foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

LP suang header

หลวงปู่สรวง ออยเตียนสรูล เป็นปริศนาที่มีมานานมากแล้ว บ้างก็ว่าท่านเป็นคนจังหวัดศรีสะเกษ บ้างก็ว่าท่านเป็นพระสงฆ์ที่เดินทางมาจากประเทศกัมพูชา มาจำพรรษาที่ประเทศไทยหลายแห่ง จึงไม่มีใครที่จะทราบเรื่องราวประวัติที่แน่นอนของท่านเลย มีเพียงคำบอกเล่าจากปากต่อปาก จนเป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันท่านได้มรณภาพไปแล้วตั้งแต่ วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2543 โดยสรีระสังขารของท่านนั้น ไม่ได้เน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา จึงได้เก็บรักษาร่างของท่านไว้ในโลงแก้ว ที่วัดไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ

LP Suang 05

มีเรื่องเล่าประวัติทั้งที่พิสดาร และข้อสันนิษฐานต่างๆ มากมายเกี่ยวกับหลวงปู่สรวง เช่น

ตำนานที่ 1 เล่าว่า

หลวงปู่สรวง เดิมชื่อว่า “ต่อ” คนทั่วไปถามว่า หลวงปู่ชื่ออะไร หลวงปู่บอกว่า ลืมเสียแล้ว คนทั่วไปเข้าใจว่าหลวงปู่มาจากสรวงสวรรค์ จึงเรียกว่า “หลวงปู่สรวง” เล่ากันว่า "หลวงปู่สรวง เกิดวันพฤหัสบดี ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 4 ปีขาล ตรงกับ วันที่ 9 เดือน มีนาคม พ.ศ. 1793 มรณภาพ เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2543 ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 10 ปี มะโรง รวมอายุได้ 750 ปี (เจ็ดร้อยห้าสิบปี)

หลวงปู่สรวง มีบิดา ชื่อ พ่อแก้ว มารดา ชื่อ แม่คำ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน เป็น ชาย 5 คน หญิง 1 คน หลวงปู่สรวงเป็นบุตรคนที่ 5 บิดามารดาและพี่น้องทั้ง 5 คนไปอยู่เมืองสวรรค์กันทั้งหมด ในสมัยหลวงปู่สรวง อายุ 35 ปี จึงบวชพระเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ ตรงกับ วันที่ 21 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 1828 ที่วัดคงคา จังหวัดศรีสะเกษ มีพ่อท่านแก้วเป็นเจ้าอาวาส ตอนนี้วัดนี้ไม่มีแล้ว พระครูเทพโลกอุดร เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ บวชแล้วอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดคงคา พระครูเทพโลกอุดรได้มาโปรดปฏิบัติธรรมอยู่บ่อยๆ

ออยเตียนสรูลท่านชี้ บอกทาง แปลว่าอย่าเหินห่าง แบ่งให้
สรูลสุขเกิดทางสว่าง จากจิต ตนนา หมั่นสั่งสมก่อไว้ สุขแท้ตลอดกาลฯ "

ป.ปิโย ภิกขุ.​

ตำนานที่ 2 เล่าว่า

หลวงปู่สรวง แต่เดิมเป็นชาวกัมพูชา และได้เดินทางมาอยู่บริเวณอำเภอขุนหาญ และอำเภอขุขันธ์ แถบชายแดนตามเชิงเขาพนมดังรัก (พนมดองเร็ก) ซึ่งเป็นเขตกั้นกลางระหว่างประเทศกัมพูชา ท่านเป็นผู้ทรงศีลปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ และได้พักอาศัยอยู่ตามกระท่อมในไร่นาของชาวบ้านโคก และเวียนไปในที่ต่างๆ นานๆ ก็จะกลับมาให้เห็น ณ ที่เดิมอีก

LP Suang 02

ในสายตาและความเข้าใจของชาวบ้านในสมัยนั้นมองท่านว่า เป็นผู้มีคุณวิเศษแตกต่างจากบุคคลทั่วไป และเรียกขานท่านว่า “ลูกเอ็อวเบ๊าะ” หรือ “ลูกตาเบ๊าะ” (เป็นภาษาเขมร หมายถึงพระดาบสที่เป็นผู้รักษาศีลอยู่ตามถ้ำตามป่าเขา)

ในสมัยนั้น มีป่าเขาอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยป่าไม้และสัตว์ป่านานาพันธุ์ มีลูกศิษย์ติดตามหลวงปู่เดินธุดงค์ตามป่าเขาแถบชายแดนไทย ตลอดจนถึงประเทศเขมร แต่ก็อยู่กับหลวงปู่ได้ไม่นานจำต้องกลับบ้าน เนื่องจากทนความยากลำบากไม่ไหว หลวงปู่จึงเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ โดยลำพัง ทำให้ไม่มีใครทราบถิ่นกำเนิดและอายุของหลวงปู่ที่แท้จริง รู้เพียงแต่ว่าหลวงปู่เป็นชาวเขมรต่ำ ได้เข้าอาศัยในประเทศไทยนานแล้ว

คนแก่คนเฒ่าผู้สูงอายุที่เคยเห็นท่านต่างพูดว่า พอจำความได้ก็เห็นท่านอยู่ในลักษณะเหมือนที่เห็นในปัจจุบันนี้ ผิดไปจากเดิมบ้างเล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้งหลวงปู่เป็นคนพูดน้อย และไม่เคยเล่าประวัติส่วนตัวให้ใครฟัง จึงไม่มีใครทราบประวัติและอายุที่แท้จริงของท่านได้ ชาวบ้านแถบนี้เห็นหลวงปู่บ่อยๆ ที่ป่าบ้านตะเคียนราม วัดตะเคียนราม (อำเภอภูสิงห์) แถวบ้านลุมพุก ตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ และตามหมู่บ้านอื่นๆ รอบชายแดน ท่านจะอยู่แถบนี้โดยตลอด แต่ก็จะไม่อยู่เป็นประจำในที่ใดที่หนึ่ง บางทีหายไป 2-3 ปีก็จะกลับมาใหม่อีกครั้ง โดยที่ไม่รู้ว่าหลวงปู่ไปไหน มาระยะหลังๆ นี้พบหลวงปู่เป็นประจำอยู่ในกระท่อมนาข้างต้นโพธิ์ บ้านขะยอง วัดโคกแก้ว บ้านโคกเจริญ กระท่อมนาระหว่างบ้านละลม กับบ้านจะบก กระท่อมนาบ้านรุน (อำเภอบัวเชด) และบ้านอื่นๆ ใกล้เคียง

ในระยะนี้ มีผู้ปวารณาเป็นลูกศิษย์อาสาขับรถให้หลวงปู่นั่งไปในสถานที่ต่างๆ ทำให้มีผู้รู้จักหลวงปู่มากขึ้นทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย แต่ละวันจะมีผู้ขับรถเข้ามากราบไหว้หลวงปู่เป็นจำนวนมาก บางคนก็สมหวังมีโอกาสได้กราบนมัสการ บางคนมาไม่พบก็ต้องนั่งรอนอนรอจนกว่าหลวงปู่จะกลับมา ถึงแม้ว่าจะพบความลำบากเพียงไรก็ยอมทน เพียงขอให้มีโอกาสกราบหลวงปู่สักครั้งหนึ่งในชีวิต

LP Suang 03

หลวงปู่เป็นพระที่มักน้อย สันโดษ สมถะ มีอุเบกขาสูงสุด ให้ความเมตตากับผู้ที่ไปหาทุกคน ให้ความสำคัญกับทุกคนเท่ากันหมดไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นคนยากจน เป็นเศรษฐี ใครรู้จักหลวงปู่มานานขนาดไหน หรือได้ติดตามรับใช้หลวงปู่มานานก็ตาม ท่านไม่เคยเอ่ยปากนับว่าเป็นศิษย์ หรือใช้สิทธิพิเศษแก่คนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะแม้แต่คนเดียว ทุกคนจะได้รับความเมตตาจากหลวงปู่เสมอมา จึงมีผู้มากราบไหว้หลวงปู่เป็นประจำ และกลับมาหาหลวงปู่อยู่เสมอ

ความเป็นอยู่ของหลวงปู่นั้นท่านอยู่อย่างเรียบง่าย จำวัดอยู่ตามกร่ะท่อมนาเล็กๆ มีกระดานไม้ปูไม่กี่แผ่น (บางครั้งก็มีแค่ 2-3 แผ่น) แค่พอนอนได้ ทุกแห่งที่หลวงปู่จำวัดจะมีเสาไม้สูงปักอยู่ มีเชือกขาวขึงระหว่างกระท่อม เสาไม้หรือต้นไม้ข้างเคียงมีว่าวขนาดโตที่บุด้วยจีวร หรือกระดาษแขวนไว้เป็นสัญลักษณ์ ที่ขาดไม่ได้คือจะต้องให้ลูกศิษย์ก่อกองไฟไว้เสมอ บางครั้งลูกศิษย์เอาของถวายท่านก็จะโยนเข้ากองไฟ ฉะนั้น ถ้าเห็นว่ากระท่อมใดมีสิ่งของดังกล่าว ก็หมายถึงว่าเป็นที่ที่หลวงปู่เคยจำวัดหรือเคยอยู่มาก่อน

LP Suang 10

พระครูโกศลสิกขกิจ “หลวงพ่อพุฒ วายาโม” เจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เล่าว่า มีลูกศิษย์วัดมาบอกว่า หลวงปู่สรวง ได้มาเยือนวัดไพรพัฒนา จึงรีบออกไปเพื่อต้อนรับ ปรากฏว่า ไม่พบหลวงปู่ ไม่ทราบว่าหายไปทางทิศใด บุคลิกและกิจของหลวงปู่สรวง จะมีลักษณะความสันโดษ แม้ว่าท่านจะมีผู้คอยติดตามรับใช้ ท่านก็ไม่เคยยึดติด หลวงปู่ยังคงใช้ชีวิตธรรมดา พักอาศัยตามกระท่อมของชาวบ้าน เมื่อท่านได้รับปัจจัยมา ท่านก็ไม่ยึดติดและทำการให้ทานแก่คนยากไร้มาโดยตลอด และหลายๆ ครั้งท่านก็แทบจะไม่สนใจลาภสักการะเงินทองอะไรเลย มีเรื่องเล่าว่า บางครั้งหลวงปู่ยังนำเงินบริจาคลงบนกองไฟก็มีมาแล้ว มีผู้ติดตามเล่าให้ฟังว่าไม่เคยเห็นหลวงปู่นอนหลับเลย บางครั้งไม่ฉันเป็นสิบๆ วันก็ยังอยู่ได้เป็นปกติ

บางครั้งไม่เห็นท่านนานหลายวัน อยู่ดีๆ ก็เห็นท่านกลับมาอีกครั้ง โดยจะสังเกตุได้จากว่าวที่แขวนหน้ากระท่อม ถ้าหลวงปู่สรวงไม่อยู่ ว่าวนี้ก็จะหายไปด้วยเช่นกัน บางครั้งก็นุ่งห่มเหลือง บางครั้งก็แต่งขาว ชาวบ้านถือเป็นเรื่องปกติเพราะเป็น มหามุนีเทพดาบส โดยทั่วๆไปที่เรียกว่า หลวงปู่ นั้น ด้วยมีกิจปฏิบัติเฉกเช่นสงฆ์

LP Suang 07

ล่วงเข้าปี 2540 ช่วงเย็นวันหนึ่ง หลวงปู่สรวงเดินทางมาที่ตำบลไพรพัฒนา กำนันทวาย ไพรบึง จึงจัดขัน 5 ขัน 8 อันเป็นเครื่องสักการะ แล้วนิมนต์ให้จำวัดไพรพัฒนา วันรุ่งขึ้นพอฟ้าสางก็หายไปอีก อีกชั่วระยะหลวงปู่สรวงก็กลับมาอีก หลวงพ่อพุฒจึงนำขันดอกไม้ไปสักการะและก่อกองไฟให้ หลวงปู่ฯ จึงเทศนาให้ฟังจนดึก แล้วเขียนอักขระให้ 3 ตัวคือ อองโพธิสัตว์ ออยกังกูย เพียวะเนีย (เป็นพระให้เจริญภาวนา) เทอเจิ๊ด ออยสะหรูด (ทำให้สบาย) เทอเจิ๊ด ออยสะโหลด (ทำให้บริสุทธิ์)

ความอัศจรรย์มากมาย ที่เล่าต่อๆ กันมามีมากมาย ทั้งจากลูกศิษย์ที่เป็นฆราวาส และพระสงฆ์ ต่างก็พากันยืนยันในเรื่องความดีงามของหลวงปู่สรวง อีกทั้งผู้คนมากมาย มักมีโชคลาภ และเชื่อกันว่าเป็นเพราะบารมีหลวงปู่สรวง การเล่าปากต่อปาก มากมายในเรื่องราวปริศนา และความอัศจรรย์ต่างๆ เป็นเหตุให้ผู้คนจากทั่วสาระทิศ วนเวียนมากราบไหว้บูชาหลวงปู่สรวงอย่างไม่ขาดสาย

เหตุการณ์ในวันที่ 8 กันยายน 2542 (ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง)

LP Suang 01ตามปกติแล้ว หลวงปู่จะมีสุขภาพแข็งแรง สามารถนั่งรถเดินทางไปไหนมาไหนได้เป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน โดยหยุดพักเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ท่านจะไม่ค่อยเจ็บป่วย หรือแสดงอาการว่าเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด จะมีบ้างก็เป็นการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ และก็หายได้ในเร็ววัน เพิ่งจะมีอาการป่วยปรากฏไม่กี่เดือนหลังนี้ หลวงปู่มีอาการป่วยและฉันอาหารไม่ได้เป็นเวลาหลายวัน ท้ายสุดหลวงปู่ได้มาพักอยู่ที่กระท่อมนาข้างวัดป่าบ้านจะบก ในเวลาประมาณ 14.00 น. อาการป่วยของหลวงปู่ก็กำเริบหนัก โดยหลวงปู่ได้บอกบรรดาศิษย์ว่าจะไปที่บ้านรุน และได้ให้นายกัณหาผู้เป็นลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่ง ซึ่งอยู่บ้านละลมถอดเสื้อออกมาโบกพัดด้านหลังหลวงปู่

หลังจากพัดอยู่นานพอสมควร ก็ได้สั่งให้ลูกศิษย์ที่รวมกันอยู่ในกระท่อมในขณะนั้น ช่วยกันงัดแผ่นกระดานปูกระท่อม ที่หลวงปู่นั่งทับอยู่ออกมาหนึ่งแผ่น ทั้งๆ ที่ท่านเองก็ยังนั่งอยู่บนกระดานแผ่นนั้น พองัดออกมาหลวงปู่ได้พนมมือไหว้ทุกทิศ เสร็จแล้วก็ให้ศิษย์หามท่านออกมาจากกระท่อม วางบนพื้นดินด้านทิศเหนืออยู่ระหว่างกระท่อมกับต้นมะขาม โดยตัวท่านเองหันหน้าเข้ากระท่อม

ขณะนั้น มีผู้นำน้ำดื่มบรรจุขวดมาถวายสองขวด หลวงปู่ได้เทราดตนเองจากศีรษะลงมาจนเปียกโชกไปทั้งตัว คล้ายกับเป็นการสรงน้ำครั้งสุดท้าย นายชัยผู้ขับรถให้หลวงปู่นั่งเป็นประจำได้นำรถมาเทียบใกล้ๆ แล้วช่วยกันพยุงหลวงปู่ขึ้นรถแล้วขับมุ่งตรงไปที่บ้านรุน ซึ่งอยู่ในอำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ โดยมีนายสุข หรือนายดุง (คนบ้านเจ๊ก อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ) ขับรถติดตามไปเพียงคนเดียว พอถึงบ้านรุนนายชัยได้หยุดรถตรงหน้าบ้านนายน้อย เพื่อจะบอกให้นายน้อยตามไป แต่หลวงปู่ได้บอกให้นายชัยขับรถไปที่กระท่อมโดยด่วน โดยสั่งว่า “โตวกะตวม โตวกะตวม กะตวม”

พอถึงกระท่อมนาก็ได้อุ้มหลวงปู่วางลงบนแคร่ที่ตั้งอยู่ในกระท่อม แล้วช่วยก่อกองไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่หลวงปู่ นายสุขได้อาสาออกไปหาอาหารข้างนอก เพื่อมาถวายหลวงปู่และรับประทานกันเอง นายสุขไปที่บ้านโคกชาติ ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ ไปหานายจุก นางเล็ก ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ไปอุปัฏฐากหลวงปู่เป็นประจำ โดยบอกให้นายจุกรีบไปบ้านรุนเพื่อให้ไปดูอาการหลวงปู่ ซึ่งมีอาการป่วยหนักกว่าปกติ ส่วนตัวเองกับสามีก็รีบขับรถตามมาทีหลัง พอมาถึงกระท่อมปรากฏว่า ไม่มีรถของนายชัยจอดอยู่ พวกที่อยู่ก็ช่วยกันประกอบอาหารอย่างรีบเร่งเพื่อจะให้หลวงปู่ได้ฉัน

โดยหวังว่าหากหลวงปู่ฉันแล้ว ก็คงจะทำให้หลวงปู่มีอาหารดีขึ้นบ้าง แต่หลวงปู่ไม่ยอมฉันเลย แม้จะพากันอ้อนวอนอย่างไรท่านก็นิ่งเฉย นายชัยที่ออกไปทำธุระข้างนอกได้กลับมา โดยขับรถตามนายน้อยที่นำของมาถวายหลวงปู่เหมือนเดิม เมื่อไม่สามารถที่จะทำให้หลวงปู่ฉันได้ ทุกคนก็พิจารณาหาวิธีการว่าจะช่วยหลวงปู่ได้อย่างไร

ในที่สุดก็มีความเห็นว่า ให้รีบแต่งขันธ์ห้าขันธ์แปด (ดอกไม้ธูปเทียน) ขอขมาหลวงปู่โดยด่วน ตามที่เคยกระทำมาแล้วและได้ผลมาหลายครั้ง หลวงปู่หายจากการป่วยทุกครั้งไป โดยการยืนยันของนายชัยว่า ถ้าได้แต่งขันธ์ห้าขันธ์แปดขอขมาพร้อมนิมนต์แม่ชีมาร่วมสวดมนต์ให้ท่านฟังด้วย แล้วท่านก็จะหายเป็นปกติ ทุกคนเห็นชอบด้วยจึงให้นายชัยรีบไปดำเนินการโดยด่วน

นายชัยขับรถออกไปที่บ้านขยุง เพื่อไปหาคนที่เคยแต่งขันธ์ห้าขันธ์แปด เมื่อนายชัยออกไปแล้วลูกศิษย์ที่อยู่ในที่นั่น ซึ่งประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้านบ้านรุนและลูกน้องอีกหลายคน รวมทั้งเจ้าของกระท่อมนาที่หลวงปู่พักอยู่ด้วยได้ช่วยกันแต่งขันธ์ห้าขันธ์แปดเฉพาะหน้าไปก่อน เพื่อเป็นการบรรเทาจนกว่านายชัยจะตามคนแต่งมาแต่งให้อีกทีหนึ่ง โดยตัวนายน้อยเองได้อาสาไปหาธูปเทียนจากข้างนอก นายน้อยได้ขับรถไปประมาณ 300 เมตรก็ไปติดหล่มไม่สามารถขับออกไปได้ ทั้งๆ ที่เป็นทางเข้าออกเป็นประจำไปมาได้สะดวกตลอดเวลา และด้วยความร้อนใจอยากจะได้ธูปเทียนมาโดยเร็ว นายน้อยได้จัดการล็อครถแล้วอุ้มลูกเดินออกไป

ช่วงนั้นเอง นายชัยก็ได้ขับรถเข้ามาแต่ก็ผ่านเข้ามาไม่ได้ เนื่องจากรถของนายน้อยจอดติดหล่มขวางไว้ จึงได้กลับรถแล้วเอาไปจอดไว้ที่บ้านนายน้อย ระหว่างที่กำลังคอยนายน้อยออกไปซื้อธูปเทียนนั้น บรรดาชาวบ้านบ้านรุน รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านก็ได้ทยอยกันลากลับทีละคนสองคน มีชาวบ้านรุนซึ่งเป็นผู้หญิงพูดออกความเห็นว่า ถ้าจะให้ดีแล้วควรนำหลวงปู่ส่งโรงพยาบาลน่าจะเป็นการดีที่สุด แต่ก็กลับบ้านไปจนหมด ไม่เหมือนทุกครั้งที่เขาเหล่านั้นจะอยู่กับหลวงปู่ตลอดเวลาไม่ยอมกลับกันง่ายๆ จะกลับไปก็ต่อเมื่อหลวงปู่ได้ไปที่อื่นแล้วเท่านั้น

มีลูกศิษย์อยู่กับหลวงปู่ในกระท่อมแค่ 8 คนเท่านั้น รวมทั้งเด็กที่เป็นลูกของนายจุกนางเล็กด้วย ทุกคนต่างก็หาวิธีการที่จะช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายของหลวงปู่ ซึ่งขณะนั้นเมื่อจับดูตามร่างกายของหลวงปู่จะเย็นจัดตลอดเวลา บางคนได้เอาหมอนไปอังไฟให้ร้อนแล้วนำมาประคบตามร่างกายของหลวงปู่ เอาผ้าชุบน้ำเช็ดนิ้วมือนิ้วเท้าหลวงปู่ ทำความสะอาดและเช็ดทั้งร่างกาย โดยย้ำว่าให้ทำความสะอาดดีที่สุด บางจุดที่เท้าของหลวงปู่ที่ลูกศิษย์เช็ดให้ไม่สะอาดพอ หลวงปู่ก็จะใช้นิ้วเกาออกอย่างแรงจนสะอาด เมื่อทำความสะอาดร่างกายพอสมควรแล้ว หลวงปู่เอ่ยออกเสียงแผ่วเบามาเป็นภาษาเขมรว่า “เนียงนาลาน” (นาง..ไหนล่ะรถ)

LP Suang 06

ซึ่งเสียงที่เปล่งออกมานั้นแผ่วเบามาก ทุกคนเข้าใจว่าเนียงนั้นหมายถึงนางเล็ก จึงได้พากันอุ้มหลวงปู่ไปขึ้นรถของนายจุกนางเล็ก ผู้ที่อุ้มมีนายจุกและนายตี๋ นายสุขเป็นผู้เปิดประตูรถให้ พอนำหลวงปู่ขึ้นนั่งบนรถ ลูกศิษย์ได้ปรับเบาะเอนลงเพื่อจะให้หลวงปู่ได้เอนกายสบายขึ้น ท่านได้พยายามยื่นมือมาดึงประตูรถปิดเอง ลูกศิษย์ก็ได้ช่วยปิดให้ รถเคลื่อนออกจากกระท่อมเพื่อจะไปโรงพยาบาลบัวเชด ซึ่งใกล้ที่สุด แต่ไปได้ไม่ถึง 50 เมตร อาการของหลวงปู่ก็เริ่มหนักขึ้นทุกที จนลูกศิษย์ที่นั่งอยู่ด้วยด้านหลังตกใจและร้องขึ้นว่า “หลวงปู่อาการหนักมากแล้ว” จึงจอดรถ

ผู้ที่นั่งอยู่รถคันหลวงก็วิ่งเข้ามาดูแล้วก็บอกว่า อย่างไรก็ต้องนำหลวงปู่ไปส่งให้ถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ รถจึงออกอีกครั้ง แต่ไม่สามารถจะไปได้ เพราะรถของนายน้อยติดหล่มขวางทางอยู่ นายจุกได้ร้องตะโกนบอกให้นายจันวิ่งไปสำรวจดูเส้นทางอื่นว่าจะนำรถออกไปทางไหนได้อีก เมื่อดูโดยทั่วแล้วก็เห็นว่ามีทางออกอีกเพียงทางเดียว ก็คือขับฝ่าทุ่งหญ้าออกไปหาถนน เมื่อดูสภาพทางแล้วก็ไม่น่าจะออกไปได้ แต่ก็ตัดสินใจขับออกไปและก็สามารถขับผ่านออกไปได้

เหตุการณ์บนรถในขณะที่กำลังเลี้ยวรถเพื่อจะขับผ่านทุ่งหญ้าออกไปนั้น ได้มีอาการบางอย่างที่เป็นสัญญาณแสดงว่า หลวงปู่จะมรณภาพแน่นอนให้คนที่อยู่บนรถเห็น ต่างคนก็ร่ำไห้มองดูด้วยความอาลัยและสิ้นหวัง หลวงปู่เริ่มหายใจแผ่วลง ในที่สุดได้ทอดมือทิ้งลงข้างกายแล้วก็จากไปด้วยความสงบ อย่างไรก็ตาม ลูกศิษย์ก็ยังคงนำหลวงปู่มุ่งไปที่โรงพยาบาลด้วยความหวังว่า หมอจะสามารถช่วยให้หลวงปู่ฟื้นขึ้นมาได้

ระหว่างทางไปโรงพยาบาลนั้น นายสาด ชาวบ้านตาปิ่น อำเภอบัวเชด ก็ขับรถจักรยานยนต์สวนทางมา นายจุกชะลอรถแล้วตะโกนบอกให้นายสาดตามไปที่โรงพยาบาลบัวเชดด่วน โดยบอกว่าอาการหลวงปู่นั้นแย่มาก ไม่รู้ว่าจะรอดหรือไม่ พอไปถึงโรงพยาบาลแพทย์และนางพยาบาลได้รีบนำหลวงปู่เข้าห้องฉุกเฉิน ทำการตรวจโดยละเอียด แล้วสรุปว่าหลวงปู่สิ้นลมไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3-4 ชั่วโมง แต่ลูกศิษย์ต่างก็ยืนยันว่าสิ้นลมไม่เกิน 10 นาทีแน่นอน เพราะระยะทางจากบ้านรุนมาโรงพยาบาลบัวเชิดประมาณ 10 กิโลเมตร และก็ได้ขับรถมาอย่างเร็วด้วย ลูกศิษย์ไม่ให้ทางโรงพยาบาลฉีดยา หรือทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับร่างกายของหลวงปู่ทั้งสิ้น เมื่อเห็นว่าไม่สามารถจะช่วงหลวงปู่ได้แน่นอนแล้วก็พากันนำร่างหลวงปู่กลับ

พอมาถึงบ้านตาปิ่น ก็ได้แวะจอดเอาจีวรเก่าของหลวงปู่ที่เคยให้นายสาดไว้ เพื่อนำมาครองหลวงปู่ให้อยู่สภาพที่เรียบร้อย นายสาดก็ได้นำขึ้นรถมาด้วย พอถึงบ้านรุน นายชัยและนายน้อยได้จอดรถรออยู่แล้วก็ได้แจ้งว่า หลวงปู่มรณภาพแล้ว ต่างคนต่างก็รีบขับรถออกมาโดยมุ่งหน้าไปทางบ้านละลม พอมาถึงบ้านไพรพัฒนา นายจุกได้ขับรถแวะเข้าที่วัดไพรพัฒนาเพื่อแจ้งข่าวให้หลวงพ่อพุฒ วายาโม เจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนาได้ทราบว่า หลวงปู่ได้มรณาภาพแล้ว

ขณะนั้นเวลาประมาณ 19.00 น. หลวงพ่อพุฒกำลังนั่งสนทนากับพระลูกวัดอยู่ก็มีรถ 4 คัน วิ่งเข้ามาจอด มีนายสาด ตาปิ่น ซึ่งเป็นคนที่รู้จักขึ้นมาบนกุฎิแล้วบอกหลวงพ่อพุฒว่า หลวงปู่มรณภาพแล้ว หลวงพ่อพุฒอึ้งอยู่ขณะหนึ่งแล้วถามว่า มรณภาพที่ไหน นายสาดตอบว่า มรณภาพโรงพยาบาล และได้นำร่างของท่านมาพร้อมกับรถนี้แล้ว หลวงพ่อพุฒจึงลงไปที่รถแล้วเปิดประตูกราบลงบนตักหลวงปู่ แล้วเอามือจับตามร่างกาย และถามบรรดาลูกศิษย์ว่าจะดำเนินการกันต่อไปอย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า จะนำศพหลวงปู่ไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านขยุง หลวงพ่อพุฒบอกให้เดินทางล่วงหน้าไปก่อนจะตามไปทันที

รถทั้งสี่คันเคลื่อนตัวออกจากวัดไพรพัฒนามุ่งหน้าไปยังบ้านขยุง หลวงพ่อพุฒที่ได้เดินทางตามมาได้อธิษฐานว่า “สาธุ ถ้าหากหลวงปู่มีความประสงค์จะให้ลูกหลานได้เป็นผู้บำเพ็ญกุศล ก็ขอให้หลวงปู่ได้กลับมายังวัดด้วยเถิด” พอถึงหน้าวัดป่าบ้านโคกชาติ มีรถหลายคันจอดอยู่ ปรากฏว่า ขบวนที่นำร่างหลวงปู่มาบอกว่าจะนำร่างหลวงปู่กลับมาบำเพ็ญกุศลที่วัดไพรพัฒนา หลังจากที่เดินทางกลับมาถึงวัดไพรพัฒนาแล้ว หลวงพ่อได้ให้อัญเชิญร่างของหลวงปู่มาไว้ที่ศาลาพร้อมกับจุดธูปอธิษฐานว่า “หากเป็นความประสงค์ของหลวงปู่ที่จะให้ลูกหลานได้บำเพ็ญกุศลในที่นี่จริง ก็ขอให้ดำเนินการไปโดยเรียบร้อย และก็ขอให้มีลูกศิษย์ของหลวงปู่เดินทางมาร่วมบำเพ็ญกุศลโดยทั่วกันด้วย”

LP Suang 08

ต่อจากนั้นก็ได้ดำเนินการบำเพ็ญกุศลให้กับหลวงปู่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน นี่คือเหตุการณ์ทั้งหมดว่า เหตุใดสรีระหลวงปู่สรวงจึงได้มาตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่ที่วัดไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ

คำสอนของหลวงปู่สรวง ที่เราได้ยินบ่อยๆ คือ

ออย เตียน สรูล แปลว่า ให้ทาน มีความสุข "

ออยเตียน เมียนบาน" แปลว่า "ให้ทาน แล้วจะร่ำรวย "

เทอเจิด ออยสะโลด" แปลว่า "ทำจิตให้บริสุทธิ์แจ่มใส "

เต็อวเวือด เรียะษาเซ็ล" แปลว่า "ไปวัด รักษาศึล "

พรที่หลวงปู่สรวงให้เราตลอดมา คือ

บายตึ๊กเจีย แปลว่า ข้าวน้ำดี
หมายถึง ให้อยู่ดีมีสุข อุดมสมบูรณ์ด้วย ความพอเพียง "

LP Suang 09

 วัดไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ

redline

backled1

maan puri tatto

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หรือนามตามสมณศักดิ์ว่า พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต (20 มกราคม พ.ศ. 2413 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492) เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เป็นบูรพาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย

พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม จนได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาทั้งหลายว่าเป็น "พระผู้เลิศทางธุดงควัตร" ท่านวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่สมณะประชาชนอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า คำสอนพระป่า (สายพระอาจารย์มั่น) หลังจากท่านมรณภาพลง ในปี พ.ศ. 2492 ยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านสืบต่อแนวปฏิปทาธรรมปฏิบัติของท่านสืบมา โดยลูกศิษย์เรียกว่า พระกรรมฐานสายวัดป่า หรือ พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านได้รับยกย่องจากผู้ศรัทธาให้เป็น พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า หรือ พระอาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์พระกรรมฐานวัดป่า สืบมาจนปัจจุบัน

LP Mann 01

ชาติกำเนิดและการอุปสมบท

LP Mann 02ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อ คำด้วง มารดาชื่อ จันทร์ โดยมี เพีย (พระยา) แก่นท้าว เป็นปู่ นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดีเดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ 20 เดือนมกราคม พ.ศ. 2413 ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ บ้านคำบง ตำบลสงยาง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี)

มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 7 คน ท่านเป็นลูกกก (บุตรคนหัวปี, คนแรก) ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวขาวแดง แข็งแรง ว่องไว สติปัญญาดีมาตั้งแต่กำเนิดฉลาดดี เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ได้เรียนอักขรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอม อ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะมีความทรงจำดี และมีความขยันหมั่นเพียรชอบการเล่าเรียนศึกษา

เมื่อท่านอายุได้ 15 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบง ท่านใดเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปรานีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเล่าเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้

เมื่ออายุท่านได้ 17 ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขา เพื่อออกมาช่วยการงานทางบ้าน ท่านก็ได้ลาสิกขาตามคำขอนั้นเพื่อช่วยงานของบิดามารดาเต็มความสามารถ ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาออกไปแล้วก็ยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่ลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า

เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก "

คำสั่งของยายนี้คอยสะกิดใจอยู่เสมอ ครั้นอายุท่านได้ 22 ปี ท่านเล่าว่ามีความอยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดา-มารดาเพื่อขอบวช ท่านทั้งสองก็อนุญาตตามประสงค์ ท่านได้เข้าศึกษา ในสำนักพระอาจารย์เสาร์ (หลวงปู่เสาร์) กนฺตสีโล วัดเลียบ เมืองอุบล

อุปสมบทเป็นภิกษุภาวะในพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม ในปัจจุบัน) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปฌาย์ พระครูสีทาชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436

LP Mann 03

พระอุปัชฌายะขนานนามมคธให้ว่า "ภูริทัตโต" แปลว่า "ผู้ให้ปัญญา ผู้แจกจ่ายความฉลาด" เสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ณ วัดเลียบต่อไป เมื่อแรกอุปสมบทท่านพำนักอยู่วัดเลียบ โดยได้เรียนกรรมฐานจากพระอาจารย์เสาร์ เมื่องอุบลราชธานีเป็นปกติ และได้ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมืองอุบลราชธานีเป็นครั้งคราว

ในระหว่างนั้นได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัย คือ อาจาระความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร และอุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรียบร้อยดีจนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกรมนั่งสมาธิกับการสมาทานธุดงควัตรต่างๆ

บำเพ็ญเพียร

ในสมัยต่อไปได้แสวงหาวิเวก บำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง หุบเขา ซอกเขา ห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ทางกรุงเทพ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนา กับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม และถ้ำสิงห์โต ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัยในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสาน ทำการอบรมสั่งสอนสมถวิปัสสนา แก่สหธรรมิกและอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสปฏิบัติตามมากขึ้นโดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายกระจายทั่วภาคอีสาน

LP Mann 04

ในกาลต่อมา ได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก 1 พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับท่านเจ้าคุณพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง 1 พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง 11 ปี จึงได้กลับมาจังหวัดอุดรธานี พักจำพรรษาอยู่ที่วัดโนนนิเวศน์ เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนในที่นั้น 2 พรรษา แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร (ปัจจุบันคือ อำเภอโคกศรีสุพรรณ) 3 พรรษา จำพรรษาที่วัดป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม 5 พรรษาเพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติได้ติดตามศึกษา อบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่าน ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่านให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป

ปัจฉิมวัย

ในวัยชรานับแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา ท่านหลวงปู่มั่นมาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร เปลี่ยนอิริยาบท ไปตามสถานที่วิเวกผาสุขวิหารหลายแห่ง คือ เสนาสนะป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง (ปัจจุบันเป็น อำเภอโคกศรีสุพรรณ) บ้าง แถวนั้นบ้าง

ครั้น พ.ศ. 2487 จึงย้ายไปอยุ่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสุดท้ายแห่งชีวิต ตลอดเวลา 8 ปีในวัยชรานี้ ท่านได้เอาธุระอบรมสั่งสอน ศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนา เป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำวันศิษย์ ผู้ใกล้ชิด ได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้ และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ แล้วให้ชื่อว่า "มุตโตทัย"

LP Mann 05

มาถึงปี พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างเข้า 80 ปี ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้ ศิษย์ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ก็ได้เอาธุระรักษาพยาบาลไปตามกำลังความสามารถ อาการอาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราว แต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนจวนออกพรรษา อาพาธก็กำเริบมากขึ้น ข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว พอออกพรรษา ศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ใกล้ไกล ต่างก็ทะยอยกันเข้ามาปรนนิบัติพยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมาตรวจ และรักษาแล้วนำมาพักที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม เพื่อสะดวกแก่ผู้รักษา และศิษยานุศิษย์ที่จะมาเยี่ยมพยาบาล อาการอาพาธมีแต่ทรงกับทรุดลงโดยลำดับ

ครั้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยพาหนะรถยนต์ของแขวงการทางมาถึงวัดเวลา 12.00 น. เศษ ครั้นถึงเวลา 2.23 น. ของวันที่ 11 พฤศจิกายน ปีเดียวกันท่านก็ได้ถึงมรณภาพด้วยอาการสงบในท่างกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มี เจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นต้น สิริชนมายุของท่านอาจารย์ได้ 79 ปี 9 เดือน 21 วัน รวม 56 พรรษา

LP Mann 06

ซึ่งท่านหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในเวลานั้น ไว้ใน "ประวัติท่านพระอาจารย์มั่นฯ" ไว้ว่า

"องค์ท่าน เบื่องต้นนอนสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงข้างขวา แต่เห็นว่าท่านจะเหนื่อยเลยค่อยๆ ดึงหมอนที่หนุนอยู่ข้างหลังท่านออกนิดหนึ่ง เลยกลายเป็นท่านนอนหงายไป พอท่านรู้สึกก็พยายามขยับตัวกลับคืนท่าเดิม แต่ไม่สามารถทำได้เพราะหมดกำลัง พระอาจารย์ใหญ่ก็ช่วยขยับหมอนที่หนุนหลังท่านเข้าไป แต่ดูอาการท่านรู้สึกเหนื่อยมาก เลยต้องหยุดกลัวจะกระเทือนท่านมากไป ดังนัน การนอนท่านในวาระสุดท้ายจึงเป็นท่าหงายก็ไม่ใช่ ท่าตะแคงข้างขวาก็ไม่เชิง เป็นเพียงท่าเอียงๆ อยู่เท่านั้น เพราะสุดวิสัยที่จะแก้ไขได้อีก

อาการท่านกำลังดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง บรรดาศิษย์ซึ่งโดยมากมีแต่ พระกับเณร ฆราวาสมีน้อย ที่นั่งอาลัยอาวรณ์ด้วยความหมดหวังอยู่ขณะนั้น ประหนึ่งลืมหายใจไปตามๆ กัน เพราะจิตพะว้าพะวังอยู่กับอาการท่าน ซึ่งกำลังแสดงอย่างเต็มที่เพื่อถึงวาระสุดท้ายของท่านอยู่แล้ว ลมหายใจท่านปรากฏว่าค่อยอ่อนลงทุกทีและละเอียดไปตามๆ กัน ผู้นั่งดูลืมกระพริบตาเพราะอาการท่านเต็มไปด้วยความหมดหวังอยู่แล้ว ลมค่อยอ่อนและช้าลงทุกทีจนแทบไม่ปรากฏ วินาทีต่อไปลมก็ค่อยๆ หายเงียบไปอย่างละเอียดสุขุม จนไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าท่านได้สิ้นไปแล้วแต่วินาทีใด เพราะอวัยวะทุกส่วนมิได้แสดงอาการผิดปกติเหมือนสามัญชนทั่วๆ ไปเคยเป็นกัน ต่างคนต่างสังเกตจ้องมองจนตาไม่กระพริบ สุดท้ายก็ไม่ได้เรื่องพอให้สะดุดใจเลยว่า "ขณะท่านลาขันธ์ลาโลกที่เต็มไปด้วยความกังวลหม่นหมองคือขณะนั้น" ดังนี้

พอเห็นท่าไม่ได้การ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ พูดเป็นเชิงไม่แน่ใจขึ้นมาว่า "ไม่ใช่ท่านสิ้นไปแล้วหรือ" พร้อมกับยกนาฬิกาขึ้นดูเวลา ขณะนั้นเป็นเวลาตี 2 นาฬิกา 23 นาที จึงได้ถือเวลามรณภาพของท่าน พอทราบว่าท่านสิ้นไปแล้วเท่านั้น มองดูพระเณรที่นั้งรุมล้อมท่านอยู่เป็นจำนวนมาก เห็นแต่ความโศกเศร้าเหงาหงอย และน้ำตาบนใบหน้าที่ไหลซึมออกมา ทั้งไอ ทั้งจาม ทั้งเสียงบ่นพึมพำไม่ได้ถ้อยได้ความ ใครอยู่ที่ไหนก็ได้ยินเสียงอุบอิบพึมพำทั่วบริเวณนั้น บรรยากาศเต็มไปด้วยความเงียบเหงาเศร้าใจอย่างบอกไม่ถูก เราก็เหลือทน ท่านผู้อื่นก็เหลือทน ปรากฏว่าเหลือแต่ร่างครอบตัวอยู่แวลานั้น ต่างองค์ต่างนิ่งเงียบไปพักหนึ่งราวกับโลกธาตุได้ดับลง ในขณะเดียวกับขณะที่ท่านอาจารย์ลาสมมติคือขันธ์ก้าวเข้าสู่แดนเกษม ไม่มีสมมติความกังวลใดๆ เข้าไปเกี่ยวข้องวุ่นวายอีก ผู้เขียนแทบหัวอกจะแตกตายไปกับท่านจริงๆ เวลานั้น ทำให้รำพึงรำพันและอัดอั้นตันใจไปเสียทุกอย่าง ไม่มีทางคิดพอขยับขยายจิตที่กำลังว้าวุ่นขุ่นเป็นตมเป็นโคลนไปกับการจากไปของท่าน พอให้เบาบางลงบ้างจากความแสนรักแสนอาลัยอาวรณ์ที่สุดจะกล่าว ที่ท่านว่าตายทั้งเป็นเห็นจะได้แก่คนไม่เป็นท่าคนนั้นแล

ดวงประทีปที่เคยที่เคยสว่างไสวมาประจำชีวิตจิตใจได้ดับวูบสิ้นสุดลง ปราศจากความอบอุ่นชุ่มเย็นเหมือนแต่ก่อนมา ราวกับว่าทุกสิ่งได้ขาดสะบั้นหั่นแหลกเป็นจุณไปเสียสิ้น ไม่มีสิ่งเป็นที่พึ่งพอเป็นที่หายใจได้เลย มันสุดมันมุดมันด้านมันตีบตันอั้นตู้ไปเสียหมดภายในใจ ราวกับโลกธาตุนี้ไม่มีอะไรเป็นสาระพอเป็นที่เกาะของจิตผู้กำลังกระหายที่พึ่ง ได้อาศัยเกาะพอได้หายใจแม้เพียงวินาทีหนึ่งเลย ทั้งที่สัตว์โลกทั่วไตรภพอาศัยกันประจำภพกำเนิดตลอดมา แต่จิตมันอาภัพอับวาสนาเอาอย่างหนักหนา จึงเห็นโลกธาตุเป็นเหมือนยาพิษเอาเสียหมดเวลานั้น ไม่อาจเป็นที่พึงได้ ปรากฏแต่ท่านพระอาจารย์มั่นองค์เดียวเป็นชีวิตจิตใจ เพื่อฝากอรรถฝากธรรมและฝากเป็นฝากตายทุกขณะลมหายใจเลย"

ตลอดชีวิตขององค์หลวงปู่ ด้วยความที่ท่านหวัง เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เหตุนั้นท่านจึงไม่อยู่เป็นที่เป็นทางหลักแหล่ง เฉพาะแห่งเดียว เที่ยวไปเพื่อประโยชน์แก่ชนในสถานที่นั้นๆ เริ่มจากอุบลราชธานีบ้านเกิด ไปกรุงเทพมหานครเพื่อร่ำเรียนศึกษากับครูบาอาจารย์ แล้วธุดงค์ไปในที่ต่างๆ ทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน จำพรรษาในที่ต่างๆ จนหวนคืนสู่ภาคอีสานในบั้นปลาย

LP Mann 07

ปฏิปทาท่านพระอาจารย์มั่น

ธุดงควัตร ที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ 4 ประการ

  1. บังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบจนกระทั่งถึงวัยชรา จึงได้พักผ่อนให้คหบดีจีวรบ้างเพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
  2. บิณฑบาตกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารวัตรเที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธไปในละแวก บ้านไม่ได้ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉันจนกระทั่งอาพาธ ลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัยจึงงดบิณฑบาต
  3. เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตรใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธหนักจึงงด
  4. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ตลอดมา แม้ถึงอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยก็มิได้เลิกละ

ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราวที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกกังคธุดงค์ ถืออยู่ เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ 25 เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัย เมื่อถึงวัยชราจึงอยู่ในเสนาสนะ ป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะภิกขาจารบิณฑบาตเป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนยำเกรงไม่รบกวน นัยว่าในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยวแสวงวิเวกไปในดงพงลึกจน สุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์ จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่นในคราวไปอยู่ทางภาคเหนือเป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูง อันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอร์ ยังชาวมูเซอร์ซึ่งพูดไม่รู้เรื่องกันให้บังเกิดศรัทธาในพระศาสนาได้

พระอริยคุณคุณาธาร วัดเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น

LP Mann 08

ภาพประวัติศาตร์ ขณะอาราธนาหลวงปู่มั่น มาพักที่เสนาสนะป่าบ้านภู่

"...พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านพาดำเนินอย่างถูกต้องแม่นยำ ถือเอาธุดงควัตร 13 ("...ธุดงค์ 13 แต่ละข้อมีความหมายในการปราบปรามกิเลสทุกประเภทได้อย่างอัศจรรย์ยากที่คาดให้ทั่งถึงได้ดังนี้ 1.บิณฑบาตเป็นวัตร 2.บิณฑบาตตามลำดับบ้าน 3.ไม่รับอาหารที่ตามส่งทีหลัง 4.ฉันในบาตร 5.ฉันหนเดียวในวันหนึ่งๆ 6.ถือผ้าสามผืน 7.ถือผ้าบังสกุล 8.อยู่รุกขมูลร่มไม้ 9.อยู่ป่า 10.อยู่ป่าช้า 11.อยู่กลางแจ้ง 12.อยู่ในที่เขาจัดให้ 13.ถือไม่อยู่อิริยาบถนอน...") นี้เป็นพื้นเพในการดำเนิน และการประพฤติปฏิบัติจิตใจของท่านก็เป็นไปโดยสม่ำเสมอ ไม่นอกลู่นอกทางทำให้ผู้อื่นเสียหาย และริจะทำเพื่อความเด่นความดังอะไรออกนอกลู่นอกทางนั้นไม่มี เป็นแนวทางที่ราบรื่นดีงามมาก

นี่ละเป็นที่นอนใจ เป็นที่ตายใจยึดถือไว้ได้โดยไม่ต้องสงสัยก็คือ ปฏิปทาเครื่องดำเนินของท่าน นี่ครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านก็มีจำนวนมาก พากันดำเนินมายึดถือหลักนั้นแหละมาปฏิบัตได้แพร่หลาย หรือกระจายออกไปแก่บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายเป็นแขนงๆ หรือแผลงๆ อะไรออกไปให้เป็นที่สะดุดตา ไม่แน่ใจอย่างนี้ไม่มี ท่านดำเนินอะไรเป็นที่เหมาะสมทั้งนั้น คือมีแบบมีฉบับเป็นเครื่องยืนยันไม่ผิดเพี้ยนไปเลย

นี่เพราะเหตุไร เพราะเบื่องต้นท่านก็ตะเกียกตะกายก็จริง แต่ตะเกียกตะกายตามหลักธรรมหลักวินัย ไม่ได้นอกเหนือไปจากหลักธรรมหลักวินัย หลักวินัยคือกฏของพระ ระเบียบของพระ ท่านตรงเป๋งเลย และหลักธรรมก็ยึดธุดงค์ 13 ข้อนี้เป็นทางดำเนิน ไม่ได้ออกนอกลู่นอกทางนี้ไปอย่างทางอื่นบ้างเลย นี่จึงเป็นที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งมาตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกของท่าน ต่อจากนั้นท่านก็ปรากฏเห็นผลขึ้นมาโดยอันดับลำดา

ดังเคยเขียนไว้แล้วในประวัติของท่าน จนกระทั่งเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลโดยสมบูรณ์ในหัวใจท่าน แล้วก็ประกาศสั่งสอนธรรมแก่บรรดาศิษยทั้งหลายพร้อมทั้งปฏิปทาเครื่องดำเนินด้วยความองอาจกล้าหาญ ไม่มีคำว่าสะทกสะท้านแม้นิดหนึ่งเลย นี่เพราะความแน่ใจในใจของท่านเอง ทั้งฝ่ายเหตุทั้งฝ่ายผล ท่านเป็นที่แน่ใจทั้งสองแล้ว

พวกบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายที่เข้าไปศึกษาอบรมกับท่าน จึงได้หลักได้เกณฑ์จากความถูกต้องแม่นยำที่ท่านพาดำเนินมา มาเป็นเครื่องดำเนอนของตน แล้วถ่ายทอดไปโดยลำดับลำดา ไม่มีประมาณเฉพาะอย่างยิ่งภิกษุบริษัท มีกว้างขวางอยู่มากสำหรับลูกศิษย์ของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น แตกกระจายออกไปการที่ได้ปฏิปทาเครื่องดำเนินจากท่านผู้รู้ผู้ฉลาด พาดำเนินมาแล้วเช่นนี้ เป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก

นี่ละเป็นที่ ให้ตายใจนอนใจ อุ่นใจได้ ผิดกับเราเรียนมาโดยลำพัง และปฏิบัติโดยลำพังเป็นไหนๆ ยกตัวอย่างไม่ต้องเอาที่อื่นไกลที่ไหนเลย ผมเองนี่แหละเรียน จะว่าอวดหรือไม่อวดก็ตาม ก็เรียนถึงมหา แต่เวลาจะหาหลักหาเกณฑ์มายึดเป็นเครื่องดำเนิน ด้วยความอุ่นแน่ใจตายใจสำหรับตัวเอง ไม่มีจะว่ายังไงนั่น มันเป็นอย่างนั้น จิตเสาะแสวงหาแต่ครูอาจารย์อยู่ตลอดเวลาเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น..."

พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
(จากหนังสือ "หยดน้ำบนใบบัว")

LP Mann 09

"...ที่ผมได้ความรู้ความฉลาด จนได้มาแบ่งปันพวกท่านทั้งหลายนั้น ก็เพราะผมได้ ไปกราบครูบาอาจารย์มั่น...ไปพบท่าน แล้วก็เห็นสภาพวัดวาอารามของท่าน ถึงจะไม่สวยงาม แต่ก็สะอาดมาก พระเณรตั้งห้าสิบหกสิบ เงียบ! ขนาดจะถากแก่นขนุน (แก่นขนุนใช้ต้มเคี่ยว สำหรับย้อมและซักจีวร) ก็ยังแบกเอาไปฟันอยู่โน้น.. ไกล ๆ โน้น เพราะกลัวว่าจะ ก่อกวนความสงบของหมู่เพื่อน... พอตักน้ำทำกิจอะไรเสร็จ ก็เข้าทางจงกรม ของใครของมัน ไม่ได้ยินเสียง อะไร นอกจากเสียงเท้าที่เดินเท่านั้นแหละ

บางวันประมาณหนึ่งทุ่ม เราก็เข้าไปกราบท่านเพื่อฟังธรรม ได้เวลาพอ สมควรประมาณสี่ทุ่มหรือห้าทุ่มก้กลับกุฏิ เอาธรรมะ ที่ได้ฟังไปวิจัย... ไปพิจารณา

เมื่อได้ฟังเทศน์ท่าน มันอิ่ม เดินจงกรมทำสมาธินี่... มันไม่เหน็ดไม่เหนื่อย มันมีกำลังมาก ออกจากที่ประชุมกันแล้วก็เงียบ! บางครั้งอยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อนเขาเดิน จงกรมอยู่ตลอดคืนตลอดวัน จนได้ย่องไปดูว่าใครท่านผู้นั้นเป็นใคร ทำไมถึงเดิน ไม่หยุดไม่พัก นั่น... เพราะจิตใจมันมีกำลัง..."

พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโธ) วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
จากอัตตโนประวัติหลวงปู่ชา "ใต้ร่มโพธิญาณ"

 

 คำสอน

  • ธรรมชาติของดีทั้งหลายนั้น ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี มีอุปมาดังดอกปทุมชาติอันสวยงาม ก็เกิดขึ้นมาจาก โคลนตม อันเป็นของสกปรก ปฏิกูล น่าเกลียดแต่ว่า ดอกบัวนั้นเมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้วย่อมเป็นสิ่งสะอาด เป็นที่ทัดทรงของพระราชา อุปราช อำมาตย์ เสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้นก็มิกลับคืนไปยังโคลนตมอีก
  • ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ
  • ถ้าจิตมีความสงบถึงฐานของสมาธิแล้ว อย่าไปบังคับให้ถอนนะ ปล่อยให้อยู่ในความสงบนั้นไป จนจิตได้มีความอิ่มตัวในสมาธินั้นๆ ได้เวลาแล้วจิตก็จะถอนออกมาเอง เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว ก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณาต่อไป
  • ธรรมชาติของจิตเป็นของผ่องใสยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด แต่อาศัยของปลอม กล่าวคือ อุปกิเลสที่สัญจรเข้ามาปกคลุม จึงทำให้หมดรัศมี ดุจพระอาทิตย์เมื่อเมฆบดบัง อย่าพึงเข้าใจว่า พระอาทิตย์เข้าไปหาเมฆ เมฆไหลมาบดบังพระอาทิตย์ต่างหาก ฉะนั้น ผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลาย เมื่อรู้โดยปริยายนี้แล้ว พึงกำจัดของปลอม ด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย
  • ได้สมบัติทั้งปวงไม่เท่าได้ตน เพราะตัวตนนั้นเป็นที่เกิดแห่ง สมบัติทั้งปวง

LP Mann 10

  • ของดีมีอยู่กับตัวเรา ทุกคนก็พากันปฏิบัติเอา ทำเอา เมื่อเวลาตายแล้วจึงวุ่นวายหานิมนต์พระมากุสลามาติกา ไม่ใช่เกาถูกที่คันต้องรีบแก้เสียบัดนี้ คือ เร่งทำความดีแต่บัดนี้ จะได้หายห่วงอะไรๆ ที่เป็นสมบัติของโลก มิใช่สมบัติอันแท้จริงของเรา ตัวจริงไม่มีใครเหลียวแล สมบัติในโลกเราแสวงหามา หามาทุจริตก็เป็นไฟเผา เผาตัวทำให้ฉิบหายได้จริงๆ
    ข้อนี้ขึ้นอยู่กับความฉลาดและความโง่เขลาของผู้แสวงหาแต่ละราย ท่านผู้พ้นทุกข์ไปด้วยความอุตส่าห์สร้างความดีใส่ตน จนกลายเป็นสรณะของพวกเรา ท่านไม่เคยมีสมบัติเงินทอง เครื่องหวงแหน เป็นคนร่ำรวย สวยงามเฉพาะสมัย จึงพากันรัก พากันห่วง จนไม่รู้จักเป็นรู้จักตาย สำคัญตนว่าจะไม่ตาย และพากันประมาทจนลืมตัว เพลิดเพลินตักตวงเอาแต่สิ่งไม่เป็นท่าใส่ตนแทบหาบไม่ไหว อย่าสำคัญว่าตนเก่งกาจสามารถฉลาดรู้กว่าเขาเลย ถึงกับสร้างความมืดมิดปิดตาทับถมตัวเองจนไม่มีวันสร่างซา เมื่อถึงเวลาจนตรอกอาจจนยิ่งกว่าสัตว์ ถ้าไม่เตรียมทราบไว้เสียแต่บัดนี้ ซึ่งอยู่ในฐานะอันควร อาตมาขออภัยด้วยถ้าพูดหยาบคายไป แต่คำพูดที่สั่งสอนคนให้ละชั่ว ทำความดี จัดเป็นหยาบคายอยู่แล้ว โลกเราก็จะถึงคราวหมดสิ้นศาสนา เพราะไม่มีผู้ยอมรับความจริง การทำบาปหยาบคายมีมาประจำแทบทุกคน ทั้งให้ผลเป็นทุกข์ ตนยังไม่อาจรู้ได้ และตำหนิมันบ้างพอมีทางคิดแก้ไข แต่กลับตำหนิคำสั่งสอนหยาบคาย ก็นับเป็นโรคที่หมดหวัง…
  • เวลาที่สวดไปใจก็กำหนดตาม เกิดความเห็นชัดว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตา ในเวลาที่สวดอยู่นั้น ควรสงเคราะห์เข้าไปในกองปัญญา ก็พอครบสิกขา 3 ตามแบบปฏิบัติบูชาส่วนดอกไม้ ธูปเทียน และภาชนะที่ใส่ดอกไม้วางอยู่หน้าพระพุทธรูป ก็เป็นอามิสบูชา ข้าพเจ้าแยกเป็น 2 ส่วนให้ท่านฟังนี้ ขอท่านจงจำไว้ จะได้ไม่เห็นผิดว่า การไหว้พระสวดมนต์เป็นอามิสบูชา...
  • “ใจ” มีภาษาเดียวเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใด มีเพียงความรู้คือใจนี้


หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ข่าวปิติของชาวพุทธเกี่ยวกับหลวงปู่มั่น

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้ "หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต" ในวาระที่มีชาตกาลครบ 150 ปี ใน พ.ศ. 2563 เป็น "บุคคลสำคัญของโลกประจำวาระปี 2563-2564" นับเป็นพระอริยสงฆ์รูปที่ 3 ของประเทศไทย นับตั้งแต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และท่านพุทธทาสภิกขุ

LP mun Unesco

หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ๑๕๐ ปี ชาตกาลหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

redline

backled1

ariya song header

เรื่องราวของพระอริยสงฆ์ภาคอีสาน ที่เป็นผู้สืบสานต่อพระพุทธศาสนา เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ น้อมนำเอาหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเผยแผ่กับปวงชนชาวไทย จนเป็นที่เลื่องลือกล่าวถึงอยู่จากอดีตสู่ปัจจุบัน ทางเว็บไซต์ประตูสู่อีสานจึงได้นำมารวบรวมไว้ที่นี่ เพื่อให้พวกเราชาวพุทธได้เห็นแจ้งจริงในแนวทางปฏิบัติตนสู่ความสงบสุข ลดละกิเลส ไกลจากสิ่งมัวหมอง ให้สามารถดำรงตนอย่างเป็นสุข ดังคำกล่าวที่ว่า

ศาสนาพุทธไม่เคยเสื่อม แต่ที่เสื่อมคือใจของพุทธบริษัททั้ง 4 อันได้แก่ ภิกษุ  ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ทั้งนี้ การเสื่อมดังกล่าวเกิดจากการกระทำของพวกเรากันเอง จะมัวไปโทษพระสงฆ์อย่างเดียวก็ไม่ได้ พวกเราต่างหากที่คอยสนับสนุนให้ท่านเหล่านั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวก เกินความจำเป็น เช่น เงินตรา และเทคโนโลยี "

 หากเราจะตั้งสติกันใหม่ พิจารณาให้ดีก็จะเห็นคล้อยตาม ดังพระโอวาทของ สมเด็จพระสังฆราช องค์ปัจจุบัน ที่ว่า

fact

พระพุทธศาสนา เข้ามาสู่ดินแดนสยามที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน เมื่อประมาณ พ.ศ. 236 สมัยเดียวกันกับประเทศศรีลังกา ด้วยการส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ 9 สาย โดยการอุปถัมภ์ของ พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย ในขณะนั้นประเทศไทยรวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง มีประเทศรวมกันอยู่ในดินแดนส่วนนี้ทั้ง 7 ประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ ไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ซึ่งสันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่ จังหวัดนครปฐม ของไทย เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น พระปฐมเจดีย์ และรูปธรรมจักรกวางหมอบเป็นหลักฐานสำคัญ แต่พม่าก็สันนิษฐานว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสะเทิม ภาคใต้ของพม่า พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่สุวรรณภูมิในยุคนี้ นำโดยพระโสณะและพระอุตตระ พระเถระชาวอินเดีย เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบนี้ จนเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ ตามยุคสมัย

การสืบต่อพระพุทธศาสนามีต่อมาตามลำดับ โดยแยกเป็น 2 สาย คือ มหานิกาย และธรรมยุตินิกาย อย่างไรก็ตามความมีศรัทธาของชาวไทยก็ยังคงปักแน่น มีพระผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ที่เป็นหลักสำคัญให้กับพระพุทธศาสนาอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย สำหรับในภาคอีสานนั้น ก็มีพระอริยสงฆ์อยู่มากมายที่เป็นที่เคารพนับถือ และเป็นหลักแก่นในการเผยแผ่พระศาสนาออกไปให้ไพศาล โดยเฉพาะสาย "พระป่า" (ครู-อาจารย์หลายท่านได้กล่าวว่า ไม่อยากให้แตกแยกกันด้วยนิกาย ขอให้ยึดเอาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลักในการปฏิบัติ และสานต่อพระพุทธศาสนา) มีชาวต่างประเทศมากมายที่เลื่อมใสจนได้สละทางโลกมาบวชในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก [ อ่านเพิ่มเติม : ฝรั่งกับการนับถือพระพุทธศาสนา ]

รายนามพระอริยสงฆ์แห่งภาคอีสาน🙏🙏🙏

LP Sao sm

หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล

พระปรมาจารย์กรรมฐาน
วัดดอนธาตุ จังหวัดอุบลราชธานี

LP Mann sm

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

พระผู้เลิศทางธุดงควัตร
วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

LP Suang sm

หลวงปู่สรวง ออยเตียนสรูล

เทวดาเดินดินแห่งอีสานใต้
วัดไพรพัฒนา จังหวัดศรีสะเกษ

LP kao sm

หลวงปู่ขาว อนาลโย

วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี

LP fun sm

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร

LP Tast sm

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย

LP Cha sm

หลวงปู่ชา สุภทฺโท

วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี

LP Bua sm

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี

LP Put sm

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา

LP Koon sm

หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ

วัดบ้านไร่ จังหวัดนครราชสีมา

LP Jamm sm

หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

วัดป่าวิเวกวัฒนาราม จังหวัดมุกดาหาร

LP Dul sm

หลวงปู่ดูลย์ อตฺโล

วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์

LP Chan sm

หลวงปู่จันทร์ เขมิโย

วัดศรีเทพประดิษฐาราม นครพนม

dee load sm

พระครูดีโลด (วิโรจน์รัตโนบล)

พระสงฆ์ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาชำนาญศิลป์

LP Moon sm

หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล

พระอมตะเถระ 5 แผ่นดิน ศรีสะเกษ

LP Kliang sm

หลวงปู่เกลี้ยง เตชธฺมโม

วัดโนนแกด อำเภอเมือง ศรีสะเกษ

LP Kinaree sm

หลวงปู่กินรี จนฺทิโย

วัดกัณตะศิลาวาส อำเภอธาตุพนม

LP Sing sm

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม

วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง นครราชสีมา

LP Lee sm

หลวงปู่ลี กุสลธโร

วัดภูผาแดง หนองวัวซอ อุดรธานี
LP Amorn sm

หลวงพ่ออมร เขมจิตโต

วัดป่าวิเวกธรรมชาน์ อุบลราชธานี
Juan Kulchetro sm

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) บึงกาฬ
Boonserm

หลวงพ่อบุญเสริม ธมฺมปาโล

วัดป่ากัทลิวัน (ป่าสวนกล้วย) ศรีสะเกษ
LP Saeng sm

หลวงปู่แสงจันทร์ จันดะโชโต

วัดป่าดงสว่างธรรม อำเภอป่าติ้ว ยโสธร
LP Si Siriyano sm

หลวงปู่สี สิริญาโน

วัดป่าศรีมงคล อำเภอสำโรง อุบลราชธานี

ยังไม่หมด ยังมีอีกมากครับ อยู่ในระหว่างการรวบรวมเรียบเรียงข้อมูล จะได้นำมาเสนอในโอกาสต่อไป สำหรับท่านที่ทราบประวัติของพระอริยสงฆ์ท่านอื่นๆ จะแนะนำมาก็ยินดีที่จะเรียบเรียงมานำเสนอ แจ้งมาที่ webmaster @ isangate.com ได้เลยครับ

หมายเหตุ : ต้องขอเรียนให้ทราบว่า "ทางทีมงานนำเสนอเรื่องราวของพระอริยสงฆ์ ท่านเหล่านี้ในทางที่เป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้จำเริญสืบต่อไปในภายภาคหน้า หาใช่ด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ การปลุกเสก เลข ยันตร์ แต่อย่างใดนะครับ จึงไม่มีเรื่องราวของเหรียญ ของขลังใดๆ และไม่สามารถจัดหาแก่ท่านได้ ไม่ต้องขอมานะขอรับ"

wat pa inter

A rare documentary of the international forest temple : Wat Pah Nanachat, Upon Ratchathani, Thailand.

วัดป่านานาชาติ เป็นวัดราษฎร์ วัดป่า สายวัดหนองป่าพง ที่ตั้งอยู่ในบ้านบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยมีหลวงปู่ชา สุภทฺโท (พระโพธิญาณเถร) จากวัดหนองป่าพงเป็นผู้ก่อตั้ง ถ้าเดินทางออกจากตัวจังหวัดอุบลราชธานีโดยเริ่มที่ ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี หรือสถานีขนส่งผู้โดยสารอุบลราชธานี หรือสถานีรถไฟอุบลราชธานี มุ่งหน้าไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 226 (วารินชำราบ - ศรีสะเกษ) ประมาณ 8 กิโลเมตร ถึงบ้านบุ่งหวาย ในเขตอำเภอวารินชำราบ แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตรก็ถึงวัดป่านานาชาติแล้วครับ

pa inter map

แผนที่แสดงเส้นทางสู่วัดป่านานาชาติ บ้านบุ่งหวาย
ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

เว็บไซต์ทางการ วัดป่านานาชาติ : www.watpahnanachat.org

watpa inter 04

มูลเหตุและแรงดลใจในการสร้างวัดคือ พระสุเมโธ (ปัจจุบันคือ พระราชสุเมธาจารย์) ชาวอเมริกัน ในปี พ.ศ. 2510 ได้มาอยู่กับหลวงปู่ชาเป็นครั้งแรก หลังจากนั้น ก็ได้มีพระภิกษุชาวต่างชาติทยอยกันเดินทางเข้ามาขอบวช และอยู่กับหลวงปู่ชามากขึ้น จนกระทั่ง พ.ศ. 2518 วัดหนองป่าพงมีพระสงฆ์ทั้งพระไทยและพระต่างชาติ จำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก ไม้ฟืนที่ใช้บ่มบาตรก็หายาก หลวงปู่ชาจึงได้อนุญาตให้พระชาวต่างชาติบางรูป ออกมาหาฟืนที่ป่าช้าบ้านบุ่งหวาย ซึ่งมีต้นไม้มาก ฟืนก็หาง่าย

watpa inter 03

ชาวบ้านบุ่งหวายมีจิตศรัทธาในพระสงฆ์วัดหนองป่าพง จึงได้นิมนต์คณะพระภิกษุสามเณรชุดแรกซึ่งมี 6 รูป ทำการบ่มบาตรที่ป่าช้าบ้านบุ่งหวาย และปักกลดพักวิเวกปฏิบัติธรรมต่อ เมื่ออยู่ได้ 3 วัน ญาติโยมได้ช่วยกันสร้างศาลามุงหญ้าคาพอหลบฝน หลังจากนั้นไม่นานชาวบ้านบุ่งหวายได้ไปกราบหลวงปู่ชา ขอนิมนต์ให้พระเณรอยู่จำพรรษาต่อ หลวงปู่ชาเมตตาให้สร้างสำนักสงฆ์ และมอบหมายให้ พระอาจารย์สุเมโธ เป็นหัวหน้าสำนัก ญาติโยมจึงได้แบ่งกันเป็นเจ้าภาพในการสร้างกุฏิและเพิงมุงหญ้าคาถวาย

Sumedho 01

ในพรรษาแรกนั้นมีพระทั้งหมด 10 รูป และผ้าขาว 1 คน หลวงพ่อชาตั้งชื่อวัดว่า "วัดป่าอเมริกาวาส" เนื่องด้วยในช่วงนั้นมีแต่พระฝรั่งชาวอเมริกันมาบวช ต่อมามีชาวตะวันตกหลายเชื้อชาติสนใจเข้ามาศึกษาพระธรรม คำสอน การฝึกสมาธิจำนวนมาก ท่านจึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดป่านานาชาติ" เพื่อให้สอดค้องกับความสนใจของชาวต่างชาติ มากมายหลายประเทศทั่วโลก ต่อมาปี พ.ศ. 2519 คณะศรัทธาญาติโยมได้นำกฐินมาทอดและได้สร้างศาลาใหม่ ในปี พ.ศ. 2528 เริ่มสร้างวิหาร (พระอุโบสถ) ในตำแหน่งที่พบเสมาเก่า เพื่อให้พระสงฆ์ใช้สวดทำสังฆกรรมต่างๆ ซึ่งสร้างเสร็จในอีกสองปีต่อมา

watpa inter 01

พ.ศ. 2530 ได้รับการประกาศตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ในชื่อ "วัดป่านานาชาติ" สาขาที่ 19 ของวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

Grassroot Sala

เนื่องจากพระชาวต่างชาติมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ญาติโยมจึงได้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินเพิ่ม ปัจจุบัน (พ.ศ.2558) มีเนื้อที่วัดทั้งหมด 343 ไร่ มีกุฏิ 52 หลัง พ.ศ. 2536 ได้ทำกำแพงล้อมรอบวัดทุกด้าน และได้มีการปลูกป่าทดแทนขึ้นจากเดิมที่เป็นเพียงไร่ปอที่ถูกทิ้งร้างไว้ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นป่าที่สมบูรณ์ขึ้นมาแล้ว

pa inter map 2

แผนที่แสดงขอบเขตของวัดป่านานาชาติในปัจจุบันนี้

Sumedho 02

เดือนกันยายน พ.ศ. 2541 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นวัดโดยสมบูรณ์

โบราณว่า น้ำบ่อหน้า อย่าได้หมาย แต่อย่าหน่าย จนหยุด ไม่ขุดต่อ
คนโง่ว่า น้ำหมด อดใจรอ ไม่ขุดบ่อ แล้วจะได้ อะไรกิน

เดือนเมษายน พ.ศ. 2553 ได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ ทดแทนหลังเดิมโดยหลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม (พระราชภาวนาวิกรม) เป็นผู้ออกแบบและดูแลควบคุมการดำเนินงานตลอดการก่อสร้าง โดยในครั้งนี้มีชาวบ้านบุ่งหวาย ร่วมกับพระภิกษุสามเณร ทั้งจากวัดหนองป่าพง และวัดป่านานาชาติ ได้ร่วมแรงสามัคคีช่วยกันก่อสร้าง จนเสร็จในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 ศาลาหลังใหม่นี้มีชื่อว่า "ฐิตะธรรมศาลา" 

Sala Inauguration

วัดป่านานาชาติมีสาขา 2 แห่ง คือ

  • สำนักสงฆ์ภูจ้อมก้อม ตั้งอยูที่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
  • สำนักสงฆ์เต่าดำ ตั้งอยู่ที่ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
ยศและลาภ หาบไป ไม่ได้แน่ มีเพียงแต่ ต้นทุน บุญกุศล
ทรัพย์สมบัติ ทิ้งไว้ ให้ปวงชน แม้ร่างตน เขาก็เอา ไปเผาไฟ

วัตถุประสงค์แรกเริ่มของ หลวงปู่ชา ที่ตั้งวัดป่านานาชาติขึ้น คือ การเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยเป็นภาษาอังกฤษ จนสามารถที่จะออกบวชเป็นพระภิกษุและปฏิบัติ ตามข้อวัตรสายวัดป่าได้

Sala Inauguration 2

สำหรับผู้ที่จะเข้ามาบวชที่วัดป่านานาชาติ ไม่ว่าจะอายุเท่าใด "ต้องมาเป็นผ้าขาว 4-6 เดือน เป็นสามเณร 1 ปี" เพื่ออบรมบ่มนิสัยให้เหมาะแก่สมณะเพศ ก่อนที่จะบวชเป็นพระภิกษุได้ เมื่อได้ประสบการณ์ในการปฏิบัติแล้วและได้ศึกษาระบบพระธรรมวินัยพอสมควร คือ ระยะเวลาห้าพรรษา ก็สามารถช่วยเผยแผ่ศาสนาในวัดสาขาที่ต่างประเทศได้

เนื่องจากว่าการสื่อสารใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ผู้ที่ตั้งใจจะบวชที่วัดป่านานาชาติต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษพอสมควร ในปัจจุบัน พระภิกษุสามเณรสังกัดวัดป่านานาชาติที่อยู่ในเมืองไทย ทั้งหมดมีประมาณ 40 รูป รวมประมาณ 20 สัญชาติ

watpa inter 05

หลวงปู่ชายังมุ่งหมายให้วัดป่านานาชาติ เป็นที่ฝึกพระภิกษุให้มีคุณสมบัติเป็นผู้นำสงฆ์และปกครองวัดด้วย จึงมีพระภิกษุที่ไปจากวัดป่านานาชาติหลายรูป ที่ได้ไปตั้งสำนักสงฆ์สาขาในต่างประเทศขึ้น ซึ่งกระจายอยู่ในประเทศอังกฤษ เยอรมัน อิตาลี โปรตุเกส สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา แคนาดา และมาเลเซีย เพื่อจะสร้างคณะสงฆ์ในประเทศนั้นขึ้น และให้กำลังใจแก่ญาติโยมในการปฏิบัติ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จำนวนพระภิกษุที่ผ่านการอบรมจากวัดป่านานาชาติ และยังครองเพศบรรพชิตอยู่ปัจจุบันมีประมาณ 100 กว่ารูปทั่วโลก

วัวควายตาย เหลือไว้ เพียงเขาหนัง ช้างตายยัง เหลืองา เป็นศักดิ์ศรี
คนเราตาย เหลือไว้ แต่ชั่วดี บรรดามี ประดับไว้ ในโลกา

วัดป่านานาชาติเป็นวัดสายวิปัสสนากรรมฐาน และยึดปฏิปทาพร้อมทั้งข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ชาเป็นหลัก เพราะฉะนั้นวัดป่านานาชาติเน้นการศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

watpananachart2

หน้าที่พิเศษของวัดป่านานาชาติคือ การแนะนำชีวิตบรรพชิตให้ชาวต่างชาติ นอกจากนั้น วัดป่านานาชาติยังให้การศึกษาด้านศาสนาพุทธแก่ญาติโยมชาวต่างชาติทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักการศาสนาต่างๆ ผู้มาแวะเยี่ยมเยือน ผู้ที่มีความสนใจด้านการวิปัสสนากรรมฐาน ปฏิบัติธรรม ภาวนา นั่งสมาธิ โดยอาจจะเข้าพักในวัด 3 วัน หนึ่งสัปดาห์ หรือมากกว่านั้น ตามความสนใจของแต่ละบุคคล และตามข้อกำหนดในกฎระเบียบการเข้าพักของวัด ซึ่งระหว่างที่พักอยู่ในวัดต้องนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลแปด ประพฤติพรหมจรรย์ ทานอาหารมื้อเดียว และในแต่ละวันก็จะมีตารางกิจกรรมต่างๆ ให้ทำควบคู่ไปกับการศึกษาพระธรรมวินัย รับการอบรมกรรมฐาน ฟังพระธรรมเทศนาและการสนทนาธรรม แลกเปลี่ยนความคิดความเห็น

ทำบุญคน ไม่ขึ้น อย่ามึนหัว นึกถึงตัว เรามั่ง อย่างถ้วนถี่
ผู้ทำคุณ แก่เรา เท่าที่มี ได้ทดแทน ความดี แล้วหรือยัง

การใช้ภาษาอังกฤษในการอบรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัดป่านานาชาติ การทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นจึงแปลเป็นภาษาอังกฤษควบคู่กับภาษาบาลี

watpa inter 02

วัดป่านานาชาติ ยึดเอาพระวินัยเป็นแม่แบบในการปฏิบัติข้อวัตรต่างๆ เป็นหลัก จึงให้ความสำคัญในการแนะนำข้อวินัยบัญญัติต่อผู้ที่ต้องการลองเข้ามาศึกษารูปแบบชีวิตในผ้าเหลืองตั้งแต่แรก และเน้นการอบรมศึกษาด้านพระวินัยสำหรับเหล่าพระสงฆ์ที่บวชแล้ว ทางวัดได้จัดหลักสูตรการเรียนพระวินัยเป็นภาษาอังกฤษขึ้น ที่มีการร่วมกันศึกษาอภิปรายและแลกเปลี่ยนความเข้าใจอย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาสามเดือนในพรรษาทุกๆ ปี

ทางวัดยังทำหน้าที่ในการแปลและแจกหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนา เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ออกไปสู่ระดับสากล รวมถึงบทเรียนธรรมศึกษาเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการสอนพระปริยัติธรรมเบื้องต้นแก่พระภิกษุสามเณรชาวต่างชาติ ตามปกติวัดป่านานาชาติยังเป็นสถานที่สำหรับให้นักเรียน นักศึกษา ชาวบ้าน บุคคลทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มีความสนใจในพระพุทธศาสนา ได้สดับฟังพระธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล และสนทนาธรรมโดยตลอดเรื่อยมา พร้อมทั้งมีการจัดห้องสมุดทางพระพุทธศาสนา

watpananachart3

ทางด้านการสาธารณสงเคราะห์ วัดป่านานาชาติได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการศึกษา ทางวัดจึงได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมด้วยการบรรยายธรรม รวมทั้งมอบทุนการศึกษาให้กับ นักเรียน โรงเรียน สถานศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรม อีกทั้งให้การสนับสนุนด้านงบประมาณกับหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาล มูลนิธิ กองทุนต่างๆ วัดอื่นๆ นอกเหนือจากสายวัดป่า โดยต่อเนื่องเรื่อยมา การปฏิบัติดังนี้เป็นการถ่ายทอดสืบต่อซึ่งข้อวัตรปฏิบัติปฏิปทาของหลวงปู่ชาเอาไว้

มาถึงวัด เห็นดิน และต้นไม้ ยังมิใช่ เห็นวัด ดั่งความหมาย
รู้จักวัด ต้องฝึกหัด ทั้งกายใจ จึงจะได้ บ่งชัด เห็นวัดจริง

ในฐานที่วัดป่านานาชาติเป็นวัดสายวัดป่า ทางวัดให้ความสำคัญมากในการอนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งในวัดป่านานาชาติเองและในสำนักสาขาทั้งสอง ซึ่งอยู่ในอุทยานแห่งชาติทั้งสองแห่ง

watpananachart

ลำดับเจ้าอาวาสจากอดีต – ปัจจุบัน

  • พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ) ชาวอเมริกัน พ.ศ. 2518-2519
  • พระอาจารย์ปภากโร ชาวอเมริกัน พ.ศ. 2520-2521
  • พระอาจารย์ชาคโร ชาวออสเตรเลีย พ.ศ. 2522-2524
  • พระอาจารย์ปสันโน ชาวแคนาดา พ.ศ. 2525-2539
  • พระอาจารย์ชยสาโร ชาวอังกฤษ พ.ศ. 2540-2544
  • พระอาจารย์ญาณธัมโม ชาวออสเตรเลีย พ.ศ. 2545-2550
  • พระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮ็นนิ่ง เกวลี) ชาวเยอรมัน พ.ศ. 2551 - ปัจจุบัน

watpa inter 06 
พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ) เจ้าอาวาสรูปแรกัดป่านานาชาติ

หัวใจถึงธรรม หนองป่าพง 2 โดย พระอาจารย์ สิริปัญโญ
(ปัจจุบันท่านจำพรรษาที่ สำนักสงฆ์เต่าดำ กาญจนบุรี สาขาที่ 2 ของวัดป่านานาชาติ)

งานปฏิบัติธรรมอาจาริยบูชา ประจำปี 2560 - พระธรรมเทศนา โดย พระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮ็นนิ่ง เกวลี) เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560 ช่วงค่ำ

งานปฏิบัติธรรมอาจาริยบูชา ประจำปี 2560

พระชาวต่างชาติรูปแรก สอบผ่านพระอุปัชฌาย์ในระบบสงฆ์ไทย

kewali 01

พระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮ็นนิ่ง เกวลี) เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี (พระชาวเยอรมัน) สอบผ่านพระอุปัชฌาย์ในระบบสงฆ์ไทย ตามกฎมหาเถรสมาคม เป็นรูปแรก อดีตมีดีกรีนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ ศรัทธาในพระพุทธศาสนาบวชจนได้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ สายวัดหนองป่าพงของหลวงปู่ชา อุบลราชธานี เผยชอบนั่งสมาธิตั้งแต่เด็ก ศรัทธาวิธีสอนหลวงปู่ชา มาบวชในไทยตั้งแต่อายุ 28 ชี้ภูมิใจสอบผ่านพระอุปัชฌาย์ที่ยาก

พระครูอุบลภาวนาวิเทศ กล่าวว่า ตนมีความสนใจวิปัสสนากรรมฐานมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยฟรี กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยได้ไปฝึกนั่งสมาธิที่วัดไทยในเยอรมนี จากนั้นจึงได้อ่านหนังสือสอนวิปัสสนากรรมฐานของหลวงปู่ชา ที่เขียน(แปล)เป็นภาษาอังกฤษ และเคยได้มาประเทศไทย ชอบวิถีวัฒนธรรมของคนไทย ชอบพระพุทธศาสนา เมื่อเรียนจบจึงตัดสินใจมาที่วัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นวัดป่าสายหลวงปูชา จึงได้ตัดสินใจบวชที่วัดดังกล่าวในปี 2541 ตอนอายุประมาณ 28 ปี กระทั่งได้รับความไว้วางใจจากพระราชภาวนาวิกรม หรือหลวงพ่อเลียม วัดหนองป่าพง และได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น สนับสนุนให้พระต่างชาติได้มาบวช และทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา

kewali 02

“การมาสอบพระอุปัชฌาย์ครั้งนี้ทางพระเถระ โดยพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะภาค 10 ท่านเห็นว่า ควรจะมีพระอุปัชฌาย์ในวัดป่านานาชาติ ทำหน้าที่บวชพระภิกษุทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เนื่องจากพระเถระในวัดก็มีอายุมากขึ้น จึงได้ส่งเสริมให้อาตมาเข้าสู่กระบวนการสอบพระอุปัชฌาย์ตามระบบคณะสงฆ์ไทย ถือเป็นพระภิกษุชาวต่างประเทศรูปแรก ที่ได้เข้ามาสอบในระบบคณะสงฆ์ไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาสมเด็จเกี่ยวท่านได้เมตตาแต่งตั้ง รุ่นอาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์เป็นกรณีพิเศษ เช่น หลวงพ่อสุเมโธ หรือพระราชสุเมธาจารย์ ท่านอมโร หรือพระวิเทศพุทธิคุณ ท่านปสันโน หรือพระโพธิญาณวิเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อาตมารู้สึกภูมิใจที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สำคัญเช่นนี้ ขอบคุณคณะสงฆ์ไทยที่ให้โอกาสพระชาวต่างประเทศ ได้ทำหน้าที่เหมือนกับพระสงฆ์ไทย ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจเป็นเกียรติ เพราะที่ผ่านมาทางพระพรหมสิทธิ ท่านให้คำปรึกษาและส่งเสริมพระป่าสายวิปัสสนากรรมฐานมาโดยตลอด อีกทั้งการสอบพระอุปัชฌาย์ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพระสงฆ์ไทย โดยเฉพาะพระชาวต่างชาติอย่างอาตมาถือว่า ยากขึ้นไปอีก เพราะจะต้องท่องบาลีให้ถูกต้อง เขียนให้ถูกต้อง ผ่านทดสอบความรู้ตามพระธรรมวินัยอีกด้วย” พระครูอุบลภาวนาวิเทศ กล่าว

kewali 03

 ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 28 มกราคม 2561

new1234อ่านเพิ่มเติม : ฝรั่งกับการนับถือพระพุทธศาสนา | พระอุโบสถหลังใหม่วัดป่านานาชาติnew1234

วัดหนองป่าพง | วัดป่านานาชาติ | ธรรมะจากหลวงพ่อชา | เส้นทางสู่ธรรมของหลวงพ่อ | งานอาจาริยบูชา 16 มกราคม

redline

backled1

Subcategories

ประวัติหลวงพ่อชา

พระธรรมเทศนาของหลวงพ่อ

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)