foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนอีกแล้วนะครับ เปลี่ยนจากหนาวเข้าสู่ฤดูร้อนวีนที่ ๒๘ กุมภาพันธ์นี้ สภาพอากาศแปรปรวน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรง มีลูกเห็บตกบางแห่งในบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอุณหภูมิจะลดลง ให้ระวังอันตรายจากสภาพอากาศที่แปรปรวน หลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รักษาสุขภาพกันดีๆ เด้อ อย่าสิเจ็บสิไข้ ซำบายดีครับ ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

mp3

doi intanont 01

ดอย อินทนนท์

ดอย อินทนนท์ มีชื่อจริงว่า นายสมบูรณ์ สมพันธ์ เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ที่บ้านโนนจาน ตำบลแคน อำเภอรัตนบุรี (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสนม) จังหวัดสุรินทร์ คุณพ่อชื่อลี คุแม่ชื่อเสาร์ สมพันธ์ จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนสนมศึกษาคาร และบวชเรียนจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก มีภรรยาชื่อ นางอัมราภรณ์ สมพันธ์ (สกุลเดิม ใจหาญ) มีบุตรชาย 2 คน

เนื่องจากเป็นคนชอบการแต่งกลอน มาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา ก็เริ่มฝึกแต่งเพลงมาตั้งแต่ช่วงเวลานั้น ขณะที่ยังบวชเป็นพระภิกษุอยู่ ได้ส่งบทเพลงที่ประพันธ์ไปให้ ครูพยงค์ มุกดา พิจารณาบันทึกเสียงให้กับนักร้อง ทำให้ผลงานได้รับการพิจารณา จนเมื่อปี พ.ศ. 2510 ได้ลาสิกขาบทเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เข้าสู่วงการเพลงจากการชักนำและสนับสนุนโดย ครูพยงค์ มุกดา และมอบหน้าที่ให้เป็นนักแต่งเพลงประจำวงดนตรีของครู

การแต่งเพลงยุคแรกๆ ใช้ชื่อว่า "สรบุศย์ สมพันธ์" ผลงานเพลงแรกที่ได้รับการพิจารณาบันทึกเสียงคือเพลง "พอทีนครสวรรค์" ขับร้องโดย ชินกร ไกรลาศ เพลงที่สอง "หนุ่มอีสาน" ให้ ชินกร ไกรลาศ ขับร้องเช่นเดียวกัน ส่วนเพลงที่สาม "สาวอีสาน" เป็นเพลงแก้ให้ ศรีสอางค์ ตรีเนตร ขับร้อง

นอกจากนั้น ครูพยงค์ มุกดา ยังได้นำเพลงที่แต่งในนาม สรบุศย์ สมพันธ์ ไปให้ ธานินทร์ อินทรเทพ ทูล ทองใจ อรรณพ อนุสรณ์ ขับร้อง แล้วครูพยงค์เปลี่ยนชื่อให้ใหม่อีกชื่อหนึ่งว่า "บูรณพันธ์" มีเพลงดังที่คุ้นหูกันดีคือ "อภันตรีที่รัก" ร้องโดย อรรณพ อนุสรณ์ "คุณช่างสวย" ร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ และเริ่มเป็นที่รู้จักในนาม "สมบูรณ์ สมพันธ์" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

doi intanont 02

ต่อมาก็แต่งเพลงให้กับนักร้องประจำวงดนตรีพยงค์ มุกดา ร้องอีกหลายคน เช่น เพลง "กระท่อมสาวเมิน" ให้ ชินกร ไกรลาศ ร้อง "สาวพระประแดง" ให้ ชัยณรงค์ บุญนะโชติ ร้อง รวมทั้งมีโอกาสแต่งให้นักร้องต่างวงร้องหลายคนเหมือนกัน เช่น "ขอเป็นหมอนข้าง" ให้ โรม ธรรมราช บันทึกเสียงเป็นเพลงแรกของเขา ในสมัยที่อยู่วงดนตรีศรีนวล สมบัติเจริญ แต่งเพลง "รักทหารดีกว่า" ให้ รังสรรค์ จีระสุข ร้องและแต่งเพลงให้นักร้องในวง "จิระบุตร" ร้องอีกหลายคน

อยู่กับวงครูพยงค์ มุกดา ได้ 4 ปี ก็ลาออก หลังจากนั้นไปตระเวนอยู่ทางภาคเหนือ 3-4 ปี เกิดความประทับใจกับยอดดอยอินทนนท์ กลับมากรุงเทพฯ จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ดอย อินทนนท์" และได้รับการชักชวนจากครูฉลอง ภู่สว่าง ให้มาช่วยแต่งเพลงให้กับ "ศรชัย เมฆวิเชียร" จนศรชัยมีชื่อเสียงโด่งดัง และผลงานได้รับความนิยมกลายเป็นเพลงอมตะมาจนถึงบัดนี้ เช่น เพลง "จันทร์อ้อน" ที่ขับร้องโดย ผ่องศรี วรนุช ซึ่งเป็นเพลงร้องแก้เพลง "อ้อนจันทร์" ของ ศรชัย เมฆวิเชียร ที่เป็นเพลงร่วมกันแต่งกับครูฉลอง ภู่สว่าง

doi intanont 03
รับโล่เชิดชูเกียรติจากสมาคมนักแต่งเพลง

และหลังจากนั้น ศรชัย เมฆวิเชียร ก็มีเพลงดังจากการประพันธ์ของ ดอย อินทนนท์ ร้องอีกไม่ต่ำกว่า 30 เพลง เช่น เสียงซอสั่งสาว, บัวหลวงบึงพลาญ, สะพานรักสะพานเศร้า, ซึ้งสาวปากเซ, สาวประเทืองเมืองปทุม มาแต่งให้ สายัณห์ สัญญา ร้องก็ดัง เช่นเพลง รักติ๋มคนเดียว, แม่ดอกสะเลเต, เสียงพิณสะกิดสาว เป็นต้น

ครูดอย อินทนนท์ เป็นคนแรกที่บุกเบิกงานเกี่ยวกับ "ลำแพน" ให้นักร้องลูกทุ่งหมอลำที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น แต่งชุด "แม่ไม้หมอลำ" ให้ บานเย็น รากแก่น ร้องทั้งชุด ตามด้วย "งิ้วต่องต้อนอ้อนผู้บ่าว" เป็น กลอนลำ “10 กลอนลำ 10 ลีลา” ซึ่งเป็นศิลปะ เพลงลูกทุ่งสลับลำ ซึ่งแต่ละกลอน “สังวาสสไตล์ลีลาลำ” จะไม่ซ้ำแบบกันเลยทั้ง 10 กลอน (10 กลอน 10 แบบ) "ฝากรักจากแดนไกล" (ได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน) ขับร้องโดย บานเย็น รากแก่น และแต่งกลอนลำให้ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม, หงษ์ทอง ดาวอุดร ในชุด "หงษ์ทองคะนองลำ" กลอนดังทุกกลอนของทองมัย มาลี และขวัญตา ฟ้าสว่าง, เฉลิมพล มาลาคำ, นกน้อย อุไรพร, ลูกแพร ไหมไทย, น้องผึ้ง บึงสามพัน, อังคณางค์ คุณไชย โดยเฉพาะ ศิริพร อำไพพงษ์ ครูดอย อินทนนท์ เป็นผู้ตั้งชื่อให้ นอกจากนั้น เพลงเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในวง "เสียงอีสาน" ล้วนเป็นผลงานการประพันธ์ของครูดอย อินทนนท์

doi intanont 04
ลูกศิษย์ ศรชัย เมฆวิเชียร และ บานเย็น รากแก่น บูชาครูดอย อินทนนท์ ในงาน "เชิดชูครูเพลง"

สำหรับนักร้องลูกทุ่งอื่นๆ ครูดอย อินทนนท์ ได้ประพันธ์ให้ร้องเช่นกัน เพลง "เพชราจ๋า" ร้องโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์ "วอนพระธรรม" ร้องโดย ยอดรัก สลักใจ "ฝนมาน้ำตาซึม, บาดทะยักใจ" ร้องโดย สุนารี ราชสีมา "เจ็บแล้วต้องจำ, พุ่มพวงลำเพลิน" ขับร้องโดย พุ่มพวง ดวงจันทร์ "บ่เที่ยวตี๋อ้าย" ร้องโดย ไวพจน์ เพชรสุพรรณ "รักพี่ไข่นุ้ย, ตบตาหลุด, ติดฝนทั้งปี, เขาชื่นเราช้ำ" ร้องโดย อัมพร แหวนเพชร รวมผลงานการประพันธ์ทั้งลูกทุ่ง ลูกทุ่ง และหมอลำ รวมกว่า 3,000 เพลง

จันทร์อ้อน - ผ่องศรี วรนุช

เกียรติยศ-เกียรติคุณ

  • เพลง “จันทร์อ้อน” ขับร้องโดย ผ่องศรี วรนุช ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2520
  • เพลง “เสียงซอสั่งสาว” ขับร้องโดย ศรชัย ได้รับเกียรติบัตร และโลห์พระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2537 เนื่องในงานจัดงาน กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งสืบสานคุณค่าวัฒนธรรมไทย
  • เพลง “ฝากรักจากแดนไกล” ขับร้องโดย บานเย็น รากแก่น ได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน
  • เพลง “กองไว้ตรงนั้น” ขับร้องโดย น้องผึ้ง บึงสามพัน ได้รับรางวัลมาลัยทอง ปี พ.ศ. 2548
  • รางวัลเชิดชูเกียรติ “ครูผู้สร้างสรรค์-ผลงานเพลงในแผ่นดิน” จาก กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2553

จากเกียรติคุณและความสามารถที่หลากหลายในการสร้างสรรค์ประพันธ์เพลง ทั้งไทยลูกทุ่ง ลูกกรุง และหมอลำ นับเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่ายิ่งสำหรับวงการเพลงเมืองไทย จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ประพันธ์เพลงลูกทุ่ง) ประจำปี 2557 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

เสียงซอสั่งสาว - ขับร้อง : ศรชัย เมฆวิเชียร, สีซอ : ทองฮวด ฝ้ายเทศ

redline

backled1

art local people

surin paksiri 01

สุรินทร์ ภาคศิริ

นายสุรินทร์ ภาคศิริ มีชื่อจริงว่า ชานนท์ ภาคศิริ ชื่อในการจัดรายการวิทยุ คือ ทิดโส โปข่าว หรือ ทิดโส สุดสะแนน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2485 ที่อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ) จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม. 6 เดิม) จากโรงเรียนอำนาจเจริญ เมื่อ พ.ศ. 2503 มีพรแสวงและพรสวรรค์ในการประพันธ์มาตั้งแต่เด็ก เพราะได้มีโอกาสเรียนรู้จากคณะละครอุลิตราตรีศิลป์ และคณะเทพศิลป์ 2 ที่ไปปักหลักเปิดแสดงที่บ้านต่างจังหวัด

สมัยเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 ได้เริ่มแต่งกลอน นวนิยาย เรื่องสั้น และแต่งเพลงเชียร์กีฬาโรงเรียน พอจบ ม. 6 จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ตามหาความฝันของชีวิต ศึกษาด้านการเป็นนักร้อง นักประพันธ์ ด้วยการอาศัยชายคากุฏิวัดนรนารถสุนทริการาม เทเวศน์ พึ่งใบบุญข้าวก้นบาตรพระ มีอุปสรรคด้านการศึกษาเล่าเรียน จึงหันมาแต่งเพลง ประพันธ์กลอน เรื่องสั้น และฝากตัวเป็นศิษย์ของ ครู ก. แก้วประเสริฐ ครูเพลงชื่อดังในยุคนั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างดี ขณะเดียวกันก็ได้สอบเข้ารับข้าราชการกรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย จึงหมดโอกาสที่จะเดินสายเป็นนักร้อง หันมาเอาดีกับงานประจำและแต่งเพลง

surin paksiri 02จึงมีผลงานให้กับนักร้องดังในสมัยนั้น เริ่มจากผลงานชิ้นแรกคือ คนขี้หึง ขับร้องโดย ชื่นกมล ชลฤทัย เพลง คนขี้งอล ร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร เพลง เมษาอาลัย ร้องโดย หมาย เมืองเพชร และเพลง เต้ยเกี้ยวสาว ขับร้องโดย กบิล เมืองอุบล ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อด้วยแนวการร้องแบบศิลปะของหมอลำ จากนั้นก็แต่งเพลงป้อนให้นักร้องดังๆ อีกหลายคน เช่น ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ไพรินทร์ พรพิบูลย์ สนธิ สมมาตร กาเหว่า เสียงทอง ศรคีรี ศรีประจวบ ศรชัย เมฆวิเชียร เรียม ดาราน้อย ศักดิ์สยาม เพชรชมภู สันติ ดวงสว่าง เอ๋ พจนา สายัณห์ สัญญา ชาย เมืองสิงห์ แม้แต่วงสตริงอย่าง รอยัลสไปรท์

เพลงที่สร้างชื่อเสียงและทำให้แฟนเพลงรู้จักสุรินทร์ ภาคศิริ มากที่สุด คือ วอนลมฝากรัก, อ.ส.รอรัก, ทหารเกณฑ์ผลัด 2, หนาวลมที่เรณู, ทุ่งกุลาร้องไห้, หอมกลิ่นดอกคำใต้, หนุ่ม น.ป.ข., ลำกล่อมทุ่ง

รางวัลเกียรติยศที่ได้รับ คือ รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช (ปี 2514) คือเพลง "งานนักร้อง" ขับร้องโดย พรไพร เพชรดำเนิน (ปี พ.ศ. 2534 - 2538) รับรางวัลเพลงลูกทุ่งดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยเพลง "ทุ่งกุลาร้องไห้" ขับร้องโดย ศักดิ์สยาม เพชรชมภู เพลง "หนี้กรรม" ขับร้องโดย สุมิตร สัจเทพ และยุพิน แพรทอง และเพลง "หนาวลมที่เรณู" ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ

นายสุรินทร์ ภาคศิริ จึงได้รับการเชิดชูเกีรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ ประเภทประพันธ์เพลง (ลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช 2551 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

surin paksiri 04

เมื่อพูดถึงครูสุรินทร์แล้วก็ถือว่า เป็นนักเพลงลูกทุ่งอีสานรุ่นบุกเบิกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่าง ครูเบญจมินทร์ ซึ่งเป็นชาวอุบลราชธานี เช่นเดียวกัน ในภาพนักร้องเบญจมินทร์ โดดเด่นทั้งความเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง นักเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ และเบญจมินทร์ คือ ต้นแบบเสียงของสุรพล สมบัติเจริญ ส่วนครูสุรินทร์นั้นเป็นนักประพันธ์เพลง เป็นนักจัดรายการวิทยุ ที่ได้สัมผัสกับเพลงที่หลากหลาย ทำให้สามารถสร้างสรรค์เพลงออกมาได้หลากหลายแนว

ยุคที่เพลงอีสานแผ่เป็นวงกว้างในวงการเพลงลูกทุ่งนั้น นักร้องหลายๆ คนได้เพลงจากครูสุรินทร์ เช่น เทพพร เพชรอุบล, ศักดิ์สยาม เพชรชมพู, สนธิ สมมาตร และดาว บ้านดอน เป็นอาทิ

surin paksiri 05

จะว่าไป ถ้าบอกว่า "เมืองนักร้อง" ต้องสุพรรณบุรี อันนี้ไม่เถียงใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าถามว่าอีสานมีพลังในบทเพลงสูงอยู่อุบลราชธานี (รวมทั้งอำนาจเจริญด้วย) นักแต่งเพลงลูกทุ่งอีสานที่เป็นธารกระแสในยุคยังไม่เรียกว่าเป็น “ลูกทุ่ง” แต่ยังเป็น “เพลงตลาด” เริ่มจาก “เบญจมินทร์” ที่นำเพลงรำวงเข้ามาในเพลง “รำเต้ย” เป็นต้นมา

surin paksiri 08

surin paksiri 03จนมายุค ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา – สุรินทร์ ภาคศิริ ที่มีนักร้อง 4 เด็ดเพชรอีสานเป็นขุมกำลังสำคัญ แต่ต้องไม่ลืมว่าเพลงดังๆ ในเรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” ของรังสี ทัศพยัคฆ์ นั้น นอกจากเพลงครูไพบูลย์ บุตรขัน แล้ว เพลงของ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ก็มีอยู่หลายเพลงเช่นกัน

นอกจากนี้ ครูสุรินทร์ ถูกกล่าวขานกันในวงการเพลงลูกทุ่งว่า เป็นคู่แฝดแห่งวงการกับ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา นักแต่งเพลงรุ่นพี่ชาวอุบลราชธานี อีสานมีนักร้อง นักแต่งเพลงมากมาย แล้วจะฟูมฟายอะไรกับความคิดที่ถูกสร้างกลให้ว่า ตัวเองไม่มีพลัง แต่พลังยังเต็มเปี่ยมอยู่บนความเป็นพลังลาวคักๆ อยู่เต็มภูมิแท้ๆ

ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ก็ประสบความสำเร็จในการแต่งเพลงลูกทุ่งตั้งแต่อายุเพียง 20 ต้นๆ เท่านั้น รวมทั้งเพลงดังไปทั่วประเทศอย่างเพลง "วอนลมฝากรัก" ที่แต่งให้ บุปผา สายชล เป็นผู้ร้อง และทำให้บุปผาพลอยแจ้งเกิดไปด้วยนั้น ท่านก็แต่งเมื่ออายุเลยเบญจเพศมาไม่นานนัก หรืออย่างเพลง "หนาวลมที่เรณู" ก็ดังตั้งแต่ครูยังอายุไม่เต็ม 30 ปีด้วยซ้ำไป จากคนที่ไม่ใช่นักดนตรี ไม่รู้จักโน้ต แต่ก็ยังแต่งเพลงได้ และแต่งได้ดีด้วย ต้องถือว่าครูสุรินทร์เป็นอัจฉริยะท่านหนึ่งทีเดียว

กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะถึง 40 เปอร์เซ็นต์ด้วยจากรายชื่อเพลงที่ปรากฎ เป็นเพลงที่เกี่ยวกับภาคอิสานบ้านเกิดของครู ที่ดังมากๆ ก็เช่นเพลง "หนุ่มบ้านแต้" ที่แต่งให้กับวง สุนทราภรณ์ เป็นเพลงรำวงที่เริ่มว่า "เดือนหกนกกาเหว่ามันร้อง" แฟนเพลงรุ่นเก่า คงจำได้ มาจนถึง "หนาวลมที่เรณู" ที่แต่งให้ ศรคีรี ศรีประจวบ ซึ่งกลายเป็นเพลงที่มีการนำมาบันทึกใหม่โดยนักร้องคนใหม่ๆ มากที่สุดถึง 53 ครั้ง

แต่ที่ชอบเป็นพิเศษขอยกให้เพลง "อีสานลำเพลิน" ที่จำได้ เพราะชอบชุดที่ ต่าย อรทัย นำมาขับร้องใหม่ โดยให้ต่ายขึ้นไปร้องและรำพร้อมๆ กับนางรำอิสานหลายสิบคนบนลานหิน "สามพันโบก" กลางลำน้ำโขง มองเห็นวิวข้างล่างสวยงามเหลือเกิน ฟังเพลงและดูมิวสิกวีดิโอชุดนี้แล้ว ก็ทำให้รักเมืองไทย รักแผ่นดินอิสานบ้านเกิดอย่างบอกไม่ถูก อาจจะเป็นเพราะลีลาการร่ายรำของ ต่าย อรทัย ที่เข้ากับสาวนางรำได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะช่วงที่ร้องว่า "ลีลาเหมือนดังหงส์เหิน อิสานลำเพลินอรชรอ้อนแอ้น" นั้น ต่าย อรทัย ก็รำได้อย่างหงส์เหินสมดังคำร้องจริงๆ

อีสานลำเพลิน - ต่าย อรทัย

ก็เพิ่งจะทราบนี่แหละครับว่าเพลงนี้ ครูสุรินทร์ แต่งขึ้นตั้งแต่ปี 2516 เป็นเพลงในภาพยนตร์เรื่อง "บัวลำภู" ของ รังสี ทัศนพยัคฆ์ ขับร้องโดย อังคนางค์ คุณไชย นางเอกหมอลำ เป็นรายแรก หนังทำเงินพอสมควร แต่เพลง "อิสานลำเพลิน" ฮิตมาก มีการนำมาร้องอีกหลายๆ ครั้ง โดยนักร้องอิสาน ตั้งแต่ บานเย็น รากแก่น ศิริพร อำไพพงษ์ ฯลฯ จนล่าสุดก็คือ ต่าย อรทัย

surin paksiri 07

ตรวจสอบจากประวัติ ครูสุรินทร์ ภาคศิริ แล้ว เพลงจากอิสานของครูได้รับรางวัลดีเด่น ในฐานะ "เพลงลูกทุ่งดีเด่น" ถึง 2 เพลง ได้แก่เพลง "ทุ่งกุลาร้องไห้" และเพลง "หนาวลมที่เรณู" ซึ่งต้องยอมรับว่าเหมาะสมทุกประการ แต่ไม่ได้กล่าวถึงเพลง "อิสานลำเพลิน" ไว้เลย แสดงว่าเพลงนี้ยังไม่เคยได้รับรางวัลมาก่อนแน่ๆ ถ้าจะมีใครที่ไหน? สถาบันไหน? จะมอบรางวัลเพลงลูกทุ่งดีเด่นให้ครูอีกในโอกาสหน้า ขอฝากเพลง "อิสานลำเพลิน" ไว้ด้วยนะครับ ฮิตมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 จนถึงบัดนี้ 2560 รวมแล้ว 44 ปี แม้จะบันทึกใหม่น้อยกว่า "หนาวลมที่เรณู" แต่ก็น่าจะเข้าข่ายเพลงลูกทุ่งอิสานดีเด่นได้อีกหนึ่งเพลงนะครับ

สุรินทร์ ภาคศิริ - ฐานข้อมูลมรดกอีสาน

เคยรับราชการเป็น ข้าราชการกรมราชทัณฑ์ สมัยที่ยังสังกัดอยู่กับกระทรวงมหาดไทย จึงหมดโอกาสที่จะเดินสายเป็นนักร้อง หันมาเอาดีกับงานประจำและแต่งเพลง ฉะนั้นครูจึงพูดเล่นเสมอๆ ว่า อดีตคือ “คนรับจ้างหลวงเฝ้าคุก” และผลงานหลายๆ เพลงก็มาจากเหตุการณ์ในคุก เช่นเพลง ผ้าขาวม้า ของวงรอยัลสไปรท์

ผลงานชิ้นแรกๆ คือ คนขี้หึง ขับร้องโดย ชื่นกมล ชลฤทัย เพลง คนขี้งอน ร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร เพลง เมษาอาลัย ร้องโดย หมาย เมืองเพชร ตอนหลัง ศักดิ์สยาม เพชรชมพู นำมาร้องใหม่ และเพลง เต้ยเกี้ยวสาว ขับร้องโดย กบิล เมืองอุบล ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อด้วยแนวการร้องแบบศิลปะหมอลำ

จากนั้นก็แต่งเพลงป้อนให้นักร้องดังๆ อีกหลายคน เช่น ศักดิ์ศรี ศรีอักษร, ไวพจน์ เพชร สุพรรณ, สนธิ สมมาตร, กาเหว่า เสียงทอง, ศรคีรี ศรีประจวบ, ศรชัย เมฆวิเชียร, เรียม ดาราน้อย, วงรอยัลสไปรท์, ศักดิ์สยาม เพชรชมพู, สันติ ดวงสว่าง, เอ๋ พจนา, ชาย เมืองสิงห์ เป็นต้น

ครูสุรินทร์ แต่งเพลงแรกในการบันทึกแผ่นเสียงของนักร้องลูกทุ่งหลายคน เช่นเพลง หนองหานสะอื้น ให้ พรไพร เพชรดำเนิน แล้วต่อมา พรไพร เพชรดำเนิน ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากเพลง งานนักร้อง ในปี 2514 เพลง รูปไม่หล่อพ่อไม่รวย ของ ดำ แดนสุพรรณ, เพลง อย่าเดินโชว์ ของ บรรจบ ใจพระ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บรรจบ เจริญพร)

surin paksiri 09

เพลงที่สร้างชื่อให้มากที่สุดคือ วอนลมฝากรัก ของ บุปผา สายชล อ.ส.รอรัก ของ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู รวมทั้งยังแต่งเพลงแนวช้าให้กับนักร้องที่ถนัดเพลงแนวสนุกอย่าง ศักดิ์สยาม ในเพลง ทุ่งกุลาร้องไห้ จนได้รับรางวัลลูกทุ่งกึ่งศตวรรษทหารเกณฑ์ผลัด 2 ทำให้ ศรชัย เมฆวิเชียร แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวจากเพลงนี้ หนาวลมที่เรณู ของ ศรคีรี ศรีประจวบ กลายเป็นหนึ่งในเพลงประจำอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม หอมกลิ่นดอกคำใต้ ให้กับนักร้องเสียงดีเมืองขอนแก่น ก้องเพชร แก่นนคร หนุ่ม นปข. ของ สุริยา ฟ้าปทุม ลำกล่อมทุ่ง ของ ไพรินทร์ พรพิบูลย์ ลูกทุ่งคนยาก ให้กับ สนธิ สมมาตร

หนาวลมที่เรณู - ศรคีรี ศรีประจวบ

โดยเฉพาะเพลง อีสานลำเพลิน ของ อังคนางค์ คุณไชย ที่นับเป็นการเปิดศักราชเพลงลูกทุ่งอีสาน ทำให้เพลงลูกทุ่งอีสานกลายเป็นแนวเพลงแนวหนึ่งที่แพร่หลาย เป็นที่นิยมสนใจของคนในสังคมปัจจุบันอย่างกว้างขวาง

เปิดบ้าน ครูสุรินทร์ ภาคศิริ EP.1

เปิดบ้าน ครูสุรินทร์ ภาคศิริ EP.2

ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของครู

เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 "ครูสุรินทร์ ภาคศิริ" นักแต่งเพลงชั้นครู ได้เสียชีวิตลงในวัย 79 ปี หลังเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล จากอาการของโรคมะเร็งทางสมอง กระทั่งจากไปอย่างสงบ และทางครอบครัวพร้อมกับลูกศิษย์ลูกหาได้นำไปประกอบพิธีรดน้ำศพ สวดอภิธรรม และพระราชทานเพลิงศพ ณ ศาลา 13 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธุ์ 2565 ถึง 3 มีนาคม 2565 และจะพระราชทานเพลิงศพวันที่ 5 มีนาคม 2565

ทางทีมงานเว็บไซต์ประตูสู่อีสานขอกราบคารวะท่านด้วยความจริงใจครับ

redline

backled1

mp3

เพชร พนมรุ้ง

petch phanom roong 01

นักร้องเพลงลูกทุ่ง ที่ใช้ลีลาเพลงโห่ และเล่นเครื่องดนตรีแบนโจแบบในหนังคาวบอยตะวันตกของไทย

เพชร พนมรุ้ง มีชื่อจริงว่า นายจเร ภักดีพิพัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2484 ที่อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ บิดา ครูสิน มารดา นางชวน เรียนหนังสือจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนบุรีรัมย์วิทยา มีพี่น้อง 11 คน ชาย 6 หญิง 5 เข้ามากรุงเทพฯ และสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง กรุงเทพมหานคร แต่งงานมีครอบครัว ภรรยาชื่อ ระพีพรรณ มีบุตรชาย 1 คน

เพชร พนมรุ้ง เป็นศิลปินที่มีความสามารถในการขับร้องเพลงลูกทุ่งอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่น คือการ "โห่" ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์ตะวันตก ประเภทขี่ม้ายิงปืน "คาวบอยตะวันตก" ที่มีมาฉายในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2500 ซึ่งจะมีเพลงประกอบที่มีทำนองเนื้อร้อง ที่เราเรียกว่า "โห่" เอาไว้ ทำใหเขาเกิดความสนใจในแนวทางนี้ จึงคิดนำมาประยุกต์และดัดแปลงเข้ากับทำนองเพลงลูกทุ่งไทย

ด้วยความหลงใหลและสนใจในกลิ่นอายของเพลงลูกทุ่งตะวันตก ทำให้ เพชร พนมรุ้ง จำลีลาการร้องลูกคอแบบฮาร์โมนิกจากศิลปินท่านอื่นๆ และยังได้ฝึกหัดเล่น "กีตาร์แบนโจ" จากพี่ชาย ที่ได้เรียนรู้มาจากนักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ที่เข้ามาเล่นดนตรีในประเทศไทย ซึ่งในสมัยนั้นเมืองไทยยังไม่ค่อยมีการใช้เครื่องดนตรีสากลมากนัก

petch phanom roong 02

ต่อมาเพชร พนมรุ้ง ได้เข้าประกวดร้องเพลงโดยใช้ชื่อและนามสกุลจริง ในเวทีงานภูเขาท้อง วัดสระเกศ จนทำให้ ครูพยงค์ มุกดา เห็นแววและชื่นชอบในการร้องเพลงแบบโห่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หล้งจากนั้นไม่นานก็ทำให้ผู้คนรู้จัก เพชร พนมรุ้ง ในนามศิลปินเพลงโห่ของเมืองไทย ผลงานเพลงแรกๆ ที่ครูพยงค์ มุกดา ได้ประพันธ์ให้ เช่น ใกล้รุ่ง, อย่ากลัว เป็นต้น แต่เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้เพชร พนมรุ้ง มากที่สุดคือเพลง "เมื่อเธอขาดฉัน" ประพันธ์โดย ชัยชนะ บุญนะโชติ

petch phanom roong 06

นอกจากนี้ยังมีผลงานเพลงอีกมากที่ได้รับความนิยมจากบรรดาแฟนเพลง เช่น ลูกทุ่งเสียงทอง, ธรรมชาติบ้านนา 1, บางปู 1, หนุ่มนักเพลง, ประกายเดือน ฯลฯ จนทำให้ เพชร พนมรุ้ง ได้รับฉายา "ราชาเพลงโห่" หรือที่เราคุ้นเคยในนาม "จังโก้ไทยแลนด์" เพชร พนมรุ้ง ยังได้มีโอกาสร่วมแสดงภาพยนตร์ เสน่ห์บางกอก กับพระเอกนักเพลง พร ภิรมย์ และมีงานโชว์ตัวนอกสถานที่ตามต่างจังหวัดในรูปแบบผจญภัย อย่างเช่น ออกโชว์ตัวบนเรือแพ ตามล่องน้ำเมืองกาญจนบุรี รวมถึงการเดินป่าชมธรรมชาติ อันเป็นสิ่งหนึ่งที่ข้องเกี่ยวกับชีวิตของศิลปินเพลงผู้นี้ นอกเหนือไปจากการวางตัวสมถะ พออยู่พอกินไม่ฟุ้งเฟ้อ กระทั่งเกิดสงครามเวียดนาม เพชร พนมรุ้ง จึงได้ไปขุดทองอยู่ในแคมป์จีไอที่โคราชนานหลายปี จากนั้นก็มารับแสดงตามคลับในกรุงเทพฯ จนถูก กำธร ทัพคัลไลย ชวนให้ไปเล่นหนัง ทายาทป๋องแป๋ง กับพระเอกดัง สมบัติ เมทะนีในปี พ.ศ. 2539

petch phanom roong 03

เพชร พนมรุ้ง นับเป็นศิลปินอีกท่านหนึ่งที่มีแนวการร้องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะการนำทำนองเพลงของตะวันตกมาประยุกต์ให้เข้ากับคำร้อง/เนื้อร้องที่เป็นภาษาไทยได้อย่างลงตัว จนทำให้เพลงในแนวนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ฟังในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2509 ได้รับเหรียญพระราชทานสังคีตมงคล จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ และในปี พ.ศ. 2534 ได้รับพระราชทานเพลงดีเด่น จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 จากเพลง "ลูกทุ่งเสียงทอง" ซึ่งประพันธ์โดยครูพยงค์ มุกดา

นายจเร ภักดีพิพัฒน์ หรือ เพชร พนมรุ้ง จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกีรตืให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ขับร้องเพลงลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช 2556 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

petch phanom roong 04

ครูใหญ่(สมาน) นภายน อธิบายว่า “เพลงโห่” นั้น เอาอย่างมาจากเพลง yodel ของพวกคนเลี้ยงแกะตามภูเขาในในยุโรป ต่อมา yodel ก็ตามพวกอพยพเข้าไปในสหรัฐ และไปแพร่หลายปะปนกับเพลงคันทรี่ของชาวใต้ของสหรัฐ เราจึงได้ยินเพลงคันทรี่หลายเพลงมีการโห่ปะปนอยู่ด้วย ต้นแบบการโห่เร้าใจก็ Jimmie Rodgers ที่มีชื่อเสียงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เพลงโห่นี้คนโห่ต้องมีเสียงสูง ถึงจะ โห่ โฮรีเร ฮี้ เร โฮ ฮี้ เร ฮี้ยย ฮี้ยย ได้เอร็ดอร่อยสนุกนัก

petch phanom roong 05

yodel หมายถึงแบบการร้องเพลงชนิดหนึ่งที่ไม่มีคำร้อง (ร้องแบบโห่) นิยมกันในหมู่ชาวเขาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรีย ลักษณะของเพลงคือเปลี่ยนเสียงจากเสียงต่ำในช่วงอกไปยังเสียงฟอลเซทโต (falsetto : เสียงที่ร้องดัดให้สูงขึ้นกว่าเสียงร้องตามปกติ) อย่างรวดเร็วและสลับไปมา

ลูกทุ่งเสียงทอง โดย เพชร พนมรุ้ง

ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของราชาเพลงโห่

RIP : "เพชร พนมรุ้ง" นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง เจ้าของฉายา "ราชาเพลงโห่" เสียชีวิตแล้ววันนี้ (12 มิถุนายน 2561) เมื่อเวลา 16.15 น. ขณะมีอายุ 79 ปี ด้วยโรคน้ำท่วมปอด หลังจากพักรักษาตัวตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ 3 เส้น แต่ผ่าตัดได้ 2 เส้น เบื้องต้นทางครอบครัวนำร่างตั้งสวดพระอภิธรรมศพที่ วัดไร่ขิง สามพราน นครปฐม

petch phanom roong 07

ทางทีมงานเว็บไซต์ประตูสู่อีสาน : IsanGate.com ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของคุณเพชร พนมรุ้ง และแสดงความเสียใจกับครอบครัวภักดีพิพัฒน์ด้วยครับ

redline

backled1

art local people

นายกำปั่น บ้านแท่น

kampan 01นายกำปั่น บ้านแท่น ชื่อจริง นายกำปั่น ข่อยนอก (นิติวรไพบูลย์) เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปี พุทธศักราช 2494 ปีเถาะ ตรงกับวันอาทิตย์ เป็นลูกชาวนา บิดาชื่อ พ่อดี มารดาชื่อ แม่เพียร ข่อยนอก ณ บ้านเลขที่ 7 บ้านแท่น ตำบลโพนทอง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา มีพี่น้องเกิดร่วมท้องเดียวกัน 4 คน เด็กชายกำปั่น พอคลอดออกมาลืมตาดูโลกได้ประมาณ 6-7 เดือน มารดาได้เสียชีวิตลง จึงต้องอยู่ในความอุปการะดูแลของพี่ๆ บางครั้งต้องอาศัยดื่มนมจากหญิงแม่ลูกอ่อนในละแวกใกล้เคียง ด้วยความเวทนาสงสาร (เมื่อก่อนยังไม่มีนมผง หรือนมกระป๋อง) และบางครั้งต้องดื่มน้ำข้าวรินผสมใส่น้ำตาล (อร่อยมาก)

จุดหักเหสำคัญที่สุดครั้งแรก ที่ทำให้เด็กกำพร้ามีทางเดิน ก่อนที่จะถึงเกณฑ์อายุเข้าโรงเรียน เมื่อวันเทศกาลสำคัญทางศาสนา อาทิ วันเข้าพรรษา ออกพรรษา สงกรานต์ ชาวบ้าน ปู่ย่า ตายาย มักจะนำเด็กๆ ไปทำบุญที่วัด คนแก่ก็จะนั่งฟังเทศน์บนศาลา เด็กๆ ก็จะวิ่งเล่นในสนามวัดกันอย่างสนุก เล่นซ่อนหาบ้าง เล่นหมากเก็บบ้าง เล่นตี่จับ หรือรีรีข้าวสาร โดยมากเด็กผู้ชายจะชอบเล่น บั้งโพล้ะ (นำกระบอกไม้ไผ่มาหนึ่งอัน และทำไม้สำหรับ กระทุ้งเข้าไปในรูกระบอกไม่ไผ่หนึ่งอันแล้วไปหาหน่วยพลับพลา ที่เกิดขึ้นอยู่ตามป่า ถ้ากินดิบๆ จะมีรสฝาด ถ้าแก่หน่อยไกล้สุกจะมีรสหวาน นำหน่วยดิบๆ มายัดลงที่รูกระบอกไม้ไผ่แล้วใช้ไม้ที่ทำสำหรับกระแทก กระแทกลูกพลับพลาเข้าไป ให้ลูกพลับพลาหลุดออกอีกทางด้านหนึ่ง จะมีเสียงดัง โพล้ะ) การเล่นบั้งโพล้ะจะมีอันตราย ถ้าหากนำไปยิงกันจะเจ็บ ถ้าถูกตาตาอาจจะบอดได้ แต่เด็กผู้ชายชอบเล่นกันมาก ทำมาประกวดแข่งขันกัน ถ้าของใครยิงออกเสียงดังโพล้ะ ดังมากๆ คนนั้นจะชนะ ไม่เหมือนเด็กผู้ชายสมัยนี้ เขามีปืนพลาสติกเล่นกัน

kampan 02

ในวันนั้นเด็กชายกำปั่น กำลังวิ่งเล่นตามประสาเด็กๆ บังเอิญเหลือบแลไปเห็น เด็กชาย 2 - 3 คน ที่เป็นเด็กวัด ยืนอยู่ที่หน้าต่าง เด็กเหล่านั้นจะมีผ้าขาวม้าสีเหลืองห่มคนละผืน คงจะเป็นผ้าอาบน้ำฝนของพระที่เก่าแล้ว และท่านแจกให้เด็กวัดใช้ห่ม เด็กเหล่านั้นจะโกนผมออกหมด คงไว้แต่เฉพาะคิ้ว ดูแล้วน่ารัก และมีราศีกว่าเด็กชาวบ้านธรรมดา ทำให้เด็กชายกำปั่นหยุดจ้องมองดูเด็กเหล่านั้นด้วยความสนใจ ในใจคิดว่า "เราทำอย่างไรจะได้เป็นเด็กวัดอย่างเขาเหล่านั้น ถ้าเราได้เป็นเด็กวัดเราคงจะได้ผ้าผืนสีเหลืองไว้ห่ม และจะได้โกนผมทิ้งเหมือนกับเด็กเหล่านั้น และเมื่อถึงวันสำคัญๆ ทางศาสนา ประชาชนชาวพุทธมาที่วัดมากๆ เราก็จะได้ยืนดูผู้คนที่หน้าต่าง ใครเห็นคงจะโก้พิลึก" ความคิดนี้วูบเข้ามาในสมองของเด็กชายกำปั่น และจากวันนั้นเป็นต้นมา เขานึกเสมอว่าทำอย่างไรจะได้ไปอยู่ที่วัด เป็นเด็กวัด ถ้าจะให้สมความปรารถนา เห็นทีจะต้องเข้าไปตีสนิทกับเด็กเหล่านั้น เพื่อจะมีหนทางได้ไปเป็นเด็กวัดอย่างเขาบ้าง

เด็กชายกำปั้นเมื่อได้เข้าไปสนทนากับเด็กวัดเหล่านั้น ซึ่งได้เล่าถึงการอยู่วัดกับพระว่าดีอย่างไร และชวนเด็กชายกำปั่นไปอยู่วัดด้วยกัน เข้าทางเด็กชายกำปั่นจึงตัดสินใจออกจากบ้านไปอยู่วัด เมื่อมาอยู่วัดต้องอาศัยกินข้าวก้นบาตรพระอาจารย์ทิม ปฏิบัติต่อพระสงฆ์องค์เจ้า ตั้งแต่เรียนหนังสือชั้นประถมปีที่หนึ่ง จนจบประถมปีที่สี่ ในขณะที่เป็นเด็กวัด ก็ได้เรียนหนังสือพระ เช่น ท่องบ่นบทสวดมนตร์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน และสามารถสวดได้จบหมดตั้งแต่ อายุยังน้อย

kampan 05

เพราะช่วงขณะที่เป็นเด็กวัด พระอาจารย์ทิม เจ้าอาวาส ท่านจะพร่ำสอนให้เด็กทุกคนรู้ในบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ สิ่งสำคัญคือ คุณของบิดา มารดา ผู้ให้กำเนิด ถ้าไม่มีพ่อแม่เราอาจจะไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อาจจะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน คำพร่ำสอนของพระอาจารย์ทิม เด็กชายกำปั่น ยังสามารถมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จนถึงปัจจุบันก็ยังยึดเอาคำสอนเหล่านั้นเป็นแนวทางปฏิบัติอยู่

เมื่อศึกษาจนจบชั้นประถมปีที่สี่ (เพราะสมัยนั้นภาคบังคับมีแค่ ป. 4) จึงได้ออกจากโรงเรียนมา เพื่อนบางคนเขาก็ไปเรียนมัธยมต่อ การเรียนหนังสือระดับมัธยมสมัยนั้น จะต้องไปเรียนที่ในตัวอำเภอ คือ อำเภอบัวใหญ่ บิดาของเด็กชายกำปั่น มาคิดดูว่าครั้นจะส่งลูกให้ไปเรียนมัธยมเหมือนเด็กคนอื่น เงินทองก็ไม่มี ไหนจะค่าเสื้อผ้า ไหนจะค่าเทอม ค่ากระดาษดินสอ ตำราเรียน ค่าเช่าบ้านจิปาถะ คงจะส่งไม่ไหวเป็นแน่แท้ จึงคิดว่า อย่ากระนั้นเลย เห็นทีจะต้องส่งไปให้บรรพชาเป็นสามเณรแล้วเรียนธรรมะบาลีจะดีกว่า เพราะไม่ต้องเสียค่าเทอมค่าอาหาร

จึงได้นำเด็กชายกำปั่นเดินทางจากบ้านแท่น ไปที่ตัวอำเภอบัวใหญ่ โดยจุดหมายปลายทางอยู่ที่ วัดบัวใหญ่ ที่มี ท่านเจ้าคุณปทุมญาณมุณี (หลวงพ่อเขียว) เป็นเจ้าคณะอำเภอและเป็นเจ้าอาวาส เพราะที่วัดนั้นมีการเรียนปริยัติธรรม ตั้งแต่ชั้นนักธรรมตรี โท เอก และมีการสอนบาลี

kampan 04

สามเณรกำปั่น บรรพชาเป็นสามเณร และเรียนหนังสือปริยัติธรรม เพื่อจะสอบนักธรรมชั้นตรี โดยมีอาจารย์เทียนเป็นผู้สอน การเรียนนักธรรมชั้นตรี จะต้องท่องหนังสือนวโกวาทให้จบทั้งเล่ม หนังสือพุทธประวัติ หนังสือพุทธภาษิต เพื่อแต่งเรียงความแก้กระทู้ อันเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะเป็นนักแต่งเรื่อง แต่งเพลง การเชื่อมเนื้อหาแต่ละเนื้อหาที่แตกต่างกัน แต่สามารถแต่งให้เชื่อมต่อกันได้อย่างสนิท โดยมีสุภาษิตอ้างอิงเป็นหลักฐาน สารเณรกำปั่น จะเก่งในการแต่งเรียงความแก้กระทู้มาก เพราะด้วยสาเหตุจากการได้อ่านหนังสือพระไตรปิฏก เมื่อครั้งยังเป็นเด็กวัด จนได้รับการยกย่องจากพระอาจารย์เทียนว่า เณรน้อยคนนี้ต่อไปจะเป็นนักเขียนเรื่องราว นักแต่งเพลง นักจินตนาการที่ดีคนหนึ่ง

สามเณรกำปั่นที่บรรพชาเพียง 3 ปี ก็สามารถสอบนักธรรมตรี โท เอก และมหาเปรียญได้ สามเณรกำปั่นยังมีความปรารถนาจะสอบบาลีไวยากรณ์ให้ได้ อีกใจหนึ่งก็อยากจะฝึกหัดเทศน์ 2 ธรรมมาส เพราะได้ปัจจัยดี เวลาโยมไปนิมนต์เทศน์ตามงานต่างๆ เขาเรียกว่า เทศน์โจทย์ จึงไปฝึกหัดเทศน์กับพระอาจารย์แสง ซึ่งเป็นพระนักเทศน์ที่ฝีปากคมกล้า ไปเทศน์ที่ไหนญาติโยมติดอกติดใจ จนมีงานเทศน์ไม่ขาดสักวัน จนได้เป็นนักเทศน์สมใจ ญาติโยมต่างแซ่ซร้องในความสามารถ ต่อมาก็สามารถสอบได้เปรียญธรรม 3 และ 4 ประโยค

ต่อมาได้ลาสิกขาจากการเป็นสามเณรมาเป็นฆราวาส คิดว่าจะอยู่เป็นฆราวาสประมาณสักหนึ่งเดือน หรืออย่างมากสองเดือน ก็จะทำพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่ในปีนั้นเองเป็นปีที่ฟ้าฝนแห้งแล้ง กำปั่นต้องออกจากบ้านไปเที่ยวหารับจ้างคนอื่นๆ เขา เพราะครอบครัวยากจน ได้ไปเป็นคนงานตัดอ้อยที่จังหวัดระยองแต่ถูกโกงค่าแรง จึงกลับมาบ้าน ต่อมาบิดาเสียชีวิตจึงได้ไปทำไร่มันกับพี่สาว แต่ผลผลิตที่ได้ไม่ดีจึงไปหาพี่ชายที่อำเภอนางรอง

kampan 06

เมื่อไปถึงบ้านพี่ชาย เห็นหลานๆ กำลังฝึกหัด "เพลงโคราช" อยู่หลายคน โดยครูยอดชาย บ้านหนองน้ำขุ่น มาเป็นครูฝึกให้ เห็นทุกคนมีความตั้งใจที่จะเอาจริงๆ จึงนึกอยากหัดบ้างเป็นรอบที่สอง จึงได้ทำพิธีไหว้ครู รับเอาครูยอดชายเป็นครู ครูยอดชายก็รับเอากำปั่นเป็นศิษย์ ในคืนนั้นทั้งคืนจึงนั่งเขียนเพลงที่ครูแต่งให้ เพื่อนำกลับมาท่องที่บ้านดงบัง เมื่อเห็นว่า พอที่จะออกรับงานแสดงได้ จึงขออนุญาตลาครูเดินเข้าสู่สังเวียนของนักเพลงโคราช โดยได้มาสังกัดอยู่ที่ คณะหัวหนองบัว มีจ่าจเรเป็นหัวหน้าคณะ มาครั้งแรกต้องอาศัยติดตามหมอเพลงรุ่นพี่ไปตามงานต่างๆ ก่อน เมื่อช่วงตอนดึกๆ เขาแสดงเหนื่อยก็ช่วยเขาขึ้นร้อง หาประสบการณ์ไปก่อน

ต่อมาไปสมัครอยู่กับ คณะเกาะลอย อาจารย์ลอยชายเห็นก็รับทันที และให้ไปร้องออกวิทยุที่ สถานี วปถ.3 เพราะวันนั้นเป็นวันเสาร์ และได้ร้องเพลงเกี้ยวกับ นางกาเหว่า โชคชัย เป็นคนแรก เมื่อกลับมาจากออกวิทยุหัวหน้าก็ก็รับงานให้ไปแสดงงานแรก คือวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2522 เรื่อยมาจนถึงปี 2523 อยู่ในระยะปีนี้ ที่บ้านลำพระเพลิง อำเภอปักธงชัย ได้ค่าตัว 400 บาท ดีใจมากที่สุดในชีวิต ต่อมาหัวหน้าคณะเสียชีวิต จึงมาอยู่กับ คณะหวานน้อย หนองบุญนาค จนเป็นเหตุให้ได้ใกล้ชิดกับน้องสาวภรรยาหัวหน้าคณะ คือ นางกาเหว่า โชคชัย จึงได้แต่งงานกัน อยู่กินเป็นคู่ทุกข์คู่ยากจนถึงปัจจุบันนี้

กำปั่น บ้านแท่น - ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน ปี 2555

ต่อมาจึงตั้งคณะเป็นของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า เพลงโคราชคณะกำปั่น บ้านแท่น กาเหว่า โชคชัย อยู่ที่สามแยกวัดหัวสะพาน ถนนจิระ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ยึดแนวทางการดำเนินงาน แบบมุ่งหวังในทางพัฒนารูปแบบต่างๆ ให้ใหม่ เสมอนำเสนอแต่สิ่งใหม่ๆ ทั้งรูปแบบการแสดง เนื้อหาของกลอนเพลง ปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีออกทิ้งไป จัดหากลอนเพลงต่างๆ โดยการแต่งขึ้นมาใหม่บ้าง จากของเก่าที่เป็นของครูเพลงบ้าง นำเสนอสำหรับแฟนเพลงและเจ้าภาพ โดยมีสมาชิกที่อยู่ในสังกัดครั้งแรกประมาณ 20 คน ผลงานการแสดงบนเวที เริ่มเข้าตานักฟังเพลง ไม่นานชื่อเสียงของ เพลงโคราชคณะกำปั่น บ้านแท่น กาเหว่า โชคชัย ก็เริ่มเป็นที่รู้จักของนักนิยมฟังเพลงโคราช

kampan 03

ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน มีการนำอิเล็กโทนเข้ามาประกอบการแสดง มีหางเครื่อง และการร้องรำที่สนุกสนาน จนกลายเป็น เพลงโคราชซิ่ง มีคณะเพลงโคราชซิ่งเกิดขึ้นมากมาย จนการแสดงของคณะกำปั่น บ้านแท่น เริ่มน้อยลง มีคนแนะนำว่า น่าจะไปจุดธูปเทียนกราบขอ "ย่าโม" ดู เผื่อว่าย่าจะช่วยได้ กำปั่นและกาเหว่าจึงได้ไปจุดธูปเทียนบนบอกย่าโม

"สาธุย่าโมจงสดับรับรู้ด้วยเถิด ที่ลูกหลานกำปั่น กาเหว่า ขอขมาย่า ในการที่ลูกหลานได้นำเพลงโคราชที่เป็นมรดกย่าให้มา เอามาดัดแปลงเป็นเพลงโคราชซิ่ง ใส่ดนตรีเป็นการผิดแผกไปจากเดิม เจตนามิได้ลบหลู่ดูหมิ่น แต่ที่ทำไปด้วยใจเจตนาอยากเผยแพร่เพลงโคราช ภาษาโคราช ให้แผ่กระจายไปสู่ในผู้คน ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด เพื่อเพลงโคราชจะได้ยืนอยู่คู่เมืองย่าต่อไป ขอให้ย่าจงดลบันดาลให้ลูกจำหน่ายขายเทปได้ด้วยเถิด สาธุ" นี้คือถ้อยคำของกำปั่น กาเหว่าที่ได้ขอย่าโมในวันนั้น (ใครไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่)

และเช้าวันรุ่งขึ้น จึงได้นำเทปไปที่วัดบ้านไร่เพื่อให้หลวงพ่อคูณท่านเจิมให้ หลวงพ่อท่านก็มีความเมตตาอนุเคราะห์ทำให้เป็นอย่างดี ทั้งน้ำมนต์รด ทั้งปลุกเสกลงอักขระขอม ส.ส.ประทีป กรีฑาเวช ได้แนะนำว่า "ผลิตเพลงออกมา ถ้าไม่ได้เปิดตามสถานีวิทยุต่างๆ ให้เขาได้ฟัง แล้วจะมีใครรู้ เมื่อเขาไม่รู้แล้วจะให้ขายเทปได้อย่าไร" จริงอย่างที่ท่านพูด เรื่องนี้กำปั่นก็ลืมคิดเสียสนิทใจ

นักจัดรายการวิทยุที่ชื่อ แสนรัก เมืองโคราช กับ ศุภลักษ์ อุ่นทวง ได้นำเอาเพลงไปเปิดตามคำร้องขอของ ส.ส.ประทีป ด้วยท่าทีอึดอัดใจ กำปั่นจึงบอกว่า "ไม่เป็นไร ถ้าเปิดแล้วไม่มีกระแสตอบรับจากแฟนเพลง ก็หยุดเปิดก็ได้" เขาทั้งสองก็เลยรับปาก

kampan 08

เช้าวันรุ่งขึ้น กำปั่นได้เหมารถไปส่งเทปเพื่อฝากขายที่อำเภอพิมายอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่รถกำลังเข้าจอดที่หน้าทางเข้าชมประสาทหินพิมาย เห็นขบวนรถทัศนาจร 2 - 3 คัน กำลังเข้าจอดเช่นกัน กำปั่น ได้แบกเทปเดินข้ามถนน และมีกลุ่มนักทัศนาจรกลุ่มนั้นเดินนำหน้า โดยมุ่งตรงมาที่ร้านจำหน่ายเทปคนละฟากกับถนน เมื่อเข้ามาในร้านได้ยินเสียงนักทัศนาจรกำลังถามหาซื้อ เทปเพลงโคราชซิ่ง

เจ้าของร้าน : ไม่เคยมี ไม่เคยได้ยิน มีแต่หมอลำซิ่ง
นักทัศนาจร : มีซิ เพราะผมฟังวิทยุจากในรถเมื่อกี้นี้เอง เป็นนักร้องจากโคราชนี้แหละ
เจ้าของร้าน : อ๋องั้นก็ของ หมูพงษ์เทพ หรือ สุนารี
นักทัศนาจร : ไม่ใช่ นักร้องพวกนั้นผมรู้จักแต่นี้ ชื่ออะไรหนา... อ้อ.. ชื่อกำปั่นๆ อะไรนี่แหละ

เจ้าของร้านยืนงงเพราะไม่รู้จักจริงๆ พอดีกำปั่น แบกเทปฟังอยู่ จึงบอกว่า "ก็นี้ไง ผมกำลังเอามาส่ง เป็นเทปออกใหม่พึ่งจะวางแผงวันนี้เอง" พวกนักทัศนาจร จึงลองให้เปิดฟังดู แล้วจึงบอกว่า "นี่ล่ะ ใช่เลย" แล้วพากันอุดหนุน กันคนละ 3 - 4 ตลับ ณ ที่ตรงนั้นเองที่เทปกำปั่น บ้านแท่น ขายได้เป็นครั้งแรก และขายได้มากเป็นประวัติการณ์ถึง 2 ลัง 200 ตลับ ภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที เพราะมีเถ้าแก่เจ้าของแผงเทปจากสระบุรีมาเที่ยวด้วย และรับซื้อเอาไปจำหน่าย ได้เงินสดๆ หกพันบาท

รางวัลเกียรติยศต่างๆ

  • รางวัลศิลปินพื้นบ้านดีเด่นของจังหวัดนครราชสีมา 2 ปีซ้อน คือปี 2543 - 2544
  • รางวัลศิลปินอีสานแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านสื่อสารมวลชน ปี พ.ศ. 2545 มอบให้โดย สถาบันวิจัยศิลปะภาคตะวันออกเฉียงเหนือมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • รางวัลสื่อพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือยอดเยี่ยม ปี 2542 - 2543 ครั้งที่ 18 จากศูนย์ส่งเสริมประสานงานเพื่อเยาวชนแห่งชาติสำนักนายกรัฐมนตรี มอบให้โดยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
  • ได้รับการไว้วางใจจากหน่วยงานของรัฐ ให้ผลิตสื่อแนวเพลงพื้นบ้านมากมาย อาทิ กรมการการเลือกตั้ง สาธารณะสุขจังหวัด วิทยุชุมชน. เทศบาล. องค์การบริหารส่วนจังหวัด. ผู้แทนราษฎร สถาบันการศึกษาหลายแห่ง ได้รับใบประกาศเกียรติคุณทุกใบ
  • รางวัลถ้วยเกียรติยศและเงินสด 500,000 บาท จากนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในการประกวดมหกรรมหมอลำซิ่ง 19 จังหวัดในภาคอีสาน รวมทั้งหมดมี 95 คณะมีศิลปินรวมแล้ว 20-90 คน ได้รองชนะเลิศอันดับที่ 1
  • ไดรับการยกย่องเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาสิลปะการแสดง (เพลงโคราช) ประจำปี พ.ศ. 2555 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงโคราช) ประจำปี 2564 จาก กระทรวงวัฒนธรรม

kampan 10

ผลงานช่วยเหลือสังคม

หาเงินจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เพลงโคราช จัดตั้งกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือศิลปินยากไร้ เจ็บ ตาย เป็นวิทยากรพิเศษกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน จัดเลี้ยงอาหารบ้านคนชราทุกปี รวมทั้งเลี้ยงอาหารเด็กเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ

ด้านศาสนา

ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยการสร้างที่เก็บน้ำฝนถวายวัดเขาแก้ว อ.โชคชัย มูลค่า 50,000 บาท สร้างเสาศาลาการเปรียญวัดบ้านแท่น และเสาวิหารหลวงปู่โตวัดโนนกุ่ม สร้างกำแพงวัดป่าคลองขุนเทียน ซื้อตู้เย็นถวาย 5 วัด จำนวน 5 ตู้ ซื้อกลองยักษ์ถวายวัดบ้านโจด 1 ใบ จัดกองผ้าป่าไปทอดตามวัดต่างๆ ทุกปีไม่ขาด

kampan 09

ด้านตำแหน่งหน้าที่

  • เป็นประธานชมรมเพลงโคราช 2 ปี
  • เป็นที่ปรึกษาสมาคมเพลงโคราช
  • เป็นอนุกรรมการวิทยุชุมชนของคนโคราช
  • เป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา
  • เป็นกรรมการโครงการส่งเสริมสนับสนุนเพื่อสุขภาพ (ส.ส.ส.)
  • อาจารย์พิเศษร่างหลักสูตรการเรียนการสอนเพลงโคราช ร่วมกับวิทยาลัยนาฏศิลป์

ด้านการถ่ายทอด

  • มีลูกศิษย์ ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาทั้งเพลงโคราช เพลงลูกทุ่ง.ดนตรี.ประมาณ 60-70 คน ดังที่มีรายชื่อ ทำเนียบลูกศิษย์
  • ได้ประพันธ์เพลงโคราชไว้มากมาย เช่น เพลงโคราชประวัติหลวงพ่อคูณ 100 กลอน เรื่องมหาเวสสันดรโรงใหญ่ 300 กลอน เรื่อง ยาเสพติด อนุรักษ์ธรรมชาติ 150 กลอน เรื่อง มนุษย์โลกล้านปี เรื่องต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียงให้ ก.ก.ต. จังหวัด เรื่อง ป้องกันโรคติดต่อ 8 ชนิดให้สาธารณะสุขจังหวัด และเรื่องเชิญชวนท่องเที่ยวภาคอีสาน 19 จังหวัด เป็นต้น
  • สิ่งที่ภูมิใจที่สุดในชีวิต ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีที่หอสยามกุมารี วันที่ 2 มิถุนายน 2542 และแสดงเพลงโคราชถวายต่อหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ฯลฯ ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อปีพ.ศ. 2545 เป็นผู้นำการแสดงแสงสีเสียง สื่อผสมสัญจร ธ.สถิตในดวงใจของชาวไทยทั่วหล้า พ.ศ.2543 และแข่งขันหมอลำซิ่งอีสาน 95 คณะ ได้รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ทั้งที่เป็นเพลงโคราช แต่สามารถชนะหมอลำได้

kampan 07

ปัจจุบัน กำปั่น บ้านแท่น และกาเหว่า โชคชัย ภรรยา ก็ยังพำนักอยู่ที่เดิม คือบ้านเลขที่ 336 ถนนจิระ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และก็ยังอยู่บ้านเช่า ข้าวซื้อเช่นเดิม ยังเป็นคนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง หน่วยงานใดมีงานให้รับใช้ไม่มีเกี่ยง ถึงว่าจะต้องเสียค่ารถค่ากินไปเองก็ตาม เว้นเสียแต่ติดงานเสียก่อน ติดตามได้ทาง Facebook : กำปั่น ข่อยนอก (กำปั่น บ้านแท่น)

พ่อกำปั่น – กำปั่น นิธิวรไพบูลย์ กับ แม่กาเหว่า – ทวาย เกริ่นกระโทก คู่รักเพลงโคราช

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)