foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

attalak isan

กะโนบติงต็อง

กะโนบติงต็อง ภาษาเขมร แปลว่า ตั๊กแตนตำข้าว เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เลียนแบบลีลา ท่าทาง การเคลื่อนไหวของตั๊กแตนตำข้าว มีจังหวะลีลาที่สนุกสนานเร้าใจ กะโนบติงต็องเกิดขึ้นครั้งแรกในจังหวัดสุรินทร์ เมื่อราวห้าสิบกว่าปีก่อน ปัจจุบันนิยมเล่นทั่วไปในแถบอีสานใต้ และจังหวัดใกล้เคียง เนื้อร้องเป็นภาษาเขมร ต่อมาได้เพิ่มเนื้อร้องภาษาไทยขึ้นเพื่อความเข้าใจของผู้ชมที่หลากหลาย ใช้แสดงในงานรื่นเริงและงานเทศกาลต่างๆ

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ผู้เล่นแต่งกายเลียนแบบตั๊กแตนตำข้าวด้วยสีเขียวอ่อน ท่าเต้นเลียนแบบการกระโดดหรือการไหวตัวของตั๊กแตน มีขั้นตอน คือ ท่าบทไหว้ครู ท่าเชิดปากหลังกินอาหาร ท่าป้องดูเหยื่อ ท่าหยอกล้อหันหน้าเข้าหาคู่ ท่าสะกิด ท่าตี ท่าจิก และทำหยอกล้อ แล้วเดินเข้าหากันเป็นจบกระบวนท่ารำ

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ความสนุกสนานเร้าใจโดยการเลียนแบบท่าทางจากตั๊กแตนตำข้าว

kanop tingtong 4

กะโน้บติงต๊อง

กะโน้บติงต๊อง เป็นการแสดงของชาวจังหวัดสุรินทร์ คำว่า กะโน้บติงต๊อง เป็นภาษาถิ่นของชาวอีสานใต้ แปลว่า ตั๊กแตนตำข้าว กะโน้บติงต๊องเป็นการละเล่นที่ให้ความสนุกสนาน ด้วยลีลาที่เลียนแบบมาจากการกระโดด หรือการโยกตัวของตั๊กแตน ท่าเต้นแต่ละท่าจะใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา เอว ท่าเต้นจะแสดงลีลาการเกี้ยวพาราสีระหว่างตั๊กแตนตัวเมียและตัวผู้ ลักษณะการละเล่นจะเป็นการเล่นเป็นหมู่ เป็นกลุ่มยิ่งผู้แสดงมากยิ่งเพิ่มความสนุกมากขึ้น

kanop tingtong

ยุคเริ่มแรก (พ.ศ. 2480-2506) กะโน้ปติงต็องเป็นการเล่น เต้นเลียนแบบลีลาท่าทางการเคลื่อนไหวของตั๊กแตนตำข้าว จากการคิดริเริ่มโดย นายเต็น ตระการดี ชาวบ้านโพธิ์กอง ตำบลไพล (ปัจจุบัน คือ ตำบลเชื้อเพลิง) อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เมื่อครั้งเดินทางเข้าไปในประเทศกัมพูชา โดยขบวนเกวียนสินค้า (เกลือ) ไปค้าขาย นำไปแลกเปลี่ยนปราเฮ๊าะ (ปลาร้า) จากประเทศกัมพูชา (เขมร) ในขณะที่หยุดพักเหนื่อยนายเต็น ได้มองเห็นตั๊กแตนตำข้าวกำลังเกี้ยวพาราสีกัน และผสมพันธุ์กันอยู่ นายเต็นเฝ้าดูลีลาของตั๊กแตนคู่นั้นด้วยความประทับใจ เมื่อนายเต็นเดินทางมาถึงบ้าน จึงเกิดความคิดว่า ถ้านำเอาลีลาการเต้นของตั๊กแตนตำข้าวมาดัดแปลงและเต้นให้คนดูก็คงจะดี จึงนำแนวคิดนี้มาเล่าให้ นายเหือน ตรงศูนย์ดี หัวหน้าคณะกันตรึม ที่เล่นอยู่ในหมู่บ้านรำเบอะ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ทั้งสองจึงได้ร่วมกันแสดงต่อเนื่องกันมา การเล่นกะโน้ปติงต็องจะเต้นเป็นคู่ๆ เดิมมีผู้แสดงเพียง 2 คน เล่นสอดแทรกในวงมโหรีพื้นบ้าน

kanop tingtong 5

ต่อมานายยันต์ ยี่สุ่นศรี ครูใหญ่โรงเรียนบ้านโพธิ์กอง (ในขณะนั้น) ได้เห็นความสำคัญ และมีความชื่นชอบการแสดงกระโน้ปติงต็อง จึงได้เข้ามาร่วมแสดงเป็น 3 คน โดยมีนายเต็น และนายยันต์ เป็นผู้แสดงเข้าคู่กัน และนายเหือนจะเป็นผู้เป่าปี่สไล มีการด้นกลอนสดเป็นเนื้อร้อง แต่งกายโดยการนุ่งโสร่งและสวมเสื้อเชิ้ตแขนยาว

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง

ดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการเต้นกะโน้ปติงต็องใช้วงกะโน้ป ซึ่งประกอบด้วย

  1. กลองโทน (สก็วล) 2 ใบ
  2. ปี่ไน (ปี่ชลัย) 1 เลา
  3. ซอด้วง 1 ตัว
  4. ซออู้ 1 ตัว
  5. ฉิ่ง 1 คู่

ทำนองเพลงใช้ทำนอง กะโน้ปติงต็อง โดยบทร้องเพลงกะโน้ปติงตองในระยะแรกๆ ร้องเป็นภาษาเขมร ในระยะหลัง มีการแต่งเนื้อร้องตามงานหรือโอกาสที่ไปแสดง เพื่อให้เข้ากับงานนั้นๆ ใช้เนื้อร้องทั้งภาษาเขมรและภาษาไทยเพื่อให้ฟังง่ายขึ้น

การแต่งกาย

การแต่งกายในการเล่นกะโน้ปติงต็อง ในระยะแรกจะนุ่งโสร่งใส่เสื้อแขนยาวสีขาว ผ้าขาวม้าคาดเอว (เป็นชุดที่ใช้เล่นดนตรีในวงมโหรี) ต่อมาพัฒนาขึ้น โดยแต่งกายเลียนแบบตั๊กแตนตำข้าว ใช้ผ้าสีเขียวตัดเป็นชุดแต่งกาย สวมหัวตั๊กแตน สวมปีกตั๊กแตน ถ้าเป็นตั๊กแตนตัวเมีย จะสวมกระโปรงสั้นๆ ทับอีกชั้นหนึ่ง

kanop tingtong 6

โอกาสที่เล่น

การเล่นกะโน้ปติงต็อง แต่เดิมใช้เล่นแทรกในวงมโหรีพื้นบ้าน ต่อมาในช่วงหลังใช้เล่นได้ทุกโอกาสในงานสนุกสนานรื่นเริง หรืองานเทศกาลต่างๆ ทั่วไป

ต่อมาในยุคที่สอง (พ.ศ. 2506-2540) นายเสนอ มูลศาสตร์ ซึ่งเป็นนายอำเภอปราสาทในขณะนั้น ได้เข้าไปส่งเสริม สนับสนุน นำการแสดงกระโน้ปติงต็อง จากตำบลไพล อำเภอปราสาท ไปสู่การแสดงในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ทำให้กระโน้ปติงต็องเกิดการแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน มีการปรับการแสดงให้เป็นรูปแบบมากขึ้น โดยมีการกำหนดท่าเดินออก ท่าเคารพผู้ชม การแปรแถวต่างๆ และมีการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับการแสดงกระโน้ปติงต็อง เพื่อให้การแสดงมีความน่าสนใจมากขึ้น ได้มีการส่งเสริมและเล่นกันอย่างแพร่หลาย

ในการเล่นจะแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิง และฝ่ายชาย เมื่อเริ่มแสดง จะเต้นตามจังหวะเพลงกะโน้ปติงต็อง ส่ายตัว มือ แขน ขา ไปมา เลียนแบบลีลาของตั๊กแตนตำข้าวตามจังหวะดนตรีและคำร้อง ผู้เล่นจะเปลี่ยนลีลาการตั๊กแตนไปตามจังหวะดนตรี และคำร้องส่วนมากจะใช้บทร้องในแต่ละตอนเป็นช่วงเปลี่ยนท่า เนื้อเพลงหรือบทร้องจะสอดคล้องกับงานนั้นๆ ท่ารำจะมีขั้นตอนจากบทไหว้ครู ท่าตั๊กแตนเช็ดปากหลังกินอาหาร ท่าป้องตาดูเหยื่อ ท่าหยอกล้อกัน ท่าสะกิดกัน เป็นต้น และครูสมพงษ์ สาคเรศ ได้แต่งเนื้อเพลงประกอบการเต้น และก็ได้มีการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น

กะโน๊บติงตอง โดย โรงเรียนสินรินทร์วิทยา

ยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2540 - ปัจจุบัน) เป็นยุคปฏิรูปการศึกษา สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้ให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของประชาชน และด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตร มีการจัดการศึกษาในเรื่องของ หลักสูตรท้องถิ่น ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคมภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ มีการวิจัยในชั้นเรียน ที่เป็นบทบาทและภารกิจที่ครูผู้สอนต้องจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น รวมทั้งการทำผลงานเพื่อเพิ่มวิทยฐานะ ก่อให้เกิดกระแสการศึกษาค้นคว้า วิจัย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่ง “กระโน้ปติงต็อง” เป็นการละเล่นและการแสดงหนึ่งที่ได้รับความสนใจและมีการฟื้นฟูอย่างจริงจังในยุคนี้

วิธีการแสดง

  • ลักษณะการจีบ การแสดงกระโน้ปติงต็องจะจีบมือแบบพื้นบ้าน คือ การจีบขัดนิ้ว (ตะเปือนได) มีลักษณะจีบแบบหักข้อนิ้วชี้เข้าหาข้อศอก นิ้วที่เหลือกรีดเหยียดตรง
  • ลักษณะการใช้เท้า การแสดงกระโน้ปติงต็อง จะมีลักษณะการก้าวเท้า 2 แบบ
  1. การเดินแบบตั๊กแตน เลียนแบบท่าทางของตั๊กแตนตำข้าวให้เหมือนที่สุด คือ การย่อเข่าลงและเตะเท้าออกไปด้านข้าง สลับ ซ้าย – ขวา
  2. การโหย่งขา หมายถึง การทรงตัวด้วยการเขย่งเท้า โดยใช้จมูกเท้าในการรับน้ำหนักตัว ย่อเข่าทั้ง 2 ต่างระดับกัน เข่าข้างหนึ่งจะรับน้ำหนักตัวอีกข้างหนึ่งจะค้ำยันให้การทรงตัวอยู่ได้ ยุบ-ยืดตัวเร็วและขณะเดียวกันมือจะต้องยกสูงขึ้นเพื่อเป็นการช่วยยกน้ำหนักให้ลอยขึ้นจากพื้นด้วย
  • ลักษณะท่าเต้น เป็นการออกแบบท่าเต้นกระโน้ปติงต็อง เป็นการจำลองจาก “วงจรชีวิตของตั๊กแตนตำข้าว” ประกอบด้วย 10 ท่าคือ
  1. การออกสู่เวที
  2. การแสดงความเคารพ
  3. การกำเนิดตั๊กแตนจากไข่ สื่อความหมายของการเกิด
  4. การเคลื่อนไหวร่าเริงในวัยเด็กสู่วัยหนุ่มสาว
  5. การจับเหยื่อและกินอาหารของตั๊กแตน
  6. การต่อสู้เพื่อแย่งชิงคู่ (เป็นการคัดเลือกพันธุ์ที่แข็งแรง)
  7. การเกี้ยวพาราสี
  8. การผสมพันธุ์
  9. การกัดกินหัวตั๊กแตนตัวผู้ หลังจากจับคู่ผสมพันธุ์แล้ว ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ
  10. การกลับเข้าสู่เวที

กะโน๊บติงต็อง การละเล่นพื้นบ้านเลียนแบบของตั๊กแตนตำข้าว

  • ลักษณะการแต่งกาย แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะตามเพศของตั๊กแตนคือ

ตัวเมีย ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1. เป็นชุดรัดรูปสีเขียวตองอ่อนทั้งตัว
ส่วนที่ 2. เสื้อผ้าไหมตรูยแสน์ก แขนกุดแบบสวมด้านหน้า ชายเสื้อด้านหน้าห้อยยาวลงมาถึงช่วงหน้าขาเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านหลังตกแต่งด้วยระบายสีเขียว
ส่วนที่ 3. กรองคอปักด้วยเลื่อมสีทอง
ส่วนที่ 4. ปีกซึ่งมีการพัฒนาให้มีความเหมือนจริงและสวยงามมากยิ่งขึ้น มีลักษณะโปร่งบางซ้อนกัน 4 ชั้น โดยปีกด้านนอกจะมีสีเขียวเข้มและปีกในอีก 3 ชั้นก็จะมีสี อ่อนลงไปตามลำดับ สามารถกางหรือหุบปีกได้โดยใช้มือดึงก้านปีกขึ้น
ส่วนที่ 5. หน้ากากซึ่งก็มีการพัฒนาให้มีความเหมือนจริงขึ้นกว่าเดิม โดยเน้นการใช้สีสันที่เหมือนจริงขึ้นและใช้วัสดุแบบที่ทนทานขึ้นกว่าเดิม และ
ส่วนที่ 6. ทัดดอกไม้ที่บริเวณบนหูด้านซ้าย

ตัวผู้ ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1. เป็นชุดรัดรูปสีเขียวตองอ่อนทั้งตัว
ส่วนที่ 2. เสื้อผ้าไหมตรูยแสน์ก แขนกุดแบบสวมด้านหน้า ชายเสื้อด้านหน้าห้อยยาวลงมาถึงช่วงหน้าขาเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านหลังตกแต่งด้วยผ้าสีเขียวไม่มีระบาย
ส่วนที่ 3. กรองคอปักด้วยเลื่อมสีทอง
ส่วนที่ 4. ปีกซึ่งมีการพัฒนาให้มีความเหมือนจริงและสวยงามมากยิ่งขึ้น มีลักษณะโปร่ง บางซ้อนกัน 4 ชั้น โดยปีกด้านนอกจะมีสีเขียวเข้มและปีกในอีก 3 ชั้นก็จะมีสีอ่อนลงไปตามลำดับ สามารถกางหรือหุบปีกได้โดยใช้มือดึงก้านปีกขึ้น และ
ส่วนที่ 5.
หน้ากากซึ่งก็มีการพัฒนาให้มีความเหมือนจริงขึ้นกว่าเดิม โดยเน้นการใช้สีสันที่เหมือนจริงขึ้นและใช้วัสดุแบบที่ทนทานขึ้นกว่าเดิม

การพัฒนารูปแบบการแสดงกระโน้ปติงต็อง ในจังหวัดสุรินทร์
โดย นางอัชราพร สุขทอง, นางพิศเพลิน พรหมเกษ และนางเกษราภรณ์ สุพรรณฝ่าย, 2550.

kanop tingtong 3

การแสดงระบำกะโน้บติงตอง หรือ เรือมกะโน๊บติงตอง จะใช้ดนตรีกันตรึมบรรเลงและขับร้อง โดยใช้เครื่องดนตรี กลองโทน  ปี่ใน ซอด้วง ซออู้ และฉิ่ง เพื่อให้เกิดท่วงทำนองที่สนุกสนาน ต้นฉบับเริ่มแรกการขับร้องจะใช้ภาษาเขมร จนกระทั่งได้มีโอกาสไปแสดงต่อหน้าพระที่นั่ง ณ ตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร  จึงมีการปรับเปลี่ยนเนื้อร้องให้มีภาษาไทยเข้าไปด้วย เพื่อให้ผู้ชมรับทราบความหมาย โดยมี นายวิลาส อินแปลง เป็นผู้ช่วยแต่งเนื้อร้องทำนอง ทำให้เพลงกะโน้ปติงต๊อง มี 2 ภาษาไทยและภาษาเขมร จนกระทั่งปัจจุบัน จากเดิมที่มีนักแสดงเพียง 2 คน ตอนนี้ไม่จำกัดจำนวนแล้ว ขึ้นอยู่กับสถานที่ของการจัดแสดงว่ากว้างขวางเพียงใด

กโน้บ ติงต็อง - น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์

[ อ่านเพิ่มเติม : การฟ้อนเลียนแบบกริยาสัตว์ ]

redline

backled1

attalak isan

เซิ้งกระติบ

เซิ้งกระติบ เป็นการรำของภาคอีสานในงานรื่นเริง ท่าของการรำแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะการดำรงชีวิต เพราะลีลาท่าทางการรำเลียนแบบการทำงาน และท่าทางในชีวิตประจำวันอันเกี่ยวข้องกับการกิน ผู้เซิ้งเป็นผู้หญิง แต่งกายตามแบบพื้นเมืองอีสาน คือ นุ่งซิ่นสั้นประมาณเข่า เสื้อแขนกระบอก พาดสไบหรือผ้าเบี่ยง และห้อยกระติบข้าวไว้ข้างตัว ดนตรีที่ใช้ให้จังหวะส่วนใหญ่ คือ กลอง แคน ฉาบ ฆ้อง ฉิ่ง

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ท่ารำของเซิ้งกระติบที่มีลักษณะเฉพาะ ได้แก่ ท่าเดิน ท่าล้างมือ ท่าเช็ดมือ ท่าปั้นข้าว เป็นต้น รวมถึงเครื่องแต่งกายชุดพื้นเมือง และการบรรเลงดนตรีอีสาน

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ท่ารำแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและการดำรงชีวิต สะท้อนถึงความสนุกสนาน รักศิลปะและดนตรี คล่องแคล่วทำงานเก่ง

serng kratib kao 01

เซิ้งกระติบข้าว

เซิ้งกระติบข้าว เป็นการแสดงของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันดี และแพร่หลายที่สุดชุดหนึ่ง จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การแสดงของภาคอีสานมีลักษณะเป็นการรำเซิ้งเพียงอย่างเดียว เซิ้งกระติบข้าวได้แบบอย่างมาจากการเซิ้งบั้งไฟ ซึ่งแต่เดิม "เซิ้งอีสาน" จริงๆ ไม่มีท่าทางอะไร มีแต่กินเหล้า ยกมือไม้สะเปะสะปะให้เข้ากับจังหวะเสียงกลองไปตามอำเภอใจ (มีผู้นิยามว่า ฟ้อนตามแบบกรมสรรพสามิต) โดยไม่ได้คำนึงถึงความสวยงาม นอกจากให้เข้าจังหวะกลอง ตบมือไปตามเรื่อง ตามฤทธิ์เหล้าในขณะนั้น

ในราว พ.ศ. 2507 สมเด็จพระบรมราชินีนาถ (ในรัชกาลที่ 9) ต้องการการแสดงของภาคอีสาน เพื่อต้อนรับสมเด็จพระนางเจ้าอะเลียนา และเจ้าหญิงบีทริกซ์ แห่งประเทศเนเธอแลนด์ จึงมีการนำเอาเพลงอีสานคือ หมอลำ จังหวะช้าเร็ว โดยมีท่าถวายบังคม ท่านกบิน ท่าเดิน ท่าดูดาว ท่าม้วนตัว ท่าสนุกสนาน ท่าปั้นข้าวเหนียว ท่าโปรยดอกไม้ ท่าบังแสงอาทิตย์ ท่าเตี้ย (รำเตี้ย) และในการแต่งกายครั้งแรกนั้น จะนุ่งผ้าซิ่นห่มผ้าสไบ เกล้าผมสูง แต่ไม่มีใครยอมห้อย "กระติบข้าว" เพราะเห็นว่ารุงรังเกินไป

serng kratib kao 02

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เสด็จทอดพระเนตร พระองค์จึงรับสั่งให้ใครสักคนหนึ่งลองรำดูว่า ถ้าไม่ห้อยกระติบข้าว หรือห้อยกระติบข้าวแล้วจะเป็นอย่างไร? คุณหญิงเบญจวรรณ อรวรรณ เป็นผู้ทดลองรำดู ครั้งแรกไม่ห้อยกระติบข้าวก็น่ารักดี ครั้งที่สองรำโดยห้อยกระติบข้าวทุกคนก็คิดว่า กำลังน่ารัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งคำเดียวว่า "น่าเอ็นดูดีนี่" ผู้รำทุกคนก็พากันรีบห้อยกระติบข้าวกันใหญ่ทางไหล่ขวาทุกคน การเซิ้งครั้งนั้น ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เรียกชื่อว่า "เซิ้งอีสาน" ต่อมามีผู้นำเซิ้งอีสานไปแสดงกันทั่วไป แต่เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า "เซิ้งกระติบข้าว" จนปัจจุบัน

เซิ้งกระติ๊บ

องค์ประกอบที่บ่งบอกให้เห็นคณลักษณะของศิลปะพื้นถิ่น

  • เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบจังหวะ ได้แก่ กลองแต๊ะ กลองยาว แคน ฆ้องโหม่ง ฉิ่ง ฉาบ และกรับ
  • นักแสดงทุกคนแต่งตัวนุ่งซิ่นห่มผ้าสไบ เกล้าผมสูง และนำกระติบข้าวห้อยทางไหล่ขวา สาเหตุของการนำกระติบข้าวมาใช้ในการแสดง เพราะเห็นว่ากระติบข้าวเป็นสัญลักษณ์ของคนอีสาน

รูปแบบ วิธีการแสดงของศิลปะพื้นถิ่น

เซิ้งกระติบข้าว เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวภูไท ซึ่งเป็นชาวไทยเผ่าหนึ่งที่มีเชื้อสายสืบต่อกันมาช้านาน ในดินแดนทางภาคอีสานของไทย เช่น ในเขตจังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ นครพนม และจังหวัดข้างเคียง นิยมเล่นกันในโอกาสรื่นเริงวันนักขัตฤกษ์ต่างๆ การแสดงจะเริ่มด้วยชาวภูไทฝ่ายชายนำเอาเครื่องดนตรี และเครื่องประกอบจังหวะหลายอย่าง ได้แก่ แคน เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งใช้ปากเป่าเป็นทำนองเพลง แก๊บ (กรับ) กลองเถิดเทิง กลองแต๊ะ โหม่ง และ ฉาบ มาร่วมกันบรรเลงเพลงที่มีทำนองและจังหวะรุกเร้า ต่อจากนั้นเหล่าสตรีชาวภูไทในวัยต่างๆ ซึ่งมีกระติบข้าวแขวนสะพายอยู่ข้างตัว ออกมาเต้น รำเซิ้งเป็นการแสดงอากัปกิริยาของสตรีชาวภูไท ขณะเมื่อสะพายกระติบข้าวเพื่อนำอาหารไปส่งให้แก่สามี และญาติพี่น้องที่ออกไปทำงานอยู่นอกบ้าน

การเซิ้งกระติบข้าว ถือว่าเป็นการฟ้อนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับ เซิ้งกุบ เซิ้งสาวน้อยเลียบดอนสวรรค์ เซิ้งสวิง อ่านเพิ่มเติมคลิกที่นี่

เซิ้งกระติ๊บข้าว : ยอดรัก สลักใจ

ก่องข้าว กระติบข้าว ของชาวอีสาน

กระติบข้าว หรือ ก่องข้าว เป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียวของชาวอีสานที่ทรงคุณค่า มากด้วยภูมิปัญญาของชาวอีสาน เก็บความร้อนได้ดี ในขณะที่ยอมให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในกระติบ หรือก่องข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ ต่างจากกระติกน้ำแข็ง ความแตกต่างของกระติบข้าวและก่องข้าว อยู่ที่รูปทรง โดย

  • ก่องข้าว จะมีลักษณะคล้ายกระบุง มีฝาปิด และมีขาทำด้วยไม้เนื้อแข็งเป็นฐานแยกสี่แฉก มีความแข็งแรงทนทานมากกว่า การสานด้วยไม้ไผ่มีความแน่นหนา เก็บขอบด้วยหวายโดยรอบ ส่วน
  • กระติบข้าว นั้นพบเห็นได้ทั่วไป เป็นภาชนะสานทรงกลมมีฝาปิด ฐานของกระติบจะทำจากก้านตาล ขดเป็นวงกลม มีมากมายหลายขนาด การสานทำได้ง่ายกว่าก่องข้าว เพราะใช้ตอกไม่ไผ่ที่มีความบางอ่อนตัว

 kong kratip kao

[ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : กระติบข้าว ก่องข้าว ภูมิปัญญาอีสาน ]

redline

backled1

attalak isan

รำบายศรี

รำบายศรี เป็นการรำเพื่อประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญ เพื่อให้เกิดความสวยงามสมเกียรติผู้มาเยือน ทำเพื่อความเป็นสิริมงคล รำบายศรีเริ่มจากการแห่พานบายศรีมาสู่พิธี พราหมณ์เริ่มสวดเรียกขวัญ จบแล้วจึงรำบายศรี เนื้อร้องประกอบการรำเป็นการบรรยายถึงความสวยงามของพานบายศรี และเป็นคำเรียกขวัญที่เรียบเรียงด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เนื้อร้อง ท่ารำ เครื่องแต่งกายชุดพื้นเมือง และการบรรเลงดนตรีอีสาน

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ความเชื่อเรื่องขวัญ การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญทำได้ทั้งเหตุดีและเหตุไม่ดี เหตุดีได้แก่ หายจากเจ็บป่วย การจากไปอยู่ที่อื่นแล้วกลับมา การไปค้าขายได้เงินทองมามาก เหล่านี้ก็ทำพิธีสู่ขวัญ เหตุไม่ดี ได้แก่ เจ็บไข้ได้ป่วย คนในครอบครัวเสียชีวิต ประสบอุบัติเหตุ ก็ทำพิธีสู่ขวัญ

ram bai siการฟ้อนบายศรีสู่ขวัญ

บายศรีสู่ขวัญ หรือ บาศรีสูตรขวัญ เป็นประเพณีดั้งเดิมเก่าแก่ ที่นิยมกระทำกันสืบเนื่องติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน ถือว่าเมื่อจัดทำพิธีนี้จะก่อให้เกิดความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งคำว่า บายศรี ก็หมายถึงการทำสิริให้กับชนผู้ดี สูตรเป็นคำเก่าแก่ หมายถึง การสวด ซึ่งในอันที่จริงแล้ว บาศรีสูตรขวัญนี้เป็นพิธีของพราหมณ์ ส่วนขวัญนั้นเราถือว่าเป็นของไม่มีตัวตน เห็นไม่ได้ จับต้องไม่ได้

แต่เชื่อว่า "ขวัญ" นี้แฝงอยู่ในตัวตนของคนและสัตว์มาตั้งแต่กำเนิด และขวัญนี้จะต้องอยู่ประจำตัวของตนตลอด เวลาตกใจ เสียใจ ป่วยไข้ ขวัญจะหนีไป ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ ฉะนั้นจึงต้องเรียกขวัญ หรือสูตรขวัญ เพื่อให้ขวัญหลับมาอยู่กับตัวจะได้สุขสบาย (อ่านเรื่อง การสูตรขวัญ ได้ที่นี่)

การทำพิธีสู่ขวัญนี้ มีทั้งเหตุดีและเหตุไม่ดี เหตุดีได้แก่ หายจากการเจ็บป่วย จากไปอยู่บ้านอื่นกลับมา ไปค้าขายได้เงินทองมามาก เหตุเหล่านี้ก็มีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ ส่วนเหตุไม่ดีได้แก่ การเจ็บไข้ได้ป่วย คนในครอบครัวเสียชีวิต ประสบอุบัติเหตุ ก็ทำพิธีบายศรีเช่นกัน ในวรรณกรรมอีสานหลายเรื่องที่กล่าวถึงพิธีบายศรีสู่ขวัญเช่น ในเรื่องพญาคันคาก

เมื่อนั้น ภูธรเจ้า พญาหลวงแถนเถือก เจ้าก็ เดินไพร่พร้อม แถนฟ้าซุพญา
บัดนี้ เฮาจักบาลีเจ้า บุญมีองค์ประเสริฐ จริงเทอญ เฮาจัก ตกแต่งพร้อม กวยช้างสู่ขวัญ ก่อนเทอญ
แต่นั้น ยาบๆ แส่ ฝูงหมุ่พญาแถน เขาก็ ปูนกันตก แต่งงัวควายช้าง "

การฟ้อนบายศรีสู่ขวัญ เนื่องมาจากพิธีบายศรีสู่ขวัญเมื่อมีแขกมาเยือน ซึ่งเป็นแขกที่มีเกียรติหรือแขกผู้ใหญ่ที่มาจากต่างถิ่น ชาวอีสานจะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคลโดยมีพานบายศรี หรือที่เรียกว่า "พาขวัญ" การจัดพาขวัญนี้ปกติต้องจัดด้วยพานทองเหลือง หรือขันสัมฤทธิ์หลายใบซ้อนๆ กัน ซึ่งมีตั้งแต่ 1 ชั้นถึง 9 ชั้น มีใบตองจัดเป็นกรวยเข้าช่อ ประดับดอกไม้สดดูสวยงาม

baisri 03

ชั้นล่างของพาขวัญจะเป็นพานมีใบศรีทำด้วยใบตอง ดอกไม้สด ข้าวต้ม ไข่ต้ม ขนม กล้วย อ้อย ปั้นข้าว เงินฮาง มีดด้ามแก้ว มีดด้ามคำ ชั้นต่อไปจะตกแต่งด้วยใบศรีและดอกไม้สด ซึ่งจะเป็นดอกปาง ดอกดาวเรือง ดอกรัก ใบเงิน ใบคำ ใบคูณ ใบยอป่า

ram bai si 2

ส่วนชั้นที่ 5 จะมีฝ้ายผูกข้อมือ เทียนเวียนหัว นอกจากพาขวัญแล้วจะต้องมีเครื่องบูชาอื่นๆ เช่น ขันบูชา ขันธ์ 5 ซึ่งมีพานขนาดกลางสำหรับวางผ้า 1 ผืน แพร 1 วา หวี กระจกเงา น้ำอบน้ำหอม สร้อย แหวน ของผู้เป็นเจ้าของขวัญ โดยจะมีพรารหมณ์เป็นผู้ทำพิธีเรียกขวัญ ตามท่วงทำนองของชาวบ้าน ในคำเรียกขวัญนั้นมีทั้งคาถาที่เป็นภาษาบาลี และคำเรียกขวัญภาษาถิ่น หรือที่เรียกว่า "สูตรขวัญ" ซึ่งคำสูตรขวัญนั้นยากแก่การเข้าใจของผู้มาเยือน จึงมีการจัดทำชุดฟ้อนบายศรีขึ้น เพื่อให้คนต่างถิ่นได้เข้าใจ เพราะมีคำร้องที่เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย แต่งโดยอาจารย์ดำเกิง ไกรสรกุล และท่าฟ้อนประดิษฐ์ขึ้นโดยอาจารย์พนอ กำเนิดกาญจน์ แห่งวิทยาลัยครูอุดรธานี ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ แต่เนื้อร้องอาจจะเพี้ยนจากเดิมไปบ้างดังนี้

มาเถิดเย้อ มาเยอขวัญเอย มาเย้อขวัญเอย
หมู่ชาวเมืองมาเบื้องขวานั่งซ่ายล่าย เบื้องซ้ายนั่งเป็นแถว
ยอพาขวัญ ไม้จันทร์เพริศแพร้ว
ขวัญมาแล้ว มาสู่คีงกลม
เกศเจ้าหอมลอยลม ทัดเอื้องชวนดม เก็บเอาไว้บูชา
ยามเมื่อฝนเจ้าอย่าคลาย ยามแดดสายเจ้าอย่าคลา
อยู่ที่ไหนจุ่งมารัดด้ายไสยา มาคล้องผ้าแพรกระเจา

        อย่าเพลินเผลอ มาเยอขวัญเอย มาเย้อขวัญเอย
อยู่แดนดินใด หรือฟากฟ้าไกล ขอให้มาเฮือนเฮา
เผืออย่าคิดอาศัยซู้เก่า ขออย่าเว้าขวัยเจ้าจะตรม
หมอกน้ำค้างพร่างพรม ขวัญอย่าเพลินชม ป่าเขาลำเนาไพร
เชิญมาทัดพวงพยอม ทาน้ำหอมให้ชื่นใจ
เหล่าข้าน้อยแต่งไว้ ร้อยพวงมาลัยมาคล้องให้สวยรวย "

บายศรีสู่ขวัญ - ต่าย อรทัย

หลังจากฟ้อนบายศรีเรียกขวัญแล้ว จะมีการผูกข้อมือด้วยฝ้าย ซึ่งผ่านพิธีกรรมแล้ว ถือว่าเป็นฝ้ายมงคลทำให้อยู่เย็นเป็นสุข

 พิธีบายศรีสู่ขวัญแบบอีสาน - รายการคุณพระช่วย

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : พานบายศรี | การบายศรีสู่ขวัญ (สูตรขวัญ)

redline

backled1

attalak isan

วรรณกรรม สินไซ

สินไซ หรือ สังข์ศิลป์ชัย ผู้ประพันธ์ คือ ท้าวปางคำ นับว่าเป็นวรรณคดีโบราณของ สปป.ลาว* เป็นวรรณคดีประเภทร้อยกรอง ที่เขียนขึ้นมาในสมัยอาณาจักรลาวล้านช้าง มีความเจริญรุ่งเรือง ถือเป็นวรรณคดีที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดและถูกนำ เสนอในหลายรูปแบบ เช่น สร้างเป็นตำราเรียน แต่งเป็นเรื่องสั้น เป็นบทละคร เป็นภาพวาด รูปแกะสลัก รูปปั้นลอยตัว ใช้เป็นชื่อสถานที่ต่างๆ เป็นต้น ผู้คนทั้งสองฝั่งโขงทั้งไทยในภาคอีสานและลาว ต่างให้ความนิยมและชื่นชอบเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ผู้แต่งยังได้บรรจงใช้ศัพท์ทางวรรณคดีอันงดงามไพเราะ และมีการเจียระไนการแต่งศัพท์เข้าทำนองอย่างถูกต้องตามหลักของคำประพันธ์ ฉันทลักษณ์ของวรรณคดีลาว ตั้งแต่ต้นเรื่องจนถึงปลายเรื่อง ซึ่งต้องการแต่งวรรณกรรมอันเป็นชาดก มีแก่นธรรมะคือ อภิธรรมชั้นสูง คือแนวทางวิปัสสนากัมมัฏฐานไปสู่การตัดกิเลส จนพบอริยสัจสี่อันเป็นโลกุตรธรรม ผสมผสานขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม คำสอนแก่ทั้งผู้นำและประชาชนทั่วไป มีเรื่องย่อคือ ยักษ์ลักพานางสุมุนฑา (สุมณฑา) น้องพระยากุศราช (กุ สะหลาด) ไปแล้วให้หลานชื่อ ศรีโห สังข์ทอง และสินไซ หรือ สินชัย ไปตามกลับคืน มีการต่อสู้กับภัยต่างๆ ในป่าและต่อสู้กับยักษ์จนชนะ

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ลักษณะคำประพันธ์ คือ กลอนเทพาวะ และได้แปรรูปวรรณกรรมออกมาด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การร้องหมอลำ เทศน์แหล่ หนังปราโมทัย ภาพจิตรกรรมและอื่นๆ โดยเฉพาะการทำฮูปแต้ม

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม นำเอาแก่นธรรมะโดยเคลือบชั้นนอกไว้ด้วยเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน ผจญภัย รัก-โลภ-โกรธ-หลง-ชิงรักหักสวาท มีเล่ห์หลี่ยมชิงไหวชิงพริบและแสดงถึงความกล้าหาญ รอบคอบ ปัญญาหลักแหลม

sang sil chai 01

* สินไซ ได้เป็นวรรณคดีเรื่องสำคัญที่ใช้ลำและเล่ากันใน สปป.ลาว และเป็นที่น่าชื่นชอบมาก หากแต่เมื่อสินไซไปปรากฏเป็นกลอนลำ ได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “ลาวดวงเดือน” ซึ่งถือกันว่าเป็นกลอนลำ เรื่องสำคัญของลาวอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นสำคัญที่ควรอธิบายไว้ในที่นี้คือ กลอนลำลาวดวงเดือน มีที่มาจากสินไซลาว หากแต่ว่ามีการปรับแบบเรื่อง และปรับเปลี่ยนตัวละครนางสุมุณฑา

อินก็ใส่ชื่อน้อย ในเลกลานคำ   ชื่อว่า สังสินไซ โลกลือลิดทีก้า ”

บทประพันธ์ข้างต้น เป็นการกล่าวถึง "ชื่อของตัวละครเอก" ที่พระอินทร์เป็นผู้ตั้งให้ และได้กลายเป็นที่มาของชื่อวรรณคดีเพชรน้ำหนึ่งเรื่อง “สังสินไซ” โดย ท้าวปางคำ วรรณกรรมเรื่องนี้มีเนื้อหาครบรส ทั้งการผจญภัยและชิงรักหักสวาท ผ่านแกนหลักของเรื่อง ธรรมะย่อมชนะอธรรม โดยตัวละครเอกคือ ท้าวสินไซ (เป็นคน) ท้าวสังข์ทอง (เป็นหอยสังข์) และท้าวสีโห (เป็นช้าง) ซึ่งเกิดมามีลักษณะไม่เหมือนมนุษย์ปกติ จึงถูกใส่ร้ายและเนรเทศออกจากเมือง ต่อมาได้ไปตามหาอาที่ถูกยักษ์ลักพาตัวไปกลับคืนมาให้พระราชบิดาเพื่อพิสูจน์ตนเอง สังสินไซต้องฟันฝ่าด่านต่างๆ ทั้ง 8 มี ด่านงูซวง ด่านยักษ์วรุณ ด่านพญาฉัททันต์ ด่านยักษ์ 4 ตน ด่านนางยักษ์ขินี ด่านนางยักษ์อัสมุขี ด่านต้นกาลพฤกษ์ และด่านนางกินรี

สินไซ หรือ สังข์สินไชย เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่สามารถพบอยู่ทั่วไป เป็นวัฒนธรรมร่วมในอุษาคเนย์ มีทั้งฉบับล้านนา ล้านช้าง ฉบับมอญ ฉบับไทยวน ฉบับไทย ในอีสานเองก็มีความเฉพาะหลากหลายเวอร์ชั่น มหาสารคาม ขอนแก่น ฯลฯ ที่จริงแล้ววรรณกรรมเรื่องนี้ในประเทศไทย ภาคกลาง และภาคใต้รู้จักในชื่อ “สังข์ศิลป์ชัย” ภาคเหนือรู้จักในชื่อ “สังข์สิงห์ธนูชัย" และสำหรับภาคอีสานเรียกว่า “สินไซ” หรือ “สังสินไซ” และหากมองให้ไกลตัวออกไปอีกหน่อยจะพบ “สังคทา” ในอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองอย่างมอญ “เสียงสิลเจย” หรือ “สังข์ศรชัย” ที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา และ “สินไซ” หรือ “สังสินไซ” ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เช่นนี้แล้ว หากจะเรียกว่า สังสินไซ เป็นวรรณกรรมแห่งอุษาคเนย์ก็เห็นจะไม่ผิดจากนี้

sang sil chai 14

สำหรับประเทศไทยแล้ว ภาคอีสาน เป็นภูมิภาคที่พบร่องรอย วรรณกรรมสังสินไซ มากกว่าภูมิภาคอื่น เป็นต้นว่า นิยมวาดเป็นภาพจิตรกรรมบนผนังโบสถ์ เรียกเป็นภาษาพื้นถิ่นว่า “ฮูปแต้ม” หรือ จิตรกรรมฝาผนังบนสิมมากที่สุด รองลงมาจากเรื่องพระเวสสันดร โดยที่ในภาคอีสานพบ "ฮูปแต้มสินไซ" จำนวน 13 วัด ใน สปป.ลาว จำนวน 3 วัด เป็นที่นิยมด้วยเชื่อว่า เป็นชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า สามารถพบกระจายตัวตั้งแต่อีสานเหนือถึงอีสานใต้ เช่น จังหวัดนครพนม เลย ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี มีทั้งลักษณะลายเส้นด้วยฝีมือช่างพื้นบ้าน และช่างพื้นบ้านที่รับอิทธิพลช่างหลวง โดยมากมักวาดในตอนเดินดง ซึ่งสินไซจะต้องใช้คุณธรรมในการฟันฝ่าด่านทั้ง 8 ด่าน จึงจะถึงจุดหมายได้

รรณกรรมเรื่องนี้มีหลายสำนวนมาก จะไม่กล่าวถึงก็น่าเสียดาย ผู้เขียนเลยนำมารวบรวมไว้ที่นี้เพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในอนาคตได้

สังข์ศิลป์ชัย (1)

ต้นฉบับปริวรรตเป็นอักษรไทย โดย ดร.ปรีชา พิณทอง โรงพิมพ์ศิริธรรม

ที่นครเปงจาล พระยากุศราช เป็นเจ้าเมือง มีน้องสาวรูปงามชื่อ นางสุมุณฑา วันหนึ่งนางไปชมสวน มียักษ์กุมภัณฑ์มาอุ้มเอานางไปยังเมืองอโนราช แล้วแต่งตั้งเป็นมเหสี พระยากุศราชเสียใจมาก จึงออกบวชติดตามไปถึงเมืองจำปา และได้พบธิดาทั้ง 7 ของนันทะเศรษฐี จึงสึกและขอนางเป็นมเหสี พระยากุศราชเรียกมเหสีทั้ง 8 มา ให้ทุกนางตั้งจิตอธิษฐานขอเอาลูกชายผู้มีบุญฤทธิ์มาเกิด เพื่อจะได้ติดตามเอานางสุมุณฑากลับคืนมา

พระอินทร์ได้ส่งเทพ 3 องค์มาเกิดในท้องนางทั้งสอง องค์หนึ่งเกิดเป็นสีโห (หัวเป็นช้าง) เกิดในท้องเมียหลวง องค์สองศิลป์ชัย (เป็นคน) และสังข์ทอง (หอยสังข์) เกิดในท้องเมียน้อย เมียหกคนได้คนสามัญมาเกิด โหรหลวงได้ทำนายว่า "ลูกที่เกิดจากเมียน้อยและเมียหลวงจะเป็นผู้มีบุญ" คำทำนายของโหร ไม่เป็นที่พอใจของมเหสีทั้งหก มเหสีทั้งหกจึงว่าจ้างให้โหรทำนายใหม่ โหรเห็นแก่อามิสสินจ้างจึงทำนายใหม่ว่า "ลูกที่เกิดจากมเหสีทั้ง 6 มีฤทธิ์เดชมาก ลูกที่เกิดจากนางจันทาและนางลุน เป็นทั้งคนทั้งสัตว์ เกิดมาอาภัพอัปปรีย์และจัญไร" เมื่อประสูติ พระยากุศราชจึงขับไล่นางจันทา นางลุน พร้อมพระโอรสออกจากเมือง พระอินทร์เล็งเห็นความทุกข์ยาก จึงมาเนรมิตเมืองไว้ต้อนรับให้ได้อยู่อาศัย ยังเมืองนครศิลป์แห่งนี้

sang sil chai 02

พระยากุศราชเมื่อขับไล่เมียแล้ว ให้โอรสทั้งหกไปตามเอาน้องสาวของตนคืนจากยักษ์กุมภัณฑ์ โอรสทั้งหกหลงทางมายังเมืองนครศิลป์ และได้โกหกศิลป์ชัย ให้ส่งสัตว์ป่าเข้าเมืองด้วย เพื่อเป็นพยานว่าพวกของตนได้พบกับศิลป์ชัยแล้ว เมื่อถึงเมืองโอรสทั้งหกก็โอ้อวดกับบิดาว่า พวกเขามีอำนาจเรียกสัตว์ทุกชนิดเข้าเมืองได้ ทุกคนก็หลงเชื่อว่าโอรสทั้งหกมีอำนาจ

เมื่อบิดาสั่งให้โอรสทั้งหกติดตามหาอา พวกเขาก็มาโกหกศิลป์ชัยว่า บิดาสั่งให้ศิลป์ชัยไปตามหาอา ถ้าได้อาคืน ความผิดที่แล้วมาพ่อจะยกโทษให้ ศิลป์ชัยและน้องไปถึงด่านงูซวง กุมารทั้งหกไม่กล้าเดินทางต่อไป ให้สังข์ทองกับศิลป์ชัยเดินทางต่อไปรบกับยักษ์ฆ่ายักษ์ตาย เอาอาคืนมาได้ เมื่อถึงแม่น้ำใหญ่ กุมารทั้งหกผลักศิลป์ชัยตกเหว และบอกอาว่า ศิลป์ชัยตกน้ำตาย อาไม่เชื่อจึงเอาผ้าสะใบ ปิ่นเกล้าและช้องผมเสี่ยงทายไว้

เมื่อกลับมาถึงเมือง พระยากุศราชได้จัดงานต้อนรับ และทราบความจริงว่า กุมารทั้งหกเป็นคนโกหกมาโดยตลอด จึงถูกลงโทษขังคุกพร้อมมารดาของตน พระยากุศราชพร้อมน้องสาวเชิญเอา นางจันทาและนางลุน พร้อมศิลป์ชัย สีโหและสังข์ทองเข้ามาในเมือง อภิเษกศิลป์ชัยให้เป็นเจ้าเมืองเปงจาล

ต่อมาศิลป์ชัยได้ปล่อยให้คนทั้งหมดออกจากคุก ปกครองบ้านเมืองเป็นสุขสืบมา ส่วนยักษ์กุมภัณฑ์นั้น พระยาเวสสุวัณได้ชุบชีวิตคืนชีพขึ้นมา ยักษ์กุมภัณฑ์คิดถึงนางสุมุณฑาผู้เป็นมเหสี จึงไปสู่ขอนางจากศิลป์ชัย และทั้งสองอยู่เป็นสุขตราบสิ้นอายุ

sang sil chai 03

สินไซ (2) เรื่องย่อฉบับสมบูรณ์

เรียบเรียงโดย : บัญชา เกียรติจรุงพันธ์ (ไม่สงวนลิขสิทธิ์ 20 มกราคม 2553)

sang sil chai 04สินไซ เป็นวรรณกรรมที่นักปราชญ์ได้นำเอาแก่นธรรมะ คือ อภิธรรมขั้นสูง คือแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานไปสู่การตัดกิเลส จนพบอริยสัจสี่อันเป็นโลกุตรธรรม ซ่อนไว้ใจกลางเรื่อง จากนั้นจึงล้อมไว้ด้วย ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม คำสอนแก่ทั้งผู้นำและประชาชนทั่วไป แล้วเคลือบชั้นนอกไว้ด้วยความสนุกผจญภัย รัก-โลภ-โกรธ-หลง-ชิงรักหักสวาท มีเล่ห์เหลี่ยมชิงไหวชิงพริบ ผสมกลมกลืนได้อย่างลงตัว จึงทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับการตอบรับจากสังคมในยุคสมัย

จนกระทั่งมีการยอมรับนำเอาแนวปฏิบัติบางประการ มาเป็นขนบธรรมเนียมของตน และเพื่อให้เผยแพร่ให้แก่ประชาชนทั่วไป ที่แม้จะไม่ได้เรียนหนังสือ ให้สามารถรับรู้เรื่องราวได้ จึงได้แปรรูปวรรณกรรมออกมาด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การร้องหมอลำ เทศน์แหล่ หนังประโมทัย (หนังตะลุงอีสาน) ภาพจิตรกรรม และอื่นๆ โดยเฉพาะการทำเป็นฮูบแต้ม (ภาพจิตรกรรมฝาผนัง) ที่เจตนาแต้มไว้ภายนอกสิม (โบสถ์) ยิ่งแสดงถึงเจตนาของความศรัทธาที่อยากจะให้ผู้เลื่อมใสศรัทธา โดยเฉพาะสตรีที่เข้าไปภายในสิมไม่ได้ และส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ จะได้เข้าใจเรื่องราวผ่านทัศนศิลป์เหล่านั้น

ในปัจจุบัน มีนักวิชาการหรือผู้สนใจได้พยายามศึกษาหลายแง่มุม ทั้งที่มาของเรื่อง สำนวนภาษา เรื่องราว วัฒนธรรมประเพณี และแนวแห่งศิลปะแขนงต่างๆ ที่บูรณาการอยู่ในเรื่องสินไซ อันเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เราจะได้ทราบรากเหง้าของตนเองว่า บรรพบุรุษมีแนวความเชื่ออย่างไร จึงสามารถนำพาลูกหลานดำเนินวิถีชีวิตมาได้อย่างสันติสุข ดังที่กล่าวมาแล้วว่า เรื่องสินไซ ได้ซ่อนแก่นของเรื่องบางอย่างไว้อย่างแนบเนียนลึกซึ้ง การตีความโดยเฉพาะนัยทางธรรมะอาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปได้ ดังนั้นการอธิบายความจึงขึ้นอยู่กับเหตุผลที่นำมาสนับสนุนตามภูมิจิต-ภูมิธรรมของแต่ละคน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเคารพในความคิดของปัจเจกชน ผู้เขียนขอนำเสนอแง่มุมหนึ่งคือ แก่นพระอภิธรรม หรือ นัยทางพุทธธรรม ที่วางเป็นโครงเรื่องสินไซไว้พิจารณาสำหรับผู้ที่อยากจะแกะรอยตามหาแก่นของธรรมในเรื่องนี้

สินไซ จากการศึกษาสืบค้น พบว่า น่าจะเป็นวรรณกรรมที่ได้เค้าโครงหรือนำแนวคิดมาจาก ปัญญาสชาดก (แปลตรงตัวว่าชาดก 50 เรื่อง ตัวอย่างวรรณกรรมที่มาจากปัญญาสชาดก เช่น สุธน-มโนรา, รถเสนหรือหรือนางสิบสองหรือพระรถเมรี, สังข์ทอง, เสือโคคำฉันท์หรือหลวิชัย-คาวี, สมุทโฆษคำฉันท์, สิริวิบูลกิต,ท้าวปาจิต-นางอรพิม) ในปัญญาสชาดกฉบับของลาวนั้นเรียกว่า พระเจ้าห้าสิบชาติ ในลำดับที่ 29 ชื่อเรื่องว่า ท้าวพยากุดสะราดชาดก อันเป็นเรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคสมัยนั้น ดังในบทไหว้ครูในสังข์ศิลป์ชัย (จินดา ดวงใจ, 2544: 3 ) ที่ว่า

เมื่อนั้น ปางคำคุ้ม คนิงธรรมทงมาก เห็นฮุ่งญาณยอดแก้ว เทียวไซ้ ชาติพะองค์ฯ...
บัดนี้ จักปูนแต่งตั้ง ไขชาติ แปลธรรม ก่อนแล้ว เป็นที่ ยูแยงฝูง พ่ำเพ็ง พาซ้อย
ควรที่ อัศจรรย์ล้ำ โลกา กงโลก เฮานี้ มีใน ห้าสิบชาติแท้ เทียวใช้ ส่งเวร เจ้าเฮย  "

ถอดความได้ว่า

ท้าวปางคำ ระลึกพิจารณาถึงธรรมะที่มีคุณมาก อันเป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์ที่ทรงบำเพ็ญบารี...
บัดนี้..ข้าพเจ้าจักเขียนอธิบายเรื่องราวพระอภิธรรม (ธรรมะอันเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์
หรือเรียกว่า วิมุติมรรค)
โดยการแปรรูปให้เป็นลักษณะของเรื่องราวการเกิดที่ขึ้นเป็นชาติต่างๆ
ของพระโพธิสัตว์ 
เป็นสิ่งที่ช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลายได้พบแสงสว่าง  "

เป็นการอธิบายเรื่องที่มหัศจรรย์ลึกซึ้งเกี่ยวกับ "วัฏฏะสงสาร" ที่เรากำลังเวียนว่ายอยู่ขณะนี้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งในวรรณกรรมชุด “พระเจ้าห้าสิบชาติ” อันแสดงการเวียนว่ายตายเกิดมาก่อน

จากบทนี้ แสดงเจตจำนงว่า ผู้ประพันธ์ได้เข้าใจเรื่องราวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมเพื่อไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นข้อเขียนคล้ายกับคำนำและบอกจุดประสงค์ปลายทาง ซึ่งผู้ประพันธ์เองก็ตั้งใจเรียบเรียงขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อ่านทั้งสามระดับ ได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่ภูมิจิต ภูมิธรรมของแต่ละคน ได้แก่ บางคนก็อาจจะได้เพียงเปลือกของเรื่อง เช่น ได้รับความสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจไปกับเรื่องราวการผจญภัย เล่ห์เหลี่ยมคดโกง และความรัก ระดับที่สองบางคนก็อาจจะเจอกระพี้คือ ได้ข้อคิดในการไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตของตน หรือปรับใช้กับแนวทางการปกครอง หรือใช้ในวิถีชีวิตด้วยศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม และระดับที่สามบางคนก็อาจจะพบแก่นคือ "ธรรม" อันเป็นนัยแห่งธรรมะที่จะอธิบายในลำดับต่อไป

sang sil chai 05
ดาวน์โหลดเอกสารแบบ PDF ได้ที่นี่

สังสินไซ (3)

จาก : ฉบับท้าวปางคำ เขียน

เกริ่นนำไหว้ครู

เริ่มเรื่องด้วยการไหว้ครู และนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวว่าเมื่อเดือนสามปีฉลู ท้าวปางคำ ได้ตระหนักถึงเรื่องของพระโพธิสัตว์ที่เป็นแนวทางสั่งสอนธรรมะแก่สรรพสัตว์ จึงเรียบเรียงแปลงพระธรรมให้คนทั้งหลายได้เก็บเกี่ยวผลได้อย่างอิสระ ตามภูมิปัญญาของตน ขอให้เหล่าเทพทั้งหลายช่วยเกื้อหนุนให้สำเร็จ บัดนี้จะเรียบเรียงเรื่องราวที่ปรากฏในปัญญาสชาดก (พระโพธิสัตว์ 50 ชาติ) เรื่องนั้น

sang sil chai 16

เนื้อเรื่องโดยย่อ

ณ เมืองใหญ่อันเจริญรุ่งเรื่องชื่อ เป็งจาน มีพระราชาชื่อท้าวกุดสะราด มีน้องสาวชื่อนางสุมนทาที่พระองค์รักและหวงมาก มเหสีชื่อนางจันทา กล่าวถึงท้าวเวสสุวรรณเป็นเป็นจอมยักษ์ ได้อาญาสิทธิ์ให้ยักษ์ชื่อท้าวกุมภัณฑ์เป็นผู้ปกครองผี ยักษ์ และมารทั้งหลายในโลก มีฤทธิ์เดชครบถ้วนทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นโสด ให้ปกครองเมืองอโนราช คิดอยากมีภรรยา ท้าวเวสสุวรรณจึงบอกว่าเนื้อคู่ชื่อนางสุมนทา แต่ขอให้ตัดใจเสียเพราะเป็นคนละเผ่าพันธุ์ แต่ท้าวกุมภัณฑ์กลับขี่ยานจักรแก้วไปหา ซ่อนตัวอยู่ในอุทยาน ฝ่ายท้าวกุดสะราด ฝันว่ามีคนมาฟันแขนขวาขาดพร้อมทั้งผ่าอกจึงสะดุ้งตื่นมา โหรทำนายว่าจะมีคนต่างแดนมาแย่งญาติไป เมื่อพ้นเคราะห์แล้วจึงจะประสบโชคดี

นางสุมนทาพร้อมบริวารอออกประพาสสวน ท้าวกุมภัณฑ์จึงอุ้มเอานางเหาะขึ้นพากลับไปเมือง อโนราชจนนางยอมเป็นมเหสีด้วยความสมัครใจมีธิดาด้วยกันคือนางสีดาจัน เมื่อเติบโตขึ้น พญานาควรุณแห่งนาคพิภพมาขอไปเป็นมเหสี

sang sil chai 06

กล่าวถึงท้าวกุดสะราด ผ่านไปสามเดือนยังคิดถึงน้องสาว จึงออกบวชและติดตามหานางผ่านไปเจ็ดปี เดินทางถึงเมืองจำปา มีเจ้าเมืองชื่อกามะทา ที่นี่ได้ทราบข่าวน้องสาวว่า ถูกยักษ์กุมภันฑ์ลักพาตัวไป เช้าวันหนึ่งไปบิณฑบาตหน้าบ้านเศรษฐีชื่อนันทะ มีลูกสาว 7 คน รู้สึกชอบจึงกลับเมืองเป็งจานลาสิกขาบทออกมาแล้วมาสู่ขอนางทั้งเจ็ดไปเป็นมเหสี ต่อมามเหสีทั้ง 8 คนของท้าวกุดสะราดได้อธิษฐานขอลูก โอรสของพระอินทร์ได้อาสาลงมา สู่ครรภ์นางจันทาหนึ่งองค์ และอีกสององค์พร้อมกันลงมาสู่ครรภ์นางลุน ซึ่งเป็นน้องคนสาวคนสุดท้ายของนางทั้งเจ็ด

โหรจึงทำนายว่า "ผู้มีบุญมาเกิดในครรภ์ของนางจันทากับนางลุน ส่วนอีกหกนางจะเป็นคนไม่ดีมาเกิด" ทำให้นางทั้งหกไม่สบายใจ ต่อมามีหญิงร้อยเล่ห์เข้ามาหาและตีสนิท จนนางปทุมมาผู้พี่คนโตของนางทั้งเจ็ดไว้ใจ หญิงนั้นทำยาเสน่ห์ให้ท้าวกุดสะราดหลงใหลนางทั้งหก พร้อมทั้งให้สินบนโหรให้กลับคำทำนายใหม่ พอครบกำหนดนางทั้งแปดก็คลอดลูกออกมา ลูกของนางลุนนั้นคนแรกคลอดแกมาเป็นหอยสังข์ คนที่สองเป็นมนุษย์ถือดาบและศรศิลป์ออกมาด้วย ส่วนนางจันทาได้ลูกออกมาเป็นครึ่งล่างเป็นราชสีห์ส่วนหัวเป็นช้าง รวมเรียกว่า คชสีห์

เมื่อนั้น สังข์ทองท้าว อนุชา เสด็จออก ตกก่อนกิ้ง เหนือผ้า แผ่นคำ
หื่นหื่นพ้อม เสียงกล่าว แถมวอน เห็นโฉมสี หลากคาม ควรง้อ
เมื่อนั้น ตนประเสริฐเจ้า เจียรจากเสด็จตาม ทรงศิลป์ศร ดาบเลยลงม้ม
ถัดนั้น เอกาเจ้า จันทานางนาด เลยเล่าม้มแก่นเหง้า ฝูงเชื้อ ซ่อยระวัง
เลยเล่า เห็นอ่อนน้อย เป็นฮูบราชสีห์ งวงงาประจิต ดั่งคำ คือแต้ม  ”

sang sinchai lao

ท้าวกุดสะราด เห็นว่า มีความผิดตามคำโหรจึงเนรเทศลูกออกนอกเมือง นางจันทา นางลุนพร้อมลูกสามคนรวมกันเป็นห้าคน จึงเดินทางออกจากเมืองไป เดินทางไปตามป่าได้ราวหนึ่งเดือนไปพบกับปราสาทอยู่กลางป่า ซึ่งพระอินทร์มาสร้างไว้ให้พักอาศัย ทั้งหมดจึงอาศัยในปราสาทนี้ โดยพระอินทร์เขียนชื่อไว้ว่า ลูกของนางจันทาชื่อ สีหราชหรือสีโห ส่วนลูกของนางลุนนั้นคนแรกชื่อสังข์ คนที่สองชื่อ สินไซ (ศิลป์ชัย) ดังข้อความที่ว่า

อินทร์ใส่ซื่อน้อย ในเลข ลานคำ ชื่อว่า สังข์สินไซ โลกลือ ฤทธีกล้า
อันว่า บุตตาเจ้า จันทานางพี่ ชื่อว่าสีหราชท้าว ไทน้อม ขับขาน  ”

ทั้งสามองค์เจริญเติบโตขึ้นด้วยความรักสามัคคีกัน วันหนึ่งสินไซได้ขอธนูศิลป์หรือศร กับดาบหรือตาว จากแม่ของตน เมื่อนางจันทามอบให้แล้วสินไซก็แสดงการใช้ดาบและศรได้อย่างคล่องแคล่ว สินไซ ยิงธนูไปตกถึงหน้าพญาครุฑในนครสิมพลี พญาครุฑจึงนำไพรพลทั้งหลายมาถวายเครื่องบรรณาการพร้อมให้การอารักขา จากนั้นสินไซยิงธนูไปตกที่หน้าของพญานาค พญานาคก็นำไพร่พลมาถวายเครื่องบรรณนาการและเฝ้าอารักขา โดยครุฑอารักขากลางวัน ส่วนนาคอารักขากลางคืน ทั้งสามเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มที่มีฤทธิ์มาก

ฝ่ายท้าวกุดสะราด สั่งให้ลูกชายที่เกิดจากนางทั้งหก ออกเดินทางไปเรียนวิชาต่างๆ เพื่อที่จะเป็นวิชาติดตัวใช้สำหรับติดตามนางสุมนทา โอรสทั้งหกก็ออกเดินทางไปในป่า จนกระทั่งไปพบกับสีโหสังข์สินไซ เมื่อสอบถามก็รู้ว่าเป็นพี่ จึงหลอกว่าท้าวกุดสะราดคิดถึงอยู่ตลอดมาจึงให้ออกมาตามหา และถามข่าวว่ายังอยู่ดีสบายหรือไม่ บัดนี้จะกลับไปกราบทูลให้ทราบ และเพื่อเป็นการยืนยันว่าอยู่ดีมีวิชามาก จึงขอให้เรียกให้สัตว์น้อยใหญ่ในป่าติดตามไปในอีกหนึ่งวันข้างหน้า

sang sil chai 07

จากนั้นทั้งหกองค์จึงกลับไปทูลพระบิดาว่า เรียนวิชาจบแล้ว ถ้าไม่เชื่อจะใช้มนต์เรียกสัตว์ให้ดู วันต่อมาก็มีสัตว์มีพิษในป่าเข้าไปในเมืองเต็มไปหมด แต่ไม่ทำอันตรายใคร ท้าวกุดสะราดก็ดีใจว่า ลูกมีความสามารถแล้ว จึงสั่งให้ออกติดตามนางสุมนทาแล้วพากลับมาบ้านเมือง ทั้งหกองค์ก็เดินทางไปพบพี่ๆ ในป่าแล้วบอกว่า "ท้าวกุดสะราดเชื่อแล้ว และให้ออกเดินทางไปตามหาน้าสุมนทาด้วยกัน ถ้าทำสำเร็จจะยกบ้านเมืองให้ปกครองครึ่งหนึ่ง" สีโหสังข์สินไซมีความกตัญญูคิดตอบแทนบิดาจึงรับปากจะไปด้วย แต่นางจันทากับนางลุนไม่เชื่อพยายามห้ามปรามแต่ก็ขัดไม่ได้ ในที่สุดก็สั่งสอนว่า ให้ระวังเพราะในป่ามีอันตรายมาก ศรศิลป์ พระขรรค์ ต้องกระชับในมือตลอดเวลา เมื่อได้พบน้าสุมนทาก็อย่าไว้ใจมากนัก เพราะอาจติดนิสัยยักษ์มาบ้าง สินไซจงดูแลอย่าทอดทิ้งกัน และสุดท้ายอย่าไว้ใจท้าวทั้งหกนี้ จากนั้นจึงอำลาแม่แล้วออกเดินทาง จนกระทั่งได้พบกับด่านต่างๆ ดังนี้

ด่านแรก คือ ด่านงูซวง คืองูใหญ่ มีความยาวเท่ากับเชือกล่ามวัวร้อยตัว มีตาสีแดง พ่นพิษออกมาเป็นไฟ ท้าวทั้งหกกลัวขอกลับ แต่สินไซฟันงูขาดเป็นท่อน แล้วเดินทางต่อไป จนกระทั่งถึงแม่น้ำสายที่หนึ่งใหญ่ กว้างหนึ่งโยชน์ ท้าวทั้งหกชวนกลับและบอกว่าพ่อคงไม่เอาโทษอะไร แต่สังข์ออกเดินทางไปก่อน สินไซออกตามไปโดยให้สีโหอยู่เฝ้าน้องทั้งหก สังข์แปลงกายเป็นเรือให้สินไซขี่ข้ามแม่น้ำไปได้จนถึงภูเขาและพบกับด่านที่สอง

ด่านที่สอง คือ ด่านยักษ์กันดารหรือด่านวรุณยักษ์ เป็นด่านที่อัตคัดลำบากไม่สะดวกสบายขาดแคลน เป็นยักษ์ดุร้ายจึงฟันคอยักษ์ขาดตายไป สินไซก็ตามรอยหอยสังข์ที่ล่วงหน้าไปก่อนจนพบแม่น้ำสายที่สอง กว้างสองโยชน์ สังข์แปลงกายเป็นเรือให้สินไซขี่ข้ามไปได้อีก ระหว่างทางสินไซระลึกถึงพระคุณแม่อยู่ตลอด จนกระทั่งพบด่านที่สาม

sang sil chai 08

ด่านที่สาม คือ ด่านช้างหลายแสนตัว มีพระยาฉัททันต์เป็นหัวหน้า มันโกรธตาแดงขู่ว่า จะฆ่าสินไซ สินไซใช้ศรยิงล้มลงระเนระนาด มันยอมบอกว่า เคยเห็นยักษ์อุ้มนางสุมนทาเหาะผ่านไป ขออโหสิกรรม และยอมให้ขี่คอพาไปส่งจนสุดแขตแดน สินไซสอนให้ช้างอย่าทำร้ายเบียดเบียนคนอื่น จากนั้นก็เดินทางต่อไปจนพบแม่น้ำสายที่สาม กว้างสามโยชน์ สินไซก็ขี่สังข์จนพ้นข้ามไปได้และพบกับด่านที่สี่

ด่านที่สี่ คือ ด่านยักษ์สี่ตน ได้แก่ กันดานยักษ์ จิตตยักษ์ ไชยยักษ์ และวิไชยยักษ์ ได้สู้รบกัน สินไซปราบยักษ์เสร็จแล้วเดินทางต่อไปตามรอยหอยสังข์ จนพบกับแม่น้ำสายที่สี่ที่กว้างสี่โยชน์ สังข์พาสินไซข้ามไปได้ แล้วรีบเร่งเดินไปถึงภูเขาใหญ่ดำทะมึนมี บ่อแก้ว บ่อเพชร เป็นน้ำเพชรไหลออกมามีสีสันแวววาวระยิบระยับ เห็นวิมานของพญาธร ถ้ำเพชร เห็นต้นนิโครธ เดินทางผ่านภูเขาเป็นหมื่นๆ จนเข้าเขตยักษ์ขินีเป็นด่านที่ห้า

ด่านที่ห้า คือ ด่านยักษ์ขินี เป็นหญิงอายุมากกว่าสินไซ พอเห็นสินไซก็เกิดกามราคะกำหนัด จึงเนรมิตศาลาที่พักอาหารการกินพร้อมบริบูรณ์รอรับแปลงกายเป็นหญิงสวยดั่งนางฟ้า เชิญชวนให้สินไซพักผ่อนบอกว่าเป็นธิดาเจ้าเมือง หลงมาอยู่ในป่าขอเป็นคู่ แม้เพียงได้หลับนอนด้วยก็ดี สินไซเดินหนีไปมันจึงวิ่งตามว่าถ้ามีเมียแล้วขอเป็นเมียน้อยก็ได้ ตอนแรกสินไซก็นึกเอ็นดูว่าน่ารัก แต่พอพิจารณาดูเห็นแววตากระด้างก็รู้ว่าไม่ใช่คนจึงรีบเดินหนี มันเดินตามเจรจาต่อรองต่างๆ ไปจนสุดเขตแดน เขตแม่น้ำ เมื่อเห็นว่าไม่ทันมันจึงตะโกนด่าว่าอย่างหยาบคาย หากสินไซขาดสติคงแย่แน่นอน เดินทางจนพบแม่น้ำสายที่ห้า กว้างห้าโยชน์มีฟองเป็นสีขาว รีบขึ้นขี่หอยสังข์ไประว่างนั้นคิดถึงแม่และป้า จนผ่านเข้าเขตด่านที่หก

ด่านที่หก คือ ด่านนารีผลหรือมักลีผล เป็นรมณียสถานที่หมู่พระสงฆ์หรือสมณะ ดาบส ฤๅษี วิทยาธร มาเที่ยวเล่น เป็นต้นไม้มีดอกสีส้มเป็นหญิงสาวสวยงาม ศีรษะติดกับขั้ว ร่างเปลือยหย่อนลงมาถึงพื้น สินไซเที่ยวชมไม่นานก็มีวิทยาธรมาแย่งไป เกิดการแย่งกันหลายกลุ่ม สินไซรบชนะวิทยาธรแล้ว ก็เดินทางต่อไปจนพบกับแม่น้ำสายที่หก กว้างหกโยชน์ จึงลงเรือสังข์ข้ามต่อไป จนขึ้นสู่ดินแดนยักษ์เป็นด่านที่เจ็ด

ด่านที่เจ็ด ชื่อ ด่านยักษ์อัสสมุขี อยู่ภูเขาชื่อเวละบาดหรือเวรระบาด นางยักษ์ผีเสื้อชื่ออัสสมุขีมีหน้าเหมือนสุนัข รีบมาอุ้มเอาสินไซวิ่งไป สินไซถามว่าจะพาอุ้มไปไหน นางก็ตอบว่าจะเอาไปทำผัว สินไซอ้อนวอนให้ปล่อยก็ไม่ปล่อยจึงใช้พระขรรค์ตัดคอยักษ์ตายไป บนภูเขานี้มีต้นกาลพฤกษ์มีดอกเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ดั่งเครื่องทรงของเทพ สินไซจึงเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ ที่นี่มีบ่อแก้วบ่อเพชรเต็มไปด้วยเพชรนิลจินดา น้ำใสสะอาด สินไซพักหนึ่งราตรีแล้วเดินทางต่อไป จนพบด่านที่แปด

sang sil chai 09

ด่านที่แปด คือ ด่านเทพกินรี ที่ผาจวงถ้ำแอ่น หมู่กินรีร่างเป็นคนมีปีกมีหางเหาะเหินได้เหมือนนก เป็นหมู่ธิดาของเทพ ที่นี่สินไซได้พบนางเจียงคำ (เจียง แปลว่า แรก ต้น หนึ่ง) จึงได้นางเป็นเมีย “พระบาทท้าวฮักฮูปเจียงคำ สองชมสองช่างออยอำอิ้ง ดูดัง อันประสงค์ได้ โดยคะนิงลุลาภ แก้วแก่นไท้ซมซ้อนอิ่มเสนห์” สินไซลานางเดินทางต่อไป นางเจียงคำให้กินรีบริวารอยู่รับใช้ห้าร้อยนาง สินไซจึงสนุกสนานอยู่อีกเจ็ดวัน ทำให้สังข์ต้องรอนานถึงแปดวัน เมื่อพบกันแล้วจึงปรึกษากันว่า ให้สังข์ล่วงหน้าไปหาเบาะแสในเมืองอโนราชของยักษ์ก่อน ส่วนสินไซนอนรออยู่นอกเมือง สินไซนอนหลับไปฝันเห็นเรื่องราวต่างๆ สังข์กลับมาบอกว่า ทราบว่านางสุมนทาอยู่วังไหน ทั้งสองจึงเดินทางไปด้วยกันเข้าสู่เมืองอโนราชจนถึงด่านที่เก้า

ด่านที่เก้า คือ ด่านยักษ์กุมภัณฑ์ เป็นด่านสุดท้ายของการผจญภัย ในเมืองนี้มีสงครามสองครั้ง

ก่อนวันที่สินไซจะเข้ามา คืนก่อนนั้น ยักษ์หลับฝันละเมอจนนางสุมนทาปลุกให้ตื่น และต้องออกไปหาอาหาร สั่งให้สุมนทาอยู่แต่ในปรางค์เท่านั้น สินไซแอบเข้าไปสู่ปราสาท ทำทีเป็นพูดเกี้ยวพาราสี สุมนทารู้ว่าเป็นเสียงเด็กจึงไต่ถามจนทราบ แต่ไม่เปิดประตู สินไซจึงพังประตูเข้าไป นางสุมนทาไม่ยอมกลับ บอกให้สินไซกลับไปบอกพ่อว่าตามหาไม่เจอ สินไซเสียใจที่พ่อรักน้อง แต่สุมนทามารักสมียักษ์มากกว่า สุมนทาบอกว่าไม่อยากพลัดพราก ต้องกตัญญูต่อสามี สุมนทาทราบว่า หลานมีวิชาเก่งกล้าจึงยอม แต่ขอให้สามีกลับมาก่อน สินไซไม่ยอม สุมนทาให้สินไซกลับก่อน ตนจะให้สามีพาไปส่ง สินไซแผลงศรขึ้นฟ้าข่มอำนาจยักษ์ทั้งหลาย จนยักษ์กุมภัณฑ์หมดแรง ซมซานกลับมา

สังข์บอกให้สินไซแอบหลบในกองไม้ ยักษ์มาถึงหมดแรงขึ้นปราสาทไม่ได้แต่ได้กลิ่นมนุษย์ สุมนทาบอกว่า กลิ่นของตน แล้วพากลับขึ้นไปกล่อมนอนซึ่งอีกเจ็ดวันจึงจะตื่น สินไซชวนอากลับ สุมนทาทำอิดเอื้อนต่อรองไปเรื่อยๆ จนสินไซบังคับ นางก็ต่อรองพอลงจากปรางค์ก็บอกว่า ลืมผ้าสไบ กลับขึ้นไปปลุกยักษ์ให้ตื่น สินไซไปพาออกมา ครั้งที่สองมาถึงครัวบอกว่าลืมปิ่นปักผม ครั้งที่สามถึงประตูเมืองบอกว่าลืมซ้องแซมผม สินไซไปตามกลับมาจนพาออกพ้นเมือง แล้วพาไปซ่อนในถ้ำ จากนั้นกลับไปเมืองอโนราชเพื่อปราบยักษ์ได้ยินเสียงกรนจึงเข้าไปตัดคอขาดกระเด็น จากนั้นก็ฟันร่างแยกออกเป็นสองท่อน แต่ร่างยักษ์กลับกลายเป็นเจ็ดร่าง พอฟันอีกกลับกลายเป็นสี่สิบเก้าร่าง เป็นเท่าทวีคูณเช่นนี้จนเป็นแสนเป็นล้านร่าง แต่ยิ่งรบยิ่งตาย

sang sil chai 10

ท้าวกุมภัณฑ์จึงขอพักรบชั่วคราว สินไซจึงยิงศรไปแจ้งให้สีโหทราบ สีโหจึงรีบเดินทางมาช่วยร่วมรบ ยักษ์กุมภัณฑ์นำทัพออกตามไปรบกับสินไซโดยมีกองทัพจำนวนมาก ยักษ์แปลงเป็นไก่มาอุ้มเอานางสุมนทาไปได้ สินไซยิงศรถูกไก่ตายหมด เหลือแต่ไก่กุมภัณฑ์อุ้มไปพร้อมกับให้ยักษ์หมื่นตนมาขวาง สีโหจึงร้องหรือเปล่งสีหนาทจนแก้วหูยักษ์แตกตาย ได้นางสุมนทาคืน ก่อนกลับ นางสุมนทาขอร้องให้ตามไปรับนางสีดาจันธิดาของตน ที่อยู่กับวรุณนาคเมืองบาดาล พระอินทร์จึงสร้างปราสาทชั่วคราวให้พัก สีโหกลับไปเฝ้าท้าวทั้งหก ส่วนสังข์กับสินไซเดินทางไปเมืองพญานาคท้าพนันเล่นสกากัน สินไซชนะแต่พญานาคไม่ทำตามสัญญา รบกัน สินไซยิงศรไปให้ครุฑมาช่วย นาคยอมแพ้

สินไซจึงสั่งสอนแนวทางปกครองบ้านเมือง (14 ประการ) แล้วพานางธิดาจันกลับขึ้นมาพบแม่สุมนทา แล้วมอบหมายให้ท้าววันนุรา (แปลว่าหัวใจของเผ่าพันธุ์) ให้ครองเมืองอโนราช พร้อมกับสั่งสอนแนวทางปกครองให้แก่ท้าววันนุรา (15 ประการ) แล้วพากันเดินทางกลับไปถึงที่พักของสีโหกับท้าวทั้งหก สังข์กับสีโหเดินทางไปพบแม่ที่ปราสาทกลางป่า ส่วนสินไซ สุมนทา สีดาจันเดินทางจะกลับเมืองเป็งจาลพร้อมท้าวทั้งหก พอมาถึงน้ำตก ท้าวทั้งหกผลักสินไซตกเหว นางสุมนทาไม่เชื่อจึงเอาสิ่งของสามอย่างคือ ปิ่นปักผม ซ้องประดับผม และผ้าสไบซ่อน ไว้ที่หน้าผาพร้อมกับอธิษฐานว่า "ถ้าสินไซไม่ตายขอให้ได้ของสิ่งเหล่านี้กลับคืน"

hoobtam sang sinchai

จากนั้นเดินทางกลับไปถึงเมือง ส่วนสินไซ พระอินทร์มาอุ้มขึ้นจากน้ำ รดด้วยน้ำเต้าแก้วแล้วพาไปส่งที่ปราสาทในป่า จึงได้อยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้งทั้งสังข์ สีโห สินไซ และแม่จันทา นางลุน ส่วนท้าวกุดสะราดดีใจมาก ต้อนรับคณะอย่างยิ่งใหญ่ ท้าวทั้งหกเล่าเรื่องราวการผจญภัยให้บิดาฟังพร้อมกับบอกว่า อย่าเชื่อนางสุมนทาเพราะอาจจะยังติดไอยักษ์อยู่ ส่วนนางสุมนทาก็เล่าเรื่องราวให้ฟังพร้อมกับบอกคำอธิษฐาน ท้าวกุดสะราดไม่ทราบจะเชื่อใคร พระอินทร์ดลใจให้พวกเรือสำเภาเก็บของสามสิ่งไปให้ท้าวกุดสะราด เรื่องทั้งหมดจึงชัดเจนขึ้น

ท้าวกุดสะราดสั่งให้จับท้าวทั้งหก แม่ทั้งหก หมอโหร หมอเสน่ห์ ไปคุมขัง จากนั้นจึงเสด็จเชิญนางจันทา นางลุนพร้อมโอรสกลับวัง มีการตัดพ้อต่อว่ากันจนเสียใจ ระทมใจ จนสลบไปกันทั้งป่า สินไซจึงเชิญพระอินทร์นำน้ำเต้าแก้วมารดให้ฟื้น ในที่สุดสินไซก็ยอมรับที่จะครองเมือง เพื่อสร้างบารมีโพธิญาณ สินไซได้สั่งสอนให้สัตว์ทั้งหลายเลิกเบียดเบียนกัน แล้วทั้งหมดเดินทางกลับเข้าเมืองเฉลิมฉลอง ได้พระนามใหม่

ควรที่หา นามน้อย อินทา ตั้งแต่ง บานี้ ซื่อสังข์สินไซมหาจักร โลกลือทั้งค่าย
อันว่า น้องท่านแท้ เทียมคาดคือเงา ซื่อว่าสังขาระจักร จ่านำชาวน้ำ
อันว่า พี่ท่านท้าว สีหราช กุมาร ก็ดี ซื่อว่า สีหะจักร จ่านำแนมเสื้อ  ”

สินไซครองเมืองไปขอนางเจียงคำมาเป็นมเหสีต่อมาได้นามว่านางศรีสุพรรณ เมืองอุดรกุรุทวีป เมืองอมรโคยาน ต่างส่งราชธิดามาให้เป็นคู่ครองของสินไซ ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข พืชภัณฑ์อาหารอุดมสมบูรณ์ สัตว์ที่เคยเป็นศัตรูกันก็เลิกเป็นศัตรู นาคไม่ข่มเหงครุฑ พังพอนไม่สู้กับงู งูไม่กินกบเขียด แมวไม่กินหนู ทุกสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ต่างคนต่างอยู่ ประชาชนและสัตว์ต่างอยู่สงบมีศีลธรรม

ท้าววรุณนาคกลับเมืองนาคแล้ว คิดถึงสีดาจันมากจนป่วย ชาวเมืองจึงลงความเห็นให้มาขอนางสีดาจันคืนไปเป็นมเหสี สินไซอนุญาต สีดาจันกลับไปครองเมืองกับวรุณนาคอย่างมีความสุข

sang sil chai 11

เรื่องราวฉบับของท้าวปางคำจบลง โดยบอกว่า สินไซ คือ พระพุทธองค์ ท้าวทั้งหก คือ เทวทัต สีโห คือพระโมคคัลลาน์ ยักษ์กุมภัณฑ์ คือ พญามารที่ขี่ช้างมารบกวนพระพุทธองค์นั่นเอง เรื่องราวจบลงเพียงเท่านี้ ดังว่า

อันว่าปางคำเจ้า ทรงยานเขียนฮูป ยกแยงถ้วน ถวายไว้แว่นแยง แท้แล้ว ฯ บัดนี้นาคสะดุ้ง กิ้งก่อมใสสนิท เป็นปะริโยสาน พิบบอระบวนแล้ว ยุติไว้พญาคำนาคเครื่อง แล้วท่อนี้ถวายไว้ที่ควร ก่อนแล้ว  ”

sang sil chai 12

ต่อมามีร่องรอยการประพันธ์จากฉบับอื่นเพิ่มเติม ดังนี้

กล่าวถึงท้าวเวสสุวรรณ เวลาผ่านไปเจ็ดปี ไม่เห็นยักษ์กุมภันฑ์ไปส่งบรรณาการ จึงลงมาถามตรวจดูพบว่า วันนุราครองเมืองอยู่และเล่าเรื่องราวให้ฟัง ท้าวเวสสุวรรณจึงรดน้ำชุบชีวิตยักษ์กุมภัณฑ์คืนมา แล้วสั่งสอนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม แต่ยักษ์ไม่เชื่อเหาะไปแปลงเป็นแมลงวันเขียวอุ้มเอานางสุมนทา และเอาสินไซไปขังไว้ในคอกเหล็กจะต้มกิน สีโหและสังข์ทราบจึงตามไปช่วย สีโหแปลงเป็นยักษ์เข้าไปปะปนกับทหาร สังข์แปลงกายเป็นเขียดอีโม้ไปอยู่ในถังน้ำนางยักษ์ที่ตักไปจะต้มสินไซ และลงไปในกระทะ ขณะที่น้ำกำลังร้อนจึงทำให้กระทะคว่ำ หมู่ยักษ์กระโดดหนี สีโหได้โอกาส จึงยื่นดาบและศรให้สินไซในกรง สินไซใช้ตัดออกมาได้ แล้วต่อสู้กับยักษ์เป็นสงครามใหญ่ (โครงเรื่องข้างบนนี้คล้ายเรื่อง "รามเกียรติ์ตอนศึกไมยราพ" ตอนพระรามถูกอุ้มไปขังไว้ในดงตาล นางพิรากวนไปตักน้ำมาจะต้ม หนุมานแปลงกายแฝงเข้าไปช่วย)

ສິນໄຊ 1 | สินไซ ๑ | ນິທານລາວ

สินไซไม่อยากรบขอเจรจายุติศึกเพราะไม่ได้โกรธแค้นใคร ยักษ์ยิ่งโกรธยกภูเขาขว้างใส่ สินไซแผลงศรไป สังข์กระโดดกัดยักษ์ สีโหคำรามก้องเสียงดังไปถึงชั้นพรหม ยักษ์ยิ่งตายมากยิ่งเกิดใหม่มาก พระอินทร์ต้องลงมาเรียกทั้งสองฝ่ายมาเจรจาโดยใช้หลักการแบบเจ้าโคตร คือ หนึ่ง ไม่ชี้ว่าฝ่ายใดผิดฝ่ายใดถูก สอง ทุกชีวิตก็รักชีวิตตน ดังนั้นไม่ควรเบียดเบียนชีวิตอื่น ให้ระงับการจองเวร อย่าใช้ความเก่งกล้าสามารถไปก่อเวร และสาม ควรประนีประนอมสมานฉันท์ เพราะทุกฝ่ายล้วนเป็นญาติพี่น้องกัน ให้รักษาความเป็นญาติพี่น้องต่อไป รักษาประเพณีอันดีงามนี้ต่อไป ทั้งสองฝ่ายตกลงตามนี้

sang sil chai 13

จากนั้น ยักษ์กุมภัณฑ์ ก็กลับเมืองพร้อมกับนำทรัพย์สินเงินทองมาสู่ขอนางสุมนทาตามประเพณี ท้าวกุดสะราดยกให้ แล้วทั้งสองนครก็จะมีความสุขสงบต่อไป ก่อนแยกย้ายกันกลับเมือง สินไซได้ประทานโอวาทเรื่อง "ทศพิธราชธรรมแก่นักปกครองทั้งหลาย" ต่อมาสีโห ขอลาไปอยู่ป่าตามธรรมชาติของตน นางอุดรกุรุทวีปได้โอรสชื่อว่า สังขราชกุมาร ส่วนนางศรีสุพรรณได้ลูกสาวชื่อ สุรสา ต่อมาทั้งคู่ได้อภิเษกสมรส ครองเมืองต่อจากสินไซ นครเป็งจาลจึงร่มเย็นเป็นสุขสืบไป

sang sil chai 15

ในภาคอีสานมีการสานต่อวรรณกรรมเรื่องนี้ผ่าน การแสดงของมหรสพที่มีอิทธิพลต่อผู้คนในภูมิภาคนี้ เช่น การแสดงหนังปราโมทัย (หนังตะลุงอีสาน) ในเรื่่อง สังสินไซ ที่ตัวผู้เขียนเคยดูในวัยเด็กและยังจดจำได้จนถึงทุกวันนี้ และผ่านทางการแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอน อย่างเช่น คณะเพชรอุบล ที่นำทีมโดยศิลปินแห่งชาติ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ในชื่อเรื่อง "สังข์สินชัย"

ลำเรื่องต่อกลอน "สังข์สินชัย" คณะเพชรอุบล (ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม - โฉมไสว แสนทวีสุข)

กลอนลำนิทานสังสินไซ กลอนที่ 1 เทศบาลนครขอนแก่น (มี 12 กลอน)

ท่านที่สนใจความเคลื่อนไหวและกิจกรรมเกี่ยวกับ "สินไซ" ติดตามได้ทางเพจ "สินไซสองฝั่งโขง" นะครับ

[ อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : นิทานพื้นบ้านอีสาน ]

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)