foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

nok hasadee link

ตำนานนกหัสดีลิงค์ (ต่อ)

คำว่า นกหัสดีลิงค์ นี้ เป็นชื่อนกใหญ่ชนิดหนึ่งในเทวนิยายว่า อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ รูปตัวส่วนใหญ่เป็นนก เว้นแต่จงอยปากเป็นงวงอย่างงวงช้าง ชื่อนกหัสดีลิงค์ไม่ค่อยปรากฎในเทวนิยาย คนส่วนมากทราบเรื่องนกขนาดใหญ่ในนิยายก็มี เช่น หงส์ พญาครุฑ นกหัสดิน สำหรับนกหัสดิน รูปร่างเป็นนกทั้งตัวใหญ่โต ขนาดโฉบเฉี่ยวเอาช้างในป่าไปกินเป็นอาหารได้ ไม่เกี่ยวโดยตรงกับนกหัสดีลิงค์

นกที่มีจงอยปากเป็นงวงช้างนี้ ปรากฏในภาษาบาลีว่า หัตดีลิงค์สกุโณ (หัตดี คือ ช้าง ลิงค์ แปลว่า เพศ สกุโณ แปลว่า นก) ในภาษาสันสกฤต คือ หัสดิน ลิงคะ แปลอย่างเดียวกัน ไทยเลือกใช้คำว่า หัสดีลิงค์ แปลกที่คำนี้ไม่มีในปทานุกรม กรมตำรากระทรวงธรรมการ พิมพ์ พ.ศ. 2470 ไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 และ พ.ศ. 2525 ค้นคว้าต่อไปพบในอักขราภิธานศรันท์ ของหมอปรัดเล พิมพ์ พ.ศ. 2416 หน้า 328 และพบในปทานุกรม บาลีไทย-อังกฤษ-สันสกฤต ของกรมพระจันทบุรีนฤนาถ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2513 หน้า 867 หรือแม้ในบาลีสยามอภิธานของนาคะประทีป เรียบเรียงไว้ พ.ศ. 2465 ก็มีปรากฏคำนี้อยู่ แสดงว่าคนไทยเรารู้จักคำนี้มานาน

nok hasadee link 02

นกหัสดีลิงค์ เป็นชื่อเต็มๆ ของนกประเภทนี้ แต่ในล้านนานั้นเรียกเพียงสั้นๆ ว่า “นกหัส” ส่วนชื่ออื่นที่ปรากฏก็มีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “หตฺถิลิงฺคสกุโณ” ซึ่งเมื่อแปลออกมามีความหมายว่า นกมีเพศเหมือนช้าง เรื่องราวของนกหัสดีลิงค์นี่ไม่ปรากฏชัดเจนเฉพาะเรื่อง แต่พอจะประมวลได้จาก นิทานชาดกบ้าง ตำราสัตว์ป่าหิมพานต์บ้าง เมื่อสรุปจะได้ความสังเขปว่า นกหัสดีลิงค์นี้เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ลำตัวเป็นนก มีปีก มีหางอย่างนก แต่มีหัวเป็นช้าง มีลำตัวที่ใหญ่อีกทั้งมีกำลังเทียบเท่าช้าง 5 เชือกมารวมกัน นกหัสดีลิงค์ที่ว่านี้นั้นน่าจะถือกำเนิดในอินเดียก่อนแล้ว จึงแพร่เข้ามาในดินแดนล้านนาดังปรากฏในหนังสือของ ส.พลายน้อยว่า เรื่องนกประหลาดในวรรณคดี หรือนิยายปรัมปรานี้มีอะไรแปลกๆ เป็นเรื่องที่น่าคิดเล่น ชื่อนกในนิยายชองชาติต่างๆ ที่พบจะเทียบเคียงกันได้ก็มีนกเฮาะของจีน นกร้อคของอาหรับ และนกรุค (rukh) ซึ่งท่านผู้รู้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอย่างเดียวกัน

เพราะตามเรื่องก็ว่า เป็นนกใหญ่มีอำนาจไม่ผิดอะไรกันนัก ขุนวิจิตรมาตราได้เล่าถึงเรือง นกเฮาะ ไว้ว่า ในทะเลเหนือของจีน มีนกมหึมาเรียกว่า ไต้เฮาะ รูปร่างใหญ่โตมหึมาเหลือประมาณ ถึงเดือน 6 หน้าคลื่นลม นกเฮาะจะกางปีกออกปกฟ้ามิด เริ่มวิ่งฝ่าระลอกคลื่นเป็นระยะไกล 3,000 ลี้ก่อน แล้วก็โผทยานขึ้นสู่อากาศเป็นระยะสูง 9,00 ลี้ บินมาอาศัยอยู่ในเกาะมลายู นกเฮาะฝรั่งว่าเป็นนกที่เรียกว่า นกรุค (rukh) ถ้าเป็นนกรุคก็ตรงกับนกร้อค (roc) ตามที่มีในอาหรับราตรี เมื่อเช่นนี้นกเฮาะก็เห็นจะเป็นนกร้อคนั่นเอง เสียงเฮาะกับร้อคเข้ากันได้ดีอาจจะเป็นคำเดียวกัน แต่หากเรียกเพี้ยนกันไปตามสำเนียงแขกและสำเนียงจีน

nok hasadee link 13

นิยายเรื่องนกร้อคของอาหรับเล่าว่า นกร้อคเป็นนกใหญ่อยู่ในเกาะทางทะเลจีน คราวหนึ่งพวกเดินทะเลไปจอดทอดสมออยู่ที่เกาะแห่งหนึ่ง ได้ขึ้นไปบนเกาะและพบไข่เข้าฟองหนึ่ง มีขนาดใหญ่มาก จึงเอาขวานผ่าออกพบลูกนกขนาดมหึมาอยู่ข้างใน ก็เอาไปทำเป็นอาหารเลี้ยงกัน คนที่กินเข้าไปปรากฏว่า ผมหงอกกันหมด คนที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยหนวดเคราดำเป็นมัน

พอรุ่งเช้านกร้อคกลับมารู้ว่าพวกเดินเรือกินลูกของมันก็โกรธ มันขนก้อนหินมาทุ่มจนเรือแตกจมทะเล เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความใหญ่โตเก่งกาจของนกร้อค ซึ่งก็เห็นจะพอๆ กันกับนกรุคที่เล่ามาแล้ว ตามภาพเขียนของเปอร์เซียแสดงให้เห็นกำลังของนกรุคที่สามารถใช้เท้าจับช้าง ได้ข้างละตัวและที่ปากยังคาบช้างได้อีกตัวหนึ่ง นกร้อคกับนกรุคจึงน่าจะเป็นตัวเดียวกันอย่างแน่นอน

การที่เล่าเรื่องนกเฮาะ นกรุค และนกร้อค เท่าที่จะมีเรื่องกล่าวเท้าความถึง ก็เพื่อให้นำมาเปรียบเทียบกับ นกหัสดีลิงค์ ว่า เป็นนกที่ใหญ่โตเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะเป็นนกชนิดเดียวกันก็ได้ แต่เมื่อนำมาเขียนเป็นรูปภาพก็แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ความนึกคิด

nok hasadee link 04

ความเข้าใจอย่างช่างเขียนจะกำหนดให้เป็นอย่างไร ส่วนเรื่องของนกหัสดีลิงค์ที่ ปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนกในการสร้าง เมืองหริภุญชัย ว่า พระวาสุเทพดาบส ถึงกล่าวว่า เราควรสร้างนครในสถานที่นี้ แต่นครอันเราจักสร้างนี้จักควรตั้งเป็นรูปทรง สัณฐานดังใดฤาจะดี พระสุกทันตฤาษีจึงกล่าวว่า เมื่อครั้งอนุสิษฏฤาษีสหายแห่งเราสร้างเมืองหฬิทวัลลี (เมืองสัชนาลัยสวรรคโลก) นั้นวางสัณฐานเมืองดังรูปเกล็ดหอย เมืองนั้นคนทั้งหลายอยู่เป็นสุขเกษม สำราญยิ่งนัก เราจะสร้างนครครั้งนี้ควรจะเอาเยี่ยงนั้น พระวาสุเทพดาบสจึงว่า ทำไฉนจึงจักได้เกล็ดหอย ในตำนานลำพูนว่า พระดาบสทั้งสองไปเองสู่สำนักพระอนุสิษฏฤาษี

พระอนุสิษฏฤาษี ปฏิสันถารต้อนรับกันแล้ว พระดาบสทั้งสองก็แจ้งยุบลเหตุอันมีประสงค์นั้นแก่พระอนุสิษฏสหายแห่งตน พระอสุสิษฏดาบสก็รับจะจัดหาหอยสังข์หรือเกล็ดหอยส่งไปให้ ครั้นพระดาบสทั้งสองลากลับไปแล้ว พระอนุสิษฏดาบสจึงให้นกหัสดีลิงค์ไปยังมหาสมุทร นำเอาหอยสังข์ขนาดใหญ่มาได้ แล้วก็ให้นำหอยนั้นไปส่งแก่พระดาบสทั้งสอง ยังสถานที่อันจะสร้างนครนั้น จากพงศาวดารการสร้างเมืองลำพูนจะเห็นได้ว่า นกหัสดีลิงค์ก็มีส่วนช่วยในการสร้างเมืองแก่ฤาษีทั้งสอง

ทั้งนี้เนื่องด้วย เป็นนกที่มีขนาดลำตัวที่ใหญ่มีกำลังมากมายสามารถนำเอาสิ่งที่ เกินวิสัยของสัตว์ทั่วไปจะพึงกะทำได้นำมาให้แก่ฤาษีทั้งสอง การรับรู้เรื่องสัตว์หิมพานต์เป็นสิ่งที่มีอยู่ในความเชื่อของคนล้านนามาแต่โบราณ บางทีอาจจะมีมาก่อนที่จะยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาก็อาจเป็นไปได้ เมื่อได้หันมานับถือพุทธศาสนาแล้วก็แปลงความเชื่อที่มีต่อสัตว์ศักดิ์สิทธิ์นั้น เข้ามารับใช้คติในทางพุทธศาสนา แล้วในประวัติพุทธศาสนาเองก็ดี วรรณกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนาเองก็ดี ก็เอ่ยถึงสัตว์เหล่านั้นด้วย ที่บางครั้งก็มาช่วยเหลือพระพุทธเจ้า ช่วยเหลือเหล่าพระสาวก จึงไม่แปลกที่จะเราจะเห็นสัตว์ประเภทต่างๆ ที่มีรูปร่างไม่เหมือนกับสัตว์ที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงปรากฏอยู่ตามศาสนสถาน ไม่เว้นแม้แต่จะนำเข้ามาใช้ในพิธีกรรมแห่งความตาย อย่างนกหัสดีลิงค์นั้นถ้าหากจะกล่าวว่าจริงๆ แล้วในตำนานก็ดีในหนังสือทางศาสนาก็ดีต่างก็บอกถิ่นที่อยู่ลักษณะของนกหัสดีลิงค์ไว้ดังนี้ว่า นกชนิดนี้มีถิ่นที่อยู่ ณ เชิงเขาพระสุเมรุ ณ สถานที่นั้นเองเป็นป่าไม้ที่ชื่อว่า หิมพานต์ นิสัยของนกหัสดีลิงค์ชอบที่จะกินของสดๆ เป็นอาหาร

ส่วนสำเนียงเสียงร้องของนกชนิดนี้ ในหนังสือสัตว์หิมพานต์กล่าวไว้ว่า "หัสดีลิงค์ก็โผผินส่งเสียงสำเนียงฟังวังเวงใจ” สำหรับรูปร่างของนกชนิดนี้มีลักษณะของการผสมกันระหว่างช้างกับนก โดยมีลักษณะที่หัวเป็นช้าง ส่วนลำตัวเป็นนกทั่วๆ ไป แต่ทว่า นกหัสดีลิงค์นี้มีพละกำลังมากเท่ากับช้าง 5 ตัวรวมกันเลยทีเดียว ดังปรากฏอยู่ในหนังสือธัมมปทัฏฐคาถา ภาคที่ 2 โดยมีเรื่องเล่าไว้ว่า

nok hasadee link 07

ในอดีตมีเมืองอยู่เมืองหนึ่งชื่อว่า โกสัมพี เมืองนี้มีพระราชาทรงพระนามว่า พระเจ้าปรันตปะ ปกครองอยู่และทรงมีพระราชเทวีองค์หนึ่ง ซึ่งทรงพระครรภ์แก่องค์หนึ่ง ในวันหนึ่งพระราชากับพระเทวีทรงนั่งผิงแดดอุ่นอยู่ที่กลางแจ้ง พระราชาก็ได้ให้พระเทวีห่มผ้ากัมพลสีแดงของพระองค์ ขณะที่ทรงนั่งปราศรัยกันอยู่นั้น ก็ได้มีนกหัสดีลิงค์ตัวหนึ่งบินผ่านมาเห็น พระเทวีทรงห่มผ้ากัมพลสีแดง จึงชะลอปีกบินโผลงโดยนักหัสดีลิงค์เข้าใจว่า พระเทวีเป็นก้อนเนื้อฝ่ายพระราชาทรงตกพระทัยด้วยเสียงโผลงของนกหัสดีลิงค์ จึงเสด็จหนีเข้าสู่พระราชนิเวศน์

ส่วนพระเทวีไม่อาจจะเสด็จไปโดยเร็ว เพราะทรงพระครรภ์แก่ นักหัสดีลิงค์โผลงและจับพระนางไว้ในกรงเล็บแล้วก็บินขึ้นสู่อากาศ ธรรมดานกเหล่านี้มีกำลังเท่าช้าง 5 เชือก นกหัสดีลิงค์พาพระนางไปสู่ป่าหิมพานต์แล้ว ก็ไปจับที่ต้นไทรต้นหนึ่งเพื่อที่จะกินพระนาง จากสิ่งที่ปรากฏในตำนานก็ดีหรือหนังสืออื่นๆ ก็ดีต่างก็ยืนยันว่า นกหัสดีลิงค์นั้นเป็นนกที่มีการผสมกันระหว่างช้างบวกกับนก มีกำลังมากมายมหาศาลเท่ากับช้าง 5 ตัวมารวมกัน อาศัยที่ป่าหิมพานต์

ส่วนที่ว่า เมื่ออยู่ในป่าเหตุโฉนทำไมต้องเกี่ยวกับสวรรค์ชั้นดุสิต นี่เป็นปัญหาที่จะต้องวิเคราะห์กันต่อ เพราะในสวรรค์นั้นสัตว์เดรัจฉานนั้นไม่สามารถเข้าไปถึงได้ ส่วนการที่มีสัตว์อื่นๆ เช่น ช้างเอราวัณก็ดีแท้จริงแล้วเป็นการจำแลงตนของเทวดาเท่านั้น หรือแม้แต่เทวดาองค์อื่นๆ จะมีสัตว์เป็นพาหนะก็จะมีอยู่ในสถานที่ต่างหากไม่อยู่รวมกัน ถ้าหากต้องการใช้งานจึงเรียกหาดังนี้ เป็นต้น ถึงจะอย่างไรก็ตาม คนล้านนาก็ได้ยึดถือเอานกหัสดีลิงค์และสัตว์หิมพานต์ตัวอื่นๆ มาใช้ในการต่างศพของผู้มีบรรดาศักดิ์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

nok hasadee link 10

สาระสำคัญ

เจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี หรืออาญาสี่ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร ถือเป็นราชสกุลที่มาแต่เมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า เมื่อท่านเหล่านี้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ให้เชิญศพขึ้นเมรุรูปนกหัสดีลิงค์ หรือ นกสักกะไดลิงค์ แล้วชักลากออกไปบำเพ็ญกุศลที่ ทุ่งศรีเมือง เป็นเวลา 3 วัน จึงเผาศพ การทำศพแบบนักหัสดีลิงค์นั้น จำกัดเฉพาะกลุ่มเจ้านายอุบลฯ เท่านั้น ผู้ไม่ใช่เจ้านายไม่อนุญาตให้ทำศพแบบนี้ ระยะแรกการเผาศพทำที่ทุ่งศรีเมือง มาภายหลังเมื่อ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ปกครองเมืองอุบลฯ ให้ยกเลิกประเพณีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมืองเสีย และอนุญาตให้พระเถระผู้ใหญ่ที่ทรงคุณธรรม เมื่อมรณภาพให้จัดประเพณีการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ได้ด้วย

เครดิตและขอขอบคุณ ผู้เขียนต้นฉบับโดย นายตัวดี ท.ทิวเทือกเขา

สรุป

ในภูมิภาคเอเชียถือว่า ให้ความสําคัญกับการตายมากกว่าการเกิด ซึ่งแตกต่างกันกับชาติตะวันตก จุดใหญ่ที่เป็นการพิสูจน์ถึงความเชื่อขั้วตรงข้ามคือ การนับศักราช ข้อแตกต่างการนับศักราชแบบของพุทธศาสนาคือ นับเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว 3 เดือน แต่ทางคริสต์ศาสนานั้นเริ่มนับเมื่อพระเยซูประสูติ ด้วยความแตกต่างดังกล่าว จึงเป็นตัวกําหนดพิธีกรรมและการให้ความสําคัญต่อสิ่งๆ นั้น แตกต่างกันออกไป

วัฒนธรรมการปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์ เป็นความเชื่อโบราณในแถบลุ่มแม่น้ําโขง เริ่มตั้งแต่ เมืองเชียงรุ้งแสนหวี แคว้นสิบสองปันนา ล้านนาเชียงใหม่ ล้านช้างหลวงพระบาง ดินแดนจําปาสัก เรื่อยจนถึงดินแดนอีสาน ซึ่งแต่ละแห่งล้วนมีผู้ครองนคร ก่อนที่จะมีการกั้นอาณาเขตด้วยระบบการเมืองการปกครองแบบสมัยใหม่ อาณาจักรเมื่อครั้งเก่าก่อนนั้น มีการผสมผสานกันโดยเฉพาะด้านประเพณีความเชื่อ ยิ่งถ้าเป็นเชื้อชาติเดียวกันด้วยนั้นรากแก้วแห่งความเชื่อดั้งเดิมย่อมยังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน ถึงแม้รายละเอียดปลีกย่อยจะแตกต่างไปบ้าง เมื่อเรามองตํานานนกหัสดีลิงค์ที่ปรากฏ โดยเฉพาะรูปลักษณ์ก็ไม่แตกต่างกัน ล้วนมีลักษณะหัวเป็นช้าง ตัวเป็นนกตามจินตนาการ ซึ่งเป็นความเชื่อที่คนบางกลุ่มเชื่อว่ามี เช่นเดียวกับความเชื่อเรื่องพระยานาค ความเชื่อเช่นนี้เป็นการยากที่จะพิสูจน์ชัดว่ามีอยู่จริงหรือไม่ และไม่มีเหตุผลจําเป็นที่ต้องพิสูจน์ เพราะความเชื่อเช่นนี้จะมีตัวพิธีกรรมและตํานานรองรับมากมาย เป็นสิ่งที่สังคมได้สถาปนาขึ้นเพื่อเหตุผลทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งถือเป็นการควบคุมสังคมอย่างหนึ่งให้เกิดความสงบสุขและสามัคคีกลมเกลียวกัน ส่งผลให้เกิดการขัดเกลาทางสังคมโดยอาศัยความเชื่อให้ลูกหลานมี หิริโอตัปปะ ไม่ดื้อด้านหยาบโลนหรือเป็นผู้ที่ลุแก่คําาสอนของผู้อาวุโส

การขัดเกลาดังกล่าวล้วนส่งผลต่อการปกครองในราชอาณาจักรนั้นๆ เนื่องจากมีความเชื่อเป็นแบบแผนสําคัญในการมีกิจกรรม หรือพิธีกรรมเกี่ยวข้องกัน ทั้งการเกิด การเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคม หรือแม้กระทั้งการตาย เทคนิควิธีการเกี่ยวกับการปลงศพนั้น มีความละเอียดซับซ้อนขึ้นอยู่กับฐานะทางสังคม ไพร่ ทาส คนธรรมดาสามัญ ก็ปลงศพตามมีตามเกิด ส่วนเจ้านายชั้นปกครองล้วนใช้ความเชื่อทางศาสนามาเป็นตัวรองรับ ซึ่งได้แก่ การเผาในเมรุเพราะเป็นความเชื่อของพราหณ์เกี่ยวกับโลกและจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุอยู่กลางจักรวาล หรือ การปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์ มีความเชื่อรองรับว่าจะนําพาไปสู่ภพภูมิที่ชนชั้นของตนเองมีความเชื่อว่า ควรที่จะไปอยู่ การสร้างงานด้วยเทคนิคต่างๆ ก็เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่โครงสร้างนก การเคลื่อนที่ของนก การติดประดับตกแต่ง จนกระทั้งการเคลื่อนไหวของงวง การกระพริบตา ล้วนเพื่อเสริมให้เห็นเกิดความสมจริง สะท้อนให้เห็นถึงความอัจฉริยภาพของคนโบราณเป็นอย่างมาก ยิ่งในขบวนแห่มา การจัดแบ่งรูปขบวนและผู้คนเข้าร่วมงานเป็นจํานวนมาก เห็นถึงความจงรักภักดีต่อศพ ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย หรือพระเถระผู้ใหญ่ ล้วนสะท้อนเห็นความกลมเกลียวสมัครสมานเป็นน้ําหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชนแทบทั้งสิ้น

ดังนั้นการตายของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ลาว-ไทย โดยเฉพาะในราชวงศ์ชั้นสูงนั้น ล้วนมีความเชื่อของชนชาติฝังอยู่หยั่งรากลึก ยากต่อการหักโค่นไปได้และถือเป็นการสร้างพลังขับเคลื่อนระบบสังคม การเมือง การปกครอง หรือแม้กระทั่งระบบเศรษฐกิจ ให้สามารถเดินควบคู่ความเชื่อและศาสนาเพื่อดํารงรักษาเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ให้คงอยู่สืบต่อไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงไปแห่งโลกใบนี้

อ้างอิง

สุจิตต์ วงษ์เทศ. หลวงพ่อขี้หอม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2544.
สุวิชช คูณผล. ตําานานนกหัสดีลิงค์และวิธีเผาศพ. ม.ป.ท. : ม.ป.ป.
อรรถ นันทจักร์. รวมบทความว่าด้วยนกหัสดีลิงค์. มหาสารคาม : ประสานการพิมพ์, 2536.

นางสีดาฆ่า “นกหัสดีลิงค์” เมืองเกษมสีมา
รื้อฟื้นตำนาน สืบสารมรดกทางวัฒนธรรม ต.เกษม อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี

เอกสารเกี่ยวข้องให้ดาวน์โหลด

lilred

ปอยล้อ หรือ ปราสาทนกหัสดีลิงค์ ในล้านนา

ชาวเหนือ หรือที่เราเรียกว่า ชาวล้านนา นับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ทำให้วิถีชีวิตของชาวล้านนาผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อชาวล้านนาในด้านวิทยาการความรู้ต่างๆ รวมทั้งได้มีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดแบบแผนทางวัฒนธรรมหลากหลาย ตลอดจนคติความเชื่อประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย ซึ่งหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เน้นเรื่องผลของบาปกรรม ชาติภพ ดังนั้นความเชื่อหลังความตายจึงก่อให้เกิดประเพณี เพื่อการเฉลิมฉลองให้กับคนตายที่ได้สร้างคุณงามความดีมาตลอดทั้งชีวิตขึ้น ประเพณีดังกล่าวนี้เรียกว่า ‘ประเพณีปอยล้อ’ หรือ ‘ปอยลากปราสาท’

nok hasadee link 37

‘ปอยล้อ’ คือ การประกอบพิธีทางศาสนาและงานมหรสพ ที่จัดขึ้นเนื่องในการฌาปนกิจสรีระสังขารของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มรณภาพ เพื่อแสดงความกตัญญูและระลึกถึงคุณงามความดีที่ได้บำเพ็ญต่อสังคม ความโดดเด่นของประเพณีนี้คือ ‘ปราสาท’ หรือ ‘เมรุ’ ขนาดใหญ่ที่จัดสร้างเป็นรูป 'นกหัสดีลิงค์' อย่างวิจิตรงดงาม การทำศพพระสงฆ์ด้วยการใส่เรือนศพทำเป็นปราสาทลากไปสู่ป่าช้าของชาวล้านนา และเรือนปราสาทวางอยู่บนไม้แม่สะดึงมีล้อเลื่อนไปด้วย จึงเรียกว่า ‘ปอยล้อ’ คือ การลากศพไปด้วยล้อเลื่อน นั่นเอง

nok hasadee link 38

ประเพณีลากปราสาทศพของล้านนา นิยมจัดพิธีอย่างใหญ่โต แม้จะต้องใช้จ่ายเงินทองมากมาย และเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองอยู่บ้าง แต่ก็ให้ผลทางจิตใจและเป็นการสนองคุณครูบาอาจารย์ครั้งสุดท้าย ซึ่งท่านเป็นผู้เสียสละโลกียสุข งดเว้นจากสิ่งที่ชาวโลกประพฤติปฏิบัติกัน อุทิศตนเพื่อพุทธศาสนา นับเป็นบุคคลตัวอย่างที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ นอกจากนี้การลากปราสาทศพยังทำแก่ผู้ใหญ่ในแผ่นดิน เช่น เจ้าผู้ครองนคร เจ้านายในพระราชวงศ์ สำหรับในพุทธศาสนา กำหนดเอาพระสงฆ์ผู้ใหญ่ชั้นพระเถระ หรือพระผู้อาวุโสมีพรรษามาก เป็นที่เคารพยกย่องของลูกศิษย์และประชาชนทั่วไป

ปัจจุบันการทำศพพระสงฆ์ ใช้วิธีการ 2 แบบ คือ

  • ถวายเพลิงศพลากปราสาทธรรมดา หมายถึง พระสงฆ์ที่เป็นผู้อาวุโสมีอายุพรรษามาก แต่ไม่ได้รับสมณศักดิ์เป็น ‘ครูบา’ ของประชาชนธรรมดา การทำศพแบบนี้มีการลากปราสาทไปถึงที่แล้วก็ทำพิธีบังสุกุล เผาธรรมดา
  • การถวายแบบขอพระราชทานเพลิงศพ คือ การขอพระราชทานไฟหลวงจากพระเจ้าแผ่นดิน ใช้สำหรับพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ เช่น เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอที่มรณภาพลง การทำแบบนี้นอกจากจะลากปราสาทแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่เชิญไฟพระราชทาน พร้อมกับมีผู้แทนของพระองค์มาทำพิธีแทน พระองค์ด้วย โดยมากเป็นผู้แทนจากสำนักพระราชวัง หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น

nok hasadee link 39

อ้างอิง : เปิดตำนานปอยปราสาท วัฒนธรรมล้านนา

lilred

ตำนานนกหัสดีลิงค์ (1) | ตำนานนกหัสดีลิงค์ (2) | ตำนานนกหัสดีลิงค์ (3)

เมรุุนกหัสดีลิงค์เทินบุษบก ใน งานพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่พระเทพวิทยาคม "หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ"

redline

backled1

thai isan language

ภาษาอีสาน เป็นภาษาที่มีความเป็นมาเป็นของตนเองโดยแนบแน่นมากับภาษาลาว มีตัวอักษร อักขรวิธี คำ และความหมายของคำเป็นของตัวเอง มีรูปแบบการเขียน การพูด การเล่า การร้อง การลำเป็นของตนเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบ การพูด การเล่า การร้อง การลำนั้น นับว่าแพร่หลายมากในห้วงเวลาที่คนอ่านออกเขียนได้มีจำนวนจำกัด การสื่อความหมาย การถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในหัวเมืองลาวเหล่านี้ ก่อนที่ระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ของกรุงเทพฯ จะเข้ามานั้น ส่วนใหญ่จะสื่อความหมายกันทางปาก นั่นคือ การพูด การเล่า การร้อง การลำในรูปแบบต่างๆ เช่น เล่านิทาน ลำตำนานประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผญา นิทานก้อม เป็นต้น

kwai 01

ภายหลังการเข้าจัดการปกครองหัวเมืองลาวโดยฝ่ายกรุงเทพฯ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ระบบการศึกษาแบบใหม่ของกรุงเทพฯ ก็เข้ามาเผยแพร่ในหัวเมืองเหล่านี้ การระบาดของภาษาตามแบบกรุงเทพฯ ดำเนินไปอย่างเข้มข้น พร้อมกับการขยายการศึกษาภาคบังคับ การขยายตัวของเส้นทางคมนาคมขนส่ง (ทางรถไฟ) และการขยายตัวของระบบสื่อสารมวลชน (มีโทรเลข วิทยุ) แม้ว่าจะมีความพยายามอย่างมากที่จะแทนที่ภาษาท้องถิ่นหัวเมืองลาวด้วยภาษาไทยกลาง แต่ความพยายามดังกล่าวก็ยังไม่บรรลุผลสมบูรณ์แบบ ความปนเปกันระหว่างภาษาไทยกลางกับภาษาอีสานนั้นมีนัยะให้น่าศึกษาอยู่

tum kaopoon

การตำแป้งขนมจีนด้วยครกกระเดื่อง ภาษาอีสานเรียก ตำเข้าปุ้นด้วยครกมอง

ด้วยความจำกัดในด้านความรู้และด้านเวลาของผู้เขียน จึงขอนำเสนอลักษณะความปนเปหรือความเกี่ยวพันสัก 2 ลักษณะ

'บักลาอิ่มข้าวหลาม'

1. คำที่เขียนอย่างเดียวกัน อ่านออกเสียงอย่างเดียวกัน แต่มีความหมายทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น

คำว่า “อิ่ม” ในความหมายภาษาไทยกลาง หมายถึง การได้กระทำในสิ่งที่ต้องการทำอย่างเพียงพอ การได้ดูอย่างเพียงพอ การได้พูดอย่างเพียงพอ การได้ฟังอย่างเพียงพอ คือได้กระทำอย่างจุใจก็เรียกว่า “อิ่ม” เช่น กินจนอิ่ม ดูจนอิ่ม พูดจนอิ่ม ฟังจนอิ่ม เป็นความสมหวังตามสิ่งที่ต้องการอยากทำ มีความหมายในเชิงบวก

ส่วนคำว่า “อิ่ม” ในภาษาอีสานนั้น นอกจากจะมีความหมายอย่างเดียวกันกับภาษาไทยกลางแล้ว ยังมีความหมายที่ลึกลงไปกว่านั้นอีก คือมีความหมายยิ่งกว่าเบื่อหน่าย ยิ่งกว่าเอือมระอา ยิ่งกว่าคำว่า “เซ็ง” เป็นความหมายในเชิงลบ

bug la im kaolam

มีเรื่องเล่าของชาวอีสานอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “บักลาอิ่มข้าวหลาม” (บัก หมายถึง นาย เป็นคำนำหน้านามเพศชาย) หากจะพูดและหมายความตามภาษาไทย (กลาง) ก็คือ “นายลาอิ่มข้าวหลาม” จะต้องหมายความว่า "นายลารับประทานข้าวหลามมากจนอิ่ม และไม่อยากรับประทานข้าวหลามอีก" แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เป็นอย่างไรหนอ...

เรื่องมีอยู่ว่า

นายลาไปทำงานรับจ้างที่กรุงเทพฯ พอเก็บเงินได้บ้างเล็กน้อยก็เดินทางกลับบ้านโดยขบวนรถไฟ มาถึงสถานีรถไฟโคราช นายลารู้สึกหิวข้าวมาก จึงตัดสินใจซื้อข้าวหลาม ในขณะที่รถไฟกำลังเคลื่อนออกจากสถานีอย่างช้าๆ นายลาไม่มีเงินย่อยจึงเอาธนบัตรใบละร้อยบาทซื้อ (เงินร้อยบาทในสมัยนั้นเป็นจำนวนที่สูงมาก) ปรากฏว่า คนขายข้าวหลามไม่ยอมเดินตามรถไฟเพื่อทอนเงินให้นายลา นายลาต้องซื้อข้าวหลามราคาท่อนละร้อยบาท

railway korat

ปรากฏว่านายลาไม่ยอมแตะต้องข้าวหลามนั้นเลย (แม้จะหิวมาก) นายลากินข้าวหลามไม่ลง นายลาอิ่มข้าวหลาม แม้เมื่อนายลากลับมาถึงบ้านนายลาก็ไม่ยอมกินข้าวหลามเลยตลอดชีวิตของนายลา เมื่อมีคนเรียกนายลากินข้าวหลาม นายลาจะบอกปฏิเสธ พร้อมกับบอกว่า “อิ่ม”

บ้างก็ว่า ความอิ่มของบักลานี้มากถึงขั้นเดินทางผ่านป่าไผ่ แล้วมองเห็นยอดไผ่ไหวโอนไปมาทำเอา "บักลาฮากแตกย้อนคึดฮอดข้าวหลามบั้งละร้อยบั้งนั้น มิรู้ลืม"

คำว่าอิ่มตามความหมายของนายลานั้น มากกว่าเบื่อ มากกว่าแหนงหน่าย มากกว่าเอือมระอา มากกว่าเซ็ง ความรู้สึก “อิ่ม” ไม่เกิดเฉพาะกับอาหารหรือสิ่งของอื่นๆ เท่านั้น แต่อาจจะเป็นความรู้สึกที่บุคคลมีต่อบุคคลก็ได้ เช่น สามีที่เจ้าชู้ ชอบมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น นอกใจภรรยาอยู่เสมอก็อาจจะถูกภรรยา “อิ่ม” ได้เช่นเดียวกัน

บักลาอิ่มบั้งข้าวหลาม ลำโดย สังวาลย์น้อย ดาวเหนือ

'นายอำเภอหัวฆวยมาก'

2. คำที่ออกเสียงเหมือนกัน แต่มีความหมายต่างกัน ซึ่งบางครั้งอาจจะทำให้การสื่อความหมายผิด ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้เรื่องของความกระด้างกระเดื่อง อวดดี จองหอง ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง เช่น

คำว่า “ฆวย” คำที่ออกเสียงอย่างนี้ในภาษาอีสานมี 2 ความหมาย คือ

  1. เป็นคำนาม หมายถึง "กระบือ" หรือ "ควาย" ที่เลี้ยงไว้ไถนา คนอีสานออกเสียงเป็น "ฆวย" (เลี่ยงตัวอักษรเพื่อให้ไม่หยาบโลนในภาษาไทยกลาง นะขอรับ คอมเมนต์โดย อาวทิดหมู)
  2. เป็นคำกริยา หมายถึง สั่น, คลอน, สั่นคลอน เช่น หลักไม้ที่ตอกหรือฝังไม่แน่น สามารถโยกได้คลอนได้ ภาษาอีสานจะบอกว่าหลักนั้น “ฆวย” หรือฟันที่กำลังจะหลุดซึ่งเรียกว่า ฟันโยก ภาษาอีสานก็เรียกว่า ฟันฆวย

road in bannok
ถนนหนทางในชนบทยุคหนังเรื่อง "ครูบ้านนอก" ปี 2521

มีเรื่องเล่าว่า

ครั้งหนึ่ง ท่านนายอำเภอเดินทางไปตรวจราชการในหมู่บ้านชนบทอีสาน แต่เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวกดังเช่นปัจจุบัน หนทางเป็นหลุมเป็นบ่อมาก กำนันจึงให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเอาเกวียนเทียมโคเป็นพาหนะไปรับท่านนายอำเภอ ปรากฏว่า จากสภาพหนทางที่เป็นหลุมเป็นบ่อมาก ทำให้ท่านนายอำเภอนั่งหัวสั่นหัวคลอนมาตลอดเส้นทาง พอเดินทางมาถึงหมู่บ้าน กำนันก็รีบถามด้วยความเป็นห่วงท่านนายอำเภอกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านว่า "การเดินทางเป็นอย่างไรบ้าง ผู้ช่วย?"

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตอบเสียงดังฟังชัดขึ้นทันทีเลยว่า “การเดินทางแย่ เพราะนายอำเภอหัวฆวยมาก”

kwian 01

คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ “ภาษาไทย (กลาง) ในภาษาอีสาน” เขียนโดย ชุมพล แนวจำปา 
นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม ๒๕๓๓

สภาพถนนหนทางเมื่อ 40 ปีก่อน คลิปสั้นจาก "ครูบ้านนอก 2521"

 

redline

backled1

 

attalak isan

ฟ้อนภูไท

ฟ้อนภูไท เป็นฟ้อนที่งดงามและเก่าแก่ ถือว่าเป็นนาฏศิลป์ที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของชาวภูไท เนื่องจากชาวภูไทอาศัยกระจัดกระจายหลายพื้นที่ในอีสาน จึงจำแนกประเภทการฟ้อนภูไทตามพื้นที่ เช่น การฟ้อนภูไทของเขตจังหวัดสกลนคร การฟ้อนภูไทเขตเรณูนคร (รำภูไทภูพาน รำภูไทสามเผ่า) การรำภูไทของเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีลีลาการฟ้อนที่แตกต่างกัน การฟ้อนภูไทจะฟ้อนในงานมงคลและงานบุญ เช่น บุญมหาชาติ ในการทำบุญแต่ละครั้งหลังวันทำบุญจะมีการแห่ปัจจัยไปวัด การแห่ขณะไปทำบุญและการแห่หลังทำบุญนี้เองที่ทำให้เกิดฟ้อนภูไทขึ้น

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ผู้ฟ้อนแต่งกายชุดพื้นเมืองของชาวภูไท คือนิยมนุ่งห่มดำ สีเข้ม หรือสีคราม เป็นผ้าที่ทอด้วยฝ้ายพื้นเมือง แขนยาว เครื่องตกแต่งร่างกายอาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยตามกลุ่มต่างๆ ของชาวภูไท

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เป็นการฟ้อนที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและการทำบุญ

fon poo tai

ชาวผู้ไท เป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย แต่เดิมนั้นชาวผู้ไทตั้งบ้านเรือนอยู่แถบสิบสองจุไทย คือ บริเวณลาวตอนเหนือ บางส่วนของเวียตนามเหนือ และทางตอนใต้ของจีน มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองไล เมืองแถง เรียกว่า ผู้ไทดำ ชาวผุ้ไทสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ถึงแม้จะมีผู้แบ่งเป็นกลุ่มผู้ไทแดงและผู้ไทลาย แต่ก็ไม่มีประวัติชัดเจน (ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ. 2526 : 2) ชาวผู้ไทยที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่มาจากเมืองวัง และเมืองตะโปน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองสวันเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน และแยกย้ายกันตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณเทือกเขาภูพานในเขต 3 จังหวัด คือ

  • ชาวผู้ไทจังหวัดกาฬสินธุ์ อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอสหัสขันธุ์ อำเภอคำม่วง
  • ชาวผู้ไทจังหวัดสกลนคร อยู่ในอำเภอพรรณานิคม อำเภอวาริชภูมิ
  • ชาวผู้ไทจังหวัดนครพนม อยู่ในอำเภอเรณูนคร อำเภอคำชะอี อำเภอหนองสูง

fon poo tai renu 6

การฟ้อนผู้ไทนั้น เริ่มมีมาในสมัยที่เริ่มสร้างพระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร ผู้ไทเป็นชนเผ่าที่รับอาสาที่จะเป็นผู้ปฏิบัติรักษา หาเครื่องสักการะบูชาพระธาตุทุกๆ ปีเมื่อถึงฤดูข้าวออกรวงกำลังแก่ จะมีการเก็บเกี่ยวข้าวบางส่วนมาทำข้าวเม่า ชาวผู้ไทจะนำข้าวเม่ามาถวายสักการะบูชาพระธาตุเชิงชุม การนำข้าวเม่ามาถวายพระธาตุนั้น เรียกว่า "แห่ข้าวเม่า" จะมีขบวนฟ้อนรอบๆ พระธาตุ ผู้ฟ้อนเป็นหญิงล้วน ผู้หญิงแต่งตัวพื้นเมือง ใส่เล็บยาว ผู้ชายเล่นดนตรี เช่น กลองเส็ง กลองยาว ตะโพน รำมะนา ฉิ่งฉาบ เป็นต้น (พนอ กำเนิดกาญจน์. 2519:38)

fon poo tai renu 4

การฟ้อนภูไทกาฬสินธุ์

การฟ้อนภูไทเรณูนคร

เป็นการฟ้อนประเพณีที่มีมาแต่บรรพบุรุษ ที่สร้างบ้านแปลงเมือง การฟ้อนภูไทนี้ถือว่าเป็นศิลปะเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรม ประจำเผ่าของภูไทเรณูนคร ถือว่าฟ้อนภูไทเป็นการฟ้อนที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครพนม

ในคราวที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมานมัสการพระธาตุพนม ในปี พ.ศ. 2498 นั้น นายสง่า จันทรสาขา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมในสมัยนั้น ได้จัดให้มีการฟ้อนผู้ไทถวาย นายคำนึง อินทร์ติยะ ศึกษาธิการอำเภอเรณูนคร ได้อำนวยการปรับปรุงท่าฟ้อนผู้ไทให้สวยงามกว่าเดิม โดยเชิญผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ในการฟ้อนผู้ไทมาให้คำแนะนำ จนกลายเป็นท่าฟ้อนแบบแผนของชาวเรณูนคร และได้ถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานสืบทอดต่อจนปัจจุบัน

ลักษณะการฟ้อนภูไทเรณูนคร ชาย-หญิงจับคู่เป็นคู่ๆ แล้วฟ้อนท่าต่างๆ ให้เข้ากับจังหวะดนตรี โดยฟ้อนรำเป็นวงกลม แล้วแต่ละคู่จะเข้าไปฟ้อนกลางวงเป็นการโชว์ลีลาท่าฟ้อน

หญิงสาวที่จะฟ้อนภูไทเรณูนครต้อนรับแขก จะได้ต้องเป็นสาวโสด ผู้ที่แต่งงานแล้วจะไม่มีสิทธิ์ฟ้อนภูไทเรณูนคร เวลาฟ้อนทั้งชายหญิงจะต้องไม่สวมถุงเท้าหรือรองเท้า และที่สำคัญคือในขณะฟ้อนภูไทนั้น ฝ่ายชายจะถูกเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิงไม่ได้เด็ดขาด (มิฉะนั้นจะผิดผี เพราะชาวภูไทนับถือผีบ้านผีเมือง อาจจะถูกปรับไหมตามจารีตประเพณีได้)

เครื่องดนตรี แบบดั้งเดิม ประกอบด้วย แคน กลองสองหน้า กลองหาง ฆ้องโหม่ง พังฮาด และกั๊บแก๊บ ส่วนในวงโปงลาง ก็ใช้เครื่องดนตรีครบชุดของวงโปงลาง ลายเพลง ใช้ลายลมพัดพร้าว

ท่าฟ้อนภูไทเรณูนคร มี 16 ท่า ดังนี้คือ

  • ท่าโยกหรือท่าเตรียม (ท่าเตรียมโยกตัวไปมาเป็นการอุ่นเครื่องเพื่อจะไปท่าบิน)
  • ท่าบิน หรือท่านกกะทาบินเลียบ
  • ท่าเพลิน หรือท่าลำเพลิน
  • ท่าเชิด หรือ ท่ารำเชิด
  • ท่าม้วน หรือท่ารำม้วน
  • ท่าส่าย หรือท่ารำส่ายเปิด
  • ท่าลมพัดพร้าว
  • ท่ารำเดี่ยว หรือฟ้อนเลือกคู่
  • ท่าเสือออกเหล่า
  • ท่ากาเต้นก้อนข้าวเย็น
  • ท่าเสือลากหาง
  • ท่าม้ากระทืบโฮง
  • ท่าจระเข้ฟาดหาง
  • ท่ามวยโบราณ
  • ท่าถวายพระยาแถน หรือท่าหนุมานถวายแหวน
  • ท่ารำเกี้ยว

[ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : การฟ้อนพื้นบ้านภูไท ]

redline

backled1

word

"บักหำ" คำของผู้ใหญ่เรียกผู้น้อย อย่างเอ็นดู

ham 01

คำอีสานเรียก คนผู้ชาย ว่า “บัก” และเรียก ผู้หญิง ว่า “อี่” หรือ “อี” ซึ่งเป็นการเรียกเพื่อจำแนกเพศอย่างกว้างๆ เด็กผู้ชายคลอดใหม่ที่ครบอาการสามสิบสอง แน่นอน ต้องมีบัก โดยคำว่าบักนั้น มีแนวเทียบ (analogy) กับอวัยวะสืบพันธุ์ที่ติดตัวต่องแต่งมาแต่เมื่อแรกคลอด

ยุคที่ไม่มีระบอบตรวจสอบลูกในครรภ์ด้วยเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยอย่างในปัจจุบัน กว่าจะรู้ว่าลูกเป็นเพศอะไร ก็ต้องรอตอนคลอด แม้ขณะที่โผล่หัวออกมาจากช่องคลอด บางคนก็ยังจำแนกไม่ออก ด้วยว่าเป็นตัวแดงๆ มีขนติดหัวมากระหย็อมหนึ่ง ต้องดูกันจะจะก็ตรงเครื่องเพศนั่นเองว่า จะเป็น "อี" หรือเป็น "บัก"

ham 02ฐานเดิมของคำว่า "บัก" ถ้าเป็นกริยา หมายถึง บาก/ฟัน/ควั่น/ทำให้คอด/หรือทำให้กิ่วโดยรอบ เช่น เวลาจะผูกด้ายที่ปลายไม้คันเบ็ด ถ้าใช้ด้ายผูกแล้วดึงทบให้แน่นๆ ก็พอใช้การได้ แต่คนมีประสบการณ์ท่านสอนให้บักปลายคันเบ็ดเสียก่อน คือ การใช้มีดควั่นบริเวณปลายคันไม้นั้นโดยรอบ เพื่อให้เป็นร่องหรือเป็นแนวเล็กๆ เมื่อผูกด้าย จะทำให้ด้ายไม่เคลื่อนหรือเลื่อนหลุดโดยง่าย บักที่เป็นวิเศษณ์ ก็หมายถึง (สิ่ง) ซึ่งมีสภาพคอดหรือกิ่วโดยรอบ

แล้วอะไรเล่าที่ทำให้ผู้ชายได้รับการเรียกขาน ว่า บัก ในขณะที่ผู้หญิงไม่ได้รับการเรียกเช่นนั้น อีกทั้งเป็นเครื่องจำแนกเพศชายกับเพศหญิงที่เด่นชัด

คำตอบที่ทำให้เข้าใจง่ายที่สุดก็คือ "อวัยวะเพศ" นั้นแหละ

ส่วนที่จะเรียกว่า บัก หาใช่หมดทั้งพวงไม่ แต่เป็นเพียงส่วนปลายซึ่ง “มีสภาพคอดโดยรอบ” และนี่เป็นฐานความหมายพาดพิงถึงการเรียกว่า บัก ซึ่งถ้าพูดเรื่องง่ายๆ ให้ยุ่งๆ ขึ้นมาอีกนิด คำว่า บัก ในภาษาอีสานที่ใช้เรียกเพศชาย/เพศผู้ ก็ต้องแปลว่า “ผู้ซึ่งมีสภาพคอดโดยรอบ (ติดตัวมาแต่กำเนิด) นั่นเอง

จริงอยู่ มนุษย์นั้นมีส่วนที่คอดเหมือนๆ กัน คือ ที่คอบ้าง ที่ข้อมือข้อเท้าบ้าง แต่เมื่อมีแล้วไม่สามารถจำแนกหาลักษณะพิเศษที่แตกต่างอย่างเด่นชัด จึงต้องมองหาส่วนอื่นๆ เรียกว่าเป็นการจำแนกหาความต่าง

ภาษาแขกเรียกชุดเครื่องเพศชายออกเป็นสองอย่าง

ส่วนที่เป็นลำหรือท่อ หรือแท่งนั้นเรียกว่า ลิงค หรือลึงค์

ส่วนที่เป็นก้อนเหมือนกับไข่นั้น เรียกว่า อัณฑะ

คำอีสานก็มีวิธีจำแนกชุดเครื่องเพศด้วยเหมือนกัน กล่าวคือ

เรียก ลึงค์ ว่า โค็ย หรือ โคย

เรียก อัณฑะ ว่า หำ ไข่หำ หมากไข่หำ หรือไข่ลอน ก็มี

คำว่า โค็ย นี้ ความหมายหลักก็อยู่ตรงที่เป็นท่อนแท่งแห่งอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศชาย หรือสัตว์เพศผู้

แล้วก็มีการใช้ในความหมายที่ขยายตัวออก หมายถึงวัตถุที่ให้สอดใส่ในช่องของวัตถุอื่น เช่น

      โค็ยกง = เดือยระวิง

      โค็ยเกวียน = เพลาเกวียน ซึ่งเป็นความหมายโดยปริยาย

การโพล่งคำว่า “โค็ย” ออกคำเดียวดังๆ ก็เป็นการผรุสวาท หรือบริภาษ รวมทั้งหมายถึงอาการแสดงความไม่พอใจอะไรบางอย่างได้ด้วย แต่คนอีสานจะบอกลูกสอนหลานว่า "หากหนุ่มคนไหนกินเหล้าเมาแอ๋ แล้วแจกอวัยวะดังว่าเสียงดังลั่น เจ็ดบ้านแปดเรือน ท่านว่าไม่ควรเอามาสืบหน่อต่อแนว ด้วยถือว่าเป็นคนไม่ดี"

ham 03

ภาพประกอบและบทกวีบรรยายทั้งหมดได้จากหนังสือ เดินทาง-บันทึก-ศึกษา “เบิ่งฮูป-แต้มคำ” ของวิโรฒ ศรีสุโร

แม้โค็ยจะแสดงออกถึงความไม่สุภาพในบางวาระ แต่คำอีสานก็มีชื่อเรียกสิ่งของอื่นๆ อีก อย่างเป็นสามัญธรรมดา เช่น โค็ยงู = ต้นควยงู, โค็ยตาล = งวงตาล, โค็ยมอน = หางไหล เป็นอาทิ

ชาวอีสานพูดคำว่า "หำ" โดยไม่กระเดียมเหนียมปาก เพราะมันเป็นคำสามัญจริงๆ เช่น เรียกปมรากที่เกิดกับเถามันป่าและมันปลูกบางชนิด ปมดังกล่าวนี้ทรงกลม บางชนิดก็แป้นเล็กน้อย ขนาดย่อมกว่าลูกปิงปอง มักเรียกกันว่า "หำมัน" สามารถนำมาเผาไฟ ต้ม หรือนึ่งกินก็ได้ นำไปปลูกก็ได้, เรียกเห็ดชนิดหนึ่ง ทรงกลม สีเหลืองๆ เนื้อเหนียวว่า เห็ดหำฟาน, เรียก ส่าขนุน หรือ ผลขนุนอ่อน ที่เพิ่งติดลูกว่า หำมี้, หำหมากมี้

ham 04

ชาวฝรั่งนำต้นมะฮอกกานีไปปลูกที่เวียงจันทน์ เป็นเพราะเหตุที่ไม่ใช่ต้นไม้ท้องถิ่นที่เคยมีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เรียกเป็นคำฝรั่งก็ไม่สะดวกปาก ชาวลาวกำหนดเรียกไม้ดังกล่าวนี้ว่า หำงัว ด้วยว่าผลของต้นมะฮอกกานี มีสัณฐานคล้ายกับอัณฑะของวัว แถมยังมีสีน้ำตาลเหมือนกับสีหนังวัวอีก เป็นการนิยามคำศัพท์ได้เด็ดขาดเฉียบคมมาก

ชื่อโรคก็มีที่พาดพิงถึงเรื่อง "หำ" คือคำว่า หำโปง หมายถึง ไส้เลื่อนลงถุง (อัณฑะ) ทำให้อัณฑะโตขึ้นและปวดหนึบๆ ทรมานสิ้นดี บางทีก็เรียกว่า "ไส้ลงหำ"

สำนวนว่า "หำหด" ใช้เรียกภาวะกลัวหรือหวาด หรือขยาดเกรงขาม เช่น การเรียกหน้าผาแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิว่า "ผาหำหด" ก็หมายถึง เมื่อใครไปยืนที่ริมหน้าผานั้นแล้ว จะเกิดอาการกลัวจนหำหด นั่นเอง

นั่นว่าด้วยเรื่องหำ

ส่วนคำว่า "บัก" ไม่จำกัดเฉพาะคนเพศชายเท่านั้น ยังใช้เรียกสัตว์เพศผู้อย่าง วัว ควาย เช่น บักคำดี บักทองคูน บักด่อน บักตู้ เรียก สุนัข ว่า บักก่าน บักดำ รวมถึงสัตว์อื่นๆ แม้หา “รอยบักที่อวัยวะเพศ” ไม่ได้ แต่ก็ถูกจำแนกให้เป็นบักไปโดยความเข้าใจ เช่น เรียกแมลงกว่างตัวผู้เขาสั้นว่า บักกิ เรียกตัวผู้ที่เขายาวว่า บักโง้ง เรียก ไก่ตัวผู้ เป็น บักโอก บักโจ้น เรียก ม้าตัวผู้ขนาดเล็ก ว่า บักจ้อน เป็นอาทิ

มีสำนวนอีสานเกิดใหม่ คือคำว่า บวชล้างบัก ใช้เรียก “เหน็บ” คนยุคสมัยหลังๆ ที่มักจะบวชกันไม่กี่วัน ไม่ทันได้ศึกษาอบรมเรื่องมารยาทหรือฝึกจิตใจในทางพุทธธรรมสักเท่าใด แล้วก็ด่วนลาสิกขาออกมา จากที่เคยเรียกบักนำหน้าชื่อ ก็เรียก "ทิด" นำหน้าแทน แต่ถ้าทำตัวเกกมะเหรกเกเรเหมือนเคย ชาวบ้านก็มักจะพูดประเทียดเอาว่า บวชล้างบัก

คำว่าบัก มีปรากฏใช้ที่หน้าคำอื่น เป็นลักษณะของการใช้พยางค์เสริมหน้า (pre syllable) เช่น

บักใหญ่ หมายถึง ใหญ่ (พิเศษ)

บักเอ้บ หมายถึง (ลักษณะรูปร่างที่ปรากฏทางสายตา) ใหญ่เป็นพิเศษ

อย่างไรก็ดีคำพ้องรูปและพ้องเสียงกับ “บัก” ที่ปรากฏในคำเรียกผลไม้ บักอึ (ฟักทอง) บักโต่น (ฟักเขียว ผลใหญ่) บักขาม บักแตง คำเหล่านี้เป็นการเลื่อนเสียงกัน ระหว่างหน่วยเสียง /m/ หรือเสียง /ม/ กับหน่วยเสียง /b/ หรือเสียง /บ/ เพราะเป็นหน่วยเสียงที่เกิดริมฝีปากทั้งสอง (เราจะออกเสียง ม หรือ บ โดยไม่เอาริมฝีปากทั้งสองแตะกันก่อนไม่ได้) คือคำว่า หมาก เลื่อนเป็น หมัก และถ้าบังคับลมไม่ให้ออกทางจมูก เสียง หมัก ก็จะเป็นเสียง บัก ได้โดยง่าย บางคนยังถนัดปากที่จะเรียก หมักอึ หมักแตง อยู่เลย คำว่า หมาก/หมัก/บัก ในที่นี้ หมายถึงผลของพรรณไม้ ไม่เกี่ยวกับรอยบัก แต่ประการใด

ham 05

ในภาษาอีสานจำแนกเพศเป็นสองอย่าง คือเพศผู้ กับเพศแม่ ต่อเมื่อมีคนประเภท “มีบัก” แต่จริตจก้านกระเดียดไปทางเพศหญิง ก็จึงเกิดมีคำว่าคนผู้แม่ (คำนี้เก่าเต็มที หาคนพูดน้อยแล้ว) ซึ่งก็หมายถึง 'กะเทย' ในความหมายที่เราสื่อความกันในปัจจุบัน หรือเช่นเรียก ไก่ตัวผู้ที่ไม่ขัน (แม้อายุของไก่จะล่วงเลยเข้าสู่วัยที่ควรขัน และไก่ลักษณะนี้ก็หายาก) ว่า ไก่ผู้แม่ เป็นต้น

บัก เมื่อใช้กับคนเพศชาย ใช้ได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ แต่จะไม่ใช้กับผู้อาวุโสกว่า เว้นเสียแต่ว่าจะใช้ในความหมายที่เป็นสามัญ และเป็นภาษาพูดไม่เป็นทางการ เช่นเรียกนักร้องชายที่เป็นซูเปอร์สตาร์ว่า บัก…(ตามด้วยชื่อ) หรือใช้ในความหมายที่ดูถูก ไม่ยำเกรง เช่น เรียกรัฐมนตรีที่มีข่าวพฤติกรรมที่โกงกินว่าบัก…(ตามด้วยชื่อ) หรือเรียกชาวตะวันตกว่า บักดังโม (ไอ้จมูกโต) เป็นต้น และมักจะเรียกในฐานะเป็น บุรุษที่สาม คือ เรียกลับหลัง ไม่ได้เรียกต่อหน้าในฐานะที่เป็นบุรุษที่สอง

ดังที่เกริ่นมาแต่ต้น คำว่า "บัก" นั้นเป็นการจำแนกผู้ชาย ซึ่งมีความต่างจากผู้หญิงแล้ว บักก็ถูกนำไปผนวกกับคำอื่น เช่น บักหำ เป็นคำที่ผู้ใหญ่เรียกเด็กชายด้วยความเอ็นดู บางคราวก็ประสมกับความเสแสร้งแกล้งใช้เด็ก เช่น ถ้าผู้ใหญ่พูดว่า “มึงไปตักน้ำให้กูสักขัน” กับ “บักหำ…ไปตักน้ำมาให้จั๊กขันแด่” ข้อความหลังนี้ นุ่มหูและน่าไปตักน้ำให้มากกว่าข้อความแรกเยอะเลย

เรียก บักหำ แค่นี้ยังไม่พอ บางคนเรียก บักหำน้อย ยิ่งระคนความน่ารักน่าเอ็นดูเจืออยู่ในน้ำคำเข้าไปใหญ่ แต่อย่าริไปพูดเอาคำว่า ใหญ่ ไปแทนคำว่า น้อย  นั่นเชียว เป็นการล้อเลียนที่ไม่น่าให้อภัย

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2547
ผู้เขียน : วีระพงศ์ มีสถาน, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล

redline

backled1

Subcategories

รวมผญา สุภาษิต และคำสอย

กลอนลำ

song word

เพลงลูกทุ่งอีสาน มาเข้าใจความหมายของคำภาษาอีสานในเพลงลูกทุ่ง

ภาษาอีสานแยกตามหมวดอักษร

กลอน ภาษิตโบราณอีสาน

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)