foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

preparing2rain

ขียนบทความนี้ในขณะดูข่าว "น้ำท่วม" ในหลายพื้นที่ภาคอีสาน จากอิทธิพลของพายุ "โพดุล" ที่กระหน่ำเป็นบริเวณกว้างหลังจากผจญภัยแล้งมานานนับเดือน ทำให้ผมมองปัญหานี้ด้วยความคิดต่างออกไปมากว่า "ทำไม? ในช่วงหน้าร้อน แล้ง ขาดน้ำ เราไม่จัดการปัญหานี้ด้วยการระดมสรรพกำลังที่มีอยู่จากทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐที่มีหน้าที่เช่น หน่วยงานชลประทาน ทรัพยากรน้ำ หน่วยงานท้องถิ่น (อบจ. อบต. เทศบาล) หน่วยงานทหารที่มีกำลังพลทหารช่างมากมาย มาช่วยกันขุดลอกแหล่งน้ำ คู คลอง แม่น้ำ ทางระบายน้ำทั้งในเขตเมือง หมู่บ้าน ให้สามารถรองรับน้ำที่จะมาจากฝนไว้ใช้ประโยชน์ ช่วยระบายน้ำลงไปยังแก้มลิงที่ได้ตระเตรียมไว้ เพื่อการป้องกันน้ำท่วมไม่ให้เกิดขึ้น หรือแม้จะเกิดขึ้นก็ไม่รุนแรง ระบายได้เร็วที่สุด"

โพดุล (เกาหลี: 버들, อักษรโรมัน: Podul) เป็นชื่อในรายชื่อพายุหมุนเขตร้อนในชุดที่ 2 ของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ ส่งโดยประเทศเกาหลีเหนือ
คำว่า "โพดุล" ในภาษาเกาหลีหมายถึง ไม้ต้นชนิดต่างๆ ในสกุลสนุ่นและหลิว "

อิทธิพลจากพายุโซนร้อนโพดุล ที่เคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย บริเวณจังหวัดนครพนม ในช่วงเช้าวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ทำให้เกิดฝนตกหนักทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนผลกระทบน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัย ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม - 1 กันยายนนี้

flood ubon
สถานการณ์น้ำท่วมอุบลราชธานี - ยโสธร 23 กันยายน 2562

"พายุโพดุล" ลดกำลังลงจากระดับ 3 (โซนร้อน) สู่ระดับ 2 (ดีเปรสชัน) ขณะเข้าสู่จังหวัดสกลนคร และอยู่บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนเข้าสู่ จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู และจังหวัดเลย และอ่อนกำลังลงตามลำดับ

ทั้งนี้ประเทศไทยเรายังโชคดีกว่าเวียดนามที่ตอนพายุ "โพดุล" ขึ้นฝั่งได้รับความแรงลมไปเต็มๆ ทิศทางโพดุล หลังจากขึ้นฝั่งที่เวียดนามมีความเร็วลดลงจาก 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหลือ 65 กิโลเมตร แต่ยังมีอิทธิพลทำให้เกิดฝนตกหนักกระจายไปทั่วภาคอีสาน จนทำให้หลายจังหวัดมีรายงานน้ำท่วมแล้ว เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น

roi ed flood
น้ำท่วมโรงเรียนอนุบาลโพนทอง อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งไม่เคยเกิดมานานนับสิบปี

เรื่องนี้คงไม่ต้องถามหาเจ้าภาพครับ ให้ทุกภาคส่วนทั้งประชาชน องค์การแกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานต่างๆ มาช่วยกันร่วมคิดร่วมทำ อย่าดูดายธุระไม่ใช่ เพราะเมื่อมีเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นความทุกข์ยากย่อมบังเกิดกับทุกผู้คน ไม่มากก็น้อย ไม่โดนเองแต่ก็ต้องออกไปช่วยเหลือตามบทบาทหน้าที่อยู่แล้ว ดังเช่นภาพที่เห็นในช่วงนี้นั่นเอง

khonkhan flood 01
การช่วยเหลือประชาชนประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดขอนแก่น

หลายคนบอกไม่มีทุน ไม่มีแรงจะทำขนาดนั้น บอกได้เลยว่า "ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่เกินกำลังครับ แค่ ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่เอาแต่บ่น ช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมรอบตัว กำจัดขยะให้ถูกวิธี ช่วยกันปลูกต้นไม้คนละต้น หลายพื้นที่ฝนเริ่มซา ดินยังชุ่มน้ำมาช่วยกันปลูกต้นไม้กันครับ"

forest4life
"จงเป็นคนบ้าผู้น่ารัก" ด้วยการปลูกต้นไม้กันดีกว่าครับ ป่าคือชีวิต

การแก้ปัญหาภัยแล้ง/น้ำท่วมด้วย "ธนาคารน้ำใต้ดิน"

น้ำมีชีวิต คือ พระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 หรือ พ่ออยู่หัว พ่อหลวงของเรา ท่านเคยตรัสไว้ จริงๆ นะครับ "น้ำ" มีชีวิตเหมือนกันกับคนเรา มีเกิด มีแห้ง มีหมด เป็นเหมือนกัน ถึงแม้ว่าในโลกของเราน้ำจะมีอยู่จำนวนมหาศาล แต่ก็มีวันหมดเป็นเหมือนกัน ถ้าไม่เก็บไม่กักน้ำไว้บ้าง

น้ำมีชีวิต มีน้ำที่ไหนมีคนที่นั่น น้ำก็หมดเป็นเหมือนกัน ถ้ามีแต่การนำมาใช้อย่างเดียว ไม่หามาเพิ่มมาเติม เราจึงควรมาทำการฝากน้ำไว้กับดิน สร้างตาน้ำใหม่ให้มีน้ำใช้ตลอดปีกันดีกว่า ธนาคารในความหมายที่คนทั่วไปรู้จักคือมีไว้ฝากไว้ถอนเงิน แต่ "ธนาคารน้ำใต้ดิน" ก็คือ การฝากน้ำไว้ใต้ดิน เมื่อต้องการใช้ก็ถอนมาใช้ มาดูกันว่า ธนาคารน้ำใต้ดิน คืออะไร ทำกันแบบไหนถึงจะได้มีน้ำฝากไว้ใต้ดิน

มีคำถามตามมาว่า "ธนาคารน้ำใต้ดิน" กับ "น้ำบาดาล" เหมือนกันหรือเปล่า? นี่คือความสงสัยของคนส่วนใหญ่ที่มักจะถามกันเสมอ คำตอบคือ น้ำบาดาล กับ ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นแนวทางเดียวกัน คือ อยู่ใต้ดินหรือพื้นพิภพเหมือนกัน แต่... น้ำบาดาล คือ น้ำที่เขาขุดเจาะน้ำบาดาลมาใช้ดื่ม ใช้กิน ใช้ประโยชน์กันทั่วไป แต่ ธนาคารน้ำใต้ดิน คือ การนำน้ำไปฝากไว้ใต้ดิน เมื่อต้องการนำมาใช้ก็ทำการเบิกถอนมาใช้ เช่น ในช่วงหน้าแล้งก็ต้องทำการนำน้ำใต้ดินที่ฝากไว้กับธนาคารน้ำใต้ดิน สูบขึ้นมาใช้นั่นเอง น้ำบาดาลนั้นมีอยู่ทั่วโลก ขุดเจาะมาใช้กันจำนวนมากจนเกิดภัยแล้งขึ้นมา เพราะไม่มีการเติมน้ำลงไปหรือเก็บกักน้ำไว้ในใต้ดิน มีแต่สูบขึ้นมาใช้โดยไม่มีการเพิ่มน้ำลงไป จนเกิดปัญหาตามมา เช่น แผ่นดินยุบเป็นโพรง น้ำในห้วย หนอง คลอง บึง แม้น้ำลดระดับลงจนแห้งขอด น้ำบาดาลที่เคยมีอยู่ในระดับตื้นๆ ก็นับวันจะเหือดแห้งลดลงจนสูบขึ้นมาไม่ได้

bor nam badarn
ใครเคยทันบ่อสูบน้ำบาดาลทรงไหนบ้าง คนอีสานแท้ๆ ต้องเคยเห็นเคยใช้งานมาก่อน

โดยวิถีธรรมชาติแล้ว เมื่อมีฝนตกลงมาน้ำก็จะซึมลงไปใต้ดินอยู่แล้ว และเมื่อมีการขุดเจาะน้ำบาดาลมาใช้กันจำนวนมาก ก็จะทำให้น้ำในบาดาลลดน้อยลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะเกิดภาวะภัยแล้งอย่างยั่งยืนถาวร เพราะฉะนั้นวิธีแก้ก็คือเราต้องเติมน้ำลงไปทดแทน หากเรานำน้ำบาดาลจากธรรมชาติมาใช้ เราก็ต้องเติมน้ำให้มากกว่าที่ธรรมชาติเติมลงไปให้ได้ ก็คือเราต้องขุดบ่อลงไปเพื่อเติมน้ำหรือฝากน้ำไว้ในดิน หรือหาช่องทางให้น้ำจากธรรมชาติไหลลงไปใต้ดินมากขึ้น โดยไม่ให้น้ำหลากจนเกิดน้ำท่วมอย่างที่เห็นในวันนี้

ธนาคารน้ำใต้ดิน มี 2 รูปแบบ คือ

  1. ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด สำหรับใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร เพื่อการอุปโภคบริโภคและภาคอุตสาหกรรมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
  2. ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ใช้แก้ไขปัญหาการระบายน้ำ น้ำเน่าเสียทั้งในครัวเรือนและพื้นที่การเกษตร

ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด

ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด มีหลักการสำคัญคือ พยายามเก็บน้ำไว้ใต้ดิน ทะลุชั้นดินเหนียวถึงชั้นหินอุ้มน้ำที่ต่อเชื่อมกับชั้นน้ำบาดาล วิธีนี้จะเก็บน้ำได้ปริมาณมาก เพราะสามารถกระจายน้ำไปได้ทั่วโดยไม่มีขีดจำกัด ระบบนี้สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้จากบ่อกักเก็บ หรือจากการสูบน้ำจากบ่อบาดาล วิธีนี้เหมาะสมกับพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากสามารถสูบน้ำจากบ่อมาใช้ได้โดยไม่หมด เมื่อปริมาณน้ำลดลงน้ำจากใต้ดินก็จะซึมซับกลับเข้ามาเติมเต็ม ทำให้ปริมาณน้ำในบ่อมีน้ำอย่างสม่ำเสมอ ที่ผ่านมามักเลือกทำบ่อระบบเปิดโดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำเค็มได้ด้วย

วิธีการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด คือ การขุดบ่อน้ำหรือสระน้ำ ให้ได้ความลึกทะลุผ่านชั้นดินเหนียวถึงชั้นหินอุ้มน้ำ เพื่อให้หินอุ้มน้ำสามารถดูดซับน้ำลงสู่ชั้นใต้ดิน ขนาดของบ่อหรือสระจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และลักษณะการใช้ประโยชน์ของน้ำจากบ่อ ระดับความลึกของการขุดบ่อในแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากัน จะขึ้นอยู่กับสภาพดินและชั้นหิน ซึ่งโดยหลักการให้เป็นไปตามหลักอุทกธรณีวิทยา แต่ต้องขุดลึกให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ

open water bank 01
ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิดที่ได้ผลดี ต้องมีการปลูกต้นไม้ให้เป็นป่าโดยรอบเพื่อช่วยในการดูดซึมน้ำและรักษาความชุ่มชื้น

จากต้นแบบระบบบ่อเปิด จะทำการขุดบ่อลงไปให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ โดยประมาณความลึก 7-15 เมตร เช่น การขุดบ่อเปิดในลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีขนาดความกว้าง 25 เมตร ยาว 40 เมตร ลึก 7-12 เมตร หรือการขุดบ่อเปิดในลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัส ให้มีขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร ลึก 7-12 เมตร

แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ ลักษณะการขุดสระต้องให้มีความลาดชัน 45 องศา ปากบ่อกว้างกว่าก้นบ่อ การขุดบ่อในลักษณะลาดชันเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่จะช่วยให้น้ำในบ่อไหลลงสู่ก้นบ่อ โดยมีแรงกดของมวลน้ำลงไปยังชั้นหินอุ้มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้น้ำไหลซึมลงสู่หินอุ้มน้ำได้อย่างรวดเร็ว โดยการขุดบ่อระบบเปิดนี้ไม่ควรปั้นดินรอบๆ บ่อ (คันคูรอบบ่อ) เพราะจะส่งผลกีดขวางทางน้ำที่จะไหลลงสู่บ่อ ทั้งนี้รูปแบบและขนาดของบ่อต้องออกแบบตามบริบทด้านภูมิศาสตร์ของพื้นที่ คำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่และการใช้ประโยชน์ การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบบ่อเปิดควรเป็นการขุดบ่อใหม่ ไม่ใช่การปรับสระน้ำเก่าที่มีอยู่เดิม การวางตำแหน่งของบ่อใหม่ควรจะต้องให้ตั้งฉาก หรือขนานกับทิศตามแนวทิศเหนือ-ใต้ และทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก เพราะจะช่วยให้การเติมน้ำลงชั้นใต้ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อาจต้องใช้งบประมาณสูง เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางการปรับสภาพบ่อเดิม หรือสระน้ำเดิม ให้สามารถใช้งานได้ตามระบบธนาคารน้ำใต้ดิน

โดยหลักการแล้ว การขุดบ่อระบบเปิดที่จะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต้องทำเป็นกลุ่มบ่อ อย่างน้อย 3 บ่อ โดยแต่ละบ่ออยู่ห่างกันประมาณ 1,000 - 1,500 เมตร บ่อเปิดของธนาคารน้ำใต้ดินจะมีหน้าที่เติมน้ำลงดินในระดับชั้นหินอุ้มน้ำ เพื่อให้น้ำที่เติมลงไปสามารถเชื่อมประสานเสริมซึ่งกันและกันในระหว่างบ่อที่ขุดไว้ทั้ง 3 บ่อ เป็นการกระจายน้ำลงใต้ดินให้ทั่วถึงกันในระดับชั้นหินอุ้มน้ำ นั่นเอง

open water bank 02
รอบขอบบ่อควรปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยกรองน้ำและกันดินพังทะลายลงในบ่อได้อีกด้วย

และในขณะเดียวกัน น้ำจากใต้ดินก็จะซึมผ่านขึ้นมา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในบ่อหรือสระให้มีน้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ให้แห้ง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้โดยตรง ทั้งนี้ หากมีการออกแบบบ่อเปิดอย่างเหมาะสม ตามระบบบริหารจัดการน้ำของธนาคารน้ำใต้ดิน จะช่วยเสริมให้น้ำในบ่อหรือสระน้ำมีเพียงพอตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง จะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างแน่นนอน ขอแนะนำอีกประการหนึ่งของการขุดบ่อเปิดคือ รอบปากบ่อควรปลูกหญ้ารอบๆ บ่อ เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดินและเป็นการกรองน้ำที่ไหลลงบ่อหรือสระน้ำด้วย (หญ้าแฝกที่พ่อหลวงทรงแนะนำไว้ดีที่สุด)

หากพื้นที่ใดมีบ่อเดิมหรือบ่อเก่า ก็สามารถประยุกต์มาเป็นธนาคารน้ำใต้ดินระบบบ่อเปิดได้เช่นเดียวกัน โดยทั่วไปบ่อเก่ามักจะขุดดินแค่ถึงระดับดินอ่อน หรือชั้นดินเหนียว ทำให้บ่อหรือสระดังกล่าวขาดประสิทธิภาพในการเพิ่ม หรือเติมน้ำตามแนวทางธนาคารน้ำใต้ดิน จึงมักพบปัญหาน้ำแห้งในหน้าแล้ง สามารถแก้ไขได้โดยขุดบ่อขนาดเล็กลึกลงไปประมาณ 1-3 เมตร ในพื้นที่ก้นบ่อหรือสระน้ำเดิม (ตามภาพประกอบด้านล่าง) ขุดให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ จำนวน 3 บ่อ ให้ขนานกับทิศ และให้ 3 บ่อดังกล่าวอยู่ในรูปแบบสามเหลี่ยม ตามหลักทิศทางการหมุนรอบตัวเองของโลก บ่อขนาดเล็กทั้ง 3 บ่อ จะทำหน้าที่ในการนำน้ำที่เหลือใช้ในช่วงฤดูฝน ลงไปเก็บไว้ในชั้นหินอุ้มน้ำและหล่อเลี้ยงระดับน้ำในชั้นใต้ดิน เมื่อถึงช่วงฤดูแล้ง น้ำในชั้นใต้ดินก็จะซึมขึ้นมา ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในบ่อหรือสระเดิมไม่ให้แห้ง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในช่วงฤดูแล้ง และสิ่งสำคัญคือต้องปรับพื้นที่รอบปากบ่อให้มีมุมเอียง 45 องศา ถ้ามีขอบสระสูงจะต้องปรับให้ราบหรือมีทางให้น้ำไหลลงบ่อได้โดยง่าย

open water bank 03
ปรับขอบสระให้มีความลาดชัน 45 องศา และขุดบ่อเป็นหลุมลึกลงไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำ 3 หลุม

ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด

ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญของการทำธนาคารน้ำใต้ดินให้สมบูรณ์ เพราะธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดมีหน้าที่ในการเติมน้ำลงดิน โดยนำน้ำที่มีบนดินลงสู่ใต้ดินอย่างรวดเร็ว เพราะโดยทั่วไป น้ำที่อยู่บนผิวดินกว่าจะซึมซับลงในชั้นดินแต่ละชั้นต้องใช้เวลามาก เนื่องจากชั้นผิวดินมีอากาศแทรกอยู่ ทำให้การซึมซับน้ำลงดินได้ช้า

การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เป็นการเปิดช่องผิวดิน เพื่อการเติมน้ำลงใต้ดินโดยตรงในระดับบนสุดของเปลือกโลกชั้นผิวดิน โดยน้ำที่เติมลงสู่ใต้ดินเป็นน้ำเหลือใช้ และน้ำที่เกินจากความต้องการ เช่น น้ำฝน ที่ตกลงมาบนพื้นดินจำนวนมากเกินกว่าที่บ่อใช้รองรับน้ำฝนได้ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง หากสะสมนานจะกลายเป็นน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ หรือสุขภาพของผู้คนในชุมชน

หลักการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด คือ การเก็บน้ำไว้ใต้ดิน แต่ไม่ทะลุชั้นดินเหนียวลงไปสู่ชั้นหินอุ้มน้ำ โดยมีเป้าหมายสร้างความชุ่มชื้นให้กับดิน แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง ลดการไหลบ่าของน้ำ และแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย การเก็บน้ำด้วยวิธีนี้ จะไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้โดยตรง แต่กรณีพื้นที่ใกล้เคียงกับระบบปิดนี้มีบ่อน้ำตื้นหรือบ่อน้ำซับ ความชุ่มชื้นของดินจะส่งผลทำให้น้ำในบ่อดังกล่าวมีปริมาณน้ำมากขึ้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือในบางพื้นที่สามารถขุดบ่อน้ำตื้นได้ในระดับไม่เกิน 2-3 เมตร อาจจะมีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี

close water bank 01
ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ควรขุดมีความกว้างอย่างน้อย 2 เมตร ลึกตั้งแต่ 2-10 เมตรจนถึงชั้นหินอุ้มน้ำ กรุด้วยหิน กรวด ทราย เป็นชั้นๆ

การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด สามารถทำได้ทั้งในพื้นที่ที่เป็นชุมชนเมือง และในชนบท เนื่องจากปัจจุบันชุมชนเมืองขยายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน และถนนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่ระดับต่ำกว่าเกิดความเสียหายในเรื่อง เกิดน้ำท่วมขัง การระบายน้ำ หรือน้ำเน่าเสีย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะช่วยลดปัญหาน้ำเสียที่ท่วมขังในชุมชนเมือง

ขณะเดียวกันแนวคิดนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและปัญหาขาดแคลนน้ำ หรือสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่เกษตรกรรมได้อีกด้วย ปกติแล้วพื้นที่การเกษตรแต่ละปีมักจะมีฝนตกอยู่ 5-6 เดือน ในพื้นที่ 1 ไร่ จะรับน้ำฝนที่ตกลงมาได้ราว 2,500 ลูกบาศก์เมตร น้ำฝนที่ตกจากที่สูงไหลลงพื้นที่ต่ำ พื้นที่สูงจึงไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ ขณะที่พื้นที่ต่ำกลายเป็นแหล่งรวมน้ำฝน จนเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดในพื้นที่การเกษตร จึงช่วยเก็บน้ำส่วนเกินลงสู่ใต้ดิน นอกจากลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่การเกษตรอีกด้วย

close water bank 02
หลุม Recharge Shaft เติมน้ำของชาวอินเดีย

ประเทศที่มีการเติมน้ำเทียมมาช้านาน และตื่นตัวมากด้านน้ำบาดาลที่สุดในโลก คือ ประเทศอินเดีย เพราะประชากรที่มีมากถึง 1.35 พันล้านคน และมีหน้าแล้งที่แย่เอามากๆ สิ่งที่ในไทยกำลังมีการทำกันโดยการขุดหลุม ดังในรูปข้างบนนี้ คนอินเดียเขาทำมาก่อนโดยเรียกว่า recharge shaft โดยมีการทำมาตั้งแต่ปี 2005 หรือก่อนหน้า โดยช่วงก่อนนั้น เมือง Coimbatore ประสบภัยแล้งหนัก ปรากฏว่าได้ผลดี และทุกวันนี้ เมืองนี้เมืองเดียวก็มี recharge shaft ถึง 600 หลุม (ถามว่า ต้องทำมากขนาดไหนถึงได้ผลดี เทียบกับจำนวนประชากรในพื้นที่ที่ใช้น้ำ) ระดับน้ำบาดาลเพิ่มมากขึ้นถึง 34 เมตร (110 ฟุต) ในเวลา 10 ปี แต่ขอเน้นว่า จะเห็นว่าหลุมเขาค่อนข้างกว้างและลึกพอควร

วิศวกรอินเดียแนะนำว่า หลุม recharge shaft นี้ ควรมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตรขึ้นไป และทั่วไปลึก 2-3 เมตร ขึ้นไป และควรขุดเจาะจนกว่าจะถึงชั้นที่มีช่องว่างใต้ดินมาก/porous เช่น ชั้นทราย หรือชั้นหินที่มีรอยแตกมาก จนบางครั้งต้องลึกถึง 10 เมตร ทั้งนี้ ในอินเดียนั้น เขาเน้นที่จะใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น กรวด หิน ทราย เท่านั้น (ไม่มีการใช้วัสดุสังเคราะห์ เช่น ยางรถยนต์ ขวดพลาสติก อย่างบ้านเรา) วิธี recharge แบบนี้ประหยัด และวิศวกรเขากล่าวว่า วิธีนี้เหมาะกับการที่ชั้นอุ้มน้ำได้อยู่ใน "ระดับตื้น" เราจะรู้ได้ไงว่าอยู่ในระดับตื้นหรือลึก นอกจากประวัติบ่อน้ำบาดาลต่างๆ ที่ขุดใช้ในพื้นที่จะเป็นตัวบอกได้บ้าง

ทั้งในอินเดียและในอเมริกา หน่วยงานต่างเน้นย้ำกันว่า ก่อนทำ “การเติมน้ำเทียม” ที่มีหลายวิธีนั้น โดยเฉพาะทำเยอะๆ ในพื้นที่ เราควรรู้ลักษณะของชั้นหิน/ดินต่างๆ ใต้ดินอย่างดีเสียก่อน ซึ่งเรียกว่า “การทำธรณีฟิสิกส์สำรวจใต้ผิวดิน” ที่ผ่านมากรมทรัพยากรธรณีของไทยก็ทำบ้างในบางพื้นที่ แต่กรมนี้ก็ยังขาดงบประมาณอีกมาก แต่ปัจจุบันก็มีเอกชนรับจ้างทำสำรวจใต้ผิวดินในไทย (ลิ้งค์ข้างล่าง พร้อมๆ กับรับขุดเจาะบ่อบาดาล) วิธีนี้ยังทำให้เรารู้ได้ว่าระดับน้ำบาดาลถูกถลุงใช้ไปจนต่ำแค่ไหน และจะคุ้มแก่การลงทุนโครงการ recharge ไหม

close water bank 03
การปิดปากหลุมด้วยหินขนาดเล็กเพื่อให้มีช่องรูพรุนสำหรับเติมน้ำให้ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด

แต่ช้าก่อน…!!! การเติมน้ำเทียมแบบวิธีนี้นั้น ไม่ว่าจะในอินเดีย อเมริกา หรือยุโรป สิ่งที่เขาเน้นย้ำนักหนาก็คือ เราต้องมั่นใจได้ว่า "น้ำที่ไหลหลากมาเติมลงหลุมนั้น ไม่ได้ปนเปื้อนสารเคมีและสิ่งปฏิกูล เช่นจาก ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ย ขยะโรงงาน หลุมฝังกลบขยะ น้ำเน่า ปุ๋ยหมัก บ่อเกรอะ" เพราะในกระบวนการ recharge ตามธรรมชาตินั้น ชั้นดิน (เช่น ดินเหนียว ดินทราย) จะช่วยกรองสารเคมี แบคทีเรีย ฯลฯ แต่ในเมื่อเราเอาดินในบ่อ shaft ออกไปตั้งหลายเมตร เพื่อให้น้ำหลากจากฝนไหลลงชั้นอุ้มน้ำได้โดยตรง (ผ่านหินกรวด หรืออะไรที่มีช่องว่างมาก เช่น คนไทยเอาขวดพลาสติก ล้อยาง ยัดๆ ลงหลุม) เราจึงขาดการกรองโดยธรรมชาติ (soil infiltration) ในชั้นดินเหล่านี้ที่หายไป ในบางครั้งการทำ recharge shaft นั้น หากลึก 5-10 เมตร คนอินเดียจึงคั่นชั้นกรวดหิน ด้วยชั้นดิน ชั้นทราย และใบไม้หนาๆ เป็นเมตร เพื่อช่วยกรองได้บ้าง

ถ้าจะทำให้ได้ผลเหมือนอย่างที่มีต้นแบบในประเทศอินเดีย จะต้องทำหลุมขนาดใหญ่ที่กักเก็บน้ำได้ ควรมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตรขึ้นไป และลึก 2-3 เมตรหรือจนถึงระดับที่ดินมีรูพรุน เช่น เป็นชั้นหินทราย เพื่อให้ส่งน้ำลงไปถึงชั้นน้ำบาดาลใต้ดินได้ ....ตัวหลุมเองก็ต้องทำด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่นหินกรวด ทราย ไม่ใช่ขยะอย่างยางรถยนต์ หรือขวดพลาสติก ซึ่งเมื่อสลายตัว ก็จะเป็นการส่งสารที่อาจเป็นอันตรายลงไปในน้ำด้วย

close water bank 04
ธนาคารน้ำใต้ดินที่หลายๆ หน่วยงานจัดทำมันได้ผลดี แต่ในอนาคตน่าจะมีปัญหาจากการเสื่อมสลายของสารเคมีในยางและขวดพลาสติก

นอกจากนั้น ยังต้องผ่านการทดสอบวิเคราะห์ก่อนว่า น้ำผิวดินที่จะลงไปในหลุม เป็นน้ำที่สะอาดจริง ไม่ได้มีสารที่เป็นอันตราย ทั้งปุ๋ย ยากำจัดแมลง และน้ำเสียอื่นๆ ลงไปด้วย เพราะจะยิ่งลงไปสะสมในชั้นน้ำบาดาล และเมื่อสูบขึ้นมาใช้ ก็จะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ นั่นคือ ธนาคารน้ำใต้ดินแบบปิดควรอยู่ห่างจากส้วม บ่อเกรอะ บ่อซึม บ่อบำบัดน้ำเสียพอสมควร

ขอบคุณข้อมูลเชิงวิชาการจาก ดร. ไพลิน ฉัตรอนันทเวช  วิศวกรแหล่งน้ำ/ชลศาสตร์

แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม

 

 

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)