![]()
|
นิทานพื้นบ้านอีสาน เรื่อง "บักหูดสามเปา" หรืออีกชื่อหนึ่งคือ "ท้าวแสนปม" ที่มีการเล่าสืบต่อกันมานานมีหลายสำนวนที่มีแก่นเรื่องคล้ายกัน แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้าง (หูด เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่ง ที่กระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังมีความหนาหรือแข็งตัวขึ้น เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยไม่จำกัดเพศ และอายุ แม้ว่าจะไม่ได้อันตรายมากนัก แต่ต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง มิฉะนั้นอาจเป็นแผลติดเชื้อที่หนักกว่าเดิม รักษายากกว่าเดิมได้) นิทานเรื่องนี้ให้คติธรรมในเรื่อง "การพิจารณาคนอื่นอย่าดูแต่ภายนอก ให้ดูที่จิตใจและการกระทำของเขา" นี่คือสำนวนหนึ่งที่พบทั่วไปในภาคอีสาน
"บักหูดสามเปา" เป็นชายหนุ่มคนหนึ่งที่รูปบ่งามเลย ด้วยเกิดมาแล้วอัปลักษณ์ มีแต่เม็ดตุ่มตามผิวหนังเต็มตัว มีความเกียจคร้านเป็นอาจิณ ชนิดที่ต้องบอกว่า "กินแล้วกะมีแต่นอน กินเป็นหนอน นอนเป็นดักแด้" จนพ่อกับแม่อิจหนาระอาใจหลาย สั่งสอนบอกกล่าวอย่างไรก็ไม่ฟัง พ่อกับแม่เลยตัดสินใจให้ไปอยู่วัดแห่งหนึ่ง กับยาคู (สมภาร เจ้าอาวาสวัด) แมัจะได้รับการอบรมสั่งสอนจากยาคูอย่างไร ความขี้เกียจของมันก็ไม่หมดหายไปสักที
ยาคูกะเลยคิดว่า "ต้องหาความรับผิดชอบให้สักเรื่อง" จึงเอาเม็ดแตงโมให้บักหูดสามเปาไปปลูก และบอกว่าให้ไปรดน้ำทุกวันอย่าได้ขาด แต่ด้วยความขี้คร้านของมันก็บ่เคยตักน้ำไปหด (รด) จักเทื่อ แต่ยังดีที่มันก็ยังลุกไปเยี่ยว (ฉี่) รดทุกๆ มื้อ ทุกเวลาที่มันปวดนั่นหล่ะ
จนบักแตงโมเติบใหญ่ (ได้คือกันเนาะ) พอบักโมสุกบักหูดสามเปาก็เลยเอาไปถวายให้พ่อพระยา (เจ้าเมือง) อันว่าพระยาผู้นี้ก็มีลูกสาวผู้หนึ่งงามขนาด ชื่อว่า "นางลุน" ลูกสาวพระยาเกิดอยากกินบักโมลูกนั้นมาก ก็รับเอาไปกินแต่เพียงผู้เดียวไม่แบ่งใคร สิ่งอัศจรรย์ได้เกิดขึ้น "นางลุน" เกิดตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีการสมสู่ ท้องใหญ่ขึ้นทุกวัน พระยานั้นแม้จะคาดคั้นถามลูกสาวว่า "มีลูกนำไผ บอกมา..." ลูกสาวก็ได้แต่บอกว่า "บ่ฮู้ ๆๆ"
พระยาก็จนปัญญาที่จะถามอีก ก็เลยสั่งให้ตีฆ้องร้องป่าวกับชาวเมืองว่า "ให้ชายหนุ่มทุกคนในเมืองนี้เอากล้วยมาคนละหนึ่งหน่วย ถ้าลูกสาวของเฮา (นางลุน) เลือกเอากล้วยนำผู้ได๋ ผู้นั่นนสิได้เป็นพ่อของลูกในท้องของนาง เฮาสิยกให้"
เมื่อถึงวันนัดหมาย ชาวบ้านหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ต่างก็นำกล้วยเข้ามาให้นางลุนเลือก ด้วยหวังจะได้เป็นเขยเจ้าเมือง ส่วนนางลุนลูกสาวพระยานั้น ไผ๋ยื่นกล้วยให้นาง นางก็ไม่ยอมรับเอาเสียที จนว่ามาฮอด "บักหูดสามเปา" เด่ (ยื่น) กล้วยให้ นางลุนก็หยิบเอาปั๊บทันที พระยาเห็นอย่างนั้นก็โกรธมากที่ลูกไปลักลอบได้เสียกับชายหนุ่มหุ่นขี้ล่าย (รูปไม่หล่อ) อย่างนั้น เลยไล่ "บักหูดสามเปา" กับ "นางลุน" ให้หนีเข้าไปอยู่ในป่าด้วยกัน พร้อมกับให้มีดดวงหนึ่ง เสียมดวงหนึ่ง บักจก (จอบ) ดวงหนึ่ง บักหูดสามเปาเอามีดตัดต้นไม้เพื่อทำที่อยู่ ส่วนนางลุนก็ไม่เอ่ยปากพูดด้วยกับมันสักที ทำอย่างไรนางก็ไม่ยอมพูด จนบักหูดสามเปาคร้านที่จะเว้านำแล้ว แต่พอนานๆ ไปสักพัก นางก็พูดออกมาเอง (บ่ฮู้ว่าเป็นหยัง?)
ต่อมา เมีย (นางลุน) ก็เลยบอกให้ผัวไปถางป่าเพื่อจะปลูกผักปลูกหญ้า ปรากฏว่า บักหูดสามเปาถางต้นไม้ไว้แล้วจากเช้ายันเย็น ยามมื้อเช้าตื่นขึ้นมาก็เห็นต้นไม้ที่ตัดถางไปนั้น ก็กลับมาตั้งต้นอยู่ที่เก่าทั้งหมด ทำการถางป่าฟันต้นไม้อีกหลายครั้ง หลายวัน วันรุ่งขึ้นต้นไม้ก็กลับมาขึ้นหนาแน่นเป็นเหมือนเดิม
บักหูดสามเปา คับแค้นใจก็เลยตั้งใจสิจอบเบิ่ง (แอบดู) พอแต่ตะเว็นตกดินกะมีลิงโตหนึ่งถือฆ้องเดินออกมา พอแต่ลิงตีฆ้องต้นไม้ก็ลุกพรึบขึ้นมา บักหูดสามเปาเห็นดังนั้น ก็เลยแล่น (วิ่ง) ออกไปจับลิง ทำท่าทางเงื้อมีดสิฆ่าลิง ลิงกะเลยฮ้องขอชีวิตไว้
บักหูดสามเปาก็เลยสำทับถามไปว่า "มึงเป็นหยังจั่งเฮ็ดจังซี่ กูสิปลูกบักแตง บักโมไว้ให้เมียกูกิน"
ลิงกะเลยตอบว่า "ฆ้องนี้มันเป็นฆ้องวิเศษ" บักหูดสามเปากะเลยว่า "มันวิเศษจั่งได๋ บอกมา"
ลิงบอกว่า "เมื่อเจ้าตีฆ้องจะอธิษฐานให้เป็นคนงามกะได้ ตีให้เป็นผู้เฒ่ากะได้ ตีเอาบ้านเอาเมืองกะได้"
บักหูดสามเปาก็เลยลองตีฆ้องดู เมื่อตีก็อธิษฐานว่า "ให้หูดกูหายกะนา" พอแต่ตีฆ้องหูดที่มีอยู่ก็หายไป จากนั้นก็อธิษฐานต่อ "เอาตีให้กูผู้เป็นผู้งามๆ ได้บ่ได้" ว่าแล้วเลากะเลยตีฆ้องให้เป็นผู้บ่าวงามๆ ส่วนลิงนั้นรักตัวกลัวตายกะเลยเอาฆ้องยกให้บักหูดสามเปาไป
พอแต่ได้ฆ้องแล้ว บักหูดสามเปาก็เลยกลับบ้านไปหาเมีย ด้วยรูปร่างใหม่ที่เป็นหนุ่มหล่อเหลา ไม่มีตุ่มตามร่างกายอีกแล้ว พร้อมทั้งร้องเรียกเมียว่า "นางลุนเอย อ้ายหูดกลับมาแล้ว มาเบิ่งนี่"
นางลุนไม่เชื่อในสายตาว่า ชายหนุ่มตรงหน้าคือ "บักหูดสามเปา" ก็เลยตอบไปว่า "อย่ามาเอิ้นข้อย ข้อยมีผัวแล้ว ข้อยหลูโตนผัวข้อย"
บักหูดสามเปากะเลยว่า "ข้อยนี่แหละผัวเจ้า ลุนเอย" นางลุนว่า "ข้อยบ่เชื่อดอก"
บักหูดสามเปาเลยบอกว่า "เอ้า … ข้อยสิตีฆ้องให้เป็นหูดคือเก่าเด้อ" ว่าแล้วก็อธิษฐานก่อนตีฆ้องให้เป็นหูดเหมือนเก่า นางลุนเมียรักเห็นกับตาดังนั้นก็เลยเชื่อ จากนั้น บักหูดสามเปากะเลยตีฆ้องให้เจ้าของกลับเป็นคนงามคือเก่า ต่อจากนั้นแล้ว บักหูดสามเปาก็เลยใช้ฆ้องอธิษฐานตีเอาบ้านเอาเมืองอื่นๆ ให้มาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
กล่าวถึงพระยาหลังจากไล่ลูกเขยและลูกสาวไปอยู่ป่า เกิดความสงสัยว่า บักหูดสามเปามันตายหรือยังหนอ? เลยบอกเสนาอามาตย์ไปเเอบดู พอแต่เสนาไปดูพบเห็นความจริง เลยกลับมาบอกพระยาว่า "บักหูดสามเปารูปงามกว่าเก่า ไม่ได้เป็นหูดแล้ว"
พระยาเลยขอไปดูให้เห็นกับตาตัวเอง และได้ขอให้บักหูดสามเปาตีฆ้องให้ตัวพระยาเองเป็นหนุ่มแน่น แล้วกลับเข้าบ้านเมืองด้วยรูปร่างใหม่ พร้อมกับหูดสามเปา (ลูกเขยรัก แล้วตอนนี้) พอกลับเข้าในเมือง พอแต่เมียเห็นพระยา นางก็ไม่เชื่อว่าเป็นผัวเจ้าของ พระยาเลยบอกเมียว่า "ตอนนี้มีฆ้องศักดิ์สิทธิ์อยู่กับหูดสามเปา นี่เด้ ลูกเขยเฮา"
เมียกะเลยว่า "ข้อยกะอยากเป็นสาวงามคือกัน ฮิๆๆ หูดสามเปาส่อยให้แม่เป็นสาวงามๆ แหน่"
ว่าแล้วบักหูดสามเปาก็เลยอธิษฐานตีฆ้องให้นางเป็นสาวงาม เมียพระยาก็เลยกลับเป็นคนงามคนสวยเริ่ดประเสริฐศรี ปรากฏว่า ในบ้านเมืองนั้นมีแต่คนงามๆ มีแต่หนุ่มๆ สาวๆ สวยๆ เริดๆ หมดทั้งบ้านทั้งเมือง เพราะหูดสามเปาอธิษฐานตีฆ้องให้กับทุกคน
ทั้งสอง (หูดสามเปา และนางลุน) ก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แฮ็บปี้เอนดิ้ง… จบจ้อย
ลำเรื่องต่อกลอน "หูดสามเปา" (ท้าวแสนปม) คณะเสียงอิสาน
เบิ่งคนอย่างเบิ่งแต่เพียงภายนอก ให้เบิ่งจิตใจเขานำ "
บ๋า! ฆ้องนั้น อยู่ไสหนอ! ข่อยสิตีให้คนอีสานอยู่ดีกินดีตลอดเบิ้ดซาตินี้ มั่งมีเงินทอง ถูกหวยรวยเบอร์กันสู่งวด บ่ต้องรอ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ลูกหลานไปโรงเรียนกะให้ได้เกรด 4 เบิดสู่วิชาเด้อ เพี้ยงๆ
นิทานพื้นบ้านอีสาน เรื่อง “ก่องข้าวน้อย” หรือบางทีเรียกว่า “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” เป็นนิทานเล่าถึงตำนานของการสร้างศาสนสถาน คือ "พระธาตุก่องข้าวน้อย" ซึ่งเป็นศิลปะแบบขอม ตั้งอยู่กลางทุ่งนาบ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร นิทานเรื่องนี้มีทั้งประเภทมุขปาฐะ (เล่าต่อๆ กันมา) และลายลักษณ์ (จารในใบลานและพิมพ์ในหนังสือ) เชื่อว่า มาจากเรื่องที่เกิดจากเหตุการณ์จริง ทั้งนี้คำว่า “ก่องข้าว” หรือ กล่องข้าว เป็นเครื่องจักสานที่ใช้เป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียวนึ่งของชาวอีสาน ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่สองชั้นแข็งแรง รูปทรงคล้ายกระบุงหรือตะกร้ามีฝาปิด ส่วนฐานทำด้วยไม้ลักษณะปีกกา มีความทนทานกว่ากระติบข้าว [ อ่านเพิ่มเติม : กระติบข้าวและก่องข้าว ภูมิปัญญาชาวอีสาน ]
กาลครั้งหนึ่ง เมื่อหลายร้อยปีผ่านมาแล้ว ที่บ้านตาดทอง มีแม่ลูกยากจนคู่หนึ่ง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ชายทุ่ง มีอาชีพทำนา ลูกชายเจริญวัยแล้วได้ช่วยแม่ทำนาและประกอบสัมมาชีพต่างๆ เลี้ยงดูมารดาซึ่งชราภาพมากแล้ว ลูกชายเป็นคนขยันขันแข็งในการงาน พยายามที่จะกอบกู้ฐานะของครอบครัว ในฤดูฝนก็มีการเตรียมปักดำกล้าข้าว ทุกครอบครัวจะออกไปไถนาเตรียมการเพราะปลูก ชายหนุ่มชื่อ "ทอง" คนนี้ กำพร้าพ่อ ก็ออกไปปฏิบัติภารกิจเช่นเดียวกันกับทุกวัน
วันนี้เขาออกไถนาแต่เช้าตรู่อยู่นานจนสาย ตะวันขึ้นสูงแล้วรู้สึกเหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลียมากกว่าปกติ และหิวข้าวมากกว่าทุกวัน ปกติแล้วแม่ผู้ชราจะมาส่งก่องข้าวให้ทุกวัน แต่วันนี้กลับมาช้าผิดปกติ
ใบปิดภาพยนตร์ ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ : Cr. Thai Movie Poster
เขาจึงหยุดไถนาเข้าไปนั่งพักผ่อนอยู่ใต้ต้นไม้ ปล่อยเจ้าทุยไปกินหญ้า สายตาเหม่อมองไปทางบ้าน รอคอยแม่ที่จะมาส่งข้าวตามเวลาที่ควรจะมา ด้วยความรู้สึกกระวนกระวายใจ ยิ่งสายตะวันขึ้นสูง แดดก็ยิ่งร้อน ความหิวกระหายยิ่งทวีคูณขึ้นมาก
ทันใดนั้น เขามองเห็นแม่เดินเลียบมาตามคันนาพร้อมก่องข้าวน้อยๆ ห้อยต่องแต่งอยู่บนสาแหรกคาน เขาเริ่มมึความรู้สึกไม่พอใจ ที่แม่เอาก่องข้าวน้อยนั้นมาช้ามาก ด้วยความหิวกระหายจนตาลาย อารมณ์พลุ่งพล่าน เขาคิดว่าข้าวในก่องข้าวน้อยนั้นคงกินไม่อิ่มเป็นแน่
จึงเอ่ยต่อว่าแม่ของตนว่า "อีแก่ มึงไปทำอะไรอยู่จึงมาส่งข้าวให้กูกินช้านัก ก่องข้าวก็เอามาแต่ก่องน้อยๆ กูจะกินอิ่มหรือ?"
ผู้เป็นแม่เอ่ยปากตอบลูกว่า "ถึงก่องข้าวจะน้อย ก็น้อยแต่ก่อง ส่วนเข้าแน่นในดอกลูกเอ๋ย ลองกินเบิ่งก่อน"
ความหิว ความเหน็ดเหนื่อย ความโมโห หูอื้อตาลาย ไม่ยอมฟังเสียงใดๆ เกิดบันดาลโทสะอย่างแรงกล้า คว้าได้ไม้แอกน้อยเข้าตีแม่ที่แก่ชราจนล้มลง แล้วก็เดินไปกินข้าว เมื่อกินข้าวจนอิ่มแล้วแต่ข้าวยังไม่หมดกล่อง จึงรู้สึกผิดชอบชั่วดี รีบวิ่งไปดูอาการของแม่และเข้าสวมกอดแม่ อนิจจา... แม่สิ้นใจตายจากไปเสียแล้ว..
ชายหนุ่มร้องไห้โฮ สำนึกผิดที่ฆ่าแม่ของตนเองด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบ ไม่รู้จะทำประการใดดี จึงเข้ากราบนมัสการสมภารวัดในหมู่บ้าน เล่าเรื่องให้ท่านฟังโดยละเอียด ปรึกษาท่านว่าจะทำอย่างไรดี
สมภารสอนว่า "การฆ่าบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าของตนเองนั้นเป็นบาปหนัก เป็น "มาตุฆาต" ต้องตกนรกอเวจี ตายแล้วไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดเป็นคนอีก มีทางเดียวจะให้บาปเบาลงได้ ก็ด้วยการสร้างธาตุก่อกวมกระดูกแม่ไว้ ให้สูงเท่า "นกเขาเหิน" จะได้เป็นการไถ่บาปหนักให้เป็นเบาลงได้บ้าง"
ไอ้ทองเกิดความรู้สึกเสียใจที่ตนได้ทำร้ายแม่จนถึงขั้นมาตุฆาต จึงได้ทำการปลงศพแม่ของตน แล้วได้ปั้นอิฐก่อเป็นธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิแม่ไว้ ในภายหลังผู้คนจึงเรียกเจดีย์นี้ว่า "พระธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" มาจนถึงบัดนี้
ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ - เทพพร เพชรอุบล
ปัจจุบันได้มีการค้นพบ "ธาตุเก่าแก่" ที่ วัดทุ่งสะเดา บ้านสะเดา ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร ซึ่งกรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่า ธาตุดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับนิทานพื้นบ้านเรื่อง "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" ที่เล่ากันในพื้นถิ่นอีสานว่า ลูกชายคนหนึ่งได้ฆ่าแม่ของตน เพราะความหิวและความโกรธที่แม่นำข้าวมาส่งช้าและน้อยเกินไป แต่เมื่อความหิวและความโกรธคลายลง ประกอบกับข้าวที่แม่นำมาส่งที่ตนคิดว่ามีปริมาณน้อยนั้น ยังเหลืออยู่ จึงเกิดความรู้สึกผิดที่ได้กระทำบาปกับแม่ จึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นในบริเวณที่แม่เสียชีวิตเพื่อเป็นการไถ่โทษ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า "ธาตุลูกฆ่าแม่" ตั้งอยู่ภายในวัดทุ่งสะเดา นิทานพื้นบ้านที่มีเนื้อหาในลักษณะเช่นนี้ ยังถูกใช้เล่าประกอบประวัติ "พระธาตุตาดทอง" ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ธาตุก่องข้าวน้อย
โบราณสถานสำคัญภายในวัดทุ่งสะเดา ประกอบด้วยเจดีย์ก่ออิฐถือปูน จำนวน 2 องค์ ตั้งอยู่ใกล้กัน องค์แรกมีสภาพสมบูรณ์ องค์ที่สองเหลือเพียงส่วนฐาน จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบฐานแท่นบูชาของเจดีย์องค์ที่สองยื่นเข้าไปใต้ฐานเจดีย์องค์แรก อันเป็นหลักฐานว่า เจดีย์องค์ที่เหลือเพียงฐานนั้น ได้สร้างขึ้นมาก่อน ภายหลังพังทลายไปจึงมีการสร้างเจดีย์องค์ที่สองทับลงไปบนส่วนฐานของเจดีย์ นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2525 ชาวบ้านยังได้ขุดพบโบราณวัตถุในไห จำนวน 4 ไห ใต้ฐานเจดีย์องค์แรก เป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลัก พระพุทธรูปบุเงิน พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปตะกั่ว พระพุทธรูปดินเผาสีแดงชาดปิดทอง พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพิมพ์ เศษกระดูก กล้องยาสูบ และเครื่องถ้วยจีน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ วัดทุ่งสะเดา
ลักษณะสถาปัตยกรรมของเจดีย์ที่มีสภาพสมบูรณ์นั้น เป็นทรงบัวเหลี่ยมในผังแปดเหลี่ยม ตามแบบศิลปะพื้นถิ่นอีสาน กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 23 มีส่วนฐานเป็นชั้นหน้ากระดานขนาดเล็กเรียงลดหลั่นกัน รับฐานบัว และมีชั้นคล้ายบัวหงายขนาดใหญ่ ถัดขึ้นมาเป็นบัวแปดเหลี่ยมรับปลียอดและฉัตร อันเป็นลักษณะเจดีย์ที่นิยมสร้างในเมืองหลวงพระบางและเวียงจันทน์ด้วยเช่นเดียวกัน
เอกลักษณ์ของเจดีย์วัดทุ่งสะเดา หรือ ธาตุลูกฆ่าแม่ คือ การผูกนิทานพื้นบ้านให้เข้ากับประวัติความเป็นมาของเจดีย์ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานธาตุก่องข้าวน้อย วัดทุ่งสะเดา ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 กันยายน 2479 โดยเจดีย์องค์ที่มีสภาพสมบูรณ์(องค์ลูก)ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ. 2555 ส่วนเจดีย์องค์ที่เหลือเพียงส่วนฐาน(องค์แม่)ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ. 2537
ดังนั้นจึงสันนิษฐานใหม่ว่า ธาตุวัดทุ่งสะเดา น่าจะเป็น "ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" ตามตำนานเล่าขาน เพราะมีขนาดเล็ก คนๆ เดียวสามารถสร้างได้ ส่วน "ธาตุก่องข้าวน้อย" หรือ "พระธาตุตาดทอง" ที่บ้านตาดทองนั้น มีขนาดใหญ่พอๆ กับพระธาตุอานนท์ วัดมหาธาตุ ซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะตัว บุคคลคนเดียวไม่มีความรู้เรื่องช่างไม่สามารถทำได้ จึงสมควรเรียกขาน "ธาตุก่องข้าวน้อย" ที่บ้านตาดทองเสียใหม่ว่า พระธาตุตาดทอง หรือ พระธาตุถาดทอง
ธาตุก่องข้าวน้อย หรือที่นิยมเรียกกันว่า พระธาตุถาดทอง หรือ พระธาตุตาดทอง ตั้งอยู่ในกลางทุ่งนาของบ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 23 (สายยโสธร-อุบลราชธานี) กิโลเมตรที่ 194 เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร
ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ (2523) โดย พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา
บ้านตาดทอง เป็นชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงสมัยทวาราวดี ตามตำนานอุรังคนิทาน (พระธาตุพนม) มีข้อความว่า ชาวสะเดาตาดทอง (ภาษาพื้นถิ่น เรียก บ้านกะเดาตาดทอง) ได้นำสิ่งมีค่าของมาช่วยในการบูรณะพระธาตุพนม พบหลักฐานการอยู่อาศัยเป็นแหล่งฝังศพ และมีเศษภาชนะแบบที่พบในทุ่งกุลาร้องไห้ คือมีเนินดินขนาดราว 500 X 650 เมตร รูปวงรี มีคูน้ำล้อมรอบ แต่ปัจจุบันทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 23 ตัดผ่านกลางเนินจนแบ่งออกเป็นสองฟาก และมีบ้านเรือนตั้งอยู่อย่างหนาแน่น
พระธาตุตาดทอง เมื่อดูจากรูปแบบสถาปัตยกรรมแล้ว น่าจะสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 24 และอาจจะมีความเกี่ยวเนื่องกับนิทานพื้นบ้าน ที่เล่าสืบกันมาว่า
เมื่อผู้คนชาวบ้านในแถบอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ได้ทราบข่าว "องค์พระธาตุพนมล้ม" และมีการบูรณะพระธาตุพนมขึ้นใหม่ จึงพร้อมใจกันรวบรวมวัตถุมงคล สิ่งของมีค่า (เงิน ทองคำ) เพื่อนำไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนม แต่เมื่อเดินทางถึงบ้านสะเดาตาดทองก็ได้พบกับชาวบ้านสะเดาตาดทอง ที่เดินทางกลับมาจากการไปช่วยบูรณะพระธาตุพนมเดินทางกลับมาบ้าน เพราะการบูรณะพระธาตุพนมได้เสร็จสิ้นแล้ว ผู้คนจากรัตนบุรีเหล่านั้นจึงพร้อมใจกันสร้างเจดีย์บรรจุของมีค่าที่ตนนำมา และชาวบ้านสะเดาก็นำเอา "ถาดทอง" ที่ใช้อัญเชิญของมีค่านำไปบรรจุในพระธาตุพนมมารองรับของมีค่าที่ชาวอำเภอรัตนบุรี ตั้งใจนำมาเพื่อจะไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนม มาบรรจุในเจดีย์ที่กำลังสร้างขึ้น จึงเรียกเจดีย์พระธาตุนี้ว่า "พระธาตุถาดทอง" หรือ "พระธาตุตาดทอง"
เอกลักษณ์ของ "พระธาตุตาดทอง" คือ การออกแบบรูปทรงเจดีย์ที่สวยงาม และเป็นพระธาตุแห่งหนึ่งที่อาจจะเกี่ยวข้องนิทานเรื่อง "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" อีกทั้งมีประวัติอ้างอิงเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสร้าง "พระธาตุพนม" กรมศิลปากร จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน พระธาตุตาดทอง ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 กันยายน 2479 และประกาศกำหนดเขตที่ดิน ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 15 มกราคม 2552 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 59 ตารางวา โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ. 2545
นอกจากนี้แล้ว บริเวณโดยรอบองค์พระธาตุตาดทอง กรมศิลปากรได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ บริเวณแห่งนี้คาดว่า "เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทย และภาพเขียนสียุคเดียวกับโบราณสถานบ้านเชียงด้วย" อนึ่งชื่อที่ถูกต้องของธาตุองค์นี้ ควรจะเรียกว่า "ธาตุก่องข้าวน้อย" มากกว่า "พระธาตุก่องข้าวน้อย" เพราะภายในบรรจุอัฐิบุคคลธรรมดา มิใช่เป็นอัฐิพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนเช่นพระธาตุ หรือพระบรมธาตุทั่วไป
มีผู้ที่พยายามผูกเรื่องราวของ "พระธาตุถาดทอง" มาให้เป็น "ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" ให้ได้ ด้วยการผูกเรื่องราวเพิ่มเติมต่อจากนิทานฉบับเดิม มาเพิ่มเนื้อหาใหม่ในตอนท้ายว่า
"หลังจากสำนึกบาปในการทำมาตุฆาต ก็ได้มอบตัวต่อเจ้าเมืองเพราะกระทำความผิด แต่ก็ได้ขอต่อเจ้าเมืองว่า ขอทำเจดีย์ครอบกระดูกของแม่ก่อน และขอบวชจนตลอดชีวิตเพื่อไถ่โทษ เจ้าเมืองก็อนุญาต ไอ้ทองก็จัดการปลงศพแม่พร้อมทำเจดีย์บรรจุอัฐิแม่ จากนั้นจึงบวชอุทิศส่วนกุศลให้แม่ตามสัญญา เมื่อบวชก็ได้ปฏิบัติเคร่งครัดในวินัย จนชาวบ้านตลอดจนเจ้าเมืองเลื่อมใสมาก จึงถวายไม้กวาดลานวัดทำด้วยด้ามทองคำ ภายหลังจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนั้นว่า “บ้านตาดทอง” พระภิกษุรูปนี้ได้เจริญภาวนาเป็นที่เลื่อมใสของคนทั่วไป ทั้งประชาชนที่อยู่หมู่บ้านอื่นๆ ต่อมาท่านได้ตั้งจิตที่จะสร้างพระธาตุเจดีย์ให้มีความสูงเท่านกเขาเหิน เพื่อไถ่บาปแก่แม่ของตน ประชาชนทราบข่าวเรื่องนี้ ต่างก็มาช่วยกันสร้างพระธาตุเจดีย์สูงชั่วลำตาลจนสำเร็จ แล้วเรียกว่า “พระธาตุก่องข้าวน้อย” สืบมาจนทุกวันนี้"
ลำล่อง "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" โดย ป. ฉลาดน้อย ส่งเสริม - อังคนางค์ คุณไชย
จะเป็นสำนวนใดจริงแท้ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจนัก แต่ "ธาตุก่องข้าวน้อย" เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ดังปรากฏในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น หมอลำเรื่องต่อกลอน ลิเกของภาคกลาง ละครซอทางภาคเหนือ หนังตะลุง เพลงลูกทุ่ง เพลงแหล่ เทศน์แหล่แบบอีสาน บทสวดสรภัญญะ ลำซิ่ง ภาพยนตร์ ภาพจิตรกรรม และการ์ตูนแอนนิเมชั่น ซึ่งล้วนมีการนำเอาโครงเรื่องนิทาน "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" มาสร้างสรรค์ดัดแปลงเป็นข้อมูลทั้งสิ้น เรื่องเล่าเหล่านี้คือ นิทานพื้นบ้าน ความจริงจะเป็นอย่างไรก็ไมทราบได้ แต่ก็ให้ข้อคิดในเรื่องของ "สติ" "การมีคุณธรรม" และ "ความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการี" ที่เราควรใส่ใจเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่
นิทานพื้นบ้านอีสานเรื่อง "ขูลู-นางอั้ว" นี่มีหลายสำนวนสั้นบ้าง ยาวบ้าง เนื้อหาใกลเคียงกันแต่อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน ที่เหมือนกันคือ แก่นของเรื่องและคติธรรมที่ปรากฏในเรื่อง เป็นตำนานรักอันแสนเศร้าระหว่างท้าวขูลูกับนางอั้ว ตามคำที่มักจะกล่าวถึงบ่อยๆ ว่า "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์" และกฎแห่งกรรม ที่ทั้งสองเคยก่อในอดีตชาติส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน จนมีผู้นำไปเปรียบเทียบให้เห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันกับเรื่องราวของนิยายฝรั่ง ถึงกับยกให้เป็น "โรมีโอและจูเลียตแห่งอีสาน" ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งว่าเป็นผู้ใด ผู้เขียนจึงนำหลายๆ สำนวนมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยมีแหล่งอ้างอิงจากสำนวนต่างๆ ที่ระบุไว้ในตอนท้าย
มีเมืองใหญ่อยู่สองเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกัน คือ เมืองกาสี ที่มี "ท้าวพรมสี" เป็นเจ้าเมืองนี้ มีมเหสีชื่อ "พระนางพิมพากาสี" มีพระโอรสชื่อ "ท้าวขูลู" กับอีกเมืองหนึ่งชื่อ เมืองกายนคร มี "ท้าวปุดตาลาด" เป็นเจ้าเมือง และมีมเหสีชื่อ "นางจันทา" มีพระธิดา ชื่อ "นางอั้ว" หรือ "นางอั้วเคี่ยม" ทั้งสองเมืองมีความใกล้ชิด สนิทสนมกันยิ่ง จนถึงกับดื่มน้ำสาบานร่วมกันเป็นมิตรสหาย และได้สัญญาต่อกันว่า หากมีโอรสหรือธิดาเหมือนกันทั้งสองฝ่ายจะผูกเสี่ยวให้เป็นเพื่อนกัน ถ้าต่างเพศกันก็จะให้แต่งงานกันเพื่อผูกมิตรให้เมืองทั้งสองแน่นแฟ้นขึ้น จนกระทั่งมเหสีทั้งสองตั้งครรภ์ขึ้น ซึ่งสร้างความยินดีปรีดาแก่เจ้าเมืองทั้งสองยิ่งนัก (บางสำนวนว่า บ้านโคกก่ง กับบ้านทุ่งมน เป็นการเล่าเรื่องแบบพื้นบ้านที่แท้จริงไม่ได้เป็นเจ้าเมือง ขุนลางก็เป็นลูกเศรษฐีในหมู่บ้าน)
ซึ่งทั้งสองเมืองก็เดินทางไปมาหาสู่กันเป็นประจำ ในคราวหนึ่งพระนางจันทา ซึ่งกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ และกำลังแพ้ท้องได้ไปเยี่ยมพระนางพิมพากาสีที่นครกาสี ซึ่งพระนางพิมพากาสีก็ทรงครรภ์อ่อนๆ เช่นเดียวกัน และทั้งคู่ได้พากันไปประพาสอุทยาน ครั้นเสด็จผ่านสวนส้มเกลี้ยง (ส้มโอ บ้างก็ว่า ส้มเขียวหวาน) พระนางจันทารู้สึกหิวอยากเสวยผลส้มมาก จึงเอ่ยขอผลส้มจากพระนางพิมพากาสี แต่นางไม่ให้เพราะส้มนั้นยังไม่สุก ทำให้พระนางจันทาโกรธมากและผูกใจเจ็บอย่างยิ่ง ถึงขั้นตัดขาดความเป็นมิตรกันกับพระนางพิมพากาสี
เมื่อมเหสีของเจ้าเมืองทั้งสองเมืองได้ให้กำเนิดโอรสและธิดา พระนางพิมพากาสีแห่งเมืองกาสีก็ให้กำเนิดพระโอรส นามว่า “ขูลู” เมื่อท้าวขูลูโตขึ้นทรงมีรูปร่างหน้าตารูปงามราวกับเทพบุตร ส่วนพระนางจันทาแห่งเมืองกายนครก็ให้กำเนิดพระธิดา นามว่า “อั้วเคี่ยม” หรือ "นางอั้ว" เมื่อนางอั้วโตขึ้นมีรูปร่างหน้าตาสละสลวยงดงามราวกับเทพธิดาเช่นกัน
ครั้นเมื่อพระโอรสและพระธิดาของทั้งสองเมืองเจริญวัยขึ้น เป็นหนุ่ม-สาวรูปงามเต็มที่ พระบิดาของทั้งสองหรือเจ้าเมืองของทั้งสองเมืองก็สวรรคตเสียก่อน พระนางพิมพากาสีจึงอยากให้ท้าวขูลูมาเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองแทนพระบิดา ส่วนเมืองกายนครนั้น พระนางจันทาผู้เป็นมเหสีได้ขึ้นครองเมืองแทนสวามีที่สวรรคตไป
ครั้นพระนางพิมพากาสีอยากให้ท้าวขูลูปกครองเมือง และมีคู่ครอง จึงแนะว่า เคยสัญญากันกับพระเหสีทางเมืองกายนครว่า ถ้ามีพระโอรสและพระธิดาจะให้แต่งงานกัน ซึ่งเมืองกายนครนั้นมีพระราชธิดา ชื่อ อั้วเคี่ยม จึงอยากให้ท้าวขูลูเดินทางไปยังเมืองกายนคร เมื่อท้าวขูลูได้ฟังดังนั้น ก็เกิดความคิดไปว่า รูปร่างหน้าตาของนางอั้วนั้นจะเป็นไปอย่างไร
พอได้เวลาสมควร ท้าวขูลู ก็เดินทางไปยังเมืองกายนคร ซึ่งถนนหนทางเต็มไปด้วยป่าเขา ทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบากกว่าจะถึงเมืองกายนคร เมื่อมาถึงเมืองแล้วท้าวขูลูก็แอบไปพักที่อุทยาน และได้พบกันกับนางอั้ว เมื่อทั้งคู่ได้พบเจอหน้ากันก็เกิดความรักความผูกพัน มีใจเสน่หาให้กันและกันตั้งแต่แรกเห็น และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
ครั้นเรื่องราวถึงหูพระนางจันทา นางจึงได้ให้คนมาเชิญท้าวขูลูเข้าไปพบ และท้าวขูลูได้เล่าเรื่องความเป็นมาต่างๆ ให้พระนางจันทาฟัง พระนางจันทาก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เมื่อท้าวขูลูเห็นว่าเป็นเวลาสมควรแล้วจึงได้ทูลขอนางอั้ว และบอกว่าจะแต่งเครื่องราชบรรณาการมาสู่ขอนางอั้วตามประเพณี ส่วนตนจะกลับเมืองไปทูลมารดาก่อน ท้าวขูลูจึงไปร่ำลานางอั้วเพื่อกลับไปยังเมืองกาสี
ຂຸນລູນາງອົ້ວ (ขุนลูนางอั้ว) ຕຳນານລາວ ຮ້ອງໂດຍ ສິດ ສາຍຮຸ້ງ + ເລັກ ສະໄມພອນ
เมื่อท้าวขูลูกลับเมืองไปได้ไม่นาน ข่าวลือเรื่อง "ความงดงามของนางอั้ว" ก็เลื่องลือระบือไปไกลจนถึงเมืองขอม ซึ่งมีกษัตริย์ผู้ปกครองเมือง นามว่า “ขุนลาง” ที่เป็นคนแก่ แต่มีใจคิดใฝ่อยากมีเมียเด็ก จึงส่งเครื่องราชบรรณาการข้าวของเงินทองต่างๆ มากมาย มายังเมืองกายนครให้พระนางจันทาอย่างสม่ำเสมอ และทูลขอนางอั้วเคี่ยมกับพระนางจันทา เนื่องด้วยพระนางจันทาเห็นว่า ขุนลางส่งเครื่องราชบรรณาการมาบ่อยๆ ประกอบกับที่ท้าวขูลูหายไปนาน และยังขุ่นเคืองเรื่องพระนางพิมพากาสีพระมารดาของท้าวขูลู (เมื่อครั้งทูลขอส้มเกลี้ยงตอนแพ้ท้องแล้วไม่ได้) จึงเอ่ยปากรับคำ ยกนางอั้วให้ขุนลางไป
เมื่อนางอั้วทราบข่าวว่า พระมารดาของตนจะยกตนให้ขุนลาง ก็ไม่ยินยอมแต่งงานกับขุนลาง และทรงทูลพระมารดาว่า ตนนั้นรักท้าวขูลูแต่เพียงผู้เดียว และจะรอเพียงแค่ท้าวขูลูเท่านั้น เมื่อพระนางจันทาทรงได้ยินตามนั้น ก็เกิดการด่าทอนางอั้ว ทำให้นางอั้วเสียใจและคิดแก้ไขปัญหานี้ไม่ตก
ครั้นเมื่อท้าวขูลูเดินทางมายังเมืองกายนครพร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการ เพื่อมาสู่ขอนางอั้วแต่กลับได้ยินข่าวว่า พระนางจันทาทรงยกนางอั้วให้กับขุนลางกษัตริย์เมืองขอมไปแล้ว ก็ทรงเสียใจจึงลักลอบไปพบนางอั้ว นางอั้วก็เล่าความจริงให้ฟัง ท้าวขูลูจึงกลับเมืองไปด้วยความเสียใจ เมื่อพระนางจันทารู้ข่าวว่า ท้าวขูลูลักลอบไปหานางอั้ว นางโกรธมากจึงมาด่าทอทุบตีนางอั้ว ว่าไม่รู้จักรักนวลสงวนตัว ทำเสื่อมเสียต่างๆ นานา ทำให้นางอั้วเสียใจเป็นอย่างมาก
เมื่อท้าวขูลูกลับไปยังเมืองกาสีจึงเล่าความจริงให้พระมารดาของตนฟัง พระนางพิมพากาสีโกรธมากจึงจัดให้มีการยกทัพไปยังเมืองกาย เมื่อพระนางพิมพากาสีมาถึงเมืองกายนคร พระนางจันทาทราบข่าวก็จัดให้มีการเจรจา และเชิญพระนางพิมพากาสีมาประทับในพระตำหนักอย่างดี การเจรจาในครั้งนี้พระนางจันทาได้บอกว่า "ตนได้เอ่ยปากตอบตกลงยกนางอั้วให้กับขุนลางไปแล้ว" พระนางพิมพากาสีจึงขอให้มีการเสี่ยงทาย ถ้าท้าวขูลูกับนางอั้วเป็นคู่กันจริงก็จะจัดให้มีการแต่งงานกันเกิดขึ้น ถ้าไม่เป็นคู่กันก็จะยกให้ขุนลางไป
สายแนน น. คู่สร้างคู่สม คู่ครองที่เคยร่วมกันมาหลายภพหลายชาติ เรียก สายแนน สายมิ่งสายแนน สายบุพเพสันนิวาส กกแนน ก็ว่า. spouse, the same spouse of many reincarnations.
กกแนน น. น. คู่ครองที่เคยอยู่กินกันมาหลายภพหลายชาติ หรือที่โบราณเรียกว่าบุพเพสันนิวาสนั้น เรียก กกแนน กกมิ่ง กกแนน สายมิ่ง สายแนน ก็เรียก อย่างว่า อันหนึ่งกกแนนเจ้าขูลูบาบ่าวทังอ่อนน้อยยังเกี้ยวกอดกันบ่เด (ขูลู). the same spouse of many reincarnations. "
พระนางจันทาจึงจัดให้มีพิธีการเสี่ยงทาย "เสี่ยงสายแนน" (แนน หมายถึง รกห่อหุ้มทารกแรกเกิด) ซึ่งเชื่อกันว่า ทุกคนจะมีสายรกพัวพันกันอยู่บนเมืองแถน (สวรรค์) ก่อนมาเกิดบนโลกมนุษย์ และต้องเป็นคู่กันตามสายแนนนั้น ถ้าแต่งงานผิดสายแนนจะต้องหย่าร้างกัน และให้คนทรงทำพิธีเซ่นไหว้ “พระยาแถน” (พระอินทร์) และนำของไปถวายพระยาแถน เพื่อขอดูสายแนนของท้าวขูลูและนางอั้ว
เมื่อเสี่ยงสายแนนก็พบว่า "สายแนนของทั้งคู่นั้น กอดเกี่ยวพันกันแน่นในส่วนต้น แต่ปลายนั้นกลับหันหนีแยกออกจากกัน จึงทำนายว่า ทั้งคู่นั้นเป็นคู่กัน แต่จะคู่กันได้ไม่นานต้องตายจากกัน" นอกจากนี้ยังพบว่า "สายแนนของท้าวขูลูนั้น มีแท่นทองอยู่ด้วยแสดงว่าเป็น 'พระโพธิสัตว์' ลงมาเกิด" เมื่อผลออกมาดังนี้แล้ว พระนางพิมพากาสีจึงยกทัพกลับเมืองกาสีไปพร้อมกับท้าวขูลู ทำให้ท้าวขูลูเสียใจมาก
พระนางจันทาจึงจะจัดงานแต่งงานให้ขุนลางกับนางอั้ว นางอั้วนั้นคับแค้นใจและเสียใจเป็นอย่างมาก จึงตัดสินใจหนีออกจากปราสาท และหวังจะไปผูกคอตายเพื่อหนีการแต่งงานในครั้งนี้ เมื่อนางอั้วมาถึงป่า นางก็พบกับต้นจวงจันทน์ แต่จะไปผูกต้นไหนๆ ต้นจวงจันทน์ก็ไม่โน้มกิ่งลงมาให้ผูกสักต้น นางอั้วจึงเดินไปหาต้นจวงจันทน์ที่มีผีอาศัยอยู่ ต้นจวงจันทน์ต้นนั้นจึงโน้มกิ่งลงมา เมื่อต้นจวงจันทน์โน้มลงมาแล้ว นางอั้วก็ได้อธิษฐานว่า "เกิดชาติหน้าฉันใดก็ขอให้เกิดมาเป็นคู่กับท้าวขูลู" แล้วนางก็ผูกคอตาย
เมื่อพระนางจันทามาหานางอั้วที่ปราสาทไม่พบ จึงสั่งให้คนออกตามหา และเมื่อไปถึงก็พบว่านางอั้วนั้นได้สิ้นลมหายใจไปเสียแล้ว พระนางจันทาเสียใจเป็นอย่างมากจนถึงขั้นเป็นลมสลบไป เมื่อท้าวขูลูทราบข่าวการตายของนางอั้ว จึงใช้พระขรรค์แทงตัวตายตามนางอั้วไป พระนางพิมพากาสีทราบข่าวก็เศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก
พระนางจันทาและพระนางพิมพากาสีจึงจัดพิธีเผาศพท้าวขูลูกับนางอั้วพร้อมกัน เมืองสองเมืองจึงหันกลับมามีสัมพันธไมตรี ผูกพันเป็นมิตรกันตามเดิม และเมื่อท้าวขูลูกับนางอั้วตายไปวิญญาณของทั้งคู่ก็ไปพบกัน และครองคู่กันบนสวรรค์ อวสาน...
แต่อีกสำนวนหนึ่งกล่าวว่า...
หลังการเสี่ยงสายแนน เมื่อพระนางจันทาทราบว่า สายแนนของทั้งคู่นั้นกอดเกี่ยวพันกันแน่นในส่วนต้น แต่ส่วนปลายนั้นกลับหันหนีแยกออกจากกัน จึงทำนายว่า ทั้งคู่นั้นเป็นคู่กัน แต่จะคู่กันได้ไม่นานต้องตายจากกัน พระนางจันทาก็เร่งรัดให้มีการอภิเษกสมรสระหว่าง "ขุนลาง กับ นางอั้ว" ให้เร็วขึ้น
ฝ่ายนางอั้ว ซึ่งรักอยู่กับท้าวขูลู ไม่ว่าผลการเสี่ยงทายสายแนนจะออกมาอย่างไรก็ตาม นางก็ยืนยันจะแต่งแต่กับท้าวขูลูเท่านั้น
ท้าวขูลูโศกเศร้าเสียใจและทุกข์ทรมานมาก จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ เมื่อทราบข่าวพิธีวิวาห์นั้น
ซึ่งนางอั้วก็เช่นเดียวกัน นางอั้วจึงให้คนส่งข่าวไปหาท้าวขูลู ให้มาหานางก่อนพิธิอภิเษกสมรส โดยให้รอพบกันที่อุทยานที่ทั้งคู่ได้พบกัน และบอกรักกันในคราวก่อนโน้น เมื่อท้าวขูลูทราบเช่นนั้นก็รีบเดินทางมาหานางในทันที
ทั้งคู่ได้แอบพบกันก่อนที่จะเริ่มงานอภิเษกสมรสหนึ่งวัน ทั้งคู่ต่างคร่ำครวญร่ำไรรำพันปริ่มว่าจะขาดใจ และทั้งคู่ก็ได้เสียเป็นของกันและกันในราตรีนั้น
เมื่อพระนางจันทาทราบว่า นางอั้วแอบมาพบกับท้าวขูลูที่อุทยาน ก็ตามมาพรากตัวนางไป และดุด่าว่ากล่าวนางอั้วต่างๆ นานา นางอั้วเสียใจและทุกข์ทรมานในรักที่ไม่สมหวังมากยิ่งนัก ซึ่งในวันรุ่งขึ้นก็จะเข้าพิธีอภิเษกกับขุนลางแล้ว นางจึงตัดสินพระทัยผูกคอตายในห้องบรรทมของนาง ในคืนนั้นเอง พอรุ่งเช้าจะทำพิธีแล้วแต่นางอั้วยังไม่เสด็จออกมาก็เลยต้องให้คนไปตาม อนิจจา!
ฝ่ายท้าวขูลู เมื่อทราบข่าวว่า นางอั้วผูกคอตายแล้ว ก็โศกเศร้าเสียใจ ทุกข์ทรมานและอาลัยรักนางมาก จึงถอดพระขรรค์ออกจากฝักแล้วก็แทงพระศอ (คอ) ตัวเองตายตามนางไปที่เมืองกายนครนั้นเอง
ฝ่ายขุนลาง เมื่อทราบข่าวร้ายนั้นก็ตกใจมาก และเมื่อลงจากหลังช้างทรงในขบวนขันหมาก ทันทีที่พระบาทแตะพื้นดิน แผ่นดินนั้นก็ได้แยกออกสูบเอาขุนลางลงสู่นรกในบัดดล
สำนวนหลังนี่เอง ที่ไปคล้ายกับบทละคร "โรมีโอ และจูเลียต" ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ จนได้ชื่อว่า "ขูลู-นางอั้ว : โรมีโอ-จูเลียต อีสาน"
ขูลู-นางอั้ว The Musical โดย หมอลำนามวิหค
“กฎแห่งกรรม” คือในสมัยอดีตชาตินั้น เนื่องจากท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยม ได้ก่อเวรไว้จึงต้องมาใช้เวรกรรมในชาตินี้ คือไม่สมหวังในความรักนั้นเอง เพราะเมื่อชาติก่อนท้าวขูลูเป็น “เจ้าเมืองเบ็งชอน” (บัญชร) นางอั้วเคี่ยมเกิดเป็นมเหสีชื่อว่า “นางดอกซ้อน”
ในคราวหนึ่งนั้น มีผัวเมียคู่หนึ่งที่ไม่ยำเกรงนางดอกซ้อน ทำให้นางโกรธมาก จึงฟ้องเจ้าเมืองให้ลงโทษคนคู่นี้ เจ้าเมืองได้สั่งไม่ให้เป็นผัวเมียกัน หากพี่น้องคนใดชักนำให้มาอยู่กินเป็นผัวเมียกันอีกจะถูกประหาร ทำให้ทั้งคู่เสียใจมาก ฝ่ายเมียได้ผูกคอตาย ส่วนผัวนั้นใช้มีดแทงคอตนเองตายตาม ซึ่งเวรกรรมนี้จึงตามสนองท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยม ในชาตินี้นั้นเอง
ท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยม ได้ไปเกิดบนสวรรค์ทั้งสองคน และได้พบกันเป็นสามีภรรยากันบนสวรรค์ ส่วนเมืองกาสีและกายนครบนโลกมนุษย์นั้น ก็ได้จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพให้กับทั้งสอง โดยเผาศพคนทั้งสองพร้อมกัน และได้สร้างพระธาตุบรรจุอัฐิทั้งสองไว้ ณ ที่เดียวกัน แล้วทั้งสองเมืองก็กลับมาสมัครสมานสามัคคีกันดังเดิม ซึ่งวิญญาณของท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยม ได้แสดงอภินิหาริย์ให้ผู้คนชาวเมืองได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ
สิ่งที่เล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณ ที่ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะบอกลูกหลานว่า “ดักแด้ขูลู” ตัวหนอนที่ม้วนอยู่ในใบตอง (ใบกล้วย) ก็คือท้าวขูลู ในอดีตชาติ [ อ่านเพิ่มเติมเรื่อง : อาหารอีสานแปลกๆ ] ส่วนนางอั้ว ได้เกิดเป็นต้นดอกไม้งาม และมีกลิ่นหอมคือ “ต้นดอกนางอั้ว” ซึ่งชาวพื้นบ้านอีสานและชาวลาวเรียกกันว่า “ดอกสะเลเต” ในภาคกลางของไทยเรียก “ดอกมหาหงษ์” ส่วนทางภาคเหนือเรียก “ดอกสะบันงา” นั้นเอง
อ้างอิง
นิทานพื้นบ้านอีสานเรื่องนี้เป็นตำนานเกี่ยวกับฟ้าฝน และการทำนา ซึ่งชาวอีสานเชื่อถือ จนกระทำพิธีกรรมตามฮีตเดือนหก คือ "บุญบั้งไฟ" ตามความเชื่อแห่งนิทาน "พญาคันคาก" ที่เล่าสืบต่อกันมา คำว่า "คันคาก" ในภาษาอีสานนั้นแปลว่า "คางคก" ส่วนเรื่อง "พญาคันคาก" เป็นพระชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ที่เสวยชาติมาเป็นคางคก และเป็นต้นกำเนิดของประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็น "บุญเดือนหก" หนึ่งใน "ฮีตสิบสอง-คองสิบสี่" ของชาวอีสาน
ณ เมืองแห่งหนึ่งชื่อ "เมืองชมพู" มีเจ้าเมืองชื่อ พระเจ้าเอกราช และพระมเหสี คือ พระนางสีดา ครองเมืองด้วยความร่มเย็นเป็นสุข กาลครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ได้จุติลงในครรภ์พระนางสีดา ขณะที่พระนางสีดามีประสูติกาลพระโอรสนั้น ดินฟ้าอากาศเกิดอาเพศสะเทือนเลือนลั่น เมฆหมอกมัวหม่นบนท้องฟ้า บดบังทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ฟ้าฝนหล่นห่าลงมาเป็นที่อัศจรรย์ พญาเอกราชจึงให้โหราจารย์มาทำนายทายทักว่า "เกิดเหตุอาเพศใด"
โหราจารย์ทำนายว่า "พระกุมารที่กำเนิดมาถึงจะมีรูปร่างเป็นคางคกสัตว์เดรัจฉานก็อย่าได้ประมาท หมิ่นนินทาว่ากล่าวตำหนิติเตียน ขอให้บำรุงเลี้ยงดูให้จงดี ต่อไปภายภาคหน้าจะเป็นผู้มีบุญ มีอำนาจวาสนา เป็นที่พึ่งของทวยราษฎร์ทั้งปวง"
ภาพวาดประกอบโดย ทวีศักดิ์ ใยเมือง (2547)
และก็เป็นดั่งคำทำนาย นางสีดาได้ให้กำเนิดโอรสลักษณะแปลกประหลาด คือผิวกายเหลืองอร่ามดั่งทองคำ แต่เป็นตุ่มตอเหมือนผิวคางคก คนทั้งหลายจึงขนานนามพระกุมารว่า ท้าวคันคาก (คันคาก แปลว่า คางคก) พระบิดามารดาแม้จะไม่พอใจ แต่ก็เมตตาสงสารเลี้ยงไว้
จนเมื่อเติบโตเป็นหนุ่มใหญ่ พระกุมารประสงค์จะได้พระชายาที่มีสิริโฉมงดงาม แต่พญาเอกราชได้ห้ามปรามไว้ ด้วยทรงอับอายในรูปกายของท้าวคันคาก แต่ท้าวคันคากก็ไม่ย่อท้อ ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากพระอินทร์ ด้วยบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนของท้าวคันคาก พระอินทร์สงสาร จึงได้ช่วยเหลือโดยการเนรมิตปราสาทแก้วไว้ใจกลางเมืองชมพู พร้อมทั้งประทาน "นางอุดรกุรุทวีป" ผู้เป็นเนื้อคู่แต่ชาติปางก่อนมาไว้ในปราสาท แล้วชุบให้ท้าวคันคากกลายเป็นชายหนุ่มรูปงาม ทั้งสองจึงได้อภิเษกสมรสครองคู่กันในราตรีนั้น
ครั้นรุ่งเช้าก็เป็นเรื่องร่ำลือกันอื้ออึงไปทั้งเมืองชมพู ไพร่บ้านพลเมืองพิศวงงงงวยที่จู่ๆ ก็ได้เห็นคุ้มหลวงปราสาทแก้วมาตั้งตระหง่านกลางพระนคร นางสีดากับพญาเอกราชตื่นขึ้นมาเห็นคุ้มหลวงในเวียงวังก็ประหลาดใจ ครั้นเดินไปดูใกล้ๆ ก็พบหนุ่มรูปงามเหมือนสังข์ทองถอดรูปเงาะ มีนางเมืองเคียงข้างเหมาะสมกันยิ่งนัก แต่เมื่อเอ่ยวาจาขึ้นมานางสีดาก็จำเสียงได้ว่าเป็นเสียงลูกชายคางคกของพระองค์ จึงถามลูกชายว่า "เมื่อเจ้ายังเล็กรูปร่างหน้าตาดังคางคก บัดนี้เป็นคนรูปร่างงดงามเช่นนี้แล้ว เจ้าเอารูปร่างเดิมของเจ้าไว้ที่ใด"
ท้าวคันคากจึงได้หันกลับเข้าไปยกเกราะทองคำรูปคางคกให้พระบิดา-มารดาได้เห็น เมื่อประจักษ์แก่สายตาของทุกผู้คนพลเมืองแล้ว ต่างก็สรรเสริญบุญญาธิการของท้าวคันคาก พญาเอกราชนั้นยินดีกับพระโอรสของพระองค์ จึงสละราชบัลลังก์ให้ครองบ้านเมืองสืบต่อไป ทรงพระนามว่า "พญาคันคาก"
พญาคันคากตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม มีเดชานุภาพเป็นที่เลื่องลือ จนเมืองน้อยใหญ่ต่างเข้ามาสวามิภักดิ์ แต่ก็ทำให้มีผู้เดือดร้อน คือ "พญาแถน" ผู้อยู่บนฟากฟ้า เพราะมนุษย์หันไปส่งส่วยให้กับพญาคันคากจนลืมบูชาพญาแถนเสียสิ้น
ด้วยเหตุอันนี้ พญาแถนจึงได้กลั่นแกล้งด้วยการสั่ง "พญานาค" งดมิให้ไปให้น้ำในฤดูทำนา ฝนฟ้าจึงไม่ตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองมนุษย์จึงเกิดความแห้งแล้ง อดอยาก ข้าวยากหมากแพง ชาวเมืองทั้งหลายจึงไปร้องขอ "พญาคันคาก" ให้ช่วย
พญาคันคาก เห็นความทุกข์ยากของไพร่บ้านพลเมือง ก็มุดลงไปเมืองบาดาลของพญานาค แล้วไต่ถามความนัยว่า "เหตุไฉนถึงเกิดภัยแล้งแห้งน้ำมานานปีเช่นนี้"
พญานาค จอมบาดาล จึงบอกเหตุว่า "เพราะเหล่าผีฟ้า พญาแถนไม่ให้นาคทั้งหลาย ขึ้นไปเล่นน้ำบนสวรรค์เหมือนแต่ก่อน น้ำเลยไม่แตกฉาน ซ่านกระเซ็น กระเด็นกระดอน เป็นฝนฝอยหล่นลงมาเลี้ยงโลกมนุษย์ เมืองชมพู และบริวารเลยยากแค้นแสนกันดาร ด้วยแถนฟ้าเคืองรำคาญผู้คนที่ไม่บัตรพลีดีไหว้ มัวแต่ไปบังคมพญาคันคากผู้เดียวนั้นแล"
พญาคันคาก รู้ความตามจริงก็ยิ่งโกรธพิโรธนัก สั่งให้ "พญานาค" ผู้เป็นเมืองบริวารทำทางถนนจากเมืองชมพู ขึ้นไปเมืองแถนแดนสวรรค์ พญานาคพร้อมนาคบริวาร จึงพากันแผ่พังพานพวนขนด แล้วขดขนขุนภูเขาทุกเขตแคว้นแดนมนุษย์เอามาต่อเข้าด้วยกัน บรรดาปลวกระดมขนดินมาถมพอกภูเขา ให้เป็นทางถนน ด้นดั้นถึงเมืองแถนในทันที ฝูงพญานาค ครุฑยุดพญานาคมาพร้อมกัน พร้อมทั้งเกณฑ์กองทัพสัตว์มีพิษทั้งหลาย อันได้แก่ มด ผึ้ง แตน ตะขาบ แมงป่อง กิ้งกือ กบ เขียด เป็นอาทิ ทำทางและยกทัพขึ้นไปสู้กับพญาแถน
โดยส่งมด ปลวกไปกัดกินศัตราวุธของพญาแถนที่ตระเตรียมไว้ก่อน ทำให้เมื่อถึงเวลารบ "พญาแถน" จึงไม่มีอาวุธมาต่อสู้ แม้จะร่ายมนต์ ก็ถูกเสียงกบ เขียด ไก่ กา ร้องดังกลบเสียงมนต์คาถานั้นหมด พญาแถนจึงเสกให้งูมากัดกินพวกกบ เขียด แต่ก็โดนรุ้ง (เหยี่ยว) ของพญาคันคากจับงูมากิน ทั้งสัตว์มีพิษทั้งหลายก็ยังไปกัดต่อยพญาแถน
พญานาคกับพญาแถนรบรากันสนั่นหวั่นไหวคล้ายเสียงฟ้าร้อง จนกระทั่ง พญาแถนยกมือขึ้นบังคมพนมไหว้ยอมแพ้ ขอเป็นเมืองส่วยสุจริตแต่งน้ำฟ้า ห่าฝนหล่นลงเมืองมนุษย์ทุกปี แล้วร้องเชิญพญาคันคากเข้าเมืองแถน ในคุ้มหลวงเมืองแถน บรรดาบริวารพญาแถนทั้งลูก เมีย และนางท้าว ร้องขอต่อพญาคันคากที่นั่งเมืองแถนว่า "อย่าพิฆาตฟาดฟัน บั่นเกล้าชาวแถนเลย จะยอมเป็นข้าช่วงใช้ไปนิรันดร"
พญาคันคากนั้นมีใจเมตตา แล้วเจรจาว่ากล่าวอบรมบ่มนิสัยพญาแถนให้ประพฤติธรรม ต้องเอาใจใส่ดูแลทั้งชาวแถน และชาวมนุษย์จนสุดดินใจฟ้า ด้วยโลกนี้มีทั้ง ดิน หญ้าและฟ้าแถน ต้องพึ่งพาอาศัยกันมั่นคงถึงจะดำรงอยู่ได้ชั่วฟ้าดิน ถึงฤดูเดือนปีที่นาคต้องขึ้นมาเล่นน้ำบนฟ้าก็อย่าห้ามปราม เพราะนาคจะได้พ่นน้ำกระแทกคลื่น ดื่นดกตกเป็นฝอยฝนหล่นไปชุบเลี้ยงเอี้ยงดูหมู่มนุษย์ ทำไร่ไถนา ได้พืชพันธุ์ว่านยาอาหารอุดมสมบูรณ์
ถ้าไม่มีน้ำฟ้าน้ำฝน คนในเมืองมนุษย์สุดลำบาก จะได้ยากโหยหิวชิวหาดังราไฟ เมื่อไม่มีพืชพันธุ์ว่านยาอาหารเลี้ยงชีวังสังขาร แล้วจะเอาอะไรส่งสักการสังเวยให้แถนกินบนฟ้า แถนฟ้าก็ต้องเงือดงด อดตายไม่เป็นสุข นอกจากคนทั้งหลายแล้ว ในเมืองมนุษย์ยังมีพืชและสัตว์ ต้องอาศัยน้ำฝนน้ำฟ้าจากเมืองแถน ถ้าอนาถขาดแคลนเสียแล้ว ก็ต้องเดือดร้อนสารพัด ทั้งสัตว์และพืชเป็นล้นพ้น
เราเองพญาคันคาก คือ คางคกสัตว์ไม่มีขน ยังต้องดูแลเผื่อแผ่เกื้อหนุนฝูงมนุษย์ พี่น้องเราทั้งหมดก็ล้วนสัตว์บริสุทธิ์ ที่พิทักษ์รักษาผู้คนให้มีความสุขอุดมสมบูรณ์เสมอกัน ท่านซึ่งเป็นพญาแถนควรจดจำเป็นเยี่ยงอย่าง อย่าเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน แถนฟ้าต้องรักษาหน้าที่ ปล่อยน้ำฟ้าน้ำฝนให้ตกต้องตามฤดู ไม่อย่างนั้นจะขึ้นมาลงโทษอีกให้สาสม
พญาแถนถามว่า "จะรู้ได้อย่างไรว่า เมืองมนุษย์ต้องการน้ำตอนไหน เมื่อไร"
พญาคันคากตอบว่า "จะส่งสัญญาณให้พญานาคขี่บั้งไฟขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เมื่อได้ยินเสียง แล้วมองเห็นบั้งไฟมีหัวพญานาค ก็ให้ไขน้ำทำฝนหล่นลงเมืองมนุษย์ทันที ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว ถ้าได้ยินเสียงสะนูว่าวหรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตก เพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว พร้อมขอบคุณที่ท่านส่งฝนลงมาให้ได้ทำนา" พญาแถนน้อมรับคำสั่งสอนของพญาคันคากทุกอย่าง แล้วสั่งให้ไพร่พลลูกเมียเตรียมสำรับกับข้าว เลี้ยงดูกองทัพทั้งปวง
พญาคันคากนั้นไม่รู้จักข้าว เลยถามว่า "มันคืออะไร"
พญาแถนบอกว่า "เมืองฟ้าเมืองแถนมีข้าวปลูกไว้กินเป็นข้าวหอมอร่อยมาก แล้วอธิบายสรรพคุณยืดยาว..."
ภาพวาดประกอบโดย ทวีศักดิ์ ใยเมือง (2547)
พญาคันคากเลยสั่งให้พญาแถนเอาข้าวลงไปปลูกในเมืองมนุษย์ "โดยให้รวงข้าวให้ยาวแค่วา เมล็ดข้าวเท่ามะพร้าว ต้นข้าวเท่าลำตาลก็พอแล้ว"
พญาแถนรับคำ แล้วบอกเพิ่มเติมว่า "ข้าวพวกนี้เมื่อโตเต็มที่เมล็ดข้าวจะหล่นจากรวงเอง แล้วจะแล่นไปเข้ายุ้งฉางข้าวเอง ขอให้มนุษย์ทำ ยุ้งฉางเยียข้าว คอยไว้เท่านั้น"
เมื่อสำเร็จเสร็จสรรพ อิ่มหนำสำราญแล้ว พญาคันคากก็พาสารพัดสรรพสัตว์ ไพร่พลทั้งหลาย ลงจากเมืองแถนแดนฟ้า กลับสู่แดนดินเมืองชมพูตามเส้นทางเดิมที่ปลวกทำไว้
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในทุกๆ เดือนหกซึ่งเป็นช่วงเริ่มฤดูทำนา ชาวอีสานจึงมีประเพณีบุญบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถน เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกตลอดฤดูเพาะปลูก และเมื่อพญาแถนประทานฝนลงมาถึงพื้นโลกแล้ว บรรดากบ เขียด คางคก ที่เป็นบริวารของพญาคันคาก ก็จะร้องประสานเสียงกันเพื่อแสดงความขอบคุณต่อพญาแถน
ครั้นเมื่อ "พญาคันคาก" ละร่างคางคกรูปคนสิ้นอายุขัยแล้วสวรรคต เมื่อช้านานกาลกำหนดความอุดมสมบูรณ์ก็เริ่มประหลาด ผู้คนในชมพูทวีปต่างประมาทขาดสำรวม จนเรรวนแล้วเกียจคร้าน เหตุเพราะความสะดวกสบายที่พญาแถนบันดาล ผู้คนลืมทำ ยุ้งเลียเล้าข้าวให้พร้อมเสร็จตามเวลากำหนด เมื่อเมล็ดข้าวสุก จึงหล่นเรี่ยราดตามนาไร่ เมื่อไม่มีที่อยู่ก็บินหาที่พำนักในเรือนนอนของผู้คน เขาก็พากันเอาพร้า มีด ขวาน โขกสับเมล็ดข้าวจนปี้ ป่น แตก ตัด กระจัดกระจาย เหลือเมล็ดเท่ากรวดทรายกระจิริดตั้งแต่นั้นมา
ทางถนนที่ปลวกทำไว้ให้พญาคันคากขึ้นไปหาฟ้าแถนแต่ก่อน มีเครือเขากาดเกี่ยวพันแน่นหนาไม่สั่นคลอน ถาวรเป็นนิรันดรให้ผู้คนสัญจรไปมา พญาแถนพิจารณาว่า "มนุษย์ไม่ซื่อตรง ล้วนลุ่มหลงแต่ความสบาย บริโภคซึ่งพิษภัย เบียดเบียนกันเองไม่เกรงใคร เหมือนปลาใหญ่กินปลาเล็กทุกบริเวณ" ผีฟ้าพญาแถนก็ "ก่งคันศรร่อนธนูสู่ทางถนนเครือเขากาด" หนทางปลวกของพญาคันคากก็ขาดสะบั้น ถล่มทลาย กระจาย เป็นภูดอยน้อยใหญ่ในชมพูทวีปแต่นั้นมา
ผีฟ้าพญาแถนแดนสวางสวงสังเวียนบนสวรรค์ ก็ลงโทษทัณฑ์มนุษย์ทั้งหลายที่มักเกียจคร้าน จึงไม่ปลุกพันธุ์ข้าวทิพย์ให้มนุษย์เหมือนแต่ก่อน มนุษย์ต้องหักร้างถางพงในดงดอน แล้วถางไถปลูกข้าวกินเองอย่างทุกข์ทรมานแต่นั้นมา
"พญาคันคาก" จากไป "พญาแถน" ก็ไม่กลับมา ฤดูเดือนเคลื่อนที่ไม่คงทน น้ำฟ้าน้ำฝนขาดตกบกพร่อง แม่น้ำลำคลองเน่าเหม็นเป็นอันตราย สุมทุมพุ่มไม้ป่าดงพงไพรพินาศ ล้วนมีเหตุจากความประมาทของมนุษย์ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้
แม้นจะจุดบั้งไฟส่งสัญญาณร้องขอไปเพียงใดก็ไม่เป็นผล ฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ซ้ำยังเลื่อนวันเดือนปีไปไม่เหมือนเคยอีกแล้ว
อ้างอิง :
รวมผญา สุภาษิต และคำสอย
กลอนลำ
เพลงลูกทุ่งอีสาน มาเข้าใจความหมายของคำภาษาอีสานในเพลงลูกทุ่ง
ภาษาอีสานแยกตามหมวดอักษร
กลอน ภาษิตโบราณอีสาน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)