foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

attalak isan

ปราสาทหิน

ปราสาทหิน เป็นศิลปะของชนชาติขอมหรือเขมร ซึ่งได้แผ่อิทธิพลเข้ามาเหนืออาณาจักรทวารวดีในดินแดนอีสาน ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ศิลปะเขมรเกิดขึ้นภายใต้อิทธิพลศิลปะอินเดีย ในภาคอีสานพบศิลปะเขมรหลายแห่งและหลายยุคสมัย คือ กำแพงพระ พระโค บาแค็ง เกาะแกร์ บาปวน นครวัด และบายน จึงอาจกล่าวได้ว่า อารยธรรมเขมรมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต คติความเชื่อ และการสร้างศาสนาคารในอีสานอย่างยิ่ง

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม วัสดุที่ใช้สร้างปราสาท ได้แก่ อิฐ ศิลาแลง หินทราย และไม้ เป็นเทวสถานที่คงทนอยู่ได้นาน ฝีมือการแกะสลักหินเป็นงานชั้นครู

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและเป็นสัญลักษณ์ในการปกครองของเทวราชาที่กษัตริย์เป็นสมมติเทพ

ปราสาทหินพนมรุ้ง

ปราสาทหินถิ่นอีสาน

ปราสาทเขมร หรือ ปราสาทขอม เป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ ที่สร้างขึ้นโดยอาณาจักรเขมร ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เป็นต้นมา พบมากในประเทศกัมพูชา และในเขตอีสานใต้ของประเทศไทย ปราสาทขอมก่อสร้างด้วยวัสดุอิฐ หินทราย และศิลาแลง ด้วยศิลปะเขมร

จากหลักฐานทางโบราณคดีทำให้ทราบว่า ชนชาติเขมรเริ่มรวมตัวเป็นอาณาจักรหรือรัฐ มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 โดยพัฒนามาจากเมืองท่าที่ติดต่อค้าขายกับอินเดีย มีความเจริญภายใต้พื้นฐานของอารยธรรมอินเดีย ใช้ชื่อว่า อาณาจักรฟูนัน มีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง (เวียดนามตอนใต้) และแม่น้ำโขงตอนใต้ (กัมพูชา) จนถึงบางส่วนในบริเวณของภาคอีสานตอนใต้ของประเทศไทย โดยมีเมืองออกแก้ว (ตะวันออกเฉียงใต้ของเวียดนาม) เป็นเมืองท่าในการติดต่อค้าขาย และมีราชธานีนามว่า “วยาธปุระ” ใกล้เขาบาพนมในประเทศกัมพูชา

ต่อมาในปี พ.ศ. 1350 พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้ยกทัพขึ้นมาประกาศเอกราชจากอาณาจักรชวา และยังรวมอาณาจักรเจนฬาบกและเจนฬาน้ำที่แตกแยกเข้าด้วยกัน สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับอาณาจักรเขมรใหม่ และขนานนามใหม่ว่า เมืองกัมโพชน์ตะวันออก โดยแยกตัวมาจากอาณาจักรลโวทยหรือละโว้ หรือปัจจุบันเรียกว่า ลพบุรี พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงตั้งราชธานีของเมืองกัมโพชน์ในบริเวณทางเหนือของทะเลสาบเขมร พระองค์ทรงขยายพระราชอำนาจเข้าไปถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำบริเวณอีสานใต้ของประเทศไทยในจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์และศรีสะเกษ

ปราสาทหินพิมาย

พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงสถาปนา ลัทธิเทวราชา คือ ยกฐานะกษัตริย์ให้เป็นเทพเจ้า หรือเทวาราชาเป็นกษัตริย์สูงสุด เป็นการปูพื้นฐานระบบเทวราชาให้อาณาจักรอื่นๆ เป็นแบบอย่าง รวมถึงสยามซึ่งรับระบบนี้มาใช้ด้วยเช่นกัน ระบบเทวราชานี้มีส่วนทำให้พราหมณ์เข้ามามีบทบาทในราชสำนัก ในฐานะผู้เชี่ยวชาญศิลปศาสตร์ต่างๆ และประกอบพิธีราชาภิเษกให้กับกษัตริย์

ลัทธิเทวราชา หรือ ระบบเทวราชา ต่างจากลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย คือ ก่อนหน้านั้นกษัตริย์เป็นเพียงมนุษย์ที่นับถือเทพเจ้า แต่ลัทธิราชานั้นถือว่ากษัตริย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทพเจ้า คือเทพเจ้าแบ่งภาคลงมาจุติเป็นกษัตริย์นั่นเอง เมื่อกษัตริย์เสวยราชย์แล้วต้องกระทำ 3 สิ่ง คือ

  1. ขุดสระชลประทาน หรือที่เรียกว่า บาราย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขมรมีความยิ่งใหญ่ เพราะเนื่องจากเขมรก็ไม่นิยมตั้งถิ่นฐานใกล้แม่น้ำเท่าใดนัก ที่เมืองพระนครมีบารายขนาดใหญ่หลายบาราย เช่น บารายอินทรฏกะ
  2. กษัตริย์ต้องสร้างศาสนสถานบนฐานเตี้ยๆ อุทิศถวายบรรพบุรุษ หรือ ปราสาทสร้างบนฐานเตี้ยๆ เพียงชั้นเดียว เช่น ปราสาทพะโค ที่พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับบรรพบุรุษของพระองค์
  3. ต้องสร้างศาสนสถานบนฐานเป็นชั้น หรือ ปราสาทแบบยกฐานเป็นชั้นสูงหลายชั้น เพื่อเป็นที่สถิตของเทพเจ้า หากเป็นศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย จะประดิษฐานศิวลึงค์เป็นสัญลักษณ์แห่งองค์พระอิศวร หรือ ศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย ก็จะประดิษฐานเทวรูปพระวิษณุ และมีความเชื่อว่าเมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์ วิญญาณของพระองค์จะไปเสด็จรวมกับเทพเจ้า ณ ปราสาทที่พระองค์สร้างไว้นั่นเอง เช่น พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงสร้างปราสาทนครวัด อุทิศถวายแด่องค์พระวิษณุ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ก็มีพระนามว่า บรมพิษณุโลก

จากเหตุผล 2 ข้อหลังนี้เองที่เป็นประเพณีที่กษัตริย์เขมรทุกพระองค์ จะต้องสร้างปราสาทอย่างน้อยที่สุด 2 หลัง ส่วนรูปแบบของปราสาทขอมนั้นก็พัฒนารูปแบบมาจากศาสนสถานในประเทศอินเดีย ที่เรียกกันว่า ศิขร เป็นศาสนสถานของศิลปะอินเดียในภาคเหนือ และ วิมาน เป็นศาสนาสถานของอินเดียภาคใต้ นอกจากนี้ก็ยังได้รับอิทธิพลของ จันฑิ ศาสนาสถานในศิลปะชวาเมื่อครั้งที่อาณาจักรเจนฬาตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรชวา

ปราสาทหินพนมรุ้ง

ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้จึงก่อให้เกิดรูปแบบงานศิลปกรรมเขมรที่เรียกกันว่า ปราสาทขอม หรือ ศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ ที่มีความสวยงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีเป็นอย่างยิ่ง และเนื่องด้วยปราสาทขอมเหล่านี้สร้างด้วยวัสดุที่เป็นอิฐ ศิลาทราย และศิลาแลง ซึ่งเป็นถาวรวัตถุจึงทำให้มีความคงทนจนถึงในปัจจุบัน

แต่ว่าปราสาทเขมร ก็มิได้มีเพียงในเขตแดนของประเทศกัมพูชาเท่านั้น ยังพบในบริเวณของประเทศลาว และประเทศไทย ซึ่งมีปราสาทเขมรอยู่มากมายเช่นกัน เนื่องจากในบางช่วงที่อาณาจักรเขมรมีความเข้มแข็ง ทำให้สามารถขยายอำนาจและดินแดนได้อย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุนี้จึงมีปราสาทที่ถูกสร้างขึ้นในดินแดนของประเทศอื่นๆ ด้วย

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 จะพบว่า มีปราสาทหินในประเทศไทยมีรูปแบบคล้ายกับปราสาทในกัมพูชา เป็น ศิลปะขอมแบบคลัง (หรือเกลียง) - บาปวน สมัยเมืองพระนคร (พ.ศ. 1550 - 1630) และเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ที่จัดเป็นศาสนสถานประจำเมือง มีโครงสร้างที่สำคัญ คือ ปราสาทประธานที่อยู่ตรงกลางอาจมีหลังเดียว เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง หรือเป็นหมู่ 3 หลัง 5 หลัง หรือ 6 หลัง เช่น ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ปราสาทศีขรภูมิ

การกำหนดอายุของปราสาทในช่วงระยะเวลานี้ พิจารณาจากแผนผังของอาคารโดยรวม รวมทั้งรูปแบบของปราสาท เช่น มีการเพิ่มมุม และยอดปราสาทเป็นทรงพุ่ม สิ่งสำคัญที่ใช้ในการกำหนดรูปแบบ และอายุ ได้แก่ ลวดลายประดับที่ทับหลัง หน้าบัน และเสาประดับกรอบประตู ลักษณะที่จัดเป็นศิลปะแบบคลัง-บาปวน ซึ่งปรากฏอยู่มาก ได้แก่ ทับหลังที่ประกอบด้วยลายหน้ากาล คายท่อนพวงมาลัยอยู่ตรงกึ่งกลางด้านล่าง หน้ากาลมีลิ้นเป็นสามเหลี่ยม มีมือมายึด ท่อนพวงมาลัย มีภาพเล่าเรื่องเล็กๆ อยู่เหนือหน้ากาล เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้หรือลายกระหนกม้วนออกทั้ง 2 ข้าง ใต้ท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ม้วนเข้า หากมีลายเฟื่องอุบะมาแบ่งท่อนพวงมาลัยออก เป็น 4 ส่วน จะจัดเป็นแบบคลัง แต่ถ้าไม่มี จะจัดเป็นแบบบาปวน

ส่วนใหญ่ของปราสาทขอมในประเทศไทยในสมัยนี้ จะพบลายดังกล่าวปะปนกันในศาสนสถานแหล่งเดียวกัน หรือในปราสาทหลังเดียวกัน ทำให้อาจกำหนดได้ว่า ศิลปะแบบคลัง-บาปวน ที่พบในประเทศไทยนั้น เป็นศิลปะต่อเนื่องสมัยเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ที่ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทสระกำแพงใหญ่

ไปเที่ยวนครวัด กัมพูชา

ภาพเมื่อคราวเว็บมาดเซ่อนำนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ไปเยือนปราสาทนครวัด ที่เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา

ทับหลังในศิลปะแบบนครวัดส่วนใหญ่ จะนิยมสลักภาพเล่าเรื่อง ประกอบด้วยรูปบุคคลเล็กๆ เต็มพื้นที่ เช่น ที่ปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทศีขรภูมิ นอกจากนี้ ยังใช้หลักฐานของงานประติมากรรมประดับศาสนสถาน เป็นตัวกำหนดรูปแบบทางศิลปะ เช่น ประติมากรรมรูปบุคคลในศิลปะแบบบาปวน จะสังเกตได้จากทรงผมที่ถัก และเกล้าขึ้นไปเป็นมวยอยู่เหนือศีรษะ คางเป็นร่อง ชายผ้านุ่งด้านหน้าเว้าใต้พระนาภี ด้านหลังสูงขึ้นมาถึงกึ่งกลางหลัง ในขณะที่ศิลปะแบบนครวัดนิยมมงกุฎทรงกรวย มีเทริด (กระบังหน้า) และประดับเครื่องทรง

มีข้อสังเกตที่สำคัญทางด้านรูปแบบของปราสาทขอม ศิลปะแบบนครวัด ที่พบในดินแดนไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 ที่มีลักษณะเฉพาะเกิดขึ้น โดยอาจถือเป็นงานที่พัฒนาขึ้นในท้องถิ่น ได้แก่ การทำยอดปราสาทที่เป็นทรงพุ่ม เช่น ที่ปราสาทหินพิมาย และปราสาทพนมรุ้ง โดยเปลี่ยนการประดับชั้นหลังคาจากปราสาทจำลอง เป็นการประดับแผ่นหินที่อยู่ในรูปสามเหลี่ยม ที่เรียกว่า นาคปักแทน ซึ่งในปัจจุบันพบว่า ลักษณะดังกล่าว เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาก่อนแล้ว

หลักฐานที่น่าสนใจในช่วงระยะเวลานี้คือ ได้พบว่า มีการสร้างปราสาทที่มีความสำคัญ และมีขนาดใหญ่หลายแห่ง รวมทั้งได้พบหลักฐานเกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น ศิลาจารึกที่กล่าวถึงพระนามผู้สร้าง ทำให้ได้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ได้ในระดับหนึ่งว่า บริเวณภาคอีสานตอนล่างนี้เป็นดินแดนสำคัญของอาณาจักรขอม โดยในบางสมัยอาจมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงที่มีบุคคลสำคัญมาปกครอง หลักฐานจากจารึกได้กล่าวถึง พระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ซึ่งทรงสร้างปราสาทในแคว้นรอบนอกเมืองพระนคร หรือ "ดินแดนนอกกัมพุช" เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทตาเมือนธม พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ซึ่งทรงสร้างปราสาทหินพิมาย และนเรนทราทิตย์ ซึ่งสร้างปราสาทพนมรุ้ง

ปราสาทสำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 ที่ควรกล่าวถึง มีดังต่อไปนี้

  • ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ที่ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย ปราสาทแห่งนี้ไม่พบประวัติการก่อสร้างและศิลาจารึก แต่จากรูปแบบศิลปกรรมจัดอยู่ในสมัยของศิลปะแบบคลัง-บาปวน ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 17 มีรูปเล่าเรื่องที่ปรากฏบนทับหลังเป็นเรื่องในศาสนาฮินดู โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพระอิศวร เช่น พิธีสยุมพรพระอิศวร พระอุมามเหศวร (พระอิศวรและพระอุมาทรงโค) และเรื่องรองลงมา ได้แก่ พระกฤษณะ และเทพเจ้าประจำทิศ นอกจากนี้ได้ค้นพบศิวลึงค์ และประติมากรรมเทวสตรี (พระอุมา) จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า ศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นในลัทธิไศวนิกาย
    ปราสาทเมืองต่ำ
  • ปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ อยู่ที่อำเภออุทุมพรพิสัย จัดเป็นปราสาทขอมสำคัญแห่งหนึ่งที่พบในประเทศไทย มีอายุในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 มีหลักฐานการก่อสร้างจากศิลาจารึกที่กรอบประตูใน พ.ศ. 1585 กล่าวถึงการสร้างและอุทิศเทวาลัยแห่งนี้เพื่อถวายพระอิศวร ลักษณะแผนผังและลักษณะศิลปกรรม โดยเฉพาะลวดลายบนหน้าบันและทับหลัง จัดอยู่ในศิลปะขอมแบบคลัง-บาปวน เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย
    ปราสาทหินวัดสระกำแพงใหญ่
  • ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา อยู่ที่อำเภอพิมาย จัดเป็นศาสนสถานขอมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชื่อ "พิมาย" มาจาก "วิมาย" ตามที่ปรากฏในจารึกที่กรอบประตูปราสาทว่า "กมรเตงชคตวิมาย" และ "พิมาย" เป็นชื่อของเมืองโบราณที่ปรากฏในศิลาจารึกมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ที่กล่าวถึงเมือง "ภีมปุระ" และจารึกรุ่นหลังที่ปราสาทพระขรรค์ (พุทธศตวรรษที่ 18) กล่าวถึงเมือง "วิมายะปุระ" ดังนั้นปราสาทหินพิมาย และเมืองพิมายจึงเป็นศูนย์กลางทางศาสนา และเป็นเมืองที่สำคัญในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่ศิลปะขอมแพร่หลาย ในดินแดนไทย จากหลักฐาน ได้พบจารึก ที่กรอบประตูโคปุระด้านทิศใต้ระบุ พ.ศ. 1651
    แม้ว่าปราสาทหินพิมายจะเป็นพุทธสถานนิกายมหายาน แต่ภาพเล่าเรื่องที่ประกอบอยู่โดยรอบ กลับเป็นเรื่องเล่าของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ยกเว้นภาพเล่าเรื่องที่ประดับรอบห้องครรภคฤหะ ที่เป็นส่วนสำคัญของศาสนสถาน จึงเป็นเรื่องของพุทธประวัติในนิกายมหายาน
    ปราสาทหินพิมาย
  • ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ บางทีเรียกว่า "ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง" ตั้งอยู่ที่ตำบลตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ดังนั้นจึงมีปากปล่องภูเขาไฟที่เป็นสระน้ำธรรมชาติ สำหรับปราสาทด้วย คำว่า "พนมรุ้ง" มาจากศิลาจารึกที่กล่าวถึงชื่อศาสนสถานแห่งนี้ว่า "วนํรุง" ซึ่งหมายถึง ภูเขาอันกว้างใหญ่ หรือรุ่งเรือง มีแสง
    ปราสาทพนมรุ้งเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ประจำเมือง บริเวณรอบๆ ปราสาทแต่เดิม น่าจะเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดใหญ่ เพราะมีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย และด้านล่างยังมีปราสาทเมืองต่ำ ที่มีบารายขนาดใหญ่สำหรับหล่อเลี้ยงชุมชน จัดเป็นศาสนสถานที่อยู่ในเส้นทางจากเมืองพระนครของเขมรมายังเมืองพิมาย เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย
    เรื่องราวที่ปรากฏอยู่บนทับหลังและหน้าบันที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ได้แก่ ทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งครั้งหนึ่งได้ถูกลักลอบนำไปยังสหรัฐอเมริกา รัฐบาลไทยได้ติดตามทวงคืนกลับมาได้ และนำกลับมาติดตั้งในที่เดิม จากรูปแบบศิลปกรรมปราสาทพนมรุ้งจัดอยู่ในศิลปะแบบนครวัดตอนต้น (ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 17) ช่วงที่ยังมีการรักษารูปแบบของศิลปะแบบบาปวนอยู่ แต่คงสร้างขึ้นหลังปราสาทหินพิมายเล็กน้อย เพราะปราสาทหินพิมายยังมีลวดลายของศิลปะแบบบาปวนปรากฏอยู่มากกว่า
    ปราสาทหินพนมรุ้ง

มีการตามรอยเส้นทางซึ่งปรากฏอยู่ในบทประพันธ์เลื่องชื่อ La Voie royale ของ อ็องเดร มาลโรซ์ (Andre Malraux) นักเขียนหนุ่มชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งหลงไหลศิลปะในดินแดนแห่งอารยธรรมขอมโบราณแถบนี้ ได้เดินทางเข้ามาสู่เมืองเสียมเรียบ ตามรอยเส้นทางที่แปลเป็นไทยว่า "ราชมรรคา" จากดินแดนปราสาทขอมในเขมรถึงปราสาทหินพิมายในประเทศไทย (จุดประสงค์จริงๆ ของเขานอกจากการเดินทางท่องเที่ยวก็คือ การเสาะหาศิลารูปนางอัปสรเพื่อนำกลับไปขายในยุโรป)

prasart hin 09

ภาพแสดงเส้นทาง "ราชมรรคา" จากเมืองพระนครในเขมร ถึง เมืองพิมาย ในประเทศไทย

บ้านมีไฟ คือ "ธรรมศาลา"  "ราชมรรคา" คือถนน เชื่อมถิ่นฐาน
ชัยวรมัน สร้างไว้ เป็นตำนาน  ยุคโบราณ อาณาจักร นครธม

จากศูนย์กลาง แยกทาง เป็นห้าสาย  มีเสาราย เรียงสลัก งามสวยสม
ถนน สะพาน สเปียนใหญ่ ข้ามสายชล  เป็นที่คน ชนสัญจร รอนเดินทาง

ราชมรรคา เชื่อมโยง สองแผ่นดิน  จากพื้นถิ่น โตนเลสาบ เมืองศูนย์กลาง
ผ่านช่องจอม มีตาเมือน เรือนพักทาง  พอรุ่งสาง ผ่านบ้านบุ ลุพิมาย

ธรรมศาลา มีไว้ ให้คนพัก  เป็นบ้านหลัก มีไฟ ไล่อันตราย
เป็นจุดตรวจ ป้องกันภัย มิกล่ำกลาย  ตั้งเรียงราย ตามถนน "ราชมรรคา"

คัดลอกและสำเนาจาก : คุณวรนัย, http://oknation.nationtv.tv/blog/voranai

"เส้นทางสายราชมรรคา" ทั้ง 5 สายที่สร้างขึ้นในรัชสมัย พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 แผ่ขยายออกไปทุกทิศทางจาก "นครธม" หรือ "เมืองพระนคร" เป็นเส้นทางสายสำคัญดังนี้

  1. จากเมืองพระนคร - ปราสาทพิมาย  ประเทศไทย
  2. จากเมืองพระนคร - ปราสาทวัดภู แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว
  3. จากเมืองพระนคร - สวายจิก
  4. จากเมืองพระนคร - ปราสาทพระขรรค์  กำปงสวาย
  5. จากเมืองพระนคร – กำปงธม

เส้นทางจาก เมืองพระนคร หรือ นครธม มายัง เมืองพิมาย หรือ วิมายะปุระ ประเทศไทย ถือเป็นเส้นทางที่ยาวและไกลที่สุด สาเหตุที่ต้องมีการเดินทางไกลขนาดนั้น ข้อมูลส่วนหนึ่งระบุชัดเจนว่า "ไม่ใช่การขยายหรือเผยแพร่อาณาจักร แต่เป็นไปเพื่อเสาะแสดวงหาและแลกเปลี่ยนทรัพยากรเหล็กและเกลือ" ซึ่งมีมากในแถบอีสานบ้านเราในปัจจุบัน นอกจากนี้ อีกหนึ่งความเชื่อที่สำคัญคือ การสร้างบารมีและความยิ่งใหญ่ด้วยการทำนุบำรุงพระศาสนา ก็เป้นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราพบ ความเชื่อมโยง พุทธ และ ฮินดู บนเส้นทางสายปราสาทนี้เสมอแบบแยกกันไม่ขาด

prasart hin 10

การเดินทางที่ไกลนี้เอง กษัตริย์ขอมในสมัยนั้น จึงให้ปลูกสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกตลอดรายทาง สำหรับผู้ที่ต้องสัญจรบนถนนทั้ง 5 สาย สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้นมีทั้งศาสนสถาน โรงพยาบาลหรือเรียกว่า "อโรคยาศาลา" และบ้านพักคนเดินทาง เรียกว่า "ธรรมศาลา"

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : จากพิมายถึงชายแดนเขมร ตามรอยเส้นทางราชมรรคา (The Royal Route)

ถนนโบราณ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากเมืองพระนคร สู่พิมาย I ประวัติศาสตร์นอกตำรา

redline

backled1

attalak isan

เล้าข้าว

เล้าข้าว มีชื่อเรียกหลายอย่าง ด้วยภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปของแต่ละท้องถิ่น ในกลุ่มชาวนาภาคเหนือในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เรียกว่า เล้าข้าว หลองข้าว กระหล่องข้าว ภาคอีสาน จะนิยมเรียกว่า เล้าข้าว เล่าเข่า เล่าข้าว ภาคกลางส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า ยุ้งข้าว แต่มีบางจังหวัดเรียกว่า ฉางข้าว ส่วนภาคใต้เรียกว่า เรือนข้าว หรือ เริ้นข้าว ดังนั้น เล้าข้าว หรือ ยุ้งข้าว จึงเป็นที่สำหรับใช้ประโยชน์ในการเก็บรักษาข้าวเปลือกของชาวนา มีรูปแบบและโครงสร้างที่แข็งแรง มักเป็นเรือนหลังเดี่ยว ตั้งอยู่ในบริเวณที่ลมสามารถ พัดผ่านได้สะดวกเพื่อป้องกันไม่ใช้ข้าวเปลือกชื้นและขึ้นรา ซึ่ง วิโรฒ ศรีสุโร (2540) ได้กล่าวถึงยุ้งข้าวในความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่า ยุ้งข้าวเปรียบประดุจท้องพระคลังมหาสมบัติของชุมชน เสมือนเป็นขุมอาหาร ซึ่งหากขาดแคลนแล้วไม่มีผู้ใดมีชีวิตอยู่ได้ จึงก่อให้เกิดความเชื่อเกี่ยวกับยุ้งข้าวอันถือเป็นเรื่องใหญ่

lao kao 01

เล้าข้าว เป็นสถาปัตยกรรมที่พบเห็นได้ทั่วไปคู่กับบ้านเรือนในชนบทของภาคอีสาน มีลักษณะเป็นเรือนหลังเดี่ยวขนาดเล็ก แยกออกมาจากตัวบ้าน ใช้สำหรับเก็บรักษาข้าวเปลือก และผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ โดยในอดีต เล้าข้าว ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของชาวนาภาคอีสาน ถือเป็นสมบัติที่มีมูลค่ามากที่สุดของชาวนา นอกจากนี้ เล้าข้าว ยังเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะทางเศรษฐกิจของเจ้าของเล้า บ้านไหนมีเล้าใหญ่อาจหมายความว่ามีที่นามาก มีควายมาก มีกำลังการผลิตและผลผลิตสูง น่าจะเป็นคนขยันขันแข็ง เป็นผู้มีฐานะดีและเป็นที่นับถือของคนในชุมชน ปริมาณข้าวที่อยู่ภายในเล้าจะเป็นหลักประกันว่า ชาวนาจะสามารถยังชีพอยู่รอดไปได้ตลอดทั้งปีจนกว่าจะถึงฤดูการเก็บเกี่ยวใหม่อีกครั้ง 

การจัดเก็บข้าวเปลือกของเกษตรกรชาวนาทุกวันนี้ ไม่ได้เก็บข้าวเปลือกไว้ใน เล้าข้าว หรือ ยุ้งฉาง เหมือนแต่ก่อน เนื่องจากเล้าข้าวไม้ที่มีอายุเก่าแก่แล้วมีการรื้อถอนออก เพื่อใช้พื้นที่หรือสถานที่ทำอย่างอื่นแทน และไม่ค่อยมีการสร้างยุ้งฉางไม้ขึ้นมาใหม่ (ความจริงคือ ชาวนาไม่มีข้าวมากพอที่จะเก็บในเล้าข้าว จากการเป็นหนี้สินกับนายทุน หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จำเป็นต้องขายข้าว เพื่อนำมาใช้หนี้ก่อนไม่เหลือเก็บ ที่เรียกกันว่า ขายข้าวเขียว) เกษตรกรหรือชาวนาในปัจจุบัน ส่วนมากจึงจัดเก็บข้าวเปลือกโดยการบรรจุใส่กระสอบ แล้ววางไว้ในบ้าน หรือสถานที่ที่เป็นโรงเรือนเก็บ มีพื้นเป็นซีเมนต์และมีการใช้วัสดุรองพื้นก่อนวางกระสอบข้าวด้วยแคร่ไม้ หรือวัสดุกันความชื้นต่างๆ แต่วิธีนี้อาจจะเป็นวิธีการจัดเก็บข้าวเปลือกที่ไม่เหมาะสมเท่าไหร่นัก เพราะอาจจะทำให้ข้าวเปลือกที่เก็บไว้ไม่ได้คุณภาพ

เล้าข้าวอีสาน

เล้าข้าว เป็นที่เก็บข้าวเปลือกซึ่งมีน้ำหนักมาก ดังนั้นจึงต้องออกแบบโครงสร้างให้แข็งแรง เสาและกระทอด (หรือ พรึง) จะอยู่ด้านนอกของผนัง แต่ก่อนฝาเล้าข้าวจะทำด้วยไม้ไผ่สาน ทาด้วยขี้เปี๊ยะ (ขี้วัวคลุกแกลบและดินเหนียวทาทับไม่ไผ่สาน) สามารถกันความชื้น ความร้อน มดและแมลงได้เป็นอย่างดี ต่อมานิยมทำฝาเล้าข้าวด้วยไม้กระดาน ชาวอีสานมีพิธี "ทำขวัญเล้าข้าว" การตักข้าวในเล้าจะใช้กระดองเต่าตัก ก่อนตักจะนั่งลงไหว้แม่โพสพก่อนแล้วพูดว่า "กินอย่าให้บก จกอย่าให้พร่อง" (ตักไปกินก็อย่าลด ตักเอาไปก็อย่าให้พร่อง)

lao kao 02

นอกจากนี้ในภาคอีสานยังมี "ซอมข้าว" สร้างยกพื้นเตี้ยๆ หรืออยู่ติดกับพื้นดินที่ปรับให้เรียบเสมอกัน แล้วใช้ไม้ไผ่สานกั้นเป็นรูปวงกลม ทำหลังคาคลุม ใช้สำหรับเป็นที่เก็บข้าวเปลือกแต่บรรจุได้ไม่มากนัก ส่วนทางภาคเหนือจะเรียกว่า "เสวียน" มักใช้ในกลุ่มของชาวไร่ชาวนาที่มีพื้นที่ปลูกข้าวไม่มาก หรือชาวไร่ชาวนาที่ยังไม่สามารถทำยุ้งข้าวด้วยไม้จริงได้ ก็จะใช้เสวียนเก็บข้าวเปลือกไปก่อนเป็นการชั่วคราว เมื่อสามารถสร้างยุ้งข้าวได้แล้วก็เลิกใช้เสวียนไป เสวียนมีหลายขนาด ทั้งความสูงและความกว้างของเสวียนไม่แน่นอน แล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้เป็นหลัก

lao kao 08
"ซอมข้าว" ของชาวอีสาน หรือ "เสวียน" ของชาวเหนือ

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปทรงสี่เหลี่ยมสอบเข้าเรียกว่า "ทรงช้างขี้" หลังคาจั่วไม่ซ้อนชั้น ยกใต้ถุนสูงโครงสร้างเสาอยู่ข้างนอกดูแข็งแรงบึกบึน สะท้อนแนวคิดและภูมิปัญญาการก่อสร้างของช่างโบราณ

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เล้าข้าวเป็นเสมือนคลังสมบัติที่สำคัญในการดำรงชีวิตของทุกคนในครอบครัว จึงต้องสร้างให้แข็งแรง และมีขนาดเหมาะสมกับขนาดของครอบครัว

พิธีกรรมและความเชื่อในการสร้างเล้าข้าว

ข้อห้ามต่างๆ ที่เป็นความเชื่อเกี่ยวกับเล้าข้าวของชาวอีสานถือว่า "ข้าว" เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนอีสาน หลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับข้าว จึงต้องมีความสำคัญตามไปด้วย หรือแม้แต่ความเชื่อต่างๆ ก็เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นวิถีทางสังคมที่ยึดถือปฏิบัติกันเรื่อยมา เป็นมรดกทางสังคมและวัฒนธรรมของอีสาน ด้านความเชื่อในลักษณะข้อห้ามต่างๆ เช่น

  • ห้ามหันประตูเล้าข้าว (หันด้านหน้า) ไปทางทิศดาวช้าง (ดาวจระเข้) เพราะเชื่อกันว่าเป็นการหันประตูไปทางปากช้าง แล้วช้างจะกินข้าว อันเป็นเหตุให้เก็บรักษาข้าวไม่อยู่หรือมีเหตุให้สูญเสียข้าวอยู่เรื่อยๆ
  • ห้ามหันประตูเล้าข้าวเข้าหาเรือน ด้วยความเชื่อและเหตุผลเวลาขนข้าวเข้า-ออกจากเล้าข้าว จะได้สะดวกสบาย
  • ไม่นิยมสร้างเล้าข้าวไว้ในตำแหน่งทิศหัวนอนของเรือนพักอาศัย เพราะเชื่อว่าเป็นการนอนหนุนข้าว จะเป็นเหตุให้คนในครอบครัวเจ็บป่วย ไม่สบายและมีภัยพิบัติ
  • เล้าข้าวที่ถูกรื้อแล้ว ห้าม! นำไม้ไปสร้างเรือนพักอาศัย เพราะเชื่อว่าจะทำมาค้าขายไม่เจริญ และมีภัยพิบัติใหญ่เกิดขึ้นกับครอบครัว
  • บริเวณที่สร้างเล้าข้าวเมื่อรื้อออก หรือย้ายออก จะไม่สามารถสร้างบ้านบนบริเวณนั้นได้ เพราะเชื่อว่าบริเวณนั้นเป็นที่อยู่ของแม่โพสพ ที่เคารพนับถือ มีพระคุณ
  • การสร้างเล้าข้าวจะไม่สร้างในลักษณะขวางตะวัน เพราะเชื่อว่าถ้าสร้างแล้วจะมีแต่สิ่งที่ขัดขวาง ไม่อยู่เย็นเป็นสุข

ส่วนในด้านของการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งยุ้งข้าวในบริเวณบ้านนั้น จะต้องตั้งยุ้งข้าวให้ห่างจากตัวเรือนพักอาศัย อย่างน้อยเท่ากับความยาวของตัวเรือนพักอาศัย และจะต้องตั้งเยื้องกับตัวเรือนพักอาศัยเสมอ ห้ามตั้งในตำแหน่งที่ตรงกับตัวเรือน เนื่องจากในฤดูหนาวมีลมแรง จะพัดเอาฝุ่นและไรข้าวมาสู่คนที่อาศัยอยู่ในเรือน ซึ่งจะส่งผลให้คนในเรือนเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้ไม่สามารถออกไปทำมาหากินได้เป็นปกติได้

ซึ่งในปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้ถูกลดบทบาทลง ยังหลงเหลืออยู่บ้างในบางข้อ เนื่องด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม และวิถีชีวิตสมัยใหม่ ที่เอาความง่ายและสะดวกสบายเป็นหลัก ซึ่งไม่ถูกต้องตามพิธีกรรมและประเพณีดั้งเดิม

lao kao 06

พิธีกรรมที่เกี่ยวกับเล้าข้าว

ชาวอีสานแต่โบราณเชื่อว่า “วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันฟ้าไข(เปิด)ประตูฝน เพื่อให้ฝนตกลงมาสู่โลกมนุษย์ และเชื่อว่าวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่โลกมีความอิ่มและอุดมสมบูรณ์ที่สุด" ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “กบบ่มีปาก นาคบ่มีฮูขี่ (ฮูขี่ แปลว่า รูทวารหนัก) หมากขามป้อมก็ต่าวหวาน” จึงถือโอกาสเปิดประตูเล้าข้าว (ประตูยุ้งข้าว) ของตน ซึ่งปิดไว้ห้ามเปิดมาตั้งแต่วันเอาข้าวขึ้นเล้าหลังนวดข้าวเสร็จ ในประมาณกลางเดือนสิบสอง หรือต้นเดือนอ้ายเป็นอย่างช้า ซึ่งจะมี “พิธีเอาข้าวขึ้นเล้า” “พิธีสู่ขวัญข้าว” และ “พิธีตุ้มปากเล้า” ก่อนที่จะเปิดประตูเล้า และจะนำข้าวเปลือกที่อยู่ในเล้าไปถวายวัด ก่อนจะตักข้าวในเล้าลงมาตำกินในครัวเรือน (ซึ่งสมัยโบราณใช้วิธีการตำข้าวด้วย ครกมอง) เพื่อให้เป็นไปตาม “คองสิบสี่สำหรับประชาชน ข้อที่ 1” ที่บัญญัติไว้ว่า

เมื่อได้เข่าใหม่หลือหมากไม้เป็นหมากใหม่ ตนอย่าฟ้าวกินก่อนให้เอาทำบุญ ทำทานแก่ผู้มีสีนกินก่อน แล้วตนจึงกินเมื่อพายลุน และให้แบ่งแก่ยาดติพี่น้องนำ ”

คำแปล : เมื่อได้ข้าวใหม่ หรือมีผลไม้ออกผลใหม่ เจ้าของย่ารีบกินให้เอาทำบุญ ทำทานแก่ผู้มีศีลได้กินก่อน และแบ่งให้ญาติพี่น้องด้วย

พิธีเอาข้าวขึ้นเล้า

พิธีเอาข้าวขึ้นเล้า คือ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วก็จะนำมาใส่ไว้ในเล้า นิยมทำวันจันทร์ พฤหัสบดี ศุกร์ เวลาบ่าย 3 โมง ถึงบ่าย 5 โมง มีขั้นตอน คือ

  • เอาเทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ ใส่ขัน (แต่งขัน 5) พร้อมกระบุงเปล่า 1 ใบ และหาขันหรือกระบอกใส่ข้าว (ขวัญข้าว) 1 อัน หัวหน้าครอบครัวเอาผ้าขาวม้าพาดเฉวียงบ่า ถือกระบุง และขันดอกไม้พร้อมทั้งขันหรือกระบอกสำหรับใส่ขวัญข้าวไปยังลานข้าว
  • ยกขัน 5 ขึ้น ว่า นโม 3 จบ แล้วให้ว่าคาถาเรียกขวัญข้าว

อุกาสะ อุกาสะ ผู้ข้าขอโอกาสราธนาแม่โพสพให้เมืออยู่เล้า คุณข้าวให้เมืออยู่ฉาง ภะสะพะโภชะนัง มะหาลาภัง สุขัง โหตุ ”

  • แล้วเอาขันที่เตรียมไปตักขวัญข้าวนั้น ใส่กระบุง อุ้มเดินกลับบ้าน เอาขึ้นไปวางไว้บนขื่อด้านหลังสุด ตรงข้ามประตูเข้าเล้า ซึ่งขวัญข้าวที่เก็บไว้นั้นจะนำมาผสมกับข้าวปลูกเพื่อทำพันธุ์ในปีต่อไป

พิธีสู่ขวัญข้าว

พิธีสู่ขวัญข้าว เป็นประเพณีที่ชาวอีสานแต่ละครอบครัวจะทำกัน ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ถ้าครัวเรือนไหนจะสู่ขวัญข้าวก็จะจัด “พาขวัญน้อย” หนึ่งพา แล้วให้หมอสูดมาเป็นผู้ “สูดขวัญ” ให้เล้าข้าว โดยโยงด้ายสายสิญน์จากเล้าข้าวมาหาพาขวัญกับหมอสูดที่อยู่ข้างๆ ซึ่งในประเพณีอีสานในการสูดขวัญข้าวก็จะมีคำสูดขวัญโดยเฉพาะ [ อ่านเพิ่มเติม ]

lao kao 07

พิธีตุ้มปากเล้า

ชาวอีสานหลังจาก “เอาเข่าขึ้นเล้า” แล้วชาวนาอีสานจะปิดประตูเล้าสนิท จะไม่ตักข้าวในเล้ามากินหรือมาขายเป็นอันขาด ข้าวเปลือกที่จะนำมาตำหรือมาสีกินในระหว่างที่ปิดประตูเล้าข้าวนั้น จะแบ่งไว้หรือกันไว้นอกเล้าข้าวต่างหาก เพราะชาวอีสานเชื่อว่า เมื่อนำข้าวขึ้นเล้าแล้วต้องปิดประตูเล้า รอถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งเชื่อว่า “เป็นวันมงคล” จึงจะเปิดประตูเล้าข้าวได้ เพราะเชื่อว่าถ้าเปิดก่อนจะไม่เป็นมงคลแก่เล้าข้าว และข้าวในเล้าจะบก(ลด) จะพร่องไปอย่างรวดเร็ว พิธีกรรมการเปิดเล้าข้าวครั้งแรกเรียกว่า “ตุ้มปากเล้า” (ตุ้ม-คุ้มครอง, ปากเล้า-ประตูเล้า)

การตุ้มปากเล้า แต่ละครัวเรือนก็จะต่างคนต่างทำที่เล้าข้าวของตน เพื่อปลอบขวัญข้าว หรือปลอบขวัญแม่โพสพ ผู้เป็นแม่เรือนจะจัดขัน 5 (ดอกไม้ 5 คู่ เทียนเล็ก 5 คู่) ใส่จานวางไว้ที่ประตูเล้า แล้วบอกกล่าวกับเล้าข้าวว่า

วันนี้เป็นวันดี จะมีการเปิดเล่าเข่า ขอให้กินอย่าบก จกอย่าลง ”

หรือบางคนอาจจะกล่าวยาวๆ ซึ่งมีคำกล่าวในพิธีการตุ้มปากเล้าโดยเฉพาะของอีสานอยู่แล้ว แต่แม่เรือน ผู้ทำพิธี พอพูดจบก็ไข(เปิด) ปักตู(ประตู) แล้วก็เสร็จพิธี (บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล และคณะ, 2544)

ซึ่งในวิถีอีสานปัจจุบัน การทำพิธีสู่ขวัญข้าว การเอาข้าวขึ้นเล้า จะไม่ค่อยมีแล้ว จะนิยมเอาใส่กระสอบไว้ในบ้านหรือขายตั้งแต่เกี่ยวข้าวเสร็จ เนื่องด้วยยึดความสะดวกสบายตามสภาพสังคม และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะการทำนาในปัจจุบันมีการลงทุน มีการใช้เครื่องจักร และการจำหน่ายผลผลิตเพื่อให้ได้กำไร พิธีกรรมที่เคยปฏิบัติจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วย นอกเหนือจากพิธีกรรมแล้ว เล้าข้าว ยังแฝงไว้ซึ่งภูมิปัญญาแห่งบรรพชนในการออกแบบการก่อสร้าง การใช้ประโยชน์และการเก็บรักษาผลผลิตที่ได้สั่งสมมาอีกด้วย

lao kao 03

ภูมิปัญญาในการก่อสร้างเล้าข้าว

ยง บุญอารีย์ (2554) ได้ศึกษาเล้าข้าวในวัฒนธรรมไท-อีสาน ซึ่งกล่าวถึงภูมิปัญญาในการก่อสร้าง ยุ้งข้าว (เล้าข้าว) ไว้ว่า ยุ้งข้าวเป็นภูมิปัญญาโบราณที่รับใช้ชาวนาทุกชนชาติมาอย่างยาวนาน และยังสืบทอดพัฒนาจนเป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบทั้งประโยชน์ใช้สอยและรูปแบบ ถึงแม้จะเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่เกิดจากการสั่งสม ศึกษา ลองผิดลองถูก จนเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่หลักในการออกแบบเล้าข้าว(ยุ้งข้าว)มีลักษณะร่วมกันอยู่อย่างมีนัยสำคัญ เพราะประโยชน์ใช้สอยหลักของเล้าข้าว(ยุ้งข้าว)ไม่ว่าของพื้นที่ใดก็คือ การป้องกันเมล็ดข้าวจากความร้อน ความชื้น สัตว์ และแมลงที่มาทำลายข้าวให้เกิดความเสียหาย แนวคิดในการออกแบบเล้าข้าว(ยุ้งข้าว) ถึงจะต่างพื้นที่ ต่างสังคมวัฒนธรรมและศาสนา แต่สถาปัตยกรรมของเล้าข้าว(ยุ้งข้าว) กลับมีลักษณะที่คล้ายคลึง จนเป็นลักษณะเฉพาะที่สำคัญ คือ

  • ยกพื้นสูง เพื่อป้องกันความชื้น ป้องกันการรบกวนของสัตว์ใหญ่ เช่น แรดและช้าง
  • การก่อสร้างผนังอยู่ริมในของเสา เพื่อทำให้ภายในยุ้งข้าวไม่มีซอกมุมที่เกิดจากเหลี่ยมเสา เพื่อลดการสะสมของเมล็ดข้าวอยู่ตามซอก ไม่มีบันไดและหน้าต่างเพื่อป้องกันแสง ความร้อนและความชื้น ในขณะเดียวกันก็สามารถระบายอากาศได้ดี
  • โครงสร้างอยู่ภายนอกผนังเพื่อรับนํ้าหนัก ระบบโครงสร้างกับระบบผนังมักจะแยกเป็นอิสระจากกัน พื้นจะทำหน้าที่รับนํ้าหนักของข้าว ถ่ายเทนํ้าหนักลงบนตงและคาน ผนังจะรับแรงถีบจากด้านข้าง เสาจะรับทั้งนํ้าหนักและแรงถีบจากผนัง ในเล้าข้าวขนาดใหญ่มักจะมีเคร่าตีเสริมระหว่างเสา เพื่อช่วยรับแรงถีบของข้าว และมักเอียงเสาเข้า เพื่อรับแรงอีกทางหนึ่ง ในภาคอีสานเรียกรูปแบบนี้ว่า ทรงช้างขี้ (วิโรฒ ศรีสุโร,2540)
  • มีหลังคาลาดชันระบายนํ้าได้ดี หลังคาจะค่อนข้างชัน เพื่อป้องกันฝนรั่วทำลายข้าวภายในเล้าข้าวให้เสียหาย
  • มีรายละเอียดในการก่อสร้าง เพื่อป้องกันนก หนู แมลง ที่กินเมล็ดธัญพืชเป็นอาหาร ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญซึ่งทำให้ผลผลิตที่เก็บไว้ยุ้งข้าวเสียหาย ชาวอีสานโบราณได้สั่งสมความรู้และพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันผลผลิตจากแมลงและหนูโดยจะไม่วางเล้าไว้ใกล้บ้าน รั้ว หรือต้นไม้ เพื่อกันหนูกระโจนเข้ามาในเล้า และที่โคนเสาก็จะใช้วัสดุผิวมันกรุเอาไว้เพื่อป้องกันหนูไต่
  • มีจารีต และประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเคารพต่อธรรมชาติ ทุกวัฒนธรรมที่ปลูกข้าวจะมีผีและเทวดาที่เกี่ยวข้องกับข้าว แผ่นดิน ต้นไม้ ฝน นํ้า ที่สำคัญต่อการเพาะปลูก เช่น พระแม่โพสพ พญาแถน พญาคันคาก นาค งู เงือก ฯลฯ โดยผีและเทวดาเหล่าเป็นตัวแทนของธรรมชาติ สามารถให้คุณและโทษแก่ผลผลิตข้าวของเกษตรกรได้ จึงต้องมีจารีตประเพณีเพื่อแสดงความเคารพ ขอขมา บอกกล่าวต่อธรรมชาติอยู่มากมายตลอดทั้งปี

lao kao 04

สถาปัตยกรรมเล้าข้าวอีสาน

เล้าข้าว จะแบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือ

  • เล้าข้าวขนาดเล็ก มีขนาดยาว 1 - 3 ช่วงเสา กว้าง 1 - 2 ช่วงเสา แต่ละช่วงเสาอยู่ห่างกัน 1.00 - 2.00 เมตร เก็บข้าวได้ไม่เกิน 500 กระบุง
  • เล้าข้าวขนาดกลาง สำรวจพบว่า มีมากทีสุดประมาณร้อยละ 90 ขนาดยาว 3 - 4 ช่วงเสา กว้าง 2 - 3 ช่วงเสา ใช้วัสดุที่คงทนถาวร เช่น ไม้เนื้อแข็ง ส่วนหลังคามักมุงกระเบื้องดินเผา หรือกระเบื้องคอนกรีต แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นสังกะสีเป็นส่วนใหญ่ เล้าข้าวขนาดกลางเก็บข้าวได้ 500 - 1,000 กระบุง
  • เล้าข้าวขนาดใหญ่ ยาวมากกว่า 4 ช่วงเสากว้างมากกว่า 3 ช่วงเสา ใช้วัสดุที่คงทนถาวรเช่นเดียวกับเล้าข้าวขนาดกลาง เล้าข้าวขนาดใหญ่เก็บข้าวได้มากกว่า 1,000 กระบุง (ยง บุญอารีย์, 2554)

วัสดุที่ใช้และส่วนประกอบของเล้าข้าว

สมชาย นิลอาธิ (2526) ได้อธิบายว่า โครงสร้างทั้งหมดของเล้าข้าวนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งในการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็น เสา ขาง(คาน) ตง คร่าว ขื่อ สะยัว(จันทัน) ดั้ง ตลอดจนกะทอด(พลึง) แป กลอน และวงกบประตู เพื่อความคงทนแข็งแรงในการรับน้ำหนัก ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเล้าข้าว ซึ่งส่วนประกอบที่สำคัญ มีดังนี้คือ

  • ตง คือไม้เนื้อแข็งขนาด ประมาณ 3 – 4 นิ้ว ขนาดยาว ที่ใช้วางบนคาน(ขาง) ซึ่งบางครั้งจะมีหรือไม่มีก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุคือ ไม้ และความต้องการในเรื่องความคงทน แข็งแรง เพราะถ้าใช้ตงวางบนคาน ก็จะช่วยทำให้การรับน้ำหนักของพื้นเล้ามีมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าจะมีแต่คานโดยไม่มีตงก็สามารถจะรับน้ำหนักได้อยู่แล้ว
  • หลังคา จะมีรูปทรงเป็นหน้าจั่ว ยุคแรกๆ จะนิยมใช้หญ้าแฝก หญ้าคามุงกันมาก ต่อมามีการใช้แผ่นไม้มุง (แป้นมุง-แผ่นไม้แข็งที่เอามาตัดและถากให้เป็นรูปคล้ายกระเบื้องดินขอ) และในสมัยปัจจุบันนิยมใช้สังกะสี หน้าจั่ว จะใช้หญ้าแฝก, หญ้าคา หรือไม้ไผ่สาน เพื่อกันฝนสาดเข้าไปถูกข้าวเลือกที่เก็บไว้ในเล้า
  • พื้น จะใช้ไม้แผ่นเนื้อแข็งอีสานเรียก แป้น เพราะเป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนัก เมื่อปูพื้นด้วยไม้แผ่นเนื้อแข็งแล้ว จะเกิดร่องระหว่างแผ่นที่เกิดจากการไม่ชิดกันของแผ่นไม้ ชาวอีสานจะใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นชิ้นกว้างประมาณ 2 ซม. เศษๆ หรือบางครั้งก็ใช้ไม้แผ่นตีทับตามแนวร่องปิดไว้ ไม้แผ่นที่ตีปิดร่องนี้เรียกว่า “ลึก” หรือ “ลึกไม้” เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวเปลือกรั่วออกจากพื้นเล้า
  • ฝา เป็นส่วนประกอบเล้าที่สำคัญมาก ในแง่ประโยชน์ใช้สอย ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเล้าข้าว ในอดีตจะนิยมใช้ไม้แซง(ลำแซง) ไม้แขม(ลำแขม) และไม้ไผ่จักเป็นเส้นขนาดประมาณ 1 เซ็นติเมตร มาสานเป็นลายขัด แล้วทาอุดด้วยขี้วัว ขี้ควายผสมน้ำและดินโคลนตามความเหมาะสม เพื่ออุดรอยรั่วของลายขัด ซึ่งนิยมใช้ไม้แซงมากกว่าไม่แขม เพราะมีความคงทนกว่า แต่ต้องไปตัดไกลๆ จากหมู่บ้าน คนที่ชอบสะดวกและง่ายๆ ก็มักจะใช้ไม้แขม เพราะขึ้นอยู่ตามบริเวณหนองน้ำใกล้ๆ หมู่บ้าน พอไม้แซงและไม้แขมหายาก จึงใช้ไม้ไผ่จักเป็นเส้นมาสานทำเป็นฝาแทน ต่อมาจึงมีการใช้ไม้แผ่น (ไม้แป้น) มาทำเป็นฝากันมากขึ้น เพราะคงทนถาวรมากกว่า เมื่อไม้แผ่นหายากและมีราคาสูง ในปัจจุบันส่วนมากจึงนิยมใช้สังกะสีมาทำเป็นฝาเล้าข้าว เพราะสะดวก หาง่าย และราคาไม่แพง
  • ประตู จะนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นแผ่นๆ ใส่จากด้านบนของวงกบทีละแผ่น โดยทำวงกบเป็นร่องตามแนวตั้งทั้งสองข้าง เพื่อใส่แผ่นไม้ที่ทำเป็นประตู แต่ที่ใช้เป็นบานเปิด-ปิดแบบเรือนพักอาศัยก็มี แต่จะเก็บข้าวเปลือกได้น้อยกว่าแบบแรก ใช้สอยเก็บข้าวไม่สะดวก และทำให้ข้าวไหลออกจนเสียหายได้ง่าย การทำประตูเล้าข้าวจึงยึดประโยชน์ใช้สอยเป็นตัวกำหนด
  • กะทอด(พลึง) คือแผ่นไม้แผ่นหนาแข็ง ทำหน้าที่เป็นเสมือนเข็มขัดรัดตรงส่วนกลาง ปิดรอบตามแนวฝาที่จดกับพื้น หน้าที่เพื่อตีรัดฝาเล้าข้าวไว้
  • บันได ปกติเล้าข้าวจะไม่มีบันไดขึ้น-ลง แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้จริง ก็จะใช้ไม้กระดานวางให้มีความลาดชันมากๆ เพื่อขนข้าวขึ้น-ลง ถ้ากระดานมีความลื่นก็จะใช้ไม้ชิ้นเล็กๆ ตีเป็นขั้นๆ ไว้ ซึ่งจะไม่ใช้บันไดเป็นแบบขั้นๆ แบบของเรือนพักอาศัย ในอดีตจะนิยมใช้ไม้ไผ่ลำใหญ่ๆ ตัดให้เหลือแขนง วางพาดข้างเสาด้านหน้า สำหรับปีนขึ้น-ลง ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า “เกิน”

lao kao 05

เล้าข้าวไม้ที่สร้างจากภูมิปัญญาท้องถิ่น มีลักษณะดังนี้

  • ยุ้งฉางที่สร้างโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการก่อสร้างยุ้งฉางด้วยไม้ทั้งหลัง ซึ่งใช้ไม้กระดานปูพื้น และใช้ไม้เป็นฝาผนังด้วย พร้อมทั้งมีหลังคาสังกะสีกันแดดกันฝน
  • ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญในการทำยุ้งฉางคือ การนำเอาขี้ควายมาอุดร่องไม้กระดาน หรือปิดร่องไม้กระดาน ทั้งไม้กระดานที่ปูพื้นและไม้ฝาผนังทุกด้าน เพื่อปิดรอยต่อของไม้แต่ละแผ่น
  • การนำเอาขี้ควายมาอุดร่องไม้นั้น จะทำให้ยุ้งฉางเกิดความทนทาน ป้องกันข้าวรั่วหล่นออกจากยุ้งฉาง
  • ยุ้งฉางไม้ที่อุดร่องไม้กระดานด้วยขี้ควายแบบนี้ สามารถดูดซับความชื้นของข้าวเปลือกได้เป็นอย่างดี เป็นเหมือนตู้อบข้าวภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • ข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในยุ้งฉางไม้จะมีความชื้นที่เหมาะสม มีเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวสูง ทำให้ข้าวเปลือกมีคุณภาพการสีสูง ก็คือข้าวเปลือกที่สีขัดเปลือกออกมาเป็นข้าวสารแล้ว เมล็ดข้าวสารไม่แตกหักหรือป่น
  • การจัดเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางไม้ จะทำให้ข้าวเปลือกได้ที่มีคุณภาพดี และที่สำคัญเกษตรกร ชาวนา ควรหลีกเลี่ยงการจัดเก็บข้าวเปลือกบนพื้นซีเมนต์ทั่วไป เพราะจะทำให้ข้าวเปลือกเกิดปัญหาเกี่ยวกับความชื้นที่มาจากพื้นซีเมนต์

ซึ่งในสังคมคนอีสานในอดีตนั้น เมื่อสร้างเรือนพักอาศัยต้องมีการสร้างเล้าข้าวด้วย เพราะอาชีพหลักคือการทำนา ข้าวเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุดในการดำรงชีวิตของชาวอีสาน ถึงกับมีผญาภาษิตอีสานกล่าวไว้ว่า

ทุกข์บ่มีเสื้อผ้า ฝาเฮือนดีพอลี้อยู่ ทุกข์บ่มีเข่าอยู่เล้า สินอนลี้อยู่จั่งได๋ ”

เมื่อสร้างเรือนก็ต้องสร้างเล้าข้าว เพื่อเก็บข้าวไว้บริโภคตลอดทั้งปีจนกว่าจะถึงฤดูการทำนาในปีถัดไป ดังจะสังเกตได้จากบ้านเรือนคนอีสาน จะมีเล้าข้าวอยู่ในบริเวณบ้านด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : เต่า : สัญญะแห่งความอุดมสมบูรณ์ในวัฒนธรรมข้าวชาวอีสาน

redline

backled1

attalak isan

เฮือนและเถียงนา

ดินแดนในภาคอีสานเป็นถิ่นที่มีความแห้งแล้งจากสภาพภูมิอาศในฤดูร้อน มีตวามหนาวเย็นในหน้าหนาว บ้านเรือน หรือ เฮือน ที่อยู่อาศัยจึงมีรูปแบบยกใต้ถุนสูง (มี ใต้ล่าง หรือ ตะหล่าง) ตัวบ้านค่อนข้างทึบ มีเฮือนนอน เฮือนไฟ ชายคากว้างค่อนข้างต่ำ มีชานเรือนมีหลังคาคลุม ใต้ถุนสูงเพื่อเป็นที่พักอาศัย ทำกิจกรรมต่างๆ ในหน้าร้อน เช่น การต่ำหูกทอผ้า เป็นที่เก็บเครื่องมือทำการเกษตร และที่อยู่ของสัตว์เลี้ยง

baisri sukwan 20

ชาวอีสานได้รับอิทธิพลไต ลาว จึงนำคติความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน จะนับถือบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ คือ ผีปู่ตา ผีฟ้า ผีแถน ควบคู่ไปกับศาสนาพุทธ ซึ่งทำให้เกิดระเบียบแบบแผนในการก่อสร้างบ้านเรือน การหาฤกษ์ยามปลูกบ้านเฮือน ฤกษ์การเข้าอยู่อาศัย การสู่ขวัญเฮือน เป็นต้น

คำว่า "บ้าน" กับ "เฮือน" สำหรับความเข้าใจของชาวอีสานแล้วจะมีความต่างกัน คำว่า "บ้าน" มักจะหมายถึง "หมู่บ้าน" ที่ประกอบด้วยเฮือนหลายหลัง อยู่อาศัยรวมกันเป็นชุมชน เป็นหมู่บ้าน มิใช่เป็นหลังๆ ส่วนคำว่า "เฮือน" นั้น ชาวอีสานหมายถึง เรือนที่เป็นหลังๆ

นอกจากคำว่า "เฮือน" แล้ว อีสานยังมีสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะการใช้สอยใกล้เคียงกัน แต่รูปแบบแตกต่างกันไป เช่น คำว่า "โฮง" หมายถึงที่พักอาศัยที่ใหญ่กว่า "เฮือน" มักมีหลายห้อง เป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองในสมัยโบราณ คำว่า "คุ้ม" หมายถึง บริเวณที่มี "เฮือน" รวมกันอยู่หลายๆ หลัง เป็นหมู่อยู่ในละแวกเดียวกัน ในหนึ่งหมู่บ้านอาจมีหลายคุ้ม เช่น คุ้มเหนือ คุ้มใต้ คุ้มตะเว็นตก คุ้มตะเว็นออก (ตะเว็น = ตะวัน, ดวงอาทิตย์) ส่วนคำว่า "ตูบ" หมายถึง กระท่อมที่ปลูกไว้เป็นที่พักชั่วคราว มุงด้วยหญ้าหรือใบไม้

รูปแบบของเรือนไทยอีสาน

รูปแบบของเรือนไทยอีสานสามารถแบ่งได้ตามประเภทของการพักอาศัย ที่ตอบสนองประโยชน์ใช้สอยในวาระต่างๆ กัน ดังนี้

  • ประเภทชั่วคราว หรือ ใช้เฉพาะฤดูกาล ได้แก่ "เถียงนา" หรือ "เถียงไร่" ส่วนใหญ่จะยกพื้นสูง เสาเรือนใช้ไม้จริง ส่วนโครงใช้ไม้ไผ่ หลังคามุงหญ้าหรือแป้นไม้ที่รื้อมาจากเรือนเก่า พื้นเป็นไม้ไผ่สับฟาก ทำฝาโล่ง หากไร่นาไม่ไกลสามารถไปกลับได้ มีอายุใช้งาน 1-2 ปี สามารถรื้อซ่อมใหม่ได้ง่าย
    เถียงนา 
  • ประเภทกึ่งถาวร เป็นเรือนขนาดเล็กที่ไม่มั่นคงแข็งแรงนัก ชาวอีสานเรียกว่า "เรือนเหย้า" หรือ "เฮือนย้าว" เป็นการเริ่มต้นชีวิต การครองเรือน และค่อยๆ เก็บหอมรอมริบไปสู่การมีเรือนถาวรในที่สุด เรือนประเภทนี้วัสดุก่อสร้างมักไม่พิถีพิถันนัก อาจเป็นแบบ "เรือนเครื่องผูก" หรือเป็นแบบผสมของ "เรือนเครื่องสับ" ก็ได เรือนประเภทกึ่งถาวรนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
    เฮือนเหย้า
    • เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด "ตูบต่อเล้า" เป็นเรือนที่อิงเข้ากับตัวเล้าข้าว ซึ่งมีอยู่เกือบทุกครัวเรือน มีลักษณะคล้ายเพิงหมาแหงนทั่วไป ด้านสูงจะไปอาศัยโครงสร้างของเล้าข้าวเป็นตัวยึด ต่อหลังคาลาดต่ำลงไปทางด้านข้างของเล้า แล้วใช้เสาไม้จริงตั้งรับเพียง 2-3 ต้น มุงหลังคา ด้วยหญ้าหรือสังกะสี ยกพื้นเตี้ยๆ กั้นฝาแบบชั่วคราว อาศัยกันไปก่อนสักระยะหนึ่ง พอตั้งตัวได้จะย้ายไปปลูกเรือนใหญ่ถาวรอยู่เอง
      ตูบต่อเล้า
    • เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด "ดั้งต่อดิน" เป็นเรือนพักอาศัยที่แยกตัวออกจากเรือนใหญ่ทำนองเดียวกับ "ตูบต่อเล้า" แต่จะดูเป็นสัดส่วน มากกว่า ขนาดของพื้นที่ค่อนข้างน้อย กว้างไม่เกิน 2 ม. ยาวไม่เกิน 5 ม. นิยมทำ 2 ช่วงเสา คำว่า "ดั้งต่อดิน" เป็นคำเรียกของชาวไทยอีสานที่ หมายถึง ตัวเสาดั้งจะฝังถึงดิน และใช้ไม้ท่อนเดียวตลอดสูงขึ้นไปรับอกไก่
      วิธีสร้าง "ดั้งต่อดิน" มักใช้ผูกโครงสร้างเหมือนกับเรือนเครื่องผูก ตัวเสาและเครื่องบนนิยมใช้ไม้จริงทุบเปลือก หลังคามักมุงด้วยหญ้าคา ที่กรองเป็นตับแล้วเรียกว่า "ไพหญ้า" ฝาเรือนมักใช้ฝาแถบตอง โดยใช้ใบกุงหรือใบชาดมาประกบกับไม้ไผ่สานโปร่งเป็นตาราง หรือทำเป็นฝาไม้ไผ่สับฟาก สานลายขัดหริอลายสองทแยงตามแต่สะดวก ส่วนพื้นนิยมใช้พื้นสับฟากหรือใช้แผ่นกระดานปูรอง โดยใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกมามัด ขนาบกันแผ่นกระดานขยับเลื่อน
    • เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด "ดั้งตั้งคาน" ยังอยู่ในประเภทของเรือนเครื่องผูก มีความแตกต่างจากเรือน "ดั้งต่อดิน" ตรงที่เสาดั้งต้น กลางจะลงมาพักบนคานของด้านสกัดไม่ต่อลงไปถึงดิน ส่วนการใช้วัสดุมุงหลังคา ฝาและพื้นเรือนจะใช้เช่นเดียวกับเรือนประเภท "ดั้งต่อดิน"
  • ประเภทถาวร ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น "เรือนเครื่องสับ" สังเกตได้จากการเลือกใช้วัสดุ รูปแบบของการก่อสร้าง ประโยชน์ใช้สอย และความประณีตทางช่าง อาจจำแนกเรือนถาวรได้เป็น 3 ชนิด คือ
    • ชนิดเรือนเกย มีลักษณะใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่ว เสาใช้ไม้กลม 8 เหลี่ยม หรือเสา 4 เหลี่ยม ตัวเรือนประกอบด้วยเรือนใหญ่ เกย ชานแดด เรือนไฟ และฮ้างแอ่งน้ำ (ร้านหม้อน้ำ)
    • ชนิดเรือนแฝด มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยมเช่นเดียวกัน ตัวเรือนประกอบด้วยเรือนใหญ่ เรือนแฝด เกย ชานแดด เรือนไฟ ฮ้างแอ่งน้ำ
    • ชนิดเรือนโข่ง มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยม มีจั่วแฝดอยู่ชิดติดกัน ไม่นิยมมีเกย เรือนชนิดนี้ประกอบด้วย เรือนใหญ่ เรือนโข่ง ชานแดด เรือนไฟ และฮ้างแอ่งน้ำ
    เรือนเครื่องสับเหล่านี้ ไม่นิยมเจาะช่องหน้าต่าง มักทำหน้าต่างเป็นช่องแคบๆ ส่วนประตูเรือนทำเป็นช่องออกทางด้านหน้าเรือนเพียงประตูเดียว ภายในเรือนจึงค่อนข้างมืด เพราะในฤดูหนาวมีลมพัดจัดและอากาศหนาว จึงต้องทำเรือนให้ทึบและกันลมได้ หลังคาเรือนทำเป็นทรงจั่วอย่างเรือนไทยภาคกลาง มุงด้วยกระเบื้องดินเผา หรือกระเบื้องไม้สัก (แป้นเกล็ด) จั่วกรุด้วยไม้ตีเกล็ดเป็นรูปรัศมีของอาทิตย์ทั้งสองด้าน รอบหลังคาไม่มีชายคาหรือปีกนกยื่นคลุมตัวบ้านเหมือนอย่างเรือนไทยภาคกลาง

เฮือนแฝด

เอกลักษณ์ของเรือนไทยภาคอีสาน

  • ไม่นิยมทำหน้าต่างทางด้านหลังตัวเรือน ถ้าจะทำจะเจาะเป็นช่องเล็กๆ พอให้ยี่นศีรษะออกไปได้เท่านั้น เรียก ป่องเอี้ยม
  • ไม่นิยมต่อยอดป้านลมให้สูงขึ้นไปเหมือนเรือนของชาวไทยล้านนาที่เรียกว่า "กาแล"
  • ไม่นิยมตั้งเสาเรือนบนตอม่อ เหมือนเรือนของชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้ ด้วยเหตุที่ชาวไทยภาคอีสานปลูกเรือนด้วยการฝังเสาลงในดิน จึงไม่มีการตั้งบนตอม่อ

พาเบิ่งเฮือนอิสานโบราณ ที่ นาดูน มหาสารคาม

องค์ประกอบของเรือนไทยภาคอีสาน

huan isan 01

  • เรือนนอนใหญ่ จะวางด้านจั่วรับทิศตะวันออก-ตะวันตก ส่วนมากจะมีความยาว 3 ช่วงเสา เรียกว่า "เรือนสามห้อง" ใต้ถุนโล่ง ชั้นบนแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
    • ห้องเปิง เป็นห้องนอนของลูกชาย มักไม่มีการกั้นห้อง
    • ห้องพ่อ-แม่ อาจกั้นเป็นห้องหรือปล่อยโล่ง
    • ห้องนอนลูกสาว หรือเรียกว่า ห้องส้วม มีประตูเข้ามีฝากั้นมิดชิด หากมีลูกเขยจะให้นอนในห้องนี้
    ส่วนชั้นล่างของเรือนนอนใหญ่ อาจใช้สอยได้อีก เช่น กั้นเป็นคอกวัวควาย ฯลฯ
  • เกย คือบริเวณชานโล่งที่มีหลังคาคลุม เป็นพื้นที่ลดระดับลงมาจากเรือนนอนใหญ่ มักใช้เป็นที่รับแขก หรือที่รับประทานอาหาร ส่วนของใต้ถุนจะเตี้ยกว่าปกติ อาจไว้ใช้เป็นที่เก็บฟืน
  • เรือนแฝด เป็นเรือนทรงจั่วแฝด เช่นเดียวกับเรือนนอน โครงสร้างทั้งคานพื้นและขื่อหลังคา จะฝากไว้กับเรือนนอน แต่หากเป็นเรือนแฝดลดพื้นลงมากกว่าเรือนนอน ก็มักเสริมเสาเหล็กมารับคานไว้อีกแถวหนึ่งต่างหาก
  • เรือนโข่ง มีลักษณะเป็นเรือนทรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอนใหญ่ แต่ต่างจากเรือนแฝดตรงที่โครงสร้างของเรือนโข่งจะแยก ออกจากเรือนนอนโดยสิ้นเชิง สามารถรื้อถอนออกไปปลูกใหม่ได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่อเรือนนอน การต่อเชื่อมของชายคาทั้งสองหลังใช้รางน้ำ โดยใช้ไม้กระดาน 2 แผ่น ต่อกันเป็นรูปตัววีแล้วอุดด้วยชันผสมขี้เลื่อย ในกรณีที่เรือนไม่มีครัวก็สามารถใช้พื้นที่ส่วนเรือนโข่งนี้ทำครัวชั่วคราวได้
  • เรือนไฟ (เรือนครัว) ส่วนมากจะเป็นเรือน 2 ช่วงเสา มีจั่วโปร่งเพื่อระบายควันไฟ ฝานิยมใช้ไม้ไผ่สานลายทแยงหรือลายขัด
  • ชานแดด เป็นบริเวณนอกชานเชื่อมระหว่างเกย เรือนแฝดกับเรือนไฟ มีบันไดขึ้นด้านหน้าเรือน มี "ฮ้านแอ่งน้ำ" อยู่ตรงขอบของ ชานแดด บางเรือนที่มีบันไดขึ้นลงทางด้านหลังจะมี "ชานมน" ลดระดับลงไปเล็กน้อยโดยอยู่ด้านหน้าของเรือนไฟ
  • เสาแฮก (แรก) เสาขวัญ จะยึดเสาคู่ในทางตะวันออก เสาแฮกจะอยู่ด้านในซึ่งเป็นด้านขยายตัวเรือนออกเป็น เฉลียง ชาน ถ้ากรณีหันหัวนอนไปทางทิศใต้ตำแหน่งเสาแฮก-เสาขวัญจะสลับกันกับเสาลักษณะแรก การเลือกเสาคู่นี้ต้องเลือกเสาที่ดี วิธีผูกเสาแฮก-เสาขวัญ การผูกเสาจะใช้สิ่งที่เป็นมงคลและที่มีความหมายเป็นศรีแก่เรือนและผู้อยู่ อาศัยให้มีความเป็นสิริมงคลเช่น ใบยอ ใบคูน ยอดอ้อย กล้วย ไซใส่เงิน-ทอง อัก (เครื่องมือสำหรับเก็บด้ายทอผ้า)

haan angnam 01

ฤกษ์ยามในการปลูกเฮือน

ฤกษ์เดือน

  • เดือนอ้าย นาคนั้นหลับนอนหลับหากปลูกเรือนอยู่มักตาย
  • เดือนยี่ นาคนอนตื่น ปลูกเรือนอยู่ดีมีสุข
  • เดือนสาม นาคหากินทางเหนือ มิดี อยู่ฮ้อนไฟจักไหม้
  • เดือนสี่ นาคหากินอยู่เรือน ปลูกเรือนอยู่ดีเป็นมงคล
  • เดือนห้า นาคพ่ายครุฑหนี ปลูกเรือนร้อนอกร้อนใจ มิดี
  • เดือนหก จะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง มิตรสหายมาก
  • เดือนเจ็ด นาคพ่ายหนี จักได้พรากจากเรือน มิดี
  • เดือนแปด นาคเห็นครุฑ จักได้เสียของมีรู้แล้ว
  • เดือนเก้า นาคประดับตน ปลูกเรือนมีข้าวของกินมิรู้หมด
  • เดือนสิบ นาคถอดเครื่องประดับ ปลูกเรือนเข็ญใจ และคนในเรือนมักเจ็บไข้ตาย
  • เดือนสิบเอ็ด จะเกิดทุกข์ภัยอันตรายต่างๆ มักจะมีคนฟ้องร้องกล่าวหา จักมีโทษทัณฑ์
  • เดือนสิบสอง จะได้ทรัพย์สิน เงินทอง ข้าวของและคนใช้

ฤกษ์วัน

  • วันอาทิตย์ ปลูกเรือนจะเกิดทุกข์อุบาทว์
  • วันจันทร์ ทำแล้ว 2 เดือน จะได้ลาภผ้าผ่อนและของขาวเหลือง เป็นที่พึงพอใจ
  • วันอังคาร ทำแล้ว 3 วัน ไฟจะไหม้หรือจะเจ็บไข้
  • วันพุธ ปลูกเรือนจะได้ลาภเครื่องอุปโภคมีผ้าผ่อน เป็นต้น
  • วันพฤหัสบดี ปลูกเรือนจะเกิดสุขกายสบายใจ ทำแล้ว 5 เดือนจะได้โชคลาภมาก
  • วันศุกร์ ปลูกเรือนจะมีความทุกข์และความสุขก้ำกึ่งกัน ทำแล้ว 3 เดือนจะได้ลาภเล็กน้อย
  • วันเสาร์ ปลูกเรือนจะเกิดพยาธิ หรือเลือดตกยางออก ทำแล้ว 4 เดือนจะลำบาก ห้ามไม่ให้ทำแล

huan fad 02

ก่อนการลงมือก่อสร้าง "เฮือน" อันดับแรกต้องพิจารณาสถานที่ๆ จะสร้างเรือนก่อน โดยต้องเลือกเอาสถานที่ปลอดโปร่ง ไม่มีหลุมบ่อ ไม่มีจอมปลวก ไม่มีหลุมผี ไม่มีตอไม้ใหญ่ และต้องดูความสูงต่ำ ลาดเอียงของพื้นดินว่า ลาดเอียงไปทางทิศใด และจะเป็นมงคลหรือไม่ดังนี้

  • พื้นดินใด สูงหนใต้ ต่ำทางเหนือ เรียกว่า "ไชยะเต ดีหลี"
  • พื้นดินใด สูงหนตะวันตก ต่ำทางตะวันออก เรียกว่า "ยสะศรี-ดีหลี"
  • พื้นดินใด สูงทางอีสาน ต่ำทางหรดี เรียกว่า "ไม่ดี"
  • พื้นดินใด สูงทางอาคเนย์ ต่ำทางพายัพ เรียกว่า "เตโซ" เฮือนนั้นไม่ดี เป็นไข้ พยาธิฮ้อนใจ

เมื่อเลือกได้พื้นที่ปลูกเรือนแล้ว จะมีการเสี่ยงทายพื้นที่นั้นอีกครั้งหนึ่ง โดยจัดข้าว 3 กระทง คือ ข้าวเหนียว 1 กระทง ข้าวเหนียวดำ 1 กระทง และข้าวเหนียวแดง 1 กระทง นำไปวางไว้ตรงหลักกลางที่ดินเพื่อให้กากิน ถ้า กากินข้าวดำ ท่านว่าอย่าอยู่เพราะที่นั้นไม่ดี ถ้ากากินข้าวแดง ท่านว่าไม่ดียิ่งเป็นอัปมงคลมาก ถ้ากากินข้าวขาว ท่านว่าดีหลี จะอยู่เย็นเป็นสุข ให้รีบเฮ็ดเรือนสมสร้างให้เสร็จเร็วไว

การเลือกพื้นที่ที่จะปลูกเรือนอีกวิธีหนึ่งคือ การชิมรสของดิน โดยขุดหลุมลึกราวศอกเศษๆ เอาใบตองปูไว้ก้นหลุม แล้วหาหญ้าคาสดมาวางไว้บนใบตอง ทิ้งไว้ค้างคืนจะได้ไอดินเป็นเหงื่อจับอยู่หน้าใบตอง จากนั้นให้ชิมเหงื่อที่จับบนใบตอง หากมีรสหวาน เป็นดินที่พออยู่ได้ มีรสจืด เป็นดินที่เป็นมงคล จะอยู่เย็นเป็นสุข มีรสเค็ม เป็นอัปมงคล ใครอยู่มักไม่ยั่งยืน มีรสเปรี้ยว พออยู่ได้แต่ไม่ใคร่ดีนัก จะมีทุกข์เพราะเจ็บไข้อยู่เสมอ

huan isan 02

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม การออกแบบเฮือนจะเน้นประโยชน์ใช้สอยและคำนึงถึงธรรมชาติโดยรอบ สัดส่วนมีความพอดี กลมกลืน และชาญฉลาด

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม คติความเชื่อโบราณในเรื่องความอยู่สบายและเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย

เถียงนา

คําว่า "เถียงนา" มีการอธิบายถึงความหมายอย่างกว้างๆ ว่า เป็นสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่ในที่นาใช้งานในช่วงฤดูเพาะปลูกเป็นหลัก สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องการเดินทางไป-กลับ ระหว่างบ้านและที่นาที่ต้องใช้เวลานาน และใช้เป็นสถานที่เพื่อการพักผ่อนระหว่างวัน ซึ่งสถาปัตยกรรมลักษณะเช่นนี้คล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า "ห้างนา" ของภาคเหนือ "โรงนา" ของภาคกลาง และ "ขนํานา" ของภาคใต้

tiang na 01

ทั้งนี้พจนานุกรมภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ความหมายคําว่า "เถียง" หมายถึง "โรงนาขนาดเล็กที่ทําไว้ชั่วคราวตามท้องไร่ท้องนา" เรียกว่า "เถียงนา" ถ้าสร้างในป่า เรียก "เถียงไฮ่" สําหรับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายว่า "เรือนพักอาศัยชั่วคราวในทุ่งนาสําหรับอยู่เฝ้าข้าว"

ในภาษาลาวปรากฏคำว่า “เถียงนา” เช่นกัน หมายถึง ร้านชนิดหนึ่งที่มีการยกพื้น ลักษณะคล้ายกับเรือนแต่มีขนาดย่อมกว่า มักสร้างอยู่ตามทุ่งนาหรือไร่ และยังมีการอธิบายที่มาของชื่อเรียก "เถียงนา" ในภาษาลาวนั้นน่าจะเป็นการปรับรูปคำและความหมายมาจากคำว่า “เตียง” ในภาษาจีนโบราณ ซึ่งหมายถึง ร้านที่สร้างขึ้นเพื่อให้คนนอน

"เถียงนา" มักสร้างในพื้นที่ราบลุ่มที่มีการหักร้างถางพง เพื่อปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่นา โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า "ดอนหัวนา" ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง และมักมีต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เป็นไม้ผลโดยรอบบริเวณเถียงนา และถ้าเป็นเถียงนาขนาดใหญ่กึ่งถาวร จะปลูกผักพืชสวนครัวไว้เป็นอาหาร และมีพื้นที่ที่ใช้เลี้ยงสัตว์ บางแห่งมีการขุดบ่อน้ำไว้สำหรับอาบ กิน หรือใช้เลี้ยงปลา ในช่วงฤดูทำนา เก็บเกี่ยว ไถหว่าน ชาวนาจะยกครอบครัว เครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งสัตว์เลี้ยงไปอยู่ที่เถียงนาเพื่อความสะดวกในการดูแล เสมือนเป็นบ้านหลังที่สอง และเมื่อสิ้นฤดูการทำนา เถียงนามักจะถูกทิ้งร้าง ใช้เป็นเพียงที่พักพิงในช่วงเวลากลางวันตอนออกไปเลี้ยงวัว ควาย หรือหาของป่าตามหัวไร่ปลายนา หรือใช้เป็นที่ตั้งวงเหล้า รวมทั้งเล่นการพนัน

สําหรับประเด็นเรื่อง ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเถียงนา เชื่อว่า ก่อนการสร้างเถียงนาบางแห่งมีการทําพิธีบนบาน บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อขออนุญาตปลูกสร้างเถียงนา และบางพื้นที่ก็อาจมีการสมมติเหตุการณ์ เพื่อเป็นการถือเคล็ด โดยให้คน 2 คนออกไปในนา บริเวณตรงที่จะปลูกสร้างเถียง แล้วให้ทั้งสองคนถกเถียงกันอย่างรุนแรง ทำให้เกิดเสียงดังมากๆ หรืออาจจจะทำให้ถึงขั้นลงมือชกต่อยกัน เพื่อให้ดูสมจริงมากขึ้น จะได้เป็นการรบกวนไปถึงผีป่าหรือวิญญาณที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น เกิดความรำคาญหรือความกลัว จนต้องหลบหนีไปอยู่ที่อื่น ซึ่งเชื่อกันว่า จะทำให้พื้นที่ปลูกสร้างนั้นเกิดความสงบร่มเย็น ปราศจากภัยอันตรายต่างๆ จากนั้นจึงเริ่มลงมือปลูกสร้างเถียงนา

โดยในการสร้างเถียงนานี้ บางพื้นที่จะไม่สร้างเถียงนาหันไปทางทิศตะวันตก เพราะถือว่าเป็น "ทิศผีตาย" และยังมีการกล่าวถึงความเชื่อเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าบ้านใดไม่มีเถียงนาเป็นของตนเอง คนนั้นจะยากจนและไม่ได้เป็นที่ยอมรับในสังคม นอกจากนี้ การเลือกที่ตั้งยังต้องสังเกตว่า เป็นที่อากาศปลอดโปร่ง สะดวกต่อการเดินทาง การลําเลียงผลผลิต และสามารถมองเห็นโดยรอบ เพื่อให้ง่ายในการดูแลนาข้าว ซึ่งการเลือกทําเลที่ตั้งนี้ ถือเป็นภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดกันต่อมา

tiang na 02

เอกลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็น "เถียงนา" คือ เป็นเรือนมีหลังคา ด้านข้างเปิดโล่งคล้ายศาลา ไม่นิยมกั้นฝา เพื่อระบายอากาศเวลาพักผ่อน สามารถสอดส่องดูแลผลิตผลทั่วถึง บางแห่งอาจกั้นฝาในบางด้าน เพื่อป้องกันฝน ลม และแดด แต่จะไม่นิยมกั้นโดยรอบ และไม่นิยมทำรั้ว

  • เสา ส่วนใหญ่มีเสา 4 ต้น อาจมีการเพิ่มเสาเพื่อต่อหลังคาสำหรับใช้ประโยชน์เพิ่มเติม วัสดุทำจากไม้เนื้อแข็งที่หาได้ในบริเวณใกล้เคียง
  • หลังคา เป็นทรงจั่ว หรือเพิงระนาบ ยกสูงด้านด้านหนึ่งเพื่อระบายฝน วัสดุส่วนใหญ่เป็นหญ้าคา ใบไม้ หรือวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ในปัจจุบันเปลี่ยนไป เช่น ใช้สังกะสี พลาสติก กระเบื้อง ป้ายโฆษณา (หาเสียงของผู้แทน)
  • พื้น ส่วนใหญ่ทำจากไม้ ไม้ไผ่ หรือไม้กระดาน พื้นของเถียงนาจะยกสูงจากพื้นดิน บางหลังอาจต่อเติมพื้นเพื่อการใช้งานเพิ่มเติม ลักษณะคล้ายกับเกยของเรือน เถียงนาบางแห่งไม่มีพื้นกระดาน ใช้พื้นดินแทน มักเป็นเถียงนาที่น้ำท่วมไม่ถึง
  • ใต้ถุน บางแห่งยกพื้นขึ้นสูง เพื่อใช้งานบริเวณด้านล่าง เช่น เลี้ยงสัตว์ ใช้เก็บผลผลิต เครื่องไม้เครื่องมือ และอุปกรณ์การเกษตร หรือประกอบอาหาร

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเถียงนา มีลักษณะและขนาดที่ไม่แน่นอน แต่ปกติมักมีขนาดตั้งแต่ 2 x 2 เมตรขึ้นไป ความคงทนและความประณีตขึ้นอยู่กับที่ตั้งระหว่างเถียงนากับบ้านว่า มีความใกล้หรือไกลมากน้อยเท่าใด มีการระบุการแบ่งประเภทเถียงนาออกเป็น 2 ลักษณะคือ

  • เถียงนาชั่วคราว เป็นเถียงนาที่สร้างอยู่ใกล้บ้าน เดินทางไป-กลับได้ภายในหนึ่งวัน มีขนาดเล็กมักใช้เสา 4 ต้น ทําเป็นห้องเดียว มีการยกพื้นง่ายๆ หรืออาจไม่ยกพื้น เพราะใช้การนั่งติดพื้นดินได้เลยและ
  • เถียงนาค่อนข้างถาวร เป็นเถียงนาที่สร้างไกลจากบ้าน ไม่สะดวกในการเดินทางไป-กลับ โครงสร้างเถียงนามักมีขนาดเสา 6 ต้น สามารถทําห้องได้ 2 ห้อง มีการยกพื้นสามารถอาศัยนอนได้

tiang na 03

มีการพบเถียงนาอีกแบบหนึ่ง เป็นภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของชาวนา ที่ไม่สามารถหาพื้นที่ที่เหมาะสมสําหรับการสร้างเถียงนาได้ มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีเสาหลัก 4 ต้น และโครงสร้างหลังคาไม้ไผ่ ใช้หญ้ามุง มีน้ําหนักเบาง่ายต่อการเคลื่อนย้ายได้ เรียกว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับเถียงนาพื้นติดดินเรียกว่า "เถียงนาเคลื่อนที่" (เป็นแคร่ไม้ไผ่ยกพื้นเล็กน้อยมีเสา 4 ต้นมุงด้วยหญ้าคาหรือฟางข้าว)

tiang na 04

[ อ่านเพิ่มเติมเรื่องที่เกี่ยวข้อง : การปลูกเฮือน | การสู่ขวัญเฮือน | เฮือนอีสาน ]

redline

backled1

attalak isan

หอระฆังและหอกลอง

หอระฆังและหอกลอง เดิมทีวัดในชนบทของอีสานนิยมใช้ "โปง" ตีบอกเวลาในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา เป็นการสื่อสารระหว่างพระกับชาวบ้าน โปง ซึ่งทำด้วยไม้เนื้อแข็งให้เสียงทุ้มนุ่มนวลและได้ยินไปไกล โปงจะผูกไว้ใต้ถุนกุฏิหรือหอแจก จึงไม่จำเป็นต้องทำโรงเรือน ต่อมาเมื่อวัดในอีสานได้รับอิทธิพลจากเมืองหลวงในการใช้ระฆังหรือกลองเป็นสัญญาณเสียง ประกอบกับไม้ทำโปงเริ่มหายาก และโปงเก่าเมื่อกระทุ้งบ่อยๆ ก็จะสึกและชำรุดจนทำให้เสียงเสียไป วัดจึงได้สร้างหอสูง 3 ชั้นขึ้น โดยรวมทั้งระฆัง กลอง และโปง ให้อยู่ในหอเดียวกัน

hor klong pong 01

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปทรงโปร่ง มี 3 ชั้นสูงในแนวตั้ง หลังคาจตุรมุขซ้อนชั้น ยอดแหลม มีการแกะสลักไม้เป็นลายนาค ลายก้านขด ลายเครือวัลย์ เป็นต้น

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เป็นสัญญาณการสื่อสารที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมทางพุทธศาสนา สร้างความสัมพันธ์ระหว่างพระกับชาวบ้าน

ในสมัยโบราณ การบอกเวลาในโมงยามต่างๆ จะใช้การตีเกราะ เคาะไม้เพื่อบอกเวลา หรือแจ้งข่าวสาร ประชุมคนในชุมชน ต่อมามีการตีโปง กลอง หรือระฆัง เพื่อใช้บอกเวลาในการกระทำการที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น บอกเวลาทำวัตรเช้า เย็น บอกเวลาบิณฑบาตรของพระเณร บอกเวลาฉันเพล เป็นต้น เราจึงพบว่า ในวัดวาอารามมีการสร้างตัวอาคารสำหรับใช้แขวนโปง กลองและระฆังเหล่านี้ ในการเป็นศูนย์กลางของการบอกเวลาที่เรียกว่า หอระฆังและหอกลอง

hor rakang mai 02

หอระฆังและหอกลอง เป็นอาคารประเภทหนึ่งที่ปรากฏการสร้างมาแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน โดยมากพบในวัด ทั้งเขตพุทธาวาส และสังฆาวาส ใช้แขวนระฆังและกลองสำหรับตีบอกเวลา เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ทราบเวลาสำหรับการประกอบวัตรปฏิบัติต่างๆ โดยพร้อมเพรียงกันอันได้แก่ การทำวัตรเช้า-เย็น การฉันเพล เป็นต้น

ในทางความเชื่อเรื่องเสียงระฆัง เชื่อกัน ในอดีตว่าถ้าโลกนี้ไม่มีเสียงระฆัง (หมายถึง ไม่มีศาสนา) แล้วจะมียักษ์มากินมนุษย์ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ที่กล่าวมาแล้ว วัดในพระพุทธศาสนา (ฝ่ายเถรวาท) จึงต้องสร้างหอระฆังเพื่อใช้ประโยชน์ตามข้างต้น

รูปแบบและโครงสร้างของหอระฆังและหอกลองนั้น มีความคล้ายคลึงกันมาก อาจแตกต่างกันเฉพาะชื่อเรียกเท่านั้น โดยทั่วไปมักสร้างขึ้นโดยใช้แผนผังรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยเน้นให้มีรูปทรงสูง สามารถจำแนกประเภทได้ 2 ประเภทคือ

  • ชนิดเครื่องไม้ หมายถึง ประเภทที่สร้างตัวอาคารด้วยโครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆ เป็นไม้ทั้งสิ้น มีไม้พาดเป็นขื่อสำหรับแขวนระฆังหรือกลอง มีความโปร่งโล่ง เพราะไม่ได้ก่อฝาผนังทึบตัน เช่น หอระฆังไม้  วัดศรีบุญเรือง อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นหอระฆังไม้ทรงสูง เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส สร้างด้วยไม้ทั้งหมด เสารองรับหอระฆัง มีขนาดเส้นรอบวงประมาณ 1.15 เมตร ระยะห่างของเสาทั้ง 4 ต้น ห่างกันประมาณ 2.10 เมตร หอระฆังเป็นหอสูง 4 ชั้น แต่ละชั้นปูพื้นไม้กระดาน มีบันไดเชื่อมต่อกันทุกชั้น หลังคาทรงจตุรมุขลดหลั่นกัน 3 ชั้น ประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุ ลายเครือเถาลายกนก ศิลปกรรมแบบพื้นถิ่นอีสาน
    นอกจากนี้ยังพบหอกลองชนิดเครื่องไม้ที่มีคุณค่ายิ่ง คือ หอกลอง วัดโคกบัวราย อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นหอกลองสูงสามชั้น มีความเรียบง่ายแบบพื้นบ้าน โครงสร้างก็เป็นแบบโปร่งโล่งและมีเอกลักษณ์ของศิลปกรรมท้องถิ่น ที่เน้นประโยชน์ใช้สอยมากกว่า

hor rakang mai 01

  • ชนิดเครื่องก่อ หมายถึง ประเภทที่สร้างด้วยโครงสร้างแบบก่ออิฐถือปูนเช่นเดียวกับตึก ชั้นล่างโถงโล่ง มีบันไดเชื่อมต่อชั้นบน หอระฆังและหอกลองชนิดเครื่องก่อนี้มีทั้งที่ก่ออิฐเป็นผนังทึบตัน และแบบโปร่งเช่นเดียวกับเครื่องไม้ อาทิ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร จังหวัดสกลนคร เป็นหอกลองสูงทั้งหมดสามชั้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2503 โดยชาวเวียดนามที่ได้มาพำนักอาศัย ณ จังหวัดสกลนคร ร่วมใจกันสร้างขึ้นถวายองค์พระธาตุเชิงชุม เพื่อเป็นพุทธบูชาเพื่อใช้บอกเวลายามต่างๆ

hor klong pratat cherng chum

ในปัจจุบัน วัดยังคงใช้การตีระฆังและกลอง เพื่อบอกเวลาปฏิบัติกิจของสงฆ์เช่นเดิม นอกจากเป็นเสียงที่ดังกังวาลและเยือกเย็นแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของการสร้างหอระฆังและหอกลองของไทยไว้ด้วย

pong mai 01

โปง

คำว่า "โปง" หมายถึง ระฆังใหญ่ ทำด้วยไม้ ใช้กระทุ้งให้เกิดเสียง

โปง หรือ กะปุง เป็นเครื่องตีบอกอาณัติสัญญาณของพระสงฆ์ในวัด แทนการตีระฆัง หรือกลอง เพราะเสียงโปงจะดังกังวานกว่าระฆังหรือกลอง โปงทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ตะเคียนท่อนใหญ่ตัดหัวท้าย แล้วนำมาขุดให้เป็นโพรงกลวงข้างใน คว่ำด้านที่ขุดเป็นโพรงลงด้านล่าง เจาะด้านข้างเป็นรูทั้งสองข้างเพื่อเป็นรูเสียง หรือรูแพ แล้วเจาะรูด้านบนสำหรับสอดไม้ค้ำโปงกับเสาแขวนไว้ใต้หอระฆัง เวลาตีใช้ไม้ท่อนใหญ่ๆ ลักษณะคล้ายสากกระทุ้งโปงเพื่อให้เกิดเสียง กริยากระทุ้งโปงภาษาท้องถิ่นอีสานเรียก "ทั่งโปง" กระทุ้งโปงตามกาลเวลาดังนี้

  • เวลาเช้า ก่อนพระบิณฆบาต เพื่อให้ญาติโยมเตรียมตัวตักบาตร
  • เวลาเย็น เพื่อประโยชน์ให้คนที่หลงป่ากลับมาถูกทิศ
  • เวลาย่ำค่ำ ในช่วงเข้าพรรษาเพื่อให้พระลงทำวัตรเย็น
  • เวลายามวิกาล แสดงว่าเกิดเหตุร้ายขึ้นในวัด และแจ้งข่าวสารให้ชาวบ้านได้ทราบว่าทางวัดขอความช่วยเหลือ....

พระทั่งโปง วัดโพธิ์ศรีตาราม บ้านพอก-โนนหนองผือ จังหวัดยโสธร

สำหรับโปงไม้ที่วัดสุปัฏนารามวรวิหารนี้ ทำด้วยไม้ตะเคียน (ไม้แคน) สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2467 พระบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) มอบหมายให้ พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนตโร หรือหลวงพ่อดีโลด) เป็นนายช่างสร้างโปงใบนี้ ปัจจุบันแขวนอยู่ใต้หอระฆัง แต่เลิกใช้งานแล้ว เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ (ช่างท้องถิ่น) โดยมีขนาด ความสูง 357 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 102.3 เซนติเมตร

hor klong pong 02

redline

backled1

 

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)