foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

provinces header

จังหวัดอุบลราชธานี

อุบลเมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน
ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์"

ubon logoอุบลราชธานี เป็นเมืองใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 200 ปี เล่ากันว่า ท้าวคำผง ท้าวทิศพรหม และท้าวคำ บุตรพระวอ พระตา หลีกหนีภัยสงครามจากพระเจ้าสิริบุญสาร เจ้าแห่งนครเวียงจันทน์ เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าตากสินมหาราช และต่อมาได้สร้างเมืองขึ้นที่บริเวณดงอู่ผึ้ง ใกล้กับแม่น้ำมูล ชื่อว่า "เมืองอุบลราชธ่นีศรีวนาลัยประเทศราช" ครั้น พ.ศ. 2323 พระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาราชสุภาวดี เชิญตราพระราชสีห์ มาพระราชทานนามเมืองว่า "อุบลราชธานี" ทรงให้ท้าวคำผงเป็นเจ้าเมืองคนแรก ซึ่งต่อมาได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระปทุมวงศา"

เมืองอุบลราชธานี มีเจ้าเมืองสืบกันมาถึง 4 คน ตราบจนถึงปี พ.ศ. 2425 จึงได้มีการแต่งตั้งข้าหลวง และผู้ว่าราชการจังหวัด มาปกครองดูแลจนถึงทุกวันนี้

อุบลราชธานี ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 629 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงและภูเขา มีแม่น้ำมูลไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่ และมีหน้าผาหินทรายบริเวณชายฝั่งแม่น้ำโขง อันเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทย และประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีพื้นที่ประมาณ 15,744 ตารางกิโลเมตร

ในบรรดาจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย มีเพียงจังหวัด “อุบลราชธานี” จังหวัดเดียวที่ลงท้ายว่า “ราชธานี” ซึ่งแปลว่าเมืองหลวง แม้แต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ธนบุรี และกรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงในอดีต และเป็นเมืองหลวงในปัจจุบันก็ไม่ลงท้ายว่า “ราชธานี”

คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เติม วิภาคย์พจนกิจ เขียนไว้ใน “ประวัติศาสตร์อีสาน” (มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2530) ว่า

มีหลายท่านได้ถามผู้เขียนว่า "คำที่เติมท้ายเมืองอุบลว่า "ราชธานี" นั้นเป็นมาอย่างไร ชั้นต้นผู้เขียนหาคำตอบไม่ได้ บังเอิญไปพบในหนังสือข่อยที่ตาของผู้เขียนได้บันทึกไว้ใน ตำนานเมืองอุบลฯ ว่า เมืองอุบลฯ นี้โปรดเกล้า ให้เป็นเมืองอาสาหลวงเดิม เพราะถ้ามีพระราชสงครามมาติดพันประเทศ เมืองอุบลฯ (พระประทุมฯ) ก็โปรดเกล้าฯ ให้ติดสอยห้อยตามเสด็จไปปราบปรามทุกครั้งฐานะเป็นประเทศราช จึงพระราชทานนามเมืองอุบลฯ ต่อท้ายว่า “เมืองอุบลราชธานี” ดังกล่าว โปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นกรุงเทพฯ ทำส่วยผึ้ง 2 เลกต่อเบี้ย น้ำรัก 2 ขวดต่อเบี้ย ป่าน 2 เลกต่อขอด”

ubon flower

ดอกไม้ประจำจังหวัดอุบลราชธานี คือ ดอกบัวหลวง, บุณฑริก, สัตตบงกช หรือ บัวหลวงอินเดีย (อังกฤษ: Indian Lotus, Sacred Lotus, Bean of India) เป็นพืชน้ำในสกุลบัวหลวง (Nelumbo) วงศ์บัว (NELUMBONACEAE) มีชื่อเรียกอื่นๆ ว่า โกกระณต, บัวอุบล, บัวฉัตรขาว, บัวฉัตรชมพู, บัวฉัตรสีชมพู, ปุณฑริก, ปทุม, ปัทมา, สัตตบุษย์, โช้ค (เขมร) เป็นต้น เป็นพรรณไม้น้ำประเภทพืชล้มลุก มีลำต้นและหัวอยู่ในดินใต้น้ำ การเจริญชูก้านใบและดอกขึ้นมาบนผิวน้ำ ใบมีลักษณะกลมกว้างใหญ่ ผิวใบเรียบ สีเขียวขอบน้ำตาล ดอกเป็นกลีบซ้อนกันหลายชั้น มีสีขาว ชมพู เหลือง ลักษณะสีสันขนาดของใบและดอกขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ ขายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือแยกกอจากหัวหรือเหง้า

ประโยชน์ รากบัวหลวง (เหง้าบัว) สามารถนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารได้ทั้งคาวหวาน เช่น เหง้าบัวผัดน้ำมัน เหง้าบัวอ่อนต้มหรือตุ๋นกระดูกหมูกับเครื่องยาจีน นำมาเชื่อมแห้งรับประทานเป็นของหวาน ทำเป็นน้ำรากบัว หรือนำมาต้มเป็นน้ำสมุนไพรรากบัว ไหลบัว (หลดบัว) สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งสดและแห้ง เช่น การนำมาทำแกงเลียง แกงส้ม ต้มกะทิ ผัดเผ็ดต่างๆ ฯลฯ สายบัวนำมาปรุงเป็นอาหารหรือใช้แทนผักได้หลายชนิด เช่น แกงส้มสายบัวกับปลาทู แกงส้มสายบัว ต้มกะทิปลาทู ฯลฯ ดอกบัวนำมาบูชาพระ หรือนำมาใช้ในทางศาสนา เนื่องจากดอกบัวหลวงเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทางพระพุทธศาสนา มีความเกี่ยวข้องโดยตรงสำหรับการบูชาพระรัตนตรัย

อุบลราชธานีเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 33 ในปี 2025

จังหวัดอุบลราชธานี แบ่งเขตการปกครองเป็น 25 อำเภอ (2564) ได้แก่

 อำเภอเมืองอุบลราชธานี  อำเภอศรีเมืองใหม่  อำเภอโขงเจียม  อำเภอเขื่องใน
 อำเภอเขมราฐ  อำเภอเดชอุดม  อำเภอนาจะหลวย  อำเภอน้ำยืน
 อำเภอบุณฑริก  อำเภอตระการพืชผล  อำเภอกุดข้าวปุ้น  อำเภอม่วงสามสิบ
 อำเภอวารินชำราบ  อำเภอพิบูลมังสาหาร  อำเภอตาลสุม  อำเภอโพธิ์ไทร
 อำเภอสำโรง  อำเภอดอนมดแดง  อำเภอสิรินธร  อำเภอทุ่งศรีอุดม
 อำเภอนาเยีย  อำเภอนาตาล  อำเภอเหล่าเสือโก้ก  อำเภอสว่างวีระวงศ์
 อำเภอน้ำขุ่น      

อาณาเขต

  • ทิศตะวันตก : ติดกับจังหวัดยโสธรและจังหวัดศรีสะเกษ
  • ทิศตะวันออก : ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
  • ทิศเหนือ : ติดกับราชอาณาจักรกัมพูชา ตามแนวเทือกเขาบรรทัด
  • ทิศใต้  : ติดกับจังหวัดอำนาจเจริญ

การเดินทาง

จังหวัดอุบลราชธานี สามารถเดินทางจากกรุงเทพมหานครได้หลายวิธีที่แสนสะดวกมากมาย เช่น

  • ทางรถไฟ จากสถานีหัวลำโพง ปลายทางอุบลราชธานี (สอบถาม การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690)
  • ทางรถยนตร์ เดินทางด้วยรถประจำทางของ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือบริษัทเอกชนอื่นๆ เช่น นครชัยแอร์ หรือขับรถไปเองได้หลายเส้นทาง ระยะทางประมาณ 650 กิโลเมตร
  • ทางเครื่องบิน มีเที่ยวบินไปอุบลราชธานีวันละหลายเที่ยวบิน จากสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง หรือต้นทางอื่น จากสายการบิน ไทยสมายล์ นกแอร์ แอร์เอชีย ไทยไลออนแอร์ เป็นต้น โปรดตรวจสอบตารางบินจากบริษัทเหล่านี้ได้โดยตรง

อุบลราชธานี : ที่เที่ยวเยอะกว่าที่คิด

ตำนานพื้นเมืองอุบลฯ

ปริวรรตจาก : อักษรธรรม 1 ผูก วัดบ้านหัวเรือ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

เป็นการเล่าประวัติของการอพยพ "กลุ่มพระวอพระตา" มาจากเวียงจันทน์ถึงการก่อตั้งเมืองอุบลฯ ในบริเวณที่เป็นจังหวัดอุบลราชธานีปัจจุบันนี้ เชื้อสายของผู้คนที่อพยพมาก่อตั้งเมืองอุบลฯ มาจากบ้านหินโงม ที่เวียงจันทน์ โดยมี พระตา เป็นหัวหน้า พระตาเป็นผู้มีอำนาจมากปกครองบริวารจำนวนหนึ่ง พระตามีลูกชาย 3 คน คือ ท้าววอ ท้าวคำผง ท้าวพรม กษัตริย์เวียงจันทน์ได้ตั้งท้าววอเป็นพระวอ เป็นนายกองคุมกองนอก

เมื่อกษัตริย์เวียงจันทน์สวรรคต กษัตริย์องค์ใหม่ได้ข่มเหงลูกสาวของพระตา พระตาจึงพาไพร่พลอพยพหนีจากเวียงจันทน์ โดยมีไพร่พลเป็นครัวเรือนสามหมื่นเศษ และเป็นทหารอีกสี่พันคน โดยแบ่งเป็นสามกอง คือ หลวงราชโภชนัย เป็นกองหน้า กำลังคนหมื่นเศษ ท้าวนาม เป็นกองหลัง กำลังคนหมื่นเศษ พระตา พระวอ เป็นกองกลาง และมีท้าวชม ท้าวสูน เป็นกองสอดแนม เมื่อเดินทางได้ 1 เดือน ถึงหนองบัวลำภู โดยกองของพระตาอยู่ที่ใกล้กับภูวง หลวงราชโภชนัย ตั้งอยู่ที่บ้านผ้าขาวพรรณาใกล้กับลำน้ำสงคราม ท้าวนามไปตั้งอยู่ที่ภูเวียง กษัตริย์เวียงจันทน์ได้ยกทัพมาประมาณหมื่นคน มาปราบโดยให้เมืองแสนและเมืองจันเป็นแม่ทัพ มาตั้งพักทัพที่บริเวณที่เป็นหนองคายในปัจจุบัน

udon 08

กองสอดแนมฝ่ายพระตารายงานให้พระตาทราบ ดังนั้นทัพเวียงจันทน์จึงถูกซุ่มโจมตีอย่างยับเยิน เวียงจันทน์เสียทหารประมาณ 5,000 คน ฝ่ายพระตาได้อาวุธ ช้าง ม้า ทรัพย์สินเป็นอันมาก ในวันเสาร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ทัพเวียงจันทน์ได้ยกมาตีที่หนองบัวลำภู แต่ก็พ่ายแพ้กลับไป พระวอชนช้างฆ่าอุปราชเวียงจันทน์ตาย พระตาได้ตั้งบ้านเมืองที่หนองบัวลำภู 7 ปี

ต่อมากษัตริย์เวียงจันทน์ได้ขอความร่วมมือไปยังเมืองเชียงใหม่ ขอกองทัพมาช่วยปราบพระตา กษัตริย์เชียงใหม่ยกทัพมาช่วยรบ พระตาจึงพาบริวารมาตั้งที่เมืองร้อยเอ็ดในปัจจุบัน รบกันตั้งแต่เดือนยี่ แรมแปดค่ำ วันจันทร์จนถึงเดือนสามวันเพ็ญจึงล่าถอย แต่สูญเสียผู้คนไม่มาก เพราะรบไปถอยไป พระตาเดินทางไปจากร้อยเอ็ดอีก 4 เดือน ถึงเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ไม่อยากให้อยู่ด้วยเกรงจะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน ได้มาตั้งอยู่ที่ใกล้แม่น้ำพลึง คือบ้านดู่ บ้านแก ตั้งอยู่บริเวณนี้อีก 10 ปี

เจ้านาม ตั้งอยู่พรรณาผ้าขาวร้อยเอ็ด กษัตริย์เวียงจันทน์ยกกองทัพเรือมีกำลังพลประมาณสองหมื่น รบกันตั้งแต่เดือน 4 ถึงเดือน 5 ข้างแรม รบอยู่ 2 เดือนก็ไม่แพ้ชนะแก่กัน พระวอขี่ม้าออกมารบอย่างกล้าหาญต่อสู้สังหารคนตายไปประมาณพันคน และพระวอขาดใจตายในที่รบ เนื่องจากเหนื่อยบอบช้ำจากการรบ ท้าวคำผง ท้าวทิดพรม ได้ช่วยกันและรักษาเมืองให้มั่นคงไว้ พระตาได้มีสารมาบอกทูลพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี

พระเจ้าตากสินจึงส่งทัพมาช่วย รบกันตั้งแต่เดือน 4 ถึงเดือน 8 วันจันทร์ ขึ้น 12 ค่ำ ปีมะโรง กษัตริย์จำปาศักดิ์ออกมาอ่อนน้อมส่งส่วยต่อไทย ท้าวคำผงได้เป็นแม่ทัพยกไปตีเวียงจันทน์ร่วมกับทัพไทย เวียงจันทน์ได้อ่อนน้อมส่งส่วยต่อไทย ต่อมาหลวงพระบาง ได้อ่อนน้อมต่อไทย ลาวทั้ง 4 กลุ่ม คือ ลาวในอีสาน เวียงจันทน์ หลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ได้ขึ้นต่อไทย ตั้งแต่นั้นทัพไทยได้นำเอาพระแก้วมรกต นางเขียวค่อมราชธิดาเวียงจันทน์กลับไทย

อนุสาวรีย์พระปทุมราชวงศา (เจ้าคำผง)

พระตาได้สิ้นชีวิตเมื่ออายุได้ 78 ปี สอนให้ลูกหลานประพฤติปฏิบัติตนตามประเพณี และมีหลักการปกครองแทรกอยู่ด้วย และสั่งให้อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำมูล พระตาตายในวันศุกร์ เดือน 3 ขึ้น 13 ค่ำ และในเดือน 4 ขึ้น 11 ค่ำ ทำศพกลางทุ่งใหญ่ จัดตั้งวางศพบน เมรุนกหัสดีลิงค์ สมโภชศพ 7 วัน 7 คืน และก่อธาตุพระวอ พระตาไว้นอกเมือง

การปกครองเมืองอุบลฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์

มีการตั้งเมืองต่างๆ ในบริเวณเมืองอุบลฯ รวม 17 เมือง ดังนี้

  • ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ตั้งเมืองยโสธร และเมืองเขมราฐ เมื่อปี พ.ศ. 2357 และตั้งเมืองโขงเจียม เมื่อปี พ.ศ. 2364
  • ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งเมืองเสนางนิคม เมืองเดชอุดม เมืองคำเขื่อนแก้ว เมื่อปี พ.ศ. 2388 และตั้งเมืองบัว (บุณฑริก) เมื่อปี พ.ศ. 2390
  • ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งเมืองอำนาจเจริญ เมื่อ ปี พ.ศ. 2401 เมืองพิบูลมังสาหาร เมืองตระการพืชผล และเมืองมหาชนะชัย เมื่อปี พ.ศ. 2406
  • ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งเมืองชานุมานมณฑล และเมืองพนานิคม เมื่อปี พ.ศ. 2422 เมืองวารินชำราบ เมื่อปี พ.ศ. 2423 เมืองโดมประดิษฐ์ เมื่อปี พ.ศ. 2424 และเมืองเกษมสีมา (อำเภอม่วงสามสิบ) เมื่อปี พ.ศ. 2425

เมืองที่ตั้งทั้ง 17 เมืองดังกล่าว มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอก ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ 4 เมือง คือ เมืองอุบลฯ เมืองยโสธร เมืองเขมราฐ และเมืองเดชอุดม ที่เป็นเมืองเล็กเทียบได้กับเมืองจัตวา 13 เมืองนั้น ขึ้นกับเมืองอุบลฯ 7 เมือง ได้แก่ เมืองเสนางคนิคม เมืองพิบูลมังสาหาร เมืองตระการพืชผล เมืองมหาชนะชัย เมืองชานุมานมณฑล เมืองเกษมสีมา และเมืองพนานิคม ขึ้นกับเมืองเขมราฐ 2 เมืองคือ เมืองคำเขื่อนแก้ว และเมืองอำนาจเจริญ ขึ้นกับเมืองนครจำปาศักดิ์ 4 เมืองคือ เมืองโขงเจียม เมืองบัว เมืองวารินชำราบ และเมืองโดมประดิษฐ์

udon 10

การจัดการปกครองภายในของเมืองอุบลฯ เมืองขึ้นและเมืองใกล้เคียงในภูมิภาคนี้ ไม่ได้จัดการปกครองภายในเหมือนหัวเมืองทั่วไป แต่ใช้ธรรมเนียมการปกครองที่มีมาแต่ดั้งเดิมของหัวเมืองลาวตะวันออก คือ แบ่งเจ้าหน้าที่ปกครองออกเป็น 5 ระดับ แต่ละระดับมีหลายตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ต่างกันดังนี้

1. ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเมือง เรียกว่า อาชญาสี่ มี 4 ตำแหน่งคือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร

  • เจ้าเมือง เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด แต่งตั้งกรรมการเมืองชั้นรอง เช่น เมืองแสน เมืองจันทน์ เมืองฮาม ฯลฯ และแต่งตั้งกรรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่คือ อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร
  • อุปฮาด มีหน้าที่รองจากเจ้าเมือง ทำหน้าที่แทนเมื่อเจ้าเมืองไม่อยู่ มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการรวบรวมสรรพบัญชี สำมะโนครัว ส่วยอากร และเกณฑ์ไพร่พลไปทำศึกสงคราม
  • ราชวงศ์ เป็นผู้ช่วยเจ้าเมือง และอุปฮาด มีหน้าที่ในกองทัพในการควบคุมไพร่พลออกรบ จัดส่งเสบียงอาหาร และอาวุธยุทธโธปกรณ์ต่างๆ
  • ราชบุตร มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับราชวงศ์

2. ในแต่ละเมืองจะแบ่งการปกครอง และควบคุมไพร่พลเป็น 4 กอง คือ กองเจ้าเมือง กองอุปฮาด กองราชวงศ์ กองราชบุตร

  • ตำแหน่งอาชญาสี่ ถ้าเป็นเมืองเล็กขึ้นกับเมืองใหญ่ เรียกว่า เจ้าเมือง อัครฮาด อัครวงค์ และอัครบุตร
  • ตำแหน่งผู้ช่วยอาชญาสี่ มี 4 ตำแหน่งคือ ท้าวสุริยะ หรือท้าวขัตติยะ ท้าวสุริโย ท้าวโพธิสาร และท้าวสิทธิสาร มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีความต่างๆ ในศาลเมืองชั้นสูง ควบคุมกำกับดูแลงานเมืองในแผนกต่างๆ ของเมือง
  • ตำแหน่งขื่อบ้านขาวเมือง เป็นตำแหน่งรองจากผู้ช่วยอาชญาสี่ มี 17 ตำแหน่ง ได้แก่ เมืองแสน มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางทหาร เมืองจันทน์ มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางพลเรือน เมืองคุก เมืองฮาม เมืองแพน มีหน้าที่ควบคุมนักโทษ ฯลฯ
  • ตำแหน่งพิเศษอื่นๆ เป็นตำแหน่งไม่ค่อยสำคัญ เจ้าเมืองจะแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งก็ได้ ได้แก่ ตำแหน่งเพี้ยซาตีนแท่น แล่นตีนเมือง เพี้ยซาบรรทม เพี้ยซาแขกขวา เพี้ยซาแขกซ้าย มีหน้าที่ติดตามเจ้าเมือง ต้อนรับแขกเมือง ฯลฯ
  • ตำแหน่งสำหรับหมู่บ้าน มี 4 ตำแหน่ง ได้แก่ ท้าวฝ่าย เทียบตำแหน่งนายอำเภอ ตาแสง เทียบตำแหน่งกำนัน พ่อบ้าน หรือนายบ้าน เทียบเท่าตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน จ่าบ้าน เทียบตำแหน่งสารวัตรกำนัน

บทบาทของเมืองอุบลฯ ในอดีต

ด้านการปกครอง

เมืองอุบลราชธานี เป็นเมืองขนาดใหญ่ เป็นหัวเมืองเอกขึ้นกับกรุงเทพฯ ปกครองดูแลเมืองต่างๆ 7 เมือง จัดเก็บส่วยตามที่ทางกรุงเทพฯ กำหนด เช่น ในปี พ.ศ. 2370 เมืองอุบลฯ มีไพร่หลวงอยู่ 5,500 คน กำหนดให้ส่งส่วย 2,000 คน ปฏิบัติราชการ 2,000 คน และเลี้ยงราชการ 1,500 คน ครั้งนั้นกำหนดให้ไพร่ส่วยเสียค่าส่วยคนละ 4 บาทต่อปี ถ้าส่งเป็นสิ่งของคิดเป็นราคา 4 บาท เช่นกัน เมืองอุบลฯ ส่งส่วยเร่ว ส่วยเงิน ส่วยไหม ส่วยขี้ผึ้ง ส่วยผ้าขาว ฯลฯ โดยเมืองอุบลฯ จะเป็นผู้รวบรวมเก็บส่วยทั้งเงิน และสิ่งของเมืองต่างๆ ในภูมิภาคนั้น เช่น เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองแสนบาง เมืองทองคำใหญ่ เมืองเชียงแตง เมืองสีทันดร เมืองลำเนา หนองปรือ เมืองเขมราฐ เมืองโขงเจียม ฯลฯ รวบรวมไว้ที่เมืองอุบลฯ แล้วท่านเจ้าเมืองจะนำส่งกรุงเทพฯ โดยทางเรือล่องตามลำแม่น้ำมูล ถึงท่าช้างเมืองนครราชสีมา แล้วบรรทุกโคต่างส่งถึงกรุงเทพฯ ต่อไป แต่ในบางปีทางกรุงเทพฯ อาจใช้ข้าหลวงนำโคต่างจากกรุงเทพฯ เพื่อมาบรรทุกสิ่งของรับส่วยจากเมืองอุบลฯ โดยตรง

ด้านการป้องกันประเทศ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงจัดให้หัวเมืองต่างๆ ทางแผ่นดินสูงตอนริมแม่น้ำโขง เป็นเมืองประเทศราชอยู่ 3 เมืองคือ เมืองนครพนม เมืองเวียงจันทน์ และเมืองนครจำปาศักดิ์ โดยมอบให้เมืองนครราชสีมาปกครองดูแลหัวเมืองเขมรป่าดงอื่นๆ และหัวเมืองดอนที่มิได้ขึ้นตรงต่อประเทศราชทั้ง 3 ดังกล่าว ดังนั้น ในระยะนั้นเมืองอุบลฯ จึงอยู่ในความควบคุมดูแลของเมืองนครราชสีมา และขึ้นตรงต่อสมุหนายก

ในปี พ.ศ. 2353 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไทยต้องยกกองทัพไปตีเมืองมะริด และตะนาวศรี เจ้าพระยาจักรี สมุหนายกผู้รับผิดชอบ หัวเมืองลาวภาคตะวันออก ได้มีสารตราส่งเจ้าพระยานครราชสีมาให้เกณฑ์กองทัพเมืองต่างๆ ในหัวเมืองลาว เขมรป่าดง ตามจำนวนที่กำหนดทุกเมืองรวม 14 เมืองให้กำลังดังกล่าวเดินทางไปถึงเมืองสระบุรีในวันที่กำหนด

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยทำสงครามกับญวนเป็นเวลานาน เมื่อปี พ.ศ. 2375 ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชนิกูล เกณฑ์กองทัพหัวเมืองชั้นใน หนึ่งพันคนยกออกไปรักษาการณ์อยู่ที่เมืองจัมปาศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2382 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพใหญ่ มีบัญชาให้เกณฑ์ไพร่พลจากเมืองต่างๆ ของหัวเมืองลาวตะวันออกไปร่วมในกองทัพ

udon 09

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มปฏิรูปการปกครอง ในปี พ.ศ. 2433 ได้จัดแบ่งหัวเมืองฝ่ายอีสานเป็น 4 กองใหญ่ รวมเมืองเอก เมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวา เข้าด้วยกัน แต่ละกองมีข้าหลวงกำกับการปกครองกองละหนึ่งคน มีข้าหลวงใหญ่คอยกำกับดูแลข้าหลวงกำกับกองอีกหนึ่งคน

เมืองอุบลฯ อยู่ในกองที่สอง คือ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประกอบด้วยหัวเมืองเอก 12 หัวเมือง หัวเมืองโท ตรี จัตวาอีก 29 หัวเมือง รวม 41 หัวเมือง มีพระยาราชเสนา (ทัต ไกรฤกษ์) เป็นข้าหลวงประจำกอง ตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองอุบลฯ หัวเมืองเอกได้แก่ เมืองอุบลฯ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ภูหล่นช้าง กมลาสัย เขมราฐ สองคอน แดนดง ยโสธร นอง และศรีสะเกษ

ในปี พ.ศ. 2434 โปรดเกล้าฯ ให้รวมหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก และฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกันเรียกว่า หัวเมืองลาวกาว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงพยายามแก้ไขรูปแบบการปกครองของมณฑลลาวกาว ให้เข้ากับลักษณะที่ใช้อยู่ในภาคกลาง ทรงนำพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ซึ่งเริ่มปฏิบัติครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2437 ณ วัดศรีทองวนาราม (วัดศรีอุบลรัตนาราม ปัจจุบัน) และในปีเดียวกันได้ทรงยกเลิกตำแหน่งอาชญาสี และให้เรียกชื่อใหม่ ตามระบอบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล คือ

  • เจ้าเมือง เรียกว่า ผู้ว่าราชการเมือง
  • อุปฮาด เรียกว่า ปลัดเมือง
  • ราชวงค์ เรียกว่า ยกกระบัตรเมือง
  • ราชบุตร เรียกว่า ผู้ช่วยราชการเมือง

ในปี พ.ศ. 2442 ให้เรียกชื่อเมือง ชายพระราชอาณาเขต สามมณฑล ตามชื่อพื้นที่ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเรียกชื่อเมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองอุบลฯ เมืองศรีสะเกษ และหัวเมืองอื่นๆ ที่รวมกันเป็นมณฑลลาวกาว ว่า มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ และพระราชทานศักดินาแก่เจ้านาย พระยาท้าวแสนเมือง ประเทศราชให้มีศักดิ์ และสิทธิ์เทียบเท่ากับข้าราชการไทยทั่วไป

ประวัติเมืองอุบลราชธานี

ในปี พ.ศ. 2443 ให้เรียกมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือว่า มณฑลอีสาน และได้แบ่งออกเป็นห้าบริเวณ บริเวณอุบลฯ มี 3 เมือง คือเมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองยโสธร และเมืองเขมราฐ

ในปี พ.ศ. 2444 เกิดขบวนการผู้มีบุญมลฑลอีสานหลายรายด้วยกัน โดยสะท้อนสภาพปัญหาสังคมในรูปของวรรณกรรม ผญา คำพังเพย กลอนลำ ฯลฯ กลุ่มผู้นำเช่น กองอ้ายมั่น บ้านกระจีน แขวงเขมราฐ กองอ้ายเล็ก บ้านหนองซำ อำเภอพยัคฆภูมิ เมืองสุวรรณภูมิ กองอ้ายบุญจัน เมืองขุขันธ์ ซึ่งเชื่อถือในพญาธรรมิกราช

ในปี พ.ศ. 2487 ปลายสงครามมหาเอเซียบูรพา ญี่ปุ่นทะยอยส่งเชลยศึกซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดเนเซีย มาเลเซีย อังกฤษ อเมริกา และดัชท์ มายังจังหวัดอุบลฯ เพราะได้เตรียมให้ภาคอีสานเป็นแนวต้านทานสุดท้าย เนื่องจากมีพื้นที่ติดต่อกับอินโดจีน ชาวอุบลราชธานีด้วยความเป็นคนมีจิตเมตตาสงสาร จึงได้พากันนำเอาอาหารเครื่องนุ่งห่มมาให้เชลยศึกเหล่านี้เพื่อเป็นทาน แต่ก็ได้รับการขัดขวางจากทหารญี่ปุ่น และถึงขั้นทำร้ายเอา แต่ชาวอุบลราชธานีก็ยังแอบนำอาหารและเครื่องใช้ไปให้เชลยศึกเหล่านี้ ด้วยความเมตตาอย่างไม่กลัวเกรงต่อภัยอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

อนุสาวรีย์แห่งความดีต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2488 สงครามมหาเอเซียบูรพายุติลง จังหวัดอุบลฯ ได้ปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นแล้วส่งเข้าค่ายเชลยที่กรุงเทพฯ โดยทางรถไฟ ด้วยความดีดังกล่าว ภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง ฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเป็นเชลยศึกเหล่านี้ได้ถูกปลดปล่อย และได้ระลึกถึงคุณงามความดีของชาวอุบลราชธานี ที่มีจิตเมตตากรุณา จึงได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งในชีวิตของพวกเขาได้เคยเป็นเชลยศึกอยู่ที่นี่ และได้รับความเมตตากรุณาจากชาวอุบลราฃธานีจนทำให้มีกำลังใจที่จะต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไป และพร้อมใจกันให้นามอนุสาวรีย์แห่งนี้ว่า “อนุสาวรีย์แห่งความดี : The Monument of Merit”

คำจารึกที่อนุสาวรีย์มีว่า "In 1941, Japanese troop occupied Thailand and took allied prisoners of war. Ubonratchathani prisoners was one of many areas in Thailand where allied prisoners of war were kept and forced into hard labour.

The prisoners consisted mainly Australian, British, New Zealand and French nationals, Who were tormented toward the allied prisoners of war physically and mentally by their captors. Bring actively sympathetic foot, clothes and others, people risk their lives to help them by providing support. As a result, many Thais received harsh punishment from the Japanese soldiers. When the war was over in 1943, many prisoners of war were freed. Survival due to the assistance of local people. To show their gratitude. The former prisoners built this monument to the kindness. Generosity and goodwill displayed by people of Ubonratchathani . The is why this monument is called. “ The Monument of Merit ”

the monument of merit 2

อนุสาวรีย์แห่งความดี อุบลราชธานี

ประเพณีเทศกาล

ubon 60y king tour

งานแห่เทียนพรรษา

เป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี จัดให้มีขึ้นทุกปีในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา สถานที่จัดคือบริเวณทุ่งศรีเมืองและศาลาจตุรมุข มีการประกวดต้นเทียน 2 ประเภท คือประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก โดยขบวนแห่จากคุ้มวัดต่างๆ พร้อมนางฟ้าประจำต้นเทียน จะเคลื่อนขบวนจากหน้าวัดศรีอุบลรัตนารามไปตามถนนสายสำคัญในเขตเทศบาลนครอุบลฯ มาสิ้นสุดขบวนที่ทุ่งศรีเมือง ในตอนกลางคืนจะมีมหรสพ และการแสดงสมโภชต้นเทียน และเห็นแสงไฟต้องลำเทียนงามอร่ามไปทั้งงาน [ รายละเอียดเพิ่มเติม : งานแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ]

ubon candle festival 2017

งานเทศกาลไม้ดอกไม้ประดับ

เดือนกุมภาพันธ์จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณสนามกีฬาทุ่งคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ กิจกรรมที่น่าสนใจ คือ ขบวนรถบุปผชาติ การประกวดและจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับ

ubon maidok

งานประเพณีสงกรานต์ และเทศกาลอาหารอินโดจีน

ในเดือนเมษายนของทุกปี จังหวัดอุบลราชธานี เทศบาลนครอุบลราชธานีและหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม และการท่องเที่ยวจัดให้มี งานสงกรานต์และเทศกาลอาหารอินโดจีน ขึ้นทุกปี ณ บริเวณสวนสาธารณะทุ่งศรีเมือง นอกจากจะได้ร่วมสรงน้ำพระแก้วบุษราคัมแล้ว ยังจะได้อิ่มอร่อยกับอาหารนานาชนิดจากประเทศเพื่อนบ้าน และภัตตาคารชื่อดัง หรือจะหลบลมร้อนไปนั่งพักผ่อนที่หาดคูเดื่อ หรือ หาดศรีภิรมย์ ลิ้มรสอาหารพื้นบ้านก็น่าสนใจ

ubon songkran

งานประเพณีมหาสงกรานต์แก่งสะพือ

ในเดือนเมษายนของทุกปี ทางเทศบาลพิบูลมังสาหาร กำหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์แก่งสะพือขึ้นเป็นประจำ ในงานนอกจากจะมีการประกวดธิดาสงกรานต์แล้ว ยังมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าของภาคเอกชน มีการละเล่นกีฬาพื้นเมือง และการประกวดการเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสานอีกด้วย

ubon kangsapue

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

วัดทุ่งศรีเมือง

ตั้งอยู่ที่ถนนหลวงในเขตเทศบาลเมือง สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สร้างวัดนี้คือ ท่านเจ้าอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบล คณะภิบาลสังฆปาโมก (สุ้ย) เจ้าคณะเมืองอุบลราชธานีในสมัยนั้นท่านได้เคยศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดสระเกศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ท่านจึงได้นำพระพุทธบาทจำลองจากวัดสระเกศฯ มายังอุบลราชธานี และได้สร้างหอพระพุทธบาทขึ้นเป็นที่ประดิษฐาน หอพระพุทธบาทหลังนี้คือ พระอุโบสถที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมมีลักษณะของศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น และศิลปะเวียงจันทน์ผสมกันอยู่ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังทุกด้านเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 อาคารที่สำคัญอีกหลังหนึ่งคือ หอพระไตรปิฎก

 ubon hor tri

เป็นหอไตรที่สร้างด้วยไม้ ตั้งอยู่กลางสระน้ำ เพื่อเป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก ป้องกันไม่ให้มดปลวกไปกัดทำลาย มีลักษณะเป็นศิลปะผสมระหว่างไทย พม่า และลาว กล่าวคือ ลักษณะอาคารเป็นแบบไทยเป็นเรือนฝาปะกน ขนาด 4 ห้อง ภายในห้องที่เก็บตู้พระธรรมทุกด้านเขียนลงรักปิดทอง ส่วนของหลังคามีลักษณะศิลปะไทยผสมพม่าคือมีช่อฟ้าใบระกา แต่หลังคาซ้อนกันหลายชั้นแสดงถึงอิทธิพลศิลปกรรมพม่าที่ส่งผ่านมายังศิลปะลาวล้านช้าง ส่วนลวดลายแกะสลักบนหน้าบันทั้ง 2 ด้าน เป็นลักษณะศิลปะแบบลาว ตรงส่วนฝาปะกนด้านล่างแกะเป็นรูปสัตว์ประจำราศีต่างๆ และลวดลายพันธุ์พฤกษาเป็นช่องๆ โดยรอบ นับเป็นหอไตรที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่ง

วัดหนองป่าพง

เป็นวัดที่มีบรรยากาศร่มรื่นเงียบสงบ เหมาะแก่การเล่าเรียนพระธรรมวินัย และปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อ พ.ศ. 2497 หลวงปู่ชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร) ได้ทำการบุกเบิกปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมแก่การปฎิบัติธรรม และได้จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นในปีนั้น และเปลี่ยนสภาพเป็นวัดในโอกาสต่อมา บริเวณวัดสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจคือ พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) เป็นอาคารที่จัดแสดงเครื่องอัฐบริขาร และหุ่นขี้ผึ้งของ หลวงปู่ชา สุภัทโท เปิดให้เข้าชม ตอนเช้า เวลา 10.30-12.00 น. ตอนบ่าย เวลา 14.00-18.00 น. และยังมีเจดีย์ศรีโพธิญาณ เป็นสถานที่พระราชทานเพลิงศพขอ งหลวงปู่ชา การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2178 ห่างจากตัวอำเภอไปประมาณ 6 กิโลเมตรมีทางแยกขวาอีก 2 กิโลเมตร [ รายละเอียดเพิ่มเติม : วัดหนองป่าพง ]

วัดป่านานาชาติ

ตั้งอยู่ที่บ้านบุ่งหวาย ห่างจากตัวเมืองไปตามเส้นทางจังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ 14 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 226 จะมีป้ายบอกทางขวามือ ทางเข้าเดียวกับวัดป่ามงคล วัดป่านานาชาติเป็นสาขาที่ 19 ของวัดหนองป่าพง ในวัดมีชาวต่างประเทศบวชจำพรรษาเป็นจำนวนมาก เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และปฏิบัติทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน พระภิกษุชาวต่างประเทศในวัดเกือบทุกรูปสามารถ พูดภาษาไทยได้สวดภาษาบาลีได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ทำให้เป็นที่เคารพศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป [ รายละเอียดเพิ่มเติม : วัดป่านานาชาติ ]

วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว

วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว  หรือนิยมเรียกกันว่า วัดเรืองแสง ตั้งอยู่ที่  อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี (ก่อนถึงด่านชายแดนช่องเม็ก 3 กิโลเมตร) เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง โดยจำลองสภาพแวดล้อมของวัดป่าหิมพานต์หรือเขาไกรลาศ  บริเวณบนยอดเขาจะมองเห็นพระอุโบสถสีปัดทองตั้งเด่นเป็นสง่า  จุดเด่นของวัดคือ การได้มาชมภาพเรืองแสงเป็นสีเขียวของของต้นกัลปพฤกษ์ที่เป็นจิตรกรรมที่อยู่บนผนังด้านหลังของอุโบสถในยามค่ำคืน ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการมาชมและถ่ายภาพคือ ตั้งแต่เวลา 06.00. - 19.30 น. ซึ่งหากโชคดีก็จะได้เห็นดวงดาวมากมายเต็มท้องฟ้าอีกด้วย  

Bird's Eye View : วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว อุบลราชธานี

แต่ภาพเรืองแสงนี้หากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเพียงเล็กน้อย จะไม่เห็นเป็นสีเขียวชัดเจนเท่ากับภาพที่ถ่ายด้วยกล้องถ่ายภาพ เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวบางท่านที่มาเก็บภาพความงดงามผ่านสายตาต้องเผื่อใจไว้เล็กน้อย [ อ่านเพิ่มเติม : วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ]

เห็นแล้วอึ้ง - มหัศจรรย์ต้นไม้เรืองแสง

ธรรมาสน์สิงห์ศิลปะญวนที่บ้านชีทวน

ตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 26 กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 23 (อุบลราชธานี-ยโสธร) ประมาณ 24 กิโลเมตร จะถึงบ้านท่าวารี (กม.268) มีทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าหมู่บ้านอีก 5 กิโลเมตร เป็นธรรมาสน์ที่แตกต่างจากธรรมาสน์โดยทั่วไปกล่าวคือ มีลักษณะเป็นรูปสิงห์ยืนเทินปราสาท (ตัวธรรมาสน์) สร้างด้วยอิฐถือปูน ยอดปราสาทเป็นเครื่องไม้ทำเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นประดับตกแต่งลายปูนปั้น และลายเขียนสีแบบศิลปะญวนทั้งหลัง ธรรมาสน์นี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2468 โดยช่างชาวญวน และถือเป็นประติมากรรมที่มีคุณค่ายิ่งทางด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง

ubon tammas sing chee tuan

แก่งสะพือ

เป็นแก่งหินที่สวยงามในแม่น้ำมูล ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิบูลมังสาหาร ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานี ตามทางหลวงหมายเลข 217 ประมาณ 45 กิโลเมตร คำว่า "สะพือ" เพี้ยนมาจากคำว่า "ซำฟืด" หรือ "ซำปึ้ด" ซึ่งเป็นภาษาส่วยแปลว่า งูใหญ่ หรืองูเหลือม เป็นแก่งที่มีหินน้อยใหญ่สลับซับซ้อน เมื่อกระแสน้ำไหลผ่านกระทบหิน เกิดเป็นฟองขาวมีเสียงดังตลอดเวลา ช่วงที่เหมาะสำหรับเที่ยวชมแก่งสะพือคือหน้าแล้ง ราวเดือนมกราคม-พฤษภาคม เพราะน้ำจะลดเห็นแก่งหินชัดเจนสวยงาม ส่วนหน้าฝนน้ำจะท่วมมองไม่เห็นแก่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จพระราชดำเนินมาชมแก่งนี้ 2 ครั้ง ริมฝั่งแม่น้ำมีศาลาพักร้อน และร้านขายสินค้าพื้นเมือง ในวันหยุดมีประชาชนมาเที่ยวพักผ่อนกันเป็นจำนวนมาก

เขื่อนสิรินธร

ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง 70 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 217 แยกขวาที่กิโลเมตร 71 ไปอีก 500 เมตร เป็นเขื่อนหินแกนดินเหนียว สร้างกั้นลำโดมน้อยอันเป็นสาขาของแม่น้ำมูล ตัวเขื่อนสูง 42 เมตร ยาว 940 เมตร อำนวยประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและการชลประทาน บริเวณริมทะเลสาบมีสวนสิรินธร ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ มีรูปปั้นและน้ำพุสวยงาม มีบริการบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย นนทบุรี โทร. 0 2436 3271-2 หรือ ที่เขื่อนสิรินธรโทร.0 4536 6081-3

เขื่อนปากมูล

เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียวสร้างกั้นแม่น้ำมูลที่บ้านหัวเหว่ อำเภอโขงเจียม มีความสูง 17 เมตร ยาว 300 เมตร อำนวยประโยชน์ในด้านการเกษตรและผลิตกระแสไฟฟ้า เขื่อนปากมูลอยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีประมาณ 75 กิโลเมตร ห่างจากจุดบรรจบของแม่น้ำมูล และแม่น้ำโขงประมาณ 6 กิโลเมตร กรณีเขื่อนเปิดทำการสันของเขื่อนปากมูล สามารถใช้เป็นเส้นทางลัดจากอำเภอโขงเจียมไปอำเภอสิรินธรได้

ubon pakmoon 2si

แม่น้ำสองสี

แม่น้ำสองสี หรือ ดอนด่านปากแม่น้ำมูล อยู่ในเขตบ้านเวินบึก นั่งเรือจากตัวอำเภอโขงเจียมไปประมาณ 5 นาที เป็นบริเวณที่แม่น้ำมูลไหลลงสู่แม่น้ำโขงเกิดเป็นสีของแม่น้ำที่ต่างกันจึงเรียกกันอย่างคล้องจองว่าโขงสีปูน มูลสีคราม จุดที่สามารถมองเห็นแม่น้ำสองสีได้อย่างชัดเจน คือ บริเวณลาดริมตลิ่งแม่น้ำมูล แม่น้ำโขงหน้าวัดโขงเจียม และบริเวณบางส่วนของหมู่บ้านห้วยหมาก ในเดือนเมษายน จะเป็นเดือนที่เห็นความแตกต่างของสีน้ำได้ชัดเจนที่สุด นอกจากนี้แล้ว บริเวณใกล้เคียงยังมีบริการเรือพาล่องชมทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำ หรือซื้อของที่ระลึก ที่ตลาดหมู่บ้านในฝั่งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีกด้วย

สามพันโบก

สามพันโบก หรือ แกรนด์แคนยอนน้ำโขง เป็นแก่งหินที่มี กุมภลักษณ์ หรือ หลุมบ่อที่อยู่ใต้ลำนำโขง ตั้งอยู่ในอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หลุมบ่อเหล่านี้เกิดจากการขัดสีของก้อนหิน ก้อนกรวด หรือเม็ดทรายที่น้ำพัดพามากักอยู่ในแอ่งน้ำวน และกัดเซาะจนกลายเป็นหลุมบ่อมากกว่า 3,000 หลุม โดยในช่วงฤดูแล้งที่น้ำแห้งแก่งหินดังกล่าวก็จะโผล่พ้นน้ำ คล้ายผู้เขากลางลำน้ำโขง แก่งหินสามพันโบก เป็นกลุ่มหินทรายแนวเทือกเขาภูพานตอนปลายที่ทอดตัวยาวริมฝั่งโขงไทยและลาว สายน้ำแคบและเป็นคุ้งน้ำ ริมฝั่งโขงบริเวณนี้เป็นกลุ่มหินที่เรียงตัวทอดยาวเป็นสันดอนขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า 30 ตารางกิโลเมตร ผาหินบริเวณโค้งด้านหน้ารับแรงน้ำที่ไหลจากตอนบน ก่อเกิดประติมากรรมธรรมชาติที่งดงาม ทั้งนี้คำว่า "โบก" เป็นภาษาลาวที่ใช้เรียกบ่อน้ำลึกในแก่งหินใต้ลำน้ำโขง [ อ่านเพิ่มเติม : สามพันโบก ]

อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ

มีพื้นที่ประมาณ 50,000 ไร่ ในเขตอำเภอสิรินธรและอำเภอโขงเจียม ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงและเนินเขาเตี้ยๆ สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าแพะหรือป่าแดง ต้นไม้ในป่ามีลักษณะแคระแกรน บางส่วนเป็นทุ่งหญ้า ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูลบริเวณแก่งตะนะ การเดินทางสามารถไปได้สองเส้นทางคือ ใช้ทางหลวงหมายเลข 217 (อุบลราชธานี-พิบูลมังสาหาร-ช่องเม็ก ประมาณ 75 กิโลเมตร) แล้วแยกซ้ายไปตามเส้นทาง 2173 อีก 13 กิโลเมตร ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งคือใช้ทางหลวงหมายเลข 2222 ผ่านอ.โขงเจียมประมาณ 4 กิโลเมตร แล้วข้ามแม่น้ำมูลไปอีก 12 กิโลเมตร หรืออาจใช้เส้นทางที่ข้ามสันเขื่อนปากมูลก็ได้ (กรณีที่เขื่อนเปิด)

อุทยานแห่งชาติผาแต้ม

ผาแต้มและผาขาม เป็นหน้าผาสูงที่สวยงามตามธรรมชาติ บริเวณด้านล่างของหน้าผามีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ปรากฏเรียงรายอยู่เป็นระยะ มีอายุไม่ต่ำกว่าสามพันถึงสี่พันปี ทางอุทยานฯ ได้ทำทางเดินจากหน้าผาด้านบนลงไปชมภาพเขียนสีเหล่านี้ที่หน้าผาด้านล่าง ระยะทางประมาณ 500 เมตร ภาพเขียนจะอยู่บนผนังหน้าผายาวติดต่อกันประมาณ 170 เมตร ซึ่งเป็นมุมต่ำกว่า 90 องศา มีภาพทั้งหมดประมาณ 300 ภาพ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ สัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้ สัญลักษณ์ และคน ด้านตรงข้ามผาแต้มคือ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นจุดชมวิวที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจ จะชมพระอาทิตย์ขึ้นก่อนที่แห่งใดในประเทศไทย เช่นเดียวกันกับที่หมู่บ้านเวินบึก ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงไม่ไกลจากบริเวณแม่น้ำสองสีมากนัก ซึ่งทุกวันนี้จะมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

ubon patam

ผาชะนะได

ผาชะนะได เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นแห่งแรกของประเทศไทย เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศไทย และตามแนวหน้าผาบนภูเขาที่ทอดยาวขนานไปตามลำน้ำโขง นับเป็นจุดขมวิวทิวทัศน์ที่สามารถมองเห็นลำน้ำโขง และภูเขาสูงทะมึนสลับซับซ้อน ที่ปกคลุมไปด้วยป่าเขียวขจีของฝั่งลาวได้ รวมทั้งเป็นจุดชมทะเลหมอกที่สวยงามแห่งหนึ่งของเมืองไทย ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม ‘และได้ชื่อว่าเป็นจุดบอกพิกัดตะวันขึ้นของประเทศไทยทุกเช้า ความพิเศษของสถานที่เที่ยวแห่งนี้เป็นไปตามคำขวัญที่รู้จักกันทั่ว คือ “รับตะวันก่อนใครในสยาม” ที่ “ผาชะนะได” โดยบนหน้าผาที่ยื่นผงาดฟ้าปกคลุมด้วยป่าสนสองใบ เมื่อมองทะลุทิวสนจะเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนตัดกับเส้นขอบฟ้า และแสงตะวันอย่างสวยงามยิ่งนัก

ชวนเที่ยวผาชะนะได พบตะวันก่อนใครในสยาม

อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย

มีพื้นที่ประมาณ 686 ตารางกิโลเมตร ในเขตอำเภอบุณฑริก อำเภอนาจะหลวย และอำเภอน้ำยืน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาวและกัมพูชาหรือที่เรียกว่า สามเหลี่ยมมรกต พื้นที่เป็นภูเขาในเทือกเขาพนมดงรัก สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2530

ในอุทยานและบริเวณใกล้เคียงมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อยู่มาก เหมาะสำหรับท่านที่ชอบเดินป่า ดูนก สำรวจพันธุ์พืช กล้วยไม้สวยงาม มีน้ำตกหลายแห่ง เช่น น้ำตกห้วยทรายใหญ่ ชมสิ่งมหัศจรรย์ "กุ้งเดินพาเหรด" ที่แก่งลำดวนในช่วงเดือนกันยายน และอื่นๆ อีกมากมาย

[ เรื่องที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์จังหวัดอุบลราชธานี | แผนที่จังหวัดอุบลราชธานี | เอกสารการท่องเที่ยว | อุบลราชธานี : เที่ยวไหนดี ]

10 ที่เที่ยวอุบลราชธานี - ชิลไปไหน

แนะนำให้ท่านชม : ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองดอกบัว อุบลราชธานี ชุดที่ 1ชุดที่ 2 | ชุดที่ 3 | ชุดที่ 4 new1234

 kung parade 3

redline

 

นอกจากรายละเอียดในแต่ละจังหวัดแล้ว ภาคอีสานยังมีสาระความรู้มากมายทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ชนเผ่าไทยในอีสาน ศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง และอื่นๆ อีกมาก หาความรู้เพิ่มเติมได้จากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องด้านล่างนี้

รู้จักภาคอีสานของไทย | ชาติพันธุ์เผ่าไทยในอีสาน | ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน | ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)