![]()
|
นางทองแปน พันบุปผา หรือชื่อในการแสดงว่า “หมอลำทองแปน พันบุปผา” เกิดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พุทธศักราช 2495 ที่บ้านโพธิ์สง่า ตำบลเมืองเดช (ในสมัยนั้น) อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของ นายสังข์ พันบุปผา ซึ่งเป็นหมอลำกลอน สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านท่าโพธิ์ศรี ตำบลเมืองเดช (ในสมัยนั้น) อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
นางทองแปน พันบุปผา เริ่มต้นชีวิตการเป็นหมอลำ หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่ได้ศึกษาต่อ เนื่องจากฐานะทางบ้านยากจน พ่อแม่จึงสนับสนุนให้เรียนหมอลํากลอน (หมอลําคู่) ซึ่งพ่อมีอาชีพเป็นหมอลํากลอนอยู่แล้ว จึงสอนลํากลอนให้แก่ลูกสาวของตน ประกอบกับช่วงเวลานั้นถือว่า หมอลํากลอน เป็นที่นิยมมากในจังหวัดอุบลราชธานี พ่อและแม่เห็นว่า ลูกสาวคนนี้เป็นคนที่มีความจําดีกว่าลูกทุกคน มีความกล้าแสดงออกและมีปฏิภาณไหวพริบดีมาก จึงตั้งใจสอนหมอลํากลอนให้ลูกสาว เพื่อสืบทอดมรดกทางปัญญาให้กับลูกสาวคนนี้ อาชีพหมอลํากลอนสามารถสร้างรายได้ และยึดถือเป็นอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ พ่อซึ่งมองเห็นความสามารถของลูกสาว จึงตั้งใจสอนหมอลํากลอนให้
ด้วยความเฉลียวฉลาด มีความจำเป็นเลิศ มีความขยัน อดทน พร้อมกับมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียนรู้ ภายในเวลา 3 ปี จึงทำให้ นางทองแปน แตกฉานในเรื่องกลอนลำ จึงสามารถออกรับงานแสดงได้ โดยขึ้นเวทีแสดงครั้งแรกเมื่ออายุได้เพียง 18 ปี ได้รับค่าจ้างในการแสดงครั้งแรกเป็นเงิน 150 บาท (ในสมัยนี้ก็หลักหมื่น) จนเป็นที่กล่าวขานอย่างกว้างขวางทั่วไปในวงการหมอลำกลอนทั่วภาคอีสาน และมีชื่อเสียงข้ามแม่น้ำโขงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ชื่อในการแสดงสมัยนั้นว่า “หมอลำปรานี พันบุปผา” ซึ่งมีบิดาเป็นครูสอน และคอยเป็นพี่เลี้ยงแนะนำอย่างใกล้ชิด ต่อมาในปี พุทธศักราช 2531 ได้เปลี่ยนชื่อในการแสดงมาเป็น “หมอลำทองแปน พันบุปผา” จึงทำให้เป็นที่รู้จักและยอมรับจากแฟนหมอลำตลอดมา
นางทองแปน พันบุปผา เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการประพันธ์กลอนลำ และการแสดงหมอลำกลอน ถือเป็นผู้คิดค้นหมอลำกลอนประยุกต์คนแรกแห่งวงการหมอลำกลอนก็ว่าได้ เพื่อพัฒนาสร้างสรรค์การลำให้ทันสมัยในยุคปัจจุบันที่มีความเป็นพลวัต โดยได้ผลิตผลงานด้านการลำออกเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ สู่สายตาประชาชนมากมาย อาทิ ชุดหมอลำชิงชู้ ลำประยุกต์ชุดรักข้ามรุ่น ลำล่องชุดลูกทรพี ลำเพลินชุดมโนราห์เล่นน้ำ ลำพื้นตำนานรักชุดผาแดงนางไอ่ และมีผลงานการลำร่วมกับ หมอลำ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงหมอลำ ปีพุทธศักราช 2548 อาทิ ลำล่องชุด หมู่บ้านศีลห้า ลำล่องชุด พ่อกับแม่คือตู้เอทีเอ็ม
นอกจากนี้ ยังได้ผสานเอาวัฒนธรรมอีสานเข้าไปในกลอนลำและการลำ ใช้การลำเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ความรู้ด้านต่างๆ อาทิ คุณธรรม จริยธรรม พระพุทธศาสนา เศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่เยาวชนคนรุ่นหลังได้ซึมซาบ เอาคติเหล่านี้ไปใช้ในวิถีชีวิต เมื่อว่างเว้นจากการรับงานแสดง หมอลำทองแปน ก็ไม่ได้นิ่งเฉย คอยอุทิศตน เพื่อสืบต่อลมหายใจแห่งศิลปะการแสดงหมอลำกลอนอันทรงคุณค่านี้ โดยได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจสั่งสอนศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า หมายมั่นปั้นใจอนุรักษ์ ส่งเสริม พัฒนา มรดกนี้ไว้ตราบนานเท่านาน
หมอลําทองแปน พันบุปผา มีผลงานมากมายที่เผยแพร่ทางวิทยุ โทรทัศน์และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ รวมทั้งสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุค ยูทูป เป็นต้น และยังรับงานแสดงต่างๆ ตามที่มีผู้ว่าจ้างทั้งภาคอีสาน ภายในประเทศ และต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชาและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น และร่วมแสดงงานการกุศลต่างๆ อีกมากมาย
ด้วยความสามารถด้านการประพันธ์กลอนลำ และการแสดงหมอลำกลอนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างโดดเด่น ตลอดจนการอุทิศตนเพื่องานสังคมมาโดยตลอด หมอลําทองแปน พันบุปผา เจ้าแม่ลํากลอนประยุกต์ มีผลงานมากมายกว่า 100 บทกลอน ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียง อาทิ
ลำกลอนประยุกต์ ชุด ศึกดวลคำหมาก ยกที่1
ลำโดย ทองแปน พันบุปผา ทองพูล หนวดเหล็ก
ลำเต้ยคู่มันส์ หมากกระจาย
ศิลปินมรดกอีสาน - หมอลำทองแปน พันบุปผา
หมอลำทองแปน พันบุปผา - รายการไมค์ทองคำ หมอลำฝังเพชร2
หมอลำทองแปน พันบุปผา ที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 131 หมู่ 3 บ้านโพธิ์สง่า ตำบลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี หมายเลขโทรศัพท์ 081-0717073
ติดต่อ-ติดตามผลงานทาง Facebook : หมอลำทองแปน พันบุปผา
นายเมฆ ศรีกำพล เกิดวันที่ 7 มิถุนายน พุทธศักราช 2485 ที่บ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ สำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษา เมื่อปีพุทธศักราช 2516 จากโรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ และได้ร่ำเรียนศาสตร์ดนตรีพื้นบ้าน (ปี่ผู้ไทและแคน) กับครูพิมพ์ (ครูภูมิปัญญาในท้องถิ่น) จนชำนาญ จากนั้นได้ประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีพื้นบ้านร่วมกับคณะหมอลำในชุมชน
ต่อมาได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งวงดนตรีชื่อ "หนุ่มมะพร้าวห้าว สาวดอกคูณ" ซึ่งเป็นวงดนตรีพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดยได้ใช้ศิลปะการเป่าปี่ภูไทและเป่าแคน ประกอบการร้องลำผู้ไทในงานแสดงต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ วงดนตรีวงนี้ถือเป็นวงโปงลางในยุคแรกๆ ของภาคอีสาน มีความสามารถจนได้รับการยอมรับ และเชิดชูเกียรติจากหลายหน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชน อีกทั้งได้มีโอกาสเป่าเพลง "ปี่ผู้ไท" เพื่อใช้ประกอบละครเรื่อง "ปอบผีฟ้า" จึงทำให้มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในวงวิชาชีพเพิ่มขึ้น
เดี่ยว ปี่ภูไท - คุณตาเมฆ ศรีกำพล
นายเมฆ ศรีกำพล เป็นนักดนตรีพื้นบ้านที่มีความสามารถสูง โดยเฉพาะ การเป่าปี่ผู้ไท เสียงปี่จะดังกังวาน มีความไพเราะ และสะกดผู้ฟังให้เกิดความประทับใจและจำไม่ลืม นอกจากนั้น นายเมฆ ศรีกำพล ยังได้เป่าปี่ผู้ไทประกอบการแสดงในวงดนตรีพื้นบ้านในโอกาสต่างๆ รวมทั้งได้รับเชิญให้เป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อถ่ายทอดศิลปะการเป่าปี่ผู้ไท และสอนการทำปี่ผู้ไทให้แก่นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ด้วยความสามารถในการแสดงและถ่ายทอดการเป่าปี่ผู้ไท จึงทำให้ได้รับรางวัลที่แสดงถึงศักยภาพและความสามารถในอาชีพหลายรางวัล จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
เมฆ ศรีกำพล - ศิลปินมรดกอีสาน 2559
ด้วยความเป็นผู้ที่มีความทุ่มเท มุ่งมั่น เสียสละ มีความสามารถในการแสดงและถ่ายทอดศิลปะการเป่าปี่ผู้ไทให้แก่ชุมชน และสังคมจนเป็นที่รู้จัก อีกทั้งยังได้สร้างคุณประโยชน์แก่ชุมชนในวาระต่างๆ อีกมาก นายเมฆ ศรีกำพล จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน - ปี่ผู้ไท) ประจำปีพุทธศักราช 2559 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กาฬสินธุ์นี้ ดินดำน้ำซุ่ม ปลากุ้มบ่อน คือแข่แก่งหาง
ปลานางบ่อนคือขางฟ้าลั่น จั้กจั่นฮ้องปานฟ้าฟ้าลวงบน
แตกจ้นๆ คนเป่าปี่โฮแซว มีซู่แนวซู่อัน แอ่นระบำรำฟ้อน ”
ผญาอีสานบทนี้ ได้เล่าถึงจุดเด่นของจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมอันดีงาม รวมถึงศิลปินดนตรีพื้นบ้านเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป อย่าง พ่อเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2529 ผู้ประดิษฐ์ คิดค้น พัฒนาการทำโปงลาง และวิธีการเล่นจนเป็นเอกลักษณ์ เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดกาฬสินธุ์แล้วผู้คนก็ต้องพูดถึงและจดจำถึง เครื่องดนตรีโปงลาง ผ้าไหมแพรวา และไดโนเสาร์ และอีกคนหนึ่งที่จะลืมเสียมิได้คือ พ่อเมฆ ศรีกำพล บรมครูแห่งปี่ภูไท บ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
นอกจากการเป็นนักดนตรีแล้ว พ่อเมฆ ศรีกำพล ยังเป็นผู้ผลิตปี่ผู้ไทคุณภาพอีกด้วย โดยเขาเรียนรู้มาจากครูช่างทำปี่ผู้ไทฝีมือแห่งหมู่บ้านบุ่งคล้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ด้วยมองเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ดนตรีของชนเผ่าผู้ไท โดยเฉพาะ การลำผู้ไท ที่นับวันจะมีผู้ชื่นชอบและอนุรักษ์สืบสานน้อยลงทุกที เขาจึงทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ในฐานะครูภูมิปัญญาให้แก่โรงเรียนต่างๆ ตลอดจนผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้การเป่าปี่ผู้ไทและดนตรีอีสานให้เป็นที่รู้จักในสังคม โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ มีผู้ติดตามทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ปี่ภูไท - ตาเมฆ ศรีกำพล
ด้วยเหตุนี้ พ่อเมฆ ศรีกำพล จึงได้รับรางวัลและการเชิดชูเกียรติจากสถาบันต่างๆ มากมาย ดังนี้
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ได้ข่าวว่า พ่อเมฆ ศรีกำพล เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 79 ปี ด้วยโรคประจำตัว ประกอบกับมีอายุมากแล้ว นับเป็นความโศกเศร้าของวงการดนตรีพื้นบ้านอีสานอย่างยิ่ง ที่ต้องสูญเสียเสาหลักปรมาจารย์ด้านการเป่าปี่ภูไทในครั้งนี้ ทางญาติได้กำหนดการฌาปนกิจศพ พ่อเมฆ ศรีกำพล วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ณ บ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
บรมครูดนตรีพื้นบ้านอีสาน งานสตมวาร คนอีสานร่วใจสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพ่อของแผ่นดิน
นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2498 ที่บ้านเลขที่ 1 หมู่ 2 ตำบลหนองพอก อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นบุตรของ นายใส ประทุมสินธุ์ และ นางกองสี ประทุมสินธุ์ เป็นบุตรคนที่ 2 จากบุตร - ธิดา 8 คน ในครอบครัวของนักดนตรีพื้นบ้าน จึงได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่ในวงดนตรีมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
ส่งผลทำให้เกิดความสนใจในเครื่องดนตรีทุกประเภท ทั้ง พิณ แคน โปงลาง รวมถึง โหวด จึงได้เรียนรู้จากคนใกล้ชิดในครอบครัวบ้าง จากนักดนตรีอาชีพบ้าง จนสามารถพัฒนาทักษะ เชิงชั้นการดนตรีอีสานขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในเครื่องดนตรีแทบทุกชนิด ซึ่งสามารถนำมาเล่นร่วมกันกับ พิณ แคน และโปงลาง
สมรสกับ นางดุษฏี ประทุมสินธุ์ มีบุตร 2 คน คือ นายชัชวาลย์ ประทุมสินธุ์ และ นายชาญยุทธ ประทุมสินธุ์
ในช่วงปีพุทธศักราช 2519 นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ได้เริ่มจัดตั้งวงดนตรีเล็กๆ ขึ้นในหมู่บ้าน โดยการรวมญาติพี่น้องสามตระกุลมาร่วมเล่นดนตรี ในนามวง “โหวดเสียงทอง” ซึ่งเป็นวงดนตรีพื้นบ้านของจังหวัดร้อยเอ็ด ที่นำเสนอศิลปะพื้นบ้านทั้งที่เป็นแบบอนุรักษ์นิยม ผสมกับความทันสมัยตามค่านิยมในขณะนั้น ความมีชื่อเสียงโด่งดังของ คณะโหวดเสียงทอง ซึ่งมี นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ เป็นผู้บรรเลงเครื่องดนตรีโหวด ทำให้เป็นที่รู้จักไปทั่วจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งส่งให้ท่านได้รับเชิญให้ไปเป็นผู้ถ่ายทอดศิลปะดนตรีในด้านนี้ ในสถาบันการศึกษาชั้นนำของภาคอีสาน อาทิ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด และมหาวิทยาลัยสารคาม รวมทั้งได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาในส่วนกลางหลายแห่ง
หอโหวด @บึงพลาญชัย สัญลักษณ์ของเมืองเกินร้อย
นอกจากนั้น ความชำนาญพิเศษในการบรรเลงโหวด ของนายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ทำให้โหวดกลายเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ดในเวลาต่อมา และได้รับการเชื้อเชิญให้นำผลงานไปเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ อาทิ บันทึกเทป บรรเลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งก็ส่งผลให้ตัวท่านได้รับชื่อเสียงมาขึ้นตามลำดับ และได้เดินทางไปแสดงฝีมือในการบรรเลงดนตรีอีสานในต่างประเทศมากว่า 10 ประเทศ จนกระทั่งปัจจุบันท่านยังทำหน้าที่ ขับเคลื่อนวัฒนธรรมด้านดนตรีพื้นบ้านอีสานอันทรงคุณค่าต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง
นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ นับเป็นบุคคลตัวอย่างทางด้านวัฒนธรรมที่น่ายกย่องท่านหนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้มีความสามารถในการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านอีสาน ในระดับสูงหลายประเภทเช่น พิณ แคน โปงลาง และโหวด เป็นต้น นับว่าเป็นผู้ทำหน้าที่สืบสาน ถ่ายทอด เผยแพร่ และพัฒนา วัฒนธรรมทางด้านดนตรีพื้นบ้านอีสานให้คงอยู่เป็นมูนมังแห่งบรรพชน ส่งผลสู่ลูกหลานในยุคต่อไป
ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ - ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน
ศิลปะแผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2562 : ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์
ฮันนี่ ศรีอีสาน มีชื่อจริงคือ สุพิณ เหมวิจิตร เกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เป็นลูกสาวคนสุดท้องของพี่น้อง 14 คน ของนายคำทา และนางมี เหมวิจิตร เกิดที่บ้านเมย ตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ จบการศึกษาภาคบังคับ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนโคกเมยประชาพัฒนา เมื่อปี พ.ศ. 2526 ด้วยใจรักในชีวิตศิลปิน ปี พ.ศ. 2529 ขณะอายุ 16 ปี ก็ได้เข้าสู่วงการหมอลำ เป็นนางเอกหมอลำยอดนิยมอยู่หลายคณะ เช่น ดอกฟ้ามหากาฬ เลิศฟ้าพรสวรรค์ ฯลฯ
เธอเริ่มบันทึกเสียงชุดแรกเมื่อ 25 มกราคม พ.ศ. 2534 กับบริษัท เยนาวี่ โปรโมชั่น ในอัลบั้มชุด "น้ำตาหล่นบนที่นอน" โดยการชักชวนของครูเพลงหมอลำ ดาว บ้านดอน และในขณะนั้นเพลง "เสือ" ของดารานักร้อง ฮันนี่ ภัสสร บุณยเกียรติ กำลังโด่งดัง หลายๆ คนทักว่าหน้าตาของเธอคล้ายกับ ฮันนี่ ภัสสร บุณยเกียรติ เธอจึงใช้ชื่อในการแสดงว่า "ฮันนี่ ศรีอีสาน" (ซึ่งฮันนี่เป็นหมอลำคนแรก และคนเดียวที่สวมชุดว่ายน้ำ ขึ้นปก "มาลัยไทยรัฐ") ช่วงนั้นนักร้องหมอลำนิยมตั้งชื่อตามอย่างดารา หรือนักร้องสตริงดังๆ อาทิ จินตหรา พูนลาภ อำพล ภูไท มาช่า ฟ้าอิสาน ฯลฯ
ด้วยน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และแนวการลำที่ไม่เหมือนใคร ทำให้เธอประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากกับผลงานชุดแรก ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2534 เธอก็มีผลงานชุด "วอนพี่มีรักเดียว" ตามมาอีก ซึ่งผลงานทั้งสองชุดได้รับการต้อนรับอย่างดีจากแฟนเพลงทั่วประเทศ
ฮันนี่ ศรีอีสาน จึงได้เปิดวงดนตรีของตนเองตามคำเรียกร้องของแฟนเพลง จวบจนถึงบั้นปลายของชีวิต ซึ่งเธออยู่ในวงการเพลงระดับชาติได้เพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น หลังการเสียชีวิต ทางต้นสังกัดได้จัดทำเทปชุด "บันทึกการแสดงสดด้านหน้าเวทีของฮันนี่ ศรีอีสาน" ตามออกมาอีก 1 ชุด
ถ้า พุ่มพวง ดวงจันทร์ คือ ต้นแบบของนักร้องลูกทุ่งสำเนียงภาคกลางเป็นจำนวนมาก ฮันนี่ ศรีอีสาน ก็ถือเป็นต้นแบบหมอลำรุ่นหลังๆ เกือบทุกคน โดยเฉพาะกับ ต่าย อรทัย ที่ฝึกร้องเพลงด้วยการร้องเพลงของฮันนี่ และถือว่าเป็นครูในดวงใจคนหนึ่ง เมื่อไปทำการแสดงที่ใดพอไหว้และระลึกถึงฮันนี่ทุกครั้ง ก็จะทำให้การแสดงลุล่วงไปได้ไม่มีอุปสรรค์ใดๆ และถือเอาแนวของฮันนี่ ศรีอีสาน เป็นแบบอย่างในการร้องเพลง ไม่ว่าจะร้องหรือลำ รวมทั้งการเอาผลงานขงฮันนี่ไปขับร้องใหม่หลายเพลง ยังมีนักร้องรุ่นหลังที่ตามมาอย่าง นุช วิลาวัลย์ รวมทั้งนางเอกรุ่นใหม่วัยทีนอย่าง ยูกิ เพ็ญนภา (คณะนามวิหค) เป็นต้น ก็ล้วนใช้ฮันนี่เป็นต้นแบบในการร้องและลำ
"ผลงานเพลงของฮันนี่มีไม่มากนัก แต่ฟังไพเราะทุกเพลง อาทิ น้ำตาหล่นบนที่นอน วอนพี่มีรักเดียว ขอแล้วไม่แต่ง เขาแต่งเราตรม รักสองแผ่นดิน ฯลฯ ซึ่งมีผู้นำมาขับร้องใหม่มากมาย แม้แต่ศิลปินแห่งชาติ "บานเย็น รากแก่น" ก็มีผลงานล่าสุดกับค่ายบีบีเรคคอร์ด ก็นำเพลงของฮันนี่มาขับร้องใหม่เกือบทั้งหมด”
แถมยังมิบรรดาเกจิในวงการหมอลำบางคนกล่าวกันว่า "ถ้าฮันนี่ยังอยู่ ก็คงไม่มีหมอลำหลายๆ คนได้เกิดแน่ๆ เพราะเธอมีลีลาลำที่เก่งกาจ เสียงดีและสวยเพียบพร้อมแบบที่หาได้ยากที่จะมีคุณสมบัติครบถ้วนเช่นนี้"
ฮันนี่ ศรีอีสาน มีช่วงชีวิตของความเป็นดาวเด่นในระดับประเทศ ให้คนไทยวงกว้างได้มีความสุขเพียงขวบปีเท่านั้น ฮันนี่ ศรีอีสาน เสียชีวิตขณะกลับจากการแสดงที่ อำเภอปรางกู่ จังหวัดศรีสะเกษ โดยเดินทางมากับรถยนต์ปิกอัพแล้วมาพลิกคว่ำ ที่ถนนศรีสะเกษ-อุบลราชธานี กิโลเมตรที่ 6-7 ตำบลหนองแก้ว อำเภอเมืองศรีสะเกษ เมื่อวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 เวลา 04.30 น. คอหักเสียชีวิตคาที่ (ตามข่าวกล่าวว่า "เธอไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย" จึงทำให้เสียชีวิต)
ฮันนี่ ศรีอีสาน เสียชีวิตขณะที่มีอายุเพียง 21 ปี 4 เดือน 4 วัน จุดที่ฮันนี่ประสบอุบัติเหตุ มีการสร้างศาลไว้เป็นที่ระลึก และในวันครบรอบการเสียชีวิตของเธอ ก็จะมีการจัดการแสดงคอนเสิร์ตอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้วันครบรอบเสียชีวิตของฮันนี่ บรรดานักร้องลูกทุ่งหลายคน เช่น ต่าย อรทัย และนักร้องหมอลำหลายๆ คณะจะแวะไปสักการะศาลของฮันนี่กันทุกปี
มีบางคนเล่าว่า.... เมื่อขับรถผ่านตอนประมาณ ตี 1- ตี 2 จะเห็นเป็นเวทีแสงสีเสียงยิ่งใหญ่อลังการ เหมือนมีงานคอนเสิร์ตตรงศาลนั้น ซึ่งมารู้อีกทีตอนที่มีคนบอกว่า "ตรงนั้นเป็นศาลของนักร้องดังฮันนี่" จึงเป็นเรื่องที่น่าขนลุก และใครที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับศพของเธอ และนำทรัพย์สมบัติของเธอไปจากที่เกิดเหตุจะมีอันเป็นไปทุกราย แม้กระทั่งนายตำรวจที่พบศพเธอคนแรก ก็มีอันเป็นไปเสียชีวิตในสถานีเดียวกับฮันนี่
จึงยังคงเป็นที่กล่าวขานถึงความเฮี้ยน และอาถรรพ์จวบจนทุกวันนี้ ในเรื่องวิญญาณของ "สุพิณ เหมวิจิตร" หรือ "ฮันนี่ ศรีอีสาน" ราชินีลูกทุ่งหมอลำผู้ล่วงลับ จนกระทั่งล่าสุด มีการเปิดเผยเรื่องย้ายศาลมาตั้งใหม่ที่บ้านเกิด เพราะเธออยากกลับบ้าน จึงมาบอกให้ย้ายศาลจากศรีสะเกษ มาตั้งใหม่ที่กาฬสินธุ์
จากการเปิดเผยของ "คำศรี เหมวิจิตร" ซึ่งเป็นพี่สาวแท้ๆ ของฮันนี่ ทั้งนี้ พี่สาวราชินีลูกทุ่งหมอลำในตำนาน อ้างว่าวิญญาณน้องสาวตน ได้ไปเข้าฝันพระอาจารย์ประจักษ์ เมื่อถูกถามว่าชื่ออะไร ได้ตอบทันทีว่า นางสาวสุพิณ เหมวิจิตร พร้อมกับร้องห่มร้องไห้ บอกว่า "หนูอยากกลับมาอยู่บ้านเกิดหนู" อยากให้พระอาจารย์ช่วยสร้างศาลให้ ที่บ้านเลขที่ 62 หมู่ 11 บ้านเมย ตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
จากนั้นพระอาจารย์ได้ดูที่ดินที่จะสร้างศาล และนัดช่างก่อสร้างมาเริ่มสร้างศาลเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ปีเดียวกัน ใช้งบประมาณกว่า 700,000 บาท และได้นำเอาอัฐิฮันนี่เข้าศาลเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2558 และได้ฉลองเปิดศาลใหม่ ซึ่งก่อนจะได้นำดวงวิญญาณ "ฮันนี่ ศรีอีสาน" กลับมาสู่บ้านเกิดไม่ใช่เรื่องง่าย ได้ทำพิธีถึง 3 ครั้ง ถึงได้ดวงวิญญาณของฮันนี่กลับมาบ้านเกิดตัวเอง ครั้งที่ 3 ได้นิมนต์พระชั้นผู้ใหญ่เจ้าคณะอำเภอไปขอดวงวิญญาณฮันนี่ถึงได้มา ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวเป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วยนะครับ
ถ้าวันนี้ (พ.ศ.2564) ฮันนี่ ศรีอีสาน ยังมีชีวิตอยู่ เธอจะเป็นสาวทรงเสน่ห์ วัย 51 ปี ที่หลายคนต้องยกย่องให้เป็น “ราชินีหมอลำ” กันเลยทีเดียว เกจิในวงการหมอลำบางคนกล่าวกันว่า "ถ้าฮันนี่ ยังอยู่ ก็คงไม่มีหมอลำหลายๆ คนได้เกิดแน่ๆ เพราะเธอมีลีลาลำที่เก่งกาจ เสียงดีและสวยเพียบพร้อมแบบที่หาได้ยากที่จะมีคุณสมบัติครบถ้วนเช่นนี้"
รวมกลอนลำฮิตดนตรีแบบต้นฉบับ จากราชินีหมอลำ "ฮันนี่ ศรีอีสาน"
ข้อมูลจาก : คอลัมน์ เป็นคุ้งเป็นแคว โดย... เคน สองแคว
และภาพบางส่วนมาจาก Facebook : ฮันนี่ ศรีอีสาน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)