foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

sak kalai header

การสัก มาจากคำว่า Tattoo ซึ่งแปลว่า รอยสัก มาจากศัพท์ว่า Tatan เป็นภาษาตาฮิติแปลว่า รอยสัก จึงสันนิษฐานได้ว่า ชาวตะวันตกรู้จักการสักมาจากชาวตาฮิเตียนซึ่งเป็นชาวเกาะ ในยุคที่ชาวตะวันตกออกเดินเรือไปยังที่ต่างๆ เมื่อสมัยศตวรรษที่ 15-16 นี้เอง

การสักตามร่างกาย (Tattoo) คือ การเขียนสีและลวดลายต่างๆ บนร่างกาย ซึ่งรอยสักอาจคงอยู่ถาวรหรือชั่วคราวก็ได้ขึ้นอยู่กับกรรมวิธี การสักในแต่ละวัฒนธรรมมีความหมายเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป อย่างในสมัยกรีกโบราณ การสัก คือ การทำสัญญลักษ์ของการเป็นทาส หรือเป็นอาชญากร (สักบนใบหน้า) ในญี่ปุ่น การสัก เรียกว่า Irezumi ซึ่งมีความหมายว่า การเติมหมึก การสักจะประทับตราคนกลุ่มต่างๆ เพื่อแบ่งแยกเช่น เพชฌฆาต สัปเหร่อ อาชญากร จนกระทั่งเริ่มมีการสักแบบ Horibari ที่มักจะสักลวดลายต่างๆ ทั่วร่างกาย และเริ่มแพร่หลายในปี ค.ศ. 1750 โดยนิยมมากในหมู่ Eta ซึ่งเป็นกลุ่มคมฐานะชั้นต่ำที่สุด ลวดลายต่างๆ มักเป็นจิตรกรรมที่มีชื่อเสียง ตลอดจน เทพเจ้า ตามความเชื่อทางศาสนาและนิทานพื้นบ้าน

sak kalai 04

ในประเทศไทยสมัยโบราณ (ก่อนรัชกาลที่ 4 กรุงรัตนโกสินทร์) จะสักเลขที่ข้อมือเพื่อขึ้นทะเบียนไพร่ รวมทั้งผู้ต้องโทษจำคุก (แต่ยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2475) รวมทั้งมีการสักตามความเชื่อเป็นเหมือนเครื่องรางของขลังในผู้คนบางกลุ่ม สำหรับการสักบนร่างกายในปัจจุบันมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากเดิม มักเน้นไปที่ความสวยงามให้ปรากฏบนเรือนร่างเฉพาะเจาะจงในผู้ชื่นชอบบางกลุ่มเท่านั้น

ตำนานการสักลายบนร่างกาย

มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์จะใช้วิธีป้องกันสัตว์ร้าย ด้วยการใช้สีต่างๆ ทาตามตัว เช่น สีดำ สีแดง สีน้ำเงิน ในยุคต่อมานิยม "สักลาย" ลงตามตัว เพราะไม่ต้องหาสีมาทาบ่อยๆ ลายที่สักก็มักเป็นรูปสัตว์ทรงพลัง มีอิทธิฤทธิ์ เช่น เสือ สิงโต พญานาค พญาอินทรี เป็นต้น ส่วนชาวจีนในยูนนานชอบสักเป็นรูปมังกร หรือเป็นตัวอักษรจีนที่เป็นมงคล

การสักลายตามตัวเริ่มแพร่ขยายลงมายังอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง ลาว พม่า ไทยอีสาน หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จสู่ปรินิพพานไป 100 ปี คนเวียดนามก็นิยมสักเช่นกัน แต่ถูกทางการสั่งห้ามในเวลาต่อมา เนื่องจากว่า ในตอนที่เกิดรบพุ่งระหว่างเวียดนามกับจีนแล้วพ่ายแพ้อย่างราบคาบ "นักรบที่สักลาย" ไม่สามารถอยู่ยงคงกระพันจากหอก แหลน หลาว หรือปืนไฟของนักรบจีนได้แม้แต่คนเดียว

คนไทยอีสานโบราณ ชอบสักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ แล้วยังสักตัวอักขระตามข้อมือ ท้องมือ หน้าอก และขาสองข้าง บางคนสักตามแผ่นหลังหรือหน้าอกขึ้นไปถึงคอหอย จนมีคำกล่าวกันว่า "นั่งอยู่กลางไร่ก็สามารถจับนกมาทำกินได้ เพราะนกคิดว่าหัวตอจึงบินมาเกาะ"

ความเชื่อเกี่ยวกับ "รอยสักขาลาย" ของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคอีสาน แบ่งได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ไท กลุ่มชาติพันธุ์ไทลาว กลุ่มชาติพันธุ์กะตาก กลุ่มชาติพันธุ์ญ้อ และกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง จะมีรอยสักขาลายเป็นประเพณีนิยมของผู้ชาย ซึ่งรอยสักขาลายเป็นเครื่องหมายของการเป็นกลุ่มเดียวกัน รอยสักขาลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นลูกผู้ชาย รอยสักขาลายมีผลต่อการเลือกคู่ครองในการแต่งงาน และรอยสักขาลายเกี่ยวข้องกับ ตัวมอม (มอมเป็นสัตว์ในวรรณคดีหรือสัตว์ป่าหิมพานต์ รูปร่างคล้ายนกกินปลา มีหัวและเล็บคล้ายสิงโต มีสี่ขา เลี้ยงลูกด้วยนม รูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันไปนั้นขึ้นอยู่กับช่างที่ประดิษฐ์ตัวมอมว่าจะสร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบใด)

sak kalai 01

เนื่องจากในยุคปัจจุบันนี้ มีผู้คนนิยมสักรูปต่างๆ บนร่างกายหลากหลายแบบ ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ "การสักขาลาย" ซึ่งในสมัยโบราณผู้ชายชาวอีสานแทบทุกคนจะต้องสัก ตัวผู้เขียนมีประสบการณ์จากปู่ (นายเถื่อน โคตรคันทา เสียชีวิตเมื่อปี 2521 อายุ 89 ปี) ซึ่งเป็นคนที่สักขาลายตั้งแต่วัยหนุ่ม ท่านเล่าว่า "เพื่อลงอาคมขลัง "มนต์ปลาไหล" คงกระพันแค้วคลาด จากคมหอก คมดาบ เพราะสมัยก่อนเป็นผู้ใหญ่บ้านต้องดูแลลูกบ้านให้มีความสุข สมัยนั้นจะมีพวกโจรมาปล้นฆ่า ลักขโมยวัว ควาย ซึ่งเป็นสมบัติและเครื่องมือเครื่องใช้ทำมาหากินอาชีพเกษตรกร" ได้เห็นท่านเข้าไปห้ามการทะเลาะวิวาทของชาวบ้าน แล้วถูกลูกหลงมีดแทงมาแต่ไม่ระคายผิว คนที่เข้าห้ามปรามจับตัวท่านไม่อยู่ เพราะตัวลื่นดั่งปลาไหล ผู้เขียนเคยขอเรียนวิชานี้กับท่าน แต่ท่านไม่ให้ ด้วยเหตุผลว่า เพราะสมัยใหม่นี้ลูกหลานคงจะลำบาก กับ "การคะลำ" ทำตามข้อห้ามต่างๆ ไม่ได้ เช่น ห้ามลอดใต้ถุนบ้าน ห้ามลอดราวตากผ้า ก็สมัยนี้มีแต่ตึกสูงๆ ถ้าจะไม่ลอดคงลำบากแล้วล่ะ

sak kalai 02

การสักขาลายของคนอีสานนั้น มีวัตถุประสงค์หลายอย่าง กล่าวคือ

1. การสักเพื่อทดสอบความอดทนของตนเอง เนื่องจากถ้าผู้ใดสามารถสักขาลายได้ครบทั้งสองข้างแล้ว จะได้ขื่อว่า "เป็นผู้มีความอดทนเป็นเลิศ" ทั้งนี้เนื่องจากเป็นผู้มีความอดทน อดกลั้น ต่อความเจ็บปวดได้เป็นอย่างยิ่ง และสามารถที่จะเป็นผู้นำของครอบครัวได้ในอนาคต ส่วนถ้าผู้ชายคนใดสักได้เพียงขาข้างเดียวหรือไม่สักเลยนั้น ก็จะถือว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจไม่เข้มแข็ง ดังนั้น ผู้หญิงก็มักจะคบค้าสมาคมหรือรับพิจารณาชายขาสักลายมาเป็นคู่ครองมากกว่า ดั่งผญาอีสานโบราณกล่าวไว้ว่า

ขาลายแล้วทางแอวตั้งซ่อ แอวตั้งซ่อแล้วทางแข่วตอกทอง
ขาลายแล้วแอวบ่ลายกะบ่ค่อง คันบ่สักนกน้อยงอยแก้มกะบ่คือ
สิบผืนผ้าซาวผืนผ้าบ่ท่อขาลายเคืออ้ายขึ้นก่าย ขาลายเคืออ้ายขึ้นก่ายแล้วปานผ้าหมื่นแสน
ขาลายบ่จำเหง้าอย่าหวังเอาลูกสาวเพิ่น ขาลายบ่จำเบี้ยงอย่าขันเลี้ยงแม่สาว
ขาขาวนุ่งผ้าฝ้าย ขาลายมอมนุ่งผ้าเข็นก่อม ขาลายขึ้นชั้นฟ้า ขาขาวนั้นเกือกขี้ตม
ขาขาวมานั่งใกล้เหม็นคาวฮากสิออก ขาลายมานั่งใกล้พอปานอ้มหมื่นสวน
ขาลายนอนในส้วม ขาขาวนอนฮกไก่ "

                                                                                                                          (ติ๊ก แสนบุญ, 2554)

ความหมาย : พี่ขาลายแล้ว ควรสักรอบเอวเป็นรูปช่อดอกไม้ ส่วนฟันก็ควรฝังทองคำบ้าง, เวลายิ้มหัวจะชวนดูชมกว่าฟันธรรมดา ขาลายแล้วเอวก็ต้องลายสอดคล้องกัน ถ้าสักรูปนกตัวน้อยลงที่แก้มข้างหนึ่งยิ่งจะสวยมีเสน่ห์มากหลาย อ้ายเอ๋ย, ห่มผ้า 10 ผืน 20 ผืน มันไม่เหมือนขาลายของพี่ที่ก่ายเกยตัวน้องสักหน่อย เพราะขาลายของพี่เหมือนห่มผ้าถึงหมื่นแสนผืน, ขาต้องลายตั้งแต่เข่าถึงเอว ถ้าไม่ถึงหัวเหน่าอย่าหวังเอาลูกสาวเพิ่นมาเลี้ยง, คนที่มีขาลายจึงได้นุ่งเสื้อผ้าชั้นดีมีสุขบนสวรรค์ ขาขาวเกลี้ยงนั้นจะได้แค่ผ้าขี้ริ้วนอนล่างเกือกตม, ชายที่ไม่ได้สักลายที่ขามานั่งใกล้ๆ จะเหม็นคาวแทบอ้วกจะแตก แต่หากชายใดมีการสักขาลายนั้น ผู้คนจะชื่นชอบราวกับได้ดมกลิ่นหอมของใบเนียมอ้ม, ขาลายได้นอนในห้องส้วม (ห้องนอนลูกสาว-ลูกเขย) ขาขาวไปนอนที่เล้าไก่เลยนะ

จากผญาดังกล่าวข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่า ชายหนุ่มสมัยโบราณนิยมสักขาลาย เพื่อแสดงความเป็นชาย ความภูมิฐาน ความปราณีต วิจิตรบรรจง ในการสักลายพร้อมกับความเชื่อ ส่งผลให้เป็นที่หลงใหลของฝ่ายหญิงรวมถึงแม่ของฝ่ายหญิงด้วย ซึ่งเป็นวิถีชีวิตพื้นบ้านชาวไทยอีสานที่สืบต่อกันมาหลายร้อยปี ปัจจุบันพบเจอในบางท้องถิ่น เฉพาะชายสูงวัยอายุ 90 ปีขึ้นไปเท่านั้น

sak kalai 05

ยังมีผญาอีสานอีกหลายๆ ตอนที่ผู้เขียนค้นเจอ คือ

"ขาบ่ลาย บ่ให้อาบน้ำฮ่วมท่า"

แปลว่า ถ้าขาไม่ลายก็ไม่ให้มาอาบน้ำที่ท่าน้ำร่วมกัน (ไปไกลๆ)

"ขาบ่ลายบ่ให้กลายเดิ่นบ้าน ขาบ่ลายดี้ๆ ไปกินขี้อยู่ป่าแก"

แปลว่า ชายขาไม่สักลายอย่ามาเดินเฉียดหน้าบ้านให้เห็น ไปหากินปฏิกูล (ขี้) อยู่ป่าสะแกซะพี่เอ๋ย

"แบ้นบ่บ่อง บ่ให้จ่องขางเฮือน"

แบ้นบ่อง หมายถึง อวัยวะเพศของชายสักลาย ถ้าไม่เห็นอย่างว่าอย่ามาชะโงกหน้าอยู่ข้างเรือนฉันเลย
เวลามีงานบุญบั้งไฟผู้ชายมักเปลือยกายไปคุยกับอีสาว และโชว์อวัยวะเพศที่สักลายให้อีสาวดูว่าสวยปานใด โดยไม่มีใครอับอายขายหน้า อีสาวกับแม่เห็นแล้วก็พูด จ๊ะจ๊ะ จ๋าจ๋า หน้าบานเป็นกระด้งเลยแหละ (อันนี้ผู้เขียนเกิดไม่ทัน มิอาจยืนยันขอรับ)

ปัจจุบัน ความนิยมในการสักลายทุกเพศทุกวัย ลวดลายหลากสีสัน ทั้งมีความนิยมทำเพื่อความสวยงาม เทห์ หรือไปถึงการทำเพื่อสร้างคุณใส ไสยศาสตร์ เสริมแต่งเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิต สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การสักขาลายโบราณไม่ได้รับความสนใจเหมือนอดีต กล่าวคือ ชาวบ้านทั้งอยู่ตามชนบทและชาวเมืองมีความคิดเห็นว่า ผู้ที่มีลายสักเป็นคนชั้นต่ำเป็นนักเลง หรือคนจรจัด หรือเคยต้องโทษในเรือนจำมาก่อน

sak kalai 06

2. การสักเพื่อความสวยงาม ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นรสนิยมที่สูงมาก เนื่องจากผู้ชายต้องนุ่งผ้าถกเขมรอย่างขอมโบราณ ทำให้มีโอกาสที่จะอวดลวดลายที่สักบนขาได้เป็นอย่างดี และผู้ใดที่สักขาลายแล้วก็จะทำให้เป็นที่ยอมรับ และเข้าสังคมในหมู่ผู้ชายด้วยกันได้ (ในการสักลายนั้นเมื่อนุ่งผ้าถกเขมรแล้วลายที่สักจะดูเหมือนสนับเพลาของเจ้านายผู้ใหญ่)

ในการสักลายนั้น จะต้องสักขาลายตั้งแม่บริเวณใต้หัวเข่าขึ้นไปถึงใต้บั้นเอว แต่ไม่นิยมสักขึ้นไปจนถึงพุง ดังนั้นชาวไทยอีสานจึงถูกเรียกว่า "ลาวพุงขาว" ส่วนบริเวณต่างๆ ของร่างกายจะมีสักบ้างเล็กน้อยเช่น ที่แขน ที่แก้มหรือแผ่นหลัง เป็นต้น ส่วนคนล้านนา (ภาคเหนือ) นิยมสักบั้นเอวและท้องเป็นสีดำ จึงเรียกว่า "พวกลาวพุงดำ"

อุปกรณ์ในการสัก

อุปกรณ์การสักจะประกอบด้วย เหล็กสัก ซึ่งเป็นเหล็กแหลมปลายสองแฉก คล้ายปลายปากกาคอแร้ง ทำด้วยทองแดง มีด้ามยาวประมาณ 60 - 75 ซม. ปลายด้ามมีโลหะทองแดงหรือตะกั่วหุ้ม เพื่อให้เกิดแรงกดที่ปลายเหล็กแหลมมากๆ เวลาชางสักจะได้ไม่ต้องออกแรงมากเมื่อเวลาสัก และใช้หมึกจีนเป็นน้ำหมึกสัก

sak kalai 07

กรรมวิธีการสักขาลายที่บันทึกโดย จารุบุตร เรืองสุวรรณ กล่าวว่า มีการใช้เหล็กแหลมแบบสีขาวรวมเป็น 6 แข้ว (ซี่) จุ่มลงในหมึก ซึ่งช่างสักบางคนก็ใช้ใบมันแกวเคี่ยวใส่เขม่าควันไฟ ให้มีสีดำผสมกับบี (ดี) หมู จะทำให้ลวดลายดำสนิทขึ้นมันดี และไม่มีสีแดงแซมขึ้นมา บางทีก็ใข้บี (ดี) ควาย

มีเรื่องเล่าว่า ถ้าใช้บีควายด่อน (เผือก) แล้วเวลาลงน้ำจะปวดปัสสาวะทันที นอกจากนั้น อาจจะใช้บี (ดี) สัตว์อื่นๆ อีกก็ได้ เช่น บีวัว บีหมู บีงู แม้กระทั่งบีปลาค่อ (ปลาช่อน) ซึ่งส่วนมากที่รับทำการสักจะเตรียมทำสำเร็จรูป เคี่ยวให้แห้งเป็นแท่งแข็งไว้ก่อนแล้ว พอถึงเวลาจะใช้จึงนำฝนผสมน้ำอีกทีหนึ่ง แล้วทำการสักหรือกระทุ้งเบาๆ ลงที่ผิวหนังพอให้เลือดออกและสีดำซึมลงไปได้

ส่วน สมชาย นิลอาธิ (2527) ได้รวบรวมสูตรหมึกที่นิยมใช้สักกันทางภาคอีสานไว้ 4 สูตรด้วยกัน คือ

  • สูตรที่ 1 ใช้ยางไม้ชนิดหนึ่งที่ชาวอีสานเรียกว่า "ต้นหมึก" เป็นหมึกที่ใช้กันในภาคอีสาน เมื่อหักกิ่งหรือก้านออกแล้ว จะมียางไม้สีขาวออกมา เมื่อแห้งแล้วสีจะออกสีดำ
  • สูตรที่ 2 ใช้ดินหม้อหรือเขม่าไฟที่จับเกาะตามก้นหม้อที่ใช้ฟืนหรือถ่าน ขูดเขม่าให้หลุดออกมา แล้วเอานำไปบดให้ละเอียด ผสมกับดีควาย
  • สูตรที่ 3 ใช่ผงถ่านสีดำที่อยู่ในถ่านไฟฉายนำไปบดให้ละเอียดแล้วผสมกับยางไม้ "ต้นมูกเกี้ย" เมื่อสักลงบนผิวหนังจะได้ลายสักสีดำตามสีของผงถ่าน
  • สูตรที่ 4 ใช้หมึกจีนชนิดแท่งนำไปฝนให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำมันเสือและน้ำมันงา (การใช้น้ำมันเสือซึ่งเป็นสัตว์ดุร้ายที่มีพลังอำนาจอยู่ในตัว) มาเป็นส่วนผสม ทำให้เชื่อกันว่าเป็นการสักเพื่อให้ผลทางอยู่ยงคงกระพันชาตรี ดีนักแล

การยกครูก่อนการสัก

ก่อนที่จะสักลงบนร่างกายไม่ว่าจะเป็นส่วนใด จะต้องมี การยกครู กันเสียก่อน ซึ่งภาษาอีสานเรียกว่า "ตั้งคาย" เป็นเงินค่ายกครู หรือค่าแรงของคนสักนั่นเอง เงินค่ายกครู นี้เรียกว่า เงินใส่คาย ถ้าเป็นสักขาลายบั้งปลาแดก (ลายบั้งห่างๆ) คิดขาละ 2 สลึง รวม 2 ขา ก็เป็น 1 บาท ถ้าสักขาเต็มรูปแบบ (เหมือนดังนุ่งกางเกง ลายจะทึบกว่ามาก และแน่นอนเจ็บปวดกว่ามาก) คิดขาละ 1 บาท ถ้าสักสองขาก็เสียค่ายกครู 2 บาท ราคาสักไม่แพงเหมือนยุคปัจจุบัน คือ สักที่ข้อมือหรือที่ขา คิดข้างละ 1 สลึง ถ้าอักขระตัวเดียวเสียครึ่งสลึง ถ้าสักแผ่นหลังหรือหน้าอกเต็มแผ่น คิดค่าครู 1 ตำลึง ถ้าไม่มีเงินจ้างเอาลูกหมู หรือไก่สักตัวหนึ่งมาแทน ครูก็ไม่ว่า (สมัยก่อนโน้น)

sak kalai 08

ผู้ที่จะทำการสักขาจะต้องนำ "ขันธ์ 5" ซึ่งมี ดอกไม้สีขาวที่มีกลิ่นหอมมา 5 คู่ ธูปเทียนอย่างละ 5 คู่ พร้อมกับเงินค่าคายตามที่ตกลงกัน ใส่มาในขันที่สานด้วยไม้ไผ่ที่มีรูปร่างเหมือนกับพานทั่วไป เรียกว่า ขันกะหย่อง ช่างสักขาลายจะกล่าวคำบูชาครูผู้ให้วิชานี้มาแก่ตน

การสักขาลายจะไม่กระทำกันในวันเดือนดับ คือ วันแรม 14 ค่ำ หรือแรม 15 ค่ำ และวันที่มีคนตายในหมู่บ้านนั้น ส่วนใหญ่มักจะนิยมสักในว้นอังคารกับวันพฤหัสบดี เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มียาชา ดังนั้นผู้ที่จะได้รับการสักขาลายจะต้องกิน "ฝิ่น" ขนาดเท่าเมล็ดหมากฝ้าย (เมล็ดฝ้าย) ถึงหนักหนึ่งสลึง ให้เกิดอาการเมา เพื่อจะได้บรรเทาความเจ็บปวดในขณะที่ลงเข็มสัก

การสักลาย

กรรมวิธีการสักลายนั้นจะทำแบบง่ายๆ คือ ให้ผู้ที่จะสักขาลายนอนลง โดยมีลูกมือของช่างสักลายจะจัดท่านอนให้ ช่างสักจะใช้ปลายไม้แแหลมๆ จุ่มน้ำหมีกร่างลวดลายลงบนขาตามที่ต้องการให้เรียบร้อยก่อน แล้วช่างสักก็จะเริ่มสัก โดยการใช้เหล็กสักจุ่มลงในน้ำหมีกจีนซึ่งได้ฝนไว้เรียบร้อยแล้ว และใช้ปลายเท้าขวากดผิวหนังของอวัยวะส่วนที่จะสักให้ตึง แล้วลงมือสัก

เมื่อปลายเหล็กหมดน้ำหมึก ก็จะจุ่มหมีกในกระบอกน้ำหมึกใหม่มาสักต่อจนเสร็จ โดยจะเริ่มสักบริเวณใต้หัวเข่าก่อน และสักขึ้นไปจนถึงปลายบั้นเอว บริเวณที่เจ็บปวดมากที่สุดได้แก่ บริเวณต้นขาและหน้าท้อง เมื่อช่างสักสักขึ้นไปจนถึงต้นขา ลูกมือของช่างสักก็จะใช้กะลามะพร้าวมาครอบอวัยวะเพศไว้ เพื่อกันอายและให้ช่างสักทำงานได้สะดวก ในการสักขาลายปกติจะสักได้วันละหนึ่งขาเป็นอย่างมาก ลวดลายที่สักมักจะเป็นลายสิงห์อยู่ในกรอบหลายๆ ตัวติดกัน ซึ่งตัวสิงห์และตัวลายลงสีทึบ ส่วนลายตรงปลายหัวเข่าและปลายบั้นเอวจะเป็นลายกาบง่ายๆ เมื่อสักลายเสร็จเรียบร้อยแล้วส่วนที่เป็นลายจะนูนขึ้น เนื่องจากผิวหนังบริเวณนั้นอักเสบ และจะยุบประมาณ 6 - 7 วัน ก็จะหายเป็นปกติ

sak kalai 09

ในระยะนี้คนที่ร่างกายมีความต้านทานนัอยมักจะมีไข้ จะต้องพักผ่อนจนร่างกายแข็งแรงขึ้น เสร็จแล้วต้องรอถึง 10 วันให้แผลที่ตกสะเก็ดหลุดหมดเสียก่อน ในขั้นแรกจะมีลวดลายเป็นเพียงสีดำหม่นๆ เมื่อแผลหายสนิทจึงจะมีสีดำเข้ม หลังจากสักขาแรก 10 วัน แล้ว จึงสักขาที่ 2 ถ้าสักพร้อมกันทั้ง 2 ขา แผลจะอักเสบมากจนบางคนปัสสาวะไม่ออก และอาจถึงแก่ความตายได้

ลวดลายที่นิยมสัก

ลวดลายที่สักโดยทั่วไปเป็นลายมอม (สัตว์ในป่าหิมพานต์) เพราะเป็นสัตว์ที่ทรงพลัง เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นผู้นำในฝูงสัตว์โลก และเกรงว่าลูกหลานในภายหลังจะไม่รู้จักรูปร่างของสัตว์หิมพานต์ประเภทนี้ บางคนอาจจะสักลายแปลกออกไปบ้าง เช่น ลายนกขอด ลายดอกไม้ โดยเฉพาะการสักลายที่แขน มักจะสักลายดอกผักแว่นทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงชาวส่วยนิยมสักกันมาก

sak kalai 10

การสักที่แผ่นอกแผ่นหลังมักจะสักเป็นรูปยันต์ และตัวอักขระ ที่เกี่ยวกับความเชื่อทางคาถาอาคม แล้วแต่ครูสักจะจัดให้ตามตำรา หรือตามจินตนาการของช่างสัก ถ้าคนจ้างสักต้องการหมอสักก็ตามใจ เช่น พญานาค (จะเจ็ดเศียรคาบแก้ว มีเขี้ยว มีเล็บ ก็ตามใจ) เสือโคร่ง รูปเจดีย์ หรือยันต์รูปแบบต่างๆ อาจจะมีการสักบนหนังหัวบ้าง เรียกว่า “ลงกระหม่อม” หรือบริเวณใต้หัวเข่าลงไป บางคนก็นิยมสักเป็นรูปงูขดขนาดสั้นเป็นรูป “ขาคีม หรือมีดสะนาก” โดยเชื่อว่าจะป้องกันสัตว์กัดต่อยมีพิษซึ่งเลื้อยคลานหรืออยู่ตามน้ำได้

เมื่อสักลายเสร็จแล้ว ครูก็เป่ามนต์คาถาใส่รอยสักเสียงพึมพำ นัยว่าเป็นการยกครูให้มีความศักดิ์สิทธิ์คงกระพัน สร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้สักลายให้ดียิ่งขึ้น เมื่อแผลแห้งสนิทดีทุกที่แล้วจึงนุ่งผ้าถกเขมรไปอวดสาวๆ ได้

ความนิยมในการสัก

ดังที่กล่าวข้างต้นว่า ผู้หญิงชอบชายสักลาย แต่ตัวผู้หญิงเองไม่นิยมสัก แต่ถ้าพบว่ามีลายสักชื่อชายที่ข้อมือของเธอ แสดงว่าชายคนนี้เจ้าชู้ ชีกอ ปลิ้นปล้อนตอแหล ทำให้เธออกหัก เกิดชาติหน้าขออย่าให้เห็นอีกเลย

sak kalai 11

ถ้าหญิงสักลายที่ต้นขาสองข้าง หัวเหน่า หรือหน้าอก ฝ่ายชายชอบนัก เพราะแสดงว่าหญิงคนนั้นไฟแรงขนาด "ครั้งเดียวไม่เคยพอ" จนผู้ชายบางคนไม่ชอบจนไม่อยากจะคุยด้วย เพราะกลัวว่าตัวเองจะไม่มีเรี่ยวแรงไปทำไร่ไถนา นั่นเอง

สำหรับชายไทยอีสานที่ขาสักลายไปภาคอื่น ผู้คนเห็นแล้วมักกลัวเกรงไม่อยากคบ เพราะกลัวคนขาลายเรียนคาถาอาคมแก่กล้า จนเป็น "ผีปอบ" ชอบกินตับมนุษย์ หรือเข้าสิงคนอื่นให้ป่วย จนคนอีสานที่ไปถีบสามล้อรับจ้างในกรุงเทพฯ สมัยโน้น จะถูกสามล้อภาคอื่นๆ เรียกว่า "พวกเสี่ยวขาลาย" ถ้าเป็นนักมวยสักขาลายมุมน้ำเงิน เซียนมวยก็มักจะเล่นฝ่ายขาลายให้เป็นต่อ คู่ชกบางคนเห็นคู่ต่อสู้เข้าก็กระโดดลงเวทีหนีไปเลยก็มี

ยุคปัจจุบัน การแสดงความเป็นชายกล้าแกร่ง มีความอดทน ขยันขันแข็ง เป็นผู้นำ สามารถดูได้จากสิ่งอื่นๆ ที่มิใช่การสักขาลาย เช่น มีการศึกษา มีอาชีพการงานที่มั่นคง มีทรัพย์สินเพียงพอต่อการอยู่อาศัยและเลี้ยงชีพ ยุคสมัยเปลี่ยน ทัศนคติคนก็เปลี่ยน การสักลายบนร่างกายจึงเปลี่ยนไป เป็นของผู้คนผู้ชื่นชอบเฉพาะกลุ่มเท่านั้น การสักลายจะอยู่ในที่เฉพาะมากขึ้นไม่ได้โชว์หราให้เห็น เพราะมีผลกระทบต่อตนเองทั้งในด้านสุขภาพ และในการประกอบอาชีพการงานกันพอสมควร จนถึงกับต้องมีการไปลบรอยสักเหล่านั้นออกจากร่างกายกันก่อน ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะกระทำให้สะอาดได้หมดจดดังเดิม

เรียบเรียงจาก : ศุภรัตน์ แสงฉัตรแก้ว (2560)
“สักขาลาย” อัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ในภาคอีสาน, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สักขาลาย รอยประวัติศาสตร์ผ่านน้ำหมึก ที่เริ่มเป็นเพียงภาพจำแห่งอดีต I ประวัติศาสตร์นอกตำรา

ผลกระทบของรอยสักต่อผิวหนัง

การสักบนร่างกาย ย่อมมีอันตรายที่อาจเกิดต่อผิวหนังด้วย คือ

  • การติดเชื้อ ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เป็นหนอง การอักเสบบวมแดงของผิวหนัง เชื้อไวรัสที่เกิดจากสักคือ โรคหูด ในปัจจุบันต้องระวังคือ โรคตับอักเสบชนิด B เพราะเคยมีรายงานว่ามีการระบาดของโรคนี้ในกลุ่มผู้ทำการสักยันต์
  • โรคผิวหนัง เช่น โรคเรื้อนกวาง โรคแอลอี จะเกิดบริเวณรอยสัก ทำให้ผิวหนัง ตกสะเก็ด มีอาการคันเกิดการติดเชื้อต่อแบคทีเรียต่าง ๆ ได้
  • การแพ้สี ปฏิกิริยาของผิวหนังต่อสีที่ใช้ในการสัก ถ้ามีอาการแพ้สี จะมีอาการตุ่มนูน มีอาการคันตามผิวหนัง ถ้ามีอาการรุนแรงทำให้เกิดอักเสบเป็นหนอง
  • การสักผิวหนังและสักคิ้ว จะทำให้มีการติดเชื้อเอดส์ได้ โดยการสัมผัสกับเลือดหรือน้ำเหลืองโดยตรง โอกาสติดโรคด้วยวิธีนี้ต้องมีแผลเปิด และปริมาณเลือดหรือน้ำเหลืองที่เข้าไปในร่างกายต้องมีจำนวนมาก

sak kalai 03

การลบรอยสัก

ผู้มีรอยสักมักจะมีความต้องการลบรอยสัก เมื่อต้องการเข้าสมัครงานหรือสมัครเรียน การลบรอยสักทำได้ยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับปริมาณของรอยสัก และตำแหน่งที่มีรอยสักอยู่ในส่วนใด ในอดีตมีการลบรอยสักดังนี้

  • Dermabrasion การให้ศัลยแพทย์ตบแต่งเป็นผู้ทำ โดยการไถผิวหนังส่วนบนออกให้เม็ดสีของรอยสักหลุดออกมาด้วย แล้วนำผิวหนังปกติจากต้นแขนต้นขามาปะลงบนรอยสักที่ตัดออกนั้น
  • Salabrasion การขัดหนัง โดยใช้เกลือแกง ถูซ้ำๆ 2-3 ครั้ง จนกว่ารอยสักจะลบเลือนหรือจางลง
  • Chemical erosive ใช้กรดหรือสารเคมีในการทำให้ผิวหนังส่วนนั้นหลุดลอกออกมา
  • Ablative laser การใช้แสงเลเซอร์ลบรอยสัก ที่นิยมกันคือ คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ และอาร์กอนเลเซอร์ จากรายงานพบว่า ได้ผลดีพอสมควร โอกาสเกิดแผลเป็นมีประมาณ 20%

ปัจจุบันการรักษาด้วย Q-switched laser (Ruby 694), Alexandrite 755, Nd-YAG (1064) ได้ผลดีมาก หายมากกว่า 90 % ขึ้นไป หลังทำ laser 6-8 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 4-8 สัปดาห์

เรื่องที่เกี่ยวข้องน่าสนใจ : กว่าจะได้ภาพ 'รอยสัก' ผู้เฒ่าอีสาน | ผู้บ่าวขาลายแห่งคนสุดท้ายภูผาม่าน

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)