว่าจะยังให้การต้อนรับ(อดีต) นักร้องสาวบ้านนาคนนี้หรือไม่ ... สงสัยชื่อ "กอหญ้า" จะไม่ขลังพอ เลยเปลี่ยนอีกครั้งกลับมาเป็น "จั๊กจั่น อาร์สยาม"
คนคั่นเวลา - กอหญ้า อาร์สยาม
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)